ท้าวอินทรสุริยา (เชื้อ พึ่งบุญ)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
คุณ

ท้าวอินทรสุริยา (เชื้อ พึ่งบุญ)

เกิดเชื้อ
9 กรกฎาคม พ.ศ. 2423
เสียชีวิต22 สิงหาคม พ.ศ. 2467 (44 ปี)
บ้านนรสิงห์ จังหวัดพระนคร อาณาจักรสยาม
บุพการีทัด พึ่งบุญ ณ อยุธยา (มารดา)

ท้าวอินทรสุริยา มีนามเดิมว่า เชื้อ พึ่งบุญ (9 กรกฎาคม พ.ศ. 2423 – 22 สิงหาคม พ.ศ. 2467) เป็นเจ้าพนักงานฝ่ายในเพียงคนเดียวประจำราชสำนักพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวในช่วงต้นรัชกาล ท่านเป็นธิดาพระนมทัด พึ่งบุญ ณ อยุธยา เป็นพี่สาวต่างบิดาของเจ้าพระยารามราฆพ (หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ) และพระยาอนิรุทธเทวา (หม่อมหลวงฟื้น พึ่งบุญ) ซึ่งเป็นข้าราชการคนสนิทของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

ประวัติ[แก้]

ชีวิตช่วงต้น[แก้]

ท้าวอินทรสุริยา มีนามเดิมว่า เชื้อ เกิดเมื่อวันศุกร์ ขึ้น 3 ค่ำ เดือน 8 ปีมะโรงโทศก จุลศักราช 1242 ตรงกับวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2423 เป็นธิดาคนโตของพระนมทัด เกิดแต่สามีเก่า มีน้องสาวร่วมบิดามารดาคนหนึ่งชื่อ ชื้น แต่เสียชีวิตไปนานแล้ว[1] ด้วยความท่านเกิดในปีเดียวกันกับพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระนมทัดจึงเข้าถวายตัวเป็นพระนม ท่านจึงได้ร่วมนมกับเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินอยู่พักหนึ่ง[2]

ต่อมาพระนมทัดเข้าเป็นภรรยาของพระยาประสิทธิศุภการ (หม่อมราชวงศ์ละม้าย พึ่งบุญ) บุตรชายของหม่อมกัมพล (เดิมคือหม่อมเจ้ากัมพล) และเป็นหลานของหม่อมไกรสร (เดิมคือพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงรักษ์รณเรศ) ต้นราชสกุลพึ่งบุญ[3] คุณท้าวจึงมีน้องชายต่างบิดาอีกสองคน คือ เจ้าพระยารามราฆพ (หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ) และพระยาอนิรุทธเทวา (หม่อมหลวงฟื้น พึ่งบุญ)[1]

ถวายตัว[แก้]

เบื้องต้น ท้าวอินทรสุริยาถวายตัวในราชสำนักสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง หรือเรียกว่าสำนักสมเด็จที่บน เมื่อ พ.ศ. 2439 ก่อนได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระพี่เลี้ยงใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์[2]

หลังพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จนิวัตแผ่นดินสยาม ราชสำนักของพระองค์มีความผสมผสานระหว่างตะวันออกกับตะวันตกชัดเจน โดยโปรดที่จะประทับอยู่ฝ่ายหน้าตามอย่างวัฒนธรรมยุควิกตอเรีย แวดล้อมด้วยมหาดเล็กและกรมวังที่เป็นบุรุษเพศที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงคัดเลือกและอุปการะไว้[4] โดยทรงรับท้าวอินทรสุริยาผู้เคยร่วมนมกับพระนมทัด เป็นเจ้าคุณพนักงานฝ่ายในตำแหน่งพระภูษา และพระสุคนธ์เพียงคนเดียวเมื่อแรกนิวัตพระนคร[5] ถือเป็นข้าราชสำนักฝ่ายในเพศหญิงที่ปฏิบัติหน้าที่ต่อพระองค์โดยตรง หรือรับใช้ส่วนพระองค์เพียงคนเดียว[4] ใน ประวัติท้าวอินทรสุริยา (2480) ระบุว่า "...และไม่ว่าจะเสด็จพระราชดำเนินประพาศหัวเมืองแห่งใด ท้าวอินทรสุริยา มีน่าที่โดยเสด็จพระราชดำเนินแทบทุกคราว..."[2] ด้วยมีเรือนไม้ในพระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม เรียกว่า เรือนพระสุรภี สร้างไว้สำหรับคุณท้าวโดยเฉพาะ[6] แม้จะมีข้าราชสำนักฝ่ายในที่เป็นสตรีเพศคอยปฏิบัติหน้าที่ในเขตพระราชฐานชั้นใน แต่ก็ไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าโดยตรงดั่งท้าวอินทรสุริยาเลย[4]

ในกาลต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงหมั้นหมายกับพระวรกัญญาปทาน พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี ก็ได้แต่งตั้งคุณหญิงตระกูล ภูบาลบันเทิง เป็นนางสนองพระโอษฐ์ (Lady in Waitting) หม่อมหลวงป้อง มาลากุล เป็นต้นพระตำหนัก (Lady Bed-Chamber) เปรื่อง สุจริตกุล และประไพ สุจริตกุล เป็นนางพระกำนัล (Maid of Honour) ตามแบบราชสำนักยุโรปเป็นครั้งแรก[7] และสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา อดีตพระบรมราชินีในรัชกาลก็ได้มีการแต่งตั้งเจ้าคุณพนักงานฝ่ายในอีก 12 คน[8] ถึงกระนั้นท้าวอินทรสุริยายังมีบทบาทถวายการรับใช้สนองพระเดชพระคุณมาโดยตลอดรัชกาล[2] เพราะช่วงท้ายรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ท้าวอินทรสุริยารับหน้าที่พระเครื่องต้นไทยอีกตำแหน่งหนึ่ง[2][5]

ถึงแก่อนิจกรรม[แก้]

ท้าวอินทรสุริยาถึงแก่อนิจกรรมด้วยโรคหัวใจ เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2467 ณ บ้านนรสิงห์ จังหวัดพระนคร[2] สิริอายุ 44 ปี ศพของท้าวอินทรสุริยาตั้งบำเพ็ญกุศลที่ตึกพระขรรค์ (ปัจจุบันคือตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล)[6] ก่อนพระราชทานเพลิงศพใน พ.ศ. 2480 ณ สุสานหลวงวัดเทพศิรินทราวาส[2]

ความเชื่อ[แก้]

เจ้าหน้าที่กรมยุทธโยธาทหารบกทำการรื้อตึกนารีสโมสรที่มีโครงสร้างเป็นไม้และกระจกจำนวนมากเพื่อฉีดกำจัดปลวกเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2557 ขณะเจ้าหน้าที่คนหนึ่งกำลังเก็บอุปกรณ์เพื่อย้ายสิ่งของ ก็ได้กลิ่นน้ำอบไทยคละคลุ้งไปทั่วจึงร้องตะโกนเรียกให้ช่วย เจ้าหน้าที่คนอื่นที่ตามเข้าไปช่วยก็ได้กลิ่นน้ำอบคลุ้งเช่นกัน[6][9] ซึ่งตึกดังกล่าวเคยเป็นที่ตั้งศพของท้าวอินทรสุริยา และท่านก็เคยถวายงานพระสุคนธ์ ซึ่งเกี่ยวกับการทำน้ำอบไทยมาก่อน[6] จากนั้นจึงมีการทำบุญทำเนียบรัฐบาลครั้งใหญ่ในเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2557 โดยอัญเชิญพระสงฆ์จากวัดมกุฏกษัตริยารามราชวรวิหาร จำนวน 9 รูป และวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2557 ก็ได้เชิญพระมหาราชครูพิธีศรีวิสุทธิคุณ (ชวิน รังสิพราหมณกุล) กระทำพิธีสักการะพระพรหม พระภูมิ และศาลตายาย[6]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์และเหรียญ[แก้]

อ้างอิง[แก้]

เชิงอรรถ
  1. 1.0 1.1 พระราชวงศ์จักรี สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6, หน้า 126
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 2.5 2.6 "ประวัติท้าวอินทรสุริยา", จดหมายเหตุพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินประพาสสหรัฐมะลายู พ.ศ. 2467, ไม่มีหน้า
  3. พระราชวงศ์จักรี สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6, หน้า 124
  4. 4.0 4.1 4.2 "นายใน" สมัยรัชกาลที่ 6, หน้า 15
  5. 5.0 5.1 ราชสำนักรัชกาลที่ 6, หน้า 51
  6. 6.0 6.1 6.2 6.3 6.4 ส.ท่าเกษม (6 พฤษภาคม 2560). "จาก "เรือนพระสุรภี" พระราชวังสนามจันทร์ สู่… "ตึกนารีสโมสร" ทำเนียบรัฐบาล (ตอนจบ)". หนังสือพิมพ์ไทยแอลเอ. สืบค้นเมื่อ 22 มกราคม 2566. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  7. ราชสำนักรัชกาลที่ 6, หน้า 52-53
  8. ราชสำนักรัชกาลที่ 6, หน้า 58
  9. "ขนหัวลุก ! รื้อตึกนารีสโมสรไม่จุดธูปไหว้ของขมา". เดลินิวส์. 19 กรกฎาคม 2557. สืบค้นเมื่อ 22 มกราคม 2566. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  10. พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ฝ่ายใน
บรรณานุกรม
  • ชานันท์ ยอดหงษ์. "นายใน" สมัยรัชกาลที่ 6. กรุงเทพฯ : มติชน, 2556. 328 หน้า. ISBN 978-974-02-1088-7
  • พูนพิศมัย ดิศกุล, หม่อมเจ้าพระราชวงศ์จักรี สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 (สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น สมัยรัชกาลที่ 6). กรุงเทพฯ : มติชน, 2561. 320 หน้า. ISBN 978-974-02-1602-5
  • วรชาติ มีชูบท. ราชสำนักรัชกาลที่ 6. กรุงเทพฯ : มติชน, 2561. 296 หน้า. ISBN 978-974-02-1601-8
  • จดหมายเหตุพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินประพาสสหรัฐมะลายู พ.ศ. 2467. พระนคร : พระจันทร์, 2480. 154 หน้า.