ข้ามไปเนื้อหา

โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นนทบุรี

พิกัด: 13°54′37.1″N 100°30′42.4″E / 13.910306°N 100.511778°E / 13.910306; 100.511778
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นนทบุรี
ที่ตั้ง
แผนที่
พิกัด13°54′37.1″N 100°30′42.4″E / 13.910306°N 100.511778°E / 13.910306; 100.511778
ข้อมูล
ชื่อเดิมโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย 2 (ผาสุก มณีจักร)
ประเภทโรงเรียนรัฐบาล
คำขวัญสุวิชาโน ภวํ โหติ
(ผู้รู้ดีเป็นผู้เจริญ)
สถาปนา30 มีนาคม พ.ศ. 2521 (46 ปี)
ผู้ก่อตั้ง • ผาสุก มณีจักร
 • เง็ก มณีจักร
 • สุวรรณ จันทร์สม
 • กว้าง รอบคอบ
เขตการศึกษาเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษานนทบุรี
หน่วยงานกำกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
รหัส1012230163
ผู้อำนวยการโรงเรียนดร.จรุญ จารุสาร
ระดับปีที่จัดการศึกษามัธยมศึกษาปีที่ 1–6
เพศสหศึกษา
ภาษาที่ใช้เป็นสื่อการสอน • ไทย
 • อังกฤษ
สี  ชมพู
  ฟ้า
เพลง"มาร์ชชมพูฟ้า", "มาร์ชสวนนนท์"
เว็บไซต์www.skn.ac.th

โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นนทบุรี เป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดใหญ่พิเศษ ประเภทสหศึกษา ในเครือสวนกุหลาบวิทยาลัย ลำดับที่สอง สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษานนทบุรี สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ

กรมสามัญศึกษา (ปัจจุบันคือสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน) ได้รับบริจาคที่ดินจากนายผาสุกและนางเง็ก มณีจักร สองสามีภรรยาคหบดีชาวอำเภอปากเกร็ด ที่มีความประสงค์ให้สร้างโรงเรียนในเครือสวนกุหลาบวิทยาลัย บนพื้นที่ดังกล่าว จึงเกิดการประสานงานจัดตั้งขึ้น เมื่อวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2521 เดิมให้ชื่อไว้ว่า “โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ๒ (ผาสุก มณีจักร)” และมอบหมายให้ผู้อำนวยการโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย รักษาราชการในตำแหน่งอาจารย์ใหญ่ของโรงเรียน จนถึงปลายปีถัดมา จึงเปลี่ยนชื่อโรงเรียน เป็นชื่อที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน และในปีเดียวกัน นางอัมพา แสนทวีสุข ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นอาจารย์ใหญ่คนแรก และเลื่อนฐานะขึ้นเป็นผู้อำนวยการคนแรกของโรงเรียนฯ ในเวลาต่อมา

โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นนทบุรี ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิด อาคารเรียน “สธ ๑, สธ ๒ และ สธ ๓” เมื่อกลางปี พ.ศ. 2525 และปลายปี พ.ศ. 2529 ตามลำดับ รวมทั้งพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อกลางปี พ.ศ. 2555 ตลอดจนโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามอาคารเรียน “สธ ๔” และอาคารหอประชุม “สิรินธราลัย” ด้วย นอกจากนี้ โรงเรียนฯ ยังได้รับรางวัลสถานศึกษาพระราชทาน ประจำปีการศึกษา 2532 และ 2544 และในปี พ.ศ. 2541 นักเรียนของโรงเรียนฯ ยังได้รับรางวัลเหรียญทองแดง จากการเข้าร่วมการแข่งขันฟิสิกส์โอลิมปิก ที่ประเทศอิตาลี ในฐานะผู้แทนประเทศไทย ขณะที่นักกีฬาของโรงเรียนฯ ได้รับรางวัลเหรียญทอง ในฐานะผู้แทนทีมชาติไทย จากการเข้าร่วมการแข่งขันวอลเลย์บอลชายหาด ในการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 13 อีกด้วย[1][2]

ประวัติโรงเรียน

[แก้]
ซุ้มประตูทางเข้าโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นนทบุรี (ประดับประดาด้วยไฟสวยงาม เนื่องในงาน “ราตรีกุหลาบนนท์”) ด้านหลังซุ้มประตูคือ อาคารบริหารกิจการนักเรียนและประชาสัมพันธ์

โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นนทบุรี ถือกำเนิดขึ้น โดยเจตจำนงของผาสุก และเง็ก มณีจักร คหบดีชาวปากเกร็ดสองสามีภรรยา ซึ่งมีบุตรชายและหลานชายเป็นศิษย์เก่าโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย[3] บริจาคที่ดินบริเวณใกล้กับถนนติวานนท์เป็นจำนวน 25 ไร่ 1 งาน 18 ตารางวา เพื่อสร้างโรงเรียนในเครือสวนกุหลาบวิทยาลัย เมื่อต้นปีการศึกษา 2520 โดยมีผู้ร่วมก่อตั้งคือ สุวรรณ จันทร์สม อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย[4] ผู้อำนวยการกองการมัธยมศึกษาในขณะนั้น, สมพงษ์ พูลสวัสดิ์ และกว้าง รอบคอบ อดีตอธิบดีกรมสามัญศึกษา ขณะนั้นเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนปากเกร็ด เป็นผู้ประสานงานจัดตั้ง

ในระยะเริ่มแรก โรงเรียนยังไม่มีอาคารเรียนถาวร มีเพียงที่ดินซึ่งกำลังถมและปรับสภาพ จึงต้องไปอาศัยใช้โรงเรียนชลประทานสงเคราะห์ เป็นสถานที่ในการรับสมัครเข้าเรียน และเมื่อกระทรวงศึกษาธิการประกาศตั้งโรงเรียนฯ เมื่อวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2521 โดยใช้ชื่อว่า โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ๒ (ผาสุก มณีจักร) มีคณาจารย์ชุดแรก 22 คน นักเรียนชั้น ม.ศ.1 และ ม.1 รุ่นแรก จำนวน 12 ห้อง รวม 527 คน ครู-อาจารย์ 22 ท่าน ได้ฝากนักเรียนชายให้เรียนที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย และฝากนักเรียนหญิงให้เรียนที่โรงเรียนสตรีนนทบุรี โดยอยู่ในความดูแลของคณาจารย์ชายหญิง รวม 9 ท่าน ต่อมาในปีการศึกษา 2522 โรงเรียนได้รับงบประมาณก่อสร้างอาคารเรียนชั่วคราว จำนวน 25 ห้องเรียน และอาคารเรียนถาวร จึงได้ย้ายนักเรียนกลับคืนมาทั้งหมด

แต่เนื่องจากบริเวณที่ตั้งของโรงเรียนไม่ติดถนน ประพัฒน์ แก่นรัตนะ เจ้าของที่ดินด้านหน้าโรงเรียนที่ติดถนนติวานนท์ จึงได้อนุญาตให้ที่ดินเพื่อสร้าง “ถนนแก่นรัตนะ” (ถนนส่วนบุคคล) เป็นทางเข้าออกโรงเรียน ขนาดของถนน กว้าง 12 เมตร ยาว 343 เมตร และได้ทำหนังสือมอบไว้ต่อกรมสามัญศึกษา ต่อมาในปี พ.ศ. 2545 ได้บริจาคที่ดินในส่วนที่เป็นถนนให้กับทางโรงเรียน โดยเทศบาลนครปากเกร็ดจัดงบประมาณจัดสร้างถนนคอนกรีตให้กับทางโรงเรียน ทำให้พื้นที่ของโรงเรียนเพิ่มขึ้นเป็น 25 ไร่ 3 งาน 18 ตารางวา จนถึงปัจจุบัน

ต่อมา ในวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2522 กระทรวงศึกษาธิการ ได้ประกาศเปลี่ยนชื่อโรงเรียน จาก โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ๒ (ผาสุก มณีจักร) เป็น โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นนทบุรี ซึ่งเป็นชื่อที่ใช้มาจนถึงปัจจุบัน

เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2525 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานพระนามาภิไธยย่อ สธ ให้เป็นนามของอาคารเรียนสองหลังแรกของโรงเรียนฯ คือ สธ ๑ และ สธ ๒ พร้อมทั้งได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอาคารเรียนทั้งสองหลังด้วยพระองค์เอง โดยอักษรพระนามาภิไธยย่อ สธ ที่ประดับอยู่บนอาคารในวันนั้น ทำขึ้นจากโฟมพ่นสีทอง ซึ่งเป็นผลงานของนายอมร นิพันธ์ประศาสน์ อาจารย์หัวหน้าหมวดวิชาศิลปศึกษาในขณะนั้น

ปีการศึกษา 2526 โรงเรียนฯ ได้รับงบประมาณให้สร้างถนนลาดยาง จากริมถนนติวานนท์ ถึงทางเข้าประตูโรงเรียน ต่อมาในปีการศึกษา 2527 โรงเรียนฯ ได้รับงบประมาณจากกระทรวงศึกษาธิการ และเงินสมทบจากสมาคมผู้ปกครองและครูของโรงเรียนฯ เพื่อสร้างอาคารหอประชุม และในปีการศึกษา 2528 โรงเรียนฯ ได้รับงบประมาณจากกรมสามัญศึกษา และเงินสมทบ จากสมาคมศิษย์เก่าสวนกุหลาบวิทยาลัยฯ, สมาคมผู้ปกครองและครูฯ และเงินบำรุงการศึกษา เพื่อจัดสร้างถนนคอนกรีต ภายในบริเวณโรงเรียนฯ

ในวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2529 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานนามอาคารหอประชุมโรงเรียนฯ ว่า หอประชุม สิรินธราลัย และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ ศาสตราจารย์ ดร.ธานินทร์ กรัยวิเชียร องคมนตรี ในขณะนั้น เป็นผู้แทนพระองค์ เป็นประธานในพิธีเปิดหอประชุมฯ

วันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2535 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานนามอาคารเรียนหลังใหม่ว่า สธ ๓ พร้อมทั้งได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอาคารเรียนดังกล่าว พร้อมทั้งสวนเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษามหาราชินี, ห้องสมุดสวนเสริมปัญญา และศาลากลางน้ำ ด้วยพระองค์เอง นอกจากนี้ ยังทรงเยี่ยมชมห้องสมุดติณสูลานนท์ รวมถึงนิทรรศการและกิจกรรมทางวิชาการของคณาจารย์และนักเรียนด้วย รวมเวลาที่ประทับอยู่ที่โรงเรียนราว 4 ชั่วโมงเศษ

จากนั้น ในปีการศึกษา 2537 โรงเรียนฯ ได้จัดตั้ง ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ และ ศูนย์อินเทอร์เน็ตกุหลาบนนท์ เพื่อพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของโรงเรียน ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด นอกจากนี้ ในปีการศึกษา 2538 โรงเรียนฯ ยังได้ทดลองระบบการสอนทางไกลผ่านดาวเทียม ไปยัง โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ จังหวัดตาก อีกด้วย ปัจจุบัน เป็นโรงเรียนคู่พัฒนา ร่วมกับโรงเรียนโพธินิมิตวิทยาคม

เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิด พระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งประดิษฐานอยู่ ณ บริเวณลานอเนกประสงค์ของโรงเรียนฯ อย่างเป็นทางการ พร้อมทั้งทอดพระเนตรความก้าวหน้าของโรงเรียนฯ ตลอดจนกิจกรรมต่าง ๆ ของนักเรียนด้วย นับเป็นการเสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมโรงเรียนฯ เป็นครั้งที่สามนับแต่ก่อตั้งเป็นต้นมา[5]

ปัจจุบัน (พ.ศ. 2565) นายไพฑูรย์ จารุสาร เป็นผู้อำนวยการ โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นนทบุรี มีเนื้อที่ 25 ไร่ 3 งาน 18 ตารางวา และซื้อที่ดินเพิ่มเติม จำนวน หนึ่งไร่ สามงาน เจ็ดสิบสองตารางวา การเรียนการสอนในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 94 ห้องเรียน ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น (ม.ต้น; ม.1-ม.3) จำนวน 45 ห้องเรียน (15 : 15 : 15) ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.ปลาย; ม.4-ม.6) จำนวน 49 ห้องเรียน (17 : 16 : 16) มีนักเรียนทั้งสิ้น 3,684 คน ผู้บริหาร 5 คน ครู 161 คน อัตราจ้าง 25 คน เจ้าหน้าที่สำนักงาน 36 คน นักการ 22 คน พนักงานขับรถ 5 คน ครูต่างชาติ 27 คน พนักงานรักษาความปลอดภัย 4 คน รวม 288 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 10 มกราคม 2565)

สัญลักษณ์ประจำโรงเรียน

[แก้]
ธงประจำโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย และในเครือโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย

หลวงพ่อสวนกุหลาบ

[แก้]

เนื่องในโอกาส ครบรอบ 100 ปี โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ได้ร่วมกับ สมาคมศิษย์เก่าสวนกุหลาบวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ดำเนินการจัดสร้างพระพุทธรูปหลวงพ่อสวนกุหลาบจำลองขึ้น และทางโรงเรียนได้รับหลวงพ่อสวนกุหลาบจำลององค์ดังกล่าว จากการอุปการะของ คุณบุญมา และคุณไพเราะห์ พึ่งทอง โดยจัดพิธีอัญเชิญมาประดิษฐานยังโรงเรียน เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2525[6][7]

ต่อมา เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2542 นายโอฬาร อัศวฤทธิกุล ร่วมกับ โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ได้ทำพิธีพุทธาภิเษกเททองหล่อหลวงพ่อสวนกุหลาบ เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ โดยมีขนาดหน้าตักกว้าง 19 นิ้ว เพื่อมอบให้กับโรงเรียนในเครือสวนกุหลาบวิทยาลัย สำหรับเป็นพระพุทธรูปประจำโรงเรียน

ในวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2543 นายสุโข วุฑฒิโชติ ผู้อำนวยการโรงเรียนในขณะนั้น พร้อมด้วยคณาจารย์ และนักเรียน ได้จัดกระบวนอัญเชิญหลวงพ่อสวนกุหลาบมาประดิษฐานชั่วคราว ณ ห้องผู้อำนวยการ เมื่อหอพระจัดสร้างเสร็จสมบูรณ์ จึงได้อัญเชิญหลวงพ่อสวนกุหลาบมาประดิษฐาน ณ หอพระหน้าโรงเรียน เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2543[2]

พระพุทธรูป ปาง 25 พุทธศตวรรษ

[แก้]

นางดุษฎี พงศ์ศาสตร์ อดีตผู้อำนวยการโรงเรียน มีดำริให้จัดสร้างพระพุทธรูปปางลีลา ในพุทธลักษณะใกล้เคียงกับพระศรีศากยะทศพลญาณ ประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์ขึ้น เพื่อประดิษฐานบริเวณหน้าโรงเรียน เพื่อเป็นศูนย์รวมจิตใจของบุคลากรภายในโรงเรียน เมื่อองค์พระจัดสร้างเสร็จสมบูรณ์แล้ว จึงได้ขนานนามว่า พระพุทธรูปปาง 25 พุทธศตวรรษ มีความหมายว่า พระพุทธรูปอันสร้างเป็นที่ระลึก ในโอกาสที่พระพุทธศาสนาบรรจบสองพันห้าร้อยปี โดยเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2543 ได้อัญเชิญมาประดิษฐานเคียงเบื้องขวาของหลวงพ่อสวนกุหลาบ ณ หอพระหน้าโรงเรียน จนถึงปัจจุบัน[8]

พระกริ่งปัญจพร

[แก้]

พระกริ่งปัญจพรนี้ มีชนวนเก่ามาแต่สมัย สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทโว) เจ้าคุณสนธิ์ เจ้าคุณศรีประหยัด ชนวนพระชินราชอินโดจีน และโลหะอาถรรพณ์ รวมทั้งแผ่นพระยันต์ จากเกจิอาจารย์อีกหลายรูป โดยประกอบพิธีปลุกเสก ที่พระอุโบสถ วัดพระยาทำวรวิหาร กรุงเทพมหานคร พระกริ่งปัญจพรองค์นี้ ประสิทธิ์และทวีรัตน์ สุขโชติ อดีตอาจารย์ของโรงเรียน เป็นผู้อุปการะมอบให้แก่ทางโรงเรียน เพื่ออัญเชิญมาประดิษฐาน ภายในหอพระบริเวณหน้าโรงเรียน เป็นสิริมงคลแก่บุคลากรของโรงเรียนสืบไป

พระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 5

[แก้]

เป็นพระบรมรูปประทับยืนเต็มพระองค์ ขนาดหนึ่งเท่าครึ่งของพระองค์จริง ฉลองพระองค์ชุดสากล พระหัตถ์ซ้ายถือธารพระกร พระหัตถ์ขวาถือพระมาลา ความสูง 267 เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ 800-1,000 กิโลกรัม รมสีเนื้อมันปู หรือสีเม็ดมะขามสุก[2] ประดิษฐานบนเวทีหน้าลานอเนกประสงค์ของโรงเรียนฯ ซึ่งเดิมทีเดียว โรงเรียนฯ มีเพียงพระบรมรูป พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประดิษฐานบนเวทีหน้าลานเอนกประสงค์เท่านั้น[9]

เพลงประจำโรงเรียน

[แก้]

โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นนทบุรี ใช้เพลงประจำโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย เป็นเพลงประจำโรงเรียน ร่วมกับโรงเรียนในเครือสวนกุหลาบวิทยาลัย ทั้ง 10 แห่ง โดยหม่อมราชวงศ์เลื่อน สิงหรา เป็นผู้ประพันธ์คำร้อง จากทำนองแขกต่อยหม้อ จังหวะสองชั้น[10]และในวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2543 ซึ่งตรงกับวันสถาปนาโรงเรียน ครบรอบ 22 ปี นายสุโข วุฑฒิโชติ ผู้อำนวยการโรงเรียน ได้มีดำริในการจัดทำอัลบั้มเพลงของโรงเรียนขึ้น หนึ่งในจำนวนดังกล่าวนั้น คือเพลงมาร์ชสวนกุหลาบวิทยาลัยนนทบุรี ซึ่งแต่งขึ้นเพื่อเป็นเพลงมาร์ชประจำโรงเรียนด้วย[11]

บันทึกต้นฉบับ เพลงประจำโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย

สีประจำโรงเรียน

[แก้]
  • สีประจำโรงเรียน ชมพู - ฟ้า
    •   สีชมพู เป็นสีประจำวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งตรงกับวันอังคาร ความหมายของสีชมพู คือ ความสุภาพอ่อนหวาน อ่อนโยน นอบน้อมเป็นสีแห่งความรัก ความเอื้อเฟื้อที่มีต่อบุลคลทั่วไป เป็นสีแห่งความเมตตา
    •   สีฟ้า เป็นสีประจำนพระราชสมภพของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ซึ่งตรงกับวันศุกร์ ความหมายของสีฟ้า คือ ความเข้มแข็งอดทน ความกล้าหาญ ความเสียสละเป็นสีของท้องฟ้าที่มีอาณาเขตกว้างใหญ่ ไพศาลไม่มีที่สิ้นสุด เป็นสีแห่งจักรวาล
    •    สีชมพู-ฟ้า จึงมีความหมายถึง องค์ผู้พระราชทานกำเนิดโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย และพระบรมราชินีนาถ ทั้งยังหมายถึง เป็นแหล่งที่มีความรัก ความสามัคคี ของผู้ที่มีความดีงาม มีความนึกคิดที่สูงส่ง[12]

ต้นไม้ประจำโรงเรียน

[แก้]

รายนามอาจารย์ใหญ่และผู้อำนวยการโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นนทบุรี

[แก้]
ลำดับ รายนาม วาระการดำรงตำแหน่ง รายละเอียด
1 นายกมล ธิโสภา พ.ศ. 2521 - พ.ศ. 2522 ทั้งสองท่านเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยในขณะนั้น ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการแต่งตั้งให้รักษาการในตำแหน่งอาจารย์ใหญ่ของโรงเรียนอีกตำแหน่งหนึ่ง
2 นายประยูร ธีระพงษ์ พ.ศ. 2522 - พ.ศ. 2522
3 นางอัมพา แสนทวีสุข พ.ศ. 2522 - พ.ศ. 2531 นางอัมพาดำรงตำแหน่งอาจารย์ใหญ่ และเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนท่านแรก ดำรงตำแหน่งอยู่ถึง 9 ปี ซึ่งยาวนานที่สุดนับแต่ก่อตั้งโรงเรียน

และเฝ้าฯ รับเสด็จฯ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสทรงเปิดอาคาร สธ ๑ และ สธ ๒ เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2525

ท่านถึงแก่กรรมขณะดำรงตำแหน่ง ต่อมา โรงเรียนจึงได้ตั้งชื่ออาคารกิจกรรมลูกเสือ-เนตรนารีเพื่อเป็นอนุสรณ์ว่า “อาคารทศวรรษ อัมพา แสนทวีสุข”

4 นางสมหมาย วัฒนะคีรี พ.ศ. 2532 - พ.ศ. 2535 นางสมหมายดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียน ในปีที่ได้รับรางวัลสถานศึกษาพระราชทานสมัยแรก เมื่อปีการศึกษา 2532

และเฝ้าฯ รับเสด็จฯ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสทรงเปิดอาคาร สธ ๓ เมื่อวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2535

นางสมหมาย พ้นจากตำแหน่ง เนื่องจากได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย

5 นางสาวผ่องศรี บัวประชุม พ.ศ. 2535 - พ.ศ. 2537 นางสาวผ่องศรีดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนเป็นระยะเวลาสั้น ๆ เพียงสองปีเท่านั้น
6 นางดุษฎี พงศ์ศาสตร์ พ.ศ. 2537 - พ.ศ. 2540 นางดุษฎีดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียน ในปีที่ห้องสมุดของโรงเรียนได้รับเลือกให้เป็น “ห้องสมุดเฉลิมพระเกียรติกาญจนาภิเษก” เมื่อปีการศึกษา 2539

และเป็นผู้ริเริ่มการจัดสร้างพระพุทธรูปปาง 25 พุทธศตวรรษ ท่านเป็นภริยาของนายบรรจง พงศ์ศาสตร์ อดีตอธิบดีกรมสามัญศึกษา

นางดุษฎีพ้นจากตำแหน่งเนื่องจากเกษียณอายุราชการ

7 นางกรองทอง ด้วงสงค์ พ.ศ. 2540 - พ.ศ. 2542 นางกรองทองดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนเป็นระยะเวลาสั้น ๆ เพียงสองปีเท่านั้นก็พ้นจากตำแหน่ง เนื่องจากได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนสายน้ำผึ้ง
8 นายสุโข วุฑฒิโชติ พ.ศ. 2542 - พ.ศ. 2545 นายสุโขถือเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนที่เป็นสุภาพบุรุษท่านแรก ท่านจบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษา และเคยเป็นอาจารย์ที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย

ก่อนจะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนนวมินทราชินูทิศ สวนกุหลาบวิทยาลัย สมุทรปราการเป็นท่านแรก จากนั้นจึงมาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียน

ท่านเป็นผู้พัฒนา และนำพาโรงเรียนเข้าสู่ความเป็นยุคใหม่อย่างแท้จริง ด้วยโครงการต่าง ๆ มากมาย ทั้งทางวัตถุ และทางจิตใจ เช่น พระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 5

ซุ้มทางเข้าหน้าโรงเรียน, สถานเชิญธง, หอพระหน้าโรงเรียน, ห้องจาริกานุสรณ์, อาคารฝ่ายปกครองและประชาสัมพันธ์หลังใหม่, ห้องวิทยาศาสตร์โอลิมปิก, สนามวอลเลย์บอลชายหาด “สนามถึงฝั่ง”

ศาลากลางน้ำในสวนเสริมปัญญา, ปรับปรุงภูมิทัศน์ในส่วนต่าง ๆ ของโรงเรียน เป็นต้น จนกระทั่งโรงเรียนได้รับรางวัลสถานศึกษาพระราชทานเป็นสมัยที่สอง ในปีการศึกษา 2544

นายสุโขพ้นจากตำแหน่ง เนื่องจากเกษียณอายุราชการ[2] นอกจากนี้ ยังเคยดำรงตำแหน่ง สมาชิกวุฒิสภา จังหวัดสมุทรปราการ ระหว่างปี พ.ศ. 2551-2557

9 นายอุทัย รัตนพงศ์ พ.ศ. 2545 - พ.ศ. 2547 นายอุทัย ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนในระยะเวลาสั้น ๆ เพียงสองปีเท่านั้น แต่ก็ได้สานต่อนโยบายต่าง ๆ เมื่อครั้งที่ นายสุโข ยังดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการจนสำเร็จลุล่วงทั้งหมด

ก่อนจะพ้นจากตำแหน่ง เนื่องจากเกษียณอายุราชการ

10 ดร.สุทธิศักดิ์ เฟื่องเกษม พ.ศ. 2547 - พ.ศ. 2552 นายสุทธิศักดิ์ ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียน และเป็นผู้อำนวยการสถานศึกษา หลังการเปลี่ยนแปลงระบบการบริหารสถานศึกษา ตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ เป็นเวลาประมาณ 6 ปี

ก่อนจะย้ายไปเป็นผู้อำนวยการสถานศึกษา ที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ กรุงเทพมหานคร[14]

11 ดร.ปรเมษฐ์ โมลี พ.ศ. 2553 - พ.ศ. 2555 นายปรเมษฐ์ เข้ารับตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษาฯ ตั้งแต่วันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2553[15] ก่อนจะย้ายไปเป็นผู้อำนวยการสถานศึกษา ที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ กรุงเทพมหานคร
12 ดร.สุนีย์ สอนตระกูล พ.ศ. 2556 - พ.ศ. 2557 นางสุนีย์ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนเป็นระยะเวลาสั้น ๆ ก่อนจะพ้นจากตำแหน่ง เนื่องจากเกษียณอายุราชการ
13 ดร.วิทยา ศรีชมภู พ.ศ. 2557 - พ.ศ. 2559 นายวิทยา เข้ารับตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษาฯ ตั้งแต่วันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557 นายวิทยา พ้นจากตำแหน่ง เนื่องจากได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย
14 ดร.โพยม จันทร์น้อย พ.ศ. 2559 - พ.ศ. 2561 นายโพยม เข้ารับตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษาฯ ตั้งแต่วันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559 จนถึงปัจจุบัน พ.ศ. 2561 เนื่องจากเกษียณอายุราชการ
15 ดร. สุรวุฒิ  ยัญญลักษณ์ พ.ศ. 2561 - พ.ศ. 2563 นายสุรวุฒิ ยัญญลักษณ์ เข้ารับตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษา ตั้งแต่วันที่ 8 พฤศจิกายน 2561 จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2563 เนื่องจากเกษียณอายุราชการ
16 นายไพฑูรย์ จารุสาร พ.ศ. 2563 - พ.ศ. 2566 นายไพฑูรย์ จารุสาร เข้ารับตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษา ตั้งแต่วันที่ 12 พฤศจิกายน 2563 จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2566 เนื่องจากเกษียณอายุราชการ
17 ดร.จรุญ จารุสาร พ.ศ. 2566 - ปัจจุบัน ดร.จรุญ จารุสาร เข้ารับตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษา ตั้งแต่วันที่ 4 ตุลาคม 2566 จนถึงปัจจุบัน

สถานที่ตั้ง อาคาร และ สถานที่ต่าง ๆ ภายในโรงเรียน

[แก้]

สถานที่ตั้ง

[แก้]

โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นนทบุรี ตั้งอยู่เลขที่ 51/4 หมู่ที่ 5 ตำบลปากเกร็ด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ใกล้กับห้าแยกปากเกร็ด โดยมาตามถนนติวานนท์ ทางที่มุ่งหน้าไปยังจังหวัดปทุมธานี ประมาณ 1 กิโลเมตร หรือหากมาจากสี่แยกสวนสมเด็จฯ ให้มาตามถนนติวานนท์ ทางที่มุ่งหน้าไปอำเภอปากเกร็ด ประมาณ 5 กิโลเมตร[16] สามารถเดินทางโดยรถโดยสารประจำทางร่วมบริการ ของ ขสมก สาย 33 และ 90

อาคารต่าง ๆ ภายในโรงเรียน

[แก้]
  1. อาคารเรียน “สธ ๑” สร้างขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 2522 เป็นอาคารเรียนหลังแรกของโรงเรียน เป็นอาคาร 4 ชั้น มีจำนวน 32 ห้อง หันหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ[17] โดยในอาคารนี้มีห้องสำคัญคือ โรงอาหารนักเรียน[18] และห้องอาหารอาจารย์ “สุโขสโมสร”, ห้องพักอาจารย์ คณิตศาสตร์ คอมพิวเตอร์ สังคมศึกษา และห้องปฏิบัติการหุ่นยนต์
  2. อาคารเรียน “สธ ๒” สร้างขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 2524 เป็นอาคารเรียนหลังที่สองของโรงเรียน เป็นอาคารเรียน 4 ชั้น มีจำนวน 40 ห้อง หันหน้าไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ลักษณะเหมือนกับ อาคาร สธ 1 ตั้งอยู่ฝั่งตรงข้าม อาคาร สธ 1 โดยมี ลานอเนกประสงค์ คั่นกลาง[17] โดยในอาคารนี้มีห้องสำคัญคือ ห้องพักอาจารย์ วิทยาศาสตร์ สังคมศึกษา ภาษาต่างประเทศ ห้องพิพิธภัณฑ์โรงเรียนฯ และห้องพระพุทธศาสนา
  3. อาคารเรียน “สธ ๓” สร้างขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 2533 เป็นอาคารเรียนหลังที่สามของโรงเรียน เป็นอาคาร 4 ชั้น มีจำนวน 24 ห้อง หันหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ[17] โดยในอาคารนี้มีห้องสำคัญคือ ห้องจาริกานุสรณ์ฯ ห้องผู้อำนวยการ ห้องวิชาการ และห้องพักอาจารย์ ภาษาไทย ภาษาต่างประเทศ
  4. อาคารเรียน “สธ ๔” สร้างขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 2539 เพื่อทดแทนอาคารชั่วคราว บริเวณติดกับอาคาร สธ ๑ และ สธ ๓ หันหน้าไปทางทิศตะวันตก เป็นอาคารเรียนหลังที่ห้าของโรงเรียน[2] โดยในอาคารนี้มีห้องสำคัญคือ ห้องฝ่ายบริการ ห้องแผนงานและสารสนเทศ ห้องประชุม ห้องพยาบาล ห้องโสตทัศนศึกษา ห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ ห้องปฏิบัติการทางภาษา (Sound Lab) และห้องพักอาจารย์ งานแนะแนว หมวดพาณิชยกรรม
  5. อาคารหอประชุม “สิรินธราลัย” สร้างขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 2527 บริเวณติดกับถนนรอบลานอเนกประสงค์ ฝั่งตรงข้ามกับพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 5 หันหน้าไปทางทิศตะวันตก เพื่อเป็นอาคารหอประชุมของโรงเรียน[17] โดยหอประชุมอยู่บนชั้น 2 นอกจากนี้ยังมี ห้องสมุดเฉลิมพระเกียรติกาญจนาภิเษก (เดิมชื่อ ห้องสมุดติณสูลานนท์ เพื่อเป็นเกียรติแด่ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ศิษย์เก่าโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย)[19] และห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์กราฟิกส์ ที่ชั้นล่างของอาคารอีกด้วย
  6. อาคารอเนกประสงค์ (ตึก 6) สร้างขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 2535 บริเวณติดกับอาคาร สธ ๑ เป็นอาคารเรียนหลังที่สี่ของโรงเรียน หันหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ใช้เป็นห้องเรียน และห้องกิจกรรม[17] โดยในอาคารนี้มีห้องสำคัญคือ ร้านสหกรณ์ ห้องปฏิบัติการนาฏศิลป์ ห้องปฏิบัติการเบเกอรี่ ศูนย์ปฏิบัติการวิชาศิลปศึกษา ก ห้องกิจกรรมเทควันโด โรงยิมเนเซียม และห้องพักอาจารย์ หมวดคหกรรม หมวดศิลปศึกษา
  7. อาคารโรงฝึกงาน สร้างขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 2525 บริเวณใกล้ทางออกด้านหลังโรงเรียน หันหน้าไปทางทิศตะวันตก ทางซ้ายมือของอาคารอเนกประสงค์ เพื่อเป็นอาคารปฏิบัติการ ห้องเรียน ห้องพักอาจารย์ ของ หมวดช่างอุตสาหกรรม กลุ่มสาระการเรียนรู้ การงานอาชีพ และเทคโนโลยี[17]
  8. อาคารศูนย์เกษตรกรรม สร้างขึ้นใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 2545 ตั้งอยู่บริเวณด้านหลังห้องสมุดสวนเสริมปัญญา เพื่อเป็นอาคารและพื้นที่ปฏิบัติการ ห้องเรียน และห้องพักอาจารย์ หมวดวิชาเกษตรกรรม กลุ่มสาระการเรียนรู้ การงานอาชีพ และเทคโนโลยี[2]
  9. อาคาร 6 ชั้น อาคารเรียนอบจ.นนทบุรี สร้างขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 2550 แทนที่อาคารทศวรรษ อัมพา แสนทวีสุข และเรือนเกษตรกรรม ที่ได้รื้อถอนไป เป็นอาคารเรียน 5 ชั้น หันหน้าไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ มีลักษณะแตกต่างไปจากอาคารเรียนหลังอื่น ๆ อยู่ติดกับ อาคาร สธ 2 และมีสนามฟุตบอลอยู่หน้าอาคาร ปัจจุบันเปิดใช้ทำการเรียนการสอนแล้ว โดยในอาคารนี้มีห้องสำคัญคือ ห้องพักอาจารย์ ม.2 และห้องเรียน ม.1 (บางห้อง) ม.2 (ทั้งระดับ) ห้องผู้อำนวยการ ห้องทะเบียนและวัดผล ห้องวิชาการ นโยบายและแผนงาน และห้องธุรการ
  10. อาคาร7ชั้น อาคารเรียนอบจ.นนทบุรี 40 ปี สวนกุหลาบวิทยาลัย นนทบุรี ระยะเวลาการสร้าง 2560-2561 เป็นโครงการจัดสร้างซึ่งจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ โดยจัดซื้อที่ดินเพิ่มเติมในปีการศึกษา 2554-2555 เพื่อรองรับและบริการจัดการศึกษาให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น

อาคารเรียนในอดีต

[แก้]
  1. อาคารทศวรรษ อัมพา แสนทวีสุข สร้างขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 2530 บริเวณใกล้กับข้างอาคาร สธ ๒ เพื่อเป็นอาคารกิจกรรมลูกเสือ-เนตรนารี หันหน้าไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ โดยชื่ออาคารนั้นตั้งขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ นางอัมพา แสนทวีสุข อดีตผู้อำนวยการผู้ล่วงลับ ต่อมาได้เปลี่ยนเป็นอาคารกิจกรรมวงโยธวาธิตของโรงเรียน[17] ที่มีสภาพทรุดโทรมมาก โรงเรียนจึงได้รื้อถอน เพื่อสร้างอาคารเรียนหลังใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 2549
  2. เรือนเกษตรกรรม ตั้งอยู่ใกล้บริเวณหน้าโรงเรียน ติดถนนรอบสนามฟุตบอล ติดกับอาคารทศวรรษ อัมพา แสนทวีสุข หันหน้าไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ เคยเป็นเรือนปฏิบัติการ ห้องเรียน ห้องพักอาจารย์ ของ หมวดวิชาเกษตรกรรม กลุ่มสาระการเรียนรู้ การงานอาชีพ และเทคโนโลยี[17] ที่มีสภาพทรุดโทรมมาก โรงเรียนจึงได้รื้อถอน เพื่อสร้างอาคารเรียนหลังใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 2549
  3. อาคารชั่วคราว สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2522 เดิมมีจำนวน 3 หลัง รวม 25 ห้องเรียน[17] แต่ยังเหลือเป็นอาคารสุดท้าย ตั้งอยู่บริเวณระหว่างอาคาร สธ ๑ และ สธ ๓ เป็นอาคารโครงเหล็ก หลังคามุงกระเบื้องลอนคู่ ยึดลูกกรงเหล็กกั้นเป็นกำแพงด้านหน้าและหลัง กั้นห้องด้วยไม้อัด ซึ่งเรียกกันในหมู่ศิษย์เก่าว่า ห้องเรียนเล้าไก่ ที่มีสภาพทรุดโทรมมาก โรงเรียนจึงได้รื้อถอน เพื่อสร้างอาคาร สธ ๔ เมื่อปี พ.ศ. 2538

สถานที่สำคัญภายในโรงเรียน

[แก้]
  1. ลานอเนกประสงค์ อยู่บริเวณหน้าหอประชุมสิรินธราลัย คั่นกลางระหว่างอาคาร สธ ๑ และ สธ ๒ ประกอบด้วยลานคอนกรีตขนาดกว้างใหญ่ ยกสูงจากพื้นถนน และอัฒจันทร์รูปครึ่งวงกลม ขนาบโอบสองข้างเสมือนปีก จากฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (แต่เดิมเป็นเวทีขนาดเล็ก ตั้งอยู่หน้าแท่นประดิษฐานพระบรมรูป พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เท่านั้น) สถานที่แห่งนี้ใช้สำหรับทำกิจกรรม และพิธีการต่าง ๆ ของโรงเรียน ที่สำคัญคือ พิธีหน้าเสาธง โดยในปีการศึกษา 2550 ผู้อำนวยการสถานศึกษา อนุมัติให้สร้างหลังคาปกคลุมสูง 4 ชั้นตึก และในปีการศึกษาถัดมา (พ.ศ. 2551) ยังดำเนินการต่อเติมออกไปยังบริเวณสวนเสริมปัญญาด้วย
  2. ห้องสมุด “สวนเสริมปัญญา”[19] สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2534 ด้านข้างหอประชุมสิรินธราลัย เพื่อเป็นห้องสมุดธรรมชาติ มีศาลาพักผ่อนจำนวน 7 หลัง ทาสีตามวันในสัปดาห์ โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเปิดในโอกาสเสด็จฯ ทรงเปิดอาคาร สธ 3 ทรงชื่นชมการจัดห้องสมุดธรรมชาติเช่นนี้อย่างมาก[2]
  3. สวนเฉลิมพระเกียรติ “60 พรรษา มหาราชินี” ตั้งอยู่บริเวณหน้าโรงเรียน ข้างอาคาร สธ ๓ เนื่องในโอกาสที่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๖๐ พรรษา สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงประกอบพิธีเปิดสวนฯ ในโอกาสเสด็จฯ ทรงเปิดอาคาร สธ ๓ เมื่อปี พ.ศ. 2535[2] ปัจจุบันเป็นเพียงสวนหย่อมรอบหอพระเท่านั้น
  4. ห้องจาริกานุสรณ์ (ลพชัย แก่นรัตนะ) ตั้งอยู่ใต้อาคาร สธ ๓ ติดกับบันไดทางขึ้นอาคารเรียนทางขวา ในอดีตเป็นห้องฝ่ายปกครอง ก่อนจะปรับปรุงขึ้นใหม่ เพื่อเป็นห้องเกียรติยศของโรงเรียน ประกอบด้วยศูนย์รวมเกียรติประวัติของโรงเรียน ภายในมีภาพถ่ายของผาสุก และเง็ก มณีจักร ผู้มอบที่ดินสำหรับจัดสร้างโรงเรียน รูปปั้นของอัมพา แสนทวีสุข ผู้อำนวยการคนแรกของโรงเรียน ซึ่งพัฒนาโรงเรียนไว้อย่างมากในระยะเริ่มก่อตั้ง ทำเนียบลำดับอาจารย์ใหญ่และผู้อำนวยการ รวมทั้งแผ่นศิลาฤกษ์และแบบจำลอง อาคารทั้งหมดภายในโรงเรียน ตลอดจนกระทั่ง ถ้วยรางวัล โล่รางวัล และเกียรติยศต่าง ๆ ซึ่งได้รับจากการแข่งขัน ทั้งเชิงวิชาการและกีฬา อันเป็นความภาคภูมิใจของโรงเรียน
  5. สถานเชิญธง “ลี้กุลเจริญ” สร้างขึ้นเมื่อวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2545 บริเวณริมถนนตรงข้ามลานอเนกประสงค์ ฝั่งเบื้องหลังพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อเป็นเสาเชิญธงชาติไทย และ ธงประจำโรงเรียน สีชมพู-ฟ้า อนุเคราะห์การจัดสร้างโดย นายอภิสิทธิ์ ลี้กุลเจริญ จึงใช้นามสกุลของนายอภิสิทธิ์เป็นชื่อสถานเชิญธงแห่งนี้
  6. หอพระพุทธรูปประจำโรงเรียน สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2545 บริเวณกลางสวนเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษามหาราชินี เพื่อประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญประจำโรงเรียน 3 องค์ ได้แก่ หลวงพ่อสวนกุหลาบจำลอง พระพุทธรูปปาง 25 พุทธศตวรรษ
  7. อาคารบริหารกิจการนักเรียนและประชาสัมพันธ์ สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2544 บริเวณข้างสวนหย่อมหอพระ ฝั่งติดริมกำแพงหน้าโรงเรียนฯ จำนวน 2 ชั้น เพื่อเป็นที่ตั้งสำนักงานของกลุ่มงานบริหารกิจการนักเรียน และงานประชาสัมพันธ์โรงเรียนฯ
  8. สนามถึงฝั่ง สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2545 บริเวณข้างประตูหน้าด้านนอกกำแพงโรงเรียนฯ ฝั่งซ้ายของถนนทางเข้า เป็นสนามสำหรับแข่งขันและฝึกซ้อมวอลเลย์บอลชายหาด อนุเคราะห์การจัดสร้างโดย นายดิเรก ถึงฝั่ง สมาชิกวุฒิสภา จังหวัดนนทบุรี อดีตรองผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี จึงได้ใช้นามสกุลของนายดิเรกเป็นชื่อสนาม
  9. อัฒจันทร์ ตั้งอยู่ข้างสนามฟุตบอล ฝั่งตรงข้ามกับสถานเชิญธงลี้กุลเจริญ เป็นอัฒจันทร์ก่ออิฐถือปูนอย่างถาวร สร้างขึ้นเพื่อทดแทนอัฒจันทร์ชั่วคราว ที่ใช้เหล็กฉากเชื่อมต่อกัน เปิดใช้เป็นครั้งแรก ในงานวันแม่แห่งชาติ เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2550[20]
  10. ศาลาแก่นรัตนะ เดิมเรียกว่า ศาลากลางน้ำ สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2535 บนเกาะกลางสระน้ำ หลังห้องสมุดสวนเสริมปัญญา เพื่อเป็นอนุสรณ์ ในโอกาสที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ โรงเรียน เมื่อปี พ.ศ. 2545 ได้รับการบูรณะขึ้นใหม่ เป็นเรือนไทยสวยงาม สำหรับให้นักเรียนได้ศึกษาสถาปัตยกรรมไทย โดยให้ชื่อตามนามสกุลของผู้มีพระคุณจัดสร้าง นอกจากนี้ ยังมีบริการเรือถีบในสระน้ำด้วย[2]

ลักษณะชุมชนโดยรอบโรงเรียน

[แก้]

ชุมชนที่อยู่ล้อมรอบโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นนทบุรี เป็นการผสมผสานระหว่างชุมชนพื้นบ้านดั้งเดิม ที่ประกอบอาชีพทำสวนเป็นหลัก และชุมชนใหม่ ในรูปแบบหมู่บ้านจัดสรร (เมืองทองธานี, บ้านสวนกุหลาบ) แวดล้อมไปด้วยอาคารบ้านเรือน สถานที่ราชการ (ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษาฯ, กระทรวงยุติธรรม, กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ฯลฯ) โรงพยาบาล (โรงพยาบาลชลประทาน, โรงพยาบาลปากเกร็ด, โรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ ฯลฯ) ธนาคาร โรงงานอุตสาหกรรม สถาบันการศึกษาต่าง ๆ ทั้งของรัฐบาล และเอกชน (โรงเรียนปากเกร็ด, โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ หอวัง นนทบุรี, โรงเรียนชลประทานวิทยา, โรงเรียนชลประทานสงเคราะห์, ศูนย์เทคโนโลยีการศึกษาเพื่อคนตาบอด ฯลฯ) ห้างสรรพสินค้า (เซ็นทรัล พลาซา แจ้งวัฒนะ, โรงภาพยนตร์เมเจอร์ฮอลลีวูด แจ้งวัฒนะ) วัด (วัดชลประทานรังสฤษฎ์, วัดกู้) สถานที่ท่องเที่ยว (สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ นนทบุรี, เกาะเกร็ด ฯลฯ) สิ่งก่อสร้างสำคัญ (สะพานพระราม 4, อุโมงค์ปากเกร็ด) เป็นต้น[2]

เกียรติยศของโรงเรียน

[แก้]

โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นนทบุรี ได้พัฒนาการจัดการศึกษา และการอำนวยประโยชน์ทางการศึกษา ให้แก่นักเรียนอย่างต่อเนื่อง จนทัดเทียมและนำหน้าสถานศึกษาอื่น ๆ โดยได้รับรางวัลต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก เช่น รางวัลสถานศึกษาพระราชทาน ประจำปีการศึกษา 2532 และ ปีการศึกษา 2544, รางวัลโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดใหญ่พิเศษดีเด่น ประจำปีการศึกษา 2532

นอกจากนี้ ยังได้รับรางวัลการจัดบรรยากาศห้องสมุดดีเด่น และรางวัลการใช้ห้องสมุดเพื่อการเรียนการสอนดีเด่น จากกรมสามัญศึกษา ประจำปีการศึกษา 2533, รางวัลโรงเรียนพัฒนาห้องสมุดดีเด่น จากกรมสามัญศึกษา ประจำปีการศึกษา 2534, รางวัลห้องสมุดโรงเรียนที่มีผลงานดีเด่น จากสมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย ประจำปี พ.ศ. 2535, ห้องสมุดโรงเรียนได้รับการคัดเลือกให้เป็น ห้องสมุดเฉลิมพระเกียรติกาญจนาภิเษก ของกลุ่มโรงเรียนมัธยมศึกษาส่วนกลาง กลุ่มที่ 9 จากกรมสามัญศึกษา, เป็นห้องสมุดโรงเรียนระดับมัธยมศึกษา จากจำนวน 11 แห่ง ที่ได้รับการคัดเลือกจาก สถาบันองค์การสหพันธ์ห้องสมุดนานาชาติ ให้เป็นสถานที่ศึกษาดูงานของคณะบรรณารักษ์จากทั่วโลก ที่เข้าร่วมการประชุมบรรณารักษ์นานาชาติ เมื่อปี พ.ศ. 2542, โล่ประกาศเกียรติคุณ โรงเรียนมัธยมศึกษาส่วนกลางขนาดใหญ่พิเศษ ที่จัดกิจกรรมการอ่านเฉลิมพระเกียรติได้อย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อปีการศึกษา 2542 เป็นต้น[2]

เกียรติยศทางการศึกษา

[แก้]

โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นนทบุรี ได้จัดส่งนักเรียนที่มีความสามารถในด้านต่าง ๆ เข้าประกวดและแข่งขันในกิจกรรมที่หน่วยงานภายนอกจัดขึ้นมาโดยตลอด และประสบความสำเร็จมากมาย ทั้งในระดับอำเภอ ระดับจังหวัด ระดับประเทศ และระดับนานาชาติ มาเป็นลำดับ

โดยเริ่มสร้างชื่อเสียงมาตั้งแต่ได้รับรางวัลชนะเลิศ การแข่งขันตอบปัญหาจากสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เมื่อปี พ.ศ. 2524 ต่อมาในปี พ.ศ. 2526 ก็ได้รับรางวัลชนะเลิศ การแข่งขันตอบปัญหา ในรายการ 180 ไอคิว ทาง ททบ.5 และได้รับรางวัลชนะเลิศ การแข่งขันตอบปัญหา ในรายการ ธรรมะกับเยาวชน ทาง ช่อง 9 อ.ส.ม.ท. อีกด้วย ในปี พ.ศ. 2529 ได้รับรางวัลชนะเลิศ การแข่งขันตอบปัญหาทางวิทยาศาสตร์ ในรายการ เสาร์สโมสร ทาง ททบ.5 ต่อมา ในปี พ.ศ. 2530 ได้รับประทานเกียรติบัตร ในการตอบปัญหาธรรมะกับเยาวชน จาก สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร ณ พุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม ในปีเดียวกันนั้น ยังได้รับรางวัลชนะเลิศ การแข่งขันตอบปัญหาภาษาอังกฤษ ในรายการ เชลล์ ควิซ ทางช่อง 9 และเป็นแชมป์ 9 สมัย จากการตอบปัญหาในรายการ เยาวชนคนเก่ง ทางช่อง 9 เช่นกัน

ในปี พ.ศ. 2531 ได้รับรางวัลชนะเลิศ เป็นการทัศนศึกษาที่ประเทศอังกฤษ จากรายการ เก่งจริงๆ ทาง ททบ.5 ในปีต่อมา (พ.ศ. 2532) ได้รับรางวัลรองชนะเลิศ การแข่งขันทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ในงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ และในปี พ.ศ. 2534 ได้รับรางวัลชนะเลิศในการประกวด โครงการเยาวชนช้างเผือก ของเครือซิเมนต์ไทย ต่อมา ในปี พ.ศ. 2541 ได้รับรางวัลรองชนะเลิศ ในการแข่งขันตอบปัญหาทางวิทยาศาสตร์ ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย จากงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ในปีถัดมา ได้รับรางวัลชนะเลิศ การแข่งขันตอบปัญหาทางวิชาการ ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ในงานวันเกษตรแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ. 2542

ในระดับชาติ พ.ศ. 2543 นักเรียนของโรงเรียน สามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้เป็นลำดับที่ 1 ของคณะสหเวชศาสตร์ สาขากายภาพบำบัด และคณะรัฐศาสตร์ สาขารัฐประศาสนศาสตร์ ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นอกจากนี้ ยังได้รับทุนการศึกษาของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ไปศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีถึงปริญญาเอก ที่ประเทศเยอรมนี และญี่ปุ่น และศึกษาในระดับปริญญาตรีถึงปริญญาโท ที่สาธารณรัฐประชาชนจีน อีกด้วย

ในระดับนานาชาติ นักเรียนของโรงเรียน ได้รับคัดเลือกเป็นผู้แทนประเทศไทย เข้าร่วมการแข่งขันฟิสิกส์โอลิมปิก ประจำปี พ.ศ. 2541 ที่ประเทศอิตาลี ได้รับรางวัลเหรียญทองแดง และการแข่งขันชีววิทยาโอลิมปิก ประจำปี พ.ศ. 2542 ซึ่งสามารถผ่านเข้าถึงรอบ 12 คนสุดท้าย[2]

เกียรติยศทางการกีฬา

[แก้]

นักกีฬาของโรงเรียน ได้รับคัดเลือกเข้าแข่งขันในนามทีมชาติไทย ในหลายชนิดกีฬา เช่น วอลเลย์บอล, วอลเลย์บอลชายหาด (เอเชียนเกมส์ 1998 ประเทศไทย), เทควันโด (ซีเกมส์ 2003 ประเทศเวียดนาม), ฟันดาบ (ซีเกมส์ 2001 ประเทศมาเลเซีย) เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังได้รับรางวัล จากการส่งทีมโรงเรียนเข้าแข่งขัน ในระดับอำเภอ จนถึงระดับประเทศ เช่น ฟุตบอล (รองชนะเลิศอันดับ 1 ฟุตบอลนักเรียนกรุงเทพมหานคร รุ่นอายุไม่เกิน 16 ปี), วอลเลย์บอล (ประเภทหญิง ชนะเลิศ กีฬานักเรียนกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2540 รุ่นอายุไม่เกิน 15 ปี), วอลเลย์บอลชายหาด (ประเภทหญิง ชนะเลิศ สิงห์ไทยแลนด์โอเพ่น ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2544 จังหวัดขอนแก่น), กรีฑา (6 เหรียญทอง การแข่งขันกีฬานักเรียนนักศึกษาแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 22 และ โล่รางวัลนักกรีฑาดีเด่น กีฬานักเรียนกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2542), ว่ายน้ำ (2 เหรียญทอง กีฬานักเรียนกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2543), แบดมินตัน (ชนะเลิศ กีฬานักเรียนจังหวัดนนทบุรี พ.ศ. 2543) เป็นต้น[2]

เกียรติยศทางกิจกรรม

[แก้]

กิจกรรมเชียร์และแปรอักษร มีการตั้งชมรมขึ้นภายในโรงเรียน เพื่อเป็นผู้แทนโรงเรียนไปจัดกิจกรรมภายนอก มีผลงานสำคัญคือ ในพิธีเปิดงานวันเด็กแห่งชาติ พ.ศ. 2543 และ พิธีเปิดการแข่งขันกีฬานักเรียนจังหวัดนนทบุรี พ.ศ. 2542 นอกจากนี้ กิจกรรมวงโยธวาทิต ยังได้รับรางวัลเหรียญเงิน จากการแข่งขันวงโยธวาทิตแห่งประเทศไทย และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 (ประเภท ก) จากการประกวดวงโยธวาทิตนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2544[2]

กิจกรรมของโรงเรียน

[แก้]

โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นนทบุรี ได้จัดให้มีกิจกรรมภายในโรงเรียน ส่งผู้แทนนักเรียนออกไปร่วมกิจกรรมภายนอกโรงเรียน ทั้งกับโรงเรียนใกล้เคียง โรงเรียนในจังหวัดนนทบุรี และโรงเรียนในเครือสวนกุหลาบวิทยาลัย ทั้งนี้ เพื่อเป็นการฝึกฝนให้นักเรียนกล้าคิด กล้าแสดงออก มีความคิดสร้างสรรค์ สามารถแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าได้ดี ตลอดจนการใช้ชีวิตร่วมกับบุคคลที่มีความแตกต่างกันในสังคม

กิจกรรมภายในโรงเรียน

[แก้]

กิจกรรมชุมนุมเชียร์และแปรอักษรที่ ม.1 และ ม.2 ทุกคนต้องผ่านการเข้าร่วม และเป็นอีกหนึ่งวัฒนธรรมของนักเรียนสวนกุหลาบทุกแห่งต้องรู้จักและปฏิบัติ

การแข่งขันกีฬาภายใน

[แก้]

การแข่งขันกีฬาภายในของโรงเรียนฯ จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยแบ่งนักเรียนออกเป็น 5 คณะสีคือ คณะสีเขียว คณะสีแดง คณะสีเหลือง คณะสีม่วง และ คณะสีน้ำเงิน ต่อมา (ตั้งแต่ พ.ศ. 2545) มีการแต่งชื่อคณะสี ให้ไพเราะและคล้องจองกันด้วยคือ พฤกษาขจี, รพีจรัส, ปภัสอำพัน, อัญชันรุจี และ นทีพิสุทธิ์ ตามลำดับ เพื่อเข้าร่วมการแข่งขันในหลายชนิดกีฬา เช่น ฟุตบอล, บาสเกตบอล, วอลเลย์บอล,กรีฑา, แบดมินตัน, แชร์บอล, เปตอง, ว่ายน้ำ เป็นต้น รวมถึงจัดกิจกรรมเชียร์และแปรอักษรการประกวดเต้นโคฟเวอร์และประชันธง ตามคณะสี

วัตถุประสงค์เพื่อสร้างความสามัคคีให้เกิดขึ้นในโรงเรียนฯ ส่งเสริมการออกกำลังกาย ตลอดจนก่อให้เกิดความสนุกสนานระหว่างเพื่อนนักเรียน

นิทรรศการทางวิชาการ

[แก้]

การจัดงานสัปดาห์นิทรรศการทางวิชาการของโรงเรียนฯ มีชื่องานว่า สวนฯนนท์ปริทรรศน์ จัดขึ้นเป็นประจำในช่วงกลางเดือนมกราคมของทุกปี โดยเป็นการแสดงผลงานต่าง ๆ ของอาจารย์และนักเรียน เพื่อให้บุคคลภายในและภายนอกโรงเรียนฯ ได้เล็งเห็นถึงความสามารถของบุคลากรของโรงเรียนฯ ตลอดจนเป็นเวทีกลาง ในการแลกเปลี่ยนทรรศนะ และแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับผลงาน และแนวคิดทางวิชาการต่าง ๆ

กิจกรรมชุมนุม

[แก้]

กิจกรรมชุมนุม เป็นการเปิดโอกาสให้นักเรียนได้ทำกิจกรรมตามจินตนาการของตน ภายใต้เหตุผล และความควบคุมของอาจารย์ที่ปรึกษาชุมนุม เพื่อสร้างผลงานออกสู่สาธารณะต่อไป โดยภายในโรงเรียนฯ ได้มีการก่อตั้งชุมนุมขึ้นเป็นจำนวนมาก ตามความสนใจของนักเรียนที่มีหลากหลาย ทั้งด้านภาษา กีฬา สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม สังคม พาณิชยกรรม คอมพิวเตอร์ ศิลปศึกษา เป็นต้น

วารสารสวนกุหลาบนนท์

[แก้]

วารสารสวนกุหลาบนนท์ เดิมออกเป็นรายภาคเรียน ปีละสองครั้ง มีสมาคมผู้ปกครองและครูของโรงเรียนฯ เป็นเจ้าของ ปัจจุบันเป็นวารสารรายปี ซึ่งโรงเรียนฯ รับเป็นเจ้าของ โดยมีชุมนุมประชาสัมพันธ์ เป็นกองบรรณาธิการ มีเนื้อหาข่าวสาร รวมไปถึงกิจกรรม และภาพบรรยากาศต่าง ๆ ตลอดทั้งปีการศึกษา

วงโยธวาทิตของโรงเรียน

[แก้]

วงโยธวาทิต โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นนทบุรี เริ่มก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2523 โดยได้รับการสนับสนุนจาก นางอัมพา แสนทวีสุข ผู้อำนวยการในขณะนั้น และในปัจจุบัน ได้รับการสนับสนุนจาก สมาคมผู้ปกครองและครูของโรงเรียนฯ คณะผู้บริหารและคุณครูของโรงเรียนฯ[ต้องการอ้างอิง]

กิจกรรมการแสดงของวงโยธวาทิตโรงเรียนฯ มีทั้งรูปแบบ Marching และ Concert โดยออกงานทั้งภายในและภายนอกโรงเรียน ซึ่งเป็นการแสดงเพื่อกิจกรรมของโรงเรียน และการบริการชุมชน ทั้งภาครัฐและเอกชน โดยสร้างชื่อเสียงให้กับโรงเรียนตลอดมา อาทิเช่น ในการประกวดวงโยธวาทิต ชิงถ้วยพระราชทาน พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ณ สนามศุภชลาศัย กรีฑาสถานแห่งชาติ ระหว่างปี พ.ศ. 2544-2547 วงโยธวาทิตของโรงเรียนฯ ได้รับรางวัลทุกปี ประกอบด้วย[ต้องการอ้างอิง]

  • 21 ธันวาคม พ.ศ. 2544 - รางวัลเหรียญเงิน ระดับประเทศ (จัดโดย บริษัท สยามดนตรียามาฮ่า จำกัด ร่วมกับ กระทรวงศึกษาธิการ)
  • 12 มกราคม พ.ศ. 2545 - รางวัลเหรียญทอง และ รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ระดับประเทศ (จัดโดย กรมพลศึกษา ร่วมกับ บมจ. ธนาคารทหารไทย)
  • 10 มกราคม พ.ศ. 2546 - รางวัลเหรียญทอง ประเภทบรรเลงเพลงไทยดีเด่น และ รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ระดับประเทศ (จัดโดย สำนักงานพัฒนาการกีฬาและนันทนาการ ร่วมกับ บมจ.ธนาคารทหารไทย)
  • 30 มกราคม พ.ศ. 2547 - รางวัลเหรียญทอง ระดับประเทศ (จัดโดย บริษัท สยามดนตรียามาฮ่า จำกัด ร่วมกับ กระทรวงศึกษาธิการ)

กิจกรรมเชียร์และแปรอักษร

[แก้]

ชุมนุมเชียร์และแปรอักษร สวนกุหลาบวิทยาลัย นนทบุรี เป็นกิจกรรมที่เริ่มจัดตั้ง เป็นกลุ่มงานเล็กๆ โดยยังไม่เป็นชุมนุม ในปีการศึกษา 2539 (ส.ก.น.รุ่น 16) เพื่อรองรับ งานกรีฑาสวนกุหลาบสัมพันธ์ ในขณะนั้นมีเพียงการใช้เพลงเชียร์ การแปรอักษรด้วยรีบรุก และเพลต 1:1 ต่อมา มีการก่อตั้งเป็นชุมนุมขึ้น ในปีการศึกษา 2541 (ส.ก.น. รุ่นที่ 18) และในปีถัดมา (พ.ศ. 2542) ในสมัยผู้อำนวยการสุโข วุฑฒิโชติ ได้มีการนำเพลต 1:16 มาประกอบการแปรอักษร ทั้งนี้ ในปี พ.ศ. 2552 ชุมนุมฯ ได้รับเกียรติให้เป็นผู้ฝึกซ้อม และควบคุมการแปรอักษร ให้แก่นักเรียน โรงเรียนบ้านบางกะปิ ในการแข่งขันกีฬานักเรียนนักศึกษาแห่งประเทศไทย ประจำปี พ.ศ. 2553 หรือ "กรุงเทพเกมส์"[ต้องการอ้างอิง]

ในปัจจุบันชุมนุมเชียร์และแปรอักษรฯ ถือเป็น 1 ใน 5 ชุมนุมวัฒนธรรมของโรงเรียน และเป็นชุมนุมที่มีสมาชิกชุมนุมมากที่สุดในโรงเรียน เนื่องจากนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ทุกคน ต้องเป็นสมาชิกชุมนุม โดยมีจุดประสงค์เพื่อรักษา ส่งเสริม ประเพณีวัฒนธรรมของโรงเรียน และแสดงศักยภาพความเป็นสวนกุหลาบ ให้เป็นที่ประจักษ์ มีอาจารย์สุจินตรา ผริตะโกมล รองผู้อำนวยการ กลุ่มการบริหารวิชาการและแผนงาน, อาจารย์ชาญ บัณฑิตสิงห์ อดีตหัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เป็นที่ปรึกษาของชุมนุม[ต้องการอ้างอิง]

โดยในชุมนุมจะมี 3 ตำแหน่งคือ แผนก 1:25 แผนก 1:1 และแผนกเพลตเตอร์ โดยแผนก 1:25 สร้างโค้ดสำหรับแปรเป็นรูปภาพบนอัฒจันทร์ แผนก 1:1 สร้างโค้ดสำหรับแปรเป็นตัวอักษร, คำพูดต่าง ๆ ที่มักจะสร้างกระแสบนทวิตเตอร์เป็นประจำ และแผนกเพลตเตอร์ที่คอยดูแลและซ่อมแซมอุปกรณ์

กิจกรรมร่วมกับกลุ่มโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย

[แก้]

ดูบทความหลักที่ กิจกรรมร่วมของกลุ่มโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย

กลุ่มโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ได้ร่วมกันจัดกิจกรรม เพื่อเชื่อมความสามัคคีระหว่างสถาบันคือ งานชุมนุมลูกเสือ-เนตรนารี สวนกุหลาบสัมพันธ์ ที่เป็นกิจกรรมเข้าค่ายพักแรมลูกเสือเนตรนารีร่วมกัน และ การแข่งขันกรีฑา สวนกุหลาบสัมพันธ์ ซึ่งเป็นกิจกรรมแข่งขันกีฬาประเภทลู่และลานร่วมกัน

บุคคลที่มีชื่อเสียงที่เกี่ยวข้องกับโรงเรียน

[แก้]

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. ประวัติโรงเรียน เก็บถาวร 2008-01-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จากเว็บไซต์โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นนทบุรี
  2. 2.00 2.01 2.02 2.03 2.04 2.05 2.06 2.07 2.08 2.09 2.10 2.11 2.12 2.13 หนังสืออนุสรณ์ 24 ปี สวนกุหลาบนนท์ 2521-2545 30 มีนาคม พ.ศ. 2545
  3. พลอากาศโท นายแพทย์โกศล มณีจักร เข้าเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ปีการศึกษา พ.ศ. 2484 รุ่นเดียวกับ พลอากาศเอกประหยัด ดิษยะศริน (บิดาของ นาวาอากาศเอกวีระยุทธ ดิษยะศริน)
  4. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ SK President
  5. คู่มือนักเรียนและผู้ปกครอง ปีการศึกษา 2553
  6. สิ่งเคารพสักการะ จากเว็บไซต์โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย
  7. พระประจำโรงเรียน เก็บถาวร 2007-10-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จากเว็บไซต์โรงเรียนฯ
  8. พระพุทธรูป ปาง 25 พุทธศตวรรษ เก็บถาวร 2007-09-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จากเว็บไซต์โรงเรียนฯ
  9. พระบรมรูปรัชกาลที่ 5 เก็บถาวร 2007-12-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จากเว็บไซต์โรงเรียนฯ
  10. เพลงประจำโรงเรียน เก็บถาวร 2007-09-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จากเว็บไซต์โรงเรียนฯ
  11. บทความ “บันทึกที่มา เพลงชุดสวนกุหลาบฯ นนท์ รำลึก” ในหนังสืออนุสรณ์ 22 ปี สวนกุหลาบนนท์ 2521-2543 30 มีนาคม พ.ศ. 2543
  12. โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย,"ข้อมูลทั่วไป">เว็บไซต์ ส.ก.
  13. ต้นไม้ประจำโรงเรียน เก็บถาวร 2007-09-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จากเว็บไซต์โรงเรียนฯ
  14. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ :0
  15. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ :1
  16. ภาพแผนที่ภายนอก พร้อมสถานที่สำคัญรอบโรงเรียน เก็บถาวร 2016-03-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จากเว็บไซต์โรงเรียนฯ
  17. 17.0 17.1 17.2 17.3 17.4 17.5 17.6 17.7 17.8 คู่มือนักเรียนและผู้ปกครอง โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นนทบุรี ปีการศึกษา 2541
  18. บริการด้านโภชนาการ เก็บถาวร 2007-05-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จากเว็บไซต์โรงเรียนฯ
  19. 19.0 19.1 บริการห้องสมุด เก็บถาวร 2007-05-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จากเว็บไซต์โรงเรียนฯ
  20. งานวันแม่2550[ลิงก์เสีย] จากเว็บเพจ สวน'นนท์บอร์ด

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]