มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช

พิกัด: 13°46′50″N 100°30′33″E / 13.78056°N 100.50917°E / 13.78056; 100.50917
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช
ตราพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ
สัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัย
ชื่อเดิมมหาวิทยาลัยกรุงเทพมหานคร (ม.กทม.)
ชื่อย่อนมร. / NMU
คติพจน์วิชชฺ อุปปตตํ เสฏฺฐา
(การเกิดปัญญาประเสริฐกว่าเกิดสิ่งใด ๆ)
ประเภทมหาวิทยาลัย
สังกัดกรุงเทพมหานคร
สถาปนา13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553
(13 ปี 159 วัน)[1]
นายกสภาฯศ.ดร. สุรพล นิติไกรพจน์
อธิการบดีรศ.นพ. อนันต์ มโนมัยพิบูลย์
ผู้ศึกษา2,596 คน (2566)[2]
ที่ตั้ง
มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช
131/6 ถนนขาว แขวงวชิรพยาบาล เขตดุสิต 10300
เพลงมาร์ชนวมินทราธิราช
สี  สีเขียวเข้ม
เว็บไซต์www.nmu.ac.th

มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช (อังกฤษ: Navamindradhiraj University; อักษรย่อ: นมร. – NMU) เดิมชื่อ มหาวิทยาลัยกรุงเทพมหานคร (ม.กทม.) เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของกรุงเทพมหานคร ตั้งอยู่ในเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ก่อตั้งขึ้นวันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 โดยมีคณะวิชาเริ่มแรก คือ คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล และคณะพยาบาลศาสตร์เกื้อการุณย์[3]

ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราชประกอบด้วย 3 คณะวิชา 2 วิทยาลัย จำนวนรวมหลักสูตรทั้งสิ้น 15 หลักสูตร ประกอบด้วย ระดับปริญญาตรี 12 หลักสูตร ระดับบัณฑิตศึกษา 3 หลักสูตร และหลักสูตรฝึกอบรมอื่น ๆ เช่น วุฒิบัตรแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม หลักสูตรมหานคร หลักสูตรผู้นำเมือง เป็นต้น

นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ยังเน้นการบริการวิชาการแก่สังคมที่สอดคล้องกับความต้องการของเมือง การวิจัยเพื่อพัฒนาศาสตร์เขตเมือง และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมและอนุรักษ์ภูมิปัญญาของกรุงเทพมหานคร ภายใต้การบริหารจัดการตามหลักธรรมมาภิบาล มุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยแห่งเมือง (City University) อันดับ 1 ในภูมิภาคอาเซียน ภายใต้ปรัชญา "ผู้นำด้านศาสตร์เขตเมือง"

ประวัติ[แก้]

มหาวิทยาลัยกรุงเทพมหานคร เป็นแนวคิดตั้งแต่สมัยนายสมัคร สุนทรเวช ดำรงตำแหน่งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อเป็นทางเลือกกับนักศึกษาสามารถศึกษาเกี่ยวกับการบริหารจัดการเมือง ชุมชนเมืองหลวง และเพื่อตอบสนองความต้องการของเมืองหลวง แต่แนวคิดนี้ยังไม่ได้รับการตอบรับที่ดีนัก

ในสมัย นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ดำรงตำแหน่งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้สานต่อแนวคิดดังกล่าวอีกครั้ง เนื่องจากกรุงเทพมหานครได้เปิดการศึกษาหลายระดับแล้วในระดับอุดมศึกษา 2 แห่ง คือ วิทยาลัยแพทยศาสตร์กรุงเทพมหานครและวชิรพยาบาล และวิทยาลัยพยาบาลเกื้อการุณย์ โดยเน้นแผนการศึกษาวิชาการที่ไม่ซ้ำซ้อนกับมหาวิทยาลัยที่มีอยู่ในประเทศ และเน้นผลิตบุคลากรสาขาวิชาที่ขาดแคลน และเป็นที่ต้องการของกรุงเทพมหานคร โดยได้เสนอ (ร่าง) พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยในกำกับของกรุงเทพมหานคร พ.ศ.... และคณะรัฐมนตรีได้รับร่างพระราชบัญญัติฯ ไว้ในวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2550 แต่หลังจากมีการปรับเปลี่ยนผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เรื่องเกี่ยวกับพระราชบัญญัตินี้จึงหยุดนิ่งไป

ในวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติฯ และได้แก้ไขชื่อพระราชบัญญัติจาก (ร่าง) พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยในกำกับของกรุงเทพมหานคร พ.ศ.... เป็น (ร่าง) พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยกรุงเทพมหานคร พ.ศ.... ต่อมาในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553 รัฐสภาได้มีการผ่าน (ร่าง) พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยกรุงเทพมหานคร พ.ศ....[4] และในวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 ราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 127 ตอนที่ 63 ก ได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2553 โดยมีผลใช้บังคับในวันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553[5]

พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2553 มีสาระสำคัญ คือ กำหนดให้จัดตั้งมหาวิทยาลัยกรุงเทพมหานคร เป็นสถาบันอุดมศึกษาในกำกับของกรุงเทพมหานคร มีฐานะเป็นนิติบุคคลที่ไม่เป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน และกฎหมายว่าด้วยการ ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม และไม่เป็นรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณและกฎหมายอื่น โดยให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลโดยทั่วไปซึ่งกิจการของมหาวิทยาลัย ทั้งนี้ ให้โอนภารกิจและงบประมาณของวิทยาลัยแพทยศาสตร์กรุงเทพมหานครและวชิรพยาบาล และวิทยาลัยพยาบาลเกื้อการุณย์ ในสังกัดสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร ไปเป็นของมหาวิทยาลัยภายใน 120 วัน นับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการโอนบุคลากรสังกัดวิทยาลัยแพทยศาสตร์กรุงเทพมหานครและวชิรพยาบาลไปเป็นบุคลากรของมหาวิทยาลัย และกำหนดวิธีการบริหารกิจการของมหาวิทยาลัย

หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในสมัยต่อมา ได้ขอพระราชทานนามมหาวิทยาลัยว่า "มหาวิทยาลัยภูมิพล" เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2552 ต่อมาพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามมหาวิทยาลัยว่า "มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช" เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2554[6] และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2556[7]

ภายหลังจากจัดตั้งมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราชแล้ว ทางมหาวิทยาลัยได้รับภารกิจของวิทยาลัยชุมชน กรุงเทพมหานคร สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ มาเป็นของมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช โดยมีสภามหาวิทยาลัยมีมติจัดตั้งวิทยาลัยชุมชนเมืองแห่งกรุงเทพมหานคร ขึ้นเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556 โดยมีเป็นส่วนงานเทียบเท่ากับคณะวิชา และได้ประกาศลงราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2556[8] พร้อมกันนี้กรุงเทพมหานครได้โอนภารกิจของ สถาบันพัฒนาเมือง สังกัดสำนักผังเมือง กรุงเทพมหานคร มาจัดตั้งเป็น วิทยาลัยพัฒนามหานคร โดยประกาศลงราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2556[8] ต่อมามหาวิทยาลัยได้ปรับปรุงภาระหน้าที่ของส่วนงานในมหาวิทยาลัย วิทยาลัยชุมชนเมืองแห่งกรุงเทพมหานคร จึงเปลี่ยนชื่อเป็น วิทยาลัยพัฒนาชุมชนเมือง[9]

มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราชได้เปิดสอนหลักสูตรเพิ่มเติมขึ้นจากหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต และพยาบาลศาสตรบัณฑิต โดยในปีการศึกษา 2557 ได้เริ่มจัดการเรียนการสอนในหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิตขึ้นในคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล และเพื่อรองรับการเปิดการเรียนการสอนหลักสูตรวิทยาศาสตร์สุขภาพและการจัดการเรียนการสอนหมวดวิชาศึกษาทั่วไป สภามหาวิทยาลัยจึงอนุมัติการจัดตั้งคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสุขภาพขึ้นภายในมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราชเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2560[10]

การศึกษา[แก้]

มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช เปิดเรียนและสอนในระยะแรกมุ่งเน้นสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ เมื่อมหาวิทยาลัยมีการขยายตัวมากยิ่งขึ้น จึงได้มีการเปิดการเรียนการสอนในสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และสังคมศาสตร์ โดยได้พัฒนาหลักสูตรขึ้นตามความต้องการของกรุงเทพมหานครและการแก้ไขปัญหาของเมือง ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ประกอบด้วยส่วนงานทางวิชาการที่จัดการเรียนการสอน 3 คณะวิชา 2 วิทยาลัย ได้แก่[11]

ในปีการศึกษา 2565 มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช เปิดการเรียนการสอนในระดับปริญญา จำนวนรวมหลักสูตรทั้งสิ้น 15 หลักสูตร ประกอบด้วย ระดับปริญญาตรี 12 หลักสูตร ระดับปริญญาโท 3 หลักสูตร และหลักสูตรวุฒิบัตรแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม 24 หลักสูตร ได้แก่

คณะวิชา/ วิทยาลัย ระดับปริญญาตรี ระดับปริญญาโท วุฒิบัตร
คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล แพทยศาสตรบัณฑิต

วิทยาศาสตรบัณฑิต

วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต
  • สาขาวิชาการป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง
วุฒิบัตรแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม
  • กุมารเวชศาสตร์
  • จักษุวิทยา
  • เวชศาสตร์ฉุกเฉิน
  • เวชบำบัดวิกฤต
  • ศัลยศาสตร์
  • ศัลยศาสตร์ยูโรวิทยา
  • ประสาทศัลยศาสตร์
  • ศัลยศาสตร์ตกแต่ง
  • สูติศาสตร์ - นรีเวชวิทยา
  • โสต ศอ นาสิก วิทยา
  • เวชศาสตร์ครอบครัว
  • ออร์โธปิดิกส์
  • ออร์โธปิดิกส์ อนุสาขากระดูกสันหลัง
  • ออร์โธปิดิกส์ อนุสาขาข้อเข่าและข้อสะโพก
  • ออร์โธปิดิกส์ อนุสาขาการบาดเจ็บทางกีฬา
  • อายุรศาสตร์
  • อายุรศาสตร์มะเร็งวิทยา
  • อายุรศาสตร์โรคข้อและรูมาติซั่ม
  • อายุรศาสตร์โรคเลือด
  • อายุรศาสตร์ประสาทวิทยา
  • อายุรศาสตร์โรคต่อมไร้ท่อและเมตะบอลิสึม
  • อายุรศาสตร์โรคไต
  • อายุรศาสตร์โรคระบบทางเดินอาหาร
  • อายุรศาสตร์โรคหัวใจ
คณะพยาบาลศาสตร์เกื้อการุณย์ พยาบาลศาสตรบัณฑิต พยาบาลศาสตรมหาบัณฑิต
  • สาขาวิชาการพยาบาลผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ  
วิทยาลัยพัฒนามหานคร ศิลปศาสตรบัณฑิต
  • สาขาวิชานวัตกรรมบริการ
    • วิชาเอกการบริการในธุรกิจการบิน
    • วิชาเอกการบริการในสถานพยาบาล

หลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรบัณฑิต

  • สาขาวิชาการบริหารและจัดการเมือง
วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต
  • สาขาวิชาการพัฒนาและจัดการเมือง
วิทยาลัยพัฒนาชุมชนเมือง ศิลปศาสตรบัณฑิต
  • สาขาวิชาการพัฒนาเด็กปฐมวัย

ศึกษาศาสตรบัณฑิต

  • สาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย

เทคโนโลยีบัณฑิต

  • สาขาวิชาเทคโนโลยีระบบราง

การจัดการบัณฑิต

  • สาขาวิชาการจัดการทรัพยากรอาคาร
คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสุขภาพ วิทยาศาสตรบัณฑิต
  • สาขาวิชาปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ (ร่วมกับ คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล)
  • สาขาวิชาอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในสถานพยาบาล
  • สาขาวิชาเทคโนโลยีเครื่องมือแพทย์และห้องผ่าตัด
  • สาขาวิชาการจัดการสาธารณภัย

พิธีพระราชทานปริญญาบัตร[แก้]

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ในการประกอบพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตคณะพยาบาลศาสตร์เกื้อการุณย์ รุ่นแรกของมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ในวันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2559 ณ อาคารใหม่สวนอัมพร พระราชวังดุสิต แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร

ปัจจุบันพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ในการประกอบพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ณ หอประชุมนวมภูมินทร์ วชิราวุธวิทยาลัย เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่ปีการศึกษา 2559 เป็นต้นมา โดยในปีการศึกษา 2559 มีบัณฑิตแพทย์ที่สำเร็จการศึกษาจากคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรกับมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราชเป็นรุ่นแรก จากที่ก่อนหน้านี้เข้าร่วมรับพระราชทานปริญญาบัตรพร้อมกับมหาวิทยาลัยมหิดลในฐานะสถาบันสมทบและสถาบันร่วมผลิตแพทย์ของมหาวิทยาลัยมหิดล

ในปีการศึกษา 2560 สภามหาวิทยาลัยได้อนุมัติปริญญาวิทยาศาสตรมหาบัณฑิตจากวิทยาลัยพัฒนามหานคร ถือเป็นมหาบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราชเป็นรุ่นแรก

รายนามอธิการบดี[แก้]

มหาวิทยาลัยกรุงเทพมหานคร
ลำดับ รายนามอธิการบดี วาระการดำรงตำแหน่ง
1
นายแพทย์ ธรรมนูญ วานิยะพงศ์ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 - 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 (รักษาการ)
2
รองศาสตราจารย์ ดร. บรรณโศภิษฐ์ เมฆวิชัย 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 - 21 มิถุนายน พ.ศ. 2555 (รักษาการ)
3
ดร. พิจิตต รัตตกุล 22 มิถุนายน พ.ศ. 2555 - 20 มิถุนายน พ.ศ. 2556
มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช
ลำดับ รายนามอธิการบดี วาระการดำรงตำแหน่ง
3
ดร. พิจิตต รัตตกุล 21 มิถุนายน พ.ศ. 2556 - 20 มิถุนายน พ.ศ. 2559

21 มิถุนายน พ.ศ. 2559 - 30 มิถุนายน พ.ศ. 2559 (รักษาการ)

4
รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ อนันต์ มโนมัยพิบูลย์ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2559 - 1 สิงหาคม พ.ศ. 2559 (รักษาการ)
2 สิงหาคม พ.ศ. 2559[12] - 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 (วาระที่ 1)

1 สิงหาคม พ.ศ. 2563 - 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 (รักษาการ)
25 พฤษภาคม พ.ศ. 2564[13] - ปัจจุบัน (วาระที่ 2)


รายนามนายกสภามหาวิทยาลัย[แก้]

มหาวิทยาลัยกรุงเทพมหานคร
ลำดับ รายนามนายกสภามหาวิทยาลัย วาระการดำรงตำแหน่ง
1
หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 - 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 (รักษาการ)
2
ศาสตราจารย์คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์ ปิยะสกล สกลสัตยาทร 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 - 20 มิถุนายน พ.ศ. 2556
มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช
ลำดับ รายนามนายกสภามหาวิทยาลัย วาระการดำรงตำแหน่ง
2
ศาสตราจารย์คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์ ปิยะสกล สกลสัตยาทร 21 มิถุนายน พ.ศ. 2556 - 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559
3
ศาสตราจารย์ ดร. สุรพล นิติไกรพจน์ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559 - 28 มีนาคม พ.ศ. 2562 (วาระที่ 1)

29 มีนาคม พ.ศ. 2562 - ปัจจุบัน (วาระที่ 2)

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2553 เล่มที่ 127 ตอนที่ 69 ก ประกาศวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 บทเฉพาะกาลหน้าที่ 23
  2. สถิติอุดมศึกษา กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
  3. พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2553เล่มที่ 127 ตอนที่ 69 ก ประกาศวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 บทเฉพาะกาลหน้าที่ 23
  4. "สภาผ่านร่างพรบ.ตั้งมหาวิทยาลัยกรุงเทพมหานคร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-06-01. สืบค้นเมื่อ 2010-12-05.
  5. พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2553 เล่มที่ 127 ตอนที่ 69 ก ประกาศวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 หน้าที่ 1
  6. "รู้จัก "มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช" มหาวิทยาลัยแห่งแรกในสังกัด กทม". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 2013-01-28.
  7. พระราชบัญญัติเปลี่ยนชื่อมหาวิทยาลัยกรุงเทพมหานคร เป็นมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช พ.ศ. ๒๕๕๖
  8. 8.0 8.1 ประกาศมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช เรื่อง การจัดตั้งส่วนงานในมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช (ฉบับที่ ๒)พ.ศ. ๒๕๕๖
  9. ประกาศมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช เรื่อง การจัดตั้งส่วนงานในมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช (ฉบับที่ ๓)พ.ศ. ๒๕๖๐
  10. ประกาศมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราชเรื่อง การจัดตั้งส่วนงานในมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช พ.ศ. 2560
  11. การจัดตั้งส่วนงานในมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช พ.ศ. 2560
  12. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งอธิการบดีมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช
  13. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งอธิการบดีมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช (นายอนันต์ มโนมัยพิบูลย์) ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๘ ตอน ๑๑๔ ง พิเศษ หน้า๖๓ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๖๔

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

13°46′50″N 100°30′33″E / 13.78056°N 100.50917°E / 13.78056; 100.50917