โรงเรียนวัดเขมาภิรตาราม
โรงเรียนวัดเขมาภิรตาราม | |
---|---|
บริเวณสนามภายในโรงเรียน | |
ที่ตั้ง | |
พิกัด | 13°49′23.8″N 100°30′11.1″E / 13.823278°N 100.503083°E |
ข้อมูล | |
ประเภท | โรงเรียนรัฐบาล |
คำขวัญ | • จรรยาดี มีปัญญา กีฬาเด่น เน้นวินัย • สจฺจํ เว อมตา วาจา (คำสัตย์เป็นคำไม่ตาย) |
สถาปนา | 1 เมษายน พ.ศ. 2450 (117 ปี 251 วัน) |
ผู้ก่อตั้ง | พระวินัยรักขิต (คง ปญฺญาทีโป) |
เขตการศึกษา | เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษานนทบุรี |
หน่วยงานกำกับ | สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน |
รหัส | 1012230147 |
ผู้อำนวยการโรงเรียน | กรชนก สุตะพาหะ |
ระดับปีที่จัดการศึกษา | มัธยมศึกษาปีที่ 1–6 |
เพศ | สหศึกษา |
ภาษาที่ใช้เป็นสื่อการสอน | • ไทย • อังกฤษ |
สี | น้ำเงิน เหลือง แดง |
เพลง | มาร์ชเขมา |
เว็บไซต์ | www |
โรงเรียนวัดเขมาภิรตาราม เป็นโรงเรียนรัฐบาลประเภทโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดใหญ่พิเศษ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษานนทบุรี สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ตั้งอยู่ในตำบลสวนใหญ่ อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี เปิดการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1–6 โรงเรียนวัดเขมาภิรตารามเป็นหนึ่งในโรงเรียนมาตรฐานสากล (World-Class Standard School) ห้าร้อยโรงเรียน และเป็นโรงเรียนรางวัลพระราชทานประจำปี พ.ศ. 2536 และ 2553
ประวัติ
[แก้]โรงเรียนวัดเขมาภิรตารามกำเนิดมาจากการที่ผู้ปกครองได้มาฝากกุลบุตรให้เป็นศิษย์วัดเขมาภิรตาราม โดยกินอยู่หลับนอนที่วัดเพื่อการศึกษาเล่าเรียนกับพระ มีเจ้าอาวาสเป็นผู้ดูแลคล้ายกับครูใหญ่ พระลูกวัดเป็นครูน้อย อาศัยเรียนตามกุฏิ ศาลาการเปรียญ หน้าโบสถ์ วิชาที่สอนมีภาษาไทย ภาษาขอม การอ่าน การเขียน การคัดลายมือ วิชาศีลธรรม วิชาพุทธศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และพงศาวดารไทยจากความรู้และประสบการณ์ของพระผู้สอน
การเรียนการสอนดำเนินมาจนถึง พ.ศ. 2443 พระวินัยรักขิต (คง ปญฺญาทีโป) เจ้าอาวาสวัดเขมาภิรตาราม มีความประสงค์จะส่งเสริมการศึกษาของกุลบุตรให้เจริญยิ่งขึ้น ประกอบกับขณะนั้นอยู่ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขยายการศึกษาออกไปยังหัวเมือง มีการตั้งโรงเรียนหลวงหรือโรงเรียนรัฐบาลในหัวเมืองหลายแห่ง โดยมีกรมศึกษาธิการในสมัยนั้นเป็นผู้ดำเนินการตามพระราชประสงค์ พระวินัยรักขิตเห็นว่ากุลบุตรที่นิยมศึกษาในโรงเรียนวัดเขมาภิรตารามมีมากขึ้นเรื่อย ๆ ควรจะดำเนินการขอจัดตั้งโรงเรียนหลวงขึ้นจึงได้ติดต่อกรมศึกษาธิการให้ตั้งโรงเรียนหลวงขึ้นที่วัดเขมาภิรตาราม ใน พ.ศ. 2450 กรมศึกษาธิการก็อนุญาตให้ตั้งโรงเรียนหลวงขึ้นที่วัดเขมาภิรตาราม โดยให้ชื่อว่า โรงเรียนวัดเขมาภิรตาราม มีฆราวาสเข้ามาเป็นครูสอน เป็นโรงเรียนประเภทสหศึกษา (ในยุคเริ่มต้น) โดยมีพระวินัยรักขิตอุปการะโรงเรียน
ต่อมานักเรียนเพิ่มขึ้นทุกปีจนสถานที่เรียนไม่เพียงพอ พระวินัยรักขิตได้ขอพระบรมราชานุญาตขอใช้พระที่นั่งมูลมณเฑียร (เป็นพระที่นั่งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้รื้อถอนจากในพระบรมมหาราชวังมาสร้างไว้ที่วัดเขมาภิรตาราม เดิมใช้เป็นที่รับรองและประทับแรมสำหรับพระเถระผู้ใหญ่ที่เป็นพระราชวงศ์เมื่อเสด็จมาตรวจการคณะสงฆ์และตรวจการศึกษา) เป็นสถานที่เรียนและได้รับพระราชทานให้ใช้เป็นโรงเรียนได้ นับได้ว่าพระที่นั่งมูลมณเฑียรเป็นอาคารเรียนหลังแรกของโรงเรียน ต่อมาใน พ.ศ. 2499 จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ดำเนินการให้กระทรวงศึกษาธิการจัดซื้อที่ดินเพื่อก่อสร้างอาคารโรงเรียนหลังใหม่ให้กว้างขว้างกว่าเดิม กระทรวงศึกษาธิการได้ติดต่อซื้อที่ดินส่วนหนึ่งของชาวบ้านทางทิศเหนือของวัดเขมาภิรตารามอีก 13 ไร่ 86 วา และรวมกับที่ดินของวัดอีก 3 ไร่ 1 งาน 80 ตารางวา รวมเป็นเนื้อที่ 16 ไร่ 2 งาน 66 ตารางวา ปรับปรุงพื้นดินดำเนินการก่อสร้าง และวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2496 โดยมีพลเอก มังกร พรหมโยธี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธาน สร้างอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 2 ชั้นแบบไทยจำนวน 22 ห้องเรียน (ปัจจุบันคืออาคาร 1) เปิดใช้เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2497 จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นประธานพิธีเปิดใช้เป็นอาคารเรียนของโรงเรียนวัดเขมาภิรตาราม
พ.ศ. 2513 โรงเรียนได้รับการอนุมัติให้สร้างอาคารเรียน 3 ชั้น 18 ห้องเรียน อีก 1 หลัง ทางด้านทิศตะวันตก (ปัจจุบันคืออาคาร 2) ก่อ สวัสดิพาณิชย์ อธิบดีกรมสามัญศึกษา ได้มาเป็นประธานพิธีเปิดเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 ต่อมาใน พ.ศ. 2516 ได้งบประมาณก่อสร้างอาคารเรียน 4 ชั้น 12 ห้องเรียน เพิ่มขึ้นอีก 1 หลัง (ปัจจุบันคืออาคาร 4) และใน พ.ศ. 2523 โรงเรียนได้รับงบประมาณสร้างอาคารพิเศษ 1 หลัง (ปัจจุบันคืออาคาร 5)
อาคารและสถานที่
[แก้]- อาคารเรียน 1 จำนวน 2 ชั้น
- อาคารเรียน 2 จำนวน 3 ชั้น
- อาคารเรียน 3 จำนวน 4 ชั้น (ปัจจุบัน เป็นอาคารเรียนสำหรับนักเรียนที่ศึกษาในโครงการห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี (GIFTED))
- อาคารเรียน 4 จำนวน 4 ชั้น (ปัจจุบัน เป็นอาคารเรียนสำหรับนักเรียนที่ศึกษาในโครงการห้องเรียนพิเศษ ENGLISH PROGRAM)
- อาคารเรียน 5 จำนวน 4 ชั้น
- อาคารเรียน 6 จำนวน 7 ชั้น
- อาคารเรียน 7 จำนวน 8 ชั้น
- อาคารพลศึกษา จำนวน 2 ชั้น
- โรงอาหารและหอประชุม จำนวน 2 ชั้น
- ศาลาทรงไทย จำนวน 7 หลัง
กิจกรรมคณะสี
[แก้]โรงเรียนวัดเขมาภิรตารามได้แบ่งคณะสีออกเป็น 5 คณะสี โดยใช้ชื่อตามสีของดอกไม้ ในการทำกิจกรรมกีฬาภายใน "เขมาเกมส์" เพื่อส่งเสริมความสามัคคีกลมเกลียว เป็นประจำทุกปี ซึ่งประกอบไปด้วย
- คณะแก้วเจ้าจอม
- คณะราชพฤกษ์
- คณะปาริชาต
- คณะหยกมณี
- คณะพวงคราม
รายชื่ออาจารย์ใหญ่และผู้อำนวยการ
[แก้]ลำดับที่ | ชื่อ | วาระการดำรงตำแหน่ง |
---|---|---|
1 | นายผัน ไม่ทราบนามสกุล | พ.ศ. 2450–2451 |
2 | นายถนอม ปิณฑะบุตร | พ.ศ. 2451–2453 |
3 | ขุนการัญสิขภาร (ทุเรียน ทัพภะพยัคฆ์) | พ.ศ. 2453–2458 |
4 | นายตั้ว ทัตตานนท์ | พ.ศ. 2458–2481 |
5 | นายธำรง เทวะผลิน | พ.ศ. 2481–2481 |
6 | นายฉัตร อินทรลักษณ์ | พ.ศ. 2481–2497 |
7 | นายสง่า ดีมาก | พ.ศ. 2497–2516 |
8 | นายพิทยา วรรธนานุสาร | พ.ศ. 2516–2517 |
9 | นายเจือ หมายเจริญ | พ.ศ. 2517–2519 |
10 | นายบุญเนิน หนูบรรจง | พ.ศ. 2519–2522 |
11 | นายวรรณิศ วงษ์สง่า | พ.ศ. 2522–2527 |
12 | นายวรรณ จันทร์เพ็ชร | พ.ศ. 2527–2529 |
13 | นายสนิทพงศ์ นวลมณี | พ.ศ. 2529–2533 |
14 | นายสาโรช วัฒนสโรช | พ.ศ. 2533–2539 |
15 | นายวิชัย เวียงสงค์ | พ.ศ. 2539–2540 |
16 | นายอนันต์ ตรีนิตย์ | พ.ศ. 2540–2541 |
17 | นายชูชาติ ชัยบุรินทร์ | พ.ศ. 2541–2546 |
18 | นายวินัย นุ่นพันธ์ | พ.ศ. 2546–2550 |
19 | นายจารึก ศรีเลิศ | พ.ศ. 2550–2556 |
20 | นายอธิชาติ สวัสดี | พ.ศ. 2556–2559 |
21 | นายสันติ สุวรรณหงษ์ | พ.ศ. 2560–2560 |
22 | นางจรุญ จารุสาร | พ.ศ. 2560–2566 |
23 | นางกรชนก สุตะพาหะ | พ.ศ. 2566-ปัจจุบัน |
ศิษย์เก่า
[แก้]นักการเมือง
[แก้]- จอมพล แปลก พิบูลสงคราม อดีตนายกรัฐมนตรี
- พลเอก วิจิตร สุขมาก อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
- อุดมเดช รัตนเสถียร อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
- อภิรักษ์ โกษะโยธิน อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
- ว่าที่ร้อยตรี สุเมธ ฤทธาคนี อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดปทุมธานี
- สุชาติ บรรดาศักดิ์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนนทบุรี
ทหาร
[แก้]- พลเอก สมหมาย เกาฏีระ อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด
- พลเอก สุพิทย์ วรอุทัย อดีตรองผู้บัญชาการทหารสูงสุด
- พลเอก พิรุณ แผ้วพลสง อดีตรองผู้บัญชาการทหารสูงสุด
- พลเอก เครือนาค เกิดขำ อดีตผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบก
- พลเรือเอก สุวิทย์ ธาระรูป อดีตผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารเรือ
- จอมพล แปลก ขีตตะสังคะ หรือ แปลก พิบูลสงคราม อดีตจอมพลทหารบก และ อดีตนายกรัฐมนตรี
นักวิชาการ
[แก้]- ศาสตราจารย์เกตุ กรุดพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ร้อยเอก เสนีย์ วิลาวรรณ อดีตคณบดีคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร
ศิลปิน
[แก้]- เจนภพ จบกระบวนวรรณ นักวิชาการเพลงลูกทุ่ง
- สุนทร สุจริตฉันท์ นักร้อง
- ปรีชา ชนะภัย นักร้อง, นักดนตรี
- ดนุพล แก้วกาญจน์ นักร้อง
- ธานินทร์ ทัพมงคล นักแสดง, นายแบบ, นักร้อง
- นนทรีย์ นิมิบุตร ผู้กำกับภาพยนตร์
- สุคนธวา เกิดนิมิตร นักแสดง
- ศิริลักษณ์ ผ่องโชค นักร้องและนักแสดง