พระศรีศากยะทศพลญาณ ประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระศรีศากยะทศพลญาณ พระประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์
ชื่อเต็มพระศรีศากยะทศพลญาณ พระประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์
ชื่อสามัญพระศรีศากยะทศพลญาณ
พระประธานพุทธมณฑล
หลวงพ่อพุทธมณฑล
ประเภทพระพุทธรูป
ศิลปะศิลปะสุโขทัยประยุกต์
ความสูง15.875 เมตร
วัสดุสัมฤทธิ์
สถานที่ประดิษฐานพุทธมณฑล อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม
ความสำคัญพระพุทธรูปประธานพุทธมณฑล
หมายเหตุสร้างในโอกาสงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

พระศรีศากยะทศพลญาณ ประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์ เป็นพระพุทธรูปยืนปางลีลาขนาดใหญ่ ประดิษฐานเป็นองค์พระประธาน ณ พุทธมณฑล อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม

การก่อสร้าง[แก้]

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีก่อฤกษ์พุทธมณฑล ณ บริเวณใต้ฐานองค์พระประธานเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2498 และได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างในปี พ.ศ. 2500

แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2525 โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้มีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปประกอบพิธีสมโภช เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม

พุทธลักษณะ[แก้]

"พระศรีศากยะทศพลญาณ ประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์" เป็นพระพุทธรูปยืนปางลีลาขนาดใหญ่ พุทธลักษณะทรงยกพระบาทขวาจะก้าว ห้อยพระหัตถ์ขวาท่าไกว พระหัตถ์ซ้ายยกเสมอพระอุระป้องไปเบื้องหน้าเป็นกิริยาเดิน หล่อด้วยทองสำริดหนัก 17,543 กิโลกรัม โดยแบ่งหล่อเป็นชิ้นต่างๆ ขององค์พระ รวม 137 ชิ้น แล้วจึงนำไปประกอบกับโครงเหล็กบนฐานพระพุทธรูป เพื่อเชื่อมรอยต่อ และปรับแต่งให้เป็นเนื้อเดียวกัน เป็นพระพุทธรูปสูง 15.875 เมตร ถือเป็นพระพุทธรูปลีลา หล่อด้วยทองสำริดที่มีลักษณะงดงาม และมีขนาดใหญ่ที่สุดในสมัยรัตนโกสินทร์ [1]

โดยประยุกต์พุทธลักษณะ มาจากพระพุทธรูปปางลีลาสมัยสุโขทัย โดยศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ชาวอิตาลี เป็นผู้ออกแบบ ซึ่งในตอนแรกที่ออกแบบไว้นั้น พระพุทธรูปมีความสูงเพียง 2.14 เมตร แต่เพื่อให้สอดคล้องกับโอกาสที่พระพุทธศาสนาอายุครบ 2,500 ปี จึงได้มีการขยายขนาดเพื่อให้ได้เป็น 2,500 กระเบียด (1 กระเบียดเท่ากับ 1/4 นิ้ว) ดังนั้นพระศรีศากยะทศพลญาณฯ ในปัจจุบัน จึงมีความสูงถึง 15.875 เมตร ใหญ่กว่าขนาดต้นแบบ 7.5 เท่า[2]

ความเป็นมาของพระพุทธรูปปางนี้มีเรื่องราวเกี่ยวข้องกับพุทธประวัติ ตอนที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปจำพรรษา ณ ปัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ ภายใต้ไม้ปาริฉัตตกะ ณ ดาวดึงส์เทวปโลก เมื่อออกพรรษามหาปวารณาแล้ว จึงเสด็จลงจากเทวโลก ในการเสด็จลงจากเทวโลกนั้นเรียกกันว่า "เทโวโรหณสมาคม"[3]

ระเบียงภาพ[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. "สารานุกรมไทยฉบับเยาชน เล่มที่ ๒๙". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-06-12. สืบค้นเมื่อ 2007-05-16.
  2. สงบจิตใจในแดนธรรม ที่ "พุทธมณฑล" จากเว็บไซต์ ผู้จัดการออนไลน์[ลิงก์เสีย]
  3. นิตยสาร ธรรมะคือคุณากร ปีที่ ๔ ฉบับที่ ๔๕ เดือนตุลาคม ๒๕๕๐[ลิงก์เสีย]

ดูเพิ่ม[แก้]