โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย เพชรบูรณ์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย เพชรบูรณ์ (เดิมชื่อ ท่าพลวิทยาคม)
Suankularb Wittayalai Phetchabun School
ที่ตั้ง
ข้อมูล
ชื่ออื่นส.ก.พ. / S.K.PB.
ประเภทโรงเรียนรัฐบาล สังกัด สพฐ.
คำขวัญสุวิชาโน ภวํ โหติ
(ผู้รู้ดีเป็นผู้เจริญ)
สถาปนา24 มิถุนายน พ.ศ. 2542 (24 ปี 299 วัน)
หน่วยงานกำกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 40 , สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, กระทรวงศึกษาธิการ
ผู้อำนวยการนาย รัชชาพงศ์ อยู่สุข
ครู/อาจารย์38 คน[1] 2561
ระดับปีที่จัดการศึกษาช่วงชั้นที่ 3 และ 4
(มัธยมศึกษาตอนต้นและปลาย)
จำนวนนักเรียน590 คน[2] 2561
สี   ชมพู-ฟ้า
เพลง
ดอกไม้ดอกกุหลาบพันธุ์จุฬาลงกรณ์
เว็บไซต์www.skpb.ac.th

โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย เพชรบูรณ์ (อังกฤษ: Suankularb Wittayalai Phetchabun School) (อักษรย่อ: ส.ก.พ. / S.K.PB.) เป็นโรงเรียนในเครือสวนกุหลาบวิทยาลัย ลำดับที่ 7 โดยเป็นโรงเรียนมัธยมศึกษา ประเภทสหศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 40 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ปัจจุบันตั้งอยู่เลขที่ 222 หมู่ 13 ถนนสระบุรี-หล่มสัก ตำบลท่าพล อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ จังหวัดเพชรบูรณ์

โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย เพชรบูรณ์ (สวนเพชร) เป็นหนึ่งในสถาบันสวนกุหลาบวิทยาลัย ทั้ง 11 สวน โดยบริหารจัดการภายใต้ธรรมนูญการศึกษาแห่งสถาบันสวนกุหลาบ ทั้งยังมีกรีฑาสวนกุหลาบสัมพันธ์และงานชุมนุมลูกเสือ - เนตรนารี สวนกุหลาบสัมพันธ์ ซึ่งจัดขึ้นร่วมกับโรงเรียนในกลุ่มโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย เป็นประจำทุกปี โดยแต่ละโรงเรียนจะผลัดกันเป็นเจ้าภาพ

สัญลักษณ์[แก้]

สัญลักษณ์ประจำโรงเรียน[แก้]

ตราเสมา ชมพู - ฟ้า โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย และในเครือโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย
ธงประจำโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย และในเครือโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย
บันทึกต้นฉบับ เพลงประจำโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย
  • ตราประจำโรงเรียน ตราประจำโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย เพชรบูรณ์ เป็นตราประจำโรงเรียนที่ใช้ร่วมกันในกลุ่มสถาบันสวนกุหลาบ ทั้ง 11 สวน โดยที่ตราประจำโรงเรียน เป็นตราของโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบซึ่งได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้ตรานี้ เมื่อ พ.ศ. 2475 มีลักษณะของตราเป็นรูปหนังสือ ที่บริเวณหน้าปกได้ประดิษฐานพระปรมาภิไทยย่อ จ.ป.ร. และมีพระเกี้ยวยอดอยู่ด้านบน ในหนังสือมีขนนก ดินสอ ไม้บรรทัด ด้านขวามีช่อ กุหลาบ 4 ดอก อันหมายถึง หัวใจนักปราชญ์ คือ สุ จิ ปุ ริ หรือ ฟัง พูด อ่าน เขียน การเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพย่อมเกิดจาก การฟัง คิด สอบถาม และจดบันทึก จึงจะเรียนได้อย่างสัมฤทธิ์ผล ด้านล่างซ้ายของ หนังสือมีริบบิ้นผูกอยู่ที่ก้านกุหลาบมีข้อความอยู่ที่ริบบิ้น เขียนว่า “โรงเรียนหลวงสวนกุหลาบ” ด้านบน ปรากฏมีปรัชญาและคติพจน์ “สุวิชาโน ภว โหติ” ด้านล่างมีคำแปลว่า “ผู้รู้ดีเป็นผู้เจริญ” ตรานี้จึงประมวลความดีทั้งหลายรวบรวมไว้ในตราโรงเรียน จึงถือว่าเป็นสัญลักษณ์ที่ชาวสวนกุหลาบวิทยาลัยควรภาคภูมิใจ[3]
ผู้รู้ดี คือ ผู้รู้และเข้าใจในสิ่งต่างๆได้ดี คือรู้อ่าน รู้คิด รู้เท่าทัน รู้ความและรู้คุณ
ผู้เจริญ คือผู้ที่เจริญด้วย ความประพฤติดี ดีพร้อมทั้งกาย วาจา และใจ กระทำแต่สิ่งที่ดีงาม สร้างสรรค์คำนึงถึงผลประโยชน์ ส่วนรวมมากกว่าส่วนตัว[3]
  • อักษรย่อ ส.ก.พ. เป็นอักษรย่อของโรงเรียนใช้ปักบนเครื่องแบบนักเรียนทุกชั้นปี โดยจะไม่ปักชื่อ-นามสกุล แต่ปักเพียงอักษรย่อ ส.ก.พ. สีกรมท่าหรือน้ำเงินเข้ม ประดับบริเวณอกข้างขวา
  • สัญลักษณ์เสมาชมพู-ฟ้า เป็นตราสัญลักษณ์ของโรงเรียนลำดับที่ 3 เดิมเป็นเข็มประดับชุดนักเรียน ต่อมาได้พัฒนาเรื่อยมา และเปลี่ยนมาเป็นการปักด้วยด้ายรูปทรงใบเสมาสีชมพู-ฟ้าอย่างละครึ่ง ประดับเหนืออักษรย่อ ส.ก.พ. บนชุดนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายบริเวณอกข้างขวา
  • สีประจำโรงเรียน ชมพู - ฟ้า
    • ███ สีชมพู เป็นสีประจำวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งตรงกับวันอังคาร ความหมายของสีชมพู คือ ความสุภาพอ่อนหวาน อ่อนโยน นอบน้อมเป็นสีแห่งความรัก ความเอื้อเฟื้อที่มีต่อบุลคลทั่วไป เป็นสีแห่งความเมตตา
    • ███ สีฟ้า เป็นสีประจำนพระราชสมภพของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ซึ่งตรงกับวันศุกร์ ความหมายของสีฟ้า คือ ความเข้มแข็งอดทน ความกล้าหาญ ความเสียสละเป็นสีของท้องฟ้าที่มีอาณาเขตกว้างใหญ่ ไพศาลไม่มีที่สิ้นสุด เป็นสีแห่งจักรวาล
    • ██████ สีชมพู-ฟ้า จึงมีความหมายถึง องค์ผู้พระราชทานกำเนิดโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย และพระบรมราชินีนาถ ทั้งยังหมายถึง เป็นแหล่งที่มีความรัก ความสามัคคี ของผู้ที่มีความดีงาม มีความนึกคิดที่สูงส่ง[3]
  • อัตลักษณ์โรงเรียน ลูกชาวสวนเพชร หมายถึง นักเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยที่ได้รับการปลูกฝังให้มีคุณลักษณะในด้านการเป็นผู้นำ ดูแลเอาใจใส่บุคคลรอบข้างตามบทบาทหน้าที่ อันควรมีตัวชี้วัดแห่งความสำเร็จ ดังต่อไปนี้
    • เป็นผู้นำ หมายถึง ลักษณะที่แสดงถึงการเป็นผู้กล้าแสดงออกในการพูด การกระทำที่ถูกต้องจนเป็นแบบอย่างให้ผู้อื่น
    • รักเพื่อน หมายถึง ลักษณะที่แสดงถึงความมีน้ำใจต่อเพื่อน มีความสามัคคีในหมู่คณะ ไม่ทอดทิ้งกันในยามยาก รู้จักทะนุถนอมน้ำใจ ให้อภัยซึ่งกันและกัน
    • นับถือพี่ หมายถึง ลักษณะที่แสดงออกถึงการมีสัมมาคารวะรุ่นพี่ผู้อาวุโสกว่า รับฟังคำแนะนำอย่างมีเหตุผล ยึดคุณลักษณะที่ถูกต้องของรุ่นพี่เป็นแบบอย่าง
    • เคารพครู หมายถึง ลักษณะที่แสดงออกถึงการตระหนัก ในคุณค่าของการประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้กตัญญูรู้คุณ อ่อนน้อมถ่อมตนต่อครูบาอาจารย์ เชื่อฟังคำสั่งสอนอย่างนอบน้อม
    • กตัญญูพ่อแม่ หมายถึง ลักษณะที่แสดงออกถึง ความสำนึกในพระคุณบุพการี และตอบแทนด้วยความซาบซึ้งใจ ปฏิบัติตนเป็นลูกที่ดีสม่ำเสมอ
    • ดูแลน้อง หมายถึง ลักษณะที่แสดงออกถึงความโอบอ้อมอารีต่อรุ่นน้อง ให้คำแนะนำในยามที่น้องเกิดปัญหา ดูแลด้วยความเต็มใจ โดยไม่หวังผลตอบแทน
    • สนองคุณแผ่นดิน หมายถึง การปฏิบัติตน เพื่อเป็นประโยชน์ของส่วนรวม อันได้แก่ ทำงานเพื่อชุมชน เพื่อแผ่นดิน และเพื่อประเทศชาติ

“ลูกชาวสวนเพชร” เป็นผู้นำ รักเพื่อน นับถือพี่ เคารพครู กตัญญูพ่อแม่ ดูแลน้อง สนองคุณแผ่นดิน เป็นอัตลักษณ์ของโรงเรียน “ลูกชาวสวนเพชร” หมายถึง นักเรียนโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยที่ได้รับการปลูกฝังให้เป็นเป็นเลิศด้านคุณธรรม เป็นผู้นำที่มีคุณภาพ มีความสามารถทางวิชาการ มีวินัย ใส่ใจในระบอบประชาธิปไตย ยึดมั่นในสถาบันแห่งชาติ ไม่ละเลยในประโยชน์ส่วนรวม เอื้ออาทรต่อกันด้วยความรักความสามัคคี ประจักษ์ในพระคุณครู ร่วมเชิดชูเกียรติภูมิแห่งสวนกุหลาบ “เป็นผู้นำ รักเพื่อน นับถือพี่ เคารพครู กตัญญูพ่อแม่ ดูแลน้อง” เป็นคำโปรย ช่วยให้จดจำได้ง่าย ต้องใส่ความเป็นสวนกุหลาบด้วยความภาคภูมิใจในเรื่องราวต่างๆ ของ “สวนกุหลาบฯ” เมื่อสิ่งต่างๆ สะสมอยู่ในตัวจึงจะเป็น “ลูกชาวสวนเพชร” ที่สมบูรณ์

  • ดอกกุหลาบพันธุ์จุฬาลงกรณ์ เป็นดอกไม้ประจำโรงเรียน กุหลาบจุฬาลงกรณ์ คือ ดอกกุหลาบพันธุ์หนึ่ง ไม่มีหนามที่ลำต้น มีขนาดดอกที่ใหญ่มาก สีชมพู และมีกลิ่นหอมจัด เกิดการการเพาะพันธุ์ของชาวยุโรปผู้หนึ่ง และชาวยุโรปผู้นั้นได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต ตั้งชื่อกุหลาบงามพันธุ์ที่เขาผสมขึ้นใหม่ว่า “King of Siam” ซึ่งเป็นดอกกุหลาบที่โปรดของพระราชชายาเจ้าดารารัศมี และทรงถวายนามกุหลาบนั้นว่า "กุหลาบจุฬาลงกรณ์"[3]
  • เพลงประจำโรงเรียน เพลงประจำโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย (บรรดาเรา) ประพันธ์ขึ้นตามพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คำร้องโดย หม่อมราชวงศ์เลื่อน สิงหรา ผู้เรียบเรียงคือ สุวัฒน์ เทียมหงษ์ ทำนองจากเพลงแขกต่อยหม้อ อัตราจังหวะสองชั้น เป็นเพลงไทยเดิมที่ใช้ประกอบการแสดง ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา มีจังหวะการเอื้อนทำนองโดยเฉพาะ โดยจะร้องในโอกาสสำคัญของโรงเรียนเท่านั้นโดยจะมีการการทำความเคราพเพลงประจำโรงเรียนก่อนเริ่มร้องเพลง นอกจากนี้ก็ยังมีเพลงสวนกุหลาบอื่นๆอีกมากมาย [4][5]

สิ่งเคารพสักการะ[แก้]

  • หลวงพ่อสวนกุหลาบ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย เป็นพระพุทธรูปที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้าง พระราชทานเป็นพระพุทธรูปประจำโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร เมื่อครั้งเป็นโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ ซึ่งรัชกาลที่ 5 ทรงพระมหากรุณาธิคุณให้ตั้งชื่อเป็นครั้งที่พระตำหนักสวนกุหลาบ ในพระบรมมหาราชวัง เมื่อ พ.ศ. 2424 เข้าใจว่าเมื่อโรงเรียนย้ายออกมาตั้งภายนอก พระบรมมหาราชวัง หลวงพ่อสวนกุหลาบคงได้เป็นพระพุทธรูปประจำโรงเรียนต่อมา โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย เพชรบูรณ์ ในฐานะโรงเรียนน้องได้ถือให้ความเคารพบูชาหลวงพ่อสวนกุหลาบ เช่นเดียวกับโรงเรียนพี่ โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย
  • พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระปิยมหาราช

ดำเนินการจัดสร้าง ตามแบบกรมศิลปากร เป็นพระบรมราชานุสาวรีย์หล่อด้วยสำริด ขนาดหนึ่งเท่าครึ่งของพระองค์จริง มีลักษณะพระราชอิริยาบถประทับยืนเต็มพระองค์ ขนาดหนึ่งเท่าครึ่งของพระองค์จริง ฉลองพระองค์จอมพลทหารบกภูษาโยง พระหัตถ์ซ้ายทรงถือพระแสงกระบี่และถุงพระหัตถ์ ความสูง 285 เซนติเมตร น้ำหนัก 800 กิโลกรัม โดยถูกจัดสร้างมีรูปแบบเดียวกับโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นครศรีธรรมราช

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราช พระมหากษัตริย์ พระองค์ที่ 5 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ พระราชโอรส ใน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี

ทรงพระราชสมภพ วันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2396 เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2411 เสด็จสวรรคต วันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 ทรงตั้งมั่นอยู่ในทศพิธราชธรรม กอปรด้วยพระเมตตาธรรม และพระคุณธรรมอันประเสริฐ ทรงประกอบพระราชกรณียกิจนานัปการ สร้างความเจริญแก่ประเทศชาติเป็นอเนกประการ ทางด้านการปกครอง การเลิกทาส การเศรษฐกิจ การคมนาคม การสาธารณสุข การศาสนา ทรงส่งเสริมการศึกษา และวางรากฐานการศึกษาอย่างเป็นระบบ ทรงจัดตั้งโรงเรียนเพื่อพสกนิกรได้มีโอกาสศึกษาอย่างเสมอภาค ดังพระราชปณิธาน

‘เจ้านายราชตระกูล ตั้งแต่ลูกฉันเป็นต้นไป ตลอดจนถึงราษฎรที่ต่ำสุด จะให้ได้มีโอกาสเล่าเรียนได้เสมอกัน ไม่ว่าเจ้า ว่าขุนนาง ว่าไพร่ เพราะฉะนั้น จึงพอบอกได้ว่า การเล่าเรียนในบ้านเมืองเรานี้ จะเป็นข้อสำคัญข้อที่หนึ่ง ซึ่งฉันจะอุตส่าห์จัดขึ้นให้เจริญจงได้’ ข้าราชการ ผู้ปกครอง ศิษย์เก่า และนักเรียน โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นครศรีธรรมราช สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น จึงพร้อมใจกันสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ เพื่อสักการะ เฉลิมพระเกียรติ ประกาศเกียรติคุณ ให้แผ่ไพศาล ตราบกาลนาน

คณะผู้บริหารในปัจจุบัน[แก้]

ทำเนียบผู้บริหาร
ลำดับ รายนาม วาระการดำรงตำแหน่ง
1 นายรัชชาพงษ์ อยู่สุข ผู้อำนวยการ
2 - รองผู้อำนวยการ

สถาบันสวนกุหลาบ[แก้]

ปัจจุบันโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยมีสถานศึกษาในเครือที่ใช้ชื่อ “สวนกุหลาบวิทยาลัย” ในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศไทยทั้งหมด 11 แห่ง มีการสร้างพันธกิจสำคัญร่วมกันขับเคลื่อนคุณภาพการศึกษาโดยการบริหารจัดการขององค์กรเครือข่ายสวนกุหลาบ สร้างบรรทัดฐานการเรียนการสอนทั้ง 11 แห่งให้ไปในทิศทางเดียวกัน ได้แก่

ลำดับที่ โรงเรียน อักษรย่อ จังหวัด สถาปนา สถานศึกษาเดิม
1 โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ส.ก. / S.K. กรุงเทพมหานคร 8 มีนาคม พ.ศ. 2425
(142 ปี 41 วัน)
2 โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นนทบุรี ส.ก.น. / S.K.N. นนทบุรี 30 มีนาคม พ.ศ. 2521
(46 ปี 19 วัน)
3 โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ สวนกุหลาบวิทยาลัย สมุทรปราการ นมร.ส.ก.ส. / NMR.S.K.S. สมุทรปราการ 8 เมษายน พ.ศ. 2534
(33 ปี 10 วัน)
4 โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ สวนกุหลาบวิทยาลัย ปทุมธานี นมร.ส.ก.ป. / NMR.S.K.P. ปทุมธานี 4 มีนาคม พ.ศ. 2535
(32 ปี 45 วัน)
5 โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย รังสิต ส.ก.ร. / S.K.R. ปทุมธานี 3 มีนาคม พ.ศ. 2536
(31 ปี 46 วัน)
6 โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ชลบุรี ส.ก.ช. / S.K.C. ชลบุรี 5 มีนาคม พ.ศ. 2542
(25 ปี 44 วัน)
7 โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย เพชรบูรณ์ ส.ก.พ. / S.K.PB. เพชรบูรณ์ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2542
(24 ปี 299 วัน)
โรงเรียนท่าพลพิทยาคม
(พ.ศ. 2519)
8 โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย สระบุรี ส.ก.บ. / S.K.B. สระบุรี 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549
(18 ปี 72 วัน)
โรงเรียนปากเพรียววิทยาคม
(พ.ศ. 2537)
9 โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย (จิรประวัติ) นครสวรรค์ ส.ก.จ. / S.K.J. นครสวรรค์ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2550
(16 ปี 113 วัน)
โรงเรียนจิรประวัติวิทยาคม
(พ.ศ. 2517)
10 โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ธนบุรี ส.ก.ธ. / S.K.T. กรุงเทพมหานคร 8 สิงหาคม พ.ศ. 2551
(15 ปี 254 วัน)
11 โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นครศรีธรรมราช ส.ก.นศ. / S.K.NS. นครศรีธรรมราช 3 มีนาคม พ.ศ. 2554
(13 ปี 46 วัน)
โรงเรียนลานสกาประชาสรรค์
(พ.ศ. 2516)

กิจกรรมร่วมกับกลุ่มโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย[แก้]

  • งานชุมนุมลูกเสือ-เนตรนารีสวนกุหลาบสัมพันธ์

กลุ่มโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ได้ร่วมกันจัด งานชุมนุมลูกเสือ-เนตรนารี “สวนกุหลาบสัมพันธ์” ขึ้นเป็นประจำทุกปี ณ ค่ายลูกเสือวชิราวุธ จังหวัดชลบุรี ซึ่งนักเรียนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 2 จะเป็นผู้แทนของแต่ละโรงเรียน เข้าร่วมกิจกรรมนี้

  • การแข่งขันกรีฑาสวนกุหลาบสัมพันธ์

กลุ่มโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ได้ร่วมกันจัด “การแข่งขันกรีฑาสวนกุหลาบสัมพันธ์” ขึ้นเป็นประจำทุกปี ณ ศูนย์กีฬามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รังสิต

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. จำนวนครูบุคลากร ปีการศึกษา 2563. สถิติจำนวนครูบุคลากรทั้งหมด เก็บถาวร 2021-05-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. ข้อมูลล่าสุด พ.ศ. 2561
  2. จำนวนนักเรียน ปีการศึกษา 2561. สถิติจำนวนนักเรียนทั้งหมด[ลิงก์เสีย]. ข้อมูลล่าสุด พ.ศ. 2561
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย,"ข้อมูลทั่วไป" เว็บไซต์ ส.ก.
  4. กาญจนา เตชะวณิชย์ (18 ตุลาคม 2551). "เพลงประจำโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย". ไทยกู๊ดวิวดอตคอม. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-02-26. สืบค้นเมื่อ 15 มกราคม 2553. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  5. "บทเพลงชาวสวนฯ : เพลงประจำโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย". เว็บไซต์โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย. สืบค้นเมื่อ 15 มกราคม 2553. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)