คณะพยาบาลศาสตร์เกื้อการุณย์ มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
คณะพยาบาลศาสตร์เกื้อการุณย์
มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช
Kuakarun Faculty of Nursing,
Navamindradhiraj University
ชื่อย่อพกร. / KFN
คติพจน์อจฺจนฺตสุขํ อมฺหากํ ปรทุกฺขวิโนทนํ
(การบรรเทาทุกข์แก่ผู้อื่น เป็นความสุขอย่างยิ่งของพวกเรา)
สถาปนา20 พฤษภาคม พ.ศ. 2497
(โรงเรียนพยาบาลผดุงครรภ์และอนามัยวชิรพยาบาล)
(70 ปี 9 วัน)
คณบดีรศ.ดร. บุญทิวา สู่วิทย์
ที่อยู่
วารสารวารสารเกื้อการุณย์
เพลงมาร์ชเกื้อการุณย์
สี  สีขาว
สถานปฏิบัติคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช โรงพยาบาลกลาง โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ โรงพยาบาลตากสิน โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ โรงพยาบาลลาดกระบัง โรงพยาบาลเวชการุณย์รัศมิ์ โรงพยาบาลสิรินธร โรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักดิ์ ชุตินฺธโร อุทิศ โรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน โรงพยาบาลคลองสาวา โรงพยาบาลบางนากรุงเทพมหานคร โรงพยาบาลคลองสามวา ศูนย์บริการสาธารณสุขทั้ง 69 ศูนย์
เว็บไซต์kcn.ac.th

คณะพยาบาลศาสตร์เกื้อการุณย์ มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช (อังกฤษ: Kuakarun Faculty of Nursing, Navamindradhiraj University) เกิดจากการรวมวิทยาลัยพยาบาล 2 แห่งเข้าด้วยกัน คือ วิทยาลัยพยาบาลอนามัยและผดุงครรภ์วชิรพยาบาล และ โรงเรียนพยาบาลโรงพยาบาลกลาง สังกัด สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร ตั้งอยู่ที่แขวงวชิรพยาบาล เขตดุสิตเดิมเป็นสถาบันสมทบใน มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาวิทยาลัยมหิดล ตามลำดับ เปิดสอนหลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต เริ่มแรกก่อตั้งใช้ชื่อว่าวิทยาลัยพยาบาลเกื้อการุณย์ ต่อมาได้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น "คณะพยาบาลศาสตร์เกื้อการุณย์ มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช"

ประวัติ[แก้]

คณะพยาบาลศาสตร์เกื้อการุณย์ มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช เดิมชื่อ"โรงเรียนพยาบาลผดุงครรภ์และอนามัยวชิรพยาบาล"ตั้งอยู่ในบริเวณโรงพยาบาลวชิรพยาบาลเริ่มเปิดดำเนินการตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2497โดยมีวัตถุประสงค์ในการผลิตพยาบาล เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนพยาบาลปฏิบัติงานในโรงพยาบาลและศูนย์บริการสาธารณสุขของเทศบาลนครกรุงเทพ ได้เปิดสอนหลักสูตรประกาศนียบัตรพยาบาลผดุงครรภ์และอนามัย รับผู้สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ใช้เวลาในการศึกษา 4 ปี ต่อมาในปี พ.ศ. 2502 อาจารย์อบทิพย์ แดงสว่าง อาจารย์ผู้ปกครองโรงเรียนพยาบาลผดุงครรภ์และอนามัยวชิรพยาบาล เป็นผู้ร่วมก่อตั้งโรงเรียนพยาบาลผดุงครรภ์และอนามัยวชิรพยาบาล และผู้วางหลักสูตรพยาบาลผดุงครรภ์และอนามัย ระยะการศึกษา 4 ปี ซึ่งเป็นโรงเรียนพยาบาลแห่งแรกในประเทศไทยที่ใช้หลักสูตรการศึกษา 4 ปี พบว่าสถานที่ของโรงเรียนพยาบาลผดุงครรภ์และอนามัยมีความคับแคบ จึงมองหาสถานที่ที่เหมาะสม และพบสถานที่ดินติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งนั้นก็คือ วังวัฒนาที่ประทับเดิมของพลเรือตรี นายแพทย์หม่อมเจ้าถาวรมงคล ไชยยันต์ และหม่อมหลวงคลอง ไชยยันต์(สนิทวงศ์) น่าจะเป็นสถานที่เหมาะสมที่จะเป็นที่ตั้งของโรงเรียนพยาบาลผดุงครรภ์และอนามัยวชิรพยาบาล เพราะบรรยากาศ สิ่งแวดล้อม และสถานที่กว้างขวาง อีกทั้งใกล้กับแหล่งที่ฝึกภาคปฏิบัติ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของวิชาชีพพยาบาล ท่านจึงเจรจาและขออนุมัติเพื่อซื้อที่ดินจากหม่อมหลวงคลอง ไชยยันต์ จำนวน 6 ไร่ 73 ตารางวา ปี พ.ศ. 2514 ได้มีการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรการศึกษาครั้งแรก เป็นหลักสูตรประกาศนียบัตรพยาบาลและผดุงครรภ์(เทียบเท่าอนุปริญญา) และเปลี่ยนชื่อเป็น "วิทยาลัยพยาบาลอนามัยและผดุงครรภ์วชิรพยาบาล"

ต่อมาโรงพยาบาลกลาง ประสบปัญหาการขาดแคลนพยาบาล จึงได้เปิดดำเนินการโรงเรียนพยาบาลสังกัดสำนักการแพทย์ แห่งที่ 2 เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2513 ตั้งอยู่เลขที่ 514 ถนนหลวง แขวงเทพศิรินทร์ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร บนเนื้อที่ 4 ไร่ 51 ตาราวา มีชื่อว่า "โรงเรียนพยาบาลผดุงครรภ์และอนามัยโรงพยาบาลกลาง" เป็นหลักสูตรประกาศนียบัตรพยาบาลผดุงครรภ์และอนามัย รับผู้สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ใช้เวลาในการศึกษา 4 ปี และต่อมาปี พ.ศ. 2515 ได้เปลี่ยนแปลงหลักสูตรการศึกษาเป็น"หลักสูตรการพยาบาลอนามัยและผดุงครรภ์" และเปลี่ยนชื่อเป็น "วิทยาลัยพยาบาลโรงพยาบาลกลาง"

ต่อมาในปี พ.ศ. 2519 คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร มีความเห็นว่า วิทยาลัยฯ ทั้งสองแห่งดังกล่าว มีวัตถุประสงค์ในการดำเนินงานเช่นเดียวกันและเป็นสถาบันการศึกษาพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานครเหมือนกัน จึงได้รวมกิจการเข้าเป็นวิทยาลัยเดียวกัน สังกัดสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร และได้ขอพระราชทานนามจาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานนามว่า “วิทยาลัยพยาบาลเกื้อการุณย์” ในวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2519

ปี พ.ศ. 2531 วิทยาลัยพยาบาลเกื้อการุณย์ ได้เข้าเป็นสถาบันสมทบของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒตามประกาศทบวงมหาวิทยาลัยในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 106 ตอนที่ 120 ลงวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2532 และเปลี่ยนชื่อหลักสูตรเป็นพยาบาลศาสตรบัณฑิต

ปี พ.ศ. 2536 วิทยาลัยพยาบาลเกื้อการุณย์ได้เข้าเป็นสถาบันสมทบของมหาวิทยาลัยมหิดลตามประกาศทบวงมหาวิทยาลัยในราชกิจจานุเบกษา ฉบับประกาศทั่วไป เล่มที่ 111 ตอนพิเศษ 44ง ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2537 เรื่องการรับวิทยาลัยพยาบาลเกื้อการุณย์เข้าสมทบในมหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ. 2537

ปี พ.ศ. 2541 วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี วชิระ หรือวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี นพรัตน์วชิระ ในปัจจุบัน ได้ย้ายวิทยาลัยจากบริเวณอาคาร 1 (อาคารบรมราชชนนี) และอาคาร 3 ของวิทยาลัยพยาบาลเกื้อการุณย์ (วชิรพยาบาล) ไปอยู่ภายในบริเวณโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี

ปี พ.ศ. 2544 สำนักการแพทย์ กทม. มีความประสงค์ที่จะใช้พื้นที่บริเวณวิทยาลัยพยาบาลเกื้อการุณย์ (โรงพยาบาลกลาง) เป็นสำนักงานของสำนักการแพทย์ วิทยาลัยพยาบาลเกื้อการุณย์จึงส่งมอบอาคาร 3 ชั้น และอาคาร 6 ชั้น ซึ่งเคยใช้เป็นห้องเรียน ห้องพักนักศึกษา ห้องประชุมขนาดใหญ่ ห้องทำการฝ่ายปกครอง และห้องพักอาจารย์ของวิทยาลัยพยาบาลเกื้อการุณย์ (โรงพยาบาลกลาง) ให้กับสำนักการแพทย์ กทม. เพื่อให้เป็นที่ทำการเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน

วิทยาลัยฯ ได้มีการพัฒนามาเป็นลำดับในด้านหลักสูตรเพื่อให้ได้บัณฑิตทางการพยาบาลที่มีคุณภาพ ความสามารถทางวิชาชีพพร้อมที่จะปฏิบัติหน้าที่ในการให้บริการด้านสุขภาพอนามัยแก่ประชาชนในกรุงเทพมหานคร หลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต ฉบับปรับปรุงปี พ.ศ. 2546 เป็นหลักสูตรที่วิทยาลัยฯ ได้พัฒนามาโดยตลอดและผ่านการรับรองหลักสูตรจากสภามหาวิทยาลัยมหิดล และผ่านการเห็นชอบหลักสูตรจากสภาการพยาบาล เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548

ต่อมาในวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2553[1] ได้ประกาศลงราชกิจจานุเบกษา และมีผลใช้บังคับใน วันเสาร์ที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 โดยให้โอน ภารกิจและงบประมาณของ วิทยาลัยพยาบาลเกื้อการุณย์ สำนักการแพทย์ ไปสังกัดมหาวิทยาลัยกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของกรุงเทพมหานคร โดยใช้ชื่อว่า "คณะพยาบาลศาสตร์เกื้อการุณย์" [2]

ต่อมาเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2554 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (พระนามในขณะนั้น) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามมหาวิทยาลัยว่า “มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช” และประกาศลงราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2556[3]

ภาควิชา[แก้]

สำนักงาน/ฝ่าย[แก้]

ปัจจุบันคณะพยาบาลศาสตร์เกื้อการุณย์ มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช มีสำนักงาน/ฝ่ายดังต่อไปนี้

  • สำนักคณบดี
  • ฝ่ายกิจการนักศึกษา
  • ฝ่ายบริการทางการศึกษา
  • ฝ่ายสงเสริมวิจัยและบริการวิชาการ

หลักสูตร[แก้]

คณะพยาบาลศาสตร์เกื้อการุณย์ มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช
ระดับประกาศนียบัตร ระดับปริญญาตรี ระดับปริญญาโท

หลักสูตรประกาศนียบัตร

  • สาขาผู้ช่วยพยาบาล (การดูแลผู้อายุ)

หลักสูตรประกาศนียบัตรเฉพาะทางฯ

  • สาขาการพยาบาลผู้ป่วยวิกฤต
  • สาขาเวชปฏิบัติทั่วไป (NP)
  • สาขาศาสตร์และศิลป์การสอนทางการพยาบาล
  • สาขาการพยาบาลเวชปฏิบัติผู้สูงอายุ (GNP)
  • สาขาการพยาบาลเวชปฏิบัติฉุกเฉิน (ENP)

หลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต (พย.บ.)

  • สาขาวิชาพยาบาลศาสตร์

หลักสูตรพยาบาลศาสตรมหาบัณฑิต (พย.ม.)

  • สาขาวิชาการพยาบาลผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ

การรับรองสถาบัน[แก้]

คณะพยาบาลศาสตร์เกื้อการุณย์ มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช เป็นสถาบันพยาบาลที่เปิดสอนมากกว่า 60 ปีได้รับการรับรองจาก สภาการพยาบาลอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดสภาการพยาบาลมีการตรวจเยี่ยมสถาบัน เมื่อวันที่ 17-18 มีนาคม 2563 เห็นชอบให้รับรองสถาบัน 5 ปี ตั้งแต่ปีการศึกษา 2563-2567 (ข้อมูล ณ วันที่ 5 พฤษภาคม 2563) ซึ่งได้รับการรับรอง 5 ปีอย่างต่อเนื่อง 4 วงรอบ

พิธีพระราชทานปริญญาบัตร[แก้]

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ในการประกอบพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิต คณะพยาบาลศาสตร์เกื้อการุณย์ รุ่น 58 ซึ่งเป็นรุ่นแรกของมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ในวันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2559 ณ อาคารใหม่สวนอัมพร พระราชวังดุสิต ลานพระบรมรูปทรงม้า แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร

รายนามผู้ได้รับปริญญาพยาบาลศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์
ปีการศึกษา รายนาม
2557 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
2558 อาจารย์สมบุญ เภาพัฒนา
2559 ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.สมจิต หนุเจริญกุล

กิจกรรมภายในคณะ[แก้]

ประเพณีจีบน้อง ประเพณีรับน้อง ประเพณีไหว้ครูและรับหมวก ประเพณีเดินเทียน ประเพณี Graduate bonfire

รายนามคณบดี/ผู้อำนวยการ[แก้]

ทำเนียบผู้บริหารคณะพยาบาลศาสตร์เกื้อการุณย์ มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช
รายนามคณบดี/ผู้อำนวยการ วาระการดำรงตำแหน่ง ชื่อตำแหน่ง
อ.อบทิพย์ แดงสว่าง 2497 - 2502 อาจารย์ผู้ปกครองโรงเรียนพยาบาล
อ.นพ.เสนอ ตัณฑเศรษฐี 2503 - 2508 ผู้อำนวยการ
อ.นพ.ปรีชา วิทยาสารรณยุต 2509 - 2519 ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวชิรพยาบาล
อ.นพ.คัมภีร์ มัลลิกกะมาศ 2513 - 2519 ผู้อำนวยการโรงพยาบาลกลาง
อ.โสภีไฉน สมิตเมฆ 2520 ผู้อำนวยการ
อ.สมรวย สุขพิศาล 2520 - 2521 ผู้อำนวยการ
อ.เจริญ ศรียาภัย 2521 - 2525 ผู้อำนวยการ
อ.สมบุญ เภาพัฒนา 2525 - 2540 ผู้อำนวยการ
อ.นิลวรรณ ศิริพิพัฒน์ 2540 - 2542 ผู้อำนวยการ
อ.สะอาด โสมะบุตร 2542 - 2543 ผู้อำนวยการ
ดร.เบ็ญจา เตากล่ำ 2543 - 2548 ผู้อำนวยการ
ผศ.นันทวรรณ เภาจีน 2548 - 2552 ผู้อำนวยการ
ผศ.ทรงสุข หงส์รพีพัฒน์ 2552 - 2554 รักษาการผู้อำนวยการ/รักษาการคณบดี
ผศ.ลักขณา ยอดกลกิจ 2554 - 2555 รักษาการคณบดี
รศ.ดร.ทัศนีย์ ทองประทีป 2555 - 2562 คณบดี
ผศ.ดร.สาระ มุขดี 2562 รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราชปฏิบัติหน้าที่รักษาการแทนคณบดี
รศ.ดร.บุญทิวา สู่วิทย์ 2562 - ปัจจุบัน คณบดี

ความร่วมมือทางวิชาการ[แก้]

[5]


สถาบันที่รับเป็นพี่เลี้ยง สังกัด ที่ตั้ง
คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร

อ้างอิง[แก้]

  1. พรบ.มหาวิทยาลัยกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2553
  2. ประกาศมหาวิทยาลัยกรุงเทพมหานคร เรื่อง การจัดตั้งส่วนงานในมหาวิทยาลัยกรุงเทพมหานครราชกิจจานุเบกษา เล่ม 128 ตอนพิเศษ 4ง วันที่ 14 มกราคม 2554
  3. พรบ.เปลี่ยนชื่อมหาวิทยาลัยกรุงเทพมหานคร เป็นมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช พ.ศ. 2556 http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2556/A/053/1.PDF
  4. คณะพยาบาลศาสตร์เกื้อการุณย์ มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราชและคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ลงนามบันทึกข้อตกลง MOU ร่วมมือผลิตหลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต เข้าถึงเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2566
  5. ประชาชาติธุรกิจ ออนไลน์, สภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีมติอนุมัติจัดตั้งคณะพยาบาลศาสตร์ ตั้งแต่วันที่ 26 มิ.ย.เป็นต้นไป เพื่อผลิตบุคลากรรองรับโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดึงมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช เป็นพี่เลี้ยง, สืบค้นเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2566
  • หนังสือ 4 ทศวรรษ เกื้อการุณย์
  • หนังสือ 5 ทศวรรษ เกื้อการุณย์
  • หนังสือ 6 ทศวรรษ เกื้อการุณย์

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]