หม่อมเหม็น

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
หม่อมเหม็น
เกิดสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสุพันธุวงศ์
17 กันยายน พ.ศ. 2322
เสียชีวิต13 กันยายน พ.ศ. 2352 (29 ปี)
วัดปทุมคงคาราชวรวิหาร
บุตร12 ท่าน
บุพการี

หม่อมเหม็น พระนามเดิม สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ กรมขุนกษัตรานุชิต หรือ เจ้าฟ้าเหม็น (17 กันยายน พ.ศ. 2322 — 13 กันยายน พ.ศ. 2352) เป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ประสูติแต่เจ้าครอกฉิมใหญ่ พระราชธิดาพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระนามเดิมว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสุพันธุวงศ์ แต่หลังการปราบดาภิเษกของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระองค์ได้รับการละเว้นจากการประหาร ก่อนได้รับการเฉลิมพระนามใหม่เป็น เจ้าฟ้าอภัยธิเบศ และเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ ก่อนทรงกรมเป็น กรมขุนกษัตรานุชิต

ครั้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงถูกฟ้องร้องว่าคิดวางแผนก่อการกบฏ จึงถูกถอดยศเป็น "หม่อมเหม็น" และถูกสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ที่วัดปทุมคงคา พร้อมทั้งประหารพระโอรสทั้งหกพระองค์ด้วยการไปล่มน้ำที่ปากอ่าว

พระประวัติ[แก้]

หม่อมเหม็น ประสูติเมื่อวันศุกร์ ขึ้น 7 ค่ำ เดือน 11 จ.ศ. 1141 หรือวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2322 ได้รับพระนามเมื่อประสูติว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสุพันธุวงศ์ แต่คนทั่วไปเรียกว่า เจ้าฟ้าเหม็น เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี กับเจ้าครอกฉิมใหญ่ (ต่อมาได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฉิมใหญ่) พระราชธิดาพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช[1] ดังปรากฏใน จดหมายเหตุความทรงจำกรมหลวงนรินทรเทวี ซึ่งได้บันทึกเรื่องราวดังกล่าวไว้ ความว่า[2]

"เจ้าฟ้ากษัตริย์ศึกเข้าเมืองได้ ณ วันจันทร์ ขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๑๐ เจ้าเมืองหนี ได้พระแก้วพระบาง พระไอยกาเข้าเมืองได้ ๓ วัน เจ้าลูกทรงครรภ์ประสูตร์เจ้า ณ วันศุกร์ ขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๑๐ ประสูตร์เปนพระราชกุมาร ประโคมแตรสังข์ลั่นฆ้องไชย แมงมุมทั้งไข่จิ้งจกตกพร้อมกัน แมงมุมอนิจกรรม จิ้งจกไปได้ ๑๒ วัน เจ้าแม่สิ้นพระชนม์ ส่วนเจ้าลูกให้พระพี่นางเธอเอาไปเลี้ยง ให้นามเจ้าสุพันทวงษ์"

ซึ่งนิมิตดีคือพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ทำศึกตีเวียงจันทน์แตกได้พระแก้วมรกตและพระบางมาสู่พระนคร ส่วนลางร้ายคือแมงมุมและจิ้งจกตกลงมาพร้อมกัน หลังจากนั้นสิบสองวันเจ้าจอมมารดาฉิมใหญ่ก็สิ้นพระชนม์ แต่ขณะเดียวกันการ "ประโคมแตรสังข์ลั่นฆ้องไชย" เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าพระราชโอรสที่ประสูติเป็นเจ้าฟ้าทั้ง ๆ ที่ผู้ให้กำเนิดเป็นเพียงเจ้าจอมมารดาเท่านั้น[2] ซึ่งในกรณีดังกล่าวจัดว่าเป็นเจ้าฟ้าตั้ง[3]

หลังการสิ้นชีพของมารดาเจ้าฟ้าเหม็นก็ตกอยู่ภายใต้การดูแลของยายสา (ภายหลังได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระเทพสุดาวดี)[4] และมีพระพี่เลี้ยงชื่อหม่อมบุญศรี (เชื้อพระวงศ์กรุงศรีอยุธยาเก่า)[5]

ต่อมาอีก 3 ปีก็กำพร้าบิดาเมื่อพระราชบิดาคือสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงถูก "เจ้าคุณตา" สำเร็จโทษ แต่ด้วยทรงอาลัยในเจ้าฟ้าเหม็นจึงทรงรอดพ้นจากการประหาร ดังปรากฏพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ความว่า[6]

"สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกรมพระราชวังฯ เสด็จลงมาเฝ้า กราบทูลว่าบรรดาบุตรชายน้อย ๆ ของเจ้าตากสิน จะขอรับพระราชทานเอาใส่เรือไปล่มน้ำเสียให้สิ้น คำบุราณกล่าวไว้ ตัดหวายอย่าไว้หนามหน่อ ฆ่าพ่ออย่าไว้ลูก ซึ่งจะเลี้ยงไว้นั้นหาประโยชน์ไม่ จะเป็นเสี้ยนหนามต่อไปภายหน้า สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงพระอาลัยอยู่ในเจ้าฟ้าสุพันธุวงศ์ พระราชนัดดา จึงดำรัสแก่สมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้า ขอชีวิตไว้ทั้งสิ้น"

ที่ทรงเป็นหลานคนโตของเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก (พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช) พระราชทานนามใหม่เป็น เจ้าฟ้าอภัยธิเบศร์ คนทั่วไปเรียกว่าเจ้าฟ้าอภัยทศ แต่เนื่องจากพระนามพ้องกับเจ้าฟ้าอภัยทศ แผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ พ้องกับเจ้าฟ้าอภัย ในแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ ซึ่งได้รับพระราชอาญาสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ ในช่วงผลัดแผ่นดิน ทรงสดับรับสั่งว่า ไม่เป็นมงคล โปรดให้เปลี่ยนเป็นเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ ต่อมาปี พ.ศ. 2349 เป็นกรมขุนกษัตรานุชิต ครั้งทรงเจริญพระชันษา จึงโปรดเกล้าพระราชทานวังถนนหน้าพระลาน ด้านตะวันตก ซึ่งเรียกว่า "วังท่าพระ"

ข้อหากบฏ[แก้]

ในปี พ.ศ. 2352 หลังพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เสด็จสวรรคตได้เพียง 3 วัน เกิดการกล่าวโทษว่าพระองค์คบคิดกับขุนนางจำนวนหนึ่งว่าคิดแย่งชิงราชสมบัติ จนเกิดคดีเป็นกบฏ หลังจากไต่สวนได้ความเป็นจริง พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จึงโปรดให้ชำระโทษถอดพระยศ ลงพระราชอาญา ให้สำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ที่วัดปทุมคงคาราชวรวิหาร เมื่อวันพุธ ขึ้น 5 ค่ำ เดือน 10 จ.ศ. 1171 หรือวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2352 พร้อมพระอนุชาต่างมารดา คือพระองค์เจ้าชายอรนิกา และพระขนิษฐา พระองค์เจ้าหญิงสำลีวรรณ ซึ่งถูกข้อหาสมรู้ร่วมคิด[7] ผู้ร่วมสมรู้ร่วมคิดอื่นได้ถูกประหารชีวิตที่สำเหร่ รวมทั้งพระโอรสทั้งหมดในเจ้าฟ้ากรมขุนกษัตรานุชิตถูกสำเร็จโทษด้วยวิธีการถ่วงน้ำ ในเหตุกบฏเจ้าฟ้าเหม็นด้วย[8]

พระทายาท[แก้]

หม่อมเหม็นมีพระโอรส พระธิดาทั้งหมด 13 ท่าน ดังรายพระนาม ดังนี้[9]

  1. หม่อมเจ้าชายใหญ่
  2. หม่อมเจ้าหญิงตลับ
  3. หม่อมเจ้าหญิงป้อม
  4. หม่อมเจ้าชายสุวรรณ
  5. หม่อมเจ้าหญิงยี่สุ่น
  6. หม่อมเจ้าชายหนูเผือก
  7. หม่อมเจ้าชายสวัสดิ์
  1. หม่อมเจ้าหญิงสาลี
  2. หม่อมเจ้าหญิงสารภี
  3. หม่อมเจ้าชายเล็ก
  4. หม่อมเจ้าหญิงมุ้ย
  5. หม่อมเจ้าชายแดง
  6. หม่อมเจ้าหญิง (ไม่ทราบพระนาม)

ในจำนวนนี้ทราบแต่เพียงว่าหม่อมเจ้าหญิงสารภี ประสูติแต่หม่อมห้ามชื่อหม่อมคลี่จากสกุลอมาตยกุล ซึ่งพระยากระสาปนกิจโกศล (โหมด อมาตยกุล) ได้จดบันทึกไว้ว่าเป็นคนในสกุลอมาตยกุล ความว่า "...บุตรหลวงยศคงชื่อสิงเป็นบุตรเขยเจ้าพระยาธรรมา (มั่ง) แล้วได้เป็นหลวงยศแทนบิดาคน๑ น้องหลวงยศคงเป็นหญิงชื่อหม่อมคลี่เป็นห้ามหม่อมเหม็นคน๑ มีบุตรกับหม่อมเหม็นเป็นหญิง ชื่อภีคน๑..."[10] แต่หม่อมห้ามท่านอื่น ๆ นั้นไม่พบว่ามีการบันทึกเกี่ยวกับหม่อมห้ามของหม่อมเหม็นไว้เลย และต้องสืบหากันต่อไป[11]

หลังคดีกบฏเจ้าฟ้าเหม็น เจ้าฟ้าเหม็นถูกถอดพระยศและถูกสำเร็จโทษ ส่วนพระโอรสทั้งหกถูกประหารชีวิตทั้งหมด[12] ขณะที่พระธิดาที่ยังเหลืออยู่ก็ถูกถอดให้มีพระยศเป็น คุณ หรือ หม่อม[13] และยังพบว่าพระธิดาของหม่อมเหม็นสองท่านคือ หม่อมเจ้าตลับ และหม่อมเจ้าหอ ปรากฏตัวเมื่อคราวพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปกรุงเก่าทางชลมารค ระหว่างนั้นก็มีเรือเก๋งพายเข้ามาเคียงเรือพระที่นั่งอย่างไม่เกรงพระอาญา นำโดยเจ้าจอมมารดาน้อย (ธิดาพระอินทรอภัย) พร้อมด้วยหม่อมเจ้าอีกสองท่านดังกล่าว[14] เรื่องนี้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชหัตถเลขาเล่าความแก่เจ้าจอมมารดาพึ่ง ดังปรากฏความว่า "...อยากจะใคร่ให้เอาไปตัดหัวเสียตามสกุลพ่อมัน แซ่นี้มักเป็นเช่นนั้นเหมือนคุณสำลี...ข้าได้ยินว่าคนพวกเจ้าตลับ เจ้าครอกหอ ไปด้วย พวกนั้นเปนพวกใกล้เคียงกับยายป้าน้อยของเต่า เต่าอย่าไปไถ่ถามว่ากล่าวอะไรวุ่นวายน้อยมันจะด่าให้อายเขา..."[15]

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้สืบเชื้อสายของหม่อมเหม็นได้รับพระราชทานนามสกุลว่า "อภัยกุล"[13] เป็นนามสุกลพระราชทานลำดับที่ 3941 เขียนเป็นภาษาอังกฤษว่า Abhayakul นายพิศาล เป็นบุตรหม่อมหลวงแฉล้ม หม่อมหลวงแฉล้มเป็นบุตรพระยาทิพรัตนอมร เป็นผู้ขอพระราชทาน พระราชทานเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2460

พระอิสริยยศ[แก้]

ธรรมเนียมพระยศของ
สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศ์ร กรมขุนกษัตรานุชิต
(พ.ศ. 2322–2352)
การทูลใต้ฝ่าพระบาท
การแทนตนข้าพระพุทธเจ้า
การขานรับพ่ะย่ะค่ะ/เพคะ
  • สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสุพันธุวงศ์ (2322-2325)
  • สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้าสุพันธุวงศ์ (2325 - 2327)
  • สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้าอภัยธิเบศ นเรศรสมมติวงษพงษอิศวรราชกุมาร[16] (2327)
  • สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศ์ร นเรศว์รสมมติวงษพงษอิศวรราชกุมาร (2327-2350)
  • สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศ์ร นเรศว์รสมมติวงษพงษอิศวรราชกุมาร กรมขุนกษัตรานุชิต (2350-2352)
  • หม่อมเหม็น (2352)

พงศาวลี[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. จุลลดา ภักดีภูมินทร์, "พระองค์เสือ"และ "พระองค์ช้าง" เก็บถาวร 2010-07-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน sakulthai.com
  2. 2.0 2.1 ปรามินทร์ เครือทอง, หน้า 29
  3. ปรามินทร์ เครือทอง, หน้า 31
  4. ปรามินทร์ เครือทอง, หน้า 36
  5. ปรามินทร์ เครือทอง, หน้า 34
  6. พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา. กรุงเทพฯ:คลังวิทยา. 2516, หน้า 460
  7. เกร็ดพระราชประวัติ เก็บถาวร 2008-09-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน phrachaokrungthon.com
  8. "คดีกบฏเจ้าฟ้าเหม็น ๒". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-12-29. สืบค้นเมื่อ 2012-04-14.
  9. ลำดับสกุล ภาคที่ 4 สกุลเชื้อสายพระราชวงศ์กรุงธนบุรี. (พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ ท่านผู้หญิง ม.ร.ว.อรุณ วรพงษ์พิพัฒน์ )
  10. พระยากระสาปนกิจโกศล. ๓๓๑ ปี สกุลอมาตยกุล และ ๗๓ ปี แห่งการพระราชทานนามสกุลอมาตยกุล. 2529, หน้า 4
  11. ปรามินทร์ เครือทอง, หน้า 109
  12. ปรามินทร์ เครือทอง. หน้า 151
  13. 13.0 13.1 กรมศิลปากร, สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์. ราชสกุลวงศ์ เก็บถาวร 2017-02-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. พิมพ์ครั้งที่ 14. กรุงเทพฯ:สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร. 2554, หน้า 9
  14. ปรามินทร์ เครือทอง, หน้า 161
  15. ปรามินทร์ เครือทอง, หน้า 162
  16. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ ๑ ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ฉบับตัวเขียน). กรุงเทพฯ:อมรินทร์. 2539, หน้า 43

บรรณานุกรม[แก้]

  • ปรามินทร์ เครือทอง. กบฏเจ้าฟ้าเหม็น. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, พิมพ์ครั้งที่ 3. 2555. 240 หน้า. ISBN 978-974-02-0858-7