เจ้าพระยามหาโยธา (ทอเรียะ คชเสนี)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

เจ้าพระยามหาโยธา (ทอเรียะ คชเสนี) (มอญ: ထဝ်ရ, ทอเรียะ หรือ ทองชื่น คชเสนี) เป็นบุตรเจ้าพระยามหาโยธานราธิบดีศรีพิชัยณรงค์ (พญาเจ่ง) ต้นสกุล คชเสนี เข้ามาอยู่ที่เมืองไทยสมัยพระเจ้าตากสิน พร้อมบิดาเมื่อครั้งบิดาท่านเข้ามาพี่งพระบรมโพธิสมภารราวปี 2318 สันนิษฐานว่าเมื่อเริ่มเข้ารับราชการน่าจะมีบรรดาศักดิ์เป็นอย่างอื่น มาปรากฏนาม พระยามหาโยธา (ทอเรียะ) เมื่อขึ้นปกครองชาวมอญแทนบิดาท่านในสมัยรัชกาลที่ 2 บางคนเรียกท่านว่า “พญาทอเรียะ” (มอญ: ဗညာထဝ်ရ) ถึงสมัยรัชกาลที่ 3 ได้เลื่อนเป็นเจ้าพระยามหาโยธา (ทอเรียะ)

ประวัติ[แก้]

เจ้าพระยามหาโยธา (ทอเรียะ) หารือกับนายพลเอก เซอร์ อาร์ชิบัลด์ แคมป์เบลล์ แม่ทัพฝ่ายอังกฤษ ในการรบกับพม่าระหว่างสงครามอังกฤษ–พม่า ครั้งที่ 1 ภาพวาดโดย เหม เวชกร

เจ้าพระยามหาโยธา (ทอเรียะ) เป็นผู้มีความสามารถหลายด้าน ทั้งในด้านฝีมือในการรบ การทูต การใช้ภาษา เมื่อครั้งยุคล่าอาณานิคมอังฤษยึดอินเดียได้ และได้เริ่มทำสงครามกับพม่าจึงกระทบถึงความมั่นคงของไทย รัชกาลที่ 3 โปรดฯให้ เจ้าพระยามหาโยธา (ทอเรียะ) นำทัพไปช่วยอังกฤษรบและเจรจาทางด้านการทูต ด้วยความสามารถและชาติกำเนิดทำให้ เจ้าพระยามหาโยธา (ทอเรียะ) เป็นที่เคารพนับถึอของชาวมอญ เช่น เมื่อครั้งที่ท่านยกทัพเข้าไปในพม่าทางด่านเจดีย์สามองค์ เจ้าเมืองขะเมิงและเจ้าเมืองทราซี่งเป็นเจ้าเมืองมอญ ได้จัดกองทัพเข้าสมทบกว่า 3,000 คน เมื่อเจ้าพระยามหาโยธา (ทอเรียะ) ยกกองทัพเข้าไปตั้งอยู่ที่เมืองเตริน (อัตรัน) ซึ่งเป็นเมืองมอญที่บิดาท่านเคยปกครอง บรรดาเจ้าเมืองมอญทั้งหลายก็เข้าอ่อนน้อมทำให้การศึกเป็นไปโดยง่าย ภายหลังเมื่ออังกฤษมีชัยต่อพม่า อังกฤษมีความคิดที่จะตั้งรามัญประเทศขึ้นใหม่ อังกฤษจึงได้มาทาบทามและเกลี้ยกล่อม เจ้าพระยามหาโยธา (ทอเรียะ) ไปเป็นกษัตริย์รามัญประเทศที่จะตั้งขึ้น[1] เนื่องด้วยเจ้าพระยามหาโยธา (ทอเรียะ) เป็นที่นิยมในหมู่ชาวมอญและมีบิดาเป็นพระภาติยะ (หลานลุง) ในกษัตริย์มอญองค์สุดท้าย แต่เจ้าพระยามหาโยธา (ทอเรียะ) ตอบปฏิเสธด้วยมีความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ไทย อังกฤษจึงเลิกล้มความตั้งใจ[2]

ด้านการศึกสงคราม[แก้]

เจ้าพระยามหาโยธา (ทอเรียะ) มีส่วนร่วมในการทำศึกสงครามแทบทุกครั้ง ตัวอย่างเช่น

  • ปี พ.ศ. 2362 มีข่าวว่าพม่าจะยกทัพมา รัชกาลที่ 2 โปรดฯให้ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ (รัชกาลที่ 3) เป็นแม่ทัพใหญ่ และให้พระยามหาโยธา (ทอเรียะ) เป็นทัพหน้าไปคอยขัดตาทัพ[3]
  • ปี พ.ศ. 2367 กองทัพไทยช่วยอังกฤษรบกับพม่าครั้งที่หนี่ง รัชกาลที่ 3 โปรดฯให้ เจ้าพระยามหาโยธา (ทอเรียะ) ควบคุมบังคับบัญชากองมอญเป็นทัพหน้ายกเข้าไปในพม่าทางด่านเจดีย์สามองค์
  • ปี พ.ศ. 2368 กองทัพไทยช่วยอังกฤษรบกับพม่าครั้งที่สอง รัชกาลที่ 3 โปรดฯให้เจ้าพระยามหาโยธาเป็นแม่ทัพใหญ่ คุมกองทัพมอญจำนวน 10,000 คนเศษเป็นทัพหน้า จนสามารถรักษาเมืองเมาะตะมะไว้ได้
  • ปี พ.ศ. 2369 ครั้งปราบกบฏเจ้าอนุวงศ์ที่เวียงจันทน์ รัชกาลที่ 3 โปรดฯให้ สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพเป็นแม่ทัพหลวง และให้เจ้าพระยามหาโยธา (ทอเรียะ) ยกทัพไปช่วยโคราชแลัวข้ามไปตีเวียงจันทน์ ซึ่งในศึกครั้งนี้ พระยาเกียรติ (ตะโหนก หรือ คุณใหญ่) ผู้เป็นบุตรชายคนโตของท่านสิ้นชีพในสนามรบ แต่รบชนะตีค่ายหนองบัวลำภู จับตัวแม่ทัพและยึดเวียงจันทน์ได้[4]

ด้านศาสนา[แก้]

เจ้าพระยามหาโยธา(ทอเรียะ) ได้ดำเนินการสร้างวัดเกาะบางพูด จังหวัดนนทบุรี ต่อจากบิดา และน้อมเกล้าฯถวายแด่รัชกาลที่ 3 ภายหลังได้เปลี่ยนชื่อตามนามผู้สร้างเป็น วัดเกาะพญาเจ่ง[5] นอกจากนี้รัชกาลที่ 3 ยังโปรดฯให้เจ้าพระยามหาโยธา (ทอเรียะ) เป็นผู้สร้างกุฏิสงฆ์ เสนาสนะ กำแพง และเขื่อนรอบวัดราชนัดดารามวรวิหาร รวมถึงตัดถนนทะลุกำแพงลงสู่ท่าน้ำ[6]

บุตร-ธิดา[แก้]

เจ้าพระยามหาโยธา (ทอเรียะ) มีบุตรธิดารวม 11 ท่าน ดังนี้

เจ้าพระยามหาโยธา (ทอเรียะ) ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อปี พ.ศ. 2398 สมัยรัชกาลที่ 4 รวมอายุได้ 93 ปี ที่บ้านถนนพระอาทิตย์ ท่านได้ทำพินัยกรรมยกบ้านของท่านเป็นของขวัญสมโภชน์พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ากฤดาภินิหาร ผู้เป็นเหลน ไว้เมื่อยามย้ายออกจากพระบรมมหาราชวัง พระเจ้าลูกยาเธอฯ ซึ่งต่อมาคือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอฯ กรมพระนเรศวรฤทธิ์ ได้ประทับ ณ วังถนนพระอาทิตย์จนสิ้นพระชนม์

อ้างอิง[แก้]

  1. ประยูร พิศนาคะ, 50 เจ้าพระยากรุงรัตนโกสินทร์, พระนคร: คลังวิทยา 2505 หน้า 474
  2. สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, รายงานสัมมนาทางวิชาการนานาชาติ: ครบเครื่องเรื่องรามัญ ความสัมพันธ์แน่นแฟ้น หรือการกลืนชาติ, อาคารมหิตลาธิเบศร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 14 ตุลาคม 2550
  3. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร รัชกาลที่ 2 หน้า 321
  4. พระยาอนุชิต, พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ สมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว 2475 หน้า 197-200
  5. ศูนย์ข้อมูลกลางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ประวัติวัดเกาะพญาเจ่ง
  6. สำนักหอสมุดกลาง ม.ศิลปากร, วัดราชนัดดารามวรวิหาร เก็บถาวร 2016-03-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน