คณะบริหารธุรกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
NIDA Business School | |
สถาปนา | พ.ศ. 2509 |
---|---|
คณบดี | รศ.ดร.ธัชวรรณ กนิษฐ์พงศ์ |
ที่อยู่ | |
วารสาร | NIDA MBA |
สี | สีแดง |
เว็บไซต์ | mba.nida.ac.th |
คณะบริหารธุรกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (อังกฤษ: NIDA Business School) เป็นหนึ่งในสี่คณะที่ก่อตั้งพร้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้า ในปี 2509 เป็นบัณฑิตวิทยาลัยด้านบริหารธุรกิจ (Business School) ที่ถูกก่อตั้งขึ้นเป็นแห่งแรกของประเทศไทย[1] นอกจากนี้ คณะบริหารธุรกิจ นิด้า ยังเป็นสถาบันแห่งแรกที่ได้รับการรับรองจาก AACSB (Association to Advance Collegiate School of Business) ในหลักสูตรการเรียนการสอนที่เป็นภาษาไทย[2]
ประวัติ
[แก้]พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงสนพระทัยในเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจเป็นพิเศษ เมื่อราว พ.ศ. 2503 ได้ทรงปรารภกับ นายเดวิด รอกกิเฟลเลอร์ ชาวอเมริกัน ถึงเรื่องที่จะปรับปรุงการสถิติของชาติ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาประเทศ และในที่สุดได้มีการจัดทำโครงการเสนอรัฐบาล โดยให้ตั้ง “สถาบันพัฒนาการบริหาร” (Graduate Institute of Development Administration - GIDA) ขึ้น ต่อมาจึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ก่อตั้งเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2509 โดยมี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ หรือ “พระองค์วรรณ” (พระนามเดิมคือหม่อมเจ้าวรรณไวทยากร) รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานคณะกรรมการจัดตั้ง
ช่วงเวลาเดียวกันนั้นเอง ดร.อำนวย วีรวรรณ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีในขณะนั้นมีแนวคิดที่จะดำเนินการสร้างบัณฑิตวิทยาลัยด้านบริหารธุรกิจที่มีรูปแบบการดำเนินการแบบเดียวกับ Business School ในสหรัฐอเมริกา ที่มุ่งเน้นการสอนให้เป็นผู้บริหารโดยตรง แทนการสอนให้ไปทำงานตามวิชาชีพบัญชี (Accountancy) หรือการพาณิชย์ (Commerce) แบบดั้งเดิมที่เคยได้มีการก่อตั้งคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีในสถาบันอุดมศึกษาของไทยมาแล้วในอดีต การก่อตั้งคณะบริหารธุรกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ “NIDA Business School” จึงถือได้ว่าเป็นการริเริ่มดำเนินการเปิดสอนปริญญาโททางด้านบริหารธุรกิจ (MBA - Master of Business Administration) เป็นแห่งแรกของไทย และเป็นหลักสูตรการเรียนการสอนสมัยใหม่ที่เกิดขึ้นมาพร้อมกับการก่อตั้งนิด้า
ช่วงระยะเริ่มแรกของการก่อตั้งคณะได้ดำเนินการจัดเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด เนื่องจากคณาจารย์ที่มาสอนเป็นอาจารย์ที่มาจากมหาวิทยาลัยชั้นนำในสหรัฐอเมริกา ที่ได้รับการประสานมาตามความช่วยเหลือของมูลนิธิฟอร์ด [3]
นับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน “NIDA Business School” ได้รับการยอมรับเสมอมาว่าเป็นสถาบันการศึกษาด้านบริหารธุรกิจชั้นนำของประเทศ และได้ผลิตนักบริหารหรือผู้ประกอบการที่มีบทบาทสำคัญในแวดวงธุรกิจเป็นจำนวนมากให้จบการศึกษาจากคณะออกไปเป็นกำลังสำคัญของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยเป็นผู้บริหารระดับแถวหน้าอยู่ในหลายอุตสาหกรรมด้วยกัน ทั้งในภาคการเงินการลงทุน การธนาคาร ภาคการผลิต หรือในภาคบริการต่างๆ
คณะยังได้รับการรับรองมาตรฐานระดับโลก AACSB และมีการปรับปรุงหลักสูตรเดิมให้มีความทันสมัย ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลกธุรกิจและเทคโนโลยีอยู่ตลอดเวลา
นอกจากนี้คณะยังได้มีข้อตกลงความร่วมมือและเป็นพันธมิตรกับสถาบันการศึกษาธุรกิจชั้นนำในต่างประเทศหลายแห่ง อาทิเช่น Wharton School[4] มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย, Kelly School of Business[5] มหาวิทยาลัยอินเดียนา, มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด[6] หรือกับ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์[7] เป็นต้น
ในปัจจุบัน คณะบริหารธุรกิจ นิด้า ถือเป็นสถาบันการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาทางด้านบริหารธุรกิจระดับแนวหน้าของประเทศที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ
การประกันคุณภาพ
[แก้]NIDA Business School ได้รับการรับรองมาตรฐาน AACSB (The Association to Advance Collegiate Schools of Business)[8] ซึ่งถือเป็นมาตรฐานสูงสุดของวิทยาลัยบริหารธุรกิจ ที่ทั่วโลกให้การยอมรับมากที่สุด สำหรับในประเทศไทย มีอยู่เพียง 4 แห่งที่ได้รับการรับรอง AACSB คือ คณะบริหารธุรกิจ นิด้า, สถาบันบริหารธุรกิจศศินทร์, คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ [9] โดยที่คณะบริหารธุรกิจ นิด้า นับเป็นแห่งแรกของการจัดการเรียนการสอนหลักสูตรบริหารธุรกิจที่เป็นภาษาไทย ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานการศึกษาจากสถาบันดังกล่าว
สำหรับการประกันคุณภาพการศึกษาในประเทศ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ได้รับการรับรองด้วยคะแนนสูงสุดในประเทศ จาก สมอ สมศ และ กพร [10] [11] โดยคณะบริหารธุรกิจมีคะแนนการประกันคุณภาพเป็นอันดับที่ 1 ของ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
หลักสูตรการศึกษา
[แก้]ระดับปริญญาโทบริหารธุรกิจ (MBA)
[แก้]- โครงการปริญญาโททางบริหารธุรกิจภาคปกติ (RMBA)
- โครงการปริญญาโททางบริหารธุรกิจภาคพิเศษ เสาร์-อาทิตย์ (Flexible MBA)
- โครงการปริญญาโททางบริหารธุรกิจสำหรับนักบริหาร (EMBA)
- โครงการปริญญาโททางบริหารธุรกิจสำหรับนักบริหารรุ่นใหม่ (YMBA)
- โครงการปริญญาโททางบริหารธุรกิจภาคปกติ ภาษาอังกฤษ (English MBA Program)
- โครงการปริญญาโททางบริหารธุรกิจนานาชาติ (International MBA Program)
- Master of Science in Financial Investment and Risk Management (MSc in FIRM) (International Program)
ระดับปริญญาเอกบริหารธุรกิจ (Ph.D. and DBA)
[แก้]- Doctor of Philosophy (Ph.D.) in Business Administration (International Programs)
- โครงการร่วมผลิตบัณฑิตระดับปริญญาเอก สาขาบริหารธุรกิจ (The Joint Doctoral in Business Administration : JDBA) ระหว่าง สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปัจจุบันได้ปิดโครงการไปแล้ว
ทำเนียบคณบดี
[แก้]รายนามคณบดีคณะบริหารธุรกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ตั้งแต่ก่อตั้งจนถึงปัจจุบันมีดังนี้
ลำดับ | รายนามคณบดี | วาระการดำรงตำแหน่ง |
---|---|---|
1 | รศ.ดร.ศรีปริญญา รามโกมุท | 26 ธ.ค.2511 - 12 มี.ค. 2512, 19 ม.ค. 2514 - 6 ส.ค. 2518 |
2 | รศ.ดร.วีรวัฒน์ กาญจนดุล | 7 ส.ค. 2518 - 22 ธ.ค. 2520 |
3 | รศ.ดร.ประวิตร นิลสุวรรณากุล | 27 มี.ค. 2521 - 1 มี.ค. 2522 |
4 | ผศ.ดร.ไพจิตร เอื้อทวีกุล (รักษาราชการ) | 2 มี.ค. 2522 - 3 มิ.ย. 2522 |
5 | ศาสตราภิชาน ดร.ทนง พิทยะ | 4 มิ.ย.2522 - 13 ม.ค. 2523 |
6 | รศ.ดร.บุญเสริม วีสกุล (รักษาราชการ) | 14 ม.ค. 2523 - 31 ก.ค. 2523 |
7 | รศ.ดร.อัศวิน จินตกานนท์ | 1 ส.ค. 2523 - 29 ม.ค. 2524, 30 ม.ค. 2524 - 15 มี.ค. 2525 |
8 | รศ.ดร.วีรศักดิ์ สุขอานารักษ์ | 7 เม.ย. 2525 - 6 เม.ย. 2527 |
9 | รศ.ดร.นิกร วัฒนพนม | 7 เม.ย. 2527 - 1 เม.ย. 2528, 13 มี.ค. 2535 - 12 มี.ค. 2537, 13 มี.ค. 2537 - 1 มี.ค. 2538 |
10 | รศ.ดร.ปรีชา จรุงกิจอนันต์ | 18 เม.ย. 2528 - 17 เม.ย. 2530, 18 เม.ย. 2530 - 17 เม.ย. 2532 |
11 | รศ.ดร.จีรเดช อู่สวัสดิ์ | 18 เม.ย. 2532 - 1 ธ.ค. 2532, 27 มิ.ย. 2538 - 26 มิ.ย. 2541 |
12 | รศ.ดร.สิงหา เจียมศิริ | 13 มี.ค. 2533 - 12 มี.ค. 2535 |
13 | รศ.วัฒนา ณ ระนอง | 27 มิ.ย. 2541 - 26 มิ.ย. 2544 |
14 | อ.ดร.ถกล นันธิราภากร | 27 มิ.ย. 2544 - 26 มิ.ย. 2547, 27 มิ.ย. 2547 - 30 ก.ย. 2548 |
15 | รศ.ดร.ประดิษฐ์ วรรณรัตน์ | 1 ต.ค. 2548 - 12 มี.ค. 2550 |
16 | รศ.ดร. เอกชัย นิตยาเกษตรวัฒน์ | 4 เม.ย. 2550 - 3 เม.ย. 2553 |
17 | รศ.ดร.บุญชัย หงส์จารุ | 4 เม.ย. 2553 - 3 เม.ย 2556 |
18 | ผศ.ดร.วิพุธ อ่องสกุล | 4 เม.ย 2556 - ปัจจุบัน |
ศิษย์เก่าที่มีชื่อเสียง
[แก้]ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งคณะบริหารธุรกิจจนถึงปัจจุบัน คณะบริหารธุรกิจได้ผลิตบุคลากรที่เป็นผู้บริหารชั้นนำของประเทศ อาทิเช่น
- ศาสตราภิชาน สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ - ประธานกรรมการบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ อดีตรองนายกรัฐมนตรีไทย
- นาย อภิรักษ์ โกษะโยธิน - อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร 2 สมัย อดีตกรรมการผู้จัดการบริษัทขนาดใหญ่หลายแห่ง และอดีตกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
- ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร - นักลงทุนเน้นคุณค่า
- ดร.ไพบูลย์ เสรีวิวัฒนา - ประธานบริษัท ยูเอซี โกลบอล จำกัด (มหาชน) และอดีตอาจารย์ประจำของคณะบริหารธุรกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
- ดร.วรพล โสคติยานุรักษ์ - ประธานบริษัท บริษัท ไซมิส แอสเสท จำกัด (มหาชน) ประธานกรรมการ ธนาคาร แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) และอดีตเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.)
- ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ - นักวิชาการด้านบริหารธุรกิจ อดีต รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
- สรรค์ชัย เตียวประเสริฐกุล - ประธานคณะกรรมการการพัฒนานวัตกรรมธุรกิจค้าปลีกของ บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด อดีตรองผู้จัดการใหญ่ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) และอดีตหัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการตลาด บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน)
- วรวุฒิ อุ่นใจ - ผู้ก่อตั้ง และอดีตประธานบริษัท ออฟฟิศ เมท จำกัด (มหาชน) ผู้จัดจำหน่ายอุปกรณ์เครื่องใช้ในสำนักงาน
รายนามอดีตคณาจารย์
[แก้]อดีตคณาจารย์จากคณะบริหารธุรกิจที่ทำงานและสร้างชื่อเสียง อาทิเช่น
- ศาสตราภิชาน ดร.มารวย ผดุงสิทธิ์ อดีตผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง
- ศาสตรภิชาน ดร.วีรวัฒน์ กาญจนดุล ผู้บริหารระดับสูงเครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP)
- ศาสตรภิชาน ดร.ทนง พิทยะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
- ศาสตราภิชาน ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
- ดร.วรพล โสคติยานุรักษ์ อดีตเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ (ก.ล.ต.)
- ดร.ไพบูลย์ เสรีวิวัฒนา - นักลงทุน และประธานบริษัท ยูเอซี โกลบอล จำกัด (มหาชน)
- ดร.สมจินต์ ศรไพศาล กรรมการผู้จัดการ TMA
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ http://www.nida.ac.th
- ↑ https://web.archive.org/web/20180612154735/https://www.aacsb.net/eweb/DynamicPage.aspx?Site=AACSB&WebKey=00E50DA9-8BB0-4A32-B7F7-0A92E98DF5C6
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-09-08. สืบค้นเมื่อ 2021-09-07.
- ↑ NIDA-Wharton Executive Leadership Program[1]
- ↑ Sub-agreementhttps://global.iu.edu/partnerships/registry/282
- ↑ https://nida.ac.th/university-innovation-fellows/
- ↑ https://mba.nida.ac.th/en/cec/project/detail/20181116090639
- ↑ http://www.aacsb.edu
- ↑ http://www.aacsb.edu/accreditation/accreditedmembers.asp
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-09-28. สืบค้นเมื่อ 2021-09-07.
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-12-30. สืบค้นเมื่อ 2013-11-03.