กบฏเจ้าอนุวงศ์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก สงครามเจ้าอนุวงศ์)
กบฏเจ้าอนุวงศ์

น้ำเงิน หมายถึง เส้นทางของกองทัพลาว
แดง หมายถึง เส้นทางของกองทัพสยาม
ฟ้า หมายถึง เส้นทางหลบหนีไปเวียดนามของเจ้าอนุวงศ์
วันที่พ.ศ. 2369 - 2371
สถานที่
ผล

อาณาจักรรัตนโกสินทร์ชนะ

  • อาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ล่มสลาย ถูกลดฐานะจากหัวเมืองประเทศราชเป็นหัวเมืองชั้นนอกประเภทเมืองจัตวา
  • ล้มล้างราชวงศ์ล้านช้างเวียงจันทน์ซึ่งรวมไปถึงตำแหน่งเจ้าผู้ครองนครและเจ้าอนุวงศ์เสด็จสวรรคตหลังจบสงครามในกรุงเทพมหานคร
คู่สงคราม
อาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์
อาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์
สนับสนุนทางทหาร:
จักรวรรดิเวียดนาม
อาณาจักรรัตนโกสินทร์
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ

เจ้าอนุวงศ์[1]
เจ้าราชบุตร (โย้)[2]
เจ้าอุปราช (ติสสะ)[3]
เจ้าราชวงศ์ (เหง้า)[4]
เจ้าสุทธิสาร (โป้)

สนับสนุนทางทหาร:
ฟาน วัน ทวี้ (Phan Văn Thúy)[5]
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ
เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี)
พระยาสุริยเดช
ท้าวสุรนารี
นางสาวบุญเหลือ

กบฏเจ้าอนุวงศ์ เป็นความพยายามของอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ นำโดยเจ้าอนุวงศ์กษัตริย์แห่งเวียงจันทน์ ในการแยกตัวออกจากการปกครองแบบหัวเมืองประเทศราชของอาณาจักรสยาม สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ใน พ.ศ. 2369–2371

เหตุการณ์นำ[แก้]

อาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์[แก้]

เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พ.ศ. 2250–2371 แสดงอาณาจักรลาวของเวียงจันทน์ หลวงพระบาง จำปาศักดิ์ และอาณาเขตของเมืองพวน (เชียงขวาง)

ความวุ่นวายในการสืบราชสมบัติของอาณาจักรล้านช้าง หลังจากที่พระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราชเสด็จสวรรคตใน พ.ศ. 2238 ทำให้อาณาจักรล้านช้างแตกแยกแบ่งออกเป็นสามอาณาจักรได้แก่ อาณาจักรล้านช้างหลวงพระบาง อาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ และอาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์ ใน พ.ศ. 2308 อาณาจักรพม่าราชวงศ์คองบองรัชสมัยพระเจ้ามังระยกทัพเข้ายึดอาณาจักรล้านช้างหลวงพระบางและเวียงจันทน์ ทำให้อาณาจักรหลวงพระบางและเวียงจันทน์ตกเป็นประเทศราชของพม่า

ใน พ.ศ. 2310 ขุนนางเวียงจันทน์สองคนคือพระตา และพระวอ สองพี่น้องซึ่งมีเชื้อสายต้นวงศ์สามัญชนเชื้อสายไทพวนสืบเชื้อสายอุปราชนอง ปฐมราชวงศ์แสนทิพย์นาบัว เกิดความขัดแย้งกับพระเจ้าสิริบุญสารกษัตริย์แห่งเวียงจันทน์ พระตาและพระวอจึงนำกำลังจากเมืองเวียงจันทน์อพยพย้ายมาตั้งเมืองใหม่คือเมือง "นครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน" หรือหนองบัวลำภูในปัจจุบัน แยกตัวเป็นอิสระจากพระเจ้าสิริบุญสารแห่งเวียงจันทน์ ใน พ.ศ. 2314 พระเจ้าสิริบุญสารส่งกองทัพพร้อมการสนับสนุนจากพม่ายกมาโจมตีนครเขื่อนขันธ์ฯของพระตาพระวอ พระตาถูกแสงปืนถึงแก่กรรมในที่รบ ฝ่ายเวียงจันทน์ยึดนครเขื่อนขันธ์ฯได้ พระวอหลบหนีไปตั้งอยู่ที่ดอนมดแดง (อำเภอดอนมดแดง จังหวัดอุบลราชธานี) และขอความช่วยเหลือจากพระเจ้าองค์ไชยหลวงกุมาร กษัตริย์แห่งจำปาศักดิ์ นอกจากนี้พระวอยังให้ท้าวเพี้ยถือศุภอักษรมายังพระยานครราชสีมา (ขุนชนะ) เจ้าเมืองนครราชสีมา เพื่อขอสวามิภักดิ์เป็นข้าขันธสีมาของกรุงธนบุรี ต่อมาใน พ.ศ. 2320 พระวอที่ดอนมดแดงเกิดความขัดแย้งกับพระเจ้าองค์ไชยหลวงกุมารแห่งจำปาศักดิ์ พระเจ้าสิริบุญสารแห่งเวียงจันทน์จึงส่งทัพมาโจมตีพระวออีกครั้ง พระวอถูกจับประหารชีวิตไปในที่รบ

สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงพระพิโรธ ที่พระเจ้าสิริบุญสารแห่งเวียงจันทน์ ส่งทัพมาสังหารพระวอ ซึ่งเป็นข้าขันธสีมาของกรุงธนบุรี จึงมีพระราชโองการให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกยกทัพไปปราบอาณาจักรเวียงจันทน์ในสงครามเวียงจันทน์ พ.ศ. 2321 เจ้าพระยาสุรสีห์ฯ (บุญมา) ยกทัพเข้ายึดเมืองจำปาศักดิ์ได้ ในขณะที่สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกเข้ายึดเมืองเวียงจันทน์ได้สำเร็จ เจ้าสุริยวงศ์แห่งหลวงพระบางเข้าสวามิภักดิ์ต่อสยาม ทำให้อาณาจักรลาวทั้งสามอาณาจักรมาขึ้นเป็นอาณาจักรหัวเมืองประเทศราชของสยามนับตั้งแต่นั้นมา

ในการยึดเมืองเวียงจันทน์ใน พ.ศ. 2322 นั้น มีการกวาดต้อนชาวลาวจำนวนมากจากเมืองเวียงจันทน์อพยพเข้ามาอาศัยที่เมืองสระบุรีและเมืองราชบุรี เรียกว่า "ลาวเวียง" รวมทั้งโอรสธิดาต่างๆของพระเจ้าสิริบุญสารเช่น เจ้านันทเสน เจ้าอินทวงศ์ และเจ้าอนุวงศ์ ต่างถูกคุมตัวลงมาไว้ที่กรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงแต่งตั้งให้เจ้านันทเสนพระโอรสของพระเจ้าสิริบุญสารเป็นกษัตริย์แห่งเวียงจันทน์ แต่พระเจ้านันทเสนถูกปลดออกจากราชสมบัติใน พ.ศ. 2334 เนื่องจากข้อหาเป็นกบฏลักลอบติดต่อกับราชวงศ์เตยเซิน (Tây Sơn) ของเวียดนาม เจ้าอินทวงศ์พระอนุชาของเจ้านันทเสนได้เป็นกษัตริย์แห่งเวียงจันทน์องค์ต่อมา เจ้าอินทวงศ์แต่งตั้งให้พระอนุชาคือเจ้าอนุวงศ์เป็นเจ้าอุปราช หรือเจ้าอุปฮาดแห่งเวียงจันทน์

เจ้าอุปราชแห่งเวียงจันทน์ หรือเจ้าอนุวงศ์ ยกทัพลาวเข้าร่วมกับฝ่ายสยามในสงครามพม่าตีเชียงใหม่ พ.ศ. 2340 และ 2345 และสงครามเชียงแสน พ.ศ. 2347[6]

ใน พ.ศ. 2347 เจ้าอินทวงศ์ถึงแก่พิราลัย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ทรงแต่งตั้งเจ้าอุปราชอนุวงศ์ขึ้นเป็น เจ้าอนุวงศ์ กษัตริย์แห่งอาณาจักรเวียงจันทน์ เจ้าน้อยแห่งเมืองพวนแข็งเมืองไม่ยอมรับเจ้าอนุวงศ์ เจ้าอนุวงศ์ยกทัพไปกำราบเจ้าน้อยเมืองพวน และนำตัวเจ้าน้อยเมืองพวนมากุมขังไว้ที่เวียงจันทน์ ต่อมาเจ้าอนุวงศ์จึงปล่อยตัวเจ้าน้อยกลับไปยังเมืองพวน จากนั้นเจ้าน้อยเมืองพวนจึงสานสัมพันธไมตรีกับพระเจ้ามิญหมั่งแห่งเวียดนามราชวงศ์เหงียน

อาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์[แก้]

อนุสาวรีย์ท้าวเซียง เจ้าผู้ครองเมืองท่งศรีภูมิคนที่ 4 พระนัดดาเจ้าแก้วมงคล ผู้ที่เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ เจ้าโอ เจ้าอิน ให้การสนับสนุนกบฎพระยานางรอง อันเป็นจุดเริ่มต้นที่แท้จริงที่ทำให้เกิดสงครามระหว่างอาณาจักรธนบุรีกับลาวเป็นครั้งแรก

ความขัดแย้งระหว่างจำปาศักดิ์กับสยามมีมายาวนานตั้งแต่ยุคสมัยอาณาจักรอยุธยา ในปี พ.ศ. 2308 นครจำปาศักดิ์สูญเสียเมืองหน้าด่านสำคัญอย่าง เมืองท่งศรีภูมิ ปัจจุบันคือ อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งเป็นเมืองของพระญาติวงศ์สำคัญของสมเด็จพระเจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูร กษัตริย์แห่งอาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์ พระองค์แรก อย่างเจ้าแก้วมงคล ผู้สืบเชื้อสายแห่งราชวงศ์ล้านช้างเวียงจันทน์ ผู้เป็นปฐมราชวงศ์เจ้าจารย์แก้ว บรรพชนกลุ่มใหญ่กลุ่มหนึ่งของเจ้าเมืองทั่วภาคอีสาน ได้ครองเมืองท่งศรีภูมิตั้งแต่ปีพ.ศ. 2256 เป็นเมืองเจ้าประเทศราชขึ้นกับอาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์ ต่อมาในปีพ.ศ. 2308 พระนัดดาของเจ้าแก้วมงคล พระนามว่า เจ้าเซียง ได้พยายามแย่งชิงเอาเมืองท่งจากเจ้าอาว์ นามว่า เจ้าสุทนต์มณี (เจ้าเมืองท่งศรีภูมิท่านที่3 และเป็นเจ้าเมืองร้อยเอ็ดท่านแรก) จึงได้นำเครื่องราชบรรณาการไปถวายแด่ สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ แห่งอาณาจักรอยุธยา พระเจ้าแผ่นดินอยุธยาจึงโปรดเกล้าส่งกำลังพลไปช่วยเจ้าเซียง จนสามารถยึดเมืองท่งศรีภูมิจากเจ้าอาว์ได้เป็นผลสำเร็จ จึงส่งผลให้เมืองท่งศรีภูมิถูกตัดขาดจากอาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์ไปขึ้นกับอาณาจักรอยุธยามานับตั้งแต่บัดนั้น ซึ่งต่อมาเป็นปัจจัยสำคัญต่อความขัดแย้งระหว่างอาณาจักรกรุงธนบุรีและอาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์ จนเป็นสาเหตุที่ทำให้อาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์และเมืองขึ้นของนครจำปาศักดิ์กลายเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรธนบุรีในเวลาต่อมา เนื่องด้วยความขัดแย้งที่มีมาอย่างช้านาน ร่วม 10 กว่าปี จึงก่อให้เกิดสงครามครั้งแรกระหว่างกรุงธนบุรีกับอาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์ขึ้น การตีเมืองจำปาศักดิ์ในปี พ.ศ. 2319 สาเหตุเนื่องจากพระยานางรอง เกิดขัดใจกับ เจ้าเมืองนครราชสีมา จึงคิดกบฏต่อไทย ไปขอขึ้นกับเมืองจำปาศักดิ์ โดยได้ร่วมมือกับเจ้าโอ (เจ้าเมืองอัตปือ), เจ้าอิน (อุปฮาดเมืองอัตปือ) และเจ้าอุปราชธรรมเทโวหรือเจ้าอุปฮาดเมืองนครจำปาศักดิ์ (พระบิดาของเจ้าโอและเจ้าอิน) และเนื่องด้วยทางเมืองจำปาศักดิ์ เคยสูญเสียเมืองหน้าด่านที่สำคัญอย่างเมืองท่งศรีภูมิให้แก่อยุธยา ไปเมื่อ 10 กว่าปีก่อน และมีความไม่พอใจหรือคับแค้นใจเป็นทุนเดิมที่ทางอาณาจักรอยุธยาหรือสยามมีการแทรกแซงอำนาจแย่งเมืองท่งให้ไปขึ้นกับอาณาจักรของตน ทำให้อำนาจของอาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์มีความอ่อนแอลงไปอย่างมาก เพื่อต้องการฟื้นฟูอำนาจที่เสียไปและต้องการเมืองขึ้นใหม่เพื่อทดแทนเมืองหน้าด่านที่เคยเป็นป้อมปราการสำคัญที่ใช้ยันกับอาณาจักรอยุธยาและล้านช้างเวียงจันทน์ เมื่อครั้งในอดีต ทางเมืองจำปาศักดิ์จึงให้การยอมรับและให้การสนับสนุนช่วยเหลือพระยานางรองอย่างเต็มที่ สมเด็จพระเจ้าตากสินจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ เจ้าพระยาจักรีไปปราบ จับเจ้าเมืองนางรองประหารชีวิต และไปตีเมืองจำปาศักดิ์, เมืองโขง และเมืองอัตตะปือ ยึดได้ทั้ง 3 เมือง แล้ว ประหารชีวิต เจ้าโอ, เจ้าอิน และเจ้าอุปฮาดเมืองจำปาศักดิ์ ทำให้เมืองจำปาศักดิ์ เมืองอัตตะปือ และ ดินแดนตอนใต้ของประเทศลาวตกลงมาเป็นของไทย แล้วเกลี้ยกล่อมเมืองต่างๆใกล้เคียงให้สวามิภักดิ์ ได้แก่ เขมรป่าดง ตะลุง สุรินทร์ สังขะ และเมืองขุขันธ์ หลังจากจบศึก สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงพระกรณาโปรดเกล้าฯให้ เจ้าพระยาจักรี เป็น สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก พิลึกมหึมา ทุกนัคราระเดช นเรศวรราชสุริยวงศ์ดำรงตำแหน่งสมุหนายก นับเป็นการพระราชทานยศสูงที่สุดเท่าที่เคยมี และเนื่องด้วยสงครามครั้งนี้เป็นสงครามครั้งแรกที่เกิดขึ้นกันระหว่างอาณาจักรธนบุรีกับอาณาจักร์ของชาวลาวล้านช้าง จึงเป็นสาเหตุที่แท้จริงหรือสาเหตุเริ่มต้นที่ทำให้สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงเริ่มหันเหและให้ความสนใจที่จะขยายอิทธิพลเข้าไปยึดครองอาณาจักรลาวล้านช้างทั้ง3และหัวเมืองขึ้นอื่นๆอีกมากมาย จากกรณีกบฎพระยานางรอง ทำให้มองเห็นว่าอำนาจของกรุงธนบุรียังอ่อนแออยู่มาก ดังนั้นพระเจ้ากรุงธนบุรี จึงส่งพระยาพรหม พระยากรมท่า ได้ขึ้นมาจัดราชการที่เมืองทุ่ง ในปี พ.ศ. 2318 และรวบร่วมกำลังพล เพื่อวางแผนเตรียมขยายอาณาเขตของกรุงธนบุรีเข้าไปในเขตเมืองจำปาศักดิ์และเมืองเวียงจันทน์ คือการตั้งเมืองร้อยเอ็ด มีพระขัติยะวงษา (ท้าวทนต์) เป็นเจ้าเมืองคนแรก ตามคำขอเรียนเมือง ยกบ้านกุ่มฮ้างขึ้นเป็นเมืองร้อยเอ็ด และมีการแบ่งอาณาเขตระหว่างเมืองท่งศรีภูมิกับเมืองร้อยเอ็ดอย่างชัดเจน จากกรณีนี้ทำให้เข้าใจได้ว่า พระเจ้ากรุงธนบุรีกำลังใช้เมืองร้อยเอ็ด เมืองท่ง(สุวรรณภูมิ) เป็นหมากสำคัญในการเดินเกมส์ทางการเมือง และใช้กรณีพิพาทกันระหว่างพระวอพระตากับเจ้าสิริบุญสารเป็นปัจจัยเสริมเพื่อใช้เป็นข้ออ้างในการขยายอิทธิพลเข้าไปยึดครองอาณาจักรล้านช้างทั้ง 3 ได้แก่ อาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์ อาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ อาณาจักรหลวงพระบาง[7][8]

อนุสาวรีย์พระตาและพระวอ พระนัดดาแสนทิพย์นาบัว ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช อำเภอเมือง จังหวัดหนองบัวลำภู

ต่อมาหลังจากที่พระวอถูกฝ่ายเวียงจันทน์สังหารไปนั้น ท้าวคำผง และท้าวฝ่ายหน้า บุตรทั้งสองของพระตา ซึ่งอยู่ที่ดอนมดแดง ย้ายไปอาศัยอยู่ที่ห้วยแจระแม สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงแต่งตั้งท้าวคำผงขึ้นเป็น พระประทุมสุรราชภักดี[9] นายกองใหญ่คุมเลกเมืองจำปาศักดิ์

ใน พ.ศ. 2334 เกิด "กบฏอ้ายเชียงแก้ว" ขึ้นที่เมืองสีทันดอน อ้ายเชียงแก้วยกทัพเข้าล้อมเมืองจำปาศักดิ์ พระเจ้าองค์หลวงไชยกุมารแห่งจำปาศักดิ์ประชวรถึงแก่พิราลัย เจ้าหน่อเมืองโอรสของพระเจ้าองค์หลวงฯ รักษาการณ์เมืองจำปาศักดิ์ เจ้าหน่อเมืองไม่สามารถเตรียมการรับมือกับกบฏอ้ายเชียงแก้วได้ทันการ จึงหลบหนีจากจำปาศักดิ์ไปอยู่กับชาวข่า พระประทุมฯ (คำผง) และท้าวฝ่ายหน้า ยกทัพไปปราบอ้ายเชียงแก้วที่แก่งตะนะสามารถสังหารอ้ายเชียงแก้วได้สำเร็จมีความชอบ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯจึงทรงยกเมืองห้วยแจระแมขึ้นเป็นเมือง "อุบลราชธานี" และทรงแต่งตั้งให้พระประทุมฯ (คำผง) เป็นพระประทุมวรราชสุริยวงศ์[9] เจ้าเมืองอุบลราชธานีคนแรก รวมทั้งทรงแต่งตั้งให้ท้าวฝ่ายหน้าน้องชายของพระประทุมฯ เป็น "พระวิไชยราชสุริยวงษขัติยราช" พระประเทศราชเมืองจำปาศักดิ์แทนที่พระเจ้าองค์หลวงไชยกุมารที่ถึงแก่พิราลัยไป วงศ์ของพระตาจึงได้ปกครองนครจำปาศักดิ์ แทนที่วงศ์เจ้าจำปาศักดิ์เดิมของพระเจ้าองค์หลวงฯ แต่ได้รับการแต่งตั้งฐานันดรที่ต่ำกว่ากลุ่มเจ้านครเดิม คือเป็นเพียงพระประเทศราช เทียบเท่าขุนนางชั้นผู้น้อยของสยามมานั่งเมือง พระวิไชยราชสุริยวงษขัติยราช (ฝ่ายหน้า) แต่งตั้งให้โอรสคือท้าวคำสิงห์เป็นอุปราชเมืองจำปาศักดิ์ไปครองเมืองโขง[10]

ต่อมาพระวิไชยราชสุริยวงษขัติยราช (ฝ่ายหน้า) ถึงแก่พิราลัยใน พ.ศ. 2353 ทางกรุงเทพฯ แต่งตั้งให้เจ้านูผู้เป็นโอรสของเจ้าหน่อเมืองซึ่งหลบหนีไปอยู่กับข่านั้น เป็นเจ้าเมืองจำปาศักดิ์องค์ต่อมา เจ้านูอยู่ในราชสมบัติได้สามวันถึงแก่พิราลัย ทางกรุงเทพฯ จึงแต่งตั้งเจ้าหมาน้อยขึ้นเป็นเจ้าเมืองจำปาศักดิ์ วงศ์ของพระเจ้าองค์หลวงฯ จึงได้กลับมาครองจำปาศักดิ์อีกครั้ง ฝ่ายวงศ์ของพระตาคือท้าวคำสิงห์เมืองโขงไม่สมัครใจจะอยู่ภายใต้การปกครองของจำปาศักดิ์อีกต่อไป จึงย้ายมาตั้งเมืองที่บ้านสิงห์ท่า ใน พ.ศ. 2357 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย มีพระราชโองการให้ยกบ้านสิงห์ท่าขึ้นเป็นเมือง "ยศสุนทร" หรือยโสธร และทรงแต่งตั้งท้าวคำสิงห์เป็นพระสุนทรราชวงศา เจ้าเมืองยโสธรคนแรก

กบฏอ้ายสาเกียดโง้ง[แก้]

ใน พ.ศ. 2362 รัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เกิดกบฏอ้ายสาเกียดโง้ง ซึ่งเป็นพระภิกษุนำทัพชาวข่าขมุ เข้าปล้นสะดมยึดเมืองจำปาศักดิ์ เจ้าหมาน้อย เจ้าเมืองจำปาศักดิ์หลบหนีออกจากเมือง ในขณะนั้นพระยาพรหมภักดี (ทองอิน) ยกกระบัตรเมืองนครราชสีมา กำลังปราบกลุ่มชาวข่าในแขวงเมืองโขง ยกทัพเข้าโจมตีอ้ายสาเกียดโง้งที่จำปาศักดิ์ อ้ายสาเกียดโง้งหลบหนีไปเขายาปุแขวงเมืองอัตตะปือ พระยาพรหมภักดีส่งพระสุริยภักดี (ป้อม อมาตยกุล)[10] ออกติดตามค้นหาจับกุมอ้ายสาเกียดโง้งแต่ไม่พบ พระสุริยภักดี (ป้อม) จึงนำเจ้าหมาน้อยเจ้าเมืองจำปาศักดิ์พร้อมทั้งพระราชวงศ์จำปาศักดิ์มายังกรุงเทพ ฝ่ายเจ้าอนุวงศ์ส่งโอรสคือเจ้าราชบุตร (โย้) ยกทัพเข้าจับกุมอ้ายสาเกียดโง้งที่เขายาปุได้สำเร็จ

กรมหมื่นเจษฎาบดินทรทรงทูลขอ[11] พระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ ให้ทรงแต่งตั้งเจ้าราชบุตร (โย้) โอรสของเจ้าอนุวงศ์ เป็นเจ้าเมืองจำปาศักดิ์ แทนที่เจ้าหมาน้อย เจ้าหมาน้อยถูกปลดจากราชสมบัติ และวงศ์จำปาศักดิ์เดิมถูกนำตัวไปไว้ที่กรุงเทพฯ เจ้าราชบุตร (โย้) โอรสของเจ้าอนุวงศ์ได้รับพระราชทานแต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองจำปาศักดิ์ใน พ.ศ. 2362 อาณาจักรลาวทั้งสามได้แก่หลวงพระบาง เวียงจันทน์ และจำปาศักดิ์ จึงอยู่ภายใต้อำนาจเจ้าอนุวงศ์แล้วถึงสองอาณาจักร จากในสามอาณาจักร ดังที่พระสัมพันธวงศ์เธอ กรมหลวงพิทักษมนตรี ซึ่งว่าราชการกรมมหาดไทยในขณะนั้น ตรัสว่า “…เพียงพ่อมีอำนาจอยู่ข้างฝ่ายเหนือก็พออยู่แล้ว ยังจะเพิ่มเติมให้ลูกไปมีอำนาจโอบลงมาข้างฝ่ายตะวันออกอีกด้านหนึ่ง ต่อไปจะได้ความร้อนใจด้วยเรื่องนี้[11] สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงมีพระวินิจฉัยว่า การที่ฝ่ายสยามไว้วางใจ และมอบอำนาจให้แก่เจ้าอนุวงศ์เช่นนี้ เนื่องจากฝ่ายสยามเห็นว่า เจ้าหมาน้อยแห่งจำปาศักดิ์มีความอ่อนแอ และมีความจำเป็นต้องรักษาเมืองจำปาศักดิ์ให้มั่นคงเพื่อต้านทานอิทธิพลของเวียดนามราชวงศ์เหงียน[11]

ความขัดแย้งที่เมืองขุขันธ์[แก้]

ใน พ.ศ. 2302 รัชสมัยสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ มีการแต่งตั้งชาวเขมรชาวส่วยให้เป็นหัวหน้าชุมชน[9] ในพื้นที่ "เขมรป่าดง" ประกอบด้วยบริเวณพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ และจังหวัดศรีสะเกษในปัจจุบัน มีการยกเมืองขึ้นใหม่ได้แก่เมืองขุขันธ์ เมืองสังขะ และเมืองปะทายสมันต์หรือเมืองสุรินทร์ นายตากะจะ ได้รับการแต่งตั้งเป็นพระยาไกรภักดีฯ เจ้าเมืองขุขันธ์คนแรก ต่อมาใน พ.ศ. 2321 พระยาไกรภักดีฯ (ตากะจะ) ถึงแก่กรรม นายเชียงขันธ์ได้ดำรงตำแหน่งเป็นพระยาไกรภักดีฯเจ้าเมืองขุขันธ์คนต่อมา พระยาไกรภักดีฯ (เชียงขันธ์) ติดตามสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกไปในราชการการยกทัพตีเมืองเวียงจันทน์เมื่อ พ.ศ. 2322 ได้ชาวลาวเวียงจันทน์ชื่อนายบุญจันทร์มาเป็นบุตรบุญธรรม พระยาไกรภักดีฯ (เชียงขันธ์) ขอพระราชทานแต่งตั้งให้นายบุญจันทร์บุตรบุญธรรมของตนเป็นพระไกรภักดีเพื่อช่วยราชการเมืองขุขันธ์ มีอยู่ครั้งหนึ่งพระยาไกรภักดีฯ (เชียงขันธ์) เรียกพระไกรฯ (บุญจันทร์) บุตรบุญธรรมของตนว่า "ลูกเชลย"[9] สร้างความไม่พอใจให้แก่พระไกร (บุญจันทร์) ต่อมามีพ่อค้าชาวญวนมาค้าขายที่เมืองขุขันธ์ พระยาไกรภักดีฯ (เชียงขันธ์) ให้การต้อนรับแก่พ่อค้าญวนเป็นอย่างดี พระไกร (บุญจันทร์) ฟ้อง[9] ลงมาที่กรุงเทพฯว่า พระยาไกรภักดีฯ (เชียงขันธ์) ผู้เป็นบิดาบุญธรรมของตนวางแผนกับชาวญวนก่อการกบฏ พระยาไกรภักดีฯ (เชียงขันธ์) ถูกเรียกตัวไปสอบสวนและถูกจำคุกที่กรุงเทพฯ พระไกรฯ (บุญจันทร์) จึงได้เลื่อนขึ้นเป็นพระยาไกรภักดีฯ เจ้าเมืองขุขันธ์คนต่อมา

เมื่อนายบุญจันทร์ได้เป็นเจ้าเมืองขุขันธ์แล้ว นายอุ่นบุตรของนายตากะจะ ไม่ต้องการที่จะอยู่ภายใต้การปกครองของเมืองขุขันธ์อีกต่อไป จึงเดินทางมากรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ทรงตั้งเมืองใหม่ คือเมืองศรีสะเกษขึ้นใน พ.ศ. 2325 และให้นายอุ่นเป็นพระรัตนวงศาเจ้าเมืองศรีสะเกษคนแรก ข้าราชการกรมการเมืองขุขันธ์ซึ่งเคยร่วมงานกับพระยาไกรภักดีฯ (เชียงขันธ์) อดีตเจ้าเมืองขุขันธ์ซึ่งจำคุกอยู่ที่กรุงเทพนั้น ต่างไม่พอใจเจ้าเมืองคนใหม่คือพระยาไกรภักดีฯ (บุญจันทร์) ซึ่งได้ตำแหน่งมาด้วยการกล่าวโทษบิดาบุญธรรมของตนเอง

มุมมองจากเอกสารพื้นเวียง[แก้]

"พื้นเวียง" หรือ "พื้นเวียงจันทน์" หรือ "พงศาวดารเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์" เป็น "วรรณกรรม" เชิงประวัติศาสตร์[12] เป็นบท "กลอนลำ" ภาษาอีสานซึ่งไม่ทราบผู้แต่ง สันนิษฐานว่าแต่งขึ้นก่อนปี พ.ศ. 2443[12] ต้นฉบับพื้นเวียงนั้นพบที่วัดต่าง ๆ หลายแห่งในจังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดนครพนม และจังหวัดหนองคาย[12] เอกสารพื้นเวียงสะท้อนมุมมองของชาวอีสานในยุคนั้นที่มีต่อเหตุการณ์การกบฏของเจ้าอนุวงศ์

เอกสารพื้นเวียงระบุว่า พระยาพรหมภักดี ซึ่งต่อมาคือเจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอิน) มีส่วนทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าอนุวงศ์ และทางกรุงเทพฯ ไม่สู้ดี เกิดความขัดแย้งระหว่างพระยาไกรภักดี (บุญจันทร์) เจ้าเมืองขุขันธ์ กับท้าวกิ่งหล้าผู้เป็นน้องชาย พื้นเวียงระบุว่าพระยาพรหมภักดี (ทองอิน) ให้การสนับสนุนแก่ท้าวกิ่งหล้า ทำให้พระยาไกรภักดีไม่พอใจ อีกทั้งยังเกิดความขัดแย้งระหว่างพระยาพรหมภักดีกับเจ้าราชบุตร (โย้) เจ้าเมืองจำปาศักดิ์ เนื่องจากพระยาพรหมภักดีต้องการยกทัพไปปราบข่า ในเขตแดนเมืองจำปาศักดิ์ ในเวลาต่อมาพระยาพรหมภักดีได้เลื่อนขึ้นเป็นเจ้าพระยานครราชสีมา

เหตุการณ์เมื่อเปลี่ยนรัชกาล[แก้]

ใน พ.ศ. 2365 นายจอห์น ครอว์เฟิร์ด (John Crawfurd) ทูตอังกฤษเดินทางมายังกรุงเทพฯ เจ้าอนุวงศ์ได้เข้าพบกับครอว์เฟิร์ด[11] เจ้าอนุวงศ์มีความเข้าใจว่าอังกฤษกำลังจะยกทัพเรือเข้ารุกรานกรุงเทพฯ

ใน พ.ศ. 2367 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จสวรรคต เจ้าอนุวงศ์ พร้อมทั้งพระโอรสคือ เจ้าราชวงศ์ (เหง้า) นำไพร่พลชาวลาวจากเวียงจันทน์ มาเข้าร่วมพระราชพิธี พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชโองการให้เจ้าอนุวงศ์นำกำลังชาวลาว ขนท่อนไม้ต้นตาลจากเมืองสุพรรณบุรีไปยังสมุทรปราการ[13] เพื่อทำฐานเตาหม้อของพระสมุทรเจดีย์กลางน้ำ เจ้าอนุวงศ์จึงให้เจ้าราชวงศ์ (เหง้า) คุมไพร่พลชาวลาวขนต้นตาลจากสุพรรณบุรีไปสมุทรปราการ

หลังจากเสร็จสิ้นพระราชพิธี เจ้าอนุวงศ์ได้ทูลขอพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวประการต่าง ๆ ดังนี้:

  • ขอนักแสดงหญิงละครใน
  • ขอเจ้าดวงคำ เจ้าหญิงลาวซึ่งประทับอยู่ที่เมืองสระบุรี
  • ขอชาว "ลาวเวียง" เมืองสระบุรีที่ถูกกวาดต้อนมาจากเวียงจันทน์ตั้งแต่ พ.ศ. 2324 กลับคืนสู่เวียงจันทน์

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระวินิจฉัยไม่พระราชทานดังคำขอของเจ้าอนุวงศ์[13] เจ้าคุณวังหลวง (นุ่น) ได้จัดมอบนักร้องคนหนึ่งของเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ให้แก่เจ้าอนุวงศ์แทน

ในปีเดียวกัน พ.ศ. 2367 มีพระราชกำหนดให้สักเลกหัวเมืองลาวตะวันออก[10] โดยมีเจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอิน) เป็นแม่กอง และพระสุริยภักดี (ป้อม) ไปตั้งกองสักเลกที่เมืองยโสธร นอกจากนี้ยังมีการตั้งกองสักเลขที่กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด และสุวรรณภูมิ[14] พื้นเวียงระบุว่าเจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอิน) เป็นผู้ทูลเสนอให้มีการสักเลกชาวลาว เนื่องจากหากเจ้าอนุวงศ์ทวีอำนาจขึ้น ชาวลาวจะอพยพไปอยู่เวียงจันทน์เสียหมด[12] ในพ.ศ. 2369 เจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอิน) และพระยาสุริยเดช (ทองคำ) ปลัดเมืองนครราชสีมา ยกทัพไปไกล่เกลี่ยความขัดแย้งระหว่างพระยาไกรภักดี (บุญจันทร์) และท้าวกิ่งหล้าที่เมืองขุขันธ์ และในปีเดียวกันนั้นเองนายเฮนรี เบอร์นี (Henry Burney) ผู้แทนอังกฤษเดินทางมาถึงกรุงเทพฯ ทางกรุงเทพแจ้งไปยังเจ้าอนุวงศ์ว่าหากเกิดเหตุการณ์อังกฤษโจมตีกรุงเทพของให้เจ้าอนุวงศ์ยกทัพลงมาช่วย[15] เกิดข่าวลือในหัวเมืองลาวว่าอังกฤษจะยกทัพมาโจมตีกรุงเทพ

การรุกรานของเจ้าอนุวงศ์ (มกราคม - กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2370)[แก้]

การเตรียมการของเจ้าอนุวงศ์[แก้]

วัดสีสะเกดในเวียงจันทน์ เจ้าอนุวงศ์ทรงสร้างจนเสร็จสมบูรณ์ใน พ.ศ. 2367

เอกสารฝ่ายไทยระบุว่า เจ้าอนุวงศ์มีเป้าหมายเพื่อยึดกรุงเทพ เจ้าอุปราช (ติสสะ) พระอนุชาของเจ้าอนุวงศ์ คัดค้านการกบฏของเจ้าอนุวงศ์ “…เมืองไทยเป็นกรุงใหญ่ มาตรแม้นตีได้ก็จะไปตั้งเป็นเจ้าอยู่ที่นั่นได้หรือ[13] แต่เจ้าอนุวงศ์ยืนยันว่า หากยึดครองกรุงเทพไม่ได้ก็จะกวาดต้อนผู้คนมาไว้ที่เวียงจันทน์ เจ้าอุปราช (ติสสะ) จึงจำยอมเข้าร่วมกบฏกับเจ้าอนุวงศ์ เอกสารฝ่ายลาวระบุว่าเจ้าอนุวงศ์มีเป้าหมายเพียงเพื่อกวาดต้อนไพร่พลชาวลาว ซึ่งถูกกวาดต้อนมายังนครราชสีมา และสระบุรีตั้งแต่สมัยธนบุรี และเพื่อโจมตีกองสักเลขต่าง ๆ เพื่อยับยั้งการสักเลขชาวลาวเท่านั้น[14] ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2369 เกิดลมพายุใหญ่ที่เวียงจันทน์ พัดช่อฟ้าใบระกา ของหอพระแก้วพระบางพังลง วังของเจ้าอนุวงศ์ได้รับความเสียหายและบ้านเรือนราษฎรชาวลาวถูกทำลายลงประมาณ 40-50 หลัง ต่อมาในเดือนตุลาคม เกิดแผ่นดินไหวแผ่นดินแยกออกที่กำแพงท้ายเมือง เป็นลางบอกเหตุ

เจ้าอุปราชเข้าเกลี้ยกล่อมหัวเมืองลาวต่าง ๆ ในภาคอีสานได้แก่เมืองกาฬสินธุ์ เมืองร้อยเอ็ด เมืองสุวรรณภูมิ เมืองชนบท และเมืองขอนแก่น ให้เข้าร่วมกับการกบฏในครั้งนี้ เจ้าอุปราช (ติสสะ) ยกทัพจากเวียงจันทน์ถึงเมืองสกลนคร พระธานี (มั่ง) เจ้าเมืองสกลนครเตรียมการรับมือไม่ทัน จึงยินยอมให้เจ้าอุปราชยกทัพผ่านสกลนครแต่โดยดี[9] จากสกลนครเจ้าอุปราชยดทัพต่อไปยังเมืองกาฬสินธุ์ พระยาไชยสุนทร (แพง) เจ้าเมืองกาฬสินธุ์ไม่ยอมเข้าร่วมฝ่ายเจ้าอนุวงศ์ เจ้าอุปราชจึงให้ประหารชีวิตพระยาไชยสุนทรและอุปราช (สุย) เมืองกาฬสินธุ์ไปเสีย จากนั้นเจ้าราชวงศ์ยกต่อไปที่เมืองร้อยเอ็ด สังหารข้าราชการฝ่ายไทยซึ่งกำลังสักเลกอยู่ที่ร้อยเอ็ด[10] เจ้าอนุวงศ์ยังมีคำสั่งให้เจ้าราชบุตร (โย้) พระโอรสที่เป็นเจ้าเมืองจำปาศักดิ์ยกทัพเข้าเกลี้ยกล่อมโจมตีและกวาดต้อนผู้คนเมืองต่างๆทางอีสานใต้ฝั่งโขงได้แก่เมืองเขมราฐ เมืองอุบล เมืองศรีสะเกษ เมืองเดชอุดม และเมืองยโสธร กวาดต้อนผู้คนมายังเมืองเวียงจันทน์

สรุปปฏิกิริยาของหัวเมืองอีสานต่าง ๆ ต่อการกบฏของเจ้าอนุวงศ์ ดังนี้:

  • นครพนม: เมื่อพระบรมราชา (สุตตา) เจ้าเมืองนครพนมถึงแก่กรรมใน พ.ศ. 2347 เจ้าเมืองนครพนมคนใหม่ คือ พระบรมราชา (อุ่นเมือง) อยู่ในตำแหน่งได้เพียงหกเดือนก็ถึงแก่กรรมใน พ.ศ. 2348 เจ้าอนุวงศ์ได้กราบทูลขอพระราชทานตั้งราชบุตรเมืองนครพนม (มัง) บุตรของพระบรมราชา (สุตตา) เป็นเจ้าเมืองนครพนม แทนที่จะเป็นอุปราชเมืองนครพนม (ศรีวิชัย) ซึ่งเป็นน้องของพระบรมราชา (อุ่นเมือง) ราชบุตรเมืองนครพนม (มัง) จึงได้รับการแต่งตั้งเป็นพระบรมราชา (มัง) เจ้าเมืองนครพนมคนใหม่ เมื่อเจ้าอนุวงศ์เริ่มการกบฏในพ.ศ. 2370 พระบรมราชา (มัง) เจ้าเมืองนครพนมจึงให้การสนับสนุนและเข้าร่วมกับฝ่ายเจ้าอนุวงศ์
  • สกลนคร: พระธานี (มั่ง) เจ้าเมืองสกลนคร เตรียมรับมือทัพของเจ้าอุปราช (ติสสะ) ไม่ทัน จึงยินยอมให้เจ้าอุปราชยกทัพฝ่านสกลนครแต่โดยดี ต่อมาพระยาราชสุภาวดี (สิงห์) ตัดสินว่าพระธานีเมืองสกลนครย่อหย่อนต่อการศึก จึงตัดสินให้ประหารชีวิตพระธานี (มั่ง) รวมทั้งกวาดต้อนชาวเมืองสกลนครไปอยู่ที่เมืองกบินทร์บุรีและเมืองประจันตคาม[9]
  • กาฬสินธุ์: พระยาไชยสุนทร (แพง) เจ้าเมืองกาฬสินธุ์ ไม่ยอมเข้าร่วมกับเจ้าราชวงศ์ จึงถูกเจ้าราชวงศ์ประหารชีวิตไป
  • ร้อยเอ็ด: เจ้าราชวงศ์ (ติสสะ) ต้องการประหารชีวิตพระยาขัติยวงศ์พิสุทธิธิบดี (สีลัง) เจ้าเมืองร้อยเอ็ด แต่พระยาขัติยวงศ์ฯ (สีลัง) มอบบุตรสาวทั้งสามได้แก่นางหมานุย นางตุ่ย และนางแก้ว ให้แก่เจ้าราชวงศ์ เจ้าราชวงศ์จึงไว้ชีวิตพระยาขัติยวงศ์ฯ (สีลัง)[9]
  • สุวรรณภูมิ: เจ้าราชวงศ์ต้องการประหารชีวิตพระรัตนวงศา (โอ๊ะ) เจ้าเมืองสุวรรณภูมิ แต่พระรัตนวงศา (โอ๊ะ) ได้มอบนางอ่อม บุตรสาวของเจ้าเมืองสุวรรณภูมิคนก่อนให้แก่เจ้าราชวงศ์ เจ้าราชวงศ์จึงไว้ชีวิตพระรัตนวงศา (โอ๊ะ)[9]
  • เขมราฐ: พระเทพวงศา (ก่ำ) เจ้าเมืองเขมราฐ ผู้เป็นบุตรของพระวอ ไม่ยอมเข้าร่วมกับเจ้าราชบุตร (โย้) จึงถูกเจ้าราชบุตรประหารชีวิต

การรุกรานของเจ้าอนุวงศ์[แก้]

เดือนยี่ แรม 13 ค่ำ จุลศักราช 1188[13] เจ้าอนุวงศ์ให้เจ้าราชวงศ์ (เหง้า) ยกทัพหน้ามายังเมืองนครราชสีมาก่อน โดยแจ้งแก่กรมการเมืองหัวเมืองอีสานต่างๆว่า ทางกรุงเทพได้ร้องขอให้เจ้าอนุวงศ์ยกทัพลงไปช่วยป้องกันกรุงเทพจากการโจมตีของอังกฤษ เจ้าราชวงศ์ยกทัพมาถึงนครราชสีมาในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2370 ตั้งทัพอยู่ที่ชานเมืองนครราชสีมา เจ้าราชวงศ์ให้แสนสุริยพหลไปทำทางที่ช่องเขาดงพญาไฟเพื่อใช้เป็นเส้นทางเดินทัพของเจ้าอนุวงศ์เข้าไปยังภาคกลาง และส่งเพียเมืองซ้ายไปขอเบิกข้าวจากเมืองนครราชสีมา ขณะนั้นเจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอิน) และพระยาสุริยเดช (ทองคำ) ปลัดเมือง กำลังยกทัพไปไกล่เกลี่ยข้อพิพาธที่เมืองขุขันธ์อยู่ มีพระยาพรหมยกกระบัตรเป็นผู้รักษาต่อเมืองนครราชสีมา พระยาพรหมยังไม่ทราบว่าฝ่ายเจ้าอนุวงศ์เตรียมการก่อกบฏจึงเดินทางออกไปพบกับเจ้าราชวงศ์ที่นอกเมือง สอบถามว่าเหตุใดจึงยกกำลังพลมาจำนวนมาก เจ้าราชวงศ์ตอบว่าทางกรุงเทพขอให้ช่วยยกทัพลงไปป้องกันเมืองจากอังกฤษ พระยาพรหมจึงเบิกข้าวให้แก่กองทัพของเจ้าราชวงศ์ เจ้าราชวงศ์ยกทัพต่อไปจากนครราชสีมาไปทางดงพญาไฟไปตั้งอยู่ที่ขอนขว้าง (ตำบลขอนขว้าง อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี) และให้เพียเมืองขวาและพระยาเชียงใต้ยกทัพไปยังเมืองสระบุรีก่อน เพียเมืองขวาและพระยาเชียงใต้นำตัวพระยาสุราราชวงศ์ เจ้าเมืองสระบุรีซึ่งเป็นชาว”ลาวพุงดำ” (ไทยวนล้านนา) ไปพบกับเจ้าราชวงศ์ที่ขอนขว้าง เจ้าราชวงศ์แจ้งแก่พระยาสุราราชวงศ์ว่าขณะนี้อังกฤษกำลังเข้าโจมตีกรุงเทพ พระยาสุราราชวงศ์จึงยอมเข้ากับเจ้าราชวงศ์กวาดต้อนไพร่พลราษฏรเมืองสระบุรีไป

เจ้าอนุวงศ์พร้อมกับโอรสอีกองค์คือเจ้าสุทธิสาร (โป้) ยกทัพจากเวียงจันทน์ลงมาถึงเมืองนครราชสีมาในวันแรม 6 ค่ำ เดือนสาม (กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2370) ตั้งทัพอยู่ที่ทะเลหญ้าหรือทุ่งหญ้านอกเมืองนครราชสีมาทางด้านตะวันออก มีกำลังพลทั้งสิ้น 80,000 คน[13] พระยาพรหมยกกระบัตรนครราชสีมาออกไปพบกับเจ้าอนุวงศ์ เจ้าอนุวงศ์กล่าวว่าเจ้าพระยานครราชสีมาเบียดเบียนไพร่พลได้รับความเดือนร้อนมีผู้มาร้องทุกข์ตลอด และสั่งให้พระยาพรหมกวาดต้อนผู้คนชาวเมืองนครราชสีมาทั้งหมดไปยังเมืองเวียงจันทน์ พระยาพรหมเห็นว่าสถานการณ์ไม่สู้ดีเจ้าอนุวงศ์มีกำลังมากไม่อาจสู้รบต้านทานได้จึงจำยอมทำตามคำสั่งของเจ้าอนุวงศ์ อพยพชาวเมืองนครราชสีมาทั้งหมดไปยังเวียงจันทน์รวมทั้งครอบครัวของเจ้าพระยานครราชสีมาและพระยาสุริยเดชด้วย นอกจากนี้ฝ่ายเจ้าอนุวงศ์ยังนำอาวุธปืนและดาบทั้งหมดจากนครราชสีมากลับไปด้วย เจ้าอนุวงศ์ตั้งให้พระบรมราชา (มัง) เจ้าเมืองนครพนมเป็นผู้รักษาเมืองนครราชสีมา

ฝ่ายเจ้าอุปราช (ติสสะ) ยกทัพถึงเมืองยโสธร พบกับพระสุริยภักดี (ป้อม) ซึ่งตั้งกองสักเลขอยู่ที่ยโสธร เจ้าอุปราชกล่าวแก่พระสุริยภักดีว่าตนเองไม่เต็มใจเข้าร่วมการกบฏในครั้งนี้ และออกอุบายให้พระสุริยภักดีนำจดหมายไปส่งให้แก่เจ้าอนุวงศ์ เพื่อเปิดทางให้พระสุริยภักดีสามารถเดินทางไปแจ้งข่าวให้แก่กรุงเทพได้ พระสุริยภักดีเดินทางไปพบกับเจ้าอนุวงศ์ที่นครราชสีมาและมอบจดหมายให้แก่เจ้าอนุวงศ์ เจ้าอนุวงศ์เมื่ออ่านจดหมายแล้วจึงอนุญาตให้พระสุริยภักดีเดินทางไปยังกรุงเทพ และกล่าวว่าในครั้งนี้เจ้าอนุวงศ์เองไม่ได้ตั้งใจกบฏเพียงแต่ราษฎรชาวเมืองสระบุรีและนครราชสีมาร้องทุกข์ต่อเจ้าอนุวงศ์ว่า เจ้าพระยานครราชสีมากดขี่ข่มเหงจะขอย้ายไปอยู่เวียงจันทน์ จึงยกทัพลงมาพาราษฏรเหล่านั้นไปอยู่เวียงจันทน์ แต่เจ้าอนุวงศ์ได้ขอตัวพระอนุชิตพิทักษ์ (บัว) น้องชายของเจ้าพระยาอภัยภูธร (น้อย บุณยรัตพันธุ์) สมุหนายกไว้เป็นตัวประกัน พระสุริยภักดี (ป้อม) จึงเดินทางต่อไปยังดงพญาไฟพบกับเจ้าราชวงศ์ (เหง้า) เจ้าราชวงศ์ต้องการจับกุมตัวพระสุริยภักดี แต่พระยาเชียงใต้ทัดทานว่าเจ้าอนุวงศ์มีคำสั่งให้ปล่อยตัวพระสุริยภักดีแล้ว หากจะจับซ้ำอีกจะไม่เคารพคำสั่งของเจ้าอนุวงศ์ พระสุริยภักดีจึงสามารถเดินทางไปยังกรุงเทพเพื่อแจ้งข่าวการกบฏของเจ้าอนุวงศ์ได้

เจ้าราชวงศ์ยกทัพเข้ายึดเมืองสระบุรีซึ่งมีระยะทางห่างจากกรุงเทพฯเพียงสองวันแต่กลับไม่ยกทัพมาโจมตีกรุงเทพ เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) ให้เหตุผลว่าเหตุที่เจ้าอนุวงศ์ยังไม่ยกลงมาตีกรุงเทพเลยในครั้งเดียวนั้น เนื่องจากยังไม่สามารถรวมอำนาจในหัวเมืองอีสานได้เรียบร้อย[13] หากยกลงมาโจมตีกรุงเทพอาจถูกโจมตีทางด้านหลังได้ จึงเน้นการกวาดต้อนผู้คนมากกว่า ในขณะที่เอกสารฝ่ายลาวเจ้าอนุวงศ์ไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อยึดกรุงเทพ[14]

วีรกรรมที่ทุ่งสัมฤทธิ์[แก้]

ฝ่ายเจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอิน) และพระยาสุริยเดช (ทองคำ) ซึ่งยกทัพไปไกล่เกลี่ยเหตุพิพาธที่เมืองขุขันธ์นั้น ปรากฏว่าพระยาไกรภักดี (บุญจันทร์) เจ้าเมืองขุขันธ์ยกทัพออกมาต่อสู้กับทัพเมืองนครราชสีมา ฝ่ายนครราชสีมาสามารถเอาชนะทัพเมืองขุขันธ์ได้พระยาไกรภักดีเจ้าเมืองขุขันธ์หลบหนีไปยังเมืองนางรอง เมื่อเจ้าพระยานครราชสีมาและพระยาสุริยเดชทราบข่าวการกบฏของเจ้าอนุวงศ์ และการเสียเมืองนครราชสีมาแล้ว เจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอิน) เห็นว่ากำลังพลของตนเองมีน้อยจึงตัดสินใจเดินทางหลบหนีไปยังเมืองสวายจิกที่กัมพูชา[13] ในขณะที่พระยาสุริยเดช (ทองคำ) ปลัดเมืองนครราชสีมา เห็นว่าครอบครัวของตนกำลังถูกเจ้าอนุวงศ์กวาดต้อนไปเวียงจันทน์ จึงเดินทางกลับไปหาครอบครัวของตน โดยไปพบกับชาวเมืองนครราชสีมาที่กำลังเดินทางอยู่ พระยาปลัดฯเข้าพบกับเจ้าอนุวงศ์แจ้งว่าเจ้าพระยานครราชสีมาหลบหนีไปยังกัมพูชาแล้ว ส่วนตนเองนั้นเป็นห่วงครอบครัวจึงขอติดตามเจ้าอนุวงศ์ไปยังเวียงจันทน์ด้วย เจ้าอนุวงศ์เชื่อจึงให้พระยาสุริยเดชปลัดฯกับพระยาพรหมยกกระบัตรเป็นหัวหน้าคุมชาวเมืองนครราชสีมาไปเวียงจันทน์ พื้นเวียงกล่าวว่า พระยาไกรภักดี (บุญจันทร์) เจ้าเมืองขุขันธ์คนเก่า เข้าร่วมกับฝ่ายเจ้าอนุวงศ์และอาสายกทัพไปตามจับเจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอิน) ด้วยความเจ็บแค้นในอดีต[12]

อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี ภริยาของพระยาสุริยเดช (ทองคำ) หรือพระยาปลัดฯทองคำ ผู้นำกองกำลังชาวเมืองนครราชสีมา เข้าโจมตีทัพฝ่ายลาวในวีรกรรมที่ทุ่งสัมฤทธิ์

พระยาปลัดฯและพระยาพรหมคุมชาวเมืองนครราชสีมาและเพี้ยเมืองแพนคุมกองกำลังลาวคอยเฝ้าดูชาวนครราชสีมาอยู่ พระยาทั้งสองออกอุบายให้ชาวเมืองนครราชสีมาแสร้งถ่วงเดินทางอย่างช้าๆ และเดินทางไปพบเจ้าอนุวงศ์แจ้งว่าชาวนครราชสีมาอดอยากขาดอาหารขอมีดพร้าขวานและปืนไว้ล่าสัตว์เป็นอาหารบ้าง เจ้าอนุวงศ์ยินยอมมอบอาวุธเหล่านั้นให้แก่ชาวนครราชสีมา เมื่อเดินทางถึงทุ่งสัมฤทธิ์ (ตำบลสัมฤทธิ์ อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา) ซึ่งในพื้นเวียงเรียกว่า ”ค่ายมูลเค็ง” พระยาปลัดฯ และพระยาพรหมแจ้งแก่เพี้ยเมืองแพนว่าขอตั้งพักอยู่ที่ทุ่งสัมฤทธิ์ก่อน จากนั้นในเวลากลางคืนพระยาปลัดฯและพระยาพรหมจึงนำกำลังใช้อาวุธเหล่านั้นเข้าสังหารผู้รักษาการณ์ชาวลาวไปจนหมดสิ้น และตั้งค่ายขึ้นที่ทุ่งสัมฤทธิ์ เจ้าอนุวงศ์เมื่อทราบว่าชาวเมืองนครราชสีมาลุกฮือขึ้นจึงให้เจ้าสุทธิสาร (โป้) พระโอรสยกทัพลาวจำนวน 3,000 คน[13] มาโจมตีชาวเมืองนครราชสีมาที่ทุ่งสัมฤทธิ์ พระยาปลัดฯจึงจัดทัพเข้าสู้กับฝ่ายลาว จัดผู้ชายเป็นปีกซ้ายปีกขวา พระยาปลัดฯและพระยาพรหมเป็นกองกลาง คุณหญิงโม (ท้าวสุรนารี) ภริยาของพระยาปลัดฯนำทัพผู้หญิงเป็นกองหนุน ผู้ที่ไม่มีอาวุธก็ตัดไม้มาทำเป็นหลาว นำไปสู่วีรกรรมที่ทุ่งสัมฤทธิ์ พระยาปลัดฯนำทัพเข้าสู้กับทัพของเจ้าสุทธิสารสามารถเอาชนะทัพของเจ้าสุทธิสารได้และสังหารทหารลาวไปได้ 2,000 คน เจ้าสุทธิสารแม่ทัพลาวต้องล่าถอยไป ปรากฏตำนานวีรกรรมของนางสาวบุญเหลือ ผู้แย่งดาบจากเพี้ยรามพิชัย เพี้ยรามพิชัยวิ่งตามนางสาวบุญเหลือ นางสาวบุญเหลือจึงโยนคบไฟใส่ดินระเบิดเสียชีวิตไปทั้งนางสาวบุญเหลือและเพี้ยรามพิชัย[9]

ในเวลานั้นเองเจ้าราชวงศ์ (เหง้า) ซึ่งคุมไพร่พลเชลยมาจากสระบุรีเดินทางมาพบกับเจ้าอนุวงศ์ เจ้าอนุวงศ์ปรึกษากับเจ้าราชวงศ์ว่าเมื่อไม่สามารถปราบการลุกฮือของชาวนครราชสีมาได้ ประกอบกับข่าวลือว่าทางกรุงเทพกำลังจัดเตรียมขนาดใหญ่เข้ามาโจมตีเจ้าอนุวงศ์จากหลายทิศทาง และนครราชสีมาไม่ใช่จุดตั้งรับที่ดีเนื่องจากจะถูกโจมตีจากหลายด้าน เจ้าอนุวงศ์จึงตัดสินใจปล่อยเชลยชาวเมืองนครราชสีมาและถอยทัพขึ้นทางเหนือไปอยู่ที่หนองบัวลำภู และสั่งให้เจ้าราชวงศ์ยกทัพไปตั้งรับที่เมืองหล่มสัก (อำเภอหล่มเก่า)

การรุกรานของเจ้าราชบุตร[แก้]

เจ้าราชบุตร (โย้) เจ้าเมืองจำปาศักดิ์ซึ่งเป็นโอรสของเจ้าอนุวงศ์ ยกทัพจากเมืองจำปาศักดิ์เข้าโจมตีและเกลี้ยกล่อมหัวเมืองต่างๆในอีสานใต้ พระเทพวงศา (ก่ำ) เจ้าเมืองเขมราฐ ผู้เป็นบุตรของเจ้าพระวอ ไม่ยอมเข้าร่วมการกบฏ เจ้าราชบุตร (โย้) จึงเข้ายึดเมืองเขมราฐและสังหารพระเทพวงศา (ก่ำ) ไป จากนั้นเจ้าราชบุตรจึงยกทัพต่อไปยังเมืองขุขันธ์ พระยาไกรภักดีฯ (บุญจันทร์) ซึ่งขัดแย้งกันกับเจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอิน) นั้น ได้เข้าสวามิภักดิ์ต่อเจ้าราชบุตร (โย้) แต่เจ้าราชบุตรไม่ไว้ใจพระไกรภักดีฯ จึงมีคำสั่งให้ประหารชีวิตพระยาไกรภักดีฯ (บุญจันทร์) พร้อมทั้งพระภักดีภูธรสงคราม (มานะ) ปลัดเมืองขุขันธ์ และพระแก้วมนตรี (เทศ) ยกกระบัตรเมืองขุขันธ์ ต่างถูกประหารชีวิตไปสิ้น[9] เจ้าเมืองสุรินทร์และเจ้าเมืองสังขะหลบหนีรอดไปได้ เจ้าราชบุตร (โย้) ให้กวาดต้อนชาวเขมรและชาวส่วยจากทั้งสามเมืองนั้นไปที่จำปาศักดิ์ จากนั้นเจ้าราชบุตรจึงยกทัพไปเมืองศรีสะเกษ

เจ้าอนุวงศ์ถอยไปที่ช่องเขาสาร[แก้]

หลังจากวีรกรรมที่ทุ่งสัมฤทธิ์ เจ้าอนุวงศ์ถอยทัพไปทางเมืองชัยภูมิ พระนรินทร์สงคราม (ทองคำ ลาวัณบุตร) เจ้าเมืองจัตุรัส เข้าร่วมกับเจ้าอนุวงศ์ เจ้าอนุวงศ์ส่งเจ้าสุทธิสาร (โป้) ยกทัพไปยึดเมืองชัยภูมิ เกลี้ยกล่อมพระยาภักดีชุมพล (แล) เจ้าเมืองชัยภูมิ ให้เข้าพวกกับเจ้าอนุวงศ์ แต่พระยาภักดีชุมพลไม่ยอม เจ้าอนุวงศ์ถึงให้ประหารชีวิตพระยาภักดีชุมพลที่ริมหนองปลาเฒ่า จากนั้นเจ้าอนุวงศ์จึงถอยทัพต่อไปยังเมืองภูเขียว เจ้าเมืองภูเขียวไม่ยอมเข้าร่วมด้วย เจ้าอนุวงศ์จึงยกทัพเข้าสังหารเจ้าเมืองภูเขียวและยึดเมือง ส่วนเจ้าราชวงศ์ (เหง้า) ยกทัพไปเมืองหล่มสัก พระสุริยวงศาเจ้าเมืองหล่มสักยอมเข้าด้วยแต่โดยดี เจ้าอนุวงศ์ยกทัพไปตั้งรับที่ช่องเขาสาร (ช่องเขาระหว่างจังหวัดหนองบัวลำภู และจังหวัดอุดรธานีในปัจจุบัน) และจัดทัพตั้งรับทัพฝ่ายไทย ดังนี้:

  • พระยานรินทร์สงคราม (ทองคำ) เจ้าเมืองจัตุรัสเป็นทัพหน้า คุมกำลังพลลาว 3,000 คน ตั้งที่หนองบัวลำภู
  • เจ้าอนุวงศ์ตั้งทัพบนเขาสาร ให้พระยาสุโพและพระยาชานนนำทัพ 2,000 คน ตั้งอยู่ที่ช่องเขาสาร พระยาเชียงสาตั้งอยู่สนมค่าย ให้นายกองคำตั้งอยู่ที่ช่องงัวแตก
  • เจ้าอุปราช (ติสสะ) ตั้งทัพอยู่ที่เมืองสุวรรณภูมิ

การตอบโต้ของฝ่ายไทย (มีนาคม - พฤษภาคม พ.ศ. 2370)[แก้]

การเตรียมทัพของฝ่ายไทย[แก้]

กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ องค์จอมทัพผู้นำทัพฝ่ายไทยเข้าปราบกบฏเจ้าอนุวงศ์ใน พ.ศ. 2370

พระยาไชยวิชิตฯเจ้าเมืองอยุธยากรุงเก่าฯ ทราบข่าวว่าเจ้าอนุวงศ์ยกทัพมายึดเมืองสระบุรี จึงนำความลงมากราบทูลฯ ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2370 ว่า เจ้าอนุวงศ์เป็นกบฏยกทัพมายึดเมืองนครราชสีมา และเมืองสระบุรี พร้อมกวาดต้อนครัวเรือนผู้คนชาวลาวต่างสมัครใจไปกับเจ้าอนุวงศ์ทั้งสิ้น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงมีพระราชโองการให้จัดเตรียมทัพเข้าปราบกบฏเจ้าอนุวงศ์ โดยมีการเตรียมตั้งทัพไว้ที่ทุ่งวัวลำพองไปจนตลอดถึงทุ่งบางกะปิและทางทิศเหนือของพระนครซึ่งเป็นทางที่ทัพลาวอาจยกลงมา รวมทั้งมีพระราชโองการให้กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพย์ เสด็จเป็นจอมพลยกทัพ พร้อมข้าราชการฝ่ายพระราชวังบวรฯ และเจ้าต่างกรมไปเมืองสระบุรี ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2370 เมื่อกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพย์เสด็จยกทัพถึงเมืองกรุงเก่าฯ อยุธยาแล้วนั้น พระสุริยภักดี (ป้อม) เดินทางมาถึงอยุธยา เข้าเฝ้ากรมพระราชวังบวรฯ กราบทูลฯ ความให้ทรงทราบ แล้วพระสุริยภักดีจึงเดินทางลงมายังพระนคร พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ มีพระราชโองการว่า พระสุริยภักดีเป็นผู้ที่รู้การงานที่เมืองลาวอยู่แล้ว ให้เดินทางกลับขึ้นไปตามทัพหลวงของกรมพระราชวังบวรฯ

กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพย์ ทรงตั้งค่ายทัพอยู่ที่ท่าเรือพระพุทธบาท (อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา) เมื่อกำลังไพร่พลจากกรุงเทพฯเดินทางมาถึงโดยพร้อมเพรียงแล้ว จึงมีพระราชบัณฑูรให้จัดเตรียมทัพดังนี้;

ทัพหลวงของกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพย์เสด็จยกทัพไปถึงเมืองนครราชสีมา ในครั้งนั้นเกิดโรคระบาดขึ้นในกองทัพหลวง ทำให้สูญเสียไพร่พลล้มตายไปมาก[13] ฝ่ายเจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอิน) ซึ่งหลบหนีไปยังเมืองสวายจีบนั้น ทราบว่ากรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพย์ยกทัพหลวงมาตั้งที่เมืองนครราชสีมา จึงเดินทางมาเข้าเฝ้า กรมพระราชวังบวรฯจึงมีพระราชบัณฑูรให้เจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอิน) รวบรวมผู้คนซึ่งกระจัดกระจายไปฟื้นฟูเมืองนครราชสีมาขึ้นมาอีกครั้ง นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯยังมีพระราชโองการให้แต่งทัพเข้าเพิ่มเติม ดังนี้:

ทัพของเจ้าพระยาพระคลัง ทัพของกรมหมื่นพิพิธภูเบนทร์ และทัพของกรมหมื่นพิทักษเทเวศร์ ยกไปทางคลองสำโรงไปยังเมืองปราจีนบุรี และไปสมทบกับทัพของพระยาราชสุภาวดี (สิงห์) ที่เมืองประจันคาม ทัพของพระยาราชสุภาวดียกขึ้นไปก่อนทางดงพญาไฟ จากนั้นทัพของเจ้าพระยาพระคลังจึงยกต่อมาตามลำดับ ในเวลานั้นเอง เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย) นำความเข้ามากราบทูลฯ ว่า ฝ่ายอังกฤษนำเรือจำนวนสี่ถึงห้าลำมาประจำไว้ที่เกาะปีนังหรือเกาะหมากไม่น่าไว้วางใจ[13] จึงไม่ได้เตรียมทัพเข้ามาตามพระราชกำหนด พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ จึงมีพระราชโองการให้เจ้าพระยาพระคลัง กรมหมื่นพิพิธภูเบนทร์ และกรมหมื่นพิทักษเทเวศร์ ยกทัพกลับลงมาป้องกันเมืองสมุทรปราการเพื่อเตรียมการป้องกันการรุกรานของอังกฤษที่อาจจะเกิดขึ้น ส่วนพระยาราชสุภาวดี (สิงห์) นั้นให้ยกทัพเข้าสมทบรวมกับทัพหลวงของกรมพระราชวังบวรฯไป เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ) ซึ่งยกทัพไปถึงนครราชสีมาแล้วนั้น ทราบท้องตราจึงกราบทูลฯลากรมพระราชวังบวรฯแล้วยกทัพกลับลงมาพร้อมกับกรมพิพิธภูเบนทร์และกรมหมื่นพิทักษเทเวศร์

กรมพระราชบวรมหาศักดิพลเสพย์ มีพระราชบัณฑูรให้พระยาราชสุภาวดี (สิงห์) ยกทัพจำนวน 6,000 คน ไปตีเมืองจำปาศักดิ์ ส่วนทัพหลวงจะยกทัพขึ้นไปทางเหนือเพื่อเข้าโมตีเจ้าอนุวงศ์ที่ช่องเขาสาร

พระยาราชสุภาวดีตีเมืองจำปาศักดิ์[แก้]

พระยาราชสุภาวดี (สิงห์) ยกทัพจากนครราชสีมาไปทางตะวันออก พบกับทัพของเจ้าโถงหลานของเจ้าอนุวงศ์ที่เมืองพิมาย พระราชสุภาวดีตีทัพของเจ้าโถงแตกพ่ายไปยึดเมืองพิมายได้แล้ว จึงยกทัพต่อไปตั้งที่เมืองขอนแก่น พระยาราชสุภาวดีแต่งหนังสือไปถึงเจ้าอุปราช (ติสสะ) ที่เมืองสุวรรณภูมิว่า[13] ครั้งก่อนเมื่อเจ้าอุปราช (ติสสะ) อยู่ที่กรุงเทพฯ นั้น เคยบอกความไว้ว่าเจ้าอนุวงค์จะเป็นกบฏ บัดนี้เจ้าอนุวงศ์เป็นกบฏจริงแล้ว ให้เจ้าอุปราช (ติสสะ) หันกลับมาเข้ากับฝ่ายไทย ยกทัพไปตีเมืองเวียงจันทน์ จากนั้นทัพหลวงของกรมพระราชวังบวรฯจะเสด็จยกตามขึ้นไป เจ้าอุปราช (ติสสะ) ได้รับจดหมายของพระยาราชสุภาวดีแล้ว จึงส่งจดหมายนั้นให้แก่เจ้าอนุวงศ์ที่ช่องเขาสารได้อ่าน บอกว่าเป็นอุบายของฝ่ายไทยที่ทำให้เจ้าอนุวงศ์และเจ้าอุปราชแตกร้าวต่อกัน ทำให้เจ้าอนุวงศ์เกิดความระแวงสงสัย ว่าแม่ทัพนายกองขุนนางคนใดบ้างที่เป็นไส้ศึกให้แก่ฝ่ายไทย

ฝ่ายพระยาราชสุภาวดี ส่งสาส์นให้แก่เจ้าอุปราช (ติสสะ) แล้ว เจ้าอุปราชไม่ตอบ จึงยกทัพเจ้าโจมตีค่ายเวียงคุกของเมืองยโสธร ฝ่ายเมืองยโสธรพระสุนทรราชวงษา (สีชา) เจ้าเมืองยโสธรถึงแก่กรรมไปตั้งแต่พ.ศ. 2366 ยังไม่ทันแต่งตั้งเจ้าเมืองยโสธรคนใหม่ มีอุปราช (บุตร) ซึ่งเป็นบุตรของพระสุนทรราชวงษา (ท้าวคำสิงห์) และราชวงศ์ (เสน) บุตรของพระวอ อยู่รักษาการณ์เมืองยโสธรอยู่ วงศ์เมืองยโสธรแบ่งออกเป็นสองฝ่าย คือฝ่ายอุปราช (บุตร) อยู่ฝ่ายเจ้าอนุวงศ์ ในขณะที่ท้าวฝ่ายบุตรโอรสของพระวิไชยราชสุริยวงษขัติยราช พระประเทศราชแห่งจำปาศักดิ์ (ท้าวฝ่ายหน้า) และเป็นน้องชายของท้าวคำสิงห์ เข้าสวามิภักดิ์ต่อพระยาราชสุภาวดี อุปราชเมืองยโสธร (บุตร) เข้าต่อสู้ป้องกันค่ายเวียงคุก นำไปสู่การรบที่เวียงคุก พระยาราชสุภาวดีและท้าวฝ่ายบุตรยกทัพเข้าตีค่ายเวียงคุกแตกพ่ายและเข้ายึดเมืองยโสธร พระยาราชสุภาวดีมีคำสั่งให้จับอุปราช (บุตร) แห่งเมืองยโสธรที่อยู่ฝ่ายเจ้าอนุวงศ์พร้อมครอบครัวมาจุดดินประสิวเผาคลอกไฟถึงแก่กรรม[13]

พระยาราชสุภาวดีตั้งค่ายอยู่ที่ยโสธร เจ้าราชบุตร (โย้) เจ้าเมืองจำปาศักดิ์ตั้งทัพอยู่ที่ศรีสะเกษ เมื่อทราบว่าพระยาราชสุภาวดียกมาตั้งที่ยโสธรแล้ว จึงย้ายทัพลาวใหญ่มาตั้งที่เมืองอุบล ให้อนุชาคือเจ้าปาน และเจ้าสุวรรณยกทัพลาวเข้ามาโมตีพระยาราชสุภาวดีที่ยโสธร พระยาราชสุภาวดียกทัพไปสู้กับเจ้าปานเจ้าสุวรรณ นำไปสู่การรบที่ยโสธร ทัพลาวของเจ้าปานเจ้าสุวรรณแตกพ่ายไป จากนั้นพระยาราชสุภาวดียกทัพไปโจมตีเจ้าราชบุตร (โย้) ที่เมืองอุบล เวลานั้นชาวเมืองอุบลลุกฮือขึ้นเป็นกบฏขึ้นต่อต้านเจ้าราชบุตร (โย้) และเข้าโจมตีทัพของเจ้าราชบุตร เจ้าราชบุตร (โย้) จึงต้องหลบหนีออกจากเมืองอุบลไปยังเมืองจำปาศักดิ์ เชลยศึกที่เจ้าราชบุตรเคยกวาดต้อนไปไว้ที่เมืองจำปาศักดิ์ก็ได้ลุกฮือขึ้นเผาเมืองจำปาศักดิ์ ทำให้เจ้าราชบุตร (โย้) ไม่สามารถเข้าเมืองจำปาศักดิ์ได้ จึงหลบหนีข้ามไปยังฝั่งตะวันออกของแม่น้ำโขงโดยมีผู้ติดตามเพียง 30-40 คน พระยาราชสุภาวดีเข้ายึดเมืองจำปาศักดิ์ได้โดยปราศจากการต่อต้าน พระยาราชสุภาวดีให้คนไปตามจับเจ้าราชบุตร (โย้) พร้อมทั้งเจ้าปานและเจ้าสุวรรณผู้เป็นอนุชามาได้

การรบที่หนองบัวลำภู ช่องเขาสาร และส้มป่อย[แก้]

หอพระแก้วในเวียงจันทน์ เดิมเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร

เจ้าอนุวงศ์ตั้งค่ายที่ช่องเขาสารเพื่อเตรียมการรับทัพของฝ่ายไทย เจ้าอนุวงศ์ตั้งค่ายใหญ่อยู่บนเขาสาร ให้พระยาสุโพและพระยาชานนตั้งค่ายที่ช่องเขาสารมีกำลัง 20,000 คน ให้พระยานรินทรสงคราม (ทองคำ) ตั้งค่ายอยู่ที่หนองบัวลำภู 3,000 คน

ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2370 กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพย์ มีพระราชบัณฑูรให้พระยาจ่าแสนยากร พระยากลาโหมราชเสนา พระยาพิไชยบุรินทรา เจ้าพระยามหาโยธา (ทอเรียะ) และพระองค์เจ้าขุนเณร ยกทัพจำนวน 8,400 คนเป็นทัพหน้ายกขึ้นไปโจมตีพระยานรินทร์สงคราม (ทองคำ) ที่หนองบัวลำภูก่อน นำไปสู่การรบที่หนองบัวลำภู ทัพหน้าตีค่ายของพระยานรินทร์สงครามแตกพ่าย จับตัวพระยานรินทร์สงครามส่งกลับมาถวายกรมพระราชวังบวรฯ กรมพระราชวังบวรฯตรัสถามพระยานรินทร์สงครามว่าจะให้สวามิภักดิ์ต่อฝ่ายไทยพระยานรินทร์สงครามจะยอมหรือไม่ พระยานรินทร์สงครามไม่ยอม กรมพระราชวังบวรฯจึงมีพระราชบัณฑูรให้นำตัวพระยานรินทรสงครามไปประหารชีวิตด้วยการให้ช้างแทงเสีย[13]

เจ้าพระยาอภัยภูธร (น้อย) สมุหนายก ยกทัพขึ้นเหนือไปทางเพชรบูรณ์ พระยาเพชรพิไชย (เกศ) และพระยาไกรโกษยกทัพไปทางพิษณุโลกนครไทย เข้าโจมตีทัพของเจ้าราชวงศ์ (เหง้า) ที่เมืองหล่มสักสองข้างกระหนาบพร้อมกัน ทำให้ทัพของเจ้าราชวงศ์ (เหง้า) แตกพ่ายไป เจ้าราชวงศ์และพระสุริยวงศาเจ้าเมืองหล่มสักหลบหนีจากเมืองหลบสักไปหาเจ้าอนุวงศ์ที่ช่องเขาสาร เจ้าอนุวงศ์ที่ช่องเขาสารเมื่อทราบว่าทัพของพระยานรินทร์สงคราม (ทองคำ) ที่หนองบัวลำภู แลทัพของเจ้าราชวงศ์ (เหง้า) ที่หล่มสัก ล้วนแตกพ่ายถูกฝ่ายไทยยึดไปหมดแล้ว จึงตัดสินใจเดินทางกลับไปยังเมืองเวียงจันทน์ โดยสั่งพระยาสุโพและพระยาชานนให้คอยรักษาช่องเขาสารไว้

เจ้าอนุวงศ์และเจ้าราชวงศ์ (เหง้า) เดินทางถึงเมืองเวียงจันทน์ มีคำสั่งให้ประหารชีวิตพระอนุชิตพิทักษ์ (บัว) น้องชายของเจ้าพระยาอภัยภูธรซึ่งจับกุมไว้เป็นตัวประกันเสีย เจ้าอนุวงศ์ เจ้าราชวงศ์ (เหง้า) เจ้าสุทธิสาร (โป้) พร้อมทั้งพระราชวงศ์เวียงจันทน์ เดินทางออกจากเวียงจันทน์ไปตามแม่น้ำโขงไปยังเมืองนครพนม เดินทางขึ้นบกไปทางเมืองมหาไชยกองแก้ว (Mahaxay) และเดินบกขึ้นเหนือไปยังจังหวัดเหงะอาน หรือเมืองแง่อาน หรือเมืองล่าน้ำ พระบรมราชา (มัง) เจ้าเมืองนครพนม และพระพรหมอาสา (จุลนี) เจ้าเมืองมหาชัยกองแก้ว ติดตามสมทบเจ้าอนุวงศ์ไปเมืองญวนด้วยกัน

การรบที่ช่องเขาสารและส้มป่อย[แก้]

ทัพหน้าของทัพหลวงหลังจากที่เอาชนะทัพลาวได้ที่หนองบัวลำภูแล้ว จึงเดินทัพต่อไปทางบ้านสามหมอไปตั้งที่บ้านส้มป่อย (ตำบลนาด่าน อำเภอสุวรรณคูหา จังหวัดหนองบัวลำภู) กรมพระราชวังบวรฯเสด็จมาตั้งทัพหลวงที่น้ำเชิน ฝ่ายพระยาสุโพ พระยาชานน และพระยาเชียงสา แม่ทัพฝ่ายลาวซึ่งรักษาช่องเขาสารอยู่นั้น เมื่อทราบข่าวว่าฝ่ายไทยมาตั้งทัพอยู่ที่ส้มป่อย จึงยกทัพมาเข้าล้อมทัพไทยที่ส้มป่อยอย่างไม่ทันตั้งตัว นำไปสู่การรบที่ส้มป่อย ฝ่ายทัพไทยนำโดยพระยาจ่าแสนยากร พระยากลาโหมราชเสนา และเจ้าพระยามหาโยธา (ทอเรียะ) เห็นว่าฝ่ายลาวมีกองกำลังจำนวนมาก ไม่ออกสู้รักษาค่ายไว้ก่อน ทัพลาวล้อมทัพไทยอยู่นานเจ็ดวันที่ส้มป่อย ฝ่ายไทยเริ่มขาดเสบียงอาหาร ทัพของกรมหมื่นนเรศร์โยธียกทัพไปถึงส้มป่อยจึงยกทัพเข้าโจมตีทัพลาวเพื่อช่วยทัพหน้า แต่ฝ่ายลาวก็ล้อมทัพของกรมหมื่นนเรศร์โยธีไว้เช่นกัน จนกระทั่งทัพของกรมหมื่นเสนีบริรักษ์ยกตามหลังมาถึงจึงเข้าโจมตีทัพลาวเพื่อช่วยทัพของกรมหมื่นนเรศร์โยธีออกมาจากที่ล้อม พระยาจ่าแสนยากร พระยากลาโหมราชเสนา และเจ้าพระยามหาโยธา เมื่อได้ยินเสียงปืนด้านนอกเข้าใจว่ายไทยยกทัพมาช่วยแล้ว จึงโจมตีทัพลาวฝ่าวงล้อมออกมาได้สำเร็จในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2370 ทัพลาวแตกพ่ายไปถอยจากช่องเขาสารกลับไปยังเมืองเวียงจันทน์

ยึดเมืองเวียงจันทน์[แก้]

เมื่อฝ่ายไทยสามารถเอาชนะทัพลาวได้ในการรบที่ส้มป่อยแล้วนั้น จึงยกทัพข้ามช่องเขาสารไปตั้งที่เมืองพานพร้าว (ตำบลพานพร้าว อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย) ฝั่งตรงข้ามแม่น้ำโขงจากเมืองเวียงจันทน์ กรมหมื่นนเรศร์โยธีและกรมหมื่นเสนีบริรักษ์เสด็จยกทัพข้ามแม่น้ำโขงเข้าเมืองเวียงจันทน์ สามารถยึดเมืองเวียงจันทน์ได้แต่เจ้าอนุวงศ์ได้หลบหนีไปแล้ว กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพย์ยกทัพหลวงมาตั้งที่เมืองพานพร้าว มีพระราชบัณฑูรให้รื้อกำแพงอิฐเมืองเวียงจันทน์ลงและเผาเมืองเวียงจันทน์[13] รวมทั้งตัดต้นไม้ที่มีผล ทัพของหัวเมืองล้านนาและหลวงพระบางจำนวน 20,000 คน ยกทัพมาถึงเมืองพานพร้าวในเวลาเดียวกัน รวมทั้งเจ้าพระยาอภัยภูธร (น้อย) พระยาเพชรพิไชย (เกศ) และพระยาไกรโกษายกทัพจากหล่มสักมาติดตามทัพหลวงถึงเมืองพานพร้าวเช่นกัน

ฝ่ายเจ้าอุปราช (ติสสะ) ที่เมืองสุวรรณภูมิเมื่อพระยาราชสุภาวดี (สิงห์) ยึดเมืองจำปาศักดิ์ได้แล้ว จึงถอยทัพมาตั้งที่เมืองหนองหาร และเมื่อทราบข่าวว่าเจ้าอนุวงศ์พ่ายแพ้หลบหนีไปแล้วและทัพหลวงมาตั้งที่เมืองพานพร้าว จึงเดินทางมายังเมืองพานพร้าวเข้าเฝ้ากรมพระราชวังบวรฯขอสวามิภักดิ์ต่อฝ่ายไทย กราบทูลว่าตนเองนั้นไม่เห็นด้วยกับการกบฏของเจ้าอนุวงศ์แต่จำใจยอมทำตามคำสั่งของเจ้าอนุวงศ์เพื่อรักษาชีวิต โดยมีพระสุริยภักดี (ป้อม) เป็นพยานอยู่แล้ว กรมพระราชวังบวรฯจึงมีพระราชบัณฑูรให้เจ้าอุปราช (ติสสะ) ถือน้ำพิพัฒนสัตยาและไปรวบรวมราษฏรชาวลาวกลับมาตั้งขึ้นเป็นบ้านเมืองดังเดิม

ฝ่ายพระยาเชียงสาแม่ทัพลาว หลังจากที่พ่ายแพ้ให้แก่ทัพไทยที่ส้มป่อยแล้ว หลบหนีไปตั้งทัพที่โพนเชียงหวังคอยสู้กับฝ่ายไทยอยู่ กรมพระราชวังบวรฯมีพระราชบัณฑูรให้พระยาไกรโกษายกทัพจากพานพร้าวไปปราบพระยาเชียงสาที่โพนเชียงหวัง ปรากฏว่าพระยาไกรโกษาถูกพระยาเชียงสาตีแตกทัพพ่ายกลับมา กรมพระราชวังบวรฯทรงพระพิโรธมีพระราชบัณฑูรจะให้ประหารชีวิตพระยาไกรโกษา แต่ทรงเห็นว่าเป็นข้าหลวงเดิมจึงลดโทษเหลือปลดออกจากตำแหน่ง จากนั้นกรมพระราชวังบวรฯจึงมีพระราชบัณฑูรให้พระยาเพชรพิไชย (เกศ) และพระยาเกษตรรักษายกทัพจากพานพร้าวไปตีทัพของพระยาเชียงสาที่โพนเชียงหวังอีกครั้ง นายกองคำแม่ทัพลาวนำทัพเข้าตีด้านหลังของทัพพระยาเพชรพิไชย แต่พระยาเพชรพิไชยสามารถเอาชนะทัพลาวได้นายกองคำถูกปืนเสียชีวิตในที่รบ พระยาเชียงสายกทัพหลบหนีจากโพนเชียงหวังไปตามแม่น้ำโขง พระยาเพชรพิไชยยกทัพติดตาม ไปพบกับพระยาเชียงสาอีกครั้งที่ห้วยหลวง  พระยาเพชรพิไชยเอาชนะพระยาเชียงสาได้อีกครั้ง พระยาเชียงสาจึงหลบหนีไปพบกับพระยาราชสุภาวดี (สิงห์) ที่เมืองยโสธร ขอเข้าสวามิภักด์ต่อฝ่ายไทย เมื่อพระยาเพชรพิไชยทราบว่าพระยาเชียงสาได้สวามิภักด์ต่อฝ่ายไทยแล้วจึงยกทัพกลับ

ในเวลานั้นเกิดโรคระบาดไข้ป่วงขึ้นในกองทัพฝ่ายไทยที่เมืองพานพร้าว เจ้าพระยาอภัยภูธร (น้อย) สมุหนายกซึ่งตั้งทัพอยู่ที่พานพร้าวล้มป่วยถึงแก่อสัญกรรม กรมพระราชวังมหาศักดิพลเสพย์เสด็จยกทัพหลวงจากเมืองพานพร้าวกลับมายังกรุงเทพฯในเดือนกรกฎาคมพ.ศ. 2370 กราบทูลข้อราชการและผู้มีความดีความชอบในการปราบกบฏเจ้าอนุวงศ์ในครั้งนี้ คุณหญิงโม ภริยาของพระยาสุริยเดช (ทองคำ) เมืองนครราชสีมา ได้รับการแต่งตั้งเป็น"ท้าวสุรนารี" เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2370 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯจึงมีพระราชโองการ ให้เลื่อนพระยาราชสุภาวดี (สิงห์) ขึ้นเป็นเจ้าพระยาราชสุภาวดีว่าที่สมุหนายก แทนที่เจ้าพระยาอภัยภูธร (น้อย) ที่ถึงแก่อสัญกรรมไป และเลื่อนพระสุริยภักดี (ป้อม) ขึ้นเป็นพระราชวรินทร์

เจ้าพระยาราชสุภาวดี (สิงห์) จัดการบ้านเมืองลาวเป็นเวลาประมาณแปดเดีอน เรียบร้อยรวบรวมผู้คนตั้งบ้านเมืองแล้ว จึงค้นหาพระบางจนพบ และเดินทางกลับมายังกรุงเทพฯพร้อมกับเจ้าอุปราช (ติสสะ) และพระพุทธรูปพระบางในเดือนกุมภาพันธ์พ.ศ. 2371 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯมีพระราชดำรัสแก่เจ้าพระยาราชสุภาวดีว่า “ตัวอ้ายอนุก็ยังจับไม่ได้ จะกลับมาตั้งบ้านเมืองอีกประการใดก็ยังไม่แจ้ง เมืองเวียงจันทน์นี้เป็นกบฏมาสองครั้งแล้ว ไม่ควรจะเอาไว้เป็นบ้านเมืองให้อยู่สืบไป ให้กลับไปทำลายล้างเสียให้สิ้น อย่าให้ตั้งติดอยู่ได้[13] พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯทรงให้เจ้าพระยาราชสุภาวดี (สิงห์) ว่าที่สมุหนายกไปก่อน ยังไม่ทรงแต่งตั้งให้เป็นสมุหนายกอย่างเป็นทางการ[13] และมีพระราชโองการให้เจ้าพระยาราชสุภาวดีอัญเชิญพระบางไปประดิษฐานไว้ที่วัดจักรวรรดิราชาวาส สร้างพระวิหารไว้ให้เป็นที่ประดิษฐานพระบาง ส่วนเจ้าอุปราช (ติสสะ) โปรดฯให้ไปพำนักอยู่ที่บ้านเจ้าอนุวงศ์เดิมที่บางยี่ขัน ทางเมืองยโสธรเจ้าฝ่ายหน้าผู้มีความชอบในการช่วยเหลือเจ้าพระยาราชสุภาวดีในการรบที่เวียงคุกได้รับการแต่งตั้งเป็นพระสุนทรราชวงศาเจ้าเมืองยโสธรคนใหม่ และท้าวสุวอธรรมา (บุญมา) ได้เป็นอุปราชเมืองยโสธร

เจ้าอนุวงศ์ลี้ภัยที่เวียดนาม[แก้]

ซากวัตถุโบราณพระพุทธรูปจากเวียงจันทน์ จากการถูกรุกราน

เจ้าอนุวงศ์ พร้อมทั้งพระโอรสคือเจ้าราชวงศ์ (เหง้า) เจ้าสุทธิสาร (โป้) พร้อมทั้งพระราชวงศ์เวียงจันทน์และข้าราชบริพารจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 500 คน[13] อพยพหลบหนีจากเมืองเวียงจันทน์ในเดือนมีนาคมพ.ศ. 2570 ล่องไปตามแม่น้ำโขงจนถึงเมืองนครพนม เจ้าเมืองนครพนมคือ พระบรมราชา (มัง) ติดตามขบวนของเจ้าอนุวงศ์เดินบกไปทางเมืองมหาชัยกองแก้ว ขึ้นไปทางเหนือจนถึงเมืองพวนแคว้นเชียงขวาง และเดินทางต่อไปจนถึงจังหวัดเหงะอานของเวียดนามราชวงศ์เหงียนในเดือนพฤษภาคมพ.ศ. 2570 เจ้าอนุวงศ์และคณะผู้ลี้ภัยพำนักอาศัยอยู่ที่เมืองกวี่เหิป (Quỳ Hợp, 葵合)[14] ในแคว้นเหงะอาน พระเจ้ามิญหมั่งแห่งเวียดนามมีพระราชโองการให้ฟานวันทวี้ (Phan Văn Thúy, 潘文璻) เป็นแม่ทัพยกทัพญวนไปประจำการที่ชายแดนแคว้นเหงะอาน เพื่อคอยระวังไม่ให้ทัพฝ่ายไทยยกล่วงล้ำตามเจ้าอนุวงศ์เข้ามาในเขตแดนของเวียดนาม เจ้าอนุวงศ์ส่งพระโอรสเจ้าราชวงศ์ (เหง้า) และพระบรมราชา (มัง) เจ้าเมืองนครพนม นำคณะทูตไปเข้าเฝ้าพระเจ้ามิญหมั่งที่เมืองเว้ พระพรหมอาสา (จุลนี) เจ้าเมืองมหาชัยถึงแก่กรรมที่เมืองญวน ขุนนาง องต๋ากุน (Ông Tả Quân, 翁左軍) หรือเลวันเสวียต (Lê Văn Duyệt, 黎文悅) และฮว่างกิมฮว่าน (Hoang Kim Hoan)[14] ทูลเสนอพระเจ้ามิญหมั่งให้เปิดศึกสงครามกับสยามโดยตรงเพื่อช่วยเจ้าอนุวงศ์ให้กลับไปครองอาณาจักรเวียงจันทน์ดังเดิม แต่พระเจ้ามิญหมั่งทรงไม่เห็นชอบด้วย พระเจ้ามิญหมั่งมีพระประสงค์ที่จะรักษาเสถียรภาพ[14] ที่ชายแดนลาวญวนทางเมืองเหงะอาน

หลังจากที่เจ้าอนุวงศ์และพระราชวงศ์ลาวประทับอยู่ที่เมืองกวี่เฮิปอยู่เป็นเวลาประมาณหนึ่งปีกับสองเดือน พระเจ้ามิญหมั่งทรงตัดสินพระทัยที่จะส่งเจ้าอนุวงศ์คืนให้แก่ฝ่ายไทยเพื่อเปิดการเจรจา[14][13] ในเดือนกรกฎาคมพ.ศ. 2371 พระเจ้ามิญหมั่งมีพระราชโองการให้ฟานวันทวี้นำตัวเจ้าอนุวงศ์พร้อมทั้งพระราชวงศ์เวียงจันทน์ไปส่งที่ชายแดนลาวญวนเมืองเหงะอาน เมื่อฟานวันทวี้นำเจ้าอนุวงศ์และคณะไปส่งถึงชายแดนแล้ว เจ้าอนุวงศ์ร้องขอให้ฟานวันทวี้จัดกองกำลังไปส่งเจ้าอนุวงศ์ถึงเมืองเวียงจันทน์ ฟานวันทวี้จึงมีคำสั่งให้เหงียนจ่งท้าย (Nguyễn Trong Thai)[14] แบ่งกองกำลังญวนคุ้มครองเจ้าอนุวงศ์และคณะไปส่งถึงเมืองเวียงจันทน์

การกบฏในช่วงหลัง (กรกฎาคม - ธันวาคม พ.ศ. 2371)[แก้]

เจ้าอนุวงศ์ยึดเมืองเวียงจันทน์อีกครั้ง[แก้]

ทิวทัศน์บ้านเมืองของวัดพระธาตุหลวง

ในขณะนั้นเมืองเวียงจันทน์พระยาพิไชยสงครามขุนนางฝ่ายไทยเป็นผู้รักษาการณ์อยู่ ส่วนเจ้าพระยาราชสุภาวดี (สิงห์) กำลังเดินทัพถึงเมืองพานพร้าว เจ้าราชวงศ์ (เหง้า) ส่งข้อความมาถึงเมืองจันและเมืองซ้ายขุนนางลาวที่เมืองเวียงจันทน์ว่า ญวนได้พาเจ้าอนุวงศ์เจ้าราชวงศ์พร้อมทั้งพระราชวงศ์ลาวและข้าราชบริพารชาวลาวจำนวนทั้งสิ้น 1,000 คน[13] กลับมายังเมืองเวียงจันทน์ เมืองจันและเมืองซ้ายจึงนำความมาแจ้งแก่พระยาพิไชยสงคราม พระยาพิไชยสงครามจึงนำความแจ้งแก่เจ้าพระยาราชสุภาวดี เจ้าพระยาราชสุภาวดีทราบความว่าญวนกำลังนำตัวเจ้าอนุวงศ์กลับมาเวียงจันทน์ จึงรีบเดินทางไปถึงเมืองพานพร้าว

เหงียนจ่งท้ายนำกองกำลังญวน 80 คน นำเจ้าอนุวงศ์และคณะชาวลาวมาถึงเมืองเวียงจันทน์ในเดือนกรกฎาคมพ.ศ. 2371 เหงียนจ่งท้ายกล่าวผ่านล่ามแก่พระยาพิไชยสงครามว่า “อนุทำความผิดหนีไปหาญวน ญวนเหมือนมารดา กรุงเทพมหานครเหมือนบิดา บิดาโกรธบุตรแล้ว มารดาต้องพามาขอโทษ ท่านแม่ทัพมาถึงแล้ว อนุราชวงศ์จะมาหาท่านแม่ทัพให้พาลงไปกรุง แล้วพระเจ้าเวียดนามได้มีพระราชสาสน์ไปขอโทษอนุทางเรือ อนุเคยขึ้นแก่กรุงไทยอย่างไร ญวนก็ไม่ขัดขวาง[13] เจ้าอนุวงศ์พูดคุยกับพระยาพิไชยสงคราม แล้วนำของต่างๆเช่นข้าวสาร หมากพลู และหม้อทองเหลือง มาแจกจ่ายให้แก่ข้าราชการไทยในเวียงจันทน์เป็นอันมาก อยู่ต่อมาวันรุ่งขึ้น เจ้าพระยาราชสุภาวดี (สิงห์) ยกทัพมาถึงเมืองพานพร้าวตรงข้ามเมืองเวียงจันทน์ทางแม่น้ำโขง เจ้าอนุวงศ์นำกองกำลังลาวเข้าล้อมฝ่ายไทยในเมืองเวียงจันทน์อย่างไม่ทันตั้งตัว สังหารพระยาพิไชยสงครามและข้าราชการฝ่ายไทยไปจำนวนมาก บรรดาชาวไทยวิ่งมาที่ริมแม่น้ำเตรียมจะขึ้นเรือหนีข้ามฝั่งโขงมายังพานพร้าว แต่ฝ่ายลาวได้เก็บเรือไปหมดสิ้น ชาวไทยจึงว่ายน้ำข้ามแม่น้ำโขงมา ฝ่ายลาวติดตามมาฆ่าฟันชาวไทยในแม่น้ำโขงเสียชีวิตไปจำนวนมาก เหลือชาวไทยเพียง 40-50 คนเท่านั้นที่สามารถรอดข้ามฝั่งโขงมาถึงเมืองพานพร้าวได้

ฝ่ายเจ้าพระยาราชสุภาวดี (สิงห์) เห็นการรบราฆ่าฟันเกิดขึ้นที่หาดทรายหน้าเมืองเวียงจันทน์ เข้าใจว่าเจ้าอนุวงศ์ได้ยึดเมืองเวียงจันทน์ได้เรียบร้อยแล้ว จะยกทัพข้ามไปช่วยยังไม่มีความพร้อมกำลังคนไม่เพียงพอ หมื่นรักษานาเวศซึ่งว่ายน้ำข้ามโขงรอดชีวิตมาได้ นำความมาแจ้งแก่เจ้าพระยาราชสุภาวดี เจ้าพระยาราชสุภาวดีเห็นว่าที่ตั้งเมืองพานพร้าวไม่ปลอดภัยเนื่องจากสถานการณ์แย่ลง ควรจะถอยทัพลงไปแต่ถ้าถอยไปถึงนครราชสีมาก็จะไกลเกินไป พระยาเชียงสาเสนอว่าให้ถอยทัพไปอยู่ที่เมืองยโสธรก่อน เจ้าพระยาราชสุภาวดีเห็นด้วยจึงถอยทัพลงไปทางใต้ ฝ่ายญวนเหงียนจ่งท้ายเห็นว่าเจ้าอนุวงศ์ลุกฮือขึ้นยึดอำนาจคืนจากฝ่ายไทย ผิดพระราชโองการของพระเจ้ามิญหมั่งที่ให้เจ้าอนุวงศ์มาเจรจากับฝ่ายไทย จึงนำกำลังญวนออกจากเวียงจันทน์กลับไปยังเมืองเหงะอานนำความทูลพระเจ้ามิญหมั่งให้ทรงทราบ

ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2371 ราชทูตของพระเจ้ามิญหมั่งเดินทางมาถึงกรุงเทพฯ ถวายสาส์นของพระเจ้ามิญหมั่ง ใจความว่าเจ้าอนุวงศ์หนีกองทัพไทยไปอยู่เมืองเหงะอานของญวน เจ้าอนุวงศ์ไม่ทราบว่าตนเองกระทำความผิดอันใดทัพไทย พระเจ้าเวีดยนามมีความสงสารเจ้าอนุวงศ์จึงให้พำนักอาศัยอยู่เมืองเหงะอานหนึ่งปี แล้วแต่งไพร่พลคุมเจ้าอนุวงศ์มาส่งคืนให้แก่ไทย พระเจ้าเวียดนามทรงย้ำแก่เจ้าอนุวงศ์ให้จงรักภักดีต่อฝ่ายไทย และแต่งสาส์นเข้ามากรุงเทพเพื่อขอโทษแทนเจ้าอนุวงศ์ เพื่อให้อาณาจักรเวียงจันทน์เป็นขันธสีมาของทั้งสยามและเวียดนามต่อไป นอกจากนี้"องเลโบ" (Ông Lễ bộ, 翁禮部) เจ้ากรมพิธีการของเวียดนาม แต่งหนังสือผ่านทางเขมรมาถึงเจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ) กล่าวโทษกองทัพฝ่ายไทยที่เมืองเวียงจันทน์ว่าไม่ยอมให้ข้าวให้อาหารแก่เจ้าอนุวงศ์ เจ้าอนุวงศ์จึงลุกฮือขึ้นขับไล่ฝ่ายไทยออกไปจากเวียงจันทน์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯทรงพระประสงค์จะพระราชทานพระราชสาส์นตอบพระเจ้ามิญหมั่งฝากทูตญวนไป แต่ทูตญวนไม่รับแจ้งว่าตามธรรมเนียมญวนฝ่ายไทยต้องตั้งคณะทูตไปถวายสาส์นที่เมืองเว้เอง เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ) จึงฝากจดหมายของตนไปถึงองเลโบ ชี้แจงว่าเจ้าอนุวงศ์ลุกฮือขึ้นสังหารพระยาพิไชยสงครามและข้าราชการไทยที่เมืองเวียงจันทน์ ทูตญวนออกจากกรุงเทพฯไปในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2371

การรบที่บกหวาน[แก้]

เมื่อเจ้าพระยาราชสุภาวดี (สิงห์) ถอยทัพจากเมืองพานพร้าวลงทางใต้ไปยังเมืองยโสธรแล้ว เจ้าอนุวงศ์จึงมีคำสั่งให้เจ้าราชวงศ์ (เหง้า) พระโอรสยกทัพลาวจากเมืองเวียงจันทน์ติดตามเจ้าพระยาราชสุภาวดีลงไป ทัพของเจ้าพระยาราชสุภาวดีไม่สามารถเคลื่อนที่ลงทางใต้ได้ทันเวลา เจ้าพระยาราชสุภาวดีและท้าวสุวอธรรมา (บุญมา) อุปราชเมืองยโสธร จึงตัดสินใจตั้งรับทัพลาวของเจ้าราชวงศ์ (เหง้า) ที่บกหวาน (ตำบลบกหวาน อำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย) นำไปสู่การรบที่บกหวาน ในวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2371[13] ทัพฝ่ายไทยและฝ่ายลาวเข้าสู้กัน เจ้าพระยาราชสุภาวดีและเจ้าราชวงศ์ (เหง้า) ต่อสู้กันตัวต่อตัว เจ้าราชวงศ์ใช้หอกแทงเจ้าพระยาราชสุภาวดีเป็นแผลถลอกตั้งแต่อกลงไปจนถึงท้องน้อยแต่ไม่เข้าตัว เจ้าพระยาสุภาวดีตกจากม้าล้มลง เจ้าราชวงศ์จะใช้ดาบฟันเจ้าพระยาราชสุภาวดี หลวงพิพิธน้องชายของเจ้าพระยาราชสุภาวดีออกรับแทน เจ้าราชวงศ์ฟันหลวงพิพิธเสียชีวิต เจ้าพระยาราชสุภาวดีได้โอกาสจึงใช้มีดแทงเข้าที่ต้นขาของเจ้าราชวงศ์ ในเวลานั้นเองท้าวสุวอธรรมา (บุญมา) นำทัพฝ่ายไทยมาช่วยเจ้าพระยาราชสุภาวดีได้ทันเวลา ฝ่ายไทยยิงปืนถูกเข่าของเจ้าราชวงศ์ล้มลง บรรดาบ่าวของเจ้าราชวงศ์ (เหง้า) จึงยกเจ้าราชวงศ์ขึ้นแคร่ หามออกจากสนามรบไป ฝ่ายเจ้าพระยาราชสุภาวดีหลังจากนั้นจึงเปลี่ยนเสื้อใหม่และขึ้นแคร่ติดตามเจ้าราชวงศ์ (เหง้า) ไปแต่ไม่ทันไม่พบตัว เจ้าราชวงศ์ซึ่งได้รับบาดเจ็บหลบหนีกลับไปยังเวียงจันทน์

ติดตามเจ้าอนุวงศ์[แก้]

ทัพฝ่ายลาวพ่ายแพ้ในการรบที่บกหวาน แตกพ่ายถอยกลับไปยังเมืองเวียงจันทน์ เจ้าพระยาราชสุภาวดี (สิงห์) และท้าวสุวอธรรมา (บุญมา) ยกทัพฝ่ายไทยกลับขึ้นไปที่เวียงจันทน์ ฝ่ายเจ้าอนุวงศ์เมื่อทราบว่าทัพฝ่ายลาวพ่ายแพ้ที่บกหวานแล้ว จึงปรึกษากับเจ้าราชวงศ์ (เหง้า) และเจ้าสุทธิสาร (โป้) ตัดสินใจเดินทางหลบหนีออกจากเวียงจันทน์อีกครั้งในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2371 ไปพึ่งญวนเวียดนาม เจ้าอนุวงศ์และเจ้าราชวงศ์เดินทางออกจากเวียงจันทน์ไปก่อน เจ้าราชวงศ์ (เหง้า) เนื่องจากได้รับบาดเจ็บเดินทางทางบกไม่ไหว จึงหลบหนีจากท่าข้ามช้างไปทางแม่น้ำโขงขึ้นบกที่เมืองมหาชัยกองแก้ว[13] เจ้าสุทธิสารไม่ทราบจึงเดินทางติดตามไปวันรุ่งขึ้น ขาดแคลนช้างจึงต้องเดินเท้า เจ้าพระยาราชสุภาวดียกทัพมาถึงพานพร้าว แต่งคน 600 คนยกข้ามแม้น้ำโขงไปยึดเมืองเวียงจันทน์ พบว่าเจ้าอนุวงศ์เจ้าสุทธิสารและพระราชวงศ์เวียงจันทน์ไปอพยพหนีออกจากเวียงจันทน์ไปแล้วหนึ่งวันก่อนหน้านี้ เจ้าพระยาราชสุภาวดีมีคำสั่งให้คนออกติดตามจับกุมเจ้าอนุวงศ์ สามารถจับเจ้าสุทธิสาร (โป้) พร้อมทั้งพระราชวงศ์เวียงจันทน์ส่วนหนึ่งมาได้และส่งให้แก่เจ้าพระยาราชสุภาวดีที่พานพร้าว ได้ความว่าเจ้าอนุวงศ์กำลังเดินทางไปเมืองพวน เจ้าพระยาราชสุภาวดีมีคำสั่งให้ทำลายเมืองเวียงจันทน์ลงอย่างราบคาบ เหลือไว้เพียงวัดวาอารามเท่านั้น และกวาดต้อนชาวลาวเวียงจันทน์ทั้งหมดมาไว้ที่พานพร้าว เจ้าพระยาราชสุภาวดีส่งตัวเจ้าสุทธิสาร (โป้) ลงมาที่กรุงเทพฯ ฝ่ายเจ้าอนุวงศ์เดินทางไปยังเมืองเหวะอานผ่านทางเมืองพวน โดยพำนักอยู่ที่น้ำไฮเชิงเขาไก่มีผู้ติดตามอารักขา 50 คน[13]

ฝ่ายเวียดนามพระเจ้ามิญหมั่งเมื่อทรงทราบว่าเจ้าอนุวงศ์ลุกฮือขึ้นต่อฝ่ายไทยอีก ไม่ได้เข้าสวามิภักดิ์ต่อฝ่ายไทยตามพระราชโองการ จึงมีพระราชโองการให้ฟานวันทวี้เจ้าเมืองเหงะอานส่งสาส์นมาถึงเจ้าพระยาราชสุภาวดีและเจ้าอนุวงศ์ ให้สงบศึกแล้วต่อกัน ฟานวันทวี้เจ้าเมืองล่าน้ำจัดให้กายโดยทุง (Cai đội Thống, 該隊統) หรือฟานหวั่นถง (Phan Văn Thống, 潘文統) และเลดินยุต (Lê Đình Duật, 黎廷遹) เป็นทูตญวนเดินทางนำสาส์นมามอบให้แก่เจ้าพระยาราชสุภาวดี คณะทูตญวนเดินทางมาถึงเมืองมหาชัยกองแก้ว จากนั้นเข้าพบกับฝ่ายไทยที่เมืองนครพนม ที่เมืองนครพนมมีพระวิชิตสงครามรักษาการณ์อยู่ พระวิชิตสงครามส่งหนังสือทูตญวนมามอบแก่เจ้าพระยาราชสุภาวดี เจ้าพระยาราชสุภาวดีมีคำสั่งว่า ครั้งก่อนเพื่อหลงเชื่อฝ่ายญวน ฝ่ายไทยจึงเพลี่ยงพล้ำพระยาพิไชยสงครามถูกสังหาร ครั้งนี้อย่าไปเชื่อเลย ให้สังหารทูตญวนไปเสีย[13] พระวิชิตสงครามที่เมืองนครพนมจึงออกอุบายจัดงานเลี้ยงให้แก่คณะทูตญวน แล้วนำกำลังเข้าสังหารทูตญวนไปเกือบหมดสิ้น เหลือเลดินยุตทูตญวนได้รับบาดเจ็บ พระวิชิตสงครามส่งตัวเลดินยุตให้แก่เจ้าพระยาราชสุภาวดีที่เมืองเวียงจันทน์

เจ้าน้อยเมืองพวน ซึ่งเคยมีความขัดแย้งกับเจ้าอนุวงศ์ เกรงว่าทัพฝ่ายไทยจะยกติดตามเจ้าอนุวงศ์เข้ามาในเมืองพวน จึงส่งคนนำความมาแจ้งแก่เจ้าพระยาราชสุภาวดีในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2371 ว่า เจ้าน้อยเมืองพวนจะส่งจนออกตามจับเจ้าอนุวงศ์มามอบให้แก่ฝ่ายไทย ขอฝ่ายไทยอย่ายกทัพเข้าไปในเมืองพวนเลย เจ้าน้อยเมืองพวนอบหมายให้เพี้ยนามโคตรกับเพี้ยอุทุม ตามค้นหาเจ้าอนุวงศ์จนพบกับเจ้าอนุวงศ์ที่น้ำไฮเชิงเขาไก่ เจ้าน้อยเมืองพวนจึงให้เพี้ยนามโคตรเดินทางไปแจ้งแก่เจ้าพระยาราชสุภาวดีที่เวียงจันทน์และแจ้งแก่เจ้ามันธาตุราชเจ้าเมืองหลวงพระบางว่า ขณะที่พบตัวเจ้าอนุวงศ์ที่น้ำไฮแล้ว ขอให้จัดกำลังไปจับกุมโดยเร็ว เจ้ามันธาตุราชแห่งหลวงพระบางจึงจัดให้ท้าวมหาพรหมนำกำลังไปจับกุมเจ้าอนุวงศ์ที่น้ำไฮพร้อมกับพระราชวงศ์เวียงจันทน์มาได้ เจ้าพระยาราชสุภาวดีส่งพระอินทรเดชะและพระยาเชียงสายกกำลังไปจับเจ้าอนุวงศ์ที่น้ำไฮ พระอินทรเดชะและพระยาเชียงสาพบกับท้าวมหาพรหมพร้อมกับเจ้าอนุวงศ์ที่หาดเดือย พระอินทรเดชะและพระยาเชียงสาจึงนำตัวเจ้าอนุวงศ์พร้อมพระราชวงศ์เวียงจันทน์มามอบให้แก่เจ้าพระยาราชสุภาวดีที่เมืองเวียงจันทน์ ในเดือนธันวาคมพ.ศ. 2371 แต่ไม่พบตัวเจ้าราชวงศ์ (เหง้า) ซึ่งเจ้าพระยาราชสุภาวดีให้ค้นหาตัวเจ้าราชวงศ์ทั้งทางบกและทางน้ำแต่ไม่พบ

วาระสุดท้ายของเจ้าอนุวงศ์[แก้]

เจ้าพระยาราชสุภาวดี (สิงห์) มีคำสั่งให้พระอนุรักษ์โยธา และพระโยธาสงคราม นำกำลัง 300 คน คุมเจ้าอนุวงศ์พร้อมทั้งพระราชวงศ์เวียงจันทน์เดินทางมายังกรุงเทพฯ เมื่อเดินทางถึงเมืองสระบุรี พระอนุรักษ์โยธาและพระโยธาสงครามจึงสร้างกรงขึ้นกลางเรือ ให้เจ้าอนุวงศ์อยู่ในกรงนั้น และล่องเรือกรงเจ้าอนุวงศ์ลงมาจนถึงกรุงเทพฯในเดือนมกราคมพ.ศ. 2372 มีพระราชโองการฯให้สร้างกรงเหล็กใหญ่ขึ้นที่หน้าพระที่นั่งสุทไธสวรรย[13] มีรั้วตารางเหล็กสี่ด้าน สำหรับจองจำเจ้าอนุวงศ์ และมีกรงเล็กๆอื่นอีกสิบสามกรงสำหรับพระราชวงศ์เวียงจันทน์องค์อื่นๆ มีการเตรียมเครื่องลงทัณฑ์ต่างๆเช่นครกใหญ่ เบ็ดเกี่ยว กระทะต้ม ขวานผ่าอก ในทุกวันตอนเช้าให้เจ้าอนุวงศ์ไปในกรงใหญ่ ให้เจ้าราชบุตร (โย้) เจ้าเมืองจำปาศักดิ์ เจ้าสุทธิสาร (โป้) และพระราชวงศ์เวียงจันทน์อื่นๆรวมทั้งสิ้นสิบสี่องค์ เข้าไปอยู่ในกรงต่างๆ ให้นางคำปล้องซึ่งเป็นอัครมเหสีของเจ้าอนุวงศ์ถึงพัดกาบหมากเข้าไปปรนนิบัติดูแลเจ้าอนุวงศ์อยู่ในกรง ราษฎรชาวกรุงเทพต่างพากันมาดูเจ้าอนุวงศ์และพระราชวงศ์เวียงจันทน์ บรรดาราษฎรที่มีญาติพี่น้องไปเสียชีวิตในสงครามต่างมาสาปแช่ง[13] ถึงเวลาบ่ายให้สมาชิกพระราชวงศ์เวียงจันทน์ขึ้นขาหยั่ง พอถึงเวลาเย็นจึงให้กลับเข้าไปในที่กุมขังตามเดิม เป็นเช่นนี้ทุกวันเป็นเวลาเจ็ดวัน เจ้าอนุวงศ์ล้มป่วยลงและถึงแก่พิราลัยในที่สุด ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2372[16]

นายจาคอบ ทอมลิน (Jacob Tomlin) มิชชันนารีชาวอังกฤษได้ไปดูวาระสุดท้ายของเจ้าอนุวงศ์ และบันทึกไว้ในหนังสือเรื่อง Journal of a Nine Months Residence in Siam ของนายทอมลินเองว่า "เจ้าลาวผู้ชราภาพถึงแก่พิราลัยแล้วจึงรอดพ้นจากความทรมาน เจ้าลาวนั้นค่อยๆตรอมพระทัยลงทีละเล็กน้อย จนถึงแก่พิราลัยอย่างพระทัยสลาย พระศพถูกนำไปที่ลานประหารพระเศียรถูกบั่นออก และพระศพถูกนำไปแขวนไว้ที่ตะแลงแกงริมแม่น้ำแห่งหนึ่งทางใต้ของกรุงเทพฯ ซึงสัตว์และนกต่างมากัดกิน ข่าวลือว่าเชื้อพระวงศ์ลาวองค์อื่นนั้นจะได้รับการละเว้นชีวิต แต่อาจถูกจองจำไปชั่วชีวิต"[16] นายคาร์ล กึตซลาฟ (Karl Gützlaff) มิชชันนารีชาวเยอรมันซึ่งอยู่ในกรุงเทพเวลาเดียวกับนายทอมลิน บันทึกในหนังสือ Journal of Three Voyages Along the Coast of China, in 1831, 1832 and 1833 With Notices of Siam, Corea, and the Loo-Choo Islands ว่า "พระโอรส (ของเจ้าอนุวงศ์ อาจหมายถึงเจ้าราชบุตร) หลบหนีแต่ถูกติดตามจึงปลิดชีพพระองค์เอง"

เรื่องราววาระสุดท้ายของเจ้าอนุวงศ์ปรากฏในหนังสือเรื่อง The Kingdom and People of Siam ของเซอร์จอห์น เบาว์ริง (Sir John Bowring) ซึ่งพิมพ์ขึ้นเมื่อพ.ศ. 2400 ว่า "[เจ้าอนุวงศ์]ถูกจองจำในกรงเหล็กขนาดใหญ่ท่ามกลางดวงสุริยันที่แผดเผา ต้องป่าวประกาศว่าพระเจ้ากรุงสยามนั้นทรงพระเมตตา แต่เจ้าอนุวงศ์เองนั้นกระทำความผิดใหญ่หลวงและสมควรได้รับการลงโทษ ในกรงนั้นมีครกใหญ่สำหรับตำ หม้อขนาดใหญ่สำหรับต้ม มีตะขอขนาดใหญ่สำหรับเกี่ยว มีดาบไว้เพื่อบั่นพระเศียร และมีหอกแหลมเพื่อให้นั่งเสียบ บางครั้งพระโอรสได้รับอนุญาตให้เข้าไปประทับด้วยกันในกรงนั้น เจ้าอนุวงศ์เป็นชายชราผมขาว และมีพระชนม์ชีพเพื่อทรมานหลังจากนั้นไม่นาน ความตายได้ดับความทุกข์ทรมานของเจ้าอนุวงศ์ลง พระศพถูกแขวนไว้ที่ริมแม่น้ำ ทางใต้ของกรุงเทพฯไปประมาณสองหรือสามไมล์"[17]

หลังจากที่หลบหนีขึ้นที่เมืองมหาชัยกองแก้วไปแล้ว เจ้าราชวงศ์ (เหง้า) หายสาปสูญไปจากประวัติศาสตร์ ทั้งสยามและเวียตนามต่างค้นหาตัวเจ้าราชวงศ์ไม่พบ มีตำนานลาวกล่าวว่าเจ้าราชวงศ์ซ่อนตัวอยู่ที่ถ้ำแห่งหนึ่งในเขตเมืองเซกอง[14] ทางตอนใต้ของลาว

ผลลัพธ์และบทสรุป[แก้]

แต่งตั้งขุนนางและเจ้าเมืองใหม่[แก้]

พระเจดีย์เก้ายอด ซึ่งเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) สร้างขึ้นเป็นอนุสรณ์ ณ จุดที่เคยเป็นค่ายทหารเพื่อระดมพลไปทำสงครามกับเจ้าอนุวงศ์ ปัจจุบันตั้งอยู่ที่วัดทุ่งสว่างชัยภูมิ ตำบลในเมือง อำเภอเมืองยโสธร จังหวัดยโสธร

เมื่อจัดการบ้านเมืองลาวและภาคอีสานเสร็จสิ้นแล้ว เจ้าพระยาราชสุภาวดี (สิงห์) พร้อมทั้งบรรดาแม่ทัพนายกองจึงเดินทางกลับกรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯโปรดฯให้แต่งตั้งเจ้าพระยาราชสุภาวดีขึ้นเป็น เจ้าพระยาบดินทรเดชาที่สมุหนายก และพระราชวรินทร์ (ป้อม) เลื่อนขึ้นเป็นพระมหาเทพ (ป้อม) บรรดาชาวลาวที่กวาดต้อนมาจากเวียงจันทน์นั้น โปรดฯให้ไปอาศัยอยู่ที่สระบุรี สุพรรณบุรี นครชัยศรี[13]

เมืองเวียงจันทน์ซึ่งเป็นราชธานีของลาวมาเป็นเวลากว่า 265 ปี ถูกทำลายลงอย่างสิ้นเชิง วัดวาอารามปราสาทราชวังบ้านเรือนต่างๆล้วนแต่ถูกทำลายสิ้น ยกเว้นวัดศีรษะเกษ เมืองเวียงจันทน์ยังคงสภาพปรักหักพังทรุดโทรมป่าขึ้นรกชัฎอยู่เป็นเวลาประมาณหกสิบปี จนกระทั่งในปีพ.ศ. 2436 เมื่อลาวตกเป็นของฝรั่งเศส ทางการอาณานิคมฝรั่งเศสจึงฟื้นฟูเมืองเวียงจันทน์ขึ้นใหม่เพื่อให้เป็นศูนย์กลางทางการปกครองและวัฒนธรรมอีกครั้ง[18]

หลังจากสงครามปราบเจ้าอนุวงศ์ลิ้นสุดลง ทางกรุงเทพฯยุบอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ ผนวกเมืองต่างๆในลาวภาคกลางมาปกครองโดยตรง ส่วนอาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์ของลาวใต้นั้น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯทรงแต่งตั้งให้เจ้าฮุย ซึ่งเป็นโอรสของเจ้าโอเมืองอัตตะปือ แห่งวงศ์จำปาศักดิ์เดิม ไปครองเมืองเป็นเจ้าอาณาจักรจำปาศักดิ์ และเจ้านากอนุชาของเจ้าฮุยได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอุปราชเมืองจำปาศักดิ์ วงศ์จำปาศักดิ์เดิมจึงได้กลับไปครองอาณาจักรจำปาศักดิ์อีกครั้ง

หลังการกบฏของเจ้าอนุวงศ์ทางกรุงเทพฯได้แต่งตั้งเจ้าเมืองต่างๆในภาคอีสานขึ้นใหม่ดังนี้;

  • ยโสธร: ท้าวฝ่ายบุตร โอรสของพระวิไชยราชสุริยวงษขัติยราช พระประเทศราชแห่งจำปาศักดิ์ (ท้าวฝ่ายหน้า) ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากเจ้าอุปราชนอง และเข้าร่วมกับเจ้าพระยาบดินทรเดชาในการรบที่เวียงคุก ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระสุนทรราชวงศาเจ้าเมืองยโสธรคนใหม่
  • นครพนม: ชาวเมืองนครพนมถูกกวาดต้อนไปยังเมืองพนมสารคาม และเมืองพนัสนิคม ทางกรุงเทพฯจัดให้พระสุนทรราชวงศ์ (ท้าวฝ่ายบุตร) เจ้าเมืองยโสธร ปกครองเมืองนครพนมควบคู่กับเมืองยโสธรอีกเมือง มีตำแหน่งเป็นพระประเทศราชเช่นเดิม ฝ่ายพระบรมราชา (มัง) อดีตเจ้าเมืองนครพนมยังคงหลบหนีอยู่ที่เมืองมหาชัยกองแก้ว พระสุนทรราชวงศา (ท้าวฝ่ายบุตร) เกลี้ยกล่อมให้พระบรมราชากลับเข้ามอบตัวต่อฝ่ายไทย จนในที่สุดในพ.ศ. 2381 พระบรมราชา (มัง) ยินยอมเดินทางกลับมามอบตัวที่เมืองนครพนม พระสุนทรราชวงศา (ท้าวฝ่ายบุตร) มีความชอบจึงได้รับพระราชทานแต่งตั้งเป็น พระสุนทรราชวงศา มหาขัตติยชาติ ประเทศราชวาเวียงฯ
  • หนองคาย: มีการตั้งเมืองใหม่ขึ้นที่ริมฝั่งขวาแม่น้ำโขงตรงข้ามเมืองเวียงจันทน์ ยกบ้านไผ่[9]ขึ้นเป็นเมืองหนองคายเป็นเมืองใหม่ ท้าวสุวอธรรมา (บุญมา) อุปราชเมืองยโสธร ผู้สืบเชื้อสายมาจากเจ้าอุปราชนอง และมีความชอบในการช่วยเหลือเจ้าพระยาบดินทรเดชาในการรบที่บกหวาน ได้รับการแต่งตั้งเป็น พระปทุมเทวาภิบาล เจ้าเมืองหนองคายคนแรก
  • สกลนคร: เจ้าอุปราช (ติสสะ) อนุชาของเจ้าอนุวงศ์ซึ่งหันมาเข้ากับฝ่ายไทย ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองรักษาการณ์เมืองสกลนคร จนกระทั่งอุปราชเมืองมหาชัย (ติ) และราชวงศ์เมืองมหาชัย (คำ) บุตรทั้งสองของพระพรหมอาสา (จุลนี) เจ้าเมืองมหาชัยซึ่งหนีไปถึงแก่กรรมที่เมืองญวนนั้น เดินทางกลับมาขอสวามิภักดิ์ต่อฝ่ายไทย ในพ.ศ. 2381 ทางกรุงเทพฯจึงแต่งตั้งราชวงศ์เมืองมหาชัย (คำ) ขึ้นเป็น พระยาประจันตประเทศธานี เจ้าเมืองสกลนคร
  • กาฬสินธุ์: ท้าววรบุตร (เจียม) หลานของพระยาไชยสุนทร (แพง) ซึ่งถูกเจ้าอุปราช (ติสสะ) ประหารชีวิตไปนั้น ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองกาฬสินธุ์คนใหม่
  • ชัยภูมิ: นายเกตุ นักเทศน์ชาวเมืองกรุงเก่าอยุธยา ได้รับการแต่งตั้งเป็นพระยาภักดีชุมพล (เกตุ) เจ้าเมืองชัยภูมิคนต่อมา

ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระยาสุริยเดช (ทองคำ) ปลัดเมืองนครราชสีมา ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าพระยามหิศราธิบดี ที่ปรึกษากรมการเมืองนครราชสีมา

  • ร้อยเอ็ด: เมื่อคราวกองทัพกบฏเจ้าอนุวงศ์ถูกตีแตกถอยร่น กำลังทหารจากเมืองร้อยเอ็ด ซึ่งนำโดย พระขัติยะวงษา (สีลัง) เจ้าเมือง ได้เข้าโจมตีซ้ำเติมจนพวกกบฏแตกพ่าย พระขัติยะวงษา (สีลัง) มีความดีความชอบได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นที่ พระยาขัติยวงษาพิสุทธิบดี ตำแหน่งพระยาประเทศราชครองเมืองร้อยเอ็ด[19]
  • โพนพิสัย: ท้าวตาดี บุตร พระยาขัติยวงษาพิสุทธิบดี (สีลัง) แห่งเมืองร้อยเอ็ด เชื้อสายเจ้าจารย์แก้ว ได้เป็นเจ้าเมืองโพนพิสัยคนแรก จากความดีความชอบที่ได้รับบัญชาจากเจ้าคุณแม่ทัพมาสกัดเจ้าอนุวงศ์ เพื่อมิให้หนีไปญวนอีก โดยตั้งทัพอยู่บ้านโพนแพง จึงเรียกกันว่า "เจ้าโพนแพง" ครั้นเสร็จศึกจึงยกเป็นเมืองโพนแพง ท้าวตาดีได้เป็น พระยาพิสัยสรเดช เจ้าเมืองคนแรก[20]
  • สุวรรณภูมิ: พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้า ให้ท้าวภู บุตรชายของพระขัติยะวงษา (ทนต์) เจ้าเมืองร้อยเอ็ดคนแรก และยังเป็นน้องชายของพระยาขัติยวงษาพิสุทธิบดี (สีลัง) เจ้าเมืองร้อยเอ็ดคนที่ 2 ไปเป็นเจ้าเมืองสุวรรณภูมิ สืบต่อมา เนื่องด้วยความดีความชอบจากการช่วยราชการสงครามครั้งไปช่วยรบในคราวศึกปราบเจ้าอนุวงศ์ เป็นที่ พระรัตนวงษา ตำแหน่งพระประเทศราช[19]

ความสัมพันธ์กับเวียดนาม[แก้]

สงครามปราบกบฏเจ้าอนุวงศ์สาเหตุหนึ่งซึ่งทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสยามและเวียดนามเสื่อมถอยลง เมื่อพระเจ้ามิญหมั่งทรงทราบว่าเจ้าอนุวงศ์ถูกฝ่ายไทยจับกุมตัวไปและคณะทูตเวียดนามถูกสังหารที่นครพนม ก็พิโรธมีพระราชโองการให้เจ้าน้อยเมืองพวนพร้อมทั้งครอบครัวไปเข้าเฝ้าที่เมืองเว้ พระเจ้ามิญหมั่งลงพระราชอาญาประหารชีวิตเจ้าน้อยเมืองพวนและมเหสี จับกุมวงศ์และขุนนางเมืองพวนไว้ที่เมืองเว้ และผนวกเอาเมืองพวนอาณาจักรเชียงขวางเข้ามาอยู่ภายใต้การปกครองของเวียดนามโดยตรง เรียกว่า มณฑลเจิ้นนิญ (Trấn Ninh, 鎮寧) พระเจ้ามิญหมั่งแต่งทูตเชิญราชสาส์นมาถึงกรุงเทพฯในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2372 ใจความว่าคณะทูตญวนถูกสังหารขอให้สยามส่งตัวผู้กระทำความผิดให้แก่ฝ่ายเวียดนาม และขอให้ฝ่ายไทยตั้งเมืองเวียงจันทน์ขึ้นดังเดิม ฝ่ายไทยจะตอบพระราชสาส์นทูตญวนไม่รับ แจ้งว่าให้ไทยแต่งคณะทูตเชิญราชสาส์นไปเอง เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ) จึงแต่งหนังสือไปหาองเลโบ แจ้งว่ายังไม่ทราบแน่ชัดว่าใครคือผู้กระทำผิด เนื่องจากเจ้าพระยาราชสุภาวดีแม่ทัพฝ่ายไทยในภาคอีสานนั้นยังไม่กลับทูลข้อราชการ ต้องใช้เวลาสอบสวนหาความจริง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ มีพระราชโองการให้แต่งคณะทูตอัญเชิญพระราชสาส์นไปยังเมืองไซ่ง่อนในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2372[13]

ในคราวที่พระพรหมอาสา (จุลนี) เจ้าเมืองมหาชัย หลบหนีไปเมืองญวนพร้อมกับเจ้าอนุวงศ์เมื่อพ.ศ. 2370 นั้น ทำให้เมืองมหาชัยแข็งเมืองแยกตัวเป็นอิสระไปจากกรุงเทพ ในสงครามอานัมสยามยุทธพ.ศ. 2377 พระมหาเทพ (ป้อม อมาตยกุล) ยกทัพไปตั้งที่นครพนม และเข้าโจมตียึดเมืองมหาชัยได้ และพระราชวรินทร์ (ขำ ณ ราชสีมา) ยกทัพจากหนองคายเข้าโจมตีและยึดเมืองพวนอาณาจักรเชียงขวางมาจากญวน

อ้างอิง[แก้]

  1. Stuart-Fox 2008, pp. 11.
  2. Stuart-Fox 2008, pp. 237.
  3. Stuart-Fox 2008, pp. 349.
  4. Stuart-Fox 2008, pp. 231.
  5. Trần Trọng Kim, Việt Nam sử lược, Quyển 2, Chương 3
  6. ทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค), เจ้าพระยา. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑. พิมพ์ครั้งที่ ๖.
  7. "พระวอ พระตา ในประวัติศาสตร์ไทย – ลาว". silpa-mag.com. 2022-08-04.
  8. พระราชพงษาวดารกรุงเก่า (ฉบับหมอบรัดเล) หน้า 33[1]
  9. 9.00 9.01 9.02 9.03 9.04 9.05 9.06 9.07 9.08 9.09 9.10 9.11 เติม วิภาคย์พจนกิจ. ประวัติศาสตร์อีสาน. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. เมษายน พ.ศ. 2546.
  10. 10.0 10.1 10.2 10.3 หม่อมอมรวงษ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม คเนจร). พงษาวดารหัวเมืองมณฑลอิสาณ. คัดจากประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๔ อำมาตย์เอก พระยาศรีสำรวจ (ชื่น ภัทรนาวิก) ม.ม, ท.ช, รัตน ว,ป,ร.๔ พิมพ์แจกในงานศพ พัน ภัทรนาวิก ผู้มารดา เมื่อปีเถาะสัปตศก พ.ศ. ๒๔๕๘
  11. 11.0 11.1 11.2 11.3 ดำรงราชานุภาพ, พระเจ้าบรมวงษ์เธอ กรมพระยา. พระราชพงษาวดาร กรุงรัตนโกสินทร รัชกาลที่ ๒.
  12. 12.0 12.1 12.2 12.3 12.4 วรรณกรรมภาคอีสาน (North-Eastern Thai Literature). มหาวิทยาลัยรามคำแหง.
  13. 13.00 13.01 13.02 13.03 13.04 13.05 13.06 13.07 13.08 13.09 13.10 13.11 13.12 13.13 13.14 13.15 13.16 13.17 13.18 13.19 13.20 13.21 13.22 13.23 13.24 13.25 13.26 13.27 เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค). พระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชชกาลที่ ๓.
  14. 14.0 14.1 14.2 14.3 14.4 14.5 14.6 14.7 14.8 Ngaosyvathn, Mayoury. Paths to Conflagration: Fifty Years of Diplomacy and Warfare in Laos, Thailand, and Vietnam. Cornell University Press, 6 ส.ค. 2561.
  15. จดหมายเหตุนครราชราชสีมา. กรมศิลปากร, พ.ศ. 2497.
  16. 16.0 16.1 Tomlin, Jacob. Journal of a Nine Months' Residence in Siam. Westley & Davis, 1831.
  17. Bowring, John. The Kingdom and People of Siam: With a Narrative of the Mission to that Country in 1855. J.W. Parker, 1857.
  18. Askew, Marc et al. Vientiane: Transformations of a Lao Landscape. Routledge, 7 สิงหาคม พ.ศ. 2549
  19. 19.0 19.1 ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาคจังหวัดมหาสารคาม. มหาสารคาม : โรงพิมพ์ปรีดาการพิมพ์, 2542
  20. "ประวัติความเป็นมา โพนพิสัย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-10-05. สืบค้นเมื่อ 2023-03-08.

บรรณานุกรม[แก้]