ข้ามไปเนื้อหา

อุทยานแห่งชาติแก่งตะนะ

พิกัด: 15°17′50″N 105°28′25″E / 15.29722°N 105.47361°E / 15.29722; 105.47361
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อุทยานแห่งชาติแก่งตะนะ
แก่งตะนะ
แผนที่
ที่ตั้งอำเภอโขงเจียมและอำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี
พิกัด15°17′50″N 105°28′25″E / 15.29722°N 105.47361°E / 15.29722; 105.47361
พื้นที่85.26 ตารางกิโลเมตร (53,290 ไร่)
จัดตั้ง14 กรกฎาคม พ.ศ. 2524
ผู้เยี่ยมชม31,170 (2562)
หน่วยราชการกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

อุทยานแห่งชาติแก่งตะนะ ตั้งอยู่ในท้องที่ อำเภอโขงเจียม และอำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี สภาพ พื้นที่ทั่วไปเป็นที่ราบและเนินเขาเตี้ยๆ โดยมียอดเขาบรรทัดเป็นจุดสูงสุด ความสูงประมาณ 543 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง มีแม่น้ำมูลและแม่น้ำโขงไหลผ่านตามแนวเขตทางด้านทิศเหนือไปออกประเทศลาว บริเวณแก่งตะนะจะมีสายน้ำที่เชี่ยวและลึก อีกทั้งยังมีถ้ำใต้น้ำหลายแห่ง จึงทำให้มีปลาอาศัยอยู่ชุกชุม ตรงกลางมีโขดหินขนาดใหญ่เป็นเกาะกลาง มีเนื้อที่ประมาณ 50,000 ไร่ หรือ 80 ตารางกิโลเมตร[1][2][3]

คำว่า “ตะนะ” จากการเล่าขานตามความเชื่อของชาวบ้านและประชาชนทั่วไป เดิมมาจากคำว่า “มรณะ” เนื่องจากบริเวณแก่งตะนะนี้มีกระแสน้ำไหลที่เชี่ยวกราก และมีโขดหินใหญ่น้อยอยู่ทั่วไป ตลอดจนมีถ้ำใต้น้ำอยู่หลายแห่ง ชาวบ้านที่สัญจรทางน้ำหรือออกจับปลา มักประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตอยู่เป็นประจำ ชาวบ้านจึงเรียกแก่งนี้ว่า “แก่งมรณะ” ตามแรงบันดาลจากสภาพของสายน้ำที่ไหลผ่านแก่งนี้ ซึ่งต่อมาเรียกว่า “แก่งตะนะ” จึงตั้งเป็นชื่ออุทยานแห่งชาติ

ลักษณะภูมิประเทศ

[แก้]

สภาพพื้นที่ทั่วไปเป็นที่ราบ เป็นเขาเตี้ยๆ มีแม่น้ำมูล แม่น้ำโขง และ ลำโดมน้อย ซึ่งเป็นแม่น้ำขนาดเล็ก ไกล้เคียงกับแม่น้ำมูล ไหลผ่าน เขื่อนสิรินธร มาบรรจบกับแม่น้ำมูล ที่หน้าเขื่อนปากมูล ความสูงโดยเฉลี่ยของพื้นที่ประมาณ 200 เมตร จากระดับน้ำทะเล ยอดเขาที่สูงที่สุดคือ ยอดเขาบรรทัด สูงประมาณ 543 เมตร สภาพป่าทั่วไปเป็น ป่าเต็งรัง ป่าแพะหรือป่าแดง จะมีป่าดิบเฉพาะบริเวณริมห้วยขนาดใหญ่เท่านั้น สภาพพื้นที่ส่วนมากเป็นป่าสลับพลาญหินทราย และหินศิลา ส่วนดินเป็นดินลูกรัง ดินบรบือ และดินตะกอน จะมีทรายปะปนในดิน

ลักษณะภูมิอากาศ

[แก้]

ด้วยพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งตะนะอยู่ในเขตมรสุม ซึ่งมี 3 ฤดู ดังนี้

  • ฤดูร้อน จะไม่ร้อนจนเกินไป ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคม อุณหภูมิประมาณ30◦-35◦
  • ฤดูหนาว ก็ไม่หนาวจัด ระหว่างเดือนตุลาคม-มกราคม อุณหภูมิประมาณ 18◦- 22◦
  • ฤดูฝน ระหว่างเดือนมิถุนายน-กันยายน อุณหภูมิประมาณ 25◦-30 ◦ ฝนค่อนข้างตกชุก

จึงทำให้นักท่องเที่ยวนิยมเข้าไปเที่ยวในช่วงปลายฤดูฝนเพราะอากาศจะร่มรื่นเย็นสบาย และพันธุ์ไม้ดอกขึ้นเป็นจำนวนมาก

ทรัพยากรป่าไม้

[แก้]

อุทยานแห่งชาติแก่งตะนะ สามารถสำแนกประเภทของสังคมพืชออกได้เป็น

ป่าดิบแล้ง ป่าดิบแล้งในบริเวณอุทยานแห่งชาติมีอยู่เพียงเล็กน้อย ประมาณ 6.96 ตารางกิโลเมตร หรือ 8.354 เปอร์เซ็นต์ ของพื้นที่ทั้งหมด โดยขึ้นปกคลุมอยู่ทางด้านทิศตะวันออก ของอุทยานแห่งชาติบริเวณห้วยกระดิน และห้วยหัวเจ้า ป่าชนิดนี้มีลักษณะโครงสร้างทางด้านตั้งประกอบด้วยไม้ที่ขึ้นอยู่ 4 ชั้นระดับด้วยกัน โดยชั้นสูงสุด ประกอบด้วยไม้ชนิดต่างๆ ที่มีความสูงตั้งแต่ 21 เมตรขึ้นไป ได้แก่ ยางนา ตะเคียนหิน กะบก ตะแบก และชนิดอื่นๆ ไม้ชั้นกลาง ซึ่งมีเรือนยอดปกคลุมต่อเนื่อง ประกอบด้วยไม้ขนาดกลางที่มีความสูงตั้งแต่ 15-20 เมตร ไม้ที่พบเห็นโดยทั่วไป ได้แก่ ติ้ว ประดู่ และ มะค่าโมง ไม้ชั้นล่าง ประกอบด้วยไม้ขนาดเล็กที่มีความสูงระหว่าง 4-14 เมตร ชนิดไม้ที่สำคัญ ได้แก่ เหมือด ตีนนก และหว้า

ป่าเต็งรัง ป่าเต็งรังในบริเวณอุทยานแห่งชาติปกคลุมเป็นบริเวณกว้าง กล่าวคือ ครอบคลุมเนื้อที่ 69.97 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 84 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ทั้งหมด โดยขึ้นปกคลุมพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติอยู่ทั่วๆ ไป โครงสร้างตามแนวดิ่ง ประกอบด้วยไม้สามชั้น ชั้นบนสุด (Upper Layer) ประกอบด้วย ไม้ที่มีความสูงตั้งแต่ 16 เมตรขึ้นไป เป็นไม้ขนาดใหญ่ ลำต้นค่อนข้างเปล่าตรงขึ้นกระจัดกระจายห่างๆ พันธุ์ไม้ที่พบ ได้แก่ รกฟ้า ประดู่ ไม้ชั้นกลาง ประกอบดด้วยไม้ขนาดกลางที่มีความสูงระหว่าง 15-20 เมตร ขึ้นรวมกันหนาแน่นกว่าชนิดอื่นๆ ไม่ที่เด่นและพบเห็นทั่วไป ได้แก่ เต็ง รัง พลวง แดง เป็นต้น ส่วนไม้ล่าง เป็นไม้ขนาดเล็กที่มีความสูงต่ำกว่า 5 เมตร ลงมา ประกอบด้วย รักทะนง ยอป่า เหมือด เป็นต้น ส่วนไม้พื้นล่าง เป็นพวกลูกไม้ต่างๆ ปรงป่า

ทรัพยากรสัตว์ป่า

[แก้]

สัตว์ป่า ที่พบในเขตอุทยานแห่งชิแก่งตะนะ สามารถจำแนกเป็น

  • สัตว์น้ำ จำพวกปลา เนื่องจากอุทยานแห่งชาติแก่งตะนะมีอาณาเขตติดต่อกับแม่น้ำใหญ่ถึง 2 สาย คือแม่น้ำโขงและแม่น้ำมูล จึงมีพันธ์ปลาจำนานมากอาศัยอยู่ พบรวบรวมได้ 139 ชนิด จัดอยู่ใน 23 วงศ์ 10 อันดับ เป็นวงศ์ปลาตะเพียน 68 ชนิด วงศ์ปลาสวาย 10 ชนิด วงศ์ปลาเนื้ออ่อน 9 ชนิด วงศ์ปลากด 9 ชนิด และวงศ์ปลาอื่นๆอีก 43 ชนิด ปลาส่วนใหญ่เหมือนกับปลาที่มีอยู่ในภาคอื่นๆ เช่น ปลาตะเพียนขาว ปลากระสูบ ปลาเทโพ ปลากราย ปลายี่สก ปลากระโห้ ปลาโกก แต่มีปลาหลายชนิดที่ไม่พบในแหล่งน้ำอื่น เช่น ปลาหมากยาง หรือ ปลามงโกรย และ ปลาบึก ปลาดุกมูน ปลาก้าง และสัตว์น้ำ ที่เป็นสัตว์ที่พบในพื้นที่ เช่น ปูภูเขา กระตาม ปูสีส้ม เป็นต้น

อ้างอิง

[แก้]
  1. "ข้อมูลพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ที่ประกาศในราชกิจจานุบกษา 133 แห่ง". กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. December 2020. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-03. สืบค้นเมื่อ 1 November 2022, no 33{{cite web}}: CS1 maint: postscript (ลิงก์)
  2. "Kaeng Tana National Park". กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 17 November 2015. สืบค้นเมื่อ 16 November 2015.
  3. Wikramanayake, Eric D. (2002). Terrestrial ecoregions of the Indo-Pacific: a conservation assessment. Island Press. ISBN 978-1-55963-923-1. สืบค้นเมื่อ October 1, 2011.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]