พระยาภักดีชุมพล (แล)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระยาภักดีชุมพล
(แล)
อนุสาวรีย์พระยาภักดีชุมพล (แล) ที่หน้าวงเวียนศูนย์ราชการจังหวัดชัยภูมิ
เกิดแล,ท้าวแล
เวียงจันทน์
เสียชีวิตพ.ศ. 2369
ริมหนองปลาเฒ่า
สาเหตุเสียชีวิตถูกเจ้าอนุวงศ์ประหารชีวิต
สุสานริมหนองปลาเฒ่า
อนุสรณ์สถานอนุสาวรีย์พระยาภักดีชุมพล
ศาลเจ้าพ่อพญาแล
ชื่ออื่นเจ้าพ่อพญาแล
พลเมืองสยาม (โดยพฤตินัย)
อาชีพเจ้าเมืองชัยภูมิ
ปีปฏิบัติงานพ.ศ. 2365 ถึง พ.ศ. 2369
มีชื่อเสียงจากผู้ไม่ยอมเข้าร่วมสงครามกบฏเจ้าอนุวงศ์,และหนึ่งในผู้ร่วมวีรกรรมที่ทุ่งสำริด
ตำแหน่งขุนภักดีชุมพล
พระภักดีชุมพล
พระยาภักดีชุมพล
ผู้ดำรงตำแหน่งก่อนไม่มี
ผู้สืบตำแหน่งพระยาภักดีชุมพล (เกตุ)
บุตรพระยาภักดีชุมพล (เกตุ)

พระยาภักดีชุมพล (แล) เป็นเจ้าเมืองชัยภูมิคนแรก ชาวเมืองชัยภูมินิยมเรียกขานท่านด้วยความยกย่องนับถือว่า เจ้าพ่อพญาแล

ประวัติ[แก้]

พระยาภักดีชุมพลเดิมชื่อ "นายแล" เป็นชาวนครเวียงจันทน์ เคยรับราชการเป็นพี่เลี้ยงราชบุตรในเจ้าอนุวงศ์แห่งอาณาจักรล้านช้าง (ขณะนั้นเป็นประเทศราชของไทย) ในสมัยรัชกาลที่ 2 พ.ศ. 2360 นายแลได้อพยพไพร่พลข้ามแม่น้ำโขงมาตั้งบ้านเรือนที่บ้านน้ำขุ่นหนองอีจาน (อยู่ในเขตอำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา) ต่อมาได้ย้ายไปตั้งใหม่ที่บ้านโนนน้ำอ้อม บ้านชีลอง (อยู่ในเขตอำเภอเมืองชัยภูมิ) และได้ทำราชการส่งส่วยต่อเจ้าอนุวงศ์ เจ้าอนุวงศ์จึงตั้งให้นายแลเป็นที่ขุนภักดีชุมพลนายกองนอก

ใน พ.ศ. 2365 ขุนภักดีชุมพลได้ย้ายชุมชนมาอยู่ที่บ้านหลวงซึ่งอยู่ระหว่างบ้านหนองหลอดกับบ้านหนองปลาเฒ่า (ในเขตอำเภอเมืองชัยภูมิปัจจุบัน) เนื่องจากสถานที่เดิมเริ่มคับแคบ ไม่พอกับจำนวนพลเมืองที่เพิ่มขึ้น

พ.ศ. 2367 ได้ที่การพบบ่อทองที่บริเวณลำห้วยชาด นอกเขตบ้านหลวง เรียกบ่อทองนั้นว่า "บ่อโขโหล"[1] ขุนภักดีชุมพลจึงได้นำทองในบ่อนี้ไปส่วยแก่เจ้าอนุวงศ์และขอยกฐานะบ้านหลวงขึ้นเป็นเมือง เจ้าอนุวงศ์จึงพระราชทาน ชื่อเมืองแก่ขุนภักดีชุมพลว่า เมืองชัยภูมิ และเลื่อนบรรดาศักดิ์ให้เป็นพระภักดีชุมพล ทว่าต่อมาพระภักดีชุมพลได้ขอเอาเมืองชัยภูมิขึ้นตรงต่อเมืองนครราชสีมา และส่งส่วยแก่กรุงเทพมหานครแทน ไม่ขึ้นแก่เจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์อีกต่อไป[ต้องการอ้างอิง] เพราะเห็นว่าเวียงจันทน์ก็เป็นประเทศราชขี้นต่อกรุงเทพมหานครอยู่แล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกบ้านหลวงเป็นเมืองชัยภูมิ และแต่งตั้งพระภักดีชุมพล (แล) เป็นพระยาภักดีชุมพล (แล) เจ้าเมืองชัยภูมิคนแรก สร้างความไม่พอใจแก่ทางฝ่ายเวียงจันทน์อย่างมาก

ในสมัยรัชกาลที่ 3 พ.ศ. 2369 เจ้าอนุวงศ์ก่อการกบฏต่อกรุงเทพเพื่อแยกตัวเป็นเอกราช โดยยกทัพเข้าตีเมืองนครราชสีมา แต่เห็นว่าจะทำการต่อไปได้ไม่ตลอด จึงเผาเมืองนครราชสีมาทิ้ง[2][3] และถอนทัพกลับไปตั้งรับที่เวียงจันทน์ ระหว่างทางกองทัพเจ้าอนุวงศ์เกิดความปั่นป่วนจากการลุกฮือของครัวเรือนที่กวาดต้อนไปเวียงจันทน์ ขณะพักทัพอยู่ที่ทุ่งสำริด พระยาภักดีชุมพล (แล) ได้ยกทัพไปสมทบกับคุณหญิงโมและครัวเรือนชาวเมืองนครราชสีมา ทำการตีกระหนาบกองทัพของเจ้าอนุวงศ์จนแตกพ่าย เจ้าอนุวงศ์เกิดความแค้นที่พระยาภักดีชุมพลไม่ยอมให้ความร่วมมือกับฝ่ายลาว ซ้ำยังยกทัพมาช่วยฝ่ายไทยตีกระหนาบทัพลาวอีกด้วย จึงย้อนกลับมาเมืองชัยภูมิ จับตัวพระยาภักดีชุมพล (แล) ให้เจ้าราชวงศ์ (เจ้าสุทธิสาร ณ น่าน) จับประหารชีวิตที่บริเวณใต้ต้นมะขามใกล้หนองปลาเฒ่า[4][5]

การเสียชีวิตของพระยาภักดีชุมพล (แล) ในครั้งนั้น เป็นเหตุการณ์สำคัญที่ชาวเมืองชัยภูมิจดจำตลอดมา และระลึกถึงว่าเป็นวีรกรรมครั้งสำคัญของท่าน[ต้องการอ้างอิง] ต่อมาชาวเมืองชัยภูมิจึงเรียกขานท่านด้วยความเคารพว่า "เจ้าพ่อพญาแล" และได้มีการสร้างศาลไว้ตรงสถานที่ที่พระยาภักดีชุมพล (แล) ถูกประหารชีวิต ที่บ้านหนองปลาเฒ่า อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ ริมทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 225 (ชัยภูมิ - บ้านเขว้า) ต่อมาใน พ.ศ. 2511 ทางราชการได้สร้างศาลขึ้นใหม่ ให้ชื่อว่า "ศาลพระยาภักดีชุมพล (แล)" และจัดให้มีงานสักการะเจ้าพ่อพญาแลทุกปี โดยเริ่มจากวันพุธ แรกของเดือน 6 เป็นเวลา 7 วัน เรียกว่า "งานเทศกาลบุญเดือนหก ระลึกถึงความดีของ เจ้าพ่อพญาแล" ถือเป็นงานใหญ่ประจำปีของชาวชัยภูมิ และใน พ.ศ. 2518 ทางราชการร่วมกับพ่อค้าและประชาชนชาวชัยภูมิสร้างอนุสาวรีย์ของพระยาภักดีชุมพล (แล) ประดิษฐานอยู่ตรงวงเวียนศูนย์ราชการ ปากทางเข้าสู่ตัวเมืองชัยภูมิ

ลูกหลานของพระยาภักดีชุมพล (แล) ที่ได้รับราชการเป็นเจ้าเมืองชัยภูมิคนต่อ ๆ มา ล้วนได้รับยศและบรรดาศักดิ์เป็นที่พระยาภักดีชุมพลทุกคน รวมทั้งสิ้น 5 คน ส่วนเจ้าพ่อพญาแลได้เป็นพระยาภักดีชุมพลได้ 4 ปี เป็นเจ้าเมืองชัยภูมิถึง 10 ปี

สถานที่ระลึกถึง[แก้]

  • อนุสาวรีย์พระยาภักดีชุมพล (แล)
  • ศาลเจ้าพ่อพญาแล

ผู้สืบต่อยศ[แก้]

ผู้ที่ได้รับยศพระยาภักดีชุมพลต่อจากท่านนั้นมีดังนี้

  • พระยาภักดีชุมพล (เกตุ)
  • พระยาภักดีชุมพล (เบี้ยว)
  • พระยาภักดีชุมพล (ที)
  • พระยาภักดีชุมพล (บุญจันทร์)
  • พระยาภักดีชุมพล (แสง)

หลังจากที่พระยาภักดีชุมพล (แสง) อนิจกรรมเป็นต้นมา ยศเจ้าเมืองก็เปลี่ยนกลายเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิในปัจจุบันนี้

อ้างอิง[แก้]

  1. รายงานผลการปฏิบัติงาน โครงการมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สนับสนุนโครงการพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือตามโครงการน้ำพระทัยจากในหลวง ปี พ.ศ. 2532. อำเภอแก้งคร้อ และอำเภอบ้านแท่น จังหวัดชัยภูมิ "อีสานจะเขียวได้ ด้วยน้ำใจของไทยทุกคน". เชียงใหม่ : มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2535. 139 หน้า. หน้า 3.
  2. แสงโสม เกษมศรี, ม.ร.ว., และวิมล พงศ์พิพัฒน์. ประวัติศาสตร์สมัยรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑ - รัชกาลที่ ๓ (พ.ศ. 2325-2394). (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ : คณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทย สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี, 2523. 307 หน้า. หน้า 114.
  3. เกริกภาพ ฤทธิ์สุริยะ. สมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ปราบกบฏเจ้าอนุวงศ์ เวียงจันทน์. กรุงเทพฯ : ไพลินบุ๊คเน็ต, 2555. 128 หน้า. หน้า 64. ISBN 978-616-711-001-1
  4. กรมศิลปากร. อักขรานุกรมประวัติศาสตร์ไทย อักษร ฉ ช ซ. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2526. 697 หน้า. หน้า 135. ISBN 978-974-417-258-7
  5. คุณา นนทพัฒน์. ชัยภูมิ เมืองพระยาแล. กรุงเทพฯ : แสงปัญญาเลิศ, 2542. 182 หน้า. หน้า 159. ISBN 978-974-870-724-2