อุทยานแห่งชาติไทรโยค
อุทยานแห่งชาติไทรโยค | |
---|---|
ไอยูซีเอ็นกลุ่ม 2 (อุทยานแห่งชาติ) | |
แม่น้ำแควน้อยในอุทยานแห่งชาติไทรโยค | |
ที่ตั้ง | จังหวัดกาญจนบุรี ประเทศไทย |
พิกัด | 14°25′4″N 98°44′50″E / 14.41778°N 98.74722°E |
พื้นที่ | 500 ตารางกิโลเมตร (310,000 ไร่) |
จัดตั้ง | ตุลาคม พ.ศ. 2523 |
ผู้เยี่ยมชม | 117,401 (2562) |
หน่วยราชการ | กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช |
อุทยานแห่งชาติไทรโยค เป็นอุทยานแห่งชาติที่ตั้งอยู่ในเขต อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี
ภูมิประเทศ
[แก้]อุทยานแห่งชาติไทรโยค มีพื้นที่ครอบคลุมพื้นที่ป่าแม่น้ำน้อย ป่าวังใหญ่ และป่าห้วยเขย่ง ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่ของ อุทยานแห่งชาติไทรโยค จะมีลักษณะที่เป็นเทือกเขาสลับซับซ้อน มีความสูงจากระดับน้ำทะเล ปานกลาง กินพื้นที่ 500 ตารางกิโลเมตร (190 ตารางไมล์)[1] และมีความสูงโดยเฉลี่ยที่ 300-600 เมตร มียอดเขาแขวะเป็นยอดเขาที่สุดของอุทยาน โดยวัดความสูงได้ประมาณ 1,327 เมตร (4,354 ฟุต) จากระดับน้ำทะเล เทือกเขาส่วนใหญ่นั้นจะทอดยาวจากทางด้านทิศเหนือลงมาทางทิศใต้ ทางด้านทิศตะวันตกของอุทยานแห่งชาติไทรโยคเป็นเขตติดต่อกับประเทศพม่า[2]
ภูมิอากาศ
[แก้]อุณหภูมิในพื้นที่อุทยานรายปีอยู่ในช่วงกว้างระหว่าง 8 องศาเซลเซียส (46 องศาฟาเรนไฮต์) ถึง 45 องศาเซลเซียส (113 องศาฟาเรนไฮต์) ช่วงเวลาที่แห้งแล้งที่สุดอยู่ในเดือนธันวาคมถึงกุมภาพันธ์ ในขณะที่ช่วงที่มีฝนชุกที่สุดอยู่ในช่วงพฤษภาคมถึงตุลาคม[1][3]
ประวัติ
[แก้]ข้างในอุทยานยังมีสะพานของทางรถไฟสายมรณะและค่ายของกองทัพญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง[2][4]
ใน พ.ศ. 2521 มีการถ่ายทำฉากรัสเซียนรูเล็ตของภาพยนตร์เดอะ เดียร์ ฮันเตอร์ในอุทยานนี้[1] ในวันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2523 ไทรโยคกลายเป็นอุทยานแห่งชาติที่ 11 ของประเทศไทย[3]
สถานที่ท่องเที่ยว
[แก้]สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญในอุทยานคือน้ำตก ได้แก่น้ำตกไทรโยคน้อยและน้ำตกไทรโยคใหญ่ ซึ่งไหลไปยังแม่น้ำแควน้อย [2]
อุทยานนี้มีถ้ำจำนวนมาก โดยถ้ำละว้า ถ้ำที่มีขนาดใหญ่สุด มีความยาว 500 เมตร (1,600 ฟุต) ในถ้ำมีโพรงใหญ่ 5 ช่อง แต่ละช่องมีหินงอกหินย้อยขนาดใหญ่[1] ส่วนถ้ำดาวดึงส์ ซึ่งค้นพบใน พ.ศ. 2515 มีความยาว 100 เมตร (330 ฟุต) และมีโพลงที่มีหินงอกหินย้อย 8 ช่อง[2]
พรรณไม้ประจำถิ่นและพันธุ์สัตว์
[แก้]พื้นที่ส่วนใหญ่ของป่าไทรโยคเต็มไปด้วยต้นสัก ในช่วงที่ญี่ปุ่นบุกครองประเทศไทย มีการตัดต้นสักเพื่อทำเป็นหมอนรถไฟของทางรถไฟสายมรณะ หลังจากนั้นมีการปลูกต้นสักใหม่ใน พ.ศ. 2497[5]
สัตว์ที่อยู่ในอุทยานนี้ ได้แก่ช้าง, เสือ, เก้ง, กวางป่า, หมูป่า, ชะนี, เม่นใหญ่แผงคอยาว, ลิงลม และเลียงผา[1][3] ต่อมามีการค้นพบปูราชินีในอุทยานนี้เมื่อ พ.ศ. 2526[1][4]
ไทรโยคเป็นที่อยู่ของค้างคาวคุณกิตติ ซึ่งพบครั้งแรกใน พ.ศ. 2516 และพบเฉพาะในถ้ำหินปูนของอุทยาน (รวมถึงถ้ำค้างคาว) และบริเวณรอบ ๆ จังหวัดกาญจนบุรีกับใกล้ประเทศพม่า[1][3][4][6]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 1.6 Williams, China; Beales, Mark; Bewer, Tim (February 2012). Lonely Planet Thailand (14th ed.). Lonely Planet Publications. pp. 184. ISBN 978-1-74179-714-5.
- ↑ 2.0 2.1 2.2 2.3 "National Parks in Thailand: Sai Yok National Park" (PDF). Department of National Parks (Thailand). 2015. pp. 202–203. สืบค้นเมื่อ 20 June 2017.
- ↑ 3.0 3.1 3.2 3.3 "Sai Yok National Park". Department of National Parks (Thailand). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 22 May 2013. สืบค้นเมื่อ 16 May 2013.
- ↑ 4.0 4.1 4.2 "Introducing Sai Yok National Park". Lonely Planet. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-09-06. สืบค้นเมื่อ 20 June 2017.
- ↑ Gray, Paul; Ridout, Lucy (1995). Thailand - The Rough Guide (2nd ed.). Rough Guides Limited. p. 159. ISBN 1-85828-140-7.
- ↑ Elliot, Stephan; Cubitt, Gerald (2001). THE NATIONAL PARKS and other Wild Places of THAILAND. New Holland Publishers (UK) Ltd. pp. 57–59. ISBN 9781859748862.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- อุทยานแห่งชาติไทรโยค เก็บถาวร 2007-04-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน - กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช