สวนสาธารณะคลองช่องนนทรี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สวนสาธารณะคลองช่องนนทรี
แผนที่
ประเภทปรับปรุงภูมิทัศน์
ที่ตั้งริมคลองช่องนนทรี
เปิดตัว25 ธันวาคม พ.ศ. 2564 (ช่วงที่สอง)
ผู้ดำเนินการกรุงเทพมหานคร
สถานะช่วงที่หนึ่ง
ขนส่งมวลชน สถานีช่องนนทรี

สวนสาธารณะคลองช่องนนทรี เป็นสวนสาธารณะริมคลองช่องนนทรี เลียบไปกับถนนนราธิวาสราชนครินทร์ ครอบคลุมพื้นที่ 3 เขต คือ เขตบางรัก เขตสาทร และเขตยานนาวา พื้นที่สวนสาธารณะเริ่มต้นจากส่วนที่ตัดกับถนนสุรวงศ์ ถนนสีลม ถนนสาทร ถนนจันทน์ ถนนรัชดาภิเษก ถนนพระรามที่ 3 ต่อเนื่องจนถึงแม่น้ำเจ้าพระยา ระยะทาง 4.5 กิโลเมตร เป็นทางเดินสองฝั่งคลอง มีระบบบำบัดน้ำเสียใต้ดินแยกจากน้ำในคลอง

ที่มา[แก้]

ที่มาของโครงการเริ่มต้นเมื่อ พ.ศ. 2550 ในสมัยอภิรักษ์ โกษะโยธิน เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยมีแนวคิดจะพัฒนาพื้นที่คลองสาทรและคลองช่องนนทรีให้เป็นพื้นที่สีเขียว ใช้คลองช็องกเยช็อนในกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ เป็นต้นแบบ แต่ไม่สามารถทำได้เนื่องจากติดเรื่องงบประมาณ จากนั้นได้ศึกษาและทำประชาพิจารณ์กับประชาชนในพื้นที่จากการสุ่มตัวอย่างประชาชน 700 คน เมื่อ พ.ศ. 2554, 2559, 2560 และ 2562 โดยผลสำรวจมากกว่าร้อยละ 90 เห็นด้วยกับการพัฒนาโครงการคลองช่องนนทรี จนได้เริ่มก่อสร้างในสมัยอัศวิน ขวัญเมือง เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร[1]

ระยะการก่อสร้าง[แก้]

การก่อสร้างแบ่งออกเป็น 5 ช่วง คือ ช่วงที่หนึ่ง ช่วงถนนสุรวงศ์ถึงถนนสาทร ระยะทาง 800 เมตร วงเงิน 80 ล้านบาท ช่วงที่สอง ช่วงถนนสาทรถึงซอยนราธิวาสราชนครินทร์ 7 ระยะทาง 200 เมตร วงเงิน 80 ล้านบาท ช่วงที่สาม ช่วงซอยนราธิวาสราชนครินทร์ 7 ถึงถนนจันทน์ ระยะทาง 1.6 กิโลเมตร วงเงิน 370 ล้านบาท ช่วงที่สี่ช่วงถนนจันทน์ถึงถนนรัชดาภิเษก ระยะทาง 1 กิโลเมตร วงเงิน 250 ล้านบาท และช่วงที่ห้าช่วงถนนรัชดาภิเษกถึงถนนพระรามที่ 3 ระยะทาง 900 เมตร วงเงิน 200 ล้านบาท รวมค่าก่อสร้าง 980 ล้านบาท[2]

ช่วงที่หนึ่งประกวดราคาจ้างก่อสร้างด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ ดำเนินการเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2564 ดำเนินการเปิดให้เอกชนเข้ามาซื้อเอกสาร (ซื้อซอง) มีจำนวนเบื้องต้น 6 ราย แต่ยังไม่มีเอกชนรายใดยื่นเสนอราคา ช่วงที่สอง ประกวดราคาจ้างก่อสร้างด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ มีบริษัท ทริโอ ไบรท์ จำกัด เป็นผู้เสนอราคารายเดียว ชนะไปด้วยวงเงิน 79 ล้านบาทถ้วน ประกาศผู้ชนะเสนอราคาเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 และทำสัญญาเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2564 โดยในช่วงที่สองเปิดให้บริการเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2564 กรุงเทพธุรกิจ ตั้งข้อสังเกตว่า ช่วงที่หนึ่งได้ดำเนินการประกวดราคาจ้างก่อสร้างภายหลังทำโครงการช่วงที่สอง ไปแล้วกว่า 3 เดือน[3]

การออกแบบ[แก้]

สวนสาธารณะคลองช่องนนทรี ออกแบบในลักษณะสวนสาธารณะกลางถนน คลองช่องนนทรีมีความกว้าง 15 เมตร ทางเดินเลียบคลองทั้งสองข้าง ออกแบบให้มีทางเดิน จุดนั่งพักผ่อน ทางวิ่งออกกำลังกาย ทางจักรยาน เครื่องออกกำลังกายที่เหมาะสม มีการปลูกต้นไม้ รวมถึงปลูกต้นนนทรีอันเป็นเอกลักษณ์ตามชื่อคลอง ตกแต่งด้วยไม้ดอกไม้ประดับ มีลานกิจกรรม มีน้ำตกซึ่งเป็นน้ำในคลองที่บำบัดแล้ว แยกจากน้ำทิ้ง ที่อยู่ด้านล่างในท่อระบายน้ำใต้คลอง[4]

มีแนวคิดออกแบบคลองช่องนนทรีให้เป็นแก้มลิง ปรับปรุงคลองให้สามารถรับปริมาตรน้ำได้มากขึ้น คลองปรับใหม่มีสัดส่วนผิวน้ำระดับปกติ ลดลง จาก 63,450 ตารางเมตร เหลือ 59,450 ตารางเมตร หรือลดลงร้อยละ 7 ลดพื้นที่ดาดแข็งร้อยละ 21 เพิ่มพื้นที่สีเขียวร้อยละ 146 ด้านการปรับปรุงคุณภาพน้ำ ได้ปรับระบบระบายน้ำเสียให้แยกขาดจากคลอง ไม่ปะปนกัน พัฒนาท่อระบายน้ำและบ่อดักน้ำเสียกว่า 60 บ่อ ในความดูแลของโรงควบคุมคุณภาพน้ำช่องนนทรี มีระบบทุ่นดักขยะ เพิ่มตะแกรงดักขยะที่ปากท่อระบายน้ำซึ่งเชื่อมต่อกับคลอง ลดตะกอนในคลอง ใช้พืชพันธุ์ที่ดูดซับและกรองสิ่งสกปรกได้ เช่น เตย บอนนา พุทธรักษา ธรรมรักษา ก้ามกุ้ง กกกลม และคล้าน้ำ เป็นต้น ติดตั้งหัวน้ำพุที่ก้นคลอง เพิ่มการเวียนน้ำก้นคลอง[5]

อ้างอิง[แก้]

  1. "สรุปคลองช่องนนทรี เหมาะกับชีวิตชาวกรุง 2022 หรือไม่". ไทยรัฐ.
  2. "รู้จัก 'สวนสาธารณะคลองช่องนนทรี' อีกหนึ่งโครงการพัฒนาเมืองของ กทม". thematter.
  3. "คุ้ยพิรุธ "คลองช่องนนทรี" 980 ล้าน ไฉนเร่งใช้งบกลางสร้าง-ออกแบบฟรี". กรุงเทพธุรกิจ.
  4. "'คลองช่องนนทรี' สวนสาธารณะใหม่ในกรุงที่ยาวที่สุด". ไทยโพสต์.
  5. กชกร วรอาคม. "คลองช่องนนทรี โครงการเปลี่ยนคลองระบายน้ำเสียเป็นสวนสาธารณะ ฟื้นระบบนิเวศคลองและเมือง". เดอะคลาวด์.