สวนป่าเบญจกิติ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สวนป่าเบญจกิติ
สวนเกาะต้นไม้กลางบึงขนาดใหญ่
แผนที่
ประเภทสวนสาธารณะระดับย่าน
ที่ตั้งถนนรัชดาภิเษก แขวงคลองเตย เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร
พื้นที่320 ไร่
เปิดตัว
  • 20 ธันวาคม พ.ศ. 2564 (เปิดให้เช้าชมระยะที่ 1 ทั้งหมด และระยะที่ 2–3 บางส่วน)
  • 3 สิงหาคม พ.ศ. 2565 (อย่างเป็นทางการ)[1]
ผู้ดำเนินการตราสัญลักษณ์กรุงเทพมหานคร  กรุงเทพมหานคร
เวลาให้บริการ05.00 – 20.00 น. ทุกวัน[2]
ขนส่งมวลชน สถานีอโศก
สถานีสุขุมวิท
สวนเกาะต้นไม้กลางบึงขนาดใหญ่ เลียนแบบธรรมชาติของพื้นที่ชุ่มน้ำ เช่น ที่ลุ่มน้ำขังและที่ลุ่มชื้นแฉะ

สวนป่าเบญจกิติ (อังกฤษ: Benchakitti Forest Park) เป็นสวนสาธารณะระดับย่าน ขนาด 320 ไร่ ตั้งอยู่ที่ถนนรัชดาภิเษก แขวงคลองเตย เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร โดยอยู่ในบริเวณพื้นที่โรงงานยาสูบเดิม ติดกับสวนเบญจกิติทางฝั่งตะวันออก สวนป่าเบญจกิติถือเป็นโครงการสวนสาธารณะระยะต่อเนื่องจากสวนเบญจกิติที่ยึดแนวคิดของ "สวนน้ำ" ส่วนสวนป่าเบญจกิติยึดแนวคิดของ "ป่าในเมือง" (urban forest)[3] โดยหากรวมพื้นที่สวนเบญจกิติเดิมซึ่งเป็นสวนน้ำขนาด 130 ไร่ จะมีเนื้อที่รวมประมาณ 450 ไร่

สวนป่าเบญจกิติ ได้วางแผนการดำเนินงานไว้ 3 ระยะ ระยะที่ 1 มีเนื้อที่ประมาณ 61 ไร่ เน้นการปลูกพันธ์ไม้ไทยหายาก ระยะที่ 2 และ 3 มีเนื้อที่ประมาณ 259 ไร่ เน้นแนวคิดพื้นที่ทางธรรมชาติ พื้นที่เส้นทาง และพื้นที่อาคารเดิม สวนป่าเบญจกิติได้รับการออกแบบโดยทีมงานภูมิสถาปนิก บริษัทสถาปนิกชุมชนและสิ่งแวดล้อม อาศรมศิลป์ จำกัด และบริษัท ฉมา จำกัด[4] นอกจากนี้ยังมีศาสตราจารย์อวี้ข่งเจี้ยน (Kongjian Yu) จากถู่เหรินแลนด์สเคป (Turenlandscape) ภูมิสถาปนิกเจ้าของแนวคิดเมืองฟองน้ำ (sponge city) มาร่วมให้คำปรึกษาในส่วนแนวคิดการออกแบบ ซึ่งสวนป่าเบญจกิตินำแนวคิดเรื่องของเมืองฟองน้ำมาใช้ในการออกแบบในภาพรวมระยะที่ 2 และ 3 ทั้งการใช้บึงรับน้ำขนาดใหญ่จำนวน 4 บึง มีจุดเด่นคือ เกาะต้นไม้ทรงกลมเพื่อการกักเก็บน้ำและหน่วงน้ำ การทำสวนฝน (rain garden) ตลอดเส้นทางสัญจรในโครงการ โดยทั้งหมดใช้พืชพรรณท้องถิ่นตามธรรมชาติ ไม่เน้นการตัดแต่งเพื่อให้คงแนวคิดสวนป่าตามนิเวศธรรมชาติเดิมให้มากที่สุด สวนป่าเบญจกิติยังถือเป็นสวนขนาดใหญ่แห่งแรก ๆ ในกรุงเทพมหานครที่นำแนวคิดการออกแบบภายใต้การแก้ปัญหาที่อาศัยธรรมชาติเป็นพื้นฐาน (Nature-based Solution) เข้ามาในการออกแบบ คล้ายคลึงกับแนวคิดของอุทยาน 100 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

สวนป่าเบญจกิติ ได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2559 และได้เปิดให้เข้าชมพื้นที่บริเวณสวนป่าในระยะที่ 1 ทั้งหมด และบางส่วนของระยะที่ 2 กับ 3 ในช่วงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2564 ต่อมาเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2565 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดสวนป่าเบญจกิติอย่างเป็นทางการ[1] โดยกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง เป็นหน่วยงานผู้รับผิดชอบหลักในการจัดสร้าง โดยมีกองทัพบกมาร่วมดำเนินการในระยะที่ 2 และ 3 และการยาสูบแห่งประเทศไทยเป็นผู้สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการก่อสร้าง ก่อนส่งมอบให้กรุงเทพมหานครเป็นผู้ดูแลต่อไป[5]

ภายในสวนประกอบด้วยพันธุ์ไม้เดิม 1,733 ต้น และต้นไม้ที่ลงใหม่ 7,155 ต้น หลากหลายชนิดพันธุ์ มีอัฒจันทร์ขนาดใหญ่รองรับกิจกรรมกลางแจ้ง ทางเดินลอยฟ้าระยะ 1.6 กิโลเมตร ทางวิ่ง ทางจักรยาน และทางเดินโดยรอบโครงการ นอกจากนี้ยังมีการปรับปรุงอาคารเดิม ได้แก่ อาคารโกดังยาสูบ อาคารพิพิธภัณฑ์ และอาคารศาลาสำหรับกีฬาในร่ม

อาคารพิพิธภัณฑ์โรงงานยาสูบภายในพื้นที่สวนป่าเบญจกิติ เคยเป็นสถานที่ตั้งศูนย์ปฏิบัติการร่วมความมั่นคงในการประชุมเอเปค 2022[6][7][8]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 matichon (2022-08-03). "ในหลวง-พระราชินี ทรงเปิดสวนป่าเบญจกิติระยะ 2-3 เมืองแห่งความสุข". มติชนออนไลน์.
  2. "'สวนป่าเบญจกิติ' สวนป่าใจกลางเมือง เปิดให้บริการแล้ว". springnews.co.th. สปริงนิวส์. สืบค้นเมื่อ 1 January 2022.
  3. Panomai, Suriyan. "In pictures: สวนป่าเบญจกิติ จากอดีตโรงงานยาสูบสู่พื้นที่สีเขียวกลางเมืองที่เป็นมิตรกับปอด". timeout.com. Time Out Bangkok. สืบค้นเมื่อ 1 January 2022.
  4. ยามะรัต, พงศ์พรหม. "เผยภาพคืบหน้า "สวนป่าเบญจกิติ" เฟส 2-3 ใหญ่ระดับอาเซียนใจกลางกรุง". mgronline.com. ผู้จัดการออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 1 January 2022.
  5. "นายกฯร่วมส่งมอบสวนป่า "เบญจกิติ" ระหว่างกองทัพบกธนารักษ์และกรุงเทพ". bangkokbiznews.com. กรุงเทพธุรกิจ. สืบค้นเมื่อ 1 January 2022.
  6. "ตรวจความพร้อม รองรับการประชุม"เอเปค" กำชับ จนท.ย้ำประชาชน แจ้งเหตุผิดปกติ". คมชัดลึกออนไลน์. 2022-11-09.
  7. 21 (2022-11-03). "กทม.พร้อมรับประชุมเอเปค 12 พ.ย.นี้ ปิดสวนป่าเบญจกิติ เปิดทางฝ่ายความมั่นคง". ข่าวสด.{{cite web}}: CS1 maint: numeric names: authors list (ลิงก์)
  8. "เตรียมปิดสวนป่าเบญจกิติ ตั้งศูนย์ความมั่นคงดูแลงานประชุมผู้นำฯ 'APEC 2022'". THE STANDARD. 2022-11-03.