อุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท
อุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท | |
---|---|
ไอยูซีเอ็นกลุ่ม 2 (อุทยานแห่งชาติ) | |
![]() | |
ที่ตั้ง | จังหวัดลำปาง ประเทศไทย |
พิกัด | 18°36′19″N 99°53′51″E / 18.60528°N 99.89750°Eพิกัดภูมิศาสตร์: 18°36′19″N 99°53′51″E / 18.60528°N 99.89750°E |
พื้นที่ | 1,214 ตารางกิโลเมตร (759,000 ไร่) |
ผู้เยี่ยมชม | 13,910[1] (2553) |
หน่วยราชการ | กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช |
อุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท มีพื้นที่ครอบคลุมในท้องที่อำเภอเมืองลำปาง อำเภอแจ้ห่ม อำเภองาว จังหวัดลำปาง ที่ตั้งสำนักงานอุทยาน อยู่บริเวณถ้ำผาไท ถนนพหลโยธิน ตำบลบ้านหวด อำเภองาว จังหวัดลำปาง มีลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขาหินปูนสูงสลับซับซ้อน สภาพป่าเป็นป่าเบญจพรรณและป่าเต็งรัง มีความอุดมสมบูรณ์มาก มีสวนสักกระจายอยู่ทั่วไป เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์จำนวนมาก พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ต้นน้ำลำธาร ชั้นที่ 160 มีจุดเด่นและสถานที่พักผ่อนหย่อนใจที่สำคัญ คือ ถ้ำผาไท หล่มภูเขียว น้ำตำแม่แก้ น้ำตกเก๊าฟุ บริเวณอ่างเก็บน้ำเขื่อนกิ่วลม ถ้ำออกรู ห้วยแม่พลึง นอกจากนี้ยังมีน้ำตกขนาดเล็กกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป และยังมีสถานที่ท่องเที่ยวขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ คือ ศูนย์ฝึกลูกช้างบ้านปางหละ อำเภองาว มีเนื้อที่ประมาณ 758,750 ไร่ หรือ 1,214 ตารางกิโลเมตร
ตามคำสั่งกรมป่าไม้ ที่ 1627/2532 ให้ นายพูนสถิตย์ วงศ์สวัสดิ์ นักวิชาการป่าไม้ 5 กองอุทยานแห่งชาติดำเนินการสำรวจเพิ่มเติม และจัดตั้งพื้นที่ป่าบริเวณอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท และบริเวณป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ยาง-ป่าแม่งาว ป่าแม่ต๋า-ป่าแม่มาย ป่าแม่งาวฝั่งขวา และป่าแม่โป่ง ในท้องที่อำเภอเมือง อำเภอแจ้ห่ม และอำเภองาว จังหวัดลำปาง เพื่อประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ โดยให้ทำหน้าที่หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแห่งนี้ด้วย
ผลการสำรวจพื้นที่ที่จะจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไทพบว่า เป็นป่าธรรมชาติที่ยังคงมีความอุดมสมบูรณ์ มีสถานที่ท่องเที่ยวซึ่งประชาชนและหน่วยงานต่างๆ รู้จักเป็นอย่างดี ได้แก่ เขื่อนกิ่วลม และถ้ำผาไท โดยได้ขออนุมัติใช้ชื่ออุทยานแห่งชาติตามหนังสืออุทยานแห่งชาติ ที่ กษ 0713 (ผท)/20 ลงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2534 ว่า อุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท ซึ่งนายไพโรจน์ สุวรรณกร อธิบดีกรมป่าไม้ อนุมัติให้ใช้ชื่อ “อุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท” เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2534 ปัจจุบันกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชกำลังรวบรวมข้อมูลเพื่อพิจารณาประกาศจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติต่อไป
ลักษณะภูมิประเทศ[แก้]
สภาพภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นภูเขาสูงสลับซับซ้อน สภาพป่าเป็นป่าเบญจพรรณและพื้นที่ถูกบุกรุกแผ้วถาง มีสวนสักกระจายอยู่ทั่วไป ยอดเขาสูงที่สำคัญ คือ ดอยกิ่วลม สูง 1,202 เมตร รองลงมาคือ ดอยสันกลางสูง 1,022 เมตร ดอยผาหวด สูง 975 เมตร ซึ่งมีพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าเบญจพรรณสลับกับป่าเต็งรัง ส่วนทิศใต้ ได้แก่ ดอยหลวง สูง 1,100 เมตรทางทิศตะวันออกของพื้นที่เป็นแหล่งผลิตผลทางด้านเกษตรกรรมที่สำคัญ ส่วนทางด้านทิศตะวันตกของพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าเต็งรัง น้ำจากลำห้วยและลำธารสายต่างๆ ที่ไหลไปทางทิศตะวันตกจะไหลลงสู่แม่น้ำวัง ส่วนที่ไหลไปทางด้านทิศตะวันออกจะไหลลงสู่แม่น้ำงาวเป็นส่วนใหญ่
ลักษณะภูมิอากาศ[แก้]
ลักษณะภูมิอากาศโดยทั่วไป
- ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคม - เดือนพฤษภาคม จะร้อนจัด มีลมพัดมาจากทิศตะวันตกเฉียงใต้
- ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม - เดือนตุลาคม ฝนตกสม่ำเสมอ มีลมพัดมาจากทิศตะวันตกเฉียงใต้ บางครั้งมีพายุพัดแรงมาก
- ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน - เดือนกุมภาพันธ์ อากาศหนาวจัด ในตอนกลางคืนและตอนเช้ามีหมอกปกคลุมทั่วไป ลมหนาวพัดมาจากทิศ ตะวันออกเฉียงเหนือ
พืชพรรณและสัตว์ป่า[แก้]
เนื่องจากสภาพภูมิประเทศเป็นภูเขาสูงสลับซับซ้อน ป่าไม้ที่พบได้แก่ ป่าดิบแล้ง พันธุ์ไม้ที่พบ คือ ตะเคียน ไม้ตระกูลยาง ไม้ตระกูลไม้ก่อ ยมหอม อบเชย ดีหมี ฯลฯ ป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง พันธุ์ไม้ที่พบเห็น คือ ประดู่ มะค่าโมง แดง อ้อยช้าง ชิงชัน ไผ่ชนิดต่างๆ ตุ้มกว้าว อุโลก สะแก และหญ้าแพก เป็นต้น
แหล่งท่องเที่ยว[แก้]
- ถ้ำผาไท
- หล่มภูเขียว
- น้ำตกแม่แก้
- น้ำตกเก๊าฟุ
- น้ำตกตาดเหมย
- ศาลเจ้าพ่อประตูผา
- ภาพเขียนก่อนยุคประวัติศาสตร์ ประตูผา
สัตว์ป่าที่พบในอุทยาน[แก้]
- กระทิง
- หมูป่า
- ลิง
- เม่นใหญ่
- ตุ่น
- อีเห็น
- อ้น กระต่ายป่า และนกนานาชนิด นอกจากนี้ยังมีปลาชนิดต่างๆ หลายชนิด
อ้างอิง[แก้]
- ↑ สถิติข้อมูลนักท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สืบค้นวันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2553
- ถ้ำผาไท สำนักอุทยานแห่งชาติ