วัดติโลกอาราม
วัดติโลกอาราม | |
---|---|
ชื่อสามัญ | สันธาตุบวกสี่แจ่ง สันธาตุกลางน้ำ |
ที่ตั้ง | ถนนเลียบชายกว๊าน ตำบลเวียง อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา ประเทศไทย 56000 |
ประเภท | วัดหลวงในรัชสมัยพระเจ้าติโลกราช |
นิกาย | เถรวาท |
พระประธาน | พระพุทธรูปศิลา |
ความพิเศษ | ศาสนสถานในสมัยล้านนาที่จมใต้กว๊านพะเยา |
จุดสนใจ | พระธาตุกลางน้ำ พระพุทธรูปหินทรายสกุลช่างพะเยาอายุราว 500 ปี |
กิจกรรม | เวียนเทียนกลางน้ำรอบวัด |
สถานีย่อยพระพุทธศาสนา |
วัดติโลกอารามหรือสันธาตุบวกสี่แจ่ง พระอารามหลวงในรัชสมัยพระเจ้าติโลกราช กษัตริย์ล้านนาลำดับที่ 9 แห่งราชวงศ์มังราย สร้างขึ้นระหว่าง พ.ศ. 2019–2029 ปัจจุบันตัววัดจมอยู่ใต้กว๊านพะเยา ยกเว้นส่วนยอดพระธาตุที่โผล่พ้นน้ำขึ้นมา เนื่องจาก พ.ศ. 2482 กรมประมงได้ก่อสร้างประตูกั้นน้ำ ทำให้น้ำแม่อิงและลำน้ำสาขาซึ่งไหลลงมาจากทิวเขาผีปันน้ำ เกิดการเอ่อล้นเข้าท่วมชุมชนโบราณที่ตั้งอยู่บริเวณหนองเอี้ยงจนเกิดทะเลสาบน้ำจืดขึ้นมา เรียกว่ากว๊านพะเยา ทำให้วัด โบราณสถาน และชุมชนโบราณจำนวนมาก จมอยู่ใต้น้ำ
วัดติโลกอาราม ตั้งอยู่ในเขตกว๊านพะเยา เทศบาลเมืองพะเยา ตำบลเวียง อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา
ประวัติ
[แก้]วัดติโลกอาราม เดิมมีเพียงยอดเจดีย์ที่ก่อด้วยอิฐดินเผา โผล่พ้นน้ำขึ้นมาในช่วงฤดูแล้ง ชาวบ้านที่ทำการประมงแถบกว๊านพะเยาเรียกว่า สันธาตุกลางน้ำ เนื่องจากเห็นเป็นส่วนของพระธาตุโผล่พ้นผิวน้ำขึ้นมา บริเวณโดยรอบ มีกลุ่มพืชน้ำขึ้นปกคลุมอยู่เป็นจำนวนมาก ปี พ.ศ. 2549 ได้มีการล่องเรือสำรวจกว๊านพะเยา คณะสำรวจซึ่งนำโดยผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา ตัวแทนจากหอจดหมายเหตุ หอการค้าจังหวัด ได้ล่องเรือผ่านบริเวณสันธาตุกลางน้ำและเกิดความสนใจ เนื่องจากเป็นศาสนสถานเก่าแก่ที่มีมาก่อนกว๊านพะเยา ปี พ.ศ. 2550 คณะสำรวจพร้อมด้วยประธานฝ่ายสงฆ์คือพระธรรมวิมลโมลี ได้ลงเรือสำรวจพื้นที่อีกครั้ง เพื่อหาแนวทางการพัฒนาสันธาตุกลางน้ำให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัด หนึ่งเดือนหลังการสำรวจพื้นที่ ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา นำชาวบ้านลงพัฒนาพื้นที่บริเวณสันธาตุกลางน้ำ มีการกำจัดวัชพืช ปรับปรุงสถานที่ มีการบูรณะสิ่งปลูกสร้างให้มีความแข็งแรง เพื่อรองรับน้ำหนักของคนที่ขึ้นไปนมัสการพระธาตุ ระหว่างการบูรณะ คณะทำงาน ค้นพบแผ่นหินทราย จารึกด้วยอักษรฝักขาม เมื่อส่งแผ่นหินทรายให้ผู้เชี่ยวชาญพิสูจน์ ปรากฏว่า ข้อความที่จารึก ระบุประวัติของวัดไว้อย่างชัดเจน โดยข้อความบนแผ่นหินทรายระบุว่า วัดนี้ถูกสร้างขึ้นในรัชสมัยของพระเจ้าติโลกราช กษัตริย์แห่งอาณาจักรล้านนา สร้างขึ้นระหว่างปี พ.ศ. 2019 - 2029 เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระเจ้าติโลกราช เนื่องจากพระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ของอาณาจักร
บวกสี่แจ่ง
[แก้]พื้นที่เดิมของวัดติโลกอาราม สร้างขึ้นบริเวณบวกสี่แจ่ง คำว่าบวกสี่แจ่ง เป็นภาษาถิ่น (บวก หมายถึงหนองน้ำ แจ่ง หมายถึงมุม) บวกสี่แจ่ง หมายถึงหนองน้ำบริเวณสี่แยก เนื่องจากพื้นที่วัดติโลกอาราม แต่เดิมเป็นพื้นที่ในบริเวณสี่แจ่งหรือสี่แยกอยู่ใกล้กับหนองเต่า พื้นที่ชุมชนริมหนองเต่านี้ ถือเป็นชุมชนโบราณ จนปี พ.ศ. 2482 กรมประมงได้สร้างประตูคอนกรีตขึ้นมากั้นน้ำแม่อิงและลำน้ำสายต่าง ๆ ที่ไหลลงมาจากทิวเขาผีปันน้ำ ทำให้พื้นที่ซึ่งเป็นชุมชนโบราณ วัด หนองน้ำ ทั้งหมดจมอยู่ใต้ทะเลสาบน้ำจืดขนาดใหญ่ ซึ่งต่อมาเรียกว่ากว๊านพะเยา
คำว่า บวกหรือแจ่ง สามารถพบได้ในชื่อสถานที่ ซึ่งก่อสร้างขึ้นมาในสมัยอาณาจักรล้านนา เช่น บวกหาด แจ่งศรีภูมิ แจ่งหัวลิน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแจ่งเมืองเชียงใหม่
จารึกหินทราย
[แก้]จารึกวัดติโลกอาราม ค้นพบเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550 เป็นแผ่นหินทราย จารึกด้วยอักษรฝักขาม บอกเล่าประวัติความเป็นมาของวัด ผู้อุปถัมภ์วัด ผู้สร้าง และพิธีกรรมทางศาสนา ข้อความในจารึกให้รายละเอียดเกี่ยวกับพระเจ้าติโลกราช ซึ่งพระราชทรัพย์สำหรับสร้างวัดนี้ขึ้น อักษรฝักขามที่ใช้บันทึก ถูกใช้กันอย่างแพร่หลายในรัชกาลของพระเจ้าติโลกราช อักษรชนิดนี้นิยมสลักลงบนแผ่นหิน โดยเฉพาะในเมืองพะเยานั้น ถือว่าเป็นหนึ่งในเมืองที่มีจารึกหินทรายสมัยล้านนามากที่สุด เนื่องจากมีแหล่งสกัดหินเป็นของตัวเอง และเป็นเมืองที่พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรือง
เมืองพยาวหรือภูกามยาว เคยมีสถานะเป็นเมืองลูกหลวงทางทิศใต้ของหิรัญนครเงินยางเชียงแสน กษัตริย์ที่ปกครองเมืองสืบเชื้อสายมาจากราชวงศ์เชียงแสน ภูกามยาวดำรงสถานะนครรัฐอิสระหลังพ้นยุคหิรัญนครเงินยางเชียงแสนและเข้าสู่ยุคต้นของอาณาจักรล้านนาในรัชสมัยพญามังราย จวบจนพ้นรัชสมัยของพญางำเมือง กษัตริย์ลำดับที่ 9 แห่งราชวงศ์เชียงแสน ภูกามยาวก็ตกเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรล้านนา และในรัชสมัยของพระเจ้าติโลกราช ได้ทรงแผ่ขยายพระราชอำนาจออกไปทั่วทุกทิศ ดินแดนล้านนาในยุคสมัยของพระองค์ กินอาณาบริเวณไปจนจรดชายแดนจีนตอนใต้ ยุคสมัยนี้ นอกจากการศึกสงครามแล้ว พระพุทธศาสนาก็มีความเจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างมาก มีการส่งทูตไปยังลังกา ทำให้พระพุทธศาสนานิกายเถรวาทแบบลังกาเข้ามามีอิทธิพลอยู่ในล้านนา อีกทั้งยุคสมัยของพระเจ้าติโลกราช ยังมีการสังคายนาพระไตรปิฎก ครั้งที่ 8 ของโลก ทำให้เมืองต่าง ๆ ในอาณาจักร ต่างมีการทะนุบำรุงพระศาสนา มีการสร้างวัดและคัดลอกพระไตรปิฎกกันอย่างแพร่หลาย หนึ่งในวัดที่สร้างขึ้นมาในยุคของพระเจ้าติโลกราช ก็คือวัดติโลกอาราม และวัดนี้ ถือเป็นพระอารามหลวงหรือวัดหลวงในรัชสมัยอีกด้วย เนื่องจากเป็นวัดที่พระมหากษัตริย์ทรงพระราชทรัพย์ให้สร้างและรับเป็นองค์อุปถัมภ์
จารึกหินทรายวัดติโลกอาราม ปัจจุบัน ถูกเก็บรักษาไว้ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ ถนนซุปเปอร์ไฮเวย์ ตำบลบ้านต๋อม อำเภอเมืองพะเยา
พระพุทธรูปศิลา
[แก้]ปี พ.ศ. 2526 มีการค้นพบพระพุทธรูปใต้กว๊านพะเยา เป็นพระพุทธรูปหินทราย ปางมารวิชัย ศิลปะสกุลช่างพะเยา หน้าตักกว้าง 105 เซนติเมตร ชาวบ้านได้อัญเชิญพระพุทธรูปขึ้นมาจากน้ำ จากนั้นทางจังหวัดพะเยาได้เชิญไปประดิษฐานไว้ที่วัดศรีอุโมงค์คำ จนปี พ.ศ. 2550 ได้มีการบูรณะสันธาตุบวกสี่แจ่งขึ้นมา มีการตั้งฐานบุษบกด้วยอิฐดินเผา และได้มีการอัญเชิญพระพุทธรูปหินทรายจากวัดศรีอุโมงค์คำมาประดิษฐานไว้บนฐานบุษบกบริเวณลานซึ่งสร้างขึ้นมาเหนือน้ำ ที่วัดติโลกอาราม
เวียนเทียนกลางน้ำ
[แก้]การเวียนเทียนที่วัดติโลกอาราม มีความแตกต่างจากการเวียนเทียนในวัดอื่น ๆ คือผู้ที่เข้ามาเวียนเทียน จะนั่งอยู่บนเรือแจวเพื่อทำการเวียนเทียนรอบลานอิฐดินเผาและพระธาตุที่โผล่พ้นผิวน้ำ เนื่องจากอุโบสถของวัด จมอยู่ใต้กว๊านพะเยา โดยในแต่ละปีจะมีการเวียนเทียนทั้งหมด 3 ครั้ง คือ วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา และวันอาสาฬหบูชา ซึ่งการเวียนเทียนกลางน้ำนี้ ถือเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่สนับสนุนโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
การเดินทาง
[แก้]วัดติโลกอาราม สามารถเดินทางจากแยกประตูชัยเข้าสู่ตัวเมืองพะเยา โดยใช้ถนนประตูชัย และถนนพหลโยธิน จากนั้นจึงเลี้ยวซ้ายบริเวณธนาคารกสิกรไทย ตามถนนท่ากว๊าน จนถึงท่าเรือกว๊านพะเยา
ดูเพิ่ม
[แก้]19°10′N 99°52′E / 19.167°N 99.867°E
อ้างอิง
[แก้]- กู้"ติโลกอาราม" วัดโบราณใต้กว๊านพะเยา ,ข่าวสด วันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2550 ปีที่ 17 ฉบับที่ 6114
- มนตรา พงษ์นิล. "การกู้วัดติโลกอารามในกว๊านพะเยา" เก็บถาวร 2010-05-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดพะเยา เก็บถาวร 2011-11-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- กาญจนา เงารังษี และคณะ. (2541). การศึกษาและพัฒนาจังหวัดที่ตั้งวิทยาเขตสารสนเทศเป็นแหล่งท่องเที่ยว : กรณีศึกษาจังหวัดพะเยา. มหาวิทยาลัยนเรศวร.
- ธรรมวิมลโมลี, พระ.(2538). ตำนานเมืองเชียงแสน. กรุงเทพฯ ; พิฆเณศ พริ้นติ้ง.
- ธรรมวิมลโมลี, พระ. (มปป.). ประวัติกว๊านพะเยา. เชียงราย ; เชียงรายไพศาลการพิมพ์.
- ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร : การกู้วัดติโลกอารามในกว๊านพะเยา