ข้ามไปเนื้อหา

สังคมนิยมแบบอิสรนิยม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ธงขบวนการสหการนิยมแบบอนาธิปไตยและสังคมนิยมแบบอิสรนิยม

สังคมนิยมแบบอิสรนิยม (อังกฤษ: libertarian socialism) บ้างเรียก ลัทธิอนาธิปไตยสังคมนิยม (socialist anarchism)[1][2][3] สังคมนิยมเสรี (free socialism)[4] หรือ สังคมนิยมไร้รัฐ (stateless socialism)[5] เป็นกลุ่มปรัชญาการเมืองแบบอิสรนิยมที่ต่อต้านอำนาจนิยม (anti-authoritarianism) และรัฐนิยม (anti-statism)[6][7] ในขบวนการสังคมนิยม (history of socialism) โดยปฏิเสธมุมมองสังคมนิยมแบบรัฐนิยม (statism) ของสังคมนิยมรัฐ (state socialism) ที่ให้รัฐเป็นผู้ผูกขาดอำนาจควบคุมเหนือเศรษฐกิจ (state ownership) แบบรวมศูนย์ (centralisation)[8][9] นักสังคมนิยมแบบอิสรนิยมวิจารณ์ความสัมพันธ์แบบทาสค่าจ้าง (wage slavery) ในสถานที่ทำงาน (workplace)[10] เน้นการจัดการโดยคนงานเอง (workers' self-management)[11] กับองค์กรทางการเมืองที่มีโครงสร้างแบบกระจายอำนาจ (decentralization)[12][8][13] และมีแนวคิดที่คาบเกี่ยวกับลัทธิอนาธิปไตยกับอิสรนิยม[14][15] สังคมนิยมแบบอิสรนิยมเป็นขบวนการสังคมนิยมซึ่งประกอบด้วยแนวคิดอนาธิปไตย มาร์กซิสต์ และอิสรนิยมฝ่ายซ้าย (left-libertarian) ต่าง ๆ[16] สังคมนิยมแบบอิสรนิยมกระแสหลักประกอบด้วยอนาธิปไตยและลัทธิมากซ์แบบอิสรนิยม (libertarian Marxism)[17][18]

โดยทั่วไป สังคมนิยมแบบอิสรนิยมปฏิเสธแนวคิดรัฐ[11] และอ้างว่าทางเดียวที่สังคมที่มีเสรีภาพและความยุติธรรมเป็นพื้นฐานจะเกิดขึ้นได้ คือการยกเลิกสถาบันแบบอำนาจนิยมที่ควบคุมปัจจัยการผลิตและกดขี่คนส่วนมากให้อยู่ใต้ชนชั้นเจ้าของและอภิชน (elite) ทางเศรษฐกิจและการเมือง[19] นักสังคมนิยมแบบอิสรนิยมสนับสนุนโครงสร้างกระจายอำนาจผ่านระบอบประชาธิปไตยโดยตรงและสมาคมแบบสหพันธรัฐหรือสมาพันธรัฐ[20] เช่นสมัชชาพลเมือง (citizen's assembly) สมัชชาประชาชน (popular assembly) สหกรณ์ ระบบเทศบาลแบบอิสรนิยม สหภาพแรงงาน และสภาคนงาน (worker's council)[8][21] โดยบรรลุเป้าหมายเหล่านี้ผ่านการเรียกร้องเสรีภาพ[8] และการสมาคมโดยเสรีของผู้ผลิต (Free association of producers)[9] ผ่านการระบุ วิจารณ์ และถอนรากถอนโคนอำนาจที่ไม่ชอบธรรมออกจากทุกแง่มุมของชีวิตมนุษย์ในทางปฏิบัติ[22][23][24][25][26][27] สังคมนิยมแบบอิสรนิยมมีแนวทางแตกต่างจากอำนาจนิยม (authoritarian socialism) และแนวหน้านิยม (vanguardism) ของลัทธิบอลเชวิค/ลัทธิเลนิน และปฏิรูปนิยมของลัทธิเฟเบียน/ประชาธิปไตยสังคมนิยม[28][29]

เพราะฉะนั้น นักสังคมนิยมแบบอิสรนิยมเชื่อว่า “การใช้อำนาจในรูปแบบของสถาบันใด ๆ ก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นสถาบันทางเศรษฐกิจ การเมือง ศาสนา หรือที่เกี่ยวกับเพศ คือการทำร้ายทั้งผู้ใช้อำนาจและผู้ที่ถูกบังคับข่มเหงภายใต้อำนาจนั้น ๆ”[30]

เค้าโครง

[แก้]

บทนิยาม

[แก้]
มีฮาอิล บาคูนิน (ค.ศ. 1814-1876)

สังคมนิยมแบบอิสรนิยมเป็นปรัชญาตะวันตกที่มีตีความหลากหลาย แต่ทั้งหมดมีบางสิ่งที่เหมือนกัน คือการสนับสนุนระบบการผลิตที่เน้นคนงานและการจัดระเบียบในที่ทำงานที่มีพื้นฐานแตกต่างจากเศรษฐศาสตร์นีโอคลาสสิก (neoclassical economics) และการแทนที่ด้วยระบบสหกรณ์ที่เป็นประชาธิปไตยหรือการเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตร่วมกัน (common ownership) (แนวคิดสังคมนิยม)[31] โดยเสนอว่าระบบเศรษฐกิจนี้จะถูกนำมาปฏิบัติให้เพิ่มเสรีภาพของตัวบุคคลให้มากที่สุด และลดการรวมศูนย์อำนาจให้เหลือน้อยที่สุด (แนวคิดอิสรนิยม) ผู้นิยมแนวคิดนี้เสนอวิธีการบรรลุเป้าหมายเหล่านี้ด้วยการล้มล้างระบบทรัพย์สินส่วนบุคคลและสถาบันการปกครองรูปแบบรัฐ และแทนที่ด้วยสมาคมเสรีที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติระหว่างกลุ่มปกครองตนเองหรือสหพันธ์[19] และการกระจายอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมืองผ่านการโอนวิสาหกิจและทรัพย์สินส่วนบุคคลขนาดใหญ่กลายเป็นของสังคม (ในขณะเดียวกันอนุญาตให้มีทรัพย์สินส่วนตัว (personal property)) สังคมนิยมแบบอิสรนิยมปฏิเสธความชอบธรรมของทรัพย์สินส่วนบุคคลในรูปแบบใดก็ตามที่มีนัยสำคัญทางเศรษฐกิจ โดยมองว่าความสัมพันธ์ทางทรัพย์สินแบบทุนนิยมเป็นการครอบงำแบบหนึ่งซึ่งเป็นศัตรูกับเสรีภาพของบุคคล[8]

ดไวต์ แมกโดนัลด์ (Dwight Macdonald) ให้นิยามสังคมนิยมแบบอิสรนิยมไว้ว่า "สังคมไร้ชนชั้นซึ่งรัฐหายไปแล้ว การผลิตเป็นแบบสหกรณ์ และไม่มีใครมีอำนาจทางการเมืองหรือเศรษฐกิจเหนือใคร" และเป็นสังคมที่ "วัดกันด้วยความสามารถของแต่ละบุคคลในการพัฒนาทักษะและบุคลิกลักษณะของตัวเองให้ได้ขนาดไหน" [32]

หนังสือพิมพ์คอมมิวนิสต์อิสรนิยมภาษาฝรั่งเศส เลอ ลีแบร์แตร์ ฉบับวันที่ 17 สิงหาคม ค.ศ. 1860 จัดพิมพ์โดยโฌแซ็ฟ เดฌัก

เลอ ลีแบร์แตร์ (Le Libertaire) เป็นนิตยสารอนาธิปัตย์ฉบับแรกที่ใช้คำว่า libertarian และตีพิมพ์ในนครนิวยอร์กระหว่าง ค.ศ. 1858-1861 โดยนักคอมมิวนิสต์อิสรนิยมโฌแซ็ฟ เดฌัก (Joseph Déjacque)[33] คำนี้ถูกใช้ครั้งต่อมาในทวีปยุโรป เมื่อคำว่า libertarian communism (ลัทธิคอมมิวนิสต์แบบอิสรนิยม) ถูกใช้เป็นครั้งแรกในสภาอนาธิปัตย์ท้องถิ่นที่เมืองเลออาฟวร์ ประเทศฝรั่งเศส ระหว่างวันที่ 16-22 พฤศจิกายน ค.ศ. 1880 ต่อมาในเดือนมกราคม ค.ศ. 1881 มีการเผยแพร่ถ้อยแถลงอุดมการณ์ "ลัทธิคอมมิวนิสต์แบบอิสรนิยมหรืออนาธิปไตย" เป็นภาษาฝรั่งเศส และใน ค.ศ. 1895 นักอนาธิปัตย์เซบัสเตียง ฟอร์ (Sébastien Faure) และหลุยส์ มีแชล (Louis Michel) ตีพิมพ์นิตยสาร เลอ ลีแบร์แตร์ ในประเทศฝรั่งเศส[33] คำว่า libertarian ในภาษาอังกฤษมีรากเดียวกับคำร่วมเชื้อสายในภาษาฝรั่งเศส libertaire ซึ่งใช้ในการหลีกเลี่ยงคำสั่งห้ามตีพิมพ์นิตยสารอนาธิปไตย (Lois scélérates) ในประเทศฝรั่งเศส[34] ตามธรรมเนียม คำว่า libertarianism หรืออิสรนิยมจึงเป็นไวพจน์ของคำว่าลัทธิอนาธิปไตย และเป็นความหมายดั้งเดิมของมัน[35] ในบริบทของขบวนการสังคมนิยมยุโรป คำว่า libertarian หมายถึงนักสังคมนิยมที่ต่อต้านอำนาจนิยมและสังคมนิยมรัฐเช่นมีฮาอิล บาคูนิน และมีคาบเกี่ยวกับลัทธิอนาธิปไตยสังคม[2][36] แต่ลัทธิอนาธิปไตยแบบปัจเจกก็ถือว่าเป็นสังคมนิยมแบบอิสรนิยม[37] แนวคิดปัจเจกนิยมใด ๆ ที่ไม่ได้เป็นแบบล็อกล้วนเป็นแนวคิดแบบสังคมนิยม ซึ่งรวมถึงสังคมนิยมแบบอิสรนิยม[38]

โนม ชอมสกี นักคิดสังคมนิยมอิสรนิยมที่มีชื่อเสียงที่สุดคนหนึ่งในปัจจุบัน

อิสรนิยมมีความสัมพันธ์กับสังคมนิยมมาก่อนระบบทุนนิยม และคนที่ต่อต้านอำนาจนิยมในปัจจุบันก็ยังประณามความเข้าใจซึ่งพวกเขามองว่าผิด ว่าอิสรนิยมมีความเกี่ยวข้องกับระบอบทุนนิยมอย่างในประเทศสหรัฐอเมริกา[39] ตามที่ โนม ชอมสกี กล่าว นักอิสรนิยมที่คงเส้นคงวา "จะต้องต่อต้านความเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตของเอกชนและระบบทาสค่าจ้าง ซึ่งเป็นองค์ประกอบของระบบนี้ และไม่สอดคล้องกับหลักการที่ว่าแรงงานจะต้องสามารถกระทำได้อย่างเสรีและอยู่ใต้อำนาจควบคุมของผู้ที่ผลิตมัน"[40] คำว่า สังคมนิยมอนาธิปไตย ลัทธิอนาธิปไตยสังคมนิยม ลัทธิอนาธิปไตยแบบสังคมนิยม สังคมนิยมเสรี สังคมนิยมไร้รัฐ และ อิสรนิยมแบบสังคมนิยม ล้วนหมายถึงสังคมนิยมซึ่งอยู่ฝั่งอนาธิปไตยหรือเป็นแบบอิสรนิยม[41] หรืออยู่ฝั่งตรงข้ามกับสังคมนิยมแบบอำนาจนิยม (Authoritarian socialism)[42][43]

นักสังคมนิยมอิสรนิยมกล่าวว่ารัฐในลัทธิเลนินเช่นสหภาพโซเวียตอยู่ในระยะเปลี่ยนผ่านจากระบอบทุนนิยมเป็นสังคมนิยม แต่ไม่เคยพัฒนาไปไกลกว่าระยะนี้[44] พวกเขาต้องการยกเลิกรัฐโดยไม่ต้องอยู่ในระยะเปลี่ยนผ่านที่เป็นระบอบทุนนิยมโดยรัฐ[45]

การจัดหมวดหมู่

[แก้]

สังคมนิยมแบบอิสรนิยมเป็นอิสรนิยมฝ่ายซ้ายรูปแบบหนึ่ง[41][7][35] และขบวนการซึ่งมักถูกจัดว่าเป็นสังคมนิยมแบบอิสรนิยมมี อาทิเช่น ลัทธิอนาธิปไตย (โดยเฉพาะลัทธิอนาธิปไตย-คอมมิวนิสต์ สหการนิยมแบบอนาธิปไตย (anarcho-syndicalism)[46] ลัทธิอนาธิปไตยแบบกลุ่ม (collectivist anarchism) ลัทธิอนาธิปไตยสีเขียว (green anarchism) ลัทธิอนาธิปไตยแบบปัจเจก (individualist anarchism)[47][48][49][50] มิวชวลลิสม์ (Mutualism (economic theory))[51] และลัทธิอนาธิปไตยสังคม (social anarchism)) ชุมชนนิยม (communalism) สังคมนิยมประชาธิปไตย (democratic socialism) บางรูปแบบ สังคมนิยมแบบสมาคมอาชีพ (guild socialism)[52] ลัทธิมากซ์แบบอิสรนิยม[12] (เช่นอัตตาณัตินิยม (autonomism) ลัทธิคอมมิวนิสต์แบบองค์คณะนิยม[53] ลัทธิคอมมิวนิสต์ฝ่ายซ้าย (left communism) และลัทธิลุคเซิมบวร์ค)[54][55] คตินิยมการมีส่วนร่วม (participism) สหการนิยม และสังคมนิยมแบบยูโทเปีย (utopian socialism) บางรูปแบบ[56]

ประวัติ

[แก้]

นักเศรษฐศาสตร์โรบิน ฮาห์เนล กล่าวถึงประวัติศาสตร์ของสังคมนิยมแบบอิสรนิยมไว้ใน Economic Justice and Democracy (ค.ศ. 2005) ตอนหนึ่งว่า ช่วงเวลาที่สังคมนิยมแบบอิสรนิยมสร้างผลกระทบมากที่สุดคือช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 จนถึงสี่ทศวรรษแรกของคริสต์ศตวรรษที่ 20 เขากล่าวว่าในช่วงนี้ "สังคมนิยมแบบอิสรนิยมเป็นกระแสที่แรงพอ ๆ กับประชาธิปไตยสังคมนิยมและลัทธิคอมมิวนิสต์" องค์การอนาธิปไตยสากลแซ็งต์-อีมีเย (Anarchist St. Imier International) ถูกก่อตั้งขึ้นใน ค.ศ. 1872 ที่การประชุมใหญ่แซ็งต์-อีมีเยไม่กี่วันให้หลังจากการแยกตัวจากกันของฝั่งมาร์กซิสต์และฝั่งอิสรนิยมที่การประชุมใหญ่ที่กรุงเฮกใน ค.ศ. 1872 (Hague Congress (1872)) ของสมาคมกรรมกรสากล (First international) องค์การอนาธิปไตยสากลนี้ "ต่อสู้ช่วงชิงความภักดีของนักกิจกรรมต่อต้านทุนนิยม นักปฏิวัติ คนงาน สหภาพ และพรรคการเมือง มาจากพวกประชาธิปไตยสังคมนิยมและคอมมิวนิสต์ได้สำเร็จมาตลอดช่วงเวลากว่าห้าสิบปี" ในมุมมองของฮาห์เนล นักสังคมนิยมอิสรนิยม "มีบทบาทสำคัญในการปฏิวัติรัสเซียใน ค.ศ. 1905 และ 1917 นักสังคมนิยมอิสรนิยมมีบทบาทสำคัญในการปฏิวัติเม็กซิโกใน ค.ศ. 1911 ยี่สิบปีให้หลังจุดจบของสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง นักสังคมนิยมอิสรนิยมยังมีกำลังมากพอที่จะเป็นหัวหอกการปฏิวัติทางสังคมซึ่งกระจายไปทั่วประเทศสเปนให้กลายเป็นสาธารณรัฐใน ค.ศ. 1936 และ 1937"[57] ในขณะที่อีกฟากหนึ่ง แนวคิดแบบอิสรนิยมเริ่มก่อตัวในลัทธิมากซ์และโดดเด่นขึ้นมาตอนปลายคริสตทศวรรษ 1910 ในฐานะปฏิกิริยาโต้กลับลัทธิบอลเชวิคและลัทธิเลนินซึ่งเข้ามามีอำนาจและสถาปนาสหภาพโซเวียต[58][59][60]

ในคำนำของ เคนต์ บรอมลีย์ (Kent Bromley) ใน The Conquest of Bread ของปิออตร์ โครปอตกิน (Peter Kropotkin) เขาถือว่านักสังคมนิยมแบบยูโทเปียชาวฝรั่งเศสชาร์ล ฟูรีเย (Charles Fourier) เป็นผู้ก่อตั้งแนวคิดสังคมนิยมแบบอิสรนิยมซึ่งตรงข้ามกับแนวคิดสังคมนิยมแบบอำนาจนิยมของฟร็องซัว-นอแอล บาเบิฟ (François-Noël Babeuf) กับฟีลิป บูโอนาร์โรตี (Philippe Buonarroti)[56]

นักรัฐศาสตร์ฟร็องซิส ดูว์ปุย-เดรี (Francis Dupuis-Déri) กล่าวว่า "หลายปีที่ผ่านมาในคริสตทศวรรษ 1970 และ 1980 บรรยากาศต่อต้านอำนาจนิยมและชนชั้นวรรณะปรากฏในขบวนการทางสังคม ซึ่งมองว่าองค์กรที่ต่อสู้เป็นพื้นที่เสรี ปกครองและจัดการโดยสมาชิกเอง และสำนึกในผลประโยชน์ของส่วนรวม ความเท่าเทียม และเสรีภาพ ที่พัฒนาผ่านการปรึกษาหารือ ต่อมาบรรยากาศต่อต้านโลกาภิวัตน์ก็ถูกรับเข้ามาในขบวนการ ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงปลายคริสตทศวรรษ 1990 ผ่านการชุมนุมบนท้องถนนที่น่าประทับใจ ตั้งแต่ยุทธการที่ซีแอตเทิลใน ค.ศ. 1999 จนถึงการเคลื่อนไหวต่อต้านกลุ่ม 8 ในประเทศเยอรมนีช่วงฤดูร้อน ค.ศ. 2007 รวมถึงเครือข่ายทั่วโลก สื่อทางเลือก ศิลปะ และค่ายมูลวิวัติบนชายขอบเวทีสมัชชาทางสังคม"[61]

ตัวอย่าง

[แก้]
AANES มีความพยายามสนับสนุนให้คนงานก่อตั้งสหกรณ์ขึ้นมา เช่นสหกรณ์เย็บผ้าในเมืองเดริก (Dêrik) ดังภาพ

ตัวอย่างขององค์กรและตัวแบบการตัดสินใจของขบวนการสังคมนิยมแบบอิสรนิยมร่วมสมัยประกอบด้วยขบวนการต่อต้านทุนนิยมและโลกาภิวัตน์[62] อาทิกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติซาปาติสตา (EZLN) กับระบบ "สภาแห่งรัฐบาลที่ดี" (Junta de Buen Gobierno) ฝ่ายปกครองตนเองซีเรียเหนือและตะวันออก (AANES)[63] เครือข่ายนักข่าวทั่วโลก อินดีมีเดีย (Indymedia) และสังคมคนพื้นเมืองจำนวนหนึ่งซึ่งอาจมองได้ว่ามีระบบเศรษฐกิจและการเมืองแบบอนาธิปไตยหรือสังคมนิยมอิสรนิยมที่แตกต่างไปตามวัฒนธรรมของแต่ละกลุ่ม[64]

มโนคติ

[แก้]

คติต่อต้านทุนนิยม

[แก้]
พีระมิดของระบบทุนนิยม อิงตามสหภาพแรงงานสากลคนงานอุตสาหกรรมแห่งโลก ค.ศ. 1911

นักสังคมนิยมอิสรนิยมเสนอว่าเมื่ออำนาจถูกใช้ส่งอิทธิพลของบุคคลหนึ่งเหนือบุคคลอื่น ภาระการให้ความชอบธรรมนั้นตกอยู่กับผู้ที่ใช้อำนาจตราบเท่าที่มันถูกใช้ละเมิดสิทธิของบุคคล[65] นักสังคมนิยมอนาธิปไตยมองว่าโครงสร้างทางสังคมใด ๆ ควรถือกำเนิดขึ้นจากกลุ่มของบุคคลที่มีอำนาจการตัดสินใจเท่ากัน การสะสมอำนาจทางเศรษฐกิจหรือการเมืองไว้ในมือของกลุ่มคนไม่กี่คนจึงเป็นการละเมิดการใช้เสรีภาพของบุคคลอย่างเสรีของบุคคลส่วนใหญ่ในกลุ่ม[66]

สังคมนิยมแบบอิสรนิยมเป็นแนวคิดที่ต่อต้านระบอบทุนนิยม (Anti-capitalism) ซึ่งมีหลักการที่ต่างจากลัทธิทุนนิยมและอิสรนิยมฝ่ายขวา (right-libertarianism) ซึ่งสนับสนุนการรวมศูนย์อำนาจทางเศรษฐกิจไว้ในมือของกลุ่มคนที่เป็นเจ้าของทุนเยอะที่สุด คติสังคมนิยมแบบอิสรนิยมมีเป้าหมายที่จะกระจายอำนาจให้ทั่วถึงคนทุกคนในสังคม และต่างจากคติอิสรนิยมฝ่ายขวา เช่น เสรีนิยมใหม่ ตรงที่คติอย่างแรกเชื่อว่าเสรีภาพของคน ๆ หนึ่งขึ้นอยู่กับสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมของเขา ในขณะที่คติอย่างหลังเชื่อในเสรีภาพในการเลือกในระบอบทุนนิยม โดยเฉพาะทรัพย์สินส่วนบุคคลในระบอบทุนนิยม[67]

หรือพูดอีกแบบ ในขณะที่ทุนนิยมมีหลักการที่รวมศูนย์อำนาจทางเศรษฐกิจไว้ในมือของบุคคลที่มีทุนมากที่สุด (ดังเช่นแนวคิดอิสรนิยมในทวีปอเมริกาเหนือ) สังคมนิยมแบบอิสรนิยมในทางกลับกันมุ่งที่จะกระจายอำนาจ และดังนั้นเสรีภาพ ให้กับทุกคนในสังคมอย่างเท่าเทียม[68]

ลัทธิอนาธิปไตยวิจารณ์ความสัมพันธ์แบบทาสค่าจ้างซึ่งถือว่าเป็นเหมือนทาสกึ่งสมัครใจ (voluntary slavery)[69] ที่การดำรงชีพ (livelihood) ของบุคคลหนึ่งขึ้นอยู่กับค่าจ้างของเขาเพียงอย่างเดียว[70][71] คำว่าทาสค่าจ้างเป็นคำที่มีนัย (connotation) เชิงลบซึ่งเป็นการเปรียบเทียบระหว่างความเป็นทาสกับแรงงานรับจ้าง (wage labour) โดยมุ่งเน้นไปที่ความคล้ายคลึงระหว่างการเป็นเจ้าของกับการเช่ามนุษย์คนหนึ่ง คำนี้ถูกนำมาใช้เพื่อวิจารณ์การแสวงหาประโยชน์ทางเศรษฐกิจ (economic exploitation) และการจัดช่วงชั้นทางสังคม โดยอย่างแรกถูกมองว่าแสดงถึงอำนาจการต่อรองระหว่างแรงงานกับทุนที่ไม่เท่ากันเป็นหลัก (โดยเฉพาะเมื่อคนงานมีค่าจ้างต่ำ อย่างเช่นในโรงงานนรก (sweatshop))[72] และอย่างหลังพูดถึงการขาดแคลนของระบบการจัดการโดยคนงานเองซึ่งจะสนองทางเลือกอาชีพการงานและนันทนจิต (leisure) ภายในระบบเศรษฐกิจ[73][74][75] นักสังคมนิยมอิสรนิยมเชื่อว่า ด้วยการให้คุณค่ากับเสรีภาพ สังคมจะมุ่งหน้าไปสู่ระบบที่ปัจเจกบุคคลมีอำนาจในการตัดสินใจเกี่ยวกับประเด็นทางเศรษฐกิจและการเมือง และต้องการแทนที่อำนาจที่ไม่ชอบธรรมด้วยระบบประชาธิปไตยโดยตรง การสมาคมโดยสมัครใจ และการปกครองตนเองของประชาชนในทุกแง่มุมของชีวิต[76] ซึ่งรวมถึงทั้งชุมชนในเชิงกายภาพและวิสาหกิจในเชิงเศรษฐกิจ ด้วยการมาถึงของการปฏิวัติอุตสาหกรรม นักคิดหลายคนเช่น ปีแยร์-โฌแซ็ฟ พรูดง (Pierre-Joseph Proudhon) และ คาร์ล มาคส์ ได้สาธยายเปรียบเทียบระหว่างแรงงานรับจ้างกับทาส ในบริบทของการวิจารณ์ทรัพย์สินทางสังคมซึ่งไม่ได้มีไว้สำหรับใช้ในกิจส่วนตัว[77][78] ต่อมา เอมมา โกลด์แมน (Emma Goldman) ได้กล่าวประณามทาสค่าจ้างว่า ทาสกับแรงงานรับจ้างต่างกันแค่ตรงที่อย่างแรกเป็นทาสซื้อขายและอีกอย่างเป็นทาสให้เช่า[79]

จอห์น โอนีลล์ กล่าวว่า ก่อนหน้าชัยชนะทางการเมืองของลัทธิบอลเชวิคในยุโรปตะวันออกและลัทธิเฟเบียนรูปแบบต่าง ๆ ในยุโรปตะวันตก ประวัติของแนวคิดสังคมนิยมนั้นเต็มไปด้วยธรรมเนียมของการสมาคมซึ่งไม่ใช่แบบตลาดและการต่อต้านรัฐ[28] นักสังคมนิยมแบบอิสรนิยมหลายคนเชื่อว่าการผลิตภาคอุตสาหกรรมนั้นควรถูกจัดการโดยสมาคมโดยสมัครใจขนาดใหญ่ ในขณะเดียวกัน คนงานแต่ละคนก็สมควรมีสิทธิในผลผลิตแต่ละชิ้นซึ่งมาจากแรงงานของตนเอง[80] พวกเขาแยกประเภทของทรัพย์สินเพิ่มเป็นทรัพย์สินส่วนบุคคลกับทรัพย์สินส่วนตัว โดยทรัพย์สินส่วนบุคคลเป็นทรัพย์สินชนิดที่ผู้ถือกรรมสิทธิ์ในสิ่ง ๆ หนึ่งนั้นจะมีอำนาจเหนือสิ่งนั้นไม่ว่ามันกำลังถูกใช้งานอยู่หรือหรือไม่ และไม่ว่ามันจะมีศักยภาพในการผลิตมากขนาดไหน ในขณะที่ทรัพย์สินส่วนตัวเป็นทรัพย์สินชนิดที่หากไม่ได้ถูกนำมาใช้งานอยู่ก็ไม่มีใครที่ถือกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้น[81] มากไปกว่านั้น พวกเขายังตั้งคำถามถึงการแบ่งแยกระหว่างการทำงานและการใช้ชีวิต (refusal of work) และเสนอทางเลือกใหม่แทน ซึ่งมีรากฐานในแนวคิดเกี่ยวกับศักดิ์ศรี การตระหนักรู้ในตนเอง และเสรีภาพจากการถูกแสวงหาประโยชน์และการครอบงำ ซึ่งในที่นี้เสรีภาพซึ่งไม่ได้เป็นเชิงลบ (negative liberty) เพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นเสรีภาพเชิงบวก (positive liberty) ด้วย ในแง่ที่มองถึงความเจริญรุ่งเรืองของมนุษย์ ก็เป็นสิ่งที่สำคัญ และเป็นความเข้าใจของแนวคิดเรื่องเสรีภาพซึ่งเกี่ยวโยงกับกับเงื่อนไขทางสังคมและชุมชน และซึ่งมองว่าเสรีภาพนั้นแยกไม่ขาดจากแนวคิดเรื่องความเท่าเทียม[82]

คติต่อต้านอำนาจนิยมและรัฐนิยม

[แก้]

แนวคิดอิสรนิยมโดยทั่วไปถือว่าการรวมศูนย์อำนาจเป็นบ่อเกิดของการกดขี่ซึ่งจำต้องถูกท้าทายและให้ความชอบธรรมอยู่อย่างต่อเนื่อง นักสังคมนิยมแบบอิสรนิยมส่วนใหญ่เชื่อว่าเมื่ออำนาจถูกใช้ส่งอิทธิพลไม่ว่าจะเป็นทางเศรษฐกิจ สังคม หรือทางกายภาพ ของบุคคลหนึ่งเหนือบุคคลอื่น ภาระการให้ความชอบธรรมนั้นตกอยู่กับผู้ที่ใช้อำนาจตราบเท่าที่มันถูกใช้ละเมิดสิทธิของบุคคล[65] และยังต่อต้านโครงสร้างของอำนาจที่ตายตัวและเป็นลำดับชั้น ไม่ว่าจะเป็นอำนาจทางการเมือง (power (social and political) ทางเศรษฐกิจ (economic power) หรือทางสังคม[83]

นักสังคมนิยมแบบอิสรนิยมมุ่งที่จะแทนที่รัฐและบริษัทด้วยการจัดระเบียบของสังคมเป็นสมาคมโดยสมัครใจ (เช่น คอลเลกทีฟ (collective), คอมมูน (intentional community), เทศบาล, สหกรณ์, ทรัพยากรส่วนรวม (commons) หรือสหการ (syndicate)) ซึ่งใช้ประชาธิปไตยโดยตรงและฉันทามติในกระบวนการตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ นักสังคมนิยมแบบอิสรนิยมบางคนสนับสนุนให้รวมสมาคมเหล่านี้เข้าด้วยกันเป็นสหพันธ์ในระดับที่สูงขึ้นซึ่งประกอบไปด้วยตัวแทนแบบหมุนเวียนและเรียกกลับได้[84] ตัวอย่างของสหพันธ์รูปแบบนี้ในทางปฏฺบัติเช่นลัทธิอนาธิปไตยในประเทศสเปน (anarchism in spain) หรือตัวอย่างในปัจจุบันดังที่ยกตัวอย่างไป

ตรงข้ามกับความคิดทั่วไป สังคมนิยมแบบอิสรนิยมไม่ใช่ขบวนการแบบยูโทเปีย (utopia) และมักหลีกเลี่ยงการคาดการณ์หรือการวิเคราะห์เชิงทฤษฎีเชิงลึกว่าสังคมในอนาคตจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร แต่ยึดธรรมเนียมว่าการตัดสินใจเรื่องเหล่านั้นไม่สามารถทำได้ในตอนนี้ โดยจะทำได้ผ่านการดิ้นรนและการทดลองเท่านั้นเพื่อให้ได้มาซึ่งคำตอบที่ดีที่สุดอย่างเป็นประชาธิปไตยและเป็นธรรมชาติ และการวางรากฐานทิศทางการดิ้นรนไว้บนตัวอย่างในประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นแล้ว โดยชี้ให้เห็นความสำเร็จของระเบียบวิธีแบบวิทยาศาสตร์ว่าเกิดจากการยึดในการสำรวจอย่างมีเหตุผลที่เปิดกว้าง แทนที่จะยึดว่าข้อสรุปเป็นอย่างไร ต่างจากสิทธันต์ (dogma) และการคาดการณ์ไว้ก่อนหน้าอย่างสิ้นเชิง นักอนาธิปัตย์คนหนึ่งชื่อ รูด็อล์ฟ ร็อคเคอร์ (Rudolf Rocker) ได้กล่าวว่าเขาไม่ได้เป็นนักอนาธิปัตย์เพราะเขาเชื่อในอนาธิปไตยเป็นเป้าหมายสุดท้าย แต่เพราะมันไม่มีสิ่งที่เรียกว่าเป้าหมายสุดท้าย[85]

เพราะสังคมนิยมแบบอิสรนิยมส่งเสริมให้มีการสำรวจและยอมรับความคิดที่หลากหลายมากกว่าการจัดตั้งขบวนการที่เหนียวแน่น จึงมีการโต้เถียงเกี่ยวกับความเป็นนักสังคมนิยมของบางคนที่ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดหลักในบางข้ออยากหลีกเลี่ยงไม่ได้ ปีเตอร์ เฮน (Peter Hain) ตีความสังคมนิยมแบบอิสรนิยมเป็นแนวคิดแบบ "minarchism" มากกว่าอนาธิปไตย โดยสนับสนุนการกระจายอำนาจแบบมูลวิวัติแต่ไม่ไปไกลถึงขนาดการล้มเลิกรัฐอย่างสมบูรณ์[86] นักสังคมนิยมแบบอิสรนิยม โนม ชอมสกี สนับสนุนการรื้อถอนอำนาจทางสังคมและเศรษฐกิจที่ไม่ชอบธรรมทุกรูปแบบ และในขณะเดียวกันก็เน้นย้ำว่าการแทรกแทรงจากภาครัฐเป็นสิ่งที่ควรสนับสนุนเป็นการคุ้มครองชั่วคราวขณะที่โครงสร้างที่กดขี่ยังคงมีอยู่[87] เช่นกัน ปีเตอร์ มาร์แชล (Peter Marshall (author)) กล่าวว่ามันรวมถึงพวกที่นิยมการกระจายอำนาจซึ่งต้องการจำกัดและกระจายอำนาจของรัฐ พวกสหการนิยมซึ่งต้องการล้มล้างมันให้สิ้นไป จนถึงแม้แต่พวกลัทธิเฟเบียนและประชาธิปไตยสังคมนิยมซึ่งต้องการสร้างเศรษฐกิจแบบสังคมกรณ์ (socialization) แต่ยังเห็นว่ารัฐยังมีหน้าที่ที่จำกัด[16]

ผู้ที่สนับสนุนแนวคิดนี้เป็นที่รู้จักว่าต่อต้านการมีอยู่ของรัฐหรือรัฐบาล และปฏิเสธไม่มีส่วนร่วมกับสถาบันทางการเมืองที่ใช้อำนาจบังคับ ในอดีต บางคนปฏิเสธที่จะสาบานตนในศาลหรือเข้าร่วมกระบวนการพิจารณาคดี แม้เมื่อจำต้องถูกจำคุก[88] หรือเนรเทศ[89] พวกคอมมิวนิสต์ฝ่ายซ้าย ซึ่งถือว่าเป็นแนวคิดสังคมนิยมแบบอิสรนิยมรูปแบบหนึ่งซึ่งเคลือบแคลงในแนวคิดแบบลัทธิมากซ์–เลนินและประชาธิปไตยสังคมนิยม[90] ถูกกล่าวถึงว่าเป็นกลุ่มคนที่มองว่าการจัดการโดยตนเองของชนชั้นแรงงานหรือของผู้คนเป็นคำตอบของปัญหาในการดิ้นรนเพื่อให้ได้มาซึ่งสังคมนิยม การปฏิวัติ และการจัดระเบียบของสังคมหลังทุนนิยม แต่ก็ยังคงมีการรวมกลุ่มกันในรูปแบบที่คล้ายกับเป็นพรรคซึ่งใช้กระบวนการปลุกปั่น โฆษณาชวนเชื่อ การให้การศึกษา และการแทรกแซงทางการเมืองในรูปแบบอื่น ๆ สิ่งนี้เป็นประเด็นที่มีปัญหาในขบวนการคอมมิวนิสต์ฝ่ายซ้าย และทำให้เกิดความแตกต่างในแต่ละขบวนการ ตั้งแต่ฝั่งที่ปฏิเสธการมีพรรคการเมืองและเลือกมีเพียงกลุ่มศึกษาหรือกลุ่มเครือสหาย (affinity group) แทน จนถึงฝั่งที่วิจารณ์ความไร้เดียงสาของแนวคิดที่บอกว่าการปฏิวัติจะเกิดขึ้นเอง และยืนกรานว่าองค์การคอมมิวนิสต์ที่มีวินัย วิจารณ์ตนเอง และเชื่อมโยงกันด้วยคนจำนวนมากมีหน้าที่ที่จำเป็นของมัน แม้จะมีความเคร่งครัดน้อยกว่าพรรคคอมมิวนิสต์ทั่วไป[91]

เสรีภาพของพลเมืองและเสรีภาพของปัจเจกบุคคล

[แก้]
เอมมา โกลด์แมน นักอนาธิปัตย์ชาวอเมริกัน (Anarchism in the United States) นักสตรีสิทธินิยมอนาธิปไตย และนักกิจกรรมเพื่อความรักเสรีและความคิดอย่างอิสระ

นักสังคมนิยมแบบอิสรนิยมสนับสนุนเสรีภาพของพลเมือง (civil liberties) (ซึ่งรวมถึงเสรีภาพในการพูด ศาสนา การชุมนุม และอื่น ๆ[92]) ซึ่งมอบสิทธิให้ปัจเจกบุคคล เช่นเสรีภาพในเรื่องความรักและเพศ (free love) และเรื่องความคิด ต่อสู้กับสถาบันรัฐและศานาที่จำกัดสิทธิเหล่านี้ ลัทธิอนาธิปไตยสนับสนุนความรักเสรีมาตั้งแต่เริ่ม และเด่นชัดขึ้นในขบวนการสตรีสิทธินิยมแบบอนาธิปไตยและขบวนการการสนับสนุนสิทธิของกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ในสมัยต่อมา ลัทธิอนาธิปไตยมีส่วนร่วมในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเพศเช่นงานลามก[93] บีดีเอสเอ็ม และอุตสาหกรรมทางเพศ (sex industry)[94]

คตินิยมสิทธิสตรีแบบอนาธิปไตยเป็นการผสมกันระหว่างแนวคิดสิทธิสตรีแบบมูลวิวัติกับลัทธิอนาธิปไตย ซึ่งมองว่าปิตาธิปไตยเป็นรัฐเชิงบีบบังคับขั้นพื้นฐานที่ปรากฏออกมา โดยได้รับอิทธิพลจากงานเขียนในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ของนักอนาธิปัตย์สตรีสิทธินิยมยุคแรกเช่นลูซี พาร์สันส์ (Lucy Parsons) เอมมา โกลด์แมน (Emma Goldman) วอลแตรีน เดอ แคลร์[95] และบีร์ฆิเนีย บ็อลเทิน[96] นักสตรีสิทธินิยมอนาธิปไตยวิจารณ์และสนับสนุนให้เลิกแนวคิดเรื่องครอบครัว การศึกษา และบทบาททางเพศแบบประเพณีดั้งเดิม[97] ผู้สนับสนุนแนวคิดความรักเสรีบางรายนับว่าขบวนการมีต้นกำเนิดจากนักอนาธิปัตย์ยุคแรกเช่นโจไซอา วอร์เรน (Josiah Warren) กับชุมชนทดลองต่าง ๆ และมองว่าเสรีภาพทางเพศเป็นการแสดงออกซึ่งสิทธิแห่งตน (self-ownership) ของปัจเจกบุคคล[98] ความรักเสรีให้ความสำคัญกับสิทธิสตรีเพราะกฎหมายที่เกี่ยวกับเพศส่วนใหญ่เลือกปฏิบัติต่อสตรี เช่นกฎหมายการสมรสและมาตรการต่อต้านการคุมกำเนิด[98]

นักสังคมนิยมอิสรนิยมเคลือบแคลงและต่อต้านศาสนาจัดตั้ง (Organized religion)[99] ความคิดอย่างอิสระเป็นมุมมองเชิงปรัชญาซึ่งถือว่าความคิดเห็นต้องมีอยู่บนฐานของวิทยาศาสตร์ ตรรกะ และเหตุผล และไม่ควรได้รับอิทธิพลจากอำนาจ ประเพณี หรือสิทธันต์อื่นใด[100][101] ในสหรัฐ ขบวนการความคิดอย่างอิสระต่อต้านศาสนาคริสต์และศาสนจักร โดยมีเป้าหมายให้บุคคลมีอิสระทางการเมืองและจิตวิญญาณที่จะตัดสินเรื่องเกี่ยวกับศาสนาด้วยตนเอง ผู้มีส่วนร่วมในวารสารอนาธิปัตย์ Liberty หลายคนเป็นบุคคลสำคัญในขบวนการอนาธิปไตยและความคิดอย่างอิสะ ไม่ว่าจะเป็น จอร์จ แมคโดนัลด์ บรรณาธิการร่วมของ Freethought กับ The Truth Seeker และ อี.ซี. วอล์กเกอร์ บรรณาธิการร่วมของ Lucifer, the Light-Bearer[102] Free Society เป็นหนึ่งในหนังสือพิมพ์อนาธิปัตย์ที่สำคัญช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 และต้น 20 ในสหรัฐ[103] ที่สนับสนุนความรักเสรีและสิทธิสตรี และวิจารณ์การเซ็นเซอร์เนื้อหาที่เกี่ยวกับเพศของแอนโทนี คอมสต็อก (Anthony Comstock)[104]

ใน ค.ศ. 1901 นักอนาธิปัตย์ชาวกาตาลันและนักคิดอย่างอิสระฟรันซิสโก เฟร์เรร์ (Francisco Ferrer) ก่อตั้งโรงเรียน (Ferrer movement) หัวก้าวหน้าขึ้นในบาร์เซโลนาเพื่อท้าทายระบบการศึกษาที่ศาสนจักรคาทอลิกควบคุม[105] โรงเรียนเหล่านี้มีเป้าหมายให้การศึกษาแก่ชนชั้นแรงงาน (Popular education) ในบริบทที่ใช้เหตุผล เป็นโลกวิสัย และไม่บีบบังคับ เฟร์เรร์ต่อต้านศาสนจักรและเชื่อในเสรีภาพในการศึกษาที่เป็นอิสระจากอำนาจของศาสนจักรและรัฐ[106]

ในคริสต์ศตวรรษที่ 20 นักลัทธิมากซ์-ฟร็อยท์ (Freudo-Marxism) ชาวออสเตรียวิลเฮ็ล์ม ไรช์ (Wilhelm Reich) ซึ่งเป็นคนบัญญัติวลีการปฏิวัติทางเพศ (sexual revolution) ในคริสต์ทศวรรษ 1940[107] เรียกร้องเสรีภาพทางเพศ เอลิซาเบธ ดันโต (Elizabeth Danto) กล่าวว่าเขาเปิดคลินิกให้คำปรึกษาทางเพศโดยไม่มีค่าใช้จ่ายให้แก่ชนชั้นแรงงานในเวียนนาโดยให้คำปรึกษาแบบจิตวิเคราะห์ คำแนะนำมาร์กซิสต์ กับอุปกรณ์คุมกำเนิด และสนับสนุนการแสดงออกทางเพศของทุกคนรวมถึงเยาวชนและคนที่ยังไม่แต่งงาน โดยยินยอมมากจนทั้งฝ่ายซ้ายและนักจิตวิเคราะห์บางส่วนไม่สบายใจ คลินิกของเขาได้รับความนิยมในทันทีจากผู้คนจำนวนมากที่ต้องการความช่วยเหลือ[108] ในช่วงต้นคริสต์ทศวรรษที่ 1970 นักอนาธิปัตย์และสันตินิยมชาวอังกฤษอเล็กซ์ คอมฟอร์ท (Alex Comfort) เป็นที่รู้จักจากงานเขียนคู่มือเพศสัมพันธ์ชื่อ The Joy of Sex[109] และ More Joy of Sex[110]

วิธีการซึ่งใช้ความรุนแรงและซึ่งไม่ใช้ความรุนแรง

[แก้]

นักสังคมนิยมอิสรนิยมบางคนมองว่าการปฏิวัติที่ใช้ความรุนแรงเป็นสิ่งที่จำเป็นเพื่อล้มล้างสังคมทุนนิยม ในขณะที่คนอื่น ๆ สนับสนุนวิธีการที่ไม่ใช้ความรุนแรง แอร์รีโก มาลาเตสตา (Errico Malatesta) กล่าวว่าการใช้ความรุนแรงเป็นสิ่งที่จำเป็น ดังที่เขากล่าวไว้ใน อูมานีตา โนวา (Umanità Nova) (ฉบับที่ 125, 6 กันยายน 1921):

ความปรารถนาและความตั้งใจของเราคือการที่ทุกคนควรมีจิตสำนึกและประสิทธิผลทางสังคม แต่เพื่อให้ได้มาซึ่งเป้าหมายนี้ เป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องให้ทุกคนมีปัจจัยการดำรงชีพและการพัฒนา และจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องใช้ความรุนแรงเพื่อทำลายความรุนแรงซึ่งปฏิเสธปัจจัยเหล่านี้แก่เหล่าคนงาน ในเมื่อไม่มีทางอื่นใดที่จะทำได้[111]

ปีแยร์-โฌแซ็ฟ พรูดง สนับสนุนการปฏิวัติที่ไม่ใช้ความรุนแรง (nonviolent revolution) ผ่านกระบวนการอำนาจคู่ (dual power) ซึ่งคือการก่อตั้งสถาบันเชิงสังคมนิยมอิสรนิยมซึ่งจะสร้างสมาคมที่จะทำให้สามารถขยายเครือข่ายภายใต้ระบอบทุนนิยมรัฐที่เป็นอยู่ได้โดยมีความตั้งใจว่าในที่สุดจะทำให้ทั้งรัฐและเศรษฐกิจแบบทุนนิยมต้องเสื่อมลงไป การที่ลัทธิอนาธิปไตยเคลื่อนไปหาความรุนแรงนั้นก็มีรากมาจากที่ชุมชนซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากความคิดของพรูดงและคนอื่นต้องประสบกับการฆาตกรรมหมู่ นักลัทธิคอมมิวนิสต์อนาธิปไตยหลายคนเริ่มมองเห็นความจำเป็นของความรุนแรงเพื่อการปฏิวัติเพื่อตอบโต้กับความรุนแรงที่มีอยู่ทั้งในระบอบทุนนิยมและรัฐบาล[112]

ลัทธิอนาธิปไตยแบบสันตินิยม (Anarcho-pacifism) เป็นขบวนการอนาธิปไตยที่ปฏิเสธการใช้ความรุนแรงในการดิ้นรนเพื่อการเปลี่ยนแปลงในสังคม[113] ผู้ที่มีอิทธิพลทางความคิดแนวทางนี้ที่สำคัญคนแรก ๆ เช่น เฮนรี เดวิด ทอโร[113] และ เลโอ ตอลสตอย[114][113] แนวคิดนี้พัฒนาขึ้นมาใน ฮอลแลนด์ [ตามต้นฉบับ] บริเตน และสหรัฐทั้งก่อนและระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองเป็นส่วนใหญ่[115] การต่อต้านวิธีการใช้ความรุนแรงไม่ได้หมายความว่านักอนาธิปัตย์แบบสันตินิยมจะไม่ยอมรับในหลักการขัดขืนหรือแม้แต่กิจการปฏิวัติ ตราบใดที่ไม่ก่อให้เกิดความรุนแรง และการยอมรับแนวทางการต่อต้านอำนาจเช่นนี้เองนำพาให้นักอนาธิปัตย์สันตินิยมสนับสนุนแนวคิดการนัดหยุดงานทั่วไปของสหการนิยมแบบอนาธิปไตยเป็นอาวุธในการปฏิวัติ[116]

ประเด็นสิ่งแวดล้อม

[แก้]

ลัทธิอนาธิปไตยสีเขียวเป็นสำนักคิดอนาธิปไตยซึ่งเน้นย้ำโดยเฉพาะในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม[117][118] อิทธิพลเริ่มแรกมาจากความคิดของนักอนาธิปัตย์ชาวอเมริกัน เฮนรี เดวิด ทอโร และหนังสือชื่อ วอลเดน ของเขา[119] รวมถึง เลโอ ตอลสตอย[120] และ เอลีเซ เรอกลูว์ (Élisée Reclus)[121][122] ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 คตินิยมธรรมชาติแบบอนาธิปไตย (anarcho-naturism) ถือกำเนิดขึ้นจากการผสานกันของลัทธิอนาธิปไตยและปรัชญาคตินิยมธรรมชาติ (naturism) ภายในวงขบวนการลัทธิอนาธิปไตยแบบปัจเจก[123][124][125][126] ในประเทศคิวบา[127] โปรตุเกส[119][120] ฝรั่งเศส[128][129] สเปน[120][129] และสหราชอาณาจักร[130]

นอกจากนี้ยังมีแนวคิดกระแสปัจจุบันเช่นบรรพกาลนิยมแบบอนาธิปไตย (Anarcho-primitivism) และนิเวศวิทยาสังคม (Social ecology (Bookchin))[131] นักกิจกรรมและทฤษฎีอย่าง ตากิส โฟโตปูโลส (Takis Fotopoulos), โนม ชอมสกี, เมอร์เรย์ บุคชิน (Murray Bookchin) และ กอร์นีลิโอส กัสโตริอาดิส (Cornelius Castoriadis) ได้เขียนในวารสารสังคมนิยมอิสรนิยมและประชาธิปไตยเชิงนิเวศ[132] ในช่วงต้นคริสต์ทศวรรษ 1990 ที่มีชื่อว่า เดโมเครซีแอนด์เนเชอร์ (Democracy & Nature)[133][134][135]

รากฐานทางการเมือง

[แก้]

ภายในแนวคิดสังคมนิยมสมัยใหม่ยุคแรก

[แก้]

กบฏชาวนาในยุคหลังการปฏิรูป

[แก้]
ภาพพิมพ์แกะไม้จากเอกสารเลเวลเลอส์ โดย วิลเลียม เอเฟอราร์ด (William Everard (Digger))

นักสังคมนิยมแบบอิสรนิยมอ้างว่าพวกเลเวลเลอส์ (Levellers) ชาวอังกฤษจากคริสต์ศตวรรษที่ 17 เป็นหนึ่งในบรรพบุรุษทางอุดมการณ์ของพวกเขา[136] นักเขียนสังคมนิยมแบบอิสรนิยมบางคนได้ระบุงานเขียนของนักปฏิรูปสังคมโปรเตสแตนต์ชาวอังกฤษ เจอร์ราร์ด วินสแตนลีย์ (Gerrard Winstanley) และงานกิจกรรมทางสังคมของกลุ่มของเขา (ดิกเกอส์ (Diggers)) ว่าเป็นสารตั้งต้นของแนวคิดแนวนี้[137][138] ในมุมมองของนักประวัติศาสตร์อนาธิปัตย์ จอร์จ วูดค็อก (George Woodcock) ถึงแม้ว่า ปีแยร์-โฌแซ็ฟ พรูดง จะเป็นนักเขียนคนแรกที่เรียกตนเองเป็นนักอนาธิปัตย์ มีคนอย่างน้อยอีกสองคนก่อนหน้าที่ร่างเค้าโครงของระบบซึ่งมีองค์ประกอบพื้นฐานของอนาธิปไตยทุกประการ คนแรกคือ เจอร์ราร์ด วินสแตนลีย์ (ค.ศ. 1609 ถึง ป. 1660) ซึ่งเป็นผู้ค้าผ้าลินินที่ได้นำการเคลื่อนไหวขนาดเล็กของพวกดิกเกอส์ในยุคเครือจักรภพ วินสแตนลีย์และผู้ติดตามของเขาได้ประท้วงในนามของคริสต์ศาสนาสายมูลวิวัติเพื่อต่อต้านภัยพิบัติทางเศรษฐกิจตามหลังจากสงครามกลางเมืองอังกฤษ และเพื่อต่อต้านความไม่เท่าเทียมที่เหล่าขุนนางแห่งกองทัพตัวแบบใหม่ต้องการจะอนุรักษ์ไว้[139]

ระหว่าง ค.ศ. 1649 ถึง 1650 พวกดิกเกอส์ได้เข้าจับจองที่ดินคอมมอนในภาคใต้ของอังกฤษ และพยายามที่จะจัดตั้งประชาคมที่อยู่บนฐานของการทำงานบนที่ดินนั้นและการแบ่งปันทรัพยากร ชุมชนพวกนั้นไม่สำเร็จ แต่ใบปลิวชุดโดยวินสแตนลีย์ยังหลงเหลืออยู่ และหนึ่งในนั้น เดอะนิวลอว์ออฟไรต์เชียสเน็ส (The New Law of Righteousness) (ค.ศ. 1649) เป็นอันที่สำคัญที่สุด โดยกล่าวสนับสนุนคริสต์ศาสนาที่ใช้เหตุผล วินสแตนลีย์ถือว่าพระคริสต์นั้นคือ "อิสรภาพอันเป็นสากล" และป่าวประกาศถึงธรรมชาติความทุจริตอันเป็นสากลของอำนาจหน้าที่ เขามองเห็นถึง "เอกสิทธิ์เสมอกันที่จะแบ่งปันกันภายใต้พรของอิสรภาพ" และสืบพบถึงความเชื่อมโยงอย่างลึกซึ้งระหว่างสถาบันของทรัพย์สินและความขาดแคลนในเสรีภาพ[139]

เมอร์เรย์ บุคชิน ได้กล่าวว่าลัทธิอนาธิปไตยในโลกสมัยใหม่ปรากฏเป็นครั้งแรกในรูปของการเคลื่อนไหวของไพร่และเสรีชนเพื่อต่อต้านสถาบันศักดินาที่เสื่อมคลายลง ว่าแนวคิดของวินสแตนลีย์และมึนต์เซอร์ (Thomas Müntzer) ผู้นำสงครามชาวนาเยอรมันนั้นเหมาะสมกับยุคสมัยของพวกเขามาก ซึ่งเป็นช่วงเวลาในประวัติศาสตร์ที่ประชากรส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในชนบท และเมื่อกองกำลังปฏิวัติที่เข้มแข็งที่สุดมาจากสังคมเกษตรกรรม และกล่าวอีกว่าพวกเขานั้นพูดตรงกับช่วงเวลา และแนวคิดอนาธิปไตยของพวกเขาดำเนินมาอย่างเป็นธรรมชาติจากสังคมชนบทที่ติดอาวุธให้แก่กองทัพชาวนาในเยอรมนีและกองทัพตัวแบบใหม่ในอังกฤษ[140]

ยุคเรืองปัญญา

[แก้]
วิลเลียม กอดวิน

เป็นที่กล่าวขานโดยนักสังคมนิยมแบบอิสรนิยมบางคน ถึงมุมมองที่ถือว่าเหล่าอ็องซิกลอเปดิสต์ชาวฝรั่งเศสยุคคริสต์ศตวรรษที่ 18 (Encyclopédistes)[136] รวมถึง ทอมัส เจฟเฟอร์สัน[141][142][143], โทมัส เพน[136] และนักคิดยุคเรืองปัญญาชาวอังกฤษ วิลเลียม กอดวิน (William Godwin)[144] เป็นบรรพบุรุษทางอุดมการณ์ของพวกเขา

ในความคิดของวูดค็อก วิลเลียม กอดวิน ได้ให้เค้าโครงของลัทธิอนาธิปไตยที่ละเอียดขึ้นไว้ในหนังสือของเขา เอนไควรีคอนเซิร์นนิงโพลิติคัลจัสติส (Enquiry Concerning Political Justice) (ค.ศ. 1793) แม้จะยังไม่ใช้ชื่อว่า "Anarchism" เขาถือว่ากอดวินเป็นนักอนาธิปัตย์แบบค่อยเป็นค่อยไป โดยนิยมกระบวนการซึ่งเขามองว่าเป็นธรรมชาติกว่า เหนือกิจกรรมสายปฏิวัติ นั่นคือการสนทนาระหว่างมนุษย์ผู้มีไมตรีจิตโดยเขาหวังว่าความจริงจะมีชัยด้วยอำนาจของมันเองในที่สุด เขากล่าวอีกว่ากอดวินซึ่งได้รับอิทธิพลจากจารีตของความขัดแย้งจากอังกฤษและปรัชญาเรืองปัญญาจากฝรั่งเศส ได้นำเสนอบทวิจารณ์แบบอนาธิปไตยในขั้นพื้นฐาน เกี่ยวกับรัฐ ทรัพย์สินสะสม และการมอบหมายอำนาจหน้าที่ผ่านกระบวนการประชาธิปไตย[139]

โนม ชอมสกี ถือว่าสังคมนิยมแบบอิสรนิยมเป็น "ส่วนต่อขยายที่เหมาะสมและเป็นธรรมชาติ" ของเสรีนิยมคลาสสิก "ไปในยุคสมัยของสังคมอุตสาหกรรมขั้นสูง"[17] ชอมสกีมองว่าความคิดแบบสังคมนิยมอิสรนิยมเป็นสิ่งที่สืบเนื่องมาจากความคิดแบบเสรีนิยมคลาสสิกของยุคเรืองปัญญา[145][146] โดยกล่าวว่าจุดยืนทางอุดมการณ์ของเขานั้นวนเวียนอยู่เกี่ยวกับ "การหล่อเลี้ยงคุณลักษณะความสร้างสรรค์และความเป็นอิสรนิยมของมนุษยชน"[147] ชอมสกีแลเห็นถึงอนาคตแบบสหการนิยมแบบอนาธิปไตยที่มีการควบคุมโดยคนงาน (Workers' control) ของปัจจัยการผลิตโดยตรง และการรัฐบาลโดยสภาคนงานที่จะเลือกผู้แทนให้มาพบกันในสมัชชาสามัญต่าง ๆ[148] จุดมุ่งหมายของการปกครองโดยตนเองเช่นนี้คือเพื่อทำให้พลเมืองแต่ละคน "เป็นผู้มีส่วนร่วมโดยตรงในรัฐบาลของกิจการต่าง ๆ" ในคำพูดของเจฟเฟอร์สันเอง[149] ชอมสกีเชื่อว่าจะไม่มีความจำเป็นที่ต้องมีพรรคการเมืองอีกแล้ว[150] ชอมสกีเชื่อว่าปัจเจกบุคคลจะสามารถพึงพอใจในงานของตนเอง และมีสำนึกในหน้าที่และความสมปรารถนา ผ่านการควบคุมชีวิตการผลิตของตัวเองได้[151] ชอมสกีกล่าวว่างานที่ไม่เป็นที่นิยมและไม่เป็นที่พอใจจะสามารถถูกทำให้เป็นอัตโนมัติได้โดยสมบูรณ์ ถูกทำโดยคนงานซึ่งได้ค่าตอบแทนเป็นพิเศษ หรือถูกแบ่งสรรให้กับทุกคน[152]

ในช่วงของการปฏิวัติฝรั่งเศส ซีลแว็ง มาเรชาล (Sylvain Maréchal) ได้เรียกร้องให้ส่วนรวมได้เพลิดเพลินกับผลผลิตของแผ่นดินในแถลงการณ์ของเขา มานิเฟสโตออฟเดอะอิควอลส์ (Manifesto of the Equals) (ค.ศ. 1796) และมุ่งรอคอยถึงการหายไปของ "การแบ่งแยกอันน่าขยะแขยงระหว่างความรวยและความจน ระหว่างความยิ่งใหญ่และความเล็กน้อย ระหว่างเจ้านายและบ่าวไพร่ ระหว่างผู้ปกครองและผู้ถูกปกครอง"[54][55][153] คำว่า แอนาร์คิสต์ (anarchist) หรือนักอนาธิปัตย์ถูกนำเข้ามาในภาษาอังกฤษเป็นครั้งแรกใน ค.ศ. 1642 ในช่วงสงครามกลางเมืองอังกฤษ ซึ่งถูกใช้โดยพวกแควาเลียร์เป็นคำเหยียด (Pejorative) ฝ่ายตรงข้ามของพวกเขานั่นคือพวกหัวเกรียน[154] ต่อมาในยุคปฏิวัติฝรั่งเศส คนบางกลุ่มเช่นพวก อ็องราเฌ (Enragés) เริ่มนำคำนี้มาใช้ในด้านบวก[155] เพื่อต้านการรวมศูนย์อำนาจโดยพวกฌากอแบ็ง โดยมองว่ารัฐบาลปฏิวัตินั้นมีความย้อนแย้งในตัวเอง [154] จนกระทั่งช่วงสุดท้ายของคริสต์ศตวรรษที่ 19 คำว่า Anarchism ในภาษาอังกฤษก็ได้หมดความหมายเชิงลบในตอนแรกของมันไป[154]

ยุคจินตนิยมและสังคมนิยมแบบยูโทเปีย

[แก้]
ชาร์ล ฟูรีเย

ในคำนำซึ่งเขียนโดย เคนต์ บรอมลีย์ ในหนังสือ เดอะคอนเควสต์ออฟเบรด ของ ปิออตร์ โครปอตกิน เขาถือว่านักสังคมนิยมแบบยูโทเปียชาวฝรั่งเศส ชาร์ล ฟูรีเย เป็นผู้สถาปนาแนวคิดสังคมนิยมสาขาอิสรนิยมซึ่งตรงข้ามกับแนวคิดสังคมนิยมแบบอำนาจนิยมของ ฟร็องซัว-โนเอล บาเบิฟ และฟิลิปป์ บูโอนาร์รอตตี[56] นักอนาธิปัตย์ ฮะกีม เบย์ (Hakim Bey, นามปากกาของ ปีเตอร์ แลมบอร์น วิลสัน (Peter Lamborn Wilson)) อธิบายแนวคิดของฟูริเยว่า: "ในระบบของความบรรสานของฟูริเย กิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรม หัตถกรรม เกษตรกรรม ฯลฯ จะถือกำเนิดขึ้นจากฉันทะที่ถูกปลดปล่อย นี่คือทฤษฎีที่โด่งดังว่าด้วย 'แรงงานที่มีเสน่ห์' ฟูริเยทำให้ตัวของงานเองกลายเป็นเรื่องทางเพศ ชีวิตของฟาล็องสแตร์จึงเป็นเพศสัมพันธ์หมู่ที่ไม่หยุดยั้งของความรู้สึกอันแรงกล้า การทำความเข้าใจ และกิจกรรม เป็นสังคมของเหล่านักรักและผู้ที่คลั่งไคล้อันป่าเถื่อน" ลัทธิฟูริเยก่อตัวขึ้นมาในข่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 ที่คอมมูนฟาล็องสแตร์ (Phalanstère) หลายร้อยแห่งถูกก่อตั้งขึ้นบนหลักการฟูริเยริสต์ในประเทศฝรั่งเศส ทวีปอเมริกาเหนือ ประเทศเม็กซิโก ทวีปอเมริกาใต้ ประเทศแอลจีเรีย และประเทศยูโกสลาเวีย ทั้ง ปีแยร์-โฌแซ็ฟ พรูดง, ฟรีดริช เอ็งเงิลส์ และ ปิออตร์ โครปอตกิน ล้วนได้อ่านงานเขียนของเขาอย่างหลงใหล เช่นเดียวกันกันกับ อ็องเดร เบรอตง (André Breton) และ รอล็อง บาร์ต[156] ในงานของ แฮร์เบิร์ท มาร์คูเซอ (Herbert Marcuse) ชื่อ เอโรสแอนด์ซิวิไลเซชัน (Eros and Civilization) เขาได้ยกย่องฟูริเยโดยกล่าวว่าเขา "เข้าใกล้ที่จะไขความถึงการพึ่งพากันระหว่างเสรีภาพและการทดเทิด (Sublimation (psychology)) ที่ไม่ถูกอดกลั้นมากกว่านักสังคมนิยมแบบยูโทเปียคนอื่นคนใด"[157]

นักอนาธิปัตย์ ปีเตอร์ ซาบาตีนี เขียนไว้ว่าในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 ในสหรัฐ "กลุ่มวัฒนธรรมต่อต้านแบบ 'ยูโทเปีย' และแบบคอมมูนชุดหนึ่งได้ปรากฏตัวขึ้นมา" ซึ่งรวมถึงขบวนการความรักเสรีด้วย "ลัทธิอนาธิปไตยของ วิลเลียม กอดวิน ส่งอิทธิพลต่อเหล่านี้บางส่วน" แต่ก็ไม่เท่าสังคมนิยมของ โรเบิร์ต โอเวน และ ชาร์ล ฟูรีเย "ภายหลังความสำเร็จของธุรกิจของเขาในบริเตน โอเวนก็ได้ก่อตั้งชุมชนสหกรณ์ด้วยตัวเขาเองในสหรัฐที่เมืองนิวฮาร์โมนี, รัฐอินดีแอนา (New Harmony, Indiana) ในช่วง ค.ศ. 1825 หนึ่งในสมาชิกของคอมมูนนี้คือ โจไซอา วอร์เรน (ค.ศ. 1798–1874) ซึ่งถูกถือว่าเป็นนักอนาธิปัตย์แบบปัจเจกคนแรก"[49]

ภายในแนวคิดสังคมนิยมสมัยใหม่

[แก้]

ลัทธิอนาธิปไตย

[แก้]

อย่างที่ อัลเบิร์ต เมลต์เซอร์ (Albert Meltzer) และ สจวร์ต คริสตี (Stuart Christie) ได้กล่าวไว้ในหนังสือของพวกเขาชื่อว่า เดอะฟลัดเกตออฟแอนาร์คี (The Floodgates of Anarchy):

ลัทธิอนาธิปไตยมีทายกรรมเฉพาะตัวของมัน ส่วนหนึ่งมีร่วมกับสังคมนิยม ทำให้มีความคล้ายคลึงแบบครอบครัวกับศัตรูของมันบางพวก อีกส่วนของทายกรรมของมันนั้นมีร่วมกับเสรีนิยม ทำให้มันเป็นลูกพี่ลูกน้องตั้งแต่เกิดกับปัจเจกนิยมสายมูลวิวัติแบบอเมริกัน ซึ่งส่วนใหญ่ก็ได้แต่งงานออกจากครอบครัวไปกับฝ่ายขวา และก็ไม่ได้พูดคุยกันแล้ว[158]

ปีแยร์-โฌแซ็ฟ พรูดง ผู้ที่มักถูกถือว่าเป็นบิดาของลัทธิอนาธิปไตยสมัยใหม่ ได้บัญญัติวลีว่า "พรอปเพอร์ตี อิส เทฟต์!" (Property is theft!) (ทรัพย์สินคือการลักทรัพย์) เพื่ออธิบายมุมมองส่วนหนึ่งของเขาเกี่ยวกับธรรมชาติความซับซ้อนของความสัมพันธ์ระหว่างกรรมสิทธิ์ความเป็นเจ้าของและเสรีภาพ ที่เขากล่าวว่าทรัพย์สินคือการลักทรัพย์ เขาหมายถึงนายทุนที่เขามองว่าได้ขโมยกำไรไปจากผู้ใช้แรงงาน สำหรับพรูดง ลูกจ้างของนายทุนนั้น "ถูกกดขี่ ถูกเอาเปรียบ สภาพถาวรของเขานั้นคือการเชื่อฟัง"[159]

ปิออตร์ โครปอตกิน นักทฤษฎีหลักของลัทธิอนาธิปไตย-คอมมิวนิสต์

สิบเจ็ดปี (ค.ศ. 1857) หลังจากที่พรูดงเรียกตัวเองเป็นนักอนาธิปัตย์ (anarchist) เป็นครั้งแรกใน ค.ศ. 1840 นักอนาธิปัตย์คอมมิวนิสต์ โฌแซ็ฟ เดฌัก เป็นบุคคลแรกที่เรียกตัวเองเป็นนักอิสรนิยม (libertarian)[160] นอกสหรัฐ คำว่าอิสรนิยมโดยทั่วไปหมายถึงอุดมการณ์ที่ต่อต้านอำนาจนิยมและต่อต้านทุนนิยม[161]

สังคมนิยมแบบอิสรนิยมมีรากฐานอยู่ในแนวคิดเสรีนิยมคลาสสิกและสังคมนิยม ถึงแม้จะขัดแย้งกับแนวคิดเสรีนิยม (โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเสรีนิยมใหม่และอิสรนิยมฝ่ายขวา) และสังคมนิยมรัฐแบบอำนาจนิยมอยู่บ่อยครั้งในเวลาเดียวกัน แม้ว่าสังคมนิยมแบบอิสรนิยมจะมีรากฐานอยู่ในทั้งแนวคิดสังคมนิยมและเสรีนิยม แต่ก็มีรูปแบบต่าง ๆ ที่ได้รับอิทธิพลจากทั้งสองธรรมเนียมการเมืองในระดับที่ต่างกัน ตัวอย่างเช่นแนวคิดอนาธิปไตยแบบช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ซึ่งได้รับอิทธิพลจากเสรีนิยมมากกว่า ในขณะที่แนวคิดอนาธิปไตยแบบคอมมิวนิสต์และแบบสหการนิยมได้รับอิทธิพลจากสังคมนิยมมากกว่า ถึงอย่างนั้นก็ตาม ลัทธิอนาธิปไตยแบบช่วยเหลือซึ่งกันและกันมีต้นกำเนิดมาจากสังคมนิยมในยุโรปช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 และ 19 (ดังเช่นสังคมนิยมแบบฟูริเย)[162][163] กลับกัน แนวคิดอนาธิปไตยแบบคอมมิวนิสต์และแบบสหการนิยมกลับมีต้นกำเนิดที่เก่าแก่ที่สุดในแนวคิดเสรีนิยมในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 18 (ดังเช่นการปฏิวัติฝรั่งเศส)[153]

ลัทธิอนาธิปไตยเป็นอุปสรรคลำดับแรก ๆ ต่อแนวคิดแบบแนวหน้านิยมและรัฐนิยม ซึ่งมันสืบพบว่ามีอยู่ในภาคส่วนสำคัญของขบวนการสังคมนิยม นักอนาธิปัตย์กล่าวหาว่าพัฒนาการของการเข้าไปมีส่วนร่วมในรัฐสภา กระทรวงทบวงกรม และพรรคการเมืองจะนำไปสู่คติมูลวิวัติที่ลดลงและการกลายสภาพเป็นกระฎุมพี และการเมืองแห่งรัฐก็จะทำลายปัจเจกภาพและประชาคมที่แท้จริง นักอนาธิปัตย์หลายคนจึงปฏิเสธการจัดระเบียบในรูปแบบของลัทธิมากซ์ และต้องการบ่อนทำลายอำนาจลำดับชั้นผ่านวิธีการรวมกลุ่มทางการเมืองและวัฒนธรรมแบบหลวม ๆ หรือผ่านวิธีการสนับสนุนการจัดระเบียบด้วยหน่วยของการเมือง การปกครอง และเศรษฐกิจในหน่วย ๆ เดียวนี้เป็นองค์กรเดี่ยว ตามรือเลอ (Otto Rühle) และแนวคิดสหการนิยม นักอนาธิปัตย์หลายคนก็ปฏิเสธอำนาจของปัญญาชนและวิทยาศาสตร์ โดยกล่าวว่า 'ในการยึดครองสถาบันรัฐ และการยกระดับบทบาทของพรรคการเมือง เหล่าปัญญาชนกำลังส่งเสริมหลักการของชนชั้นซึ่งถูกฝังไว้ในสถาบันการเมืองและการปกครอง' โดยถือว่าการปฏิวัตินั้นเกิดขึ้นผ่านพลังของพฤติการณ์และ/หรือสัญชาตญาณขบถที่มีอยู่ในมวลชนเท่านั้น ที่เรียกว่า 'สัญชาตญาณเพื่อเสรีภาพ' ตามบาคูนินและชอมสกี หรือตามคำกล่าวของบาคูนินเอง: 'ทั้งหมดที่ปัจเจกชนจะทำได้นั้นคือการอธิบาย เผยแพร่ และคิดหาความคิดซึ่งสอดคล้องกับสัญชาตญาณของประชาชน'[164]

ลัทธิมากซ์

[แก้]
วิลเลียม มอร์ริส นักลัทธิมากซ์แบบอิสรนิยมชาวอังกฤษคนแรก ๆ

แนวคิดลัทธิมากซ์สายอิสรนิยมเริ่มพัฒนาขึ้นหลังเหตุการณ์จำเพาะต่าง ๆ แชมซี โอเจลี กล่าว: "เราพบการแสดงออกซึ่งมุมมองเช่นนี้ครั้งแรก ๆ ใน [วิลเลียม] มอร์ริส และพรรคสังคมนิยมแห่งบริเตนใหญ่ (Socialist Party of Great Britain) (SPGB) และต่อมาในเหตุการณ์ต่าง ๆ ช่วง ค.ศ. 1905 พร้อมกับความกังวลใจที่เพิ่มขึ้นต่อการเพิ่มขึ้นของความเป็นราชการและการลดลงของคติมูลวิวัติในสังคมนิยมนานาชาติ"[165] มอร์ริสได้ก่อตั้งสันนิบาตสังคมนิยม (Socialist League (UK, 1885)) ขึ้นมาในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1884 ซึ่งได้รับความสนับสนุนจาก ฟรีดริช เอ็งเงิลส์ และ เอเลนอร์ มาคส์ (Eleanor Marx) ในฐานะที่เป็นหัวหอกภายในองค์กร มอร์ริสได้เริ่มกล่าวคำปราศัยและปาฐกถาอย่างไร้ปรานีทั้งตามมุมถนน ในสมาคมคนงาน และห้องบรรยายต่าง ๆ ทั่วทั้งอังกฤษและสกอตแลนด์ ตั้งแต่ ค.ศ. 1887 จำนวนนักอนาธิปัตย์เริ่มมีมากกว่าจำนวนนักสังคมนิยมภายในสันนิบาตสังคมนิยม[166] การประชุมประจำปีครั้งที่สามของสันนิบาตที่ลอนดอนในวันที่ 29 พฤษภาคม ค.ศ. 1887 เป็นหมุดหมายของการเปลี่ยนแปลง ที่ผู้แทนส่วนใหญ่ใน 24 สาขาได้ลงคะแนนสนับสนุนมติที่ผลักดันโดยพวกอนาธิปัตย์ ซึ่งกล่าวว่า "ที่ประชุมนี้สนับสนุนนโยบายที่จะละเว้นซึ่งปฏิบัติการทางรัฐสภา ซึ่งสันนิบาตได้ดำเนินการมาจนกระทั่งบัดนี้ และมองไม่เห็นถึงเหตุผลใดที่ดีเพียงพอที่เราจะเปลี่ยนแปลงมัน"[167] ผลที่ตามมาคือ สันนิบาตได้เสียแรงสนับสนุนของ เอ็งเงิลส์ ไป และ เอเลนอร์ มาคส์ กับคู่รักของเธอ เอ็ดเวิร์ด เอฟเวอลิง ได้ออกมาก่อตั้งองค์กรแยกออกมาชื่อว่า สมาคมสังคมนิยมบลูมส์บรี (Bloomsbury Socialist Society)[168]

คลารา เซทคิน และ โรซา ลุคเซิมบวร์ค

ในช่วงระหว่างและภายหลังจากสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ด้วยความผิดหวังในการยอมจำนนของนักประชาธิปไตยสังคมนิยม ด้วยความตื่นเต้นจากการเกิดขึ้นของสภาคนงาน และด้วยการเอาตัวออกห่างจากลัทธิเลนิน นักคอมมิวนิสต์หลายคนกลับปฏิเสธคำกล่าวอ้างต่าง ๆ ของพรรคการเมืองสังคมนิยม และกลายมามีความเชื่อมั่นในมวลชน โดย "สัญชาตญาณของมวลชนสามารถมีอัฉริยภาพมากกว่างานชิ้นใด ๆ ของอัฉริยะผู้ยิ่งใหญ่คน ๆ เดียว" [169] จุดยืนที่ฝ่ายซ้ายจัดในช่วงเวลานั้นหยิบยกมาใช้ ก็เช่นลัทธิแรงงานนิยม (workerism) และคตินิยมการเกิดเอง (spontaneism) ของ โรซา ลุคเซิมบวร์ค ตัวอย่างเช่น อันโตนี ปันเนอคุก (Antonie Pannekoek), เฮ็นริเอ็ตเทอ โรลันด์ โฮลสท์ (Henriette Roland Holst) และ แฮร์มัน กอร์เทอร์ (Herman Gorter) ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ ซิลเวีย แพงค์เฮิร์สต์ ที่ประเทศอังกฤษ อันโตนีโอ กรัมชี ที่ประเทศอิตาลี และ เจิร์จ ลุกาช (György Lukács) ที่ประเทศฮังการี ซึ่งด้วยแนวคิดนี้เผด็จการโดยชนกรรมาชีพ (dictatorship of the proletariat) จะเป็นระบอบเผด็จการของชนชั้นดังกล่าว ไม่ใช่เผด็จการของพรรคการเมืองหรือพรรคพวกใด[170] แต่ความตึงเครียดระหว่างคติต่อต้านแนวหน้านิยมกับแนวหน้านิยมก็จบลงได้สองทางซึ่งตรงข้ามกันอย่างสิ้นเชิง นั่นคือการเลี้ยวเข้าสู่พรรคการเมืองประการแรก และการโน้มเอียงสู่คติของการปฏิวัติที่เกิดเองโดยสัมบูรณ์จากชนกรรมาชีพประการที่สอง กรัมชีและลุกาชคือตัวอย่างของประการแรก และประการที่สองพบได้ในแนวโน้มซึ่งพัฒนามาจากฝ่ายซ้ายจัดดัตช์และเยอรมัน ซึ่งมีแนวโน้มสู่การขจัดรูปแบบแบบพรรคการเมืองให้สิ้นไป[171]

ในสหภาพโซเวียตที่เพิ่งก่อกำเนิดขึ้น ก็เกิดการก่อการกำเริบโดยฝ่ายซ้ายต่อต้านบอลเชวิค (left-wing uprisings against the Bolsheviks) ซึ่งเป็นการกบฏและการก่อการการกำเริบจำนวนหนึ่งที่ต่อต้านพวกบอลเชวิค ซึ่งถูกนำหรือได้รับการสนับสนุนโดยฝ่ายซ้าย อาทิ พรรคปฏิวัติสังคมนิยม (Socialist Revolutionary Party)[172] นักปฏิวัติสังคมนิยมฝ่ายซ้าย (Left Socialist-Revolutionaries) พวกเมนเชวิค (Mensheviks) และนักอนาธิปไตย[173] บางส่วนสนับสนุนขบวนการขาว (White Movement) ในขณะที่บางส่วนพยายามเป็นอำนาจอิสระ การก่อการกำเริบเริ่มขึ้นใน ค.ศ. 1918 และต่อเนื่องมาจนสงครามกลางเมืองรัสเซีย และต่อไปจนถึง ค.ศ. 1922 พวกบอลเชวิคก็เริ่มล้มเลิกความพยายามที่จะนำกลุ่มเหล่านี้มาเข้าร่วมรัฐบาลและเริ่มปราบปรามพวกเขาโดยใช้กำลังเป็นการตอบโต้ โดย วลาดีมีร์ เลนิน ก็ได้โจมตีนักวิจารณ์พรรคบอลเชวิคหลายคนซึ่งมีจุดยืนที่ซ้ายกว่าพวกเขาในงานของเขาเอง ชื่อว่า คอมมิวนิสต์ปีกซ้ายความคิดระส่ำระส่ายไร้เดียงสา ("Left-Wing" Communism: An Infantile Disorder)

นักสังคมนิยมแบบมากซิสต์อิสรนิยมหลายคนมองว่าความล้มละลายทางการเมืองของสังคมนิยมแบบดั้งเดิมแสดงถึงความจำเป็นของความก้าวหน้าทางทฤษฎี ไม่ว่าจะเป็นความหัวรั้นในเรื่องเชิงทฤษฎีแบบมากซ์อย่างที่สุดซึ่งนักลัทธิบอร์ดีกา (Bordigism) และพรรค SPGB สนับสนุน หรือจะเป็นการถอยกลับ "หลังมากซ์" ไปสู่แบบแผนของการต่อต้านปฏิฐานนิยม (Antipositivism) ของแนวคิดจิตนิยมเยอรมัน (German idealism) ของนักสังคมนิยมอื่น ๆ แนวคิดสังคมนิยมแบบอิสรนิยมมักจะเชื่อมโยงความปรารถนาทางการเมืองที่จะต่อต้านอำนาจนิยมว่าเป็นความแตกต่างทางทฤษฎีของมันจากแบบดั้งเดิม[174] ตัวอย่างเช่น คาร์ล คอร์ช (Karl Korsch) เขาเป็นนักสังคมนิยมแบบอิสรนิยมเป็นส่วนใหญ่ของชีวิตเขา ก็เพราะแรงผลักดันที่ฝังแน่นของเขาต่อความเปิดกว้างทางทฤษฎีในงานของเขา เขาปฏิเสธสิ่งที่เป็นนิรันดร์และสถิตสถาพร และสนใจในบทบาทที่สำคัญของสิ่งเชิงปฏิบัติที่มีต่อความเท็จจริงของทฤษฎีอันหนึ่ง โดยไม่มีทฤษฎีใดที่หนีประวัติศาสตร์ได้ แม้แต่ลัทธิมากซ์ก็ตาม ในทำนองนี้ คอร์ชให้เครดิตสิ่งที่กระตุ้นให้เกิดงานเขียน ทุน ของมากซ์ว่า คือขบวนการการเคลื่อนไหวของชนชั้นที่ถูกกดขี่[175]

นักลัทธิมากซ์แบบอิสรนิยมปฏิเสธทุนนิยมและรัฐ บางคนจึงเป็นแนวร่วมกับนักอนาธิปัตย์เพื่อต่อต้านทั้งประชาธิปไตยแบบมีผู้แทนแบบทุนนิยมและลัทธิมากซ์แบบอำนาจนิยม แม้นักอนาธิปัตย์และนักลัทธิมากซ์จะมีจุดหมายสุดท้ายอย่างเดียวกันนั่นคือสังคมไร้รัฐ นักอนาธิปัตย์วิจารณ์นักลัทธิมากซ์ว่าไปสนับสนุนระยะเปลี่ยนผ่านซึ่งใช้รัฐเพื่อบรรลุจุดมุ่งหมายนี้ อย่างไรก็ตาม แนวโน้มลัทธิมากซ์แบบอิสรนิยมอย่างลัทธิมากซ์อัตตาณัติและลัทธิคอมมิวนิสต์แบบองค์คณะนิยมนั้นได้มีความเกี่ยวโยงกับขบวนการอนาธิปไตยในประวัติศาสตร์ ขบวนการอนาธิปไตยเคยมีความขัดแย้งกับทั้งกำลังของทุนนิยมและลัทธิมากซ์ และบางครั้งก็ต้องพบเจอทั้งสองในเวลาเดียวกันอย่างสงครามกลางเมืองสเปน แต่ในบริบทดังกล่าวนักลัทธิมากซ์ก็แตกแยกกันว่าจะสนับสนุนหรือต่อต้านลัทธิอนาธิปไตย การประหัตประหารทางการเมืองอื่น ๆ ภายใต้พรรคการเมืองแบบอำมาตย์ก็ส่งผลให้เกิดการเป็นปฏิปักษ์อย่างรุนแรงทางประวัติศาสตร์ระหว่างนักอนาธิปัตย์และนักลัทธิมากซ์แบบอิสรนิยมในฝั่งหนึ่งกับนักลัทธิมากซ์เลนินและแนวคิดที่สืบต่อมาอื่น ๆ อาทิ ลัทธิเหมา ในอีกฝั่ง ในประวัติศาสตร์ไม่นานมานี้ นักสังคมนิยมแบบอิสรนิยมได้สร้างพันธไมตรีกับกลุ่มลัทธิมากซ์-เลนินหลายครั้งคราวเพื่อประท้วงต่อต้านสถาบันที่ทั้งสองปฏิเสธ ความเป็นปรปักษ์ส่นหนึ่งตามรอยจากสมาคมกรรมกรสากล (International Workingmen's Association) หรือสากลที่หนึ่ง สภาของคนงานสายมูลวิวัติ (Classical radicalism) ที่ มีฮาอิล บาคูนิน ซึ่งเป็นตัวแทนของมุมมองแบบอนาธิปไตย และ คาร์ล มาคส์ ซึ่งนักอนาธิปัตย์กล่าวหาว่าเป็น "พวกอำนาจนิยม" ได้มีความขัดแย้งกันในหลายประเด็น มุมมองของบาคูนินเกี่ยวกับความชอบธรรมของรัฐในฐานะที่เป็นสถาบันและหน้าที่ของการเมืองเลือกตั้งนั้นอยู่ตรงกันข้ามสุดขั้วกับมุมมองของมาคส์ในสากลที่หนึ่ง ในที่สุดความขัดแย้งระหว่างมาคส์และบาคูนินนำไปสู่การเข้าควบคุมสากลที่หนึ่งของมาคส์และเขาได้ขับไล่บาคูนินกับผู้ติดตามของเขาออกไปจากองค์กร นี่เป็นจุดเริ่มต้นของความอาฆาตและรอยร้าวระหว่างนักสังคมนิยมแบบอิสรนิยมกับสิ่งที่พวกเขาเรียกว่า "นักคอมมิวนิสต์อำนาจนิยม" หรืออีกแบบคือ "พวกอำนาจนิยม" เปล่า ๆ นักลัทธิมากซ์บางคนได้ก่อรูปร่างมุมมองที่ใกล้เคียงกับสหการนิยมและจึงแสดงความเกี่ยวดองกับความคิดแบบอนาธิปไตยมากกว่า นักสังคมนิยมแบบอิสรนิยมหลายคนเช่น โนม ชอมสกี เชื่อว่าลัทธิอนาธิปไตยมีส่วนร่วมมากยิ่งกับลัทธิมากซ์บางประเภท อาทิ ลัทธิคอมมิวนิสต์แบบองค์คณะนิยมของ อันโตนี ปันเนอคุก ในงานเขียนชื่อว่า โนตส์ออนแอนาร์คิสซึม (Notes on Anarchism) ชอมสกีเสนอถึงความเป็นไปได้ "ที่ลัทธิคอมมิวนิสต์แบบองค์คณะนิยมบางรูปแบบเป็นรูปแบบธรรมชาติของสังคมนิยมปฏิวัติ (Revolutionary socialism) ภายในสังคมอุตสาหกรรม (Industrialization) มันสะท้อนถึงความเชื่อว่าประชาธิปไตยนั้นมีข้อจำกัดอย่างยิ่งเมื่อระบบอุตสาหกรรมถูกควบคุมโดยอภิชนอัตตาธิปัตย์ไม่ว่าในรูปแบบใด ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของ ผู้จัดการ นักวิชาการ พรรค 'แนวหน้า' หรือระบบรัฐราชการก็ตาม"[176]

ในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 20 กลุ่มสังคมนิยมแบบอิสรนิยมบางกลุ่มก่อตัวขึ้นจากความไม่เห็นพ้องกับลัทธิทรอตสกี (Trostkyism) ซึ่งแสดงตนเป็นแนวคิดลัทธิเลนินที่ต่อต้านลัทธิสตาลิน กล่าวคือ กลุ่มฝรั่งเศสชื่อว่าซอซียาลิสม์ อู บาร์บารี (Socialisme ou Barbarie) ได้กำเนิดขึ้นจากสากลที่สี่ ซึ่ง กอร์นีลิโอส กัสโตริอาดิส และ โกลด เลอฟอร์ (Claude Lefort) เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มโชลิเยอ-มงตาลในพรรคคอมมิวนิสต์สากลฝรั่งเศส (Internationalist Communist Party (France)) ใน ค.ศ. 1946 และใน ค.ศ. 1948 พวกเขาประสบกับ "ความหมดความเชื่อถือเป็นครั้งสุดท้ายในลัทธิทรอตสกี"[177] ซึ่งนำพาให้พวกเขาแยกตัวออกมาเพื่อก่อตั้งซอซียาลิสม์ อู บาร์บารี ซึ่งเริ่มตีพิมพ์วารสารของตัวเองออกมาในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1949 กัสโตริอาดิสกล่าวต่อว่าในช่วงเวลานี้ "กลุ่มผู้ชมของกลุ่มและวารสารนี้ส่วนมากเป็นกลุ่มของคนแก่ฝ่ายซ้ายสายมูลวิวัติ: นักลัทธิบอร์ดีกา นักคอมมิวนิสต์แบบองค์คณะนิยม นักอนาธิปไตยจำนวนหนึ่ง และผลิตผลบางส่วนของ 'ฝ่ายซ้าย' เยอรมันในยุคคริสต์ทศวรรษ 1920"[178] เช่นเดียวกันในสหราชอาณาจักร กลุ่มโซลิดาริตี (Solidarity (UK)) ได้ถูกก่อตั้งขึ้นใน ค.ศ. 1960 โดยกลุ่มของสมาชิกกลุ่มเล็กที่ถูกขับออกจากสันนิบาตแรงงานสังคมนิยม (Workers Revolutionary Party (UK)) ลัทธิทรอตสกี กลุ่มนี้ได้รับอิทธิพลสูงตั้งแต่แรกจากกลุ่มซอซียาลิสม์ อู บาร์บารี ในฝรั่งเศส โดยเฉพาะจากผู้นำทางความคิดของมัน กอร์นีลิโอส กัสโตริอาดิส ซึ่งกลุ่มโซลิดาริตีได้ผลิตเผยแพร่ใบปลิวของความเรียงของเขาหลายใบ ผู้นำทางความคิดของกลุ่มนี้คือ คริส พาลลิส (Chris Pallis) ซึ่งเขียนด้วยนามปากกา มอริซ บรินตัน (Maurice Brinton)[179]

ตั้งแต่ ค.ศ. 1967 เป็นต้นมาในสาธารณรัฐประชาชนจีน คำว่าซ้ายจัด (Ultra-leftism) และคอมมิวนิสต์ฝ่ายซ้ายหมายถึงทฤษฎีและปฏิบัติการทางการเมืองซึ่งนิยามตัวเองว่าอยู่ซ้ายกว่าของผู้นำลัทธิเหมาส่วนกลางในช่วงจุดสูงสุดของการปฏิวัติทางวัฒนธรรมใหญ่ของกรรมาชีพ คำนี้ยังถูกใช้ย้อนหลังเพื่อเรียกลัทธิอนาธิปไตยในประเทศจีน (Anarchism in China) พวกแรก ๆ ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษ 20 พรรคคอมมิวนิสต์จีนใช้คำว่า "ซ้ายจัด" เป็นคำเหยียดอย่างกว้าง ๆ เพื่อประณามกลุ่มใดที่อยู่ซ้ายไปกว่าแนวทางพรรค (Party line (politics)) อิงตามการใช้งานในช่วงหลัง ใน ค.ศ. 1978 คณะกรรมการกลาง (Central Committee) พรรคคอมมิวนิสต์จีนประณามแนวทางของ เหมา เจ๋อตง ว่าเป็นแนวคิดซ้ายจัดตั้งแต่ ค.ศ. 1956 จนถึง ค.ศ. 1976 เมื่อเหมาได้เสียชีวิตไป คำว่าซ้ายจัดยังหมายถึงจุดยืนของกบฏของการปฏิวัติทางวัฒนธรรมที่แยกตัวออกจากแนวทางลัทธิเหมาส่วนกลางไปด้วยการระบุถึงความขัดแย้งที่เป็นปฏิปักษ์ (antagonistic contradiction) ระหว่างรัฐพรรคของพรรคคอมมิวนิสต์จีนและสาธารณรัฐประชาชนจีนเองกับมวลชนของคนงานและชาวนา[180] ที่ร่วมกันประกอบเป็นชนชั้นกรรมาชีพที่ถูกแยกออกจากการควบคุมที่มีนัยสำคัญใด ๆ เหนือการผลิตหรือการกระจาย ในขณะที่แนวทางลัทธิเหมาส่วนกลางยืนยีนว่ามวลชนนั้นควบคุมปัจจัยการผลิตผ่านการเป็นสื่อกลางของพรรค พวกซ้ายจัดกล่าวว่าผลประโยชน์เชิงรูปธรรมของอำมาตย์นั้นถูกกำหนดในเชิงโครงสร้างโดยรูปแบบรัฐรวมศูนย์ และเป็นปรปักษ์โดยตรงกับผลประโยชน์เชิงรูปธรรมของมวลชน ไม่ว่าความคิดของอำมาตย์คนใดจะเป็นสังคมนิยมมากเท่าไหร่ก็ตาม ในขณะที่ผู้นำลัทธิเหมาส่วนกลางส่งเสริมให้มวลชนวิจารณ์ความคิดและนิสัยแบบปฏิกิริยาที่กล่าวหาว่ามีอยู่ในกลุ่มแกนนำไม่ดีห้าเปอร์เซ็นต์ และให้โอกาสที่พวกเขาจะ "กลับตัวกลับใจ" หลังจากได้รับ "การปฏิรูปทางความคิด" แต่พวกซ้ายจัดกล่าวว่าการปฏิวัติทางวัฒนธรรมต้องนำทางไปสู่การปฏิวัติทางการเมือง "ที่ชนชั้นหนึ่งจะโค่นล้มอีกชนชั้นหนึ่ง"[181][182]

ใน ค.ศ. 1969 นักอนาธิปัตย์-คอมมิวนิสต์ แพลตฟอร์มิสต์ (platformist) ชาวฝรั่งเศส ดาเนียล เกแร็ง (Daniel Guérin) ได้เผยแพร่ความเรียงชื่อว่า ลิเบอร์ทาเรียนมาร์กซิสซึม? (Libertarian Marxism?) ที่เขาเขียนถึงการโต้วาทีระหว่าง คาร์ล มาคส์ และ มีฮาอิล บาคูนิน ที่สากลที่หนึ่งและต่อ ๆ มา เขาเสนอว่า "ลัทธิมากซ์แบบอิสรนิยมปฏิเสธนิยัตินิยมและชะตานิยม (fatalism) โดยให้พื้นที่มากยิ่งกว่ากับเจตจำนงปัจเจก อัชฌัตติกญาณ จินตนาการ ความเร็วรีเฟล็กซ์ และสัญชาตญาณเบื้องลึกของมวลชน ซึ่งมองเห็นได้กว้างกว่าในช่วงเวลาวิกฤต มากกว่าการให้เหตุผลของ 'อภิชน' ลัทธิมากซ์แบบอิสรนิยมคิดถึงผลของความประหลาดใจ การยั่วยุ และความกล้าหาญ ปฏิเสธที่จะยุ่งเหยิงหรือเป็นอัมพาตด้วยเครื่องมือหนัก 'เชิงวิทยาศาสตร์' ไม่พูดกำกวมหรือหลอกลวง และพิทักษ์ตนเองจากคติผจญภัยพอ ๆ กันกับจากความกลัวในสิ่งที่ไม่รู้"[183] ในสหรัฐ มีสิ่งพิมพ์ชื่อว่า รูตแอนด์แบรนช์ (Root & Branch) ซึ่งมีหัวข้อย่อยเขียนไว้ว่า "วารสารลัทธิมากซ์แบบอิสรนิยม"[184] ใน ค.ศ. 1974 วารสาร ลิเบอร์ทาเรียนคอมมิวนิสซึม (Libertarian Communism) ถูกริเริ่มในสหราชอาณาจักรโดยคนกลุ่มหนึ่งในพรรคสังคมนิยมแห่งบริเตนใหญ่[185]

ลัทธิมากซ์อัตตาณัติ ลัทธิมากซ์ใหม่ (neo-Marxism) และทฤษฎีซิทูเอชันนิสต์ (Situationist International) ก็ถูกถือว่าเป็นลัทธิมากซ์ประเภทที่ต่อต้านอำนาจนิยมซึ่งอยู่ในธรรมเนียมของสังคมนิยมแบบอิสรนิยม[186] ในคริสต์ทศวรรษ 1980 และ 1990 ได้มีการพัฒนาขึ้นของกลุ่มหลายกลุ่มเช่นกลุ่ม โคลิงโค (Kolinko), คือราเช (Kurasje) และ ไวลด์แคต (Wildcat) ในประเทศเยอรมนี เอาฟ์เฮเบิน (Aufheben) ในประเทศอังกฤษ เตโอรีกอมูว์นิสต์ (Theorie Communiste) ในประเทศฝรั่งเศส TPTG (Τα παιδιά της γαλαρίας) ในประเทศกรีซ และ กัมยุนิสฏ์กรานติ (Kamunist Kranti) ในประเทศอินเดีย พวกเขายังเกี่ยวข้องกับกลุ่มอื่น ๆ ในประเทศอื่น และผสมผสานแนวคิดออโตโนเมีย (Autonomia), ลัทธิแรงงานนิยม, ลัทธิมากซ์แบบเฮเกิล, งานของกลุ่มจอห์นสัน-ฟอเรสต์ (Johnson-Forest Tendency), ลัทธิมากซ์แบบเปิด (Open Marxism), ICO (Informations et correspondances ouvrières), ซิทูเอชันนิสต์ อินเตอร์แนชันนอล, ลัทธิอนาธิปไตย และลัทธิมากซ์เยอรมันหลัง ค.ศ. 1968[18]

กลุ่มที่โดดเด่น

[แก้]

ลัทธิอนาธิปไตย

[แก้]

ลัทธิอนาธิปไตยและสังคมนิยมแบบอิสรนิยมนั้นมีความหมายเดียวกันเป็นส่วนใหญ่มาแต่อดีต[187] โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของกระแสความคิดลัทธิอนาธิปไตยแบบคลาสสิก (classical anarchism) ซึ่งได้พัฒนาขึ้นมาในคริสต์ศตวรรษที่ 19 นั่นคือความมุ่งมั่นต่อคติของอัตตาณัติและเสรีภาพ การกระจายอำนาจ การต่อต้านการจัดลำดับชั้น และการต่อต้านคติแนวหน้านิยมของสังคมนิยมแบบอำนาจนิยม

นักสหการนิยมอนาธิปไตย กัสตอน เลบัล (Gaston Leval) ได้อธิบายไว้ว่า "เราจึงมองเห็นถึงสังคมซึ่งกิจกรรมทั้งหลายจะถูกประสานกัน โครงสร้างซึ่งในเวลาเดียวกันกลับมีความยืดหยุ่นที่เพียงพอให้ชีวิตในสังคมหรือชีวิตของแต่ละวิสาหกิจมีอิสระมากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ แต่ก็ยังมีความยึดเหนี่ยวกันพอที่จะป้องกันไม่ให้เกิดความโกลาหล [...] ในสังคมซึ่งถูกจัดระเบียบไว้อย่างดี สิ่งเหล่านี้จะต้องถูกบรรลุอย่างเป็นระบบผ่านการสหพันธ์ในแนวขนาน โดยรวมกันในแนวตั้งในระดับที่สูงที่สุด ประกอบขึ้นเป็นองคาพยพหนึ่งเดียวที่กว้างใหญ่ไพศาลซึ่งบทบาททางเศรษฐกิจทั้งมวลจะดำเนินไปด้วยความสามัคคีพร้อมด้วยกันทั้งหมด และซึ่งจะยังคงอนุรักษ์ความยึดโยงกันที่จำเป็นไว้อย่างถาวร"[20]

คติความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

[แก้]
ปีแยร์-โฌแซ็ฟ พรูดง

คติความช่วยเหลือซึ่งกันและกันหรือมิวชวลลิสม์ (อังกฤษ: Mutualism) เริ่มต้นจากขบวนการสังคมนิยมในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ซึ่งปีแยร์-โฌแซ็ฟ พรูดง รับมาและพัฒนาเป็นทฤษฎีเศรษฐศาสตร์อนาธิปไตยรูปแบบแรก มิวชวลลิสม์มีพื้นฐานเป็นทฤษฎีมูลค่าแรงงานรูปแบบหนึ่งที่กล่าวว่าเมื่อขายแรงงานหรือผลผลิตของมันไป สินค้าหรือบริการที่แลกเปลี่ยนกันควรมี "แรงงานอันจำเป็นในการผลิตสิ่งของอันมีประโยชน์ใช้สอยในปริมาณที่คล้ายกันหรือเท่ากันเที่ยง"[188] และอะไรที่ไม่เป็นไปตามนี้คือการเอาเปรียบ การลักขโมยแรงงาน หรือการกินดอกเบี้ย (usury)[188] มิวชวลลิสต์สนับสนุนกรรมสิทธิ์ของสังคมและเชื่อว่าตลาดแรงงานที่เสรีจะทำให้เกิดสภาวะที่รายได้ตรงสัดส่วนกับแรงงานที่ใช้ไป[188][189] โจนาธาน บีเชอร์ กล่าวว่าจุดมุ่งหมายของมิวชวลลิสม์คือ "การปลดปล่อยแรงงานจากเงื่อนไขบังคับที่ทุนกำหนด"[190] พรูดงเชื่อว่าปัจเจกมีสิทธิถือครองที่ดินก็ต่อเมื่อเขากำลังใช้สอยที่ดินหรืออาศัยอยู่ในที่ดิน หากเลิกกระทำดังเช่นนั้นแล้ว ที่ดินก็จะกลับสภาพเป็นที่ดินไม่มีเจ้าของ[191]

นักอนาธิปัตย์แบบปัจเจกบางคนเช่น เบนจามิน ทักเกอร์ (Benjamin Tucker) ได้รับอิทธิพลจากมิวชวลลิสม์ของพรูดง แต่ไม่ได้เรียกร้องให้สมาคมเป็นวิสาหกิจขนาดใหญ่ตามพรูดง[192] มิวชวลลิสม์ขยายออกไปในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ที่สเปน รามอน เด ลา ซากรา (Ramón de la Sagra) ได้ก่อตั้งวารสารอนาธิปัตย์ เอล ปอร์เบนิร์ (El Porvenir) ที่อาโกรุญญาใน ค.ศ. 1845 โดยมีแรงบันดาลใจจากแนวคิดของพรูดง[193] นักการเมืองกาตาลันฟรันเซสก์ ปี อี มารากัล (Francesc Pi i Maragall) เป็นนักแปลงานของพรูดงเป็นภาษาสเปนคนสำคัญ[194] และในภายหลังได้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสเปนใน ค.ศ. 1873 ขณะเป็นผู้นำของพรรคสาธารณรัฐประชาธิปไตยสหพันธ์ (Federal Democratic Republican Party)

จอร์จ วูดค็อก กล่าวว่า "งานแปลเหล่านี้ส่งผลกระทบที่ลึกซึ้งและยืนยาวต่อพัฒนาการของลัทธิอนาธิปไตยในสเปนหลัง ค.ศ. 1870 แม้แต่ก่อนหน้านั้น แนวคิดแบบพรูดง ตามที่ปีแปลไว้ เป็นแหล่งของแรงบันดาลส่วนใหญ่ของขบวนการสหพันธรัฐซึ่งอุบัติขึ้นในช่วงต้นคริสต์ทศวรรษ 1860"[194] สารานุกรมบริแทนนิกาเขียนไว้ว่า "ในการปฏิวัติสเปน ค.ศ. 1873 ปี อี มารากัล พยายามสถาปนาระบบการเมืองแบบกระจายอำนาจหรือ 'แบบแคนทอน' (Cantonalism) ตามแบบพรูดง"[193] เควิน คาร์สัน (Kevin Carson) เป็นนักทฤษฎีมิวชวลลิสต์ร่วมสมัยผู้เขียน Studies in Mutualist Political Economy[189]

ลัทธิอนาธิปไตยสังคม

[แก้]
แอร์รีโก มาลาเตสตา นักกิจกรรมและนักทฤษฎีลัทธิอนาธิปไตยคอมมิวนิสต์ที่ทรงอิทธิพลชาวอิตาลี

ลัทธิอนาธิปไตยสังคม (อังกฤษ: Social anarchism) เป็นแนวคิดที่มุ่งเน้นเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ของสังคม (social ownership) ระบบร่วมด้วยช่วยกัน (Mutual aid (organization theory)) และการจัดการโดยคนงานเอง ลัทธิอนาธิปไตยสังคมเป็นรูปแบบหลักของลัทธิอนาธิปไตยแบบคลาสสิก และรวมถึงสำนักคิดอนาธิปไตยหลัก ๆ แบบสหการนิยม คอมมิวนิสต์ และกลุ่มนิยมด้วย คำว่าลัทธิอนาธิปไตยสังคมถูกใช้ในทางตรงกันข้ามกับลัทธิอนาธิปไตยแบบปัจเจก เพื่อพูดถึงทฤษฎีที่ให้ความสำคัญกับแง่มุมเชิงประชาคม (communitarianism) และสหกรณ์ของทฤษฎีอนาธิปไตย ในขณะเดียวกันก็ต่อต้านการคิดแบบติดกลุ่ม (groupthink) และการคล้อยตามกลุ่ม (conformity) ซึ่งถูกเชื่อมโยงกับประชาคมนิยมแบบอำนาจนิยม และเห็นชอบให้ปรองดองกันระหว่างความเป็นปัจเจก (individual) และความเป็นสังคม (sociality)

มีฮาอิล บาคูนิน นักสังคมนิยมสายปฏิวัติและนักอนาธิปัตย์แบบกลุ่มชาวรัสเซีย

นักอนาธิปัตย์สังคมต่อต้านกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลของปัจจัยการผลิต โดยมองว่าเป็นบ่อเกิดของความเหลื่อมล้ำ และเสนอให้มีกรรมสิทธิ์ของสังคมไม่ว่าจะผ่านกรรมสิทธิ์ส่วนรวมตามแบบบาคูนินและลัทธิอนาธิปไตยแบบกลุ่ม กรรมสิทธิ์ส่วนรวมตามแบบลัทธิอนาธิปไตยแบบคอมมิวนิสต์ และกรรมสิทธิ์สหกรณ์ตามแบบลัทธิอนาธิปไตยแบบสหการนิยม หรือรูปแบบอื่น ๆ แทน ลัทธิอนาธิปไตยสังคมมีทั้งกลุ่มการเมืองที่นิยมสันติและการกบฏ (insurrectionary anarchism) และยังมีกลุ่มการเมืองแบบที่จัดตั้งองค์กรและแบบที่ต่อต้านการจัดตั้งเป็นองค์กร โดยมีปฏิบัติการจำนวนมากภายในขบวนการแรงงาน (labour movement) สหภาพแรงงาน และสหการแรงงาน โดยเน้นความสำคัญกับการปลดแอกคนงานผ่านการต่อสู้ระหว่างชนชั้น

จนถึงปัจจุบัน ตัวอย่างของสังคมอนาธิปไตยสังคมที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดคือมาฮ์นอฟชีนา (Makhnovshchina) ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากการปฏิวัติรัสเซีย สมาคมประชาชนเกาหลีในแมนจูเรีย (Korean People's Association in Manchuria) และดินแดนอนาธิปไตยของการปฏิวัติสเปน (Spanish Revolution of 1936)[195]

ลัทธิอนาธิปไตยแบบปัจเจก

[แก้]

ลัทธิอนาธิปไตยแบบปัจเจก (อังกฤษ: Individualist anarchism) เป็นชุดของธรรมเนียมความคิดภายในขบวนการอนาธิปไตยซึ่งเน้นความสำคัญกับปัจเจกบุคคลและเจตจำนง (will (philosophy)) เหนือตัวกำหนดภายนอกเช่นกลุ่ม สังคม ประเพณี และระบบอุดมการณ์ต่าง ๆ [196][197] นักอนาธิปัตย์อย่าง ลุยจี กัลเลอานี (Luigi Galleani) และ แอร์รีโก มาลาเตสตา มองว่าไม่มีความขัดแย้งกันระหว่างลัทธิอนาธิปไตยแบบปัจเจกและลัทธิอนาธิปไตยสังคม[198] โดย มาลาเตสตา มองว่าปัญหาไม่ได้เกิดขึ้นระหว่างลัทธิอนาธิปไตยสองรูปแบบนี้ แต่เกิดขึ้นระหว่างนักอนาธิปัตย์กับพวกที่ไม่ใช่นักอนาธิปัตย์[199] นักอนาธิปัตย์อย่าง เบนจามิน ทักเกอร์ อ้างว่า "ไม่ใช่ลัทธิอนาธิปไตยสังคมปะทะกับลัทธิอนาธิปไตยแบบปัจเจก แต่เป็นสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ปะทะกับสังคมนิยมแบบปัจเจก"[200] ทักเกอร์อธิบายว่า "ข้อเท็จจริงที่สังคมนิยมรัฐได้บดบังทัศนะของสังคมนิยมรูปแบบอื่น ๆ ไม่ได้แปลว่ามันสามารถผูกขาดมโนคติแบบสังคมนิยมไว้กับตัวเองได้"[201]

โจไซอา วอร์เรน ถูกถืออย่างกว้างขวางให้เป็นนักอนาธิปไตยชาวอเมริกันคนแรก[202] และวารสารรายสัปดาห์ที่เขาเป็นบรรณาธิการให้ใน ค.ศ. 1833 ชื่อว่า เดอะพีสฟุลเรโวลูชันนิสต์ (The Peaceful Revolutionist) ก็เป็นวารสารอนาธิปไตยที่ได้รับการตีพิมพ์เป็นครั้งแรก[203] ในมุมมองของนักประวัติศาสตร์อนาธิปไตยชาวอเมริกัน ยูนิส มิเน็ตต์ ชูสเตอร์ "เป็นที่แน่ชัด [...] ว่าลัทธิอนาธิปไตยแบบพรูดงนั้นสามารถพบได้ในสหรัฐตั้งแต่อย่างน้อย ค.ศ. 1848 และมันเองไม่รู้ตัวถึงความใกล้เคียงระหว่างมันกับลัทธิอนาธิปไตยแบบปัจเจกของ โจไซอา วอร์เรน และ สตีเฟน เพิร์ล แอนดรูส์ (Stephen Pearl Andrews) [...] วิลเลียม แบตเชลเดอร์ กรีน (William Batchelder Greene) ได้นำเสนอลัทธิมิวชัวลิสต์แบบพรูดงนี้ในรูปแบบที่บริสุทธิ์และเป็นระบบมากที่สุด"[204] ในเวลาต่อมา นักอนาธิปัตย์แบบปัจเจกชาวอเมริกัน เบนจามิน ทักเกอร์ "ได้ต่อต้านทั้งรัฐและทุนนิยม ต่อต้านทั้งการกดขี่และการเอาเปรียบ แม้ว่าเขาจะไม่ได้ต่อต้านตลาดและทรัพย์สิน เขาต่อต้านทุนนิยมอย่างหนักแน่น เพราะในมุมมองของเขา มันเป็นการผูกขาดทุนทางสังคม (เครื่องมือ เครื่องจักร ฯลฯ) ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ ซึ่งทำให้เจ้าของสามารถเอาเปรียบลูกจ้างของพวกเขาได้ นั่นคือการไม่จ่าย[ค่าจ้าง]ให้กับคนงานสมกับมูลค่าเต็มของแรงงานของพวกเขา เขาคิดว่า 'ชนชั้นซึ่งใช้แรงงานถูกพรากไปจากรายได้ของพวกเขาผ่านดอกเบี้ยเกินอัตราสามรูปแบบ คือดอกเบี้ย ค่าเช่า และกำไร' ดังนั้น 'เสรีภาพจะล้มเลิกดอกเบี้ย จะล้มเลิกกำไร จะล้มเลิกค่าเช่าแบบผูกขาด จะล้มเลิกการเก็บภาษี จะล้มเลิกการเอาเปรียบแรงงาน จะล้มเลิกการกระทำทุกทางที่พรากผู้ใช้แรงงานไปจากผลผลิตของเขาเอง' จุดยืนนี้ทำให้เขาถูกถือว่าอยู่ในธรรมเนียมของสังคมนิยมแบบอิสรนิยม และทักเกอร์ก็เรียกตนเองเป็นนักสังคมนิยมอยู่หลายครั้ง และถือว่าปรัชญาของเขาเป็นสังคมนิยมแบบอนาธิปไตย"[205][206]

ออสการ์ ไวลด์ นักเขียนนักอนาธิปัตย์ที่โด่งดังชาวไอริชซึ่งได้เผยแพร่งานเขียนสังคมนิยมอิสรนิยมที่ชื่อว่า เดอะโซลออฟแมนอันเดอร์โซเชียลลิสซึม (The Soul of Man Under Socialism)

นักอนาธิปัตย์แบบปัจเจกชาวฝรั่งเศส เอมีล อาร์ม็อง (Émile Armand) ต่อต้านระบบทุนนิยมและระบบเศรษฐกิจแบบรวมศูนย์อย่างชัดเจน เมื่อเขากล่าวถึงนักอนาธิปไตยแบบปัจเจกว่า "ข้างในใจเขายังคงดื้อรั้น ดื้อรั้นจะเป็นจะตาย ทางจริยธรรม ทางปัญญา ทางเศรษฐกิจ (เศรษฐกิจแบบทุนนิยมและเศรษฐกิจแบบบังคับบัญชา ผู้เก็งกำไรและผู้ผลิตก็น่ารังเกียจพอกันสำหรับเขา)[207] นักอนาธิปัตย์แบบปัจเจกชาวสเปน มิเกล ฆิเมเนซ อิกัวลาดา (Miguel Giménez Igualada) มีความคิดว่า "ทุนนิยมนั้นเป็นผลจากรัฐบาล เมื่อรัฐบาลหายไปทุนนิยมย่อมตกลงมาจากแท่นอย่างมึนงง [...] สิ่งที่เราเรียกว่าทุนนิยมไม่ใช่สิ่งใดนอกจากเป็นผลผลิตของรัฐ ซึ่งภายในนั้นสิ่งเดียวที่สนใจคือกำไน ไม่ว่าได้มาโดยทุจริตหรือสุจริต และดังนั้นการต่อสู้กับทุนนิยมจึงเป็นงานที่ไร้ความหมาย เพราะไม่ว่าจะเป็นทุนนิยมรัฐหรือทุนนิยมวิสาหกิจ ตราบใดที่รัฐบาลยังดำรงอยู่ ทุนซึ่งเอาเปรียบย่อมดำรงอยู่ การต่อสู้ แต่ของความสำนึก จึงเป็นการต่อสู้กับรัฐ"[208] มุมมองของเขาต่อการแบ่งแยกทางชนชั้นและคตินิยมนักวิชาการเป็นดังว่า " สิ่งที่สำคัญที่นักอนาธิปัตย์จะต้องกระทำอยู่ตลอดคือการที่ไม่ว่าใครก็ไม่จำเป็นต้องเอาเปรียบใคร คนใดกับคนใดก็ตาม เพราะการไม่เอาเปรียบนี้จะนำไปสู่การจำกัดทรัพย์สินไว้สำหรับความจำเป็นของปัจเจกเท่านั้น [...] เพราะไม่มีใครทำงานให้ใคร คนเก็งกำไรจากความมั่งคั่งจะหายไป เช่นกันรัฐบาลจะหายไปเมื่อไม่มีใครให้ความสนใจกับคนที่ไปเรียนเกี่ยวกับของสี่อย่างที่มหาวิทยาลัยเพื่อออกมาเสแสร้งแกล้งทำเป็นปกครองผู้คน วิสาหกิจอุตสาหกรรมขนาดใหญ่จะเปลี่ยนเป็นผู้คนที่อยู่ในสมาคมขนาดใหญ่ที่ทุกคนจะทำงานและเพลิดเพลินกับผลผลิตของงานของพวกเขา และจากปัญหาที่ง่ายและสวยงามซึ่งลัทธิอนาธิปไตยได้จัดการไปแล้ว และเขาที่เอาเหล่านั้นมาปฏิบัติจริงและใช้ชีวิตไปกับมัน เขาเป็นนักอนาธิปัตย์"[209]

นักอนาธิปัตย์[210] นักเขียน และโบฮีเมียน (bohemianism) ออสการ์ ไวลด์ ได้เขียนไว้ในเรียงความที่โด่งดังของเขา เดอะโซลออฟแมนอันเดอร์โซเชียลลิสซึม ว่า "ศิลปะคือปัจเจกนิยม และปัจเจกนิยมคือแรงที่ปั่นป่วนและทลายลง นี่คือมูลค่าอันมหาศาลของมัน เพราะสิ่งที่มันควานหาคือการปั่นปวนความจำเจของประเภท ความเป็นทาสของขนบธรรมเนียม ทรราชย์ของนิสัย และการลดทอนมนุษย์ให้ไปอยู่ในระดับเดียวกับเครื่องจักร"[211] ในมุมมองของนักอนาธิปัตย์ จอร์จ วูดค็อก "เป้าหมายของไวลด์ใน เดอะโซลออฟแมนอันเดอร์โซเชียลลิสซึม คือการแสวงหาสังคมซึ่งเป็นใจมากที่สุดสำหรับศิลปิน [...] สำหรับไวลด์ ศิลปะเป็นจุดสิ้นสุดสุดท้าย ซึ่งมีการตรัสรู้และการฟื้นฟูอยู่ในตัวมัน ที่ซึ่งทุกสิ่งอื่นในสังคมจะต้องตกอยู่ใต้บังคับบัญชาของมัน [...] ไวลด์แสดงให้เห็นนักอนาธิปัตย์เป็นตัวแทนของนักเสพสุนทรีย์"[212]

ในสังคมสังคมนิยม ไวลด์เขียนว่าจะไม่มีผู้คนที่ยากจนข้นแค้น และสมาชิกทุกคนในสังคมจะแบ่งปันความเจริญและความสุขของสังคมโดยทั่วกัน[213] และสังคมนิยมจะนำไปสู่ปัจเจกนิยม[214] เพราะการล้มเลิกทรัพย์สินส่วนบุคคลนั้นจะทำให้ปัจเจกนิยมนั้นเป็นอิสระ ปราณีต และเข้มข้นกว่าเดิม ทรัพย์สินส่วนบุคคลทำร้ายปัจเจกนิยมด้วยการทำให้คนงงงวยไปกับว่าเขาเป็นเจ้าของของอะไร และได้กดทับปัจเจกนิยมที่แท้จริงด้วยปัจเจกนิยมปลอม[215] เขากล่าวถึงสังคมนิยมแบบอำนาจนิยมว่าจะทำให้สภาพมนุษย์ย่ำแย่กว่าเดิม จากที่รัฐบาลถืออำนาจการเมืองอยู่แล้วก็จะถืออำนาจทางเศรษฐกิจด้วย และสังคมนิยมต้องมีปัจเจกนิยมด้วย[216] เขาเทียบสังคมนิยมแบบอำนาจนิยมว่าใช้ไม่ได้ ในขณะที่ระบบในปัจจุบัน (ที่มีทรัพย์สินส่วนบุคคล) นั้นเป็นทรราชย์ทางเศรษฐกิจที่จำกัดเสรีภาพและความสุข การเปลี่ยนจากสภาพที่คนส่วนหนึ่งที่ตกเป็นทาสให้กลายเป็นการที่คนทั้งหมดต้องตกเป็นทาสเพื่อแก้ไขปัญหานี้นั้นเป็นเรื่องที่ไร้เดียงสา[217] และสนับสนุนปัจเจกนิยมในแบบที่ไม่ใช่ทุนนิยมโดยกล่าวว่า "ปัจเจกนิยมที่เกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไขที่มีทรัพย์สินส่วนบุคคลนั้นไม่ได้เป็นในแบบที่น่าพอใจหรือดีเยี่ยมเสมอไป"[218] ในทำนองนี้เองที่สังคมนิยมจะปลดปล่อยมนุษย์จากการทำหัตถกิจ และให้สามารถใช้เวลาไปกับการไล่ตามความสร้างสรรค์ของเขาได้ และจึงสามารถพัฒนาจิตวิญญาณของเขา ในความคิดของไวลด์

ลัทธิมากซ์

[แก้]

ลัทธิมากซ์แบบอิสรนิยมเป็นขอบเขตกว้าง ๆ ของปรัชญาการเมืองและเศรษฐกิจซึ่งให้ความสำคัญกับแง่มุมของการต่อต้านอำนาจนิยมของลัทธิมากซ์[219] กระแสลัทธิมากซ์แบบอิสรนิยมช่วงแรก เป็นที่รู้จักในนามลัทธิคอมมิวนิสต์ฝ่ายซ้าย[220] ได้ถือกำเนิดขึ้นมาเพื่อต่อต้านลัทธิมากซ์–เลนิน[60] และลูกหลานของมันอย่างลัทธิสตาลิน ลัทธิเหมา และลัทธิทรอตสกี (Trotskyism)[221] ลัทธิมากซ์แบบอิสรนิยมยังวิจารณ์จุดยืนปฏิรูปนิยม (reformism) อย่างเช่นประชาธิปไตยสังคมนิยม[222] กระแสการเมืองลัทธิมากซ์แบบอิสรนิยมมักคัดความคิดมาจากผลงานช่วงหลัง ๆ ของมากซ์และเอ็งเงิลส์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานอย่าง กรุนท์ริสเซอ (Grundrisse) และ เดอะซีวิลวอร์อินแฟรนส์ (The Civil War in France)[59] โดยให้ความสำคัญกับความเชื่อแบบมากซ์ในความสามารถของชนชั้นแรงงานที่จะหล่อหลอมพรหมลิขิตของตัวเองได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้พรรคสายปฏิวัติหรือรัฐเป็นตัวกลางหรือตัวช่วยในการปลดปล่อยของมัน[58] ลัทธิมากซ์แบบอิสรนิยม พร้อมกันกับอนาธิปไตย ทั้งสองเป็นส่วนหนึ่งของกระแสหลักของสังคมนิยมแบบอิสรนิยม[17]

ลัทธิมากซ์แบบอิสรนิยมประกอบด้วยกระแสการเมืองอย่างเช่นลัทธิลุคเซิมบวร์ค ลัทธิคอมมิวนิสต์แบบองค์คณะนิยม ลัทธิคอมมิวนิสต์ฝ่ายซ้าย ซอซียาลิสม์ อู บาร์บารี กลุ่มการเมืองจอห์นสัน-ฟอเรสต์ สังคมนิยมทั่วโลก ลัทธิเลททริสม์ (Lettrism)/ซิทูเอชันนิสต์ อินเตอร์แนชันนอล อัตตาณัตินิยม/ลัทธิแรงงานนิยม และฝ่ายซ้ายใหม่ (New Left)[18] ลัทธิมากซ์แบบอิสรนิยมมีอิทธิพลที่ทรงพลังต่อนักอนาธิปัตย์สังคมและนักอนาธิปัตย์หลังฝ่ายซ้าย นักทฤษฎีลัทธิมากซ์แบบอิสรนิยมที่โด่งดังประกอบด้วย อันโตนี ปันเนอคุก, รายา ดูนาเยฟสกายา (Raya Dunayevskaya), ซี. แอล. อาร์. เจมส์ (C. L. R. James), อันโตนีโอ เนกรี (Antonio Negri), กอร์นีลิโอส กัสโตริอาดิส, คริส พาลลิส, กี เดอบอร์ (Guy Debord), ดาเนียล เกแร็ง, แอร์เนสโต สเกรปันตี (Ernesto Screpanti) และ ราอุล ฟันแอย์เคิม (Raoul Vaneigem) เป็นต้น

ลัทธิเดอลีออน

[แก้]
แดเนียล เดอ ลีออน

ลัทธิเดอลีออน (อังกฤษ: De Leonism) เป็นลัทธิมากซ์แบบสหการนิยมรูปแบบหนึ่งซึ่งถูกพัฒนาโดย แดเนียล เดอ ลีออน (Daniel De Leon) เขาเป็นผู้นำรุ่นแรก ๆ ของพรรคการเมืองสังคมนิยมในสหรัฐพรรคแรก คือพรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งอเมริกา (Socialist Labor Party of America; SLP) เดอ ลีออน ได้รวบรวมทฤษฎีสหการนิยมที่กำลังเติบโตในยุคของเขาเข้ากันกับลัทธิมากซ์แบบเดิม (orthodox marxism) อิงตามทฤษฎีแบบเดอลีออนแล้ว สหภาพแรงงานอุตสาหกรรม (industrial unionism) ที่เข้มแข็ง (เป็นสหภาพแรงงานตามความเชี่ยวชาญ) และพรรคการเมืองที่ส่งเสริมแนวคิดของสหภาพแรงงานอุตสาหกรรม เป็นยานพาหนะของการต่อสู้ระหว่างชนชั้น สหภาพแรงงานอุตสาหกรรมที่ทำงานเพื่อผลประโยชน์ของชนกรรมาชีพจะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงอันจำเป็นเพื่อสถาปนาระบอบสังคมนิยม แนวทางนี้ต่างไปจากกระแสในสหการนิยมอนาธิปไตยเพียงกระการเดียวนั่นก็คือ ตามแนวคิดแบบเดอลีออน พรรคการเมืองสายปฏิวัตินั้นก็เป็นสิ่งจำเป็นในการต่อสู้เพื่อชนกรรมาชีพในสนามการเมือง [223][224][225][226]

ลัทธิเดอลีออนอยู่บนชายขอบนอกสุดของลัทธิคอมมิวนิสต์ในธรรมเนียมแบบเลนิน และเกิดขึ้นมาก่อนลัทธิเลนิน เพราะหลักการของลัทธิเดอลีออนนั้นถูกพัฒนาขึ้นมาในช่วงต้นคริสต์ทศวรรษ 1890 พร้อมกับเมื่อ เดอ ลีออน ได้เข้าสู่ตำแหน่งผู้นำของพรรค SLP ในขณะที่ลัทธิเลนินและแนวคิดพรรคแนวหน้าได้ก่อรูปร่างขึ้นมาหลังจากงานเขียน จะทำอะไรดี? (What Is To Be Done?) ของเลนินได้ถูกตีพิมพ์ออกมาใน ค.ศ. 1902 ธรรมชาติของความเป็นประชาธิปไตยและการกระจายอำนาจของรัฐบาลแบบเดอลีออนที่ถูกนำเสนอขึ้นมา เป็นภาพตรงข้ามกับประชาธิปไตยรวมศูนย์ (democratic centralism) ของลัทธิมากซ์-เลนิน และสิ่งที่ถูกมองว่าเป็นธรรมชาติของความเป็นเผด็จการภายในสหภาพโซเวียตและสาธารณรัฐประชาชนจีน และของรัฐคอมมิวนิสต์อื่น ๆ ความสำเร็จของแผนการแบบเดอลีออนนั้นขึ้นอยู่กับการได้รับความสนับสนุนจากคนส่วนใหญ่ทั้งในที่ทำงานและในที่ลงคะแนนเสียง ต่างจากนิยามแบบเลนินที่บอกว่าพรรคแนวหน้าขนาดเล็กจะเป็นตัวนำชนชั้นแรงงานให้กระทำการปฏิวัติ

ลัทธิคอมมิวนิสต์แบบองค์คณะนิยม

[แก้]
อันโตนี ปันเนอคุก หนึ่งในนักทฤษฎีคนหลักของแนวคิดคอมมิวนิสต์แบบองค์คณะนิยม

ลัทธิคอมมิวนิสต์แบบองค์คณะนิยมเป็นขบวนการฝ่ายซ้ายสายมูลวิวัติในประเทศเยอรมนีและเนเธอร์แลนด์ในคริสต์ทศวรรษ 1920 องค์กรหลักของขบวนการคือพรรคกรรมกรคอมมิวนิสต์แห่งประเทศเยอรมนี (Communist Workers Party of Germany; KAPD) ลัทธิคอมมิวนิสต์แบบองค์คณะนิยมในปัจจุบันเป็นจุดยืนทางทฤษฎีและกิจกรรมภายในลัทธิมากซ์ และก็ภายในสังคมนิยมแบบอิสรนิยม ต่างจากประชาธิปไตยสังคมนิยมและลัทธิคอมมิวนิสต์แบบเลนิน คำกล่าวอ้างหลักของลัทธิคอมมิวนิสต์แบบองค์คณะนิยมคือ สภาคนงานซึ่งเกิดขึ้นในโรงงานและเทศบาลเป็นการจัดตั้งและอำนาจปกครองของชนชั้นแรงงานในรูปแบบที่เป็นธรรมชาติและชอบธรรมมากที่สุด มุมมองนี้ต่างจากการเน้นความสนใจของบอลเชวิคต่อพรรคแนวหน้า[227] ความสนใจของนักปฏิรูปต่อรัฐสภา[228] หรือต่อการมีอยู่ของรัฐ หลักการแกนของลัทธิคอมมิวนิสต์แบบองค์คณะนิยมคือการที่รัฐและเศรษฐกิจควรถูกจัดการโดยสภาคนงาน ซึ่งประกอบไปด้วยผู้แทนจากการเลือกตั้งในที่ทำงานซึ่งจะสามารถถูกถอดถอนได้ทุกเมื่อ ดังนั้นแล้ว ลัทธิคอมมิวนิสต์แบบองค์คณะนิยมต่อต้านสังคมนิยมอำมาตยาธิปไตยซึ่งดำเนินการโดยรัฐ มันยังต่อต้านแนวคิดที่จะมีพรรคสายปฏิวัติ เพราะนักคอมมิวนิสต์แบบองค์คณะนิยมเชื่อว่าการปฏิวัติซึ่งนำโดยพรรคการเมืองก็จะทำให้เกิดเผด็จการโดยพรรคอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นักคอมมิวนิสต์แบบองค์คณะนิยมสนับสนุนประชาธิปไตยโดยคนงาน ซึ่งพวกเขาต้องการให้เกิดขึ้นผ่านการสมาพันธ์ของสภาคนงาน

คำว่าสภาในภาษารัสเซียคือคำว่าโซเวียต และในช่วงปีแรก ๆ ของการปฏิวัติ สภาคนงานนั้นมีนัยสำคัญทางการเมืองในประเทศรัสเซีย เลนินได้นำคำนี้ไปใช้ในหลายองค์กรทางการเมืองเพื่อใช้ประโยชน์จากรัศมีทางการเมืองของอำนาจในที่ทำงาน นามว่ารัฐสภาโซเวียตซึ่งเป็นชื่อเรียกของรัฐสภาและคำว่าสหภาพโซเวียตเองก็ตามก็ใช้คำศัพท์นี้ แต่คำเหล่านี้ไม่ได้แสดงนัยถึงการกระจายอำนาจใด ๆ เลย มากไปกว่านั้น นักคอมมิวนิสต์แบบองค์คณะนิยมได้วิจารณ์สหภาพโซเวียตว่าเป็นรัฐทุนนิยม โดยเชื่อว่าการปฏิวัติบอลเชวิคในรัสเซียนั้นได้กลายเป็น "การปฏิวัติกระฎุมพี" เมื่ออำมาตยาธิปไตยของพรรคได้แทนที่ระบบอภิชนาธิปไตยศักดินาสวามิภักดิ์ แม้ว่าพวกเขาส่วนใหญ่รู้สึกว่าการปฏิวัติเดือนตุลาคมนั้นมีลักษณะของความเป็นชนชั้นแรงงานก็ตาม พวกเขาเชื่อว่าในเมื่อความสัมพันธ์แบบทุนนิยมยังคงดำรงอยู่ (เพราะคนงานไม่มีปากมีเสียงในการดำเนินเศรษฐกิจ) สหภาพโซเวียตก็ลงเอยกลายเป็นประเทศระบบทุนนิยมรัฐ โดยมีรัฐมาแทนที่นายทุนปัจเจกบุคคล นักคอมมิวนิสต์แบบองค์คณะนิยมสนับสนุนการปฏิวัติของคนงาน แต่พวกเขาต่อต้านเผด็จการพรรคเดียว พวกเขายังเชื่อในการลดบทบาทของพรรคการเมืองให้เหลือเพียงการปลุกปั่น (agitprop) และการโฆษณาชวนเชื่อ และปฏิเสธการมีส่วนร่วมใด ๆ ในการเลือกตั้งหรือในรัฐสภา และอ้างว่าคนงานควรลาออกจากสหภาพแรงงานปฏิกิริยา และไปก่อตั้งสหภาพสายปฏิวัติขนาดใหญ่องค์กรเดียว[229] [230]

ลัทธิคอมมิวนิสต์ฝ่ายซ้าย

[แก้]

ลัทธิคอมมิวนิสต์ฝ่ายซ้าย (อังกฤษ: Left communism) เป็นมุมมองแบบคอมมิวนิสต์แนวหนึ่งซึ่งเป็นของฝ่ายซ้ายของลัทธิคอมมิวนิสต์ ซึ่งวิจารณ์แนวคิดทางการเมืองของบอลเชวิคในช่วงเวลาหนึ่ง จากจุดยืนซึ่งอ้างว่าเป็นลัทธิมากซ์และกรรมาชีพที่เป็นของแท้กว่ามุมมองลัทธิเลนินขององค์การคอมมิวนิสต์สากลภายหลังการประชุมใหญ่ครั้งแรกและครั้งที่สอง[60][231]นักคอมมิวนิสต์ฝ่ายซ้ายมองว่าตัวเองอยู่ซ้ายกว่านักลัทธิเลนิน (ซึ่งพวกเขามองว่าเป็น "ซ้ายกว่าทุน" และไม่ใช่นักสังคมนิยม) ซ้ายกว่านักอนาธิปัตย์ และซ้ายกว่ากลุ่มสังคมนิยมสายปฏิวัติอื่น ๆ บางกลุ่ม ถึงแม้ว่า โรซา ลุคเซิมบวร์ค ได้ใช้ชีวิตก่อนที่ลัทธิคอมมิวนิสต์ฝ่ายซ้ายได้กลายเป็นกลุ่มการเมืองที่ชัดเจน เธอได้มีอิทธิพลอย่างมากต่อนักคอมมิวนิสต์ฝ่ายซ้ายส่วนใหญ่ ทั้งในทางการเมืองและทางทฤษฎี ผู้สนับสนุนลัทธิคอมมิวนิสต์ฝ่ายซ้ายมี อามาเดโอ บอร์ดีกา (Amadeo Bordiga), แฮร์มัน กอร์เทอร์, อันโตนี ปันเนอคุก, อ็อทโท รือเลอ, คาร์ล คอร์ช, ซิลเวีย แพงค์เฮิร์สต์ และ พอล มัททิค (Paul Mattick) เป็นต้น

กลุ่มจอห์นสัน-ฟอเรสต์

[แก้]

กลุ่มจอห์นสัน-ฟอเรสต์เป็นกลุ่มการเมืองฝ่ายซ้ายสายมูลวิวัติในสหรัฐซึ่งเกี่ยวโยงกับนักทฤษฎีมนุษยนิยมแนวมากซ์ (Marxist humanism) ซี. แอล. อาร์. เจมส์ และ รายา ดูนาเยฟสกายา ซึ่งใช้นามแฝงว่า เจ. อาร์. จอห์นสัน และ เฟรดดี ฟอเรสต์ ตามลำดับ และ เกรซ ลี บ็อกส์ (Grace Lee Boggs) หญิงชาวจีนอเมริกันก็ได้เข้าร่วม ซึ่งถูกถือว่าเป็นผู้ก่อตั้งคนที่สาม หลังจากทั้งสองได้ออกจากพรรคกรรมกรสังคมนิยม (Socialist Workers Party (United States)) จอห์นสันและฟอเรสต์ได้ก่อตั้งองค์กรของตัวเองเป็นครั้งแรกที่ชื่อว่า คอร์เรสปอนเดนส์ โดยได้เปลี่ยนชื่อเป็น คณะกรรมการจัดพิมพ์คอร์เรสปอนเดนส์ (Correspondence Publishing Committee) ในปีต่อมา และความขัดแย้งก็ได้ทำให้แยกกันไปใน ค.ศ. 1955 จากงานทางการเมืองและทางทฤษฎีในช่วงปลายคริสต์ทศวรรษ 1940 เจมส์ได้ข้อสรุปว่าพรรคแนวหน้านั้นไม่ใช่สิ่งจำเป็นอีกต่อไป เพราะคำสั่งสอนต่าง ๆ ได้ถูกซึมซับไปโดยมวลชนแล้ว และเขาถือว่าการปฏิวัติฮังการี ค.ศ. 1956 เป็นการยืนยันในสิ่งนี้ กลุ่มคนซึ่งสนับสนุนการเมืองของเจมส์ได้ใช้ชื่อว่า เฟสซิงเรียลลิตี (Facing Reality) ตามชื่อหนังสือใน ค.ศ. 1958 ของเจมส์ซึ่งได้เขียนร่วมกันกับ เกรซ ลี บ็อกส์ และ ปีแยร์ โชลีเยอ (นามแฝงของ กอร์นีลิโอส กัสโตริอาดิส) เกี่ยวกับการก่อการกำเริบของชนชั้นแรงงานในฮังการี ค.ศ. 1956[232][233]

ซอซียาลิสม์ อู บาร์บารี

[แก้]
กอร์นีลิโอส กัสโตริอาดิส นักทฤษฎีสังคมนิยมอิสรนิยม

ซอซียาลิสม์ อู บาร์บารี (ฝรั่งเศส: Socialisme ou Barbarie แปลว่า สังคมนิยมหรืออนารยธรรม) เป็นกลุ่มสังคมนิยมอิสรนิยมสายมูลวิวัติในประเทศฝรั่งเศสในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง (ชื่อมาจากวลีที่ ฟรีดริช เอ็งเงิลส์ ใช้และซึ่งถูกอ้างอิงโดย โรซา ลุคเซิมบวร์ค ในเรียงความ ค.ศ. 1916 ชื่อว่า เดอะจูเนียสแพมเฟล็ต (The Junius Pamphlet))[234] กลุ่มนี้มีอยู่ระหว่าง ค.ศ. 1948 จนถึง 1965 และผู้นำคือ กอร์นีลิโอส กัสโตริอาดิส โดยใช้ชื่อว่า ปีแยร์ โชลีเยอ หรือ ปอล การ์ด็อง[235] กัสโตริอาดิส ปฏิเสธแนวหน้านิยมแบบเลนิน และวิจารณ์คตินิยมการเกิดเอง โดยกล่าวว่า "การปลดปล่อยมวลชนเป็นหน้าที่ของผู้คนเหล่านั้น แต่นักสังคมนิยมไม่สามารถแค่กอดอกของตัวเองไว้เฉย ๆ ได้" และกล่าวว่าตำแหน่งพิเศษซึ่งถูกสงวนไว้ให้กับปัญญาชนควรตกเป็นของพลเมืองอิสระทุก ๆ คน แต่เขาปฏิเสธการเล่นเกมนั่งรอ (attentisme) โดยกล่าวว่าในการดิ้นรนต่อสู้เพื่อสังคมใหม่ ปัญญาชนจะต้องวางระยะห่างของตัวเองจากเรื่องในชีวิตประจำวันและเรื่องในความเป็นจริง[236] นักปรัชญาการเมือง โกลด เลอฟอร์ และ กอร์นีลิโอส กัสโตริอาดิส ได้เผยแพร่งานเขียนวิจารณ์สหภาพโซเวียตและนักลัทธิทรอตสกีที่สนับสนุนมันที่ชื่อว่า ว่าด้วยระบอบและการต่อต้านการปกป้องสหภาพโซเวียต (On the Regime and Against the Defence of the USSR) พวกเขาเสนอว่าสหภาพโซเวียตนั้นถูกครอบงำโดยชนชั้นทางสังคมของข้าราชการ และได้เกิดสังคมประเภทใหม่ซึ่งมีความรุนแรงไม่น้อยไปกว่าสังคมในยุโรปตะวันตก ในภายหลัง กอร์นีลิโอส กัสโตริอาดิส ก็ได้เขียนลงในวารสาร ซอซียาลิสม์ อู บาร์บารี ของกลุ่มในชื่อเดียวกัน

ซิทูเอชันนิสต์ อินเตอร์แนชันนอล

[แก้]

ซิทูเอชันนิสต์ อินเตอร์แนชันนอล (อังกฤษ: Situationist International) เป็นกลุ่มจำกัดวงของนักปฏิวัติสากลนิยมซึ่งถูกก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1957 และกลุ่มได้ถึงจุดสูงสุดในอิทธิพลของมันในการนัดหยุดงานทั่วไปโดยพลการ (wildcat strikes) ซึ่งไม่เคยมีมาก่อนในประเทศฝรั่งเศส เมื่อเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1968 โดยมีมโนคติที่มีรากฐานในลัทธิมากซ์และศิลปะล้ำยุคยุโรปในคริสต์ศตวรรษที่ 20 พวกเขาสนับสนุนให้ประสบการณ์ของชีวิตนั้นไม่เป็นไปตามแบบแผนในแบบของระบบระเบียบทุนนิยม ให้เป็นสำหรับความอิ่มเอมในความปรารถนาปฐมฐานของมนุษย์และการไล่ตามคุณสมบัติความหลงใหลที่เหนือยิ่งกว่า เพื่อให้เป็นไปตามจุดประสงค์นี้ พวกเขาเสนอแนะและทดลองกับแนวคิดของ "การสร้างสถานการณ์" กล่าวคือการจัดตั้งสิ่งแวดล้อมที่เป็นใจแก่การสนองต่อความปรารถนาเหล่านั้น พวกเขาได้พัฒนาสาขาการศึกษาทดลองชุดหนึ่งสำหรับการสร้างสถานการณ์ดังกล่าว โดยใช้วิธีการซึ่งดึงเอามาจากศิลปะ เช่นวิถีชีวิตแบบเมืองแบบหน่วยเดียว (unitary urbanism) และจิตภูมิศาสตร์ (psychogeography) งานทฤษฎีหลักในทำนองนี้ซึ่งได้ถือกำเนิดขึ้นจากกลุ่มนี้เช่น เดอะเรโวลูชันออฟเอฟรีเดย์ไลฟ์ (The Revolution of Everyday Life) ของ ราอุล ฟันแอย์เคิม[237]

พวกเขาต่อสู้กับอุปสรรคหลักในการบรรลุถึงการใช้ชีวิตอย่างลึกซึ้งที่เหนือกว่า ซึ่งพวกเขาระบุว่ามีอยู่ในทุนนิยมขั้นสูง (advanced capitalism) จุดสูงสุดของงานทฤษฎีแนววิพากษ์ของพวกเขามีอยู่ในหนังสือทรงอิทธิพลโดย กี เดอบอร์ ชื่อว่า เดอะโซไซตีออฟเดอะสเปกเทเคิล (The Society of the Spectacle) เดอบอร์กล่าวใน ค.ศ. 1967 ว่าลักษณะภาพปรากฏอย่างสื่อมวลชนและการโฆษณามีบทบาทศูนย์กลางในสังคมทุนนิยมขั้นสูง ซึ่งคือการแสดงให้เห็นโลกความเป็นจริงปลอมเพื่อกลบเกลื่อนการเสื่อมของชีวิตมนุษย์โดยทุนนิยมที่เกิดขึ้นจริง ในการล้มล้างระบอบเช่นนี้ ซิทูเอชันนิสต์ อินเตอร์แนชันนอล สนับสนุนการก่อการกำเริบในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1968 ในประเทศฝรั่งเศส และได้เรียกร้องให้คนงานไปยึดครองโรงงาน (Council for Maintaining the Occupations) และดำเนินการต่อไปด้วยประชาธิปไตยโดยตรงผ่านสภาคนงานซึ่งประกอบไปด้วยผู้แทนที่สามารถถูกถอดถอนได้ในทันที

หลังจากการเผยแพร่งานวิเคราะห์การก่อการกำเริบในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1968 และยุทธศาสตร์ที่จำเป็นต้องถูกนำมาใช้ในการปฏิวัติครั้งถัดไปลงในนิตยสารฉบับสุดท้าย[238] ซิทูเอชันนิสต์ อินเตอร์แนชันนอล ได้สลายตัวไปใน ค.ศ. 1972[239]

อัตตาณัตินิยม

[แก้]
อันโตนีโอ เนกรี นักทฤษฎีคนสำคัญของอัตตาณัตินิยมอิตาลี

อัตตาณัตินิยม (อังกฤษ: Autonomism) คือขบวนการทางสังคมและการเมืองฝ่ายซ้ายชุดหนึ่งซึ่งใกล้ชิดกับขบวนการสังคมนิยม[240] ซึ่งถือกำเนิดเป็นระบบทฤษฎีหนึ่งเป็นครั้งแรกในประเทศอิตาลีในคริสต์ทศวรรษ 1960 (History of Italy as a Republic) จากลัทธิคอมมิวนิสต์แรงงานนิยม (operaismo)[241][242] นักอัตตาณัตินิยมชาวอิตาลีได้รับอิทธิพลจากงานวิจัยนักกิจกรรมในภายก่อนจากสหรัฐเช่นกลุ่มจอห์นสัน-ฟอเรสต์ และจากฝรั่งเศสเช่นกลุ่มซอซียาลิสม์ อู บาร์บารี ด้วยงานแปลโดย ดานีโล มอนตัลดี (Danilo Montaldi) และนักแปลคนอื่น ๆ[243] ในภายหลังกลุ่มการเมืองแบบหลังมากซ์และลัทธิอนาธิปไตยได้เริ่มมีความสำคัญมากขึ้นอันเป็นผลจากอิทธิพลของซิทูเอชันนิสต์ อินเตอร์แนชันนอล ความล้มเหลวของขบวนการซ้ายจัดในอิตาลีในคริสต์ทศวรรษ 1970 และการปรากฏตัวของนักทฤษฎีคนสำคัญหลายคน อาทิ อันโตนีโอ เนกรี ซึ่งได้มีส่วนในการจัดตั้งกลุ่ม โปเตเรโอเปไรโอ ใน ค.ศ. 1969 รวมไปถึง มารีโอ ตรอนตี (Mario Tronti), เปาโล วีร์โน (Paolo Virno) และ ฟรังโก "บีโฟ" เบราร์ดี (Franco Berardi)

ต่างไปจากลัทธิมากซ์รูปแบบอื่น ๆ ลัทธิมากซ์แบบอัตตาณัตินิยมให้ความสำคัญกับความสามารถของชนชั้นแรงงานที่จะผลักดันการเปลี่ยนแปลงในองค์กรของระบบทุนนิยมได้เองโดยอิสระจากรัฐ สหภาพแรงงาน หรือพรรคการเมือง นักอัตตาณัตินิยมไม่สนใจในการจัดตั้งทางการเมืองของพรรคเมื่อเทียบกับนักลัทธิมากซ์อื่น ๆ โดยเน้นไปที่กิจกรรมการจัดตั้งโดยตนเองที่อยู่นอกเหนือไปจากโครงสร้างการจัดตั้งแบบดั้งเดิม[244] ลัทธิมากซ์แบบอัตตาณัตินิยมจึงเป็นทฤษฎีแบบ "ล่างขึ้นบน" ซึ่งให้ความสนใจกับกิจกรรมซึ่งพวกเขามองว่าเป็นการต่อต้านทุนนิยมในทุก ๆ วันโดยชนชั้นแรงงาน ตัวอย่างเช่นการขาดงาน การทำงานช้า และการคบหาสมาคมภายในที่ทำงาน

อัตตาณัตินิยมได้มีอิทธิพลต่อขบวนการ เอาโตโนเมิน (Autonomen) เยอรมันและดัชต์ การมีอยู่อย่างแพร่หลายทั่วโลกของศูนย์สังคมจัดการตนเอง (Self-managed social center) และในปัจจุบันก็มีอิทธิพลอยู่ในประเทศอิตาลี ฝรั่งเศส และประเทศที่พูดภาษาอังกฤษในระดับที่ต่ำลงมา ผู้ที่นิยามตนเองเป็นนักอัตตาณัตินิยมในปัจจุบันมีตั้งแต่นักลัทธิมากซ์จนถึงนักอนาธิปัตย์[241] ขบวนการ โอเปราอีสโม (operaismo) ในอิตาลียังได้มีอิทธิพลต่อนักวิชาการลัทธิมากซ์ อาทิ แฮร์รี คลีเวอร์ (Harry Cleaver), จอห์น ฮอลโลเวย์ (John Holloway (sociologist)), สตีฟ ไรต์ (Steve Wright) และ นิค ไดเออร์-วิธเฟิร์ด (Nick Dyer-Witheford)

กลุ่มอื่น ๆ

[แก้]

กระแสการเมืองสังคมนิยมแบบอิสรนิยมอื่น ๆ ซึ่งรวมถึงกลุ่มการเมืองแบบอนาธิปไตยแบบหลังคลาสสิก และกลุ่มการเมืองซึ่งไม่สามารถจัดหมวดหมู่เข้าในส่วนแบ่งลัทธิอนาธิปไตยกับลัทธิมากซ์ได้

ภายในขบวนการแรงงานและการเมืองในรัฐสภา

[แก้]
สังคมนิยมประชาธิปไตย
[แก้]

ปีแยร์-โฌแซ็ฟ พรูดง ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสในเดือนเมษายน ค.ศ. 1848 และเขาไม่ได้รับเลือกตั้ง แต่ในการเลือกตั้งซ่อมในวันที่ 4 มิถุนายนเขาได้รับเลือกเข้าไป[245] นักการเมือง ฟรันเซสก์ ปี อี มารากัล ได้กลายเป็นนักแปลคนสำคัญที่แปลงานของพรูดงมาเป็นภาษาสเปน[194] และในภายหลังได้เป็นประธานาธิบดีของสเปนอยู่ชั่วขณะหนึ่งใน ค.ศ. 1873 ในขณะที่เป็นผู้นำของพรรคสาธารณรัฐประชาธิปไตยสหพันธ์

รูด็อล์ฟ ร็อคเคอร์ นักอนาธิปัตย์สหการนิยมกล่าว:

การเคลื่อนไหวครั้งแรกของขบวนการคนงานสเปนนั้นได้รับอิทธิพลอย่างสูงจากแนวคิดของ ปี อี มารากัล ผู้นำของผู้นิยมสหพันธรัฐสเปนและลูกศิษย์ของพรูดง ปี อี มารากัล เป็นหนึ่งในนักทฤษฎีที่โดดเด่นในยุคของเขา และมีอิทธิพลอย่างมากในขั้นพัฒนาการของแนวคิดอิสรนิยมในสเปน แนวคิดทางการเมืองของเขามีส่วนซ้อนกันกับของ ริชาร์ด ไพรซ์, โจเซฟ พริสต์ลีย์, โทมัส เพน, เจฟเฟอร์สัน, และตัวแทนของเสรีนิยมแบบแองโกลอเมริกันในช่วงแรกคนอื่น ๆ เขาต้องการจำกัดอำนาจของรัฐให้น้อยที่สุด และค่อย ๆ แทนที่มันด้วยระเบียบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม[246]

ฟรันเซสก์ ปี อี มารากัล ผู้ติดตามและนักแปลงานของพรูดงชาวกาตาลา และนักทฤษฎีสังคมนิยมแบบอิสรนิยมซึ่งได้กลายเป็นประธานาธิบดีของประเทศสเปน (President of the Republic (Spain)) เป็นช่วงเวลาสั้น ๆ
ซัลบาดอร์ แซกิ นักสังคมนิยมแบบอิสรนิยมชาวกาตาลา ในสมาพันธ์แรงงานแห่งชาติสเปนองค์กรสหการนิยมแบบอนาธิปไตย

ปี อี มารากัล ถือได้ว่าเป็นนักทฤษฎีที่อุทิศตัวคนหนึ่ง ด้วยงานเขียนความยาวเท่าหนังสือ อาทิ ลาเรอักซิออนอีลาเรโบลูซิออน (La reacción y la revolución; ปฏิกิริยาและการปฏิวัติ จาก ค.ศ. 1855), ลัสนาซิออนาลิดาเดส (Las nacionalidades; สัญชาติ ค.ศ. 1877) และ ลาเฟเดราซิออน (La Federación; สหพันธรัฐ) จาก ค.ศ. 1880 ในอีกกรณีหนึ่ง เฟร์มิน ซัลโบเชอา (Fermín Salvochea) เป็นนายกเทศมนตรีของเมืองกาดิซและประธานาธิบดีของจังหวัดกาดิซ เขาเป็นผู้เผยแพร่ความคิดอนาธิปไตยในบริเวณเดียวกันในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 และถูกถือว่าเป็นบุคคลซึ่งเป็นที่นิยมมากที่สุดคนหนึ่งในขบวนการอนาธิปไตยในสเปนในคริสต์ศตวรรษที่ 19[247][248] อุดมการณ์ของเขาได้รับอิทธิพลจาก ชาลส์ แบรดลอ (Charles Bradlaugh), โรเบิร์ต โอเวน (Robert Owen) และ โทมัส เพน ซึ่งเขาได้ศึกษางานของเขาพวกนี้ขณะที่อาศัยอยู่ในประเทศอังกฤษ และรวมไปถึงงานของ ปิออตร์ โครปอตกิน ซึ่งเขาได้อ่านในภายหลัง ในประเทศสเปน เขาได้ติดต่อกับนักคิดอนาธิปัตย์และสมาชิกของพันธมิตรบาคูนิน ซึ่งรวมถึง อันเซลโม โลเรนโซ (Anselmo Lorenzo) และ ฟรันซิสโก โมรา[247]

ใน ค.ศ. 1950 มีกลุ่มลับก่อตัวขึ้นในสหพันธ์อนาธิปไตยฝรั่งเศส (Anarchist Federation (France); FA) ที่ชื่อว่า ออร์กานีซาซียง ป็องเซ บาตาย (Organisation Pensée Bataille; OPB) ซึ่งนำโดย แพลตฟอร์มิสต์ ฌอร์ฌ ฟงเตนี (George Fontenis)[249] OPB ได้ผลักดันการเคลื่อนไหวซึ่งได้เปลี่ยนชื่อของ FA เป็น เฟเดราซียง ก็องมูว์นิสต์ ลีแบร์แตร์ (Fédération Communiste Libertaire; FCL) หลังการประชุมใหญ่ ค.ศ. 1953 ที่ปารีส ในขณะเดียวกันที่บทความในหนังสือพิมพ์ เลอ ลีแบร์แตร์ ระบุถึงจุดจบของความร่วมมือกับกลุ่มลัทธิเหนือจริงในฝรั่งเศสซึ่งนำโดย อ็องเดร เบรอตง กระบวนการตัดสินใจแบบใหม่อยู่บนฐานของความเป็นเอกฉันท์ (unanimity) โดยแต่ละบุคคลมีสิทธิที่จะยับยั้งแนวโน้มต่าง ๆ ของสหพันธ์ ในปีเดียวกัน FCL ได้เผยแพร่ มานีเฟสต์ ดู ก็องมูว์นิสเมอ ลีแบร์แตร์ (Manifeste du communisme libertaire; แถลงการณ์ลัทธิคอมมิวนิสต์อิสรนิยม) หลายกลุ่มได้ลาออกจาก FCL ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1955 เพราะไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจส่ง "ผู้สมัครรับเลือกตั้งสายปฏิวัติ" ในการเลือกตั้งสภานิติบัญญัติ ต่อมาได้มีการจัดการประชุมระหว่างทวีปของสมาพันธ์แรงงานแห่งชาติสเปน (Confederación Nacional del Trabajo) ขึ้นระหว่างวันที่ 15-20 สิงหาคม ค.ศ. 1954 มีกลุ่มที่ชื่อว่า อ็องต็องต์ อานาร์กิสต์ (ข้อตกลงอนาธิปัตย์) ปรากฏตัวขึ้น ซึ่งประกอบไปด้วยนักต่อสู้ซึ่งไม่เห็นชอบกับแนวโน้มทางอุดมการณ์อันใหม่ที่ OPB ได้มอบให้กับ FCL โดยพวกเขาถือว่าเป็นแนวทางอำนาจนิยม และเกือบจะเป็นลัทธิมากซ์[250] FCL คงอยู่จนถึง ค.ศ. 1956 ไม่นานหลังจากกลุ่มได้เข้าร่วมในการเลือกตั้งสภานิติบัญญัติระดับรัฐด้วยผู้สมัครสิบคน การกระทำครั้งนี้ทำให้สมาชิก FCL ส่วนหนึ่งมีความรู้สึกแปลกแยกและนำไปสู่จุดจบขององค์กรในที่สุด[249]

ภายในขบวนการแรงงานในสหราชอาณาจักรเองก็มีกระแสของอิสรนิยมฝ่ายซ้ายอยู่ และคำว่า "นักสังคมนิยมอิสรนิยม" ก็ถูกใช้เพื่อหมายถึงนักสังคมนิยมประชาธิปไตยบางคน ซึ่งรวมไปถึงสมาชิกที่มีชื่อเสียงบางคนในพรรคแรงงานของสหราชอาณาจักร สันนิบาตสังคมนิยมถูกก่อตั้งขึ้นใน ค.ศ. 1885 โดย วิลเลียม มอร์ริส และคนอื่น ๆ ซึ่งวิจารณ์แนวคิดสังคมนิยมแบบอำนาจนิยมของสหพันธ์ประชาธิปไตยสังคมนิยม (Social Democratic Federation) โดยกลุ่มได้มีส่วนร่วมในสหภาพแรงงานใหม่ การต่อสู้ของพลพรรคสหภาพแรงงานในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1880-1890 ซึ่งเป็นการพยากรณ์ถึงสหการนิยมในบางแง่มุมที่สำคัญ (ทอม แมนน์ (Tom Mann) ผู้นำสหภาพแรงงานใหม่ เป็นหนึ่งในนักสหการนิยมชาวบริติชคนแรก ๆ ) สันนิบาตสังคมนิยมนั้นถูกครอบงำโดยนักอนาธิปัตย์ในคริสต์ทศวรรษ 1890[251] พรรคแรงงานอิสระ (Independent Labour Party; ILP) ซึ่งก่อตัวขึ้นในช่วงเวลานั้นยึดเอาธรรมเนียมศาสนาแบบนอกรีต (Nonconformist (Protestantism)) ภายในชนชั้นแรงงานในสหราชอาณาจักรมากกว่าที่จะยึดตามทฤษฎีลัทธิมากซ์ และมีร่องรอยของแนวคิดสังคมนิยมแบบอิสรนิยม คนอื่น ๆ ซึ่งอยู่ในแนวทางแบบ ILP และถูกเรียกว่าเป็นนักสังคมนิยมแบบอิสรนิยมได้แก่ ไมเคิล ฟุต (Michael Foot) และ จี. ดี. เอช. โคล (G. D. H. Cole) รัฐมนตรีจากพรรคแรงงาน ปีเตอร์ เฮน (Peter Hain)[252] ได้เขียนสนับสนุนแนวคิดแบบสังคมนิยมอิสรนิยม โดยระบุถึงแกนกลางซึ่งประกอบด้วย "ทัศนะของสังคมนิยมแบบล่างขึ้นบน โดยมีนักอนาธิปัตย์ที่ปลายสายปฏิวัติ และนักสังคมนิยมประชาธิปไตย [เช่นตัวเขาเอง] ที่ปลายสายปฏิรูปของมัน" ในอีกด้านหนึ่ง แกนกลางของสังคมนิยมรัฐมีนักลัทธิมากซ์เลนินที่ปลายสายปฏิวัติ และนักประชาธิปไตยสังคมนิยมที่ปลายสายปฏิรูป[253] นักการเมืองพรรคแรงงานกระแสหลักอีกคนหนึ่งซึ่งไม่นานมานี้ถูกเรียกว่าเป็นนักสังคมนิยมแบบอิสรนิยมเช่น โรบิน คุก (Robin Cook)[254] หากนิยามในรูปแบบนี้ สังคมนิยมแบบอิสรนิยมในกระแสการเมืองกระแสหลักร่วมสมัยนั้นหลัก ๆ แล้วต่างไปจากประชาธิปไตยสังคมนิยมและสังคมนิยมประชาธิปไตย ในแง่ของแนวคิดการกระจายอำนาจทางการเมืองมากกว่าต่างกันในเรื่องของเศรษฐกิจ

คัทยา คิพพิง (Katja Kipping) และ ยูลีอา บ็องค์ (Julia Bonk) ในเยอรมนี เฟมเคอ ฮัลเซมา (Femke Halsema)[255] ในเนเธอร์แลนด์ และ อูฟุก อูราส (Ufuk Uras) และพรรคเสรีภาพและสามัคคี (Left Party (Turkey)) ในตุรกี เหล่านี้เป็นตัวอย่างของนักการเมืองและพรรคการเมืองสังคมนิยมอิสรนิยมร่วมสมัยซึ่งทำงานอยู่ภายใต้ประชาธิปไตยรัฐสภากระแสหลัก ในชิลี องค์กรอัตตาณัตินิยม อิซกิเอร์ดา เอาโตโนมา (Izquierda Autónoma; ฝ่ายซ้ายอิสระ) ในการเลือกตั้งทั่วไปในประเทศชิลี พ.ศ. 2556 (2013 Chilean general election) ได้ที่นั่งในรัฐสภาชิลีหนึ่งที่นั่งคือ กาบริเอล โบริช อดีตผู้นำของการประท้วงของกลุ่มนักเรียนในชิลี พ.ศ. 2554-2556[256] ใน พ.ศ. 2559 โบริชพร้อมกับคนอื่น ๆ เช่น ฆอร์เฆ ชาร์ป (Jorge Sharp) ได้ออกจากพรรคเพื่อก่อตั้งขบวนการ โมบิมิเอนโต เอาโตโนมิสตา (Movimiento Autonomista)[257] ต่อมาในการเลือกตั้งเทศบาลเดือนตุลาคม พ.ศ. 2559 ในชิลี ชาร์ปได้รับเลือกเป็นนายกเทศมนตรีของบัลปาราอิโซด้วยสัดส่วนคะแนนร้อยละ 53[257][258] และต่อมาใน พ.ศ. 2564 โบริชชนะการเลือกตั้งได้เป็นประธานาธิบดีที่อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ชิลี และยังได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้งมากที่สุดในประวัติศาสตร์ชิลี[259][260] ในสหรัฐ ณ ปัจจุบัน ภายในนักสังคมนิยมประชาธิปไตยแห่งอเมริกาองค์กรใหญ่ก็มีกลุ่มการเมืองที่ชื่อว่ากลุ่มสังคมนิยมอิสรนิยม (LSC): "LSC ส่งเสริมทัศนะของ 'สังคมนิยมแบบอิสรนิยม'-ชื่อดั้งเดิมของลัทธิอนาธิปไตย-ซึ่งไปไกลเกินกว่ากรอบการเมืองแบบประชาธิปไตยสังคมนิยมแบบดั้งเดิม"[261] ในชุมชนปกครองตนเองในแคว้นกาตาลุญญาในสเปน นิตยาสาร เจคอบิน ได้รายงานบทสัมภาษณ์เกี่ยวกับพรรคการเมืองร่วมสมัย ผู้สมัครเอกภาพประชาชน (Popular Unity Candidacy; CUP) ดังต่อไปนี้:

CUP เต็มไปด้วยคุณลักษณะแบบสังคมนิยมแบบอิสรนิยมและสหการนิยมแบบอนาธิปไตย ตามธรรมเนียมต่อต้านอำนาจนิยมของฝ่ายซ้ายกาตาลา ดังที่ปรากฏอยู่ในองค์กรยุคสมัยสงครามกลางเมืองอย่างสมาพันธ์แรงงานแห่งชาติสเปน (CNT) ซึ่งมีคติแบบสหการนิยมอนาธิปไตย หรือคติลัทธิทรอตสกีอย่าง ปาร์ตีโด โอเบรโร เด อูนิฟิกาซิออน มาร์กซิสตา (Partido Obrero de Unificación Marxista; POUM) [...] สหกรณ์และศูนย์วัฒนธรรมประชาชน (popular cultural center; กาซัลส์ (casals) และ อาเตเนอุส โปปูลาร์ส) ได้เบ่งบานในช่วงปลายคริสต์ทศวรรษ 1990 และ 2000 เป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับชุมชนสังคมนิยมสายมูลวิวัติ ทางเลือกทางเศรษฐกิจ และการก่อรูปของอุดมการณ์ หลายองค์กรเยาวชนสายปฏิวัติได้ถือกำเนิดขึ้นในศูนย์วัฒนธรรมเหล่านี้ [...] นอกเหนือจากเครือข่ายของศูนย์วัฒนธรรมประชาชนแล้ว การปรากฏตัวของบ้านที่ถูกจับจอง เรียกอีกชื่อว่า "ศูนย์สังคมจัดการตนเอง" ก็ได้ขยายตัวความรู้สึกแบบมูลวิวัติในกาตาลุญญา แม้ว่าบ้านที่ถูกจับจองจะไม่ได้มีแนวทางแบบสังคมนิยมแบ่งแยกดินแดนทั้งหมด บ้านที่เป็นสัญลักษณ์มากที่สุดบางแห่งก็ระบุตัวตนกับขบวนการแบ่งแยก เช่นบ้านที่ถูกจับจองกันวิเอส (Can Vies) ในบาร์เซโลนา [...] ทุก ๆ สภาท้องถิ่นเป็นตัวแทนของหน่วยขั้นพื้นฐานของเอกภาพประชาชนนี้ เป็นตัวแทนของละแวกบ้าน ของหมู่บ้าน ของเมือง [...] สภาต่าง ๆ มีอำนาจอธิปไตยและทรงอำนาจก็เป็นไปได้ เหล่านี้เป็นเปลของประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม ในบางเมืองที่ CUP มีอำนาจอยู่ สภาเปิดเหล่านี้ได้รับความรับผิดชอบพิเศษเพิ่มเติมและ "ได้รับมอบ" อำนาจต่าง ๆ [262]

คติความอาจจะเป็นแบบอิสรนิยม
[แก้]
นักต่อสู้สตรีสิทธินิยมแบบอนาธิปไตยจากกลุ่ม มูเฆเรส ลิเบรส (Mujeres Libres) ในช่วงการปฏิวัติสังคมนิยมแบบอิสรนิยมในสเปน ค.ศ. 1936
ฟราดาริกา มุนแซ็ญ (ในภาพที่บาร์เซโลนา ค.ศ. 1977) เป็นรัฐมนตรีสาธารณสุขในยุคสาธารณรัฐสเปนที่ 2

คติความอาจจะเป็นแบบอิสรนิยม (อังกฤษ: Libertarian possibilism) เป็นกระแสการเมืองภายในขบวนการอนาธิปัตย์ชาวสเปนในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ซึ่งสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายของลัทธิอนาธิปไตย นั่นคือการล้มเลิกรัฐและทุนนิยม ด้วยการมีส่วนร่วมภายในโครงสร้างของประชาธิปไตยระบบรัฐสภาอย่างที่เป็นอยู่[263] ชื่อของจุดยืนทางการเมืองชื่อนี้ปรากฏตัวขึ้นเป็นครั้งแรกระหว่าง ค.ศ. 1922–1923 ภายในวาทกรรมของนักสหการนิยมอนาธิปไตยชาวกาตาลา ซัลบาดอร์ แซกิ (Salvador Seguí) โดยเขากล่าวว่า "เราจะต้องแทรกแทรงการเมืองเพื่อเข้าควบคุมตำแหน่งต่าง ๆ ของพวกกระฎุมพี"[264]

ในช่วงฤดูใบไม้ร่วง ค.ศ. 1931 นักต่อสู้ในสหภาพแรงงานอนาธิปไตยสมาพันธ์แรงงานแห่งชาติสเปน (CNT) ได้เผยแพร่ "แถลงการณ์กลุ่มสามสิบ" (Manifiesto de los Treinta โดยทางวิกิซอร์ซ) ในกลุ่มที่ลงชื่อในนั้นมีเลขาธิการใหญ่ CNT (ค.ศ. 1922-1923) ฌูอัน แปอิโร (Joan Peiró) อังเฆล เปสตัญญา (Ángel Pestaña) (เลขาธิการใหญ่ ค.ศ. 1929) และ ฆวน โลเปซ ซันเชซ (Juan López Sánchez) ซึ่งกระแสของพวกเขาชื่อว่า เตรอินติสโม (treintismo) และเรียกร้องให้ขบวนการอนาธิปไตยในสเปนมีแนวทางการเมืองที่เป็นกลางขึ้น ใน ค.ศ. 1932 พวกเขาได้ก่อตั้งพรรคสหการนิยม (Syndicalist Party) ซึ่งได้มีส่วนร่วมในการเลือกตั้งทั่วไปในประเทศสเปน ค.ศ. 1936 (1936 Spanish general election) และต่อมาได้เป็นส่วนหนึ่งของสัมพันธมิตรของพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายซึ่งมีชื่อว่าแนวร่วมประชาชน (Popular Front (Spain)) โดยได้ที่นั่งสมาชิกสภามาสองที่นั่ง (เปสตัญญา และ เบนิโต ปาบอน (Benito Pabón y Suárez de Urbina)) ใน ค.ศ. 1938 เลขาธิการใหญ่ CNT โฮราซิโอ มาร์ติเนซ ปริเอโต (Horacio Martínez Prieto) ได้เสนอให้สหพันธ์อนาธิปไตยไอบีเรียแปลงสภาพตัวเองเป็นพรรคการเมืองสังคมนิยมอิสรนิยม และให้เข้ามีส่วนร่วมในการเลือกตั้งระดับชาติ[265]

ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1936 แนวร่วมประชาชนได้แต่งตั้งนักคตินิยมสิทธิสตรีแบบอนาธิปไตยที่มีชื่อเสียง ฟราดาริกา มุนแซ็ญ ขึ้นเป็นรัฐมนตรีสาธารณสุข และกลายเป็นผู้หญิงคนแรกในประวัติศาสตร์ประเทศสเปนที่ได้เป็นรัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรี[266] เมื่อกองกำลังสาธารณรัฐพ่ายแพ้สงครามกลางเมือง เมืองมาดริดก็ถูกยกให้กับกองกำลังนิยมฟรังโก ใน ค.ศ. 1939 โดยนายกเทศมนตรีที่ไม่นิยมฟรังโกคนสุดท้ายของเมือง นักอนาธิปัตย์นามว่า เมลชอร์ โรดริเกซ การ์ซิอา (Melchor Rodríguez García)[267]

นิเวศสังคมนิยม

[แก้]

นิเวศสังคมนิยม (อังกฤษ: Eco-socialism) คือการรวมกันของลัทธิอนาธิปไตย นิเวศวิทยา สิ่งแวดล้อมนิยม (Environmentalism) การเมืองสีเขียว (Green politics) ลัทธิมากซ์ และสังคมนิยม และโดยทั่วไปเชื่อว่าระบบทุนนิยมนั้นเป็นต้นเหตุของการกีดกันทางสังคม, ความเหลื่อมล้ำ (Economic inequality) และความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม (environmental degradation) นักนิเวศสังคมนิยมวิจารณ์หลายคนในขบวนการสีเขียวว่าบทวิจารณ์ระเบียบโลกปัจจุบันของพวกเขานั้นยังไปไกลไม่พอ และต่อต้านทุนนิยมแบบไม่ชัดเจน ในเวลาเดียวกันนักนิเวศสังคมนิยมก็ตำหนิฝ่ายซ้ายแบบดั้งเดิมว่าเมินเฉยหรือไม่พูดถึงปัญหาทางนิเวศน์ได้อย่างเหมาะสมเพียงพอ[268] นักนิเวศสังคมนิยมต่อต้านโลกาภิวัตน์ (Anti-globalization movement) โจเอล โคเวล (Joel Kovel) มองว่าโลกาภิวัตน์เป็นแรงดันที่ขับโดยทุนนิยม แล้วความเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วที่ถูกกระตุ้นโดยโลกาภิวัตน์ก็ส่งผลให้เกิดวิกฤตทางนิเวศน์อย่างฉับพลันต่อมาตามลำดับ[269] สังคมนิยมเกษตรกรรม (Agrarian socialism) เป็นแนวคิดนิเวศสังคมนิยมอีกรูปแบบหนึ่ง ขบวนการเคลื่อนไหวในยุคสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 17 ที่ชื่อว่าดิกเกอส์วางรากฐานมโนคติของพวกเขาอยู่บนแนวคิดสังคมนิยมเกษตรกรรม[270]

นิเวศสังคมนิยมนั้นไปไกลเกินกว่าการวิจารณ์การกระทำของบริษัทขนาดใหญ่ และพุ่งเป้าไปที่คุณสมบัติโดยเนื้อแท้ของระบบทุนนิยม การวิเคราะห์แบบนี้เป็นไปตามทฤษฎีของมาคส์เกี่ยวกับความขัดแย้งกันระหว่างมูลค่าใช้สอย (use value) กับมูลค่าแลกเปลี่ยน (exchange value) ที่มีอยู่ในเศรษฐกิจระบบตลาด คือสินค้าไม่ถูกผลิตออกมาเพื่อสนองกับความต้องการ แต่ถูกผลิตออกมาเพื่อแลกกับเงินตราซึ่งถูกนำไปใช้ให้ได้มาซึ่งสินค้าอื่นอีก ในเมื่อเราต้องคอยขายเพื่อให้คอยซื้อได้ต่อไป เราจำต้องชักชวนให้ผู้อื่นต้องซื้อสินค้าของเราก็เพื่อรับรองการดำรงชีวิตต่อไปของเราเท่านั้น ซึ่งนำไปสู่การผลิตสินค้าซึ่งไม่ได้มีประโยชน์มาก่อนมาขายเพื่อรักษาความสามารถในการซื้อสินค้าอื่น ๆ ของเรา นักนิเวศสังคมนิยมอย่างโคเวลเน้นย้ำว่าความขัดแย้งนี้มาถึงขีดของการทำลายล้างแล้ว เมื่อกิจกรรมที่จำเป็นบางประการอย่างเช่นการดูแลญาติพี่น้องเต็มเวลาและการดำรงชีพอย่างเรียบง่ายนั้นไม่ได้รับผลตอบแทน แต่กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ไม่จำเป็นกลับให้ผลตอบแทนจำนวนมหาศาลกับบุคคลจำพวกหนึ่งเท่านั้น[269]

ลัทธิอนาธิปไตยสีเขียวเป็นสำนักคิดอนาธิปไตยซึ่งเน้นย้ำโดยเฉพาะในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม[117][118] อิทธิพลเริ่มแรกมาจากความคิดของนักอนาธิปัตย์ชาวอเมริกัน เฮนรี เดวิด ทอโร และหนังสือชื่อ วอลเดน ของเขา[119] รวมถึง เลโอ ตอลสตอย[120] และ เอลีเซ เรอกลูว์[121][122] ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 คตินิยมธรรมชาติแบบอนาธิปไตยถือกำเนิดขึ้นจากการผสานกันระหว่างลัทธิอนาธิปไตยและปรัชญาคตินิยมธรรมชาติภายในขบวนการอนาธิปไตยแบบปัจเจก[123][124][125][126] ในประเทศคิวบา[127] โปรตุเกส[119][120] ฝรั่งเศส[128][129] สเปน[120][129][123] และสหราชอาณาจักร[130]

นักอนาธิปัตย์สีเขียวร่วมสมัยบางคนอาจเรียกได้ว่าเป็นนักบรรพกาลนิยมแบบอนาธิปไตย หรือนักอนาธิปไตยต่อต้านอารยธรรม แต่ไม่ใช่นักอนาธิปัตย์สีเขียวทุกคนจะนิยมบรรพกาลนิยม เช่นเดียวกันนักอนาธิปัตย์สีเขียวมักวิจารณ์เทคโนโลยีสมัยใหม่อย่างแข็งขัน แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะทอดทิ้งมันไปอย่างสิ้นเชิง แนวคิดในกระแสปัจจุบันเช่นบรรพกาลนิยมแบบอนาธิปไตยและนิเวศวิทยาสังคม[131] นักเขียนในปัจจุบันที่มีชื่อเสียงซึ่งสนับสนุนลัทธิอนาธิปไตยสีเขียวได้แก่ เมอร์เรย์ บุคชิน, แดเนียล โชเดอร์คอฟ (Daniel Chodorkoff), นักมานุษวิทยา ไบรอัน มอร์ริส (Brian Morris (anthropologist)) และผู้คนแวดล้อมสถาบันเพื่อนิเวศวิทยาสังคม (Institute for Social Ecology) และผู้คนซึ่งวิพากษ์วิจารณ์เทคโนโลยีเช่น เลย์ลา อับเดลราฮิม (Layla AbdelRahim), เดอร์ริก เจนเซน (Derrick Jensen), จอร์จ แดรฟเฟิน (George Draffan) และ จอห์น เซอร์ซัน (John Zerzan) และคนอื่น ๆ อาทิ อลัน คาร์เตอร์ (Alan Carter (philosopher))[271]

นักนิเวศวิทยาสังคมมักวิจารณ์สังคมนิยมกระแสหลักว่าเน้นสนใจและโต้เถียงเกี่ยวกับการเมืองและเศรษฐกิจมากกว่าที่จะสนใจในระบบนิเวศ (มนุษย์และสิ่งแวดล้อม) ทฤษฎีนี้สนับสนุนแนวคิดระบบเทศบาลแบบอิสรนิยมและเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม นักบรรพกาลนิยมแบบอนาธิปไตยมักวิพากศ์วิจารณ์สังคมนิยมกระแสหลักที่ไปสนับสนุนอารยธรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ซึ่งพวกเขาเชื่อว่ามีรากฐานโดยเนื้อแท้มาจากการครอบงำและการเอาเปรียบ และพวกเขาสนับสนุนให้เกิดกระบวนการฟื้นคืนธรรมชาติ (Rewilding (anarchism)) หรือการเชื่อมโยงเข้ากับสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติใหม่อีกครั้งแทน ลัทธิอนาธิปไตยวีกัน (Veganarchism) เป็นปรัชญาการเมืองของคติวีกัน (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ขบวนการปลดปล่อยสัตว์ (Animal rights movement)) และลัทธิอนาธิปไตยสีเขียว[272] และรวมถึงมุมมองซึ่งถือว่ารัฐเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นและเป็นอันตรายต่อมนุษย์และสัตว์ ขณะที่ปฏิบัติวิถีชีวิตแบบวีกัน[273]

ลัทธิจอร์จ

[แก้]

ลัทธิจอร์จ (อังกฤษ: Georgism) เป็นอุดมการณ์และปรัชญาเศรษฐศาสตร์ซึ่งถือว่าผู้คนเป็นเจ้าของในสิ่งที่พวกเขาผลิต แต่สิ่งที่พบเจอตามธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ดิน (land (economics)) เป็นสิ่งที่ทุกคนเป็นเจ้าของเท่า ๆ กัน[274] ปรัชญาลัทธิจอร์จมีรากฐานบนงานเขียนของนักเศรษฐศาสตร์ เฮนรี จอร์จ (ค.ศ. 1839-1897) และมักถูกสัมพันธ์กับแนวคิดภาษีเดี่ยวของมูลค่าที่ดิน งานที่โด่งดังที่สุดของเขาชื่อว่า Progress and Poverty (ค.ศ. 1879) เป็นศาสตรนิพนธ์ว่าด้วยความเหลื่อมล้ำ ธรรมชาติความเป็นวัฏจักร (business cycle) ของเศรษฐกิจอุตสาหกรรม และการใช้ภาษีมูลค่าที่ดินเป็นยารักษา นักลัทธิจอร์จอ้างว่าภาษีมูลค่าที่ดิน (Land value tax) เป็นสิ่งที่มีประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจ (Economic efficiency), ยุติธรรม และเที่ยงธรรม (Equity (economics)) และจะสามารถสร้างรายได้ที่เพียงพอ จึงทำให้สามารถลดหรือกำจัดภาษีอื่น ๆ (อาทิ ภาษีจากกำไร การขาย หรือรายได้) ซึ่งมีประสิทธิภาพและยุติธรรมน้อยกว่าได้ ภาษีมูลค่าที่ดินถูกกล่าวถึงว่าเป็นภาษีก้าวหน้า (Progressive tax) เพราะส่วนใหญ่จะเป็นคนรวยที่จ่ายเป็นหลัก (Tax incidence) และจะทำให้ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจลดลง[275]

แนวคิดลัทธิจอร์จได้มีอิทธิพลอย่างมากต่อการเมืองในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 หลายพรรคการเมืองถูกต่อตั้งขึ้นบนแนวคิดลัทธิจอร์จ ไม่ว่าจะเป็นพรรคที่ดินเครือจักรภพ (Commonwealth Land Party (UK)) ในสหราชอาณาจักร, พรรคยุติธรรม (Justice Party of Denmark) ในประเทศเดนมาร์ก และพรรคยุติธรรมเฮนรี จอร์จ (Henry George Justice Party) กับสันนิบาตภาษีเดี่ยว (Single Tax League) ในออสเตรเลีย หลายชุมชนก็ถูกก่อตั้งขึ้นด้วยหลักการลัทธิจอร์จในช่วงที่ปรัชญานี้มีชื่อเสียงและรุ่งเรื่อง ชุมชนเหล่านั้นที่ยังคงเหลืออยู่มีอยู่สองที่ กล่าวคือ อาร์เดิน รัฐเดลาแวร์ ( Arden, Delaware) ซึ่งก่อตั้งขึ้นใน ค.ศ. 1900 โดย แฟรงก์ สตีเฟนส์ (Frank Stephens (sculptor)) และ วิลล์ ไพรซ์ (Will Price) และอีกที่คือ แฟร์โฮป รัฐแอละแบมา (Fairhope, Alabama) ซึ่งก่อตั้งขึ้นใน ค.ศ. 1894 โดยอยู่ภายใต้การอุปถัมภ์ของบริษัทภาษีเดี่ยวแฟร์โฮป (Fairhope Single Tax Corporation)[276] นักอนาธิปัตย์คริสเตียน (Christian anarchism) เลโอ ตอลสตอย ได้แรงบันดาลใจจากแนวคิดทางเศรษฐกิจของ เฮนรี จอร์จ และรวมมันเข้าไปในงานช่วงหลัง ๆ ของเขาเช่น เรเซอร์เร็กชัน (Resurrection) ซึ่งเป็นหนังสือที่เป็นปัจจัยหลักซึ่งทำให้เขาถูกตัดขาดจากศาสนา[277]

สังคมนิยมแบบสมาคมอาชีพ

[แก้]

สังคมนิยมแบบสมาคมอาชีพ (อังกฤษ: Guild socialism) เป็นขบวนการทางการเมืองซึ่งสนับสนุนการควบคุมอุตสาหกรรมโดยคนงานโดยใช้สมาคมอาชีพ (Guild) ตามแต่ละอาชีพเป็นสื่อกลางในการควบคุม "ในความสัมพันธ์ที่ผูกพันโดยสัญญาโดยนัยกับสาธารณะ"[278] จุดกำเนิดของมันคือสหราชอาณาจักร และมีอิทธิพลสูงสุดในเสี้ยวแรกของคริสต์ศตวรรษที่[278] และมีความเกี่ยวโยงกับ จี. ดี. เอช. โคล และได้รับอิทธิพลจากมโนคติของ วิลเลียม มอร์ริส

สังคมนิยมแบบสมาคมอาชีพได้รับแรงบันดาลใจส่วนหนึ่งมาจากสมาคมอาชีพของช่างฝีมือ (artisan) และคนงานฝีมืออื่น ๆ ในประเทศอังกฤษในสมัยกลาง (England in the Middle Ages) ใน ค.ศ. 1906 อาร์เธอร์ เพนตี (Arthur Penty) ได้เผยแพร่ เรสตอเรชันออฟเดอะกิลด์ซิสเต็ม (Restoration of the Gild System; การฟื้นฟูระบบสมาคมอาชีพ) ซึ่งในนั้นเขาได้ต่อต้านการผลิตในโรงงาน และสนับสนุนให้กลับไปใช้การผลิตแบบช่างฝีมือในยุคสมัยก่อน โดยใช้การจัดตั้งผ่านสมาคมอาชีพ ในปีต่อมาวารสาร เดอะนิวเอจ(The New Age) ก็ได้สนับสนุนสังคมนิยมแบบสมาคมอาชีพ แต่ว่าเป็นบริบทของอุตสาหกรรมสมัยใหม่มากกว่าที่จะเป็นบริบทของสมัยกลางอย่างที่เพนตีเห็นชอบ นักสังคมนิยมสมาคมอาชีพ "มีจุดยืนให้รัฐครอบครองอุตสาหกรรม และรวมเข้ากับ 'การควบคุมโดยคนงาน' ผ่านการส่งผู้แทนที่มีอำนาจไปยังสมาคมอาชีพระดับชาติซึ่งมีโครงสร้างภายในแบบประชาธิปไตย แต่พวกเขาเห็นต่างในเรื่องของรัฐ บางคนเชื่อว่ามันจะยังคงอยู่อย่างที่เป็นไม่มากก็น้อย และคนอื่นเชื่อว่ามันจะแปรสภาพเป็นองค์กรแบบสหพันธ์ซึ่งเป็นตัวแทนของสมาคมอาชีพของคนงาน องค์กรของผู้บริโภค องค์กรการปกครองส่วนท้องถิ่น และโครงสร้างทางสังคมอื่น ๆ"[278]

ใน ค.ศ. 1914 ซามูเอล จอร์จ ฮอบสัน (Samuel George Hobson) ผู้มีส่วนร่วมคนสำคัญในวารสาร เดอะนิวเอจ ได้เผยแพร่ แนชันนัลกิลดส์: แอนอินไควรีอินทูเดอะเวจซิสเตมแอนด์เดอะเวย์เอาต์ (National Guilds: An Inquiry into the Wage System and the Way Out) ในงานชิ้นนี้ สมาคมอาชีพถูกเสนอให้เป็นทางเลือกอีกทางนอกเหนือจากการให้รัฐควบคุมอุตสาหกรรมและกิจกรรมสหภาพแรงงานแบบทั่วไป สมาคมอาชีพนั้นต่างจากสหภาพแรงงานที่มีอยู่เพราะจะไม่ถูกจำกัดวงความต้องการของพวกเขาไว้เพียงแค่เรื่องเกี่ยวกับค่าจ้างและสถานสภาพ แต่จะพยายามให้ได้มาซึ่งการควบคุมอุตสาหกรรมสำหรับคนงานที่พวกเขาเป็นตัวแทน ท้ายที่สุดสมาคมอาชีพอุตสาหการจะทำหน้าที่เป็นองคาพยพที่อุตสาหกรรมในสังคมแบบสังคมนิยมในอนาคตจะถูกจัดระเบียบด้วย ทฤษฎีสังคมนิยมแบบสมาคมอาชีพนั้นได้รับการพัฒนาและทำให้โด่งดังโดย จี. ดี. เอช. โคล ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งสันนิบาตสมาคมอาชีพแห่งชาติในสหราชอาณาจักรใน ค.ศ. 1915 และได้เผยแพร่หนังสือหลายฉบับที่เกี่ยวกับสังคมนิยมแบบสมาคมอาชีพได้แก่ เซลฟ์-โกเวิร์นเมนต์อินอินดัสตรี (Self-Government in Industry) (ค.ศ. 1917) และ กิลด์โซเชียลลิสซึมรีสเตตเท็ด (Guild Socialism Restated) (ค.ศ. 1920)

ในมุมมองของนักวิชาการ ชาลส์ แมสเกอเลียร์ (Charles Masquelier) เขาว่าการจะทำให้คุณค่าแบบเสรีนิยม กล่าวคืออัตตาณัติ ให้กลายเป็นสถาบันได้อย่างถูกกาลเทศะและยั่งยืนผ่านสังคมนิยมแบบอิสรนิยมของ จี. ดี. เอช. โคล นั้น เราจะต้องสนองความจำเป็นสองประการนั้น ด้วยการ "ทำลายอำนาจเหนือของปัจจัยทางเศรษฐกิจ" ผ่านการจัดระเบียบในบริเวณที่สำคัญของชีวิตเสียใหม่ ให้อยู่นรูปแบบของการกระทำและการประสานกันแบบสมาคมที่สามารถมอบ "พัฒนาการของการจัดระเบียบหน้าที่ได้อย่างเต็มที่ที่สุด" และโคลต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงการเป็นตัวแทนทางการเมืองให้กลายเป็นระบบที่สามารถรับรู้ความแตกต่างของผลประโยชน์ซึ่งเป็นส่วนประกอบของสังคมที่หลากหลายและซับซ้อนอย่างยิ่งได้โดยตรงอย่างแท้จริง[279]

สหการนิยมปฏิวัติ

[แก้]

สหการนิยมปฏิวัติเป็นระบบเศรษฐกิจชนิดหนึ่งซึ่งเสนอให้แทนที่ระบอบทุนนิยม และเป็นตัวเลือกนอกเหนือจากระบอบสังคมนิยมรัฐ ด้วยการใช้สหพันธ์ของสหภาพแรงงานหรือสหภาพแรงงานอุตสาหกรรมซึ่งถูกทำให้เป็นของส่วนรวม มันเป็นบรรษัทนิยม (corporatism) แบบเศรษฐกิจสังคมนิยมรูปแบบหนึ่งซึ่งส่งเสริมให้มีการรวบรวมกันของผลประโยชน์ของหน่วยหมวดหมู่ที่ไม่แข่งขันกันหลาย ๆ หน่วยเพื่อใช้ในการต่อรองและบริหารจัดการเศรษฐกิจ[280] สำหรับผู้สนับสนุน สหภาพแรงงานเป็นวิถีทางหนึ่งซึ่งมีศักยภาพในการก้าวข้ามอำมาตยาธิปไตยทางเศรษฐกิจ และในการดำเนินสังคมไปอย่างยุติธรรมเพื่อผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ผ่านระบบประชาธิปไตยสหภาพแรงงาน (union democracy) อุตสาหกรรมที่อยู่ในระบบสหการนิยมจะดำเนินงานผ่านสมาพันธ์สหกรณ์ (co-operative economics) และระบบร่วมด้วยช่วยกัน สหการท้องถิ่นก็จะสื่อสารกับสหการอื่น ๆ ผ่านบูร์สดูว์ทราวาย (Bourse du Travail; ตลาดหลักทรัพย์แรงงาน) ซึ่งจะบริหารจัดการและถ่ายโอนสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity)

สหการนิยมก็ถูกใช้เพื่อหมายถึงกลยุทธ์ในการได้มาซึ่งระเบียบสังคมในรูปแบบนี้ โดยทั่วไปขยายความโดยสหการนิยมแบบอนาธิปไตยและลัทธิเดอลีออน ซึ่งกล่าวว่าการนัดหยุดงานทั่วไปจะเริ่มขึ้นแล้วคนงานก็จะเข้ายึดครองปัจจัยการผลิตของพวกเขา และจัดตั้งขึ้นเป็นสหพันธ์สหภาพแรงงาน ดังเช่นสมาพันธ์แรงงานแห่งชาติสเปน (CNT)[281] ตลอดทั้งประวัติศาสตร์ของมัน สัดส่วนของสหการนิยมซึ่งนิยมการปฏิรูปนั้นถูกบดบังโดยสัดส่วนซึ่งต้องการปฏิวัติ ตัวอย่างเช่นสมาพันธ์แรงงานทั่วไปฝรั่งเศส (General Confederation of Labour (France)) คนงานอุตสาหกรรมแห่งโลก สัดส่วนสหพันธ์อนาธิปไตยไอบีเรียของสมาพันธ์แรงงานแห่งชาติสเปน (CNT)[282] อูนีโอเน ซินดีกาเล อีตาลีอานา (Unione Sindacale Italiana) ในประเทศอิตาลี และองค์กรกลางคนงานสวีเดน (SAC Syndikalisterna)

ลัทธิอนาธิปไตยคริสเตียน

[แก้]
เลโอ ตอลสตอย นักทฤษฎีคนสำคัญของแนวคิดลัทธิอนาธิปไตยคริสเตียนและลัทธิอนาธิปไตยแบบสันตินิยม

ลัทธิอนาธิปไตยคริสเตียน (อังกฤษ: Christian anarchism) เป็นขบวนการคริสเตียน (Christian movement) ในสาขาเทววิทยาการเมือง (political theology) ซึ่งรวมแนวคิดอนาธิปไตยเข้ากับศาสนาคริสต์[283][284]เป็นความเชื่อที่ว่ามีเพียงแหล่งของอำนาจเดียวเท่านั้นที่คริสต์ศาสนิกชนจะปฏิบัติตามในท้ายที่สุด อำนาจของพระเจ้าที่ปรากฏอยู่ในคำสอนของพระเยซู โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำเทศนาบนภูเขาและคำร้องของพระเยซูที่ไม่ได้ให้ต่อต้านความชั่วร้ายแต่ให้หันแก้มอีกข้างหนึ่งให้เขา (Turning the other cheek) เป็นคำสอนซึ่งถูกใช้เป็นรากฐานของลัทธิอนาธิปไตยคริสเตียนมากยิ่งกว่าแหล่งอื่น ๆ ในพระคำภีร์ไบเบิล[285][286]

นักอนาธิปัตย์คริสเตียนเป็นพวกสันตินิยม (Christian pacifism) และต่อต้านการใช้ความรุนแรง เช่นสงคราม[287] พื้นฐานของลัทธิอนาธิปไตยคริสเตียนคือการปฏิเสธการใช้ความรุนแรง โดยมีงานของ เลโอ ตอลสตอย ชื่อว่า เดอะคิงดอมออฟกอดอิสวิททินยู (The Kingdom of God Is Within You) ถูกถือว่าเป็นงานเขียนสำคัญ[284][288] นักอนาธิปัตย์คริสเตียนประณามรัฐเพราะพวกเขากล่าวว่ารัฐนั้นมีความรุนแรง[289] หลอกลวง และเมื่อถูกสรรเสริญก็เป็นการบูชารูปเคารพ (idolatry) รูปแบบหนึ่ง[290][291]

ขบวนการตอลสตอย (Tolstoyan movement) เป็นกลุ่มอนาธิปัตย์คริสเตียนขนาดเล็กกลุ่มหนึ่งซึ่งถูกก่อตั้งขึ้นโดยเพื่อนของตอลสตอย วลาดีมีร์ เชียร์ตคอฟ (Vladimir Chertkov) (ค.ศ. 1854–1936) เพื่อเผยแพร่คำสอนทางศาสนาของตอลสตอย ปิออตร์ โครปอตกิน ได้เขียนถึงตอลสตอยในบทความว่าด้วยลัทธิอนาธิปไตยในสารานุกรมบริแทนนิกาฉบับที่ 11 (Encyclopædia Britannica Eleventh Edition)[292] แม้ว่าในเรียงความของเขา ตอลสตอยได้กล่าวซ้ำถึงข้อวิจารณ์รัฐของลัทธิอนาธิปไตยและได้แนะนำหนังสือของโครปอตกินและพรูดงให้ผู้อ่าน แต่เขาปฏิเสธการยอมรับวิถีทางปฏิวัติด้วยความรุนแรง (propaganda of the deed) ของลัทธิอนาธิปไตย[293][294]

โดโรธี เดย์ (Dorothy Day) เป็นนักข่าว นักกิจกรรมทางสังคม และคริสต์ศาสนิกชนคาทอลิกกลับใจที่ศรัทธายิ่งชาวอเมริกัน ซึ่งได้สนับสนุนทฤษฎีเศรษฐศาสตร์คาทอลิก กล่าวคือคตินิยมการกระจาย (distributism) เดย์เชื่อว่ารัฐล้วนเป็น "ระบบรวบอำนาจเบ็ดเสร็จโดยสันดาน"[295] และเรียกตัวเองว่าเป็นนักอนาธิปัตย์[296][297][298] ในคริสต์ทศวรรษ 1930 เดย์ได้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับสหายนักกิจกรรม ปีเตอร์ โมแร็ง (Peter Maurin) และก่อตั้งขบวนการคนงานคาทอลิก (Catholic Worker Movement) ซึ่งเป็นขบวนการเคลื่อนไหวแบบสันตินิยมและไม่รุนแรง ซึ่งรวมความช่วยเหลือโดยตรงให้กับคนจนและคนไร้บ้านเข้ากับการกระทำโดยตรงแบบไม่รุนแรง (nonviolence) ในนามของพวกเขา ความสำคัญของเดย์ภายในนิกายโรมันคาทอลิกมีถึงขนาดที่มูลของการประกาศให้เดย์เป็นนักบุญนั้นเป็นที่ถกเถียงอย่างเปิดเผยกันในศาสนจักรคาทอลิก และเธอจึงถูกเรียกอย่างเป็นทางการว่าเป็นผู้รับใช้พระเป็นเจ้า[299]

แอนนอน เฮนนาซี (Ammon Hennacy) เป็นนักสันตินิยม คริสเตียน นักอนาธิปัตย์ และนักกิจกรรมทางสังคม ผู้เป็นสมาชิกของขบวนการคนงานคาทอลิกและว็อบบลีชาวอเมริกันเชื้อสายไอริช เขาเป็นผู้ก่อตั้งบ้าน (House of hospitality) โจ ฮิลล์ (Joe Hill House) ในซอลต์เลกซิตี รัฐยูทาห์[300]

ลัทธิคานธี

[แก้]
มหาตมา คานธี

ลัทธิคานธี (อังกฤษ: Gandhism) เป็นการรวบรวมของแรงบันดาลใจ หลักการ ความเชื่อ และปรัชญาของ มหาตมา คานธี ซึ่งเป็นผู้นำทางการเมืองคนสำคัญของประเทศอินเดียและขบวนการเอกราชอินเดีย เป็นแนวคิดและหลักการต่าง ๆ ที่อธิบายถึงแรงบันดาลใจ วิสัยทัศน์ และงานชีวิตของคานธี โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีที่สัมพันธ์กับการมีส่วนรวมของเขาต่อแนวคิดและการปฏิบัติการต่อต้านที่ไม่ใช้ความรุนแรง (nonviolent resistance) ที่บางครั้งก็เรียกว่าการต่อต้านของพลเมือง (civil resistance) เศรษฐศาสตร์แบบคานธี (Gandhian economics) เป็นหลักการเศรษฐกิจสังคมที่คานธีได้อธิบายไว้ โดยส่วนใหญ่มีลักษณะที่ใกล้เคียงกับหลักการและวัตถุประสงค์ของสังคมนิยมแบบมนุษยนิยมที่ไม่รุนแรง แต่ปฏิเสธการต่อสู้ระหว่างชนชั้นที่ใช้ความรุนแรงและส่งเสริมให้เกิดความบรรสานกันทางเศรษฐกิจสังคม แนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ของคานธีนั้นยังมีจุดมุ่งหมายที่จะส่งเสริมพัฒนาการทางจิตวิญญาณและความบรรสาน พร้อมกับการปฏิเสธแนวคิดวัตถุนิยม คำว่าเศรษฐศาสตร์แบบคานธีถูกบัญญัติขึ้นโดย เจ. ซี. กุมารัปปา (J. C. Kumarappa) ผู้สนับสนุนคนใกล้ชิดของคานธี[301] เศรษฐศาสตร์แบบคานธีให้ความสำคัญกับวิธีในการบรรลุเป้าหมายของการพัฒนา และวิธีการนี้จะต้องไม่ใช้ความรุนแรง มีจรรยา และมีสัจจะในทุกขอบเขตของเศรษฐกิจ เพื่อให้สำเร็จการนี้ เขาสนับสนุนให้มีภาวะทรัสตี (Trusteeship (Gandhism)) การกระจายศูนย์กิจกรรมทางเศรษฐกิจ เทคโนโลยีที่ใช้แรงงานมาก และการให้ความสำคัญกับสัดส่วนที่ด้อยกว่า คานธียังได้ส่งจดหมายระหว่างกันกับนักอนาธิปัตย์คริสเตียน เลโอ ตอลสตอย ด้วย และถือตนเป็นศิษย์ของเขา[302]

ต่อมาคานธีได้ท้าทายนายกรัฐมนตรีอินเดียในอนาคต ชวาหะร์ลาล เนห์รู และนักปฏิรูปคนอื่น ๆ ในช่วงปลายคริสต์ทศวรรษ 1930 ซึ่งได้เรียกร้องให้มีการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็วตามตัวแบบของโซเวียต โดยคานธีได้ประณามว่ามันลดทอนความเป็นมนุษย์และตรงกันข้ามกับความต้องการของหมู่บ้านต่าง ๆ ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของคนส่วนใหญ๋[303] หลังจากคานธีเสียชีวิตไป เนห์รูได้นำประเทศอินเดียไปสู่การวางแผนขนาดใหญ่ที่ให้ความสำคัญกับการทำให้ทันสมัยขึ้นและอุตสาหกรรมหนัก ในขณะเดียวกันก็ทำให้เกษตรกรรมทันสมัยขึ้นด้วยระบบชลประทาน นักประวัติศาสตร์ กุรุวิฬะ ปาณฎิกกัฎฎึ (Kuruvilla Pandikattu) กล่าวว่า "ในท้ายที่สุดรัฐอินเดียพอใจกับวิสัยทัศน์ของเนห์รู ไม่ใช่ของคานธี"[304] คานธีเรียกตัวเองว่าเป็นนักอนาธิปัตย์เชิงปรัชญา (Philosophical anarchism)[305] และวิสัยทัศน์ของอินเดียของเขาคืออินเดียที่ไม่มีรัฐบาลในรูปแบบอังกฤษอยู่เบื้องหลัง[306] เขากล่าวไว้ครั้งหนึ่งว่า "รัฐที่ไม่รุนแรงในอุดมคตินั้นคืออนาธิปไตยที่เป็นระเบียบ"[307] ในขณะที่ระบบการเมืองนั้นเป็นลำดับชั้น ซึ่งแต่ละชั้นอำนาจมีอำนาจที่มากขึ้นเหนือชั้นเบื้องล่าง ตั้งแต่ปัจเจกบุคคลไปจนถึงรัฐบาลกลาง คานธีเชื่อว่าสังคมจะต้องเป็นตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง โดยจะไม่สามารถทำอะไรได้หากไม่ได้การยินยอมจากใคร ไปจนถึงระดับปัจเจก การปกครองตนเอง (Swaraj) อันแท้จริงในประเทศหนึ่งในมโนคติของเขาหมายความว่าทุกคนปกครองตัวของเขาเอง และไม่มีรัฐที่จะบังคับใช้กฎหมายกับผู้คน[302]

นักกิจกรรมลัทธิคานธีอย่าง วิโนพา ภาเว (Vinoba Bhave) และ ชยปรกาศ นารายัณ (Jayaprakash Narayan) ได้มีส่วนในขบวนการ สรโวทยะ (Sarvodaya) ซึ่งพยายามส่งเสริมการพึ่งพาตนเองของประชากรชนบทในอินเดียผ่านการสนับสนุนให้มี การจัดสรรที่ดินใหม่ การปฏิรูปทางเศรษฐกิจสังคม และการส่งเสริมอุตสาหกรรมในครัวเรือน (Putting-out system) ขบวนการเคลื่อนไหวนี้พยายามที่จะต่อสู้กับปัญหาของความขัดแย้งระหว่างชนชั้น การว่างงาน และความจน ในขณะเดียวกันที่พยายามอนุรักษ์วิถีชีวิตและค่านิยมของชาวอินเดียในชนบท ซึ่งถูกกัดกร่อนไปโดยการปรับให้เป็นอุตสาหกรรม (industrialisation) และการทำให้ทันสมัย สรโวทยะ ยังรวมไปถึงขบวนการ ภูทาน (Bhoodan movement) หรือการนำที่ดินและทรัพยากรทางการเกษตรจากเจ้าที่ดิน (เรียกว่า ซมีนดาร์ (zamindar)) มาให้กับเกษตรกรผู้เช่าไร่นา เป็นความพยายามที่จะทำให้ระบบ ซมีนดารี จากสมัยกลางสิ้นสุดลง หนังสือชื่อว่า เดอะคอนเควสต์ออฟไวโอเลนส์: แอนเอสเซย์ออนวอร์แอนด์เรโวลูชัน (The Conquest of Violence: An Essay on War and Revolution) นั้นถูกเขียนขึ้นโดยนักอนาธิปัตย์สันตินิยม บาร์ต เดอ ลิกต์ (Bart de Ligt) เกี่ยวกับการต่อต้านแบบไม่รุนแรง ซึ่งส่วนหนึ่งได้แรงบันดาลใจจากแนวคิดของคานธี[308] นักประวัติศาสตร์อนาธิปไตย จอร์จ วูดค็อก ได้เขียนไว้ว่า เดอะคอนเควสต์ออฟไวโอเลนส์ "ถูกอ่านอย่างกว้างขวางโดยนักสันตินิยมชาวบริติชและอเมริกันในคริสต์ทศวรรษ 1930 และนำพาให้หลายคนรับเอามุมมองแบบอนาธิปไตยไป"[309]

คติแพลตฟอร์ม

[แก้]

คติแพลตฟอร์ม (อังกฤษ: Platformism) เป็นกลุ่มการเมืองในขบวนการอนาธิปไตย ซึ่งมีพื้นฐานบนทฤษฎีองค์กรในแบบที่ร่างไว้ใน แนวนโยบายการจัดจั้งของสหภาพทั่วไปของนักอนาธิปัตย์ (ร่าง) (Organizational Platform of the General Union of Anarchists (Draft)) ของวารสาร เดโลตรูดา (Delo Truda) ซึ่งประกอบด้วยหลักการสี่ประการที่องค์กรอนาธิปัตย์ควรดำเนินตาม คือเอกภาพทางอุดมการณ์/ทฤษฎี เอกภาพทางยุทธวิธี ความรับผิดชอบร่วมกัน (Collective action) และระบอบสหพันธรัฐ แนวคิดนี้แสวงหาเอกภาพจากผู้มีส่วนร่วม และมีคุณลักษณะนิยามของแนวคิดว่าองค์กรแพลตฟอร์มิสต์แต่ละองค์กรต้องรับเอาเฉพาะคนที่เห็นด้วยกับแนวคิดแกนของกลุ่มอย่างเต็มที่ และปฏิเสธคนที่ไม่เห็นด้วย และยังเน้นความจำเป็นขององค์กรอนาธิปัตย์ที่จัดระเบียบอย่างแน่นแฟ้นที่มีความสามารถส่งอิทธิพลต่อขบวนการเคลื่อนไหวชนชั้นแรงงานและไพร่[310][311]

ภายในฝ่ายซ้ายใหม่

[แก้]
แฮร์เบิร์ท มาร์คูเซอ นักทฤษฎีแนววิพากษ์สำนักแฟรงก์เฟิร์ต นักปรัชญาสังคมนิยมอิสรนิยมที่ทรงอิทธิพลในฝ่ายซ้ายใหม่[312]

การปรากฏตัวขึ้นของฝ่ายซ้ายใหม่ในคริสต์ทศวรรษ 1950 และ 1960 นำไปสู่ความสนใจที่ฟื้นขึ้นใหม่ในสังคมนิยมอิสรนิยม[313] ข้อวิจารณ์อำนาจนิยมของฝ่ายซ้ายเก่า (Old Left) ของฝ่ายซ้ายใหม่นั้นสัมพันธ์กับความสนใจเป็นพิเศษในเสรีภาพส่วนตัวและอัตตาณัติ (ดูที่แนวคิดของ กอร์นีลิโอส กัสโตริอาดิส) ซึ่งนำไปสู่การค้นพบธรรมเนียมสังคมนิยมที่เก่ากว่า เช่นลัทธิคอมมิวนิสต์ฝ่ายซ้าย ลัทธิคอมมิวนิสต์แบบองค์คณะนิยม และคนงานอุตสาหกรรมแห่งโลก ในสหรัฐอเมริกานี่เกิดจากการฟื้นฟูของแนวคิดอนาธิปไตยตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1950 เป็นต้นไป ผ่านนักเขียนอย่าง พอล กูดแมน (Paul Goodman) และลัทธิอนาธิปไตยแบบสันตินิยมซึ่งได้ส่งอิทธิพลต่อขบวนการต่อต้านนิวเคลียร์ (anti-nuclear movement) และขบวนการต่อต้านสงคราม (Peace movement) ในช่วงเวลานั้น และซึ่งได้รับเอาอิทธิพลของลัทธิคานธีและลัทธิอนาธิปไตยคริสเตียนแบบตอลสตอยไป[314][315]

ในประเทศออสเตรเลีย มีซิดนีย์พุช (Sydney Push) ซึ่งเป็นวัฒนธรรมย่อยของปัญญาชนฝ่ายซ้ายเป็นส่วนใหญ่ในเมืองซิดนีย์ที่มีอยู่ตั้งแต่ช่วงปลายคริสต์ทศวรรษ 1940 ถึงช่วงต้นคริสต์ทศวรรษ 1970 ซึ่งได้ถูกสัมพันธ์กับป้ายชื่อ "อิสรนิยมซิดนีย์"[316] ฝ่ายซ้ายใหม่ยังได้นำการรื้อฟื้นลัทธิอนาธิปไตยขึ้นมาในคริสต์ทศวรรษ 1960 ในสหรัฐ วารสารอย่าง แรดิคัลอเมริกา (Radical America) กับ แบล็กแมสก์ (Black Mask (anarchists)) ในสหรัฐ และ โซลิดาริตี, บิกเฟลม (Big Flame (political group)) กับ เดโมเครซีแอนด์เนเชอร์ ซึ่งต่อมากลายเป็น วารสารนานาชาติประชาธิปไตยแบบครอบคลุม (The International Journal of Inclusive Democracy) ในสหราชอาณาจักรได้นำเสนอแนวคดิอิสรนิยมฝ่ายซ้ายต่อคนรุ่นใหม่ นิเวศวิทยาสังคม, อัตตาณัตินิยม และไม่นานมานี้ก็มีเศรษฐศาสตร์แบบมีส่วนร่วมและประชาธิปไตยแบบครอบคลุม (Inclusive Democracy) ที่ได้ถือกำเนิดขึ้นจากเหล่านี้ ฝ่ายซ้ายในสหรัฐยังรวมไปถึงนักอนาธิปัตย์ และกลุ่มวัฒนธรรมต่อต้านและที่เกี่ยวข้องกับฮิปปี้สายมูลวิวัติอย่างเช่นพวกยิปปี (Youth International Party) ซึ่งนำโดย แอบบี ฮอฟแมน (Abbie Hoffman), พวกดิกเกอส์ (Diggers (theater)),[317] อัปอะเกนสต์เดอะวอลล์มาเธอร์ฟักเกอร์ (Up Against the Wall Motherfuckers) และพรรคไวต์แพนเทอร์ (White Panther Party) จนถึงช่วงปลาย ค.ศ. 1966 พวกดิกเกอส์ได้เปิดร้านแจกของ (Give-away shop) ซึ่งแจกของในคลังสินค้า จัดหาอาหารแบบให้เปล่า แจกจ่ายยาแบบให้เปล่า แจกเงิน จัดงานคอนเสิร์ตดนตรีแบบไม่มีค่าใช้จ่าย และจัดแสดงงานศิลปะการเมือง[318] พวกดิกเกอส์เอาชื่อของพวกเขามาจากพวกดิกเกอส์ต้นฉบับในอังกฤษซึ่งนำโดย เจอร์ราร์ด วินสแตนลีย์[319] และพยายามที่จะสร้างสังคมขนาดเล็กที่ไร้เงินตราและทุนนิยม[320] ในอีกด้านหนึ่ง พวกยิปปีใช้การแสดงเชิงสัญลักษณ์ อย่างเช่นการเสนอตัวหมูตัวหนึ่ง (นามว่า "พิกาซัส เดอะ อิมมอร์ทัล" แปลว่า พิกาซัสผู้เป็นอมตะ) เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐใน ค.ศ. 1968 เพื่อล้อเลียนสถานะเดิมของสังคมที่เป็นอยู่[321] พวกเขาถูกกล่าวถึงว่าเป็นขบวนการเยาวชน "การเมืองเชิงสัญลักษณ์" ที่นิยมนาฏกรรม ต่อต้านอำนาจนิยม และนิยมลัทธิอนาธิปไตย[322] [323] เนื่อจากพวกเขาเป็นที่รู้จักจากการแสดงบนท้องถนน และการเล่นตลกโดยมีประเด็นการเมือง ฝ่ายซ้ายการเมือง "สำนักเก่า" ส่วนมากจึงได้เมินหรือประณามพวกเขา อิงตามข่าวเอบีซี (ABC News): "กลุ่มเป็นที่รู้จักจากการแสดงละครเล่นตลกบนถนน และครั้งหนึ่งถูกเรียกว่าเป็น 'เกราโช มาร์กซิสต์'"[324]

ชุมชนนิยมและนิเวศวิทยาสังคม

[แก้]

นิเวศวิทยาสังคม (อังกฤษ: Social ecology) มีความเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับงานและความคิดของ เมอร์เรย์ บุคชิน และได้รับอิทธิพลจากนักอนาธิปัตย์ ปิออตร์ โครปอตกิน นักนิเวศวิทยาสังคมกล่าวว่าวิกฤตการณ์ทางระบบนิเวศในปัจจุบันนั้นมีต้นเหตุจากปัญหาทางสังคมของมนุษย์ และการครอบงำของมนุษย์เหนือธรรมชาติมีต้นเหตุจากการครอบงำของมนุษย์เหนือมนุษย์[325]

ต่อมาบุคชินได้พัฒนาปรัชญาการเมืองมาเพื่อสมทบกับนิเวศวิทยาสังคม โดยเขาเรียกมันว่าชุมชนนิยม (อังกฤษ: Communalism) เบื้องต้นถูกคิดออกมาเป็นลัทธิอนาธิปไตยสังคมรูปแบบหนึ่ง แต่ในภายหลังเขาได้พัฒนาให้ชุมชนนิยมกลายเป็นอุดมการณ์ที่แยกออกต่างหาก โดยรวมสิ่งที่เขามองว่ามีประโยชน์ที่สุดจากองค์ประกอบต่าง ๆ ของลัทธิอนาธิปไตย ลัทธิมากซ์ สหการนิยม และนิเวศวิทยาสายมูลวิวัติ (Deep ecology) เข้าด้วยกัน

ในด้านการเมือง นักชุมชนนิยมสนับสนุนให้มีโครงข่ายของสภาของพลเมืองที่เป็นประชาธิปไตยทางตรงในแต่ละประชาคมหรือเมือง ซึ่งจะจัดตั้งขึ้นในรูปแบบสมาพันธรัฐ วิธีการที่เขาใช้เพื่อสัมฤทธิผลนี้เรียกว่าระบบเทศบาลแบบอิสรนิยม โดยประกอบไปด้วยการสถาปนาสถาบันการเมืองประชาธิปไตยแบบซึ่งหน้า ซึ่งจะเติบโตและขยายตัวออกไปในรูปแบบสมาพันธ์ โดยมีเป้าหมายที่จะแทนที่ระบบรัฐชาติในที่สุด

ระบบสมาพันธรัฐประชาธิปไตย

[แก้]
นักต่อสู้ผู้หญิงจาก YPJ (Women's Protection Units) มีบทบาทสำคัญในการสู้รบที่โรจาวา

ระบบสมาพันธรัฐประชาธิปไตย (อังกฤษ: Democratic confederalism) เป็นข้อเสนอระบบทางการเมือง (political system) สังคมนิยมแบบอิสรนิยมที่ "เปิดรับกลุ่มและฝักฝ่ายการเมืองอื่น ๆ ระบบนี้ยืดหยุ่น มีวัฒนธรรมที่หลากหลาย (multiculturalism) ต่อต้านการผูกขาด และอิงฉันทามติ (consensus decision-making)"[326] อับดุลละฮ์ เออจาลัน ผู้นำพรรคแรงงานเคอร์ดิสถานได้ก่อตั้งอุดมการณ์นี้ขณะถูกขังอยู่ในเรือนจำ แม้ว่าแต่เดิมแล้วเป็นองค์กรลัทธิมากซ์เลนิน พรรคได้ดัดแปลงมุมมองของตัวเองในขณะที่เออจาลันได้เริ่มติดต่อกับ เมอร์เรย์ บุคชิน และรับเอาอุดมการณ์ของเขามา เสาหลักของระบบสมาพันธรัฐประชาธิปไตยคือนิเวศวิทยาสังคมและคตินิยมสิทธิสตรีแบบอนาธิปไตย[327] ในความคิดของเออจาลัน อุดมการณ์ของเขามีรากฐานเป็นการมีประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมและอัตตาณัติในระดับท้องถิ่น ในหนังสือของเขา เขากล่าวว่า: "ยิ่งการมีส่วนร่วมแข็งแกร่งเท่าใด ประชาธิปไตยชนิดนี้จะยิ่งทรงพลังเท่านั้น ในขณะที่รัฐชาตินั้นอยู่ตรงข้ามกับประชาธิปไตย และถึงขั้นปฏิเสธมัน ระบบสมาพันธรัฐประชาธิปไตยจะประกอบไปด้วยกระบวนการประชาธิปไตยอย่างต่อเนื่อง"[328]

ประชาธิปไตยแบบครอบคลุม

[แก้]
ตากิส โฟโตปูโลส

ประชาธิปไตยแบบครอบคลุม (อังกฤษ: Inclusive democracy) เป็นทฤษฎีการเมืองและโครงการทางการเมืองซึ่งมีจุดมุ่งหมายเป็นประชาธิปไตยโดยตรง ประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจในเศรษฐกิจที่ไร้ตลาด ไร้เงิน และไร้รัฐ การจัดการโดยคนงานเอง (ประชาธิปไตยในพื้นที่ทางสังคม) และประชาธิปไตยทางระบบนิเวศ โครงการทางทฤษฎีของประชาธิปไตยแบบครอบคลุมถือกำเนิดจากงานของนักปรัชญาการเมือง อดีตนักวิชาการ และนักกิจกรรม ตากิส โฟโตปูโลส ซึ่งแยกออกจากโครงการทางการเมืองแบบประชาธิปไตยและอัตตาณัติ โดยปรากฏตัวในงานชื่อว่า โทวอรดส์แอนอิคลูสิฟเดโมเครซี (Towards An Inclusive Democracy) และได้ถูกพัฒนาต่อโดยเขาและนักเขียนคนอื่น ๆ ในวารสาร เดโมเครซีแอนด์เนเชอร์ และต่อมาในวารสารที่รับช่วงต่อ วารสารนานาชาติประชาธิปไตยแบบครอบคลุม ซึ่งเป็นวารสารอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งเข้าถึงได้โดยไร้ค่าใช้จ่าย

ตามความเห็นของอาร์รัน แกร์ (Arran Gare) โทวอรดส์แอนอิคลูสิฟเดโมเครซี "นำเสนอการตีความใหม่ที่ทรงพลังของประวัติศาสตร์และพลวัตการทำลายล้างของตลาด และให้วิสัยทัศน์ใหม่ที่สร้างแรงบันดาลใจของอนาคตที่มาแทนที่ทั้งเสรีนิยมใหม่และสังคมนิยมในรูปแบบที่มีอยู่"[329] เดวิด ฟรีแมน (David Freeman) ได้ชี้ให้เห็นว่า แม้แนวทางของโฟโตปูโลสจะไม่ใช่ลัทธิอนาธิปไตยอย่างเปิดเผย อย่างไรก็ตามลัทธิอนาธิปไตยดูเหมือนเป็นหมวดหมู่อย่างเป็นทางการของมัน จากความเชื่อมั่นที่เขามีต่อการกระจายอำนาจแบบมูลวิวัติ ประชาธิปไตยโดยตรง ระบบเทศบาล และการล้มเลิกรัฐ เงิน และเศรษฐกิจระบบตลาด[330]

กลุ่มการเมืองนี้เสนอให้มีระบบตลาดที่ประดิษฐ์ขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาของการคงไว้ซึ่งเสรีภาพที่ผู้บริโภคจะมีตัวเลือกได้ภายใต้ระบบเศรษฐกิจที่ไร้ตลาดและไร้เงิน โดยตลาดประดิษฐ์จะทำงานในทางเดียวกันกับตลาดแบบดั้งเดิม แต่ใช้เวาเชอร์แรงงาน (labour voucher) หรือสินเชื่อส่วนตัวแทนเงินแบบดั้งเดิม ในมุมมองของโฟโตปูโลส ระบบตลาดประดิษฐ์ "จะรับประกันเสรีภาพในการเลือกที่แท้จริง โดยไม่ก่อให้เกิดผลในทางลบซึ่งถูกเชื่อมโยงกับระบบตลาดจริง"[331]

ลัทธิอนาธิปไตยแบบก่อการกบฏ

[แก้]

ลัทธิอนาธิปไตยแบบก่อการกบฏ (อังกฤษ: Insurrectionary anarchism) เป็นทฤษฎี หลักปฏิบัติ และแนวทางการเมืองสายปฏิวัติภายในขบวนการอนาธิปัตย์ซึ่งเน้นย้ำเรื่องของการกบฏภายในธรรมเนียมปฏิบัติแบบอนาธิปัตย์ โดยแนวคิดนี้วิจารณ์องค์กรแบบทางการอย่างสหภาพแรงงานและสหพันธ์ต่าง ๆ ซึ่งตั้งอยู่บนแบบแผนทางการเมืองและการประชุมสภาเป็นระยะ ๆ นักอนาธิปัตย์แบบก่อการกบฏนั้นสนับสนุนองค์กรแบบไม่เป็นทางการและองค์กรขนาดเล็กที่ตั้งอยู่บนกลุ่มเครือสหายแทน พวกเขาให้ความสำคัญกับการโจมตี การต่อสู้ระหว่างชนชั้นแบบถาวร และการปฏิเสธไม่ต่อรองหรือประนีประนอมกับศัตรูของชนชั้น

ลัทธิอนาธิปไตยแบบก่อการกบฏในปัจจุบันรับเอามุมมองและยุทธวิธีของลัทธิอนาธิปไตย-คอมมิวนิสต์ที่ต่อต้านองค์กรและคตินิยมผิดกฎหมาย (illegalism) มา[332] ระหว่าง ค.ศ. 1880 ถึง 1890 ด้วยมุมมองของการปฏิวัติจากภายใน โดยที่ต่อต้านขบวนการของคนงานที่เป็นทางการ ซึ่งในขณะนั้นยังอยู่ในกระบวนการก่อร่างขึ้นมา พวกเขาไม่ได้ต่อต้านเพียงแต่การต่อสู้ทางการเมืองและแบบรัฐนิยมเท่านั้น แต่ยังต่อต้านการนักหยุดงานที่เรียกร้องค่าจ้างหรือสิ่งอื่น ๆ หรือที่ถูกจัดตั้งโดยสหภาพแรงงานด้วย ทว่าพวกเขาไม่ได้ต่อต้านการนัดหยุดงานแบบดื้อ ๆ แต่พวกเขาต่อต้านสหภาพแรงงานและการต่อสู้ให้ได้มาซึ่งชั่วโมงทำงานแปดชั่วโมงต่อวัน แนวทางต่อต้านการปฏิรูปนี้มาพร้อมกับแนวทางต่อต้านองค์กร และเหล่าพลพรรคก็ได้ประกาศว่าพวกเขาเห็นชอบกับการปลุกปั่นท่ามกลางกลุ่มคนว่างงานให้เวนคืนอาหารและสิ่งของอื่น ๆ ให้นัดหยุดงานเวนคืน และในบางกรณีให้ เรียกร้องคืนรายบุคคล หรือให้กระทำการก่อการร้าย[333] การกลับคืนมาของแนวคิดเช่นนี้เกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไขที่ประหลาดของประเทศอิตาลีและประเทศกรีซหลังสงคราม[334]

ลัทธิมากอนและลัทธิซาปาตาใหม่

[แก้]
รองผู้บัญชาการมาร์โกส

กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติซาปาติสตา (EZLN) หรือมักถูกเรียกว่า ซาปาติสตา เป็นกลุ่มฝ่ายซ้ายสายมูลวิวัติที่มีฐานที่มั่นในรัฐเชียปัส รัฐใต้สุดของประเทศเม็กซิโก ตั้งแต่ ค.ศ. 1994 เป็นต้นมา กลุ่มนี้ได้อยู่ในภาวะสงครามกับรัฐเม็กซิโก แต่สงครามนี้ส่วนใหญ่ไม่รุนแรง และเป็นการตั้งรับการบุกรุกเข้ามาในรัฐเชียปัสของกองทัพ, กำลังกึ่งทหาร และบรรษัทต่าง ๆ ฐานทางสังคมส่วนใหญ่เป็นชนพื้นเมือง (Indigenous peoples of Mexico) ในพื้นที่ชนบท แต่ก็มีผู้สนับสนุนบางส่วนในพื้นที่เขตเมืองและนานาชาติ อดีตโฆษกของกลุ่มคือรองผู้บัญชาการมาร์โกส (Subcomandante Marcos) (เป็นที่รู้จักในอีกชื่อว่า เดเลกาโดเซโร (Delegado Cero) ซึ่งเกี่ยวข้องกับขบวนการลาโอตรากัมปัญญา (The Other Campaign)) ต่างจากโฆษกซาปาติสตาคนอื่น ๆ มาร์โกสไม่ได้เป็นชาวมายา (Maya peoples) พื้นเมือง ตั้งแต่เดือนธันวาคม ค.ศ. 1994 เป็นต้นมา พวกซาปาติสตาได้ทยอยก่อตั้งเทศบาลปกครองตนเองจำนวนหนึ่งชื่อว่าเทศบาลปกครองตนเองกบฏซาปาติสตา (Rebel Zapatista Autonomous Municipalities; MAREZ) ในเทศบาลเหล่านี้มีสภาของตัวแทนท้องถิ่นซึ่งประกอบขึ้นเป็น ฆุนตัส เด บูเอน โกบิเอร์โน หรือสภาแห่งรัฐบาลที่ดี (JBGs) เทศบาลเหล่านั้นไม่ได้รับการยอมรับโดยรัฐบาลของรัฐหรือสหพันธรัฐ และดูแลแผนงานชุมชนท้องถิ่นด้านอาหาร สุขภาพ และการศึกษา รวมไปถึงการเก็บภาษี การจัดตั้งทางการเมืองของ EZLN เกิดขึ้นเป็นสองระยะซึ่งมีชื่อว่า อากวสกาลิเอนเตส (Aguascalientes) และ การาโกเลส (Caracoles)

ชื่อของกลุ่มมาจาก เอมิเลียโน ซาปาตา (นักปฏิรูปเกษตรกรรมและผู้บัญชาการกองทัพปลดปล่อยภาคใต้ (Liberation Army of the South) ในช่วงการปฏิวัติเม็กซิโก) และมองว่าตนเป็นทายาททางอุดมการณ์ของเขา แต่เดิม ซาปาติสตา หมายถึงสมาชิกของขบวนการกองโจรสายปฏิวัติซึ่งถูกก่อตั้งโดยซาปาตาใน ค.ศ. 1910 กองทัพปลดปล่อยภาคใต้ของเขา (Ejército Libertador del Sur) ได้ต่อสู้เพื่อการจัดสรรที่ดินเกษตรกรรมใหม่ในการปฏิวัติเม็กซิโก ซาปาตากับกองกำลังและพันธมิตรของเขา ได้แก่ ปันโช บิยา (Pancho Villa) ได้ต่อสู้เพื่อการปฏิรูปเกษตรกรรมในประเทศเม็กซิโก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พวกเขาต้องการสถาปนาสิทธิในที่ดินของชุมชนสำหรับประชากรพื้นเมืองในเม็กซิโก ซึ่งส่วนใหญ่ได้เสียที่ดินให้กับอภิชนมั่งคั่งเชื้อสายยุโรป ซาปาตาได้รับอิทธิพลส่วนหนึ่งจากนักอนาธิปัตย์คนหนึ่งจากรัฐวาฮากานามว่า ริการ์โด โฟลเรส มากอน (Ricardo Flores Magón) อิทธิพลของ โฟลเรส มากอน ต่อซาปาตาเห็นได้จากแผนการอายาลา (Plan of Ayala) ของซาปาติสตา และเห็นได้ชัดยิ่งกว่าในคำขวัญของพวกเขา (แต่ซาปาตาไม่เคยใช้คำขวัญนี้) ว่า ติเอร์รา อี ลิเบร์ตัด (Tierra y libertad) หรือ "แผ่นดินและเสรีภาพ" ซึ่งเป็นชื่อและคติบทของงานที่โด่งดังที่สุดของ โฟลเรส มากอน ซาปาตาได้รู้จักกับลัทธิอนาธิปไตยผ่านทางครูโรงเรียนท้องถิ่น โอติลิโอ มอนตัญโญ ซันเชซ (Otilio Montaño Sánchez) ซึ่งต่อมาเป็นนายพลในกองทัพของซาปาตาและถูกประหารชีวิตในวันที่ 17 พฤษภาคม ค.ศ. 1917 เขาได้แนะนำให้ซาปาตาได้รู้จักงานของ ปิออตร์ โครปอตกิน และ โฟลเรส มากอน ในช่วงเวลาเดียวกันที่ซาปาตาได้เฝ้าดูและเริ่มมีส่วนร่วมในการต่อสู้เพื่อที่ดินของไพร่ชาวนา

ในหมู่บ้าน EZLN เกือบทุกแห่งจะมีจิตรกรรมฝาผนังซึ่งแสดงภาพของซาปาตา, เช เกบารา และรองผู้บัญชาการมาร์โกสในฐานะที่เป็นบุคคลซึ่งสร้างแรงบันดาลใจ[335] อุดมการณ์ของขบวนการซาปาติสตา ลัทธิซาปาตา (Zapatismo) สังเคราะห์มาจากหลักปฏิบัติมายันดั้งเดิมกับองค์ประกอบต่าง ๆ ของสังคมนิยมแบบอิสรนิยม ลัทธิอนาธิปไตย[336][337] และลัทธิมากซ์[338] อิทธิพลทางประวัติศาสตร์ของนักอนาธิปัตย์ชาวเม็กซิกัน (Anarchism in Mexico) และนักสังคมนิยมละตินอเมริกันหลายคนนั้นเห็นได้ชัดในลัทธิซาปาตา และจุดยืนของรองผู้บัญชาการมาร์โกสก็ได้เพิ่มองค์ประกอบที่ชัดเจนจากลัทธิมากซ์เข้าไปในขบวนการเคลื่อนไหวหากอิงตาม เดอะนิวยอร์กไทมส์[339] คำขวัญของซาปาติสตาอันหนึ่งมีความบรรสานกับแนวคิดของระบบร่วมด้วยช่วยกัน: "สำหรับทุกคน ทุกอย่าง สำหรับพวกเรา ไม่มี" (Para todos, todo. Para nosotros, nada)

ลัทธิอนาธิปไตยระบบตลาด

[แก้]

ลัทธิอนาธิปไตยระบบตลาด (อังกฤษ: Market anarchism) เป็นรูปแบบแบบอิสรนิยมฝ่ายซ้ายและแบบลัทธิอนาธิปไตยแบบปัจเจก[340] ของแนวคิดสังคมนิยมอิสรนิยม[50][341] ซึ่งมีความสัมพันธ์กับ เควิน คาร์สัน,[342][343] รอเดอริก ที. ลอง (Roderick T. Long),[344] ชาลส์ ดับเบิลยู. จอห์นสัน (Charles W. Johnson),[345] ซามูเอล เอ็ดเวิร์ด คองกิน ที่สาม (Samuel Edward Konkin III),[346] คริส แมทธิว ชาบาร์รา (Chris Matthew Sciabarra)[347] และ แกรี ชาร์ติเย (Gary Chartier)[348] ซึ่งเน้นย้ำคุณค่าของระบบตลาดที่เสรีแบบสุดโต่ง โดยเรียกว่าตลาดที่ถูกปลดปล่อย (freed market) เพื่อแยกพวกเขาออกจากแนวคิดทั่วไปอีกแบบหนึ่งซึ่งนักอิสรนิยมเหล่านี้เชื่อว่าเต็มไปด้วยอภิสิทธิ์แบบทุนนิยมและรัฐนิยม[349] พวกเขาถูกเรียกว่านักอนาธิปัตย์ระบบตลาดปีกซ้าย[350] หรือนักอิสรนิยมฝ่ายซ้ายอิงระบบตลาด[351] ผู้ที่สนับสนุนแนวทางนี้ยึดมั่นในมโนคติเสรีนิยมแบบคลาสสิกว่าด้วยสิทธิแห่งตนและตลาดเสรี และในขณะเดียวกันก็ยืนยันว่าเมื่อพูดถึงข้อสรุปเชิงตรรกะจากแนวคดิเหล่านี้ แนวคิดเหล่านี้จะสนับสนุนจุดยืนทางเศรษฐศาสตร์ที่ต่อต้านทุนนิยม[340][352][353] ต่อต้านบรรษัทนิยม (Anti-corporate activism), ต่อต้านลำดับชั้น และสนับสนุนแรงงาน นโยบายต่างประเทศที่ต่อต้านจักรวรรดินิยม (anti-imperialism) และมุมมองเกี่ยวกับประเด็นทางสังคมและวัฒนธรรม อาทิ สถานะเพศ เพศสภาพ และเชื้อชาติ แบบเสรีนิยมหรือแบบมูลวิวัติ

ประวัติศาสตร์ของอิสรนิยมฝ่ายซ้ายอิงระบบตลาด บางครั้งเรียกว่าลัทธิอนาธิปไตยระบบตลาดปีกซ้าย[347] มีส่วนทับซ้อนในระดับหนึ่งกับประวัติศาสตร์ของอิสรนิยมฝ่ายซ้ายสำนักสไตเนอร์-แวเลินไทน์ (Steiner–Vallentyne left-libertarianism) เพราะรากฐานของธรรมเนียมการเมืองนี้ถูกวางโครงร่างไว้ในหนังสือ เดอะออริจินส์ออฟเลฟต์-ลิเอบร์ทาเรียนนิสซึม (The Origins of Left-Libertarianism)[354] อิสรนิยมฝ่ายซ้ายแบบคาร์สัน ลอง มีรากฐานในคติความช่วยเหลือซึ่งกันและกันจากคริสต์ศตวรรษที่ 19 และในงานของบุคคลอย่าง ทอมัส ฮอดจ์สกิน (Thomas Hodgskin) และนักอนาธิปัตย์แบบปัจเจก เบนจามิน ทักเกอร์ กับ ไลแซนเดอร์ สปูนเนอร์ (Lysander Spooner) นอกเหนือจากกรณียกเว้นที่เป็นที่รู้จัก นักอิสรนิยมอิงตลาดหลังจากทักเกอร์มักเป็นพันธมิตรกับการเมืองฝ่ายขวา ในขณะที่ในคริสต์ทศวรรษ 1960 ความสัมพันธ์ของนักอิสรนิยมกับฝ่ายซ้ายใหม่มีความเฟื่องฟู ซึ่งปูทางให้กับลัทธิอนาธิปไตยระบบตลาดปีกซ้ายในสมัยใหม่[355] ต่างจากอิสรนิยมฝ่ายขวา ผู้สนับสนุนระบบตลาดเสรีฝ่ายซ้ายเชื่อว่าไม่ว่าจะเป็นการอ้างสิทธิหรือการผสมผสานแรงงาน (Labor theory of property) เข้ากับทรัพยากรธรรมชาตินั้นก็ไม่เพียงพอสำหรับการสรรค์สร้างสิทธิในทรัพย์สินส่วนบุคคลที่สมบูรณ์[356][357] และกล่าวยืนยันว่าทรัพยากรธรรมชาติ (ที่ดิน น้ำมัน ทองคำ และต้นไม้) ควรที่จะถูกถือไว้ในรูปแบบที่เสมอภาค (egalitarianism) ไม่ว่าจะเป็นการให้มันไม่มีเจ้าของหรือให้เป็นของส่วนรวม[357]

การทำให้กลายเป็นคอมมิวนิสต์

[แก้]

การทำให้กลายเป็นคอมมิวนิสต์เป็นทฤษฎีคอมมิวนิสต์ร่วมสมัยซึ่งเป็น "การผสมผสานของลัทธิอนาธิปไตยแบบก่อการกบฏ กระแสและกลุ่มการเมืองคอมมิวนิสต์ซ้ายจัด หลังอัตตาณัตินิยม ต่อต้านการเมือง อย่างเช่นกลุ่มคณะกรรมการล่องหน (The Invisible Committee) และยังรวมไปถึงกระแสการเมือง 'ที่ทำให้กลายเป็นคอมมิวนิสต์' อย่างชัดเจนยิ่งกว่า อย่างเช่น เตโอรีกอมูว์นิสต์ และวารสาร เอ็นด์โนตส์ (Endnotes) แน่นอนว่าใจกลางของคำคือคำว่าลัทธิคอมมิวนิสต์ และการเคลื่อนย้ายไปหาการทำให้กลายเป็นคอมมิวนิสต์ก็เป็นการบอกว่า คือลัทธิคอมมิวนิสต์ในฐานะของกิจกรรมและกระบวนการจำพวกหนึ่ง"[358]

ความเชื่อมโยงระหว่างคำว่าการทำให้กลายเป็นคอมมิวนิสต์กับกลุ่มที่เรียกตนว่าฝ่ายซ้ายจัดได้ก่อตัวขึ้นในประเทศฝรั่งเศสในคริสต์ทศวรรษ 1970 ซึ่งจากที่อธิบายถึงการเปลี่ยนผ่านไปยังลัทธิคอมมิวนิสต์ในระยะที่สูงขึ้น กลายเป็นวิสัยทัศน์ของการปฏิวัติคอมมิวนิสต์เสียเองเลย ในใบปลิวจาก ค.ศ. 1975 อะเวิลด์วิทเอาต์มันนี (A World Without Money) ได้มีกล่าวไว้ว่า: "การก่อการกบฏและการทำให้กลายเป็นคอมมิวนิสต์นั้นเชื่อมโยงกันอย่างใกล้ชิด ไม่มีทางเลยที่จะมีการก่อการกบฏขึ้นเป็นอย่างแรก แล้วด้วยอานิสงค์ของการก่อการกบฏนั้นก็จะทำให้ความเป็นจริงทางสังคมแปลงสภาพไป กระบวนการของการก่อการกบฏดึงเอาพลังอำนาจของมันจากการทำให้กลายเป็นคอมมิวนิสต์นั่นเอง"[359] คำนี้ยังถูกใช้ในความหมายนี้ในประเทศฝรั่งเศสในปัจจุบัน และได้แพร่กระจายมายังภาษาอังกฤษอันเนื่องมาจางานแปลเอกสารของ ฌีล โดเว (Gilles Dauvé) และ เตโอรีกอมูว์นิสต์ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญสองส่วนในกลุ่มการเมืองนี้ โดเวได้พยายามร่วมกับนักคอมมิวนิสต์ฝ่ายซ้ายคนอื่น ๆ ได้แก่ ฟร็องซัว มาร์แต็ง (François Martin) และ คาร์ล เนชิจ (Karl Nesic) ที่จะผสมผสาน วิพากษ์ และพัฒนากระแสการเมืองคอมมิวนิสต์ฝ่ายซ้ายต่าง ๆ ที่โดดเด่นที่สุดคือขบวนการอิตาลีซึ่งมีความสัมพันธ์กับ อามาเดโอ บอร์ดีกา (และวารสาร แอ็งวารีย็องส์ (Invariance (magazine))) ลัทธิคอมมิวนิสต์แบบองค์คณะนิยมเยอรมันและดัตช์ กับจุดยืนต่าง ๆ ในฝรั่งเศสไม่ว่าจะเป็นซอซียาลิสม์ อู บาร์บารี และซิทูเอชันนิสต์ อินเตอร์แนชันนอล[360]

ในช่วงปลายคริสต์ทศวรรษ 1990 ได้มีการพัฒนาความหมายที่ใกล้เคียงแต่ไม่เหมือนกันของคำว่าการทำให้กลายเป็นคอมมิวนิสต์ขึ้นโดยกลุ่มหลังซิทูเอชันนิสต์ชาวฝรั่งเศสนามว่าตีกูน (Tiqqun) เพื่อให้สอดคล้องกับกลุ่มซ้ายจัดรุ่นก่อน ๆ พวกเขา กลุ่มตีกูนให้ความสำคัญกับคำว่าลัทธิคอมมิวนิสต์ในความหมายที่เป็นกระบวนการฉับพลันมากกว่าที่จะเป็นเป้าหมายระยะยาว แต่สำหรับกลุ่มมันไม่ได้มีความหมายเดียวกันกับคำว่าการปฏฺวัติ ซึ่งถือว่าเป็นเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ แต่กลับกลายเป็นกิจกรรมที่หลากหลายซึ่งถูกระบุว่าเป็นกิจกรรมซึ่งโดยปกติจะเข้าใจว่าเป็นกิจกรรมก่อนการปฏิวัติ อาทิการจับจองพื้นที่และจัดตั้งคอมมูน หรือแค่เพียงการแบ่งปันกัน[361] จากมุมมองซ้ายจัด การเมืองของการ "ลาออก" (dropping out) หรือเรียกตามกลุ่มตีกูน การ "ทอดทิ้ง" (desertion) เช่นนี้ นั่นคือการจัดตั้งพื้นที่และปฏิบัติการซึ่งดำเนินไปโดยเป็นอิสระในบางส่วนจากระบบทุนนิยม โดยทั่วไปจะถูกเมินเฉยว่าเป็นความไร้เดียงสาหรือเป็นพวกปฏิกิริยา[362][363] อันเนื่องมาจากความโด่งดังของงานที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มอย่าง คอล (Call) และ เดอะคัมมิงอินเซอเรกชัน (The Coming Insurrection) ในหมู่นักอนาธิปัตย์อเมริกัน ความหมายของคำว่า "การทำให้กลายเป็นคอมมิวนิสต์" ของกลุ่มตีกูนจึงถูกนำมาใช้ในแถลงการณ์ของนักก่อการกบฏและนักอนาธิปัตย์อเมริกัน ตัวอย่างที่โด่งดังเช่นในขบวนการนักเรียนในรัฐแคลิฟอร์เนียระหว่าง ค.ศ. 2009-2010 (2009 California college tuition hike protests)[364]

สังคมนิยมแบบอิสรนิยมร่วมสมัย

[แก้]
มีการกล่าวว่าขบวนการออคคิวพาย (Occupy movement) ทั่วโลกมีหลักการแบบสังคมนิยมแบบอิสรนิยม

ระหว่างคริสต์ทศวรรษ 1960 และ 1970 ผู้คนในชาติตะวันตกเริ่มให้ความสนใจกับสังคมนิยมแบบอิสรนิยม[365] วัฒนธรรมต่อต้านในคริสต์ทศวรรษ 1960 (Counterculture of the 1960s) ได้รับอิทธิพลจากลัทธิอนาธิปไตย[366][367][368] นักอนาธิปัตย์มีส่วนร่วมในการประท้วงของนักเรียนและกรรมกรใน ค.ศ. 1968 (Protests of 1968)[369] องค์การสหพันธ์อนาธิปไตยสากล (International of Anarchist Federations) ถูกก่อตั้งขึ้นใน ค.ศ. 1968 ระหว่างการประชุมร่วมอนาธิปัตย์ระหว่างประเทศซึ่งที่เมืองการ์รารา (Carrara) โดยสหพันธ์อนาธิปไตยในยุโรปสามองค์การ ประกอบด้วยสหพันธ์อนาธิปไตยในฝรั่งเศส สหพันธ์อนาธิปไตยอิตาลี (Italian Anarchist Federation) และสหพันธ์อนาธิปไตยไอบีเรีย และมีสหพันธ์อนาธิปไตยบัลแกเรียที่พลัดถิ่นในฝรั่งเศส[370][371][372] เหตุการณ์พฤษภาคม 68 ในประเทศฝรั่งเศสนำไปสู่ความสนใจระลอกใหม่ในแนวคิดคอมมิวนิสต์ฝ่ายซ้าย และกลุ่มคอมมิวนิสต์ฝ่ายซ้ายขนาดเล็กถูกตั้งขึ้นทั่วโลก ส่วนใหญ่ในประเทศทุนนิยมชั้นนำ การประชุมร่วมฝ่ายซ้ายคอมมิวนิสต์เริ่มต้นขึ้นใน ค.ศ. 1976 โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมการพูดคุยระหว่างกลุ่มการเมืองและระหว่างประเทศ แต่ค่อย ๆ ยุติไปในคริสต์ทศวรรษ 1980 โดยไม่ได้เพิ่มบทบาทของขบวนการหรือเอกภาพของแนวคิด[373] กลุ่มคอมมิวนิสต์ฝ่ายซ้ายซึ่งมีอยู่ในปัจจุบัน (List of left-wing internationals) ที่โดดเด่นได้แก่พรรคคอมมิวนิสต์สากล (International Communist Party) กระแสคอมมิวนิสต์สากล (International Communist Current) และกลุ่มคอมมิวนิสต์สากล (Internationalist Communist Tendency) วิกฤตการณ์ที่อยู่อาศัยและการจ้างงานในส่วนใหญ่ของทวีปยุโรปตะวันตกนำไปสู่การจัดตั้งคอมมูนและขบวนการผู้จับจอง เช่นในประเทศสเปนที่บาร์เซโลนา และในประเทศเดนมาร์ก ผู้จับจองเข้ายึดฐานทัพที่ไม่ใช้การแล้วและจัดตั้งเสรีนครคริสเตียะเนีย (Freetown Christiania) ขึ้นเป็นเป็นชุมชนปกครองตนเองใจกลางเมืองโคเปนเฮเกน

ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 21 สังคมนิยมแบบอิสรนิยมเริ่มเป็นที่นิยมและมีอิทธิพลมากขึ้นในฐานะส่วนหนึ่งของขบวนการต่อต้านสงคราม (Anti-war movement) ทุนนิยม และโลกาภิวัตน์[374] นักอนาธิปัตย์กลายเป็นที่รู้จักจากการมีส่วนร่วมในการประท้วงต่อต้านการประชุมองค์การการค้าโลก กลุ่ม 8 (G8) และสภาเศรษฐกิจโลก กลุ่มอนาธิปัตย์บางกลุ่มในการประท้วงเหล่านี้เข้าร่วมการจลาจล ทำลายทรัพย์สิน และเผชิญหน้ากับตำรวจด้วยความรุนแรง ปฏิบัติการเหล่านี้กระทำโดยกลุ่มแกนนำนิรนามเฉพาะกิจที่ไม่มีผู้นำที่เรียกว่าแนวร่วมชุดดำ (black bloc) ยุทธวิธีการรวมตัวอื่นซึ่งถูกริเริ่มในช่วงเวลานี้ได้แก่วัฒนธรรมความมั่นคง (security culture) กลุ่มเครือสหาย และการใช้เทคโนโลยีแบบกระจายศูนย์ เช่นอินเทอร์เน็ต[374] หนึ่งในเหตุการณ์สำคัญในช่วงเวลานี้คือการประจันหน้ากันที่การประท้วงองค์การการค้าโลกที่ซีแอตเทิล ค.ศ. 1999 (1999 Seattle WTO protests)[374] ในมุมมองของนักวิชาการอนาธิปัตย์ชาวอังกฤษไซมอน คริตช์ลีย์ (Simon Critchley) "เราสามารถมองลัทธิอนาธิปไตยร่วมสมัยได้ว่าเป็นบทวิจารณ์ของอิสรนิยมเทียมของเสรีนิยมใหม่ร่วมสมัยที่ทรงพลัง" และ "อาจกล่าวได้ว่าลัทธิอนาธิปไตยร่วมสมัยเกี่ยวข้องกับความรับผิดชอบ ไม่ว่าจะเป็นทางเพศ สิ่งแวดล้อม หรือเศรษฐกิจสังคม มันหลั่งไหลมาจากประสบการณ์ของการสำนึกเกี่ยวกับนานาวิธีการที่ฝั่งตะวันตกใช้ทำลายล้างพวกที่เหลือ มันเป็นความโกรธแค้นต่อความเหลื่อมล้ำ ความยากจน และการละเมิดสิทธิที่กำลังถ่างออก ซึ่งสัมผัสถึงได้แม้ในท้องถิ่นหรือทั่วโลก"[375] และยังอาจถูกกระตุ้นโดย "การล่มสลายของ 'สังคมนิยมที่มีอยู่จริง' (Real socialism) และการยอมจำนนต่อเสรีนิยมใหม่ของประชาธิปไตยสังคมนิยมในตะวันตก"[376]

สหพันธ์อนาธิปัตย์นานาชาติที่ยังมีอยู่ได้แก่องค์การสหพันธ์อนาธิปไตยสากล (IAF) สมาคมกรรมกรสากล (IWA-AIT) และสามัคคีอิสรนิยมสากล (International Libertarian Solidarity; ILS) ขบวนการอนาธิปัตย์จัดตั้งที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในปัจจุบันอยู่ในประเทศสเปน คือสมาพันธ์แรงงานทั่วไปสเปน (CGT) และสมาพันธ์แรงงานแห่งชาติสเปน (CNT) มีการประมาณสมาชิกของ CGT ใน ค.ศ. 2003 ว่ามีอยู่ประมาณ 100,000 คน[377]

นักสังคมนิยมแบบอิสรนิยมในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที 21 มีส่วนร่วมในขบวนการโลกาภิวัตน์ทางเลือก (alter-globalization) ขบวนการผู้จับจอง ศูนย์สังคม อินโฟชอป กลุ่มต้อต้านความยากจนเช่นสหสัมพันธมิตรต่อต้านความยากจนออนแทรีโอ (Ontario Coalition Against Poverty) กับฟูดนอตบอมส์ (Food Not Bombs) ซึ่งมีดำเนินการอยู่ในประเทศไทย[378][379] สหภาพผู้เช่า (Leasehold estate) สหกรณ์เคหสถาน (housing cooperative) ชุมชนโดยเจตนาและชุมชนเสมอภาค (egalitarian communities) การรวมตัวต่อต้านการกีดกันทางเพศ การริเริ่มสื่อรากหญ้า (Community media) การดำเนินกิจกรรมทางคอมพิวเตอร์และสื่อดิจิทัล การทดลองเศรษฐศาสตร์แบบมีส่วนร่วม กลุ่มต่อต้านคตินิยมเชื้อชาติ (Anti-racism) และกลุ่มต่อต้านลัทธิฟาสซิสต์เช่นแอนไตเรสซิสต์แอกชัน (Anti-Racist Action) กับแอนไตฟาชชิสต์แอกชัน (Anti-Fascist Action) กลุ่มนักกิจกรรมปกป้องสิทธิของคนเข้าเมืองและกลุ่มส่งเสริมการเคลื่อนที่อย่างเสรีของผู้คนเช่นเครือข่ายโนบอร์เดอร์ (No Border network) สหกรณ์คนงาน (worker co-operative) กลุ่มศิลปินและกลุ่มวัฒนธรรมต่อต้าน ขบวนการสันติภาพ และขบวนการออคคิวพาย[380]

วารสารสังคมนิยมแบบอิสรนิยม

[แก้]

ดูเพิ่ม

[แก้]
  • ไฟรเวียร์ทชัฟท์ (Freiwirtschaft) "เศรษฐกิจเสรี" แนวคิดบนฐานของ "ระเบียบของเศรษฐกิจตามธรรมชาติ"
  • เหมา-สปอนเต็กซ์ (Mao-Spontex) ขบวนการการเมืองในทวีปยุโรปตะวันตกระหว่างคริสต์ทศวรรษ 1960 ถึง 1970 ซึ่งผสมผสานลัทธิเหมาเข้ากับคตินิยมการเกิดเอง
  • สังคมาธิปไตย (Sociocracy) ระบอบการปกครองซึ่งใช้ความยินยอมแทนการลงคะแนนเสียงของส่วนใหญ่
  • อิสรนิยม ปรัชญาการเมืองซึ่งถือเอาเสรีภาพเป็นหลักการสำคัญ

อ้างอิง

[แก้]
  1. Ostergaard 1991
  2. 2.0 2.1 Chomsky 2004, p. 739
  3. Gale, Cengage Learning (2015). "Socialist Anarchism". A Study Guide for Political Theories for Students: Anarchism. ฟาร์มิงตันฮิลส์ รัฐมิชิแกน: Gale. ISBN 9781410333056.
  4. Bose, Atindranath (1967). A History of Anarchism. โกลกาตา: World Press.
  5. Bakunin, Mikhail (1953). "Stateless Socialism: Anarchism". ใน Maximoff, G. P. (บ.ก.). The Political Philosophy of Bakunin (PDF). นครนิวยอร์ก: The Free Press. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 11 ตุลาคม 2021. สืบค้นเมื่อ 15 ตุลาคม 2021.
  6. McKay et al. 2009, p. 2103: "Socialism, anarchists argue, can only mean a classless and anti-authoritarian (i.e. libertarian) society in which people manage their own affairs,"
  7. 7.0 7.1 Long 2012, p. 223: "In the meantime, anarchist theories of a more communist or collectivist character had been developing as well. One important pioneer is French anarcho-communists Joseph Déjacque (1821–1864), who [...] appears to have been the first thinker to adopt the term 'libertarian' for this position; hence 'libertarianism' initially denoted a communist rather than a free-market ideology."
  8. 8.0 8.1 8.2 8.3 8.4 Long 1998, p. 305: "LibSocs share with LibCaps an aversion to any interference with freedom of thought, expression, or choice of lifestyle. [...] Rather, LibSocs see capitalist property relations as a form of domination, and thus as antagonistic to freedom. Yet, unlike other socialists, they tend (to various different degrees, depending on the thinker) to be skeptical of centralized state intervention as the solution to capitalist exploitation, preferring a system of popular self governance via networks of decentralized, local, voluntary, participatory, cooperative associations-sometimes as a complement to and check on state power [...]."
  9. 9.0 9.1 Diemer 1977: "What is implied by the term 'libertarian socialism'?:
    • The idea that socialism is first and foremost about freedom and therefore about overcoming the domination, repression, and alienation that block the free flow of human creativity, thought, and action. We do not equate socialism with planning, state control, or nationalization of industry, although we understand that in a socialist society (not "under" socialism) economic activity will be collectively controlled, managed, planned, and owned. [...] We think that socialism is incompatible with one-party states, with constraints on freedom of speech, with an elite exercising power 'on behalf of' the people, with leader cults, with any of the other devices by which the dying society seeks to portray itself as the new society.
    • An approach to socialism that incorporates cultural revolution, women's and children's liberation, and the critique and transformation of daily life, as well as the more traditional concerns of socialist politics. A politics that is completely revolutionary because it seeks to transform all of reality. [...] Capitalism is a total system that invades all areas of life: socialism must be the overcoming of capitalist reality in its entirety, or it is nothing."
  10. McKay et al. 2009, p. 2105: "Therefore, rather than being an oxymoron, “libertarian socialism” indicates that true socialism must be libertarian and that a libertarian who is not a socialist is a phoney. As true socialists oppose wage labour, they must also oppose the state for the same reasons."
  11. 11.0 11.1 McKay et al. 2009, p. 2106: "So, libertarian socialism rejects the idea of state ownership and control of the economy, along with the state as such. Through workers’ self-management it proposes to bring an end to authority, exploitation, and hierarchy in production."
  12. 12.0 12.1 Kinna & Prichard 2012, p. 13: "Their analysis treats libertarian socialism as a form of anti-parliamentary, democratic, antibureaucratic grass roots socialist organisation, strongly linked to working class activism. Locating libertarian socialism in a grey area between anarchist and Marxist extremes, they argue that the multiple experiences of historical convergence remain inspirational and that, through these examples, the hope of socialist transformation survives."
  13. Masquelier 2014, p. 189 harvnb error: multiple targets (2×): CITEREFMasquelier2014 (help): "What is of particular interest here, however, is the appeal to a form of emancipation grounded in decentralized, cooperative and democratic forms of political and economic governance which most libertarian socialist visions, including Cole's, tend to share."
  14. Bookchin, Murray; Biehl, Janet (1997). The Murray Bookchin Reader. Cassell. p. 170. ISBN 0304338737.
  15. Hicks, Steven V.; Shannon, Daniel E. (2003). The American Journal of Economics and Sociology. Blackwell Publisher. p. 612.
  16. 16.0 16.1 Marshall, Peter (2009) [1991]. Demanding the Impossible: A History of Anarchism (POLS ed.). โอ๊กแลนด์ รัฐแคลิฟอร์เนีย: PM Press. p. 641. ISBN 9781604860641. Left libertarianism can therefore range from the decentralist who wishes to limit and devolve State power, to the syndicalist who wants to abolish it altogether. It can even encompass the Fabians and the social democrats who wish to socialize the economy but who still see a limited role for the State.
  17. 17.0 17.1 17.2 Chomsky, Noam (1 กุมภาพันธ์ 1970). Government in the Future (PDF). นครนิวยอร์ก: The Poetry Center. สืบค้นเมื่อ 16 ตุลาคม 2021.
  18. 18.0 18.1 18.2 Wright, Chris (27 ตุลาคม 2005). "A libertarian Marxist tendency map". Libcom.org. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 3 สิงหาคม 2021. สืบค้นเมื่อ 19 ตุลาคม 2021.
  19. 19.0 19.1 Cabrita, MJ (16 กันยายน 2013) [2009]. "MENDES, Manuel da Silva, Socialismo Libertário ou Anarchismo". Cultura [Online] (ภาษาโปรตุเกส). 26: 307–310. doi:10.4000/cultura.575. สืบค้นเมื่อ 19 ตุลาคม 2021.
  20. 20.0 20.1 Leval, Gaston (1959), Libertarian socialism: a practical outline, สืบค้นเมื่อ 19 ตุลาคม 2021, We therefore foresee a Society in which all activities will be coordinated, a structure that has, at the same time, sufficient flexibility to permit the greatest possible autonomy for social life, or for the life of each enterprise, and enough cohesiveness to prevent all disorder. [...] In a well-organized society, all of these things must be systematically accomplished by means of parallel federations, vertically united at the highest levels, constituting one vast organism in which all economic functions will be performed in solidarity with all others and that will permanently preserve the necessary cohesion.
  21. Rocker 2004
  22. Chomsky, Noam (1986). "The Soviet Union Versus Socialism". Chomsky.info. สืบค้นเมื่อ 22 November 2015. Libertarian socialism, furthermore, does not limit its aims to democratic control by producers over production, but seeks to abolish all forms of domination and hierarchy in every aspect of social and personal life, an unending struggle, since progress in achieving a more just society will lead to new insight and understanding of forms of oppression that may be concealed in traditional practice and consciousness.
  23. McLaughlin, Paul (2007). Anarchism and Authority: A Philosophical Introduction to Classical Anarchism. AshGate. p. 1. ISBN 9780754661962. Authority is defined in terms of the right to exercise social control (as explored in the "sociology of power") and the correlative duty to obey (as explored in the "philosophy of practical reason"). Anarchism is distinguished, philosophically, by its scepticism towards such moral relations – by its questioning of the claims made for such normative power – and, practically, by its challenge to those "authoritative" powers which cannot justify their claims and which are therefore deemed illegitimate or without moral foundation.
  24. "Principles of The International of Anarchist Federations". International of Anarchist Federations. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 5 January 2012. สืบค้นเมื่อ 17 December 2012. The IAF – IFA fights for: the abolition of all forms of authority whether economical, political, social, religious, cultural or sexual.
  25. Goldman 1910, p. 7, Anarchism: What It Really Stands For: "Anarchism, then, really stands for the liberation of the human mind from the dominion of religion; the liberation of the human body from the dominion of property; liberation from the shackles and restraint of government. Anarchism stands for a social order based on the free grouping of individuals for the purpose of producing real social wealth; an order that will guarantee to every human being free access to the earth and full enjoyment of the necessities of life, according to individual desires, tastes, and inclinations."
  26. Tucker 1926, Sociology: "They found that they must turn either to the right or to the left, – follow either the path of Authority or the path of Liberty. Marx went one way; Warren and Proudhon the other. Thus were born State Socialism and Anarchism. [...] Authority, takes many shapes, but, broadly speaking, her enemies divide themselves into three classes: first, those who abhor her both as a means and as an end of progress, opposing her openly, avowedly, sincerely, consistently, universally; second, those who profess to believe in her as a means of progress, but who accept her only so far as they think she will subserve their own selfish interests, denying her and her blessings to the rest of the world; third, those who distrust her as a means of progress, believing in her only as an end to be obtained by first trampling upon, violating, and outraging her. These three phases of opposition to Liberty are met in almost every sphere of thought and human activity. Good representatives of the first are seen in the Catholic Church and the Russian autocracy; of the second, in the Protestant Church and the Manchester school of politics and political economy; of the third, in the atheism of Gambetta and the socialism of Karl Marx."
  27. Brown 2002, p. 106
  28. 28.0 28.1 O'Neil, John (1998). The Market: Ethics, Knowledge, and Politics. Routledge. p. 3. ISBN 9780415098274. It is forgotten that the early defenders of commercial society like [Adam] Smith were as much concerned with criticising the associational blocks to mobile labour represented by guilds as they were to the activities of the state. The history of socialist thought includes a long associational and anti-statist tradition prior to the political victory of the Bolshevism in the east and varieties of Fabianism in the west.
  29. El-Ojeili 2015, p. 8
  30. Ackelsberg, Martha A. (2005). "Anarchist Revolution and the Liberation of Women". Free Women of Spain: Anarchism and the Struggle for the Emancipation of Women. AK Press. p. 41. ISBN 9781902593968.
  31. Brooks 1994, p. 74.
  32. Macdonald, Dwight (1995) [1946]. The Root Is Man. บรุกลิน นครนิวยอร์ก: Autonomedia. By 'socialism' I mean a classless society in which the State has disappeared, production is cooperative, and no man has political or economic power over another. The touchstone would be the extent to which each individual could develop his own talents and personality.
  33. 33.0 33.1 The Anarchist FAQ Editorial Collective (2008). "150 years of Libertarian". Freedom. 69 (23–4).
  34. Graham, Robert (23 มิถุนายน 2015). We Do Not Fear Anarchy—We Invoke It: The First International and the Origins of the Anarchist Movement. AK Press. p. 8. ISBN 9781849352116.
  35. 35.0 35.1 Long 2012, p. 227: "In its oldest sense, it is a synonym either for anarchism in general or social anarchism in particular. Later it became a term for the left or Konkinite wing of the free-market libertarian movement, and has since come to cover a range of pro-market but anti-capitalist positions, mostly individualist anarchist, including agorism and mutualism, often with an implication of sympathies (such as for radical feminism or the labor movement) not usually shared by anarcho-capitalists. In a third sense it has recently come to be applied to a position combining individual self-ownership with an egalitarian approach to natural resources; most proponents of this position are not anarchists".
  36. Perlin, Terry M. (1979). Contemporary Anarchism. Transaction Publishers. p. 40. ISBN 978-0-87855-097-5.
  37. Franks, Benjamin (สิงหาคม 2013). Freeden, Michael; Stears, Marc (บ.ก.). "Anarchism". The Oxford Handbook of Political Ideologies. Oxford University Press: 385–404. doi:10.1093/oxfordhb/9780199585977.013.0001.
  38. Wood, Ellen Meiksins (1972). Mind and Politics: An Approach to the Meaning of Liberal and Socialist Individualism. University of California Press. p. 7. ISBN 9780520332478.
  39. Bookchin, Murray (1987). "An Appeal for Social and Ecological Sanity" (PDF). The Modern Crisis. Black Rose Books. pp. 154–155. ISBN 9780920057612. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 28 มิถุนายน 2019.
  40. Chomsky 1970a: "[...] must oppose private ownership of the means of production and the wage slavery which is a component of this system, as incompatible with the principle that labor must be freely undertaken and under the control of the producer."
  41. 41.0 41.1 Carlson, Jennifer D. (2012). "Libertarianism". ใน Miller, Wilburn R. (บ.ก.). The Social History of Crime and Punishment in America. ลอนดอน: SAGE. p. 1006. ISBN 9781412988766. There exist three major camps in libertarian thought: right-libertarianism, socialist libertarianism, and left-libertarianism; the extent to which these represent distinct ideologies as opposed to variations on a theme is contested by scholars. [...] [S]ocialist libertarians view any concentration of power into the hands of a few (whether politically or economically) as antithetical to freedom and thus advocate for the simultaneous abolition of both government and capitalism.
  42. Long 1998, p. 306
  43. Turcato, Davide (2012). "Patient Work in the Light of Day". Making Sense of Anarchism: Errico Malatesta's Experiments with Revolution. Palgrave Macmillan. p. 137. ISBN 9780230301795. Malatesta proclaimed the socialist character of anarchism and urged anarchists to regain contact with the working masses, especially through involvement in the labor movement.
  44. Rothenberg, Mel (1995). "Lenin on the State". Science & Society. 59 (3): 418–436. ISSN 0036-8237.
  45. Kinna & Prichard 2012, p. 2: "[...] and the anarchist rejection of the idea that the transition from capitalism to socialism requires a period of transition in which state power is captured and used as an instrument of change, before ‘withering away’."
  46. Sims, Franwa (2006). The Anacostia Diaries As It Is. Lulu Press. p. 160.
  47. McKay et al. 2009, p. 1549: "(Benjamin) Tucker referred to himself many times as a socialist and considered his philosophy to be 'Anarchistic socialism.'"
  48. Armand, Émile (1907), Anarchist Individualism as a Life and Activity, คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2021, สืบค้นเมื่อ 19 ตุลาคม 2021, inwardly he remains refractory – fatally refractory – morally, intellectually, economically (The capitalist economy and the directed economy, the speculators and the fabricators of single are equally repugnant to him.)
  49. 49.0 49.1 Sabatini, Peter (1994–1995), Libertarianism: Bogus Anarchy, คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-10-28, สืบค้นเมื่อ 2021-10-19, of early to mid-19th century, there appeared an array of communal and "utopian" counterculture groups (including the so-called free love movement). William Godwin's anarchism exerted an ideological influence on some of this, but more so the socialism of Robert Owen and Charles Fourier. After success of his British venture, Owen himself established a cooperative community within the United States at New Harmony, Indiana during 1825. One member of this commune was Josiah Warren (1798–1874), considered to be the first individualist anarchist.{{citation}}: CS1 maint: date format (ลิงก์)
  50. 50.0 50.1 Chartier & Johnson 2011, ปกหลัง: "It introduces an eye-opening approach to radical social thought, rooted equally in libertarian socialism and market anarchism."
  51. "A Mutualist FAQ: A.4. Are Mutualists Socialists?". Mutualist.org. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 9 มิถุนายน 2009. สืบค้นเมื่อ 19 ตุลาคม 2021.
  52. Masquelier 2014, p. 190 harvnb error: multiple targets (2×): CITEREFMasquelier2014 (help): "It is by meeting such a twofold requirement that the libertarian socialism of G.D.H. Cole could be said to offer timely and sustainable avenues for the institutionalization of the liberal value of autonomy [...]."
  53. Boraman 2012, p. 268: "Councilism and anarchism loosely merged into 'libertarian socialism', offering a non-dogmatic path by which both council communism and anarchism could be updated for the changed conditions of the time, and for the new forms of proletarian resistance to these new conditions."
  54. 54.0 54.1 Bookchin, Murray (1992). The Ghost of Anarcho-Syndicalism.
  55. 55.0 55.1 Graham, Robert, The General Idea of Proudhon’s Revolution, สืบค้นเมื่อ 19 ตุลาคม 2021
  56. 56.0 56.1 56.2 Bromley, Kent (1906). "Preface". ใน Kropotkin, Peter (บ.ก.). The Conquest of Bread. นครนิวยอร์กและลอนดอน: G. P. Putnam's Sons.
  57. Hahnel 2005, p. 138
  58. 58.0 58.1 Draper, Hal (17 มีนาคม 1971). "The Principle of Self-Emancipation in Marx and Engels". The Socialist Register. Monthly Review Press. 4: 81–109. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 25 พฤษภาคม 2021. สืบค้นเมื่อ 5 มกราคม 2019.{{cite journal}}: CS1 maint: date and year (ลิงก์)
  59. 59.0 59.1 Screpanti, Ernesto (1 กรกฎาคม 2007). Libertarian Communism: Marx, Engels and the Political Economy of Freedom. ลอนดอน: Palgrave Macmillan. doi:10.1057/9780230596474. ISBN 9780230018969.{{cite book}}: CS1 maint: date and year (ลิงก์)
  60. 60.0 60.1 60.2 Gorter, Herman; Pannekoek, Anton; Pankhurst, Sylvia (31 ตุลาคม 2007). Non-Leninist Marxism: Writings on the Workers Councils. เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก รัฐฟลอริดา: Red and Black Publishers. ISBN 9780979181368.{{cite book}}: CS1 maint: date and year (ลิงก์)
  61. Dupuis-Déri, Francis (2008). "Herbert Marcuse altermondialiste ?" (PDF). Variations (ภาษาฝรั่งเศส). 11: 62–81. doi:10.4000/variations.265. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 26 พฤศจิกายน 2015. สืบค้นเมื่อ 29 ตุลาคม 2021 – โดยทาง OpenEdition.
  62. Purkis, Jonathan; Bowen, James (2004). Changing Anarchism. Manchester University Press. pp. 165, 179. doi:10.9760/mupoa/9780719066948. ISBN 9780719066948.
  63. Allsopp, Harriet; van Wilgenburg, Wladimir (2019). "Identity and Representation II: The Democratic Autonomy Project". The Kurds of Northern Syria. Volume 2: Governance, Diversity and Conflicts. ลอนดอน; นครนิวยอร์ก; ฯลฯ: I.B. Tauris. pp. 156–163. doi:10.5040/9781788315944.0013. ISBN 9781838604455.
  64. Graeber, David (2004). Fragments of an anarchist anthropology (PDF) (2nd pr. ed.). Chicago: Prickly Paradigm Press. pp. 22–23, 26–29. ISBN 9780972819640. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2020-09-03.
  65. 65.0 65.1 Chomsky 2004, p. 775
  66. Brown 2002, p. 117
  67. Vrousalis, N. (2011). "Libertarian Socialism: A Better Reconciliation between Equality and Self-Ownership". Social Theory and Practice. Florida State University Department of Philosophy. 37 (2): 211–226. ISSN 0037-802X – โดยทาง JSTOR.
  68. Poulet, C. (2013). "Édouard Jourdain, L'anarchisme". Les comptes rendus. Lectures [En ligne]. Liens Socio. doi:10.4000/lectures.10613. eISSN 2116-5289. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2021. สืบค้นเมื่อ 9 พฤศจิกายน 2021 – โดยทาง OpenEdition. Le socialisme libertaire, enfin, incarné par Fournière et Malon, refuse à la fois l’économie marxiste et l’économisme libéral, la propriété coopérative permettant le développement des individualités.
  69. Ellerman 1992, p. 63
  70. "wage slave". merriam-webster.com. สืบค้นเมื่อ 4 มีนาคม 2013.
  71. "wage slave". dictionary.com. สืบค้นเมื่อ 4 มีนาคม 2013.
  72. Sandel 1996, p. 184
  73. "Conversation with Noam Chomsky". Globetrotter.berkeley.edu. p. 2. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-05-31. สืบค้นเมื่อ 28 มิถุนายน 2010.
  74. Hallgrimsdottir & Benoit 2007
  75. "The Bolsheviks and Workers Control, 1917–1921: The State and Counter-revolution". Spunk Library. สืบค้นเมื่อ 4 มีนาคม 2013.
  76. Marchart, Oliver (2006). "CASTORIADIS, CORNELIUS (1922–1997)" (PDF). ใน Harrington, Austin; Marshall, Barbara L.; Müller, Hans-Peter (บ.ก.). Encyclopedia of Social Theory. Routledge. p. 50. ISBN 9780415290463. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 17 พฤศจิกายน 2021. สืบค้นเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2021.
  77. Proudhon 1890
  78. Marx 1969, Chapter VII
  79. Goldman 2003a, p. 283
  80. Lindemann, Albert S. (1984). A History of European Socialism. Yale University Press. p. 160. ISBN 9780300032468.
  81. Ely, Richard T.; Orth, Samuel Peter; King, Willford Isbell (1914). Property and contract in their relations to the distribution of wealth. นครนิวยอร์ก: The Macmillan Company. OCLC 794346.
  82. El-Ojeili 2015, p. 12
  83. Andrew, Ed (1999). Closing the Iron Cage: The Scientific Management of Work and Leisure. Black Rose Books. pp. 116. ISBN 9781551641294.
  84. Bookchin, Murray (1995). Social Anarchism Or Lifestyle Anarchism: An Unbridgeable Chasm. AK Press. pp. 71–72. ISBN 9781873176832.
  85. Rocker, Rudolf (1956). The London Years (PDF). Robert Anscombe & Company for the Rudolf Rocker Book Committee.
  86. Hain, Peter (2000). Rediscovering our libertarian roots. Chartist. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 21 มิถุนายน 2013. สืบค้นเมื่อ 24 ธันวาคม 2021.
  87. "Chomsky Replies to Multiple Questions About Anarchism". Z Magazine. ZCommunications. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 29 กันยายน 2007. สืบค้นเมื่อ 19 สิงหาคม 2011.
  88. Bookchin 1998
  89. Polenberg, Richard (1999). Fighting Faiths: The Abrams Case, the Supreme Court, and Free Speech. Cornell University Press. pp. 127–130. ISBN 9780801486180.
  90. "The Communist Left in the Third International". www.marxists.org. สืบค้นเมื่อ 29 ธันวาคม 2021.
  91. El-Ojeili 2015, pp. 8–9: "it is frequently to forms of working-class or popular self-organization that Left communists look in answer to the questions of the struggle for socialism, revolution and post-capitalist social organization. Nevertheless, Left communists have often continued to organize themselves into party-like structures that undertake agitation, propaganda, education and other forms of political intervention. This is a vexed issue across Left communism and has resulted in a number of significant variations – from the absolute rejection of separate parties in favour of mere study or affinity groups, to the critique of the naivety of pure spontaneism and an insistence on the necessary, though often modest, role of disciplined, self-critical and popularly connected communist organizations."
  92. McKay et al. 2009, p. 58
  93. Boston Anarchist Drinking Brigade (1993). "An Anarchist Defense of Pornography". Anarchy: A Journal of Desire Armed. CAL Press (35). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 28 ตุลาคม 2021. สืบค้นเมื่อ 11 ตุลาคม 2013 – โดยทาง The Anarchist Library.
  94. Anarchist Federation (18 ธันวาคม 2002). "Interview with an anarchist dominatrix" (PDF). Organise! (Interview) (59): 7–9. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 27 กันยายน 2020. สืบค้นเมื่อ 2 มกราคม 2022.
  95. Dunbar-Ortiz, Roxanne, บ.ก. (2002). Quiet Rumours: An Anarcha-Feminist Reader. Dark Star. p. 9. ISBN 9781902593401.
  96. Molyneux, Maxine (1986). "No God, No Boss, No Husband: Anarchist Feminism in Nineteenth-Century Argentina" (PDF). Latin American Perspectives. Sage Publications, Inc. 13 (1, Latin America's Nineteenth-Century): 119–145. JSTOR 2633723. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 8 มีนาคม 2021. สืบค้นเมื่อ 5 มกราคม 2022 – โดยทาง Libcom.org.
  97. Goldman, Emma (1982). "Marriage and Love". ใน Shulman, Alix Kates (บ.ก.). Red Emma Speaks: An Emma Goldman Reader (PDF) (3rd ed.). นิวยอร์ก: Humanity Book. pp. 204–213. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 10 สิงหาคม 2021 – โดยทาง Libcom.org.
  98. 98.0 98.1 McElroy 1996: "The 19th century Free Love movement sought to separate the state from sexual matters such as marriage, birth control, and adultery. [...] Free love advocates, who sometimes traced their roots back to Josiah Warren and to experimental communities, viewed sexual freedom as a clear, direct expression of an individual's self-ownership. Free love particularly stressed women's rights since most sexual laws discriminated against women: for example, marriage laws and anti-birth control measures."
  99. Walter, Nicolas (1991). "Anarchism and Religion". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 26 ตุลาคม 2021. สืบค้นเมื่อ 6 มกราคม 2022 – โดยทาง The Anarchist Library.
  100. "Freethinker – Definition and More from the Free Merriam-Webster Dictionary". Merriam-webster.com. 31 August 2012. สืบค้นเมื่อ 12 July 2013.
  101. "Free thought". Dictionary.reference.com. สืบค้นเมื่อ 12 July 2013.
  102. McElroy 1981, p. 295: "[...] free thought was a basically anti-Christian, anti-clerical movement whose purpose was to make the individual politically and spiritually free to decide for himself on religious matters. A number of contributors to Liberty were prominent figures in both free thought and anarchism. The American individualist anarchist George MacDonald was a co-editor of Freethought and, for a time, The Truth Seeker. E.C. Walker was co-editor of the freethought/free love periodical, Lucifer, the Light-Bearer."
  103. Goldman 2003b, p. 551: "Free Society was the principal English-language forum for anarchist ideas in the United States at the beginning of the twentieth century."
  104. Moran, Jessica M. (2004). "The Firebrand and the Forging of a New Anarchism: Anarchist Communism and Free Love". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 6 มิถุนายน 2011.
  105. Fidler, Geoffrey C. (1985). "The Escuela Moderna Movement of Francisco Ferrer: "Por la Verdad y la Justicia". History of Education Quarterly. History of Education Society. 25 (1/2): 103–132. doi:10.2307/368893. JSTOR 368893.
  106. Bookchin 1998, pp. 128–132
  107. Reich, Wilhelm (1945). Wolfe, Theodore P. (บ.ก.). The Sexual Revolution. นครนิวยอร์ก: Orgone Institute Press – โดยทาง archive.org.
  108. Danto, Elizabeth Ann (2007) [2005]. Freud's Free Clinics: Psychoanalysis & Social Justice, 1918-1938. Columbia University Press. pp. 118–120, 137, 198, 208.
  109. Comfort, Alex (1972). The Joy of Sex. Crown.
  110. Comfort, Alex (1973). More Joy of Sex: A Lovemaking Companion to The Joy of Sex. Crown.
  111. Malatesta, Errico (6 กันยายน 1921). Carloff, Andy (บ.ก.). "The Revolutionary "Haste"". Umanità Nova. No. 125. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 12 สิงหาคม 2021. สืบค้นเมื่อ 9 มกราคม 2022 – โดยทาง marxists.org. It is our aspiration and our aim that everyone should become socially conscious and effective; but to achieve this end, it is necessary to provide all with the means of life and for development, and it is therefore necessary to destroy with violence, since one cannot do otherwise, the violence which denies these means to the workers.
  112. Goldman 1910, p. 113
  113. 113.0 113.1 113.2 Ostergaard 1982
  114. Woodcock 1962
  115. Woodcock 1962, p. 21: "Finally, somewhat aside from the curve that runs from anarchist individualism to anarcho-syndicalism, we come to Tolstoyanism and to pacifist anarchism that appeared, mostly in Holland, Britain, and the United states, before and after the Second World War."
  116. Woodcock 1962, pp. 21–22 "The pacifist anarchists have accepted the principle of resistance and even revolutionary action, provided it does not incur violence, which they see as a form of power and therefore nonanarchist in nature. This change in attitude has led the pacifist anarchists to veer toward the anarchosyndicalists, since the latter's concept of the general strike as the great revolutionary weapon made an appeal to those pacifists who accepted the need for fundamental social change but did not wish to compromise their ideal by the use of negative (i.e., violent) means."
  117. 117.0 117.1 Pepper 1996, p. 44
  118. 118.0 118.1 Adams 2001, p. 130
  119. 119.0 119.1 119.2 119.3 Díez 2006, p. 32: "Su obra más representativa es Walden, aparecida en 1854, aunque redactada entre 1845 y 1847, cuando Thoreau decide instalarse en el aislamiento de una cabaña en el bosque, y vivir en íntimo contacto con la naturaleza, en una vida de soledad y sobriedad. De esta experiencia, su filosofía trata de transmitirnos la idea que resulta necesario un retorno respetuoso a la naturaleza, y que la felicidad es sobre todo fruto de la riqueza interior y de la armonía de los individuos con el entorno natural. Muchos han visto en Thoreau a uno de los precursores del ecologismo y del anarquismo primitivista representado en la actualidad por John Zerzan. Para George Woodcock, esta actitud puede estar también motivada por una cierta idea de resistencia al progreso y de rechazo al materialismo creciente que caracteriza la sociedad norteamericana de mediados de siglo XIX."
  120. 120.0 120.1 120.2 120.3 120.4 120.5 Roselló, Josep Maria. "El Naturismo Libertario (1890–1939)" (PDF) (ภาษาสเปน). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2 มกราคม 2016.
  121. 121.0 121.1 "The pioneers". Natustar.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 25 ตุลาคม 2012. สืบค้นเมื่อ 12 ตุลาคม 2013.
  122. 122.0 122.1 McKay et al. 2009, pp. 155–160
  123. 123.0 123.1 123.2 Ortega, Carlos (2003). "Anarquismo – nudismo, naturism". Las Revistas ADN (ภาษาสเปน). Asociación para el Desarrollo del Naturismo de la Comunidad de Madrid. ฤดูหนาว. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2013. สืบค้นเมื่อ 23 มกราคม 2022. La relación entre el anarquismo y las corrientes naturistas siempre ha estado presente a lo largo del tiempo.
  124. 124.0 124.1 "El movimiento libertario en Italia". Bicicleta. REVISTA DE COMUNICACIONES LIBERTARIAS (ภาษาสเปน). 1 (1). 1 พฤศจิกายน 1977. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 12 ตุลาคม 2013. Los anarco-individualistas, G.I.A...Una escisión de la FAI producida en el IX Congreso (Carrara, 1965) se pr odujo cuando un sector de anarquistas de tendencia humanista rechazan la interpretación que ellos juzgan disciplinaria del "pacto asociativo" clásico, y crean los GIA (Gruppi di Iniziativa Anarchica). Esta pequeña federación de grupos, hoy nutrida sobre todo de veteranos anarco-individualistas de orientación pacifista, naturista, etcétera defiende la autonomía personal y rechaza a rajatabla toda forma de intervención en los procesos del sistema, como sería por ejemplo el sindicalismo. Su portavoz es L'Internazionale con sede en Ancona. La escisión de los GIA prefiguraba, en sentido contrario, el gran debate que pronto había de comenzar en el seno del movimiento
  125. 125.0 125.1 Díez 2006, p. 41: "Proliferarán así diversos grupos que practicarán el excursionismo, el naturismo, el nudismo, la emancipación sexual o el esperantismo, alrededor de asociaciones informales vinculadas de una manera o de otra al anarquismo. Precisamente las limitaciones a las asociaciones obreras impuestas desde la legislación especial de la Dictadura potenciarán indirectamente esta especie de asociacionismo informal en que confluirá el movimiento anarquista con esta heterogeneidad de prácticas y tendencias. Uno de los grupos más destacados, que será el impulsor de la revista individualista Ética será el Ateneo Naturista Ecléctico, con sede en Barcelona, con sus diferentes secciones la más destacada de las cuales será el grupo excursionista Sol y Vida."
  126. 126.0 126.1 Ytak, Cathy. "Anarchisme et naturisme, aujourd'hui" (ภาษาฝรั่งเศส). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2009. Les anarchistes individualistes du début du siècle l'avaient bien compris, et intégraient le naturisme dans leurs préoccupations. Il est vraiment dommage que ce discours se soit peu à peu effacé, d'antan plus que nous assistons, en ce moment, à un retour en force du puritanisme (conservateur par essence).
  127. 127.0 127.1 Shaffer, Kirwin R. (2005). "Introduction". Anarchism and countercultural politics in early twentieth-century Cuba. University Press of Florida. ISBN 0813027918. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 12 ตุลาคม 2013. สืบค้นเมื่อ 11 ตุลาคม 2013 – โดยทาง Raforum.info.
  128. 128.0 128.1 Ytak, Cathy. "Recension des articles de l'En-Dehors consacrés au naturisme et au nudisme" (ภาษาฝรั่งเศส). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 14 ตุลาคม 2008.
  129. 129.0 129.1 129.2 129.3 Díez 2006
  130. 130.0 130.1 Phillips, Terry. "Nudism - The Radical Tradition". radical.org.uk. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 11 กันยายน 2012. สืบค้นเมื่อ 26 มกราคม 2022. In many of the alternative communities established in Britain in the early 1900s, nudism, anarchism, vegetarianism and free love were accepted as part of a politically radical way of life. In the 1920s the inhabitants of the anarchist community at Whiteway, near Stroud in Gloucestershire, shocked the conservative residents of the area with their shameless nudity.
  131. 131.0 131.1 McKay et al. 2009, p. 156: "While almost all forms of modern anarchism consider themselves to have an ecological dimension, the specifically eco-anarchist thread within anarchism has two main focal points, Social Ecology and “primitivist”."
  132. "Our Aims". Democracynature.org. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2022.
  133. Fotopoulos, Takis (1999). "On a distorted view of the Inclusive Democracy project". Democracy & Nature. 5 (1). OCLC 818949437. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-06-13. สืบค้นเมื่อ 2022-02-07.
  134. "Society and Nature The International Journal of Political Ecology Vol. 2, No. 2 (1994)". Democracynature.org. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-05-12. สืบค้นเมื่อ 2022-02-07.
  135. Curtis, David Ames. "On the Bookchin/Biehl Resignations and the Creation of a New Liberatory Project". Cornelius Castoriadis Agora International Website. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 22 ตุลาคม 2021. สืบค้นเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2022. It was with sadness and a certain frustration that I read in Democracy and Nature (Vol. 3, No. 3, pp. 198-202) that Murray Bookchin and Janet Biehl have resigned from the D&N International Advisory Board, Murray complaining, among other things, that the journal has become too 'Castoriadian' in its orientation. The sadness stems from the fact that I found inherently appealing D&N's effort to examine what it considered the best of Bookchin and Castoriadis (1) so as to encourage the emergence of a 'new liberatory project.'
  136. 136.0 136.1 136.2 Long 1998, p. 310: "LibSocs and LibCaps can both claim the seventeenth-century English Levellers and the eighteenth-century French Encyclopedists among their ideological forebears [...]."
  137. Russell, M. (2004). "Anarchism and Christianity". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 19 พฤศจิกายน 2011. สืบค้นเมื่อ 9 เมษายน 2022. It was in these conditions of class struggle that, among a whole cluster of radical groups such as the Fifth Monarchy Men, the Levellers and the Ranters, there emerged perhaps the first real proto-anarchists, the Diggers, who like the classical 19th-century anarchists identified political and economic power and who believed that a social, rather than political revolution was necessary for the establishment of justice. Gerrard Winstanley, the Diggers' leader, made an identification with the word of God and the principle of reason, an equivalent philosophy to that found in Tolstoy's The Kingdom of God is Within You. In fact, it seems likely Tolstoy took much of his own inspiration from Winstanley: [...]. ที่ The Anarchist Library.
  138. Berneri, Marie L. (1941). "Utopias of the English Revolution". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2 ธันวาคม 2021. สืบค้นเมื่อ 9 เมษายน 2022. While the ideal commonwealth conceived by James Harrington tried to combine the existence of a powerful state with respect for the political rights of the citizens, Thomas Hobbes] and Gerrard Winstanley, for opposite reasons, denied the possibility of power being shared between the state and the people. [...] Before defining the government of a true Commonwealth Winstanley denounces the kingly government based on property and like Proudhon he believes that "property is theft": [...]
  139. 139.0 139.1 139.2 Woodcock, George (1967). "Anarchism". ใน Edwards, P. (บ.ก.). The Encyclopedia of Philosophy. Macmillan. ISBN 9780028949604. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 7 เมษายน 2022. สืบค้นเมื่อ 9 เมษายน 2022.
  140. Bookchin, Murray (1964). "Ecology and Revolutionary Thought". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2 ธันวาคม 2021. สืบค้นเมื่อ 9 เมษายน 2022. In the modern world, anarchism first appeared as a movement of the peasantry and yeomanry against declining feudal institutions. In Germany its foremost spokesman during the Peasant Wars was Thomas Muenzer. The concepts held by Muenzer and Winstanley were superbly attuned to the needs of their time – a historical period when the majority of the population lived in the countryside and when the most militant revolutionary forces came from an agrarian world. It would be painfully academic to argue whether Muenzer and Winstanley could have achieved their ideals. What is of real importance is that they spoke to their time; their anarchist concepts followed naturally from the rural society that furnished the bands of the peasant armies in Germany and the New Model in England.
  141. Rocker, Rudolf (1949). Pioneers of American Freedom: Origin of Liberal and Radical Thought in America. นิวยอร์ก: J. J. Lttle Ives & Ives Company. p. 13. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 10 เมษายน 2022. It was the great service of liberal thinkers like Jefferson and Paine that they recognized the natural limitations of every form of government. That is why they did not want to see the state become a terrestrial Providence which in its infallibility would make on its own every decision, thereby not only blocking the road to higher forms of social development, but also crippling the natural sense of responsibility of the people which is the essential condition for every prosperous society.
  142. Tucker 1926, p. 13: "The Anarchists are simply unterrified Jeffersonian Democrats. They believe that the best government is that which governs least," and that that which governs least is no government at all."
  143. Scott, James C. (2012). Two Cheers for Anarchism: Six Easy Pieces on Autonomy, Dignity, and Meaningful Work and Play. Princeton University Press. pp. 79–80. ISBN 9780691161037. At one end of an institutional continuum one can place the total institutions that routinely destroy the autonomy and initiative of their subjects. At the other end of this continuum lies, perhaps, some ideal version of Jeffersonian democracy composed of independent, self-reliant, self-respecting, landowning farmers, managers of their own small enterprises, answerable to themselves, free of debt, and more generally with no institutional reason for servility or deference. Such free-standing farmers, Jefferson thought, were the basis of a vigorous and independent public sphere where citizens could speak their mind without fear or favor. Somewhere in between these two poles lies the contemporary situation of most citizens of Western democracies: a relatively open public sphere but a quotidian institutional experience that is largely at cross purposes with the implicit assumptions behind this public sphere and encouraging and often rewarding caution, deference, servility, and conformity.
  144. Wenzer, Kenneth C. (1995). "Godwin's Place in the Anarchist Tradition — a Bicentennial Tribute". Social Anarchism (20). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2 ธันวาคม 2021.
  145. Sperlich, Wolfgang B. (2006). Noam Chomsky. Reaktion Books. p. 89. ISBN 9781861892690.
  146. McGilvray 2014, p. 189
  147. Barsky, Robert F. (1997). Noam Chomsky: A Life of Dissent. เคมบริดจ์ รัฐแมสซาชูเซตส์: MIT Press. p. 95. ISBN 9780262024181.
  148. McGilvray 2014, p. 199
  149. McGilvray 2014, p. 210
  150. McGilvray 2014, p. 200
  151. McGilvray 2014, pp. 197, 202
  152. McGilvray 2014, pp. 201–202
  153. 153.0 153.1 Graham 2005, p. 28
  154. 154.0 154.1 154.2 "Anarchism". In Our Time. BBC Radio 4. 7 ธันวาคม 2006. สืบค้นเมื่อ 30 เมษายน 2012.
  155. Sheehan, Seán (2004). Anarchism. ลอนดอน: Reaktion Books. p. 85. ISBN 9781861891693.
  156. Bey, Hakim (1991). "The Lemonade Ocean & Modern Times". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 19 มีนาคม 2022. [...] but in the middle of the 19th century literally hundreds of communes (phalansteries) were founded on fourierist principles in France, N. America, Mexico, S. America, Algeria, Yugoslavia, etc. Proudhon, Engels, & Kropotkin all read him with fascination, as did André Breton & Roland Barthes. [...] In Fourier’s system of Harmony all creative activity including industry, craft, agriculture, etc. will arise from liberated passion — this is the famous theory of 'attractive labor.' Fourier sexualizes work itself — the life of the Phalanstery is a continual orgy of intense feeling, intellection, & activity, a society of lovers & wild enthusiasts.
  157. Marcuse, Herbert (1955). Eros and Civilization. บอสตัน, รัฐแมสซาชูเซตส์: Beacon Press. p. 218. ISBN 0807015555. comes closer than any other utopian socialist to elucidating the dependence of freedom on non-repressive sublimation
  158. Meltzer, Albert; Christie, Stuart (2010) [1970]. The Floodgates of Anarchy (2nd ed.). PM Press. p. 39. ISBN 9781604861051. [Anarchism] has its particular inheritance, part of which it shares with socialism, giving it a family resemblance to certain of its enemies. Another part of its inheritance it shares with liberalism, making it, at birth, kissing-cousins with American-type radical individualism, a large part of which has married out of the family into the Right Wing and is no longer on speaking terms.
  159. Proudhon, P.-J. (1851). "Sixth Study. Organization of Economic Forces. 3. Division of Labor, Collective Forces, Machines, Workingmen's Associations. ¶ 5.". General Idea of the Revolution in the Nineteenth Century. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 9 เมษายน 2022. [...] subordinated, exploited: his permanent condition is one of obedience [...]
  160. Déjacque, Joseph (1857). "De l'être-humain mâle et femelle-Lettre à P.J. Proudhon" (ภาษาฝรั่งเศส). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 16 มีนาคม 2022. สืบค้นเมื่อ 18 เมษายน 2022.
  161. McKay et al. 2009, p. 45-47
  162. Swartz, Clarence Lee (1927). What is Mutualism?. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 18 ธันวาคม 2021.
  163. Miller, D.; Coleman, J.; Connolly, W.; Ryan, A., บ.ก. (1987). "Ricardian socialism". The Blackwell encyclopaedia of political thought. Blackwell reference. ออกซฟอร์ด; นครนิวยอร์ก: B. Blackwell. p. 441. ISBN 9780631140115. OCLC 14931318.
  164. Ojeili 2001: "The consequences of the growth of parliamentary action, ministerialism, and party life, charged the anarchists, would be de-radicalism and embourgeoisiement. Further, state politics would subvert both true individuality and true community. In response, many anarchists refused Marxist-type organisation, seeking to dissolve or undermine power and hierarchy by way of loose political-cultural groupings, or by championing organisation by a single, simultaneously economic and political administrative unit (Ruhle, Syndicalism). The power of the intellectual and of science were also rejected by many anarchists: 'In conquering the state, in exalting the role of parties, they [intellectuals] reinforce the hierarchical principle embodied in political and administrative institutions'. Revolutions could only come through force of circumstances and/or the inherently rebellious instincts of the masses (the 'instinct for freedom') (Bakunin, Chomsky), or in Bakunin's words: 'All that individuals can do is to clarify, propagate, and work out ideas corresponding to the popular instinct'."
  165. Ojeili 2001: "One does find early expressions of such perspectives in [William] Morris and the Socialist Party of Great Britain (the SPGB), then again around the events of 1905, with the growing concern at the bureaucratisation and de-radicalisation of international socialism"
  166. Beer, Max. A History of British Socialism. Vol. 2. p. 256.
  167. Marx-Engels Collected Works: Volume 48 2001, p. 538, fn. 95.: "This conference endorses the policy of abstention from parliamentary action, hitherto pursued by the League, and sees no sufficient reason for altering it"
  168. Marx-Engels Collected Works: Volume 48 2001, p. 611, fn. 642.
  169. Ojeili 2001: "However, the most important ruptures are to be traced to the insurgency during and after the First World War. Disillusioned with the capitulation of the social democrats, excited by the emergence of workers’ councils, and slowly distanced from Leninism, many communists came to reject the claims of socialist parties and to put their faith instead in the masses. For these socialists, 'The intuition of the masses in action can have more genius in it than the work of the greatest individual genius'"
  170. Ojeili 2001: "Luxemburg’s workerism and spontaneism are exemplary of positions later taken up by the far-left of the period – Pannekoek, Roland Holst, and Gorter in Holland, Sylvia Pankhurst in Britain, Gramsci in Italy, Lukacs in Hungary. In these formulations, the dictatorship of the proletariat was to be the dictatorship of a class, 'not of a party or of a clique'."
  171. Ojeili 2001: "The tension between anti-vanguardism and vanguardism has frequently resolved itself in two diametrically opposed ways: the first involved a drift towards the party; the second saw a move towards the idea of complete proletarian spontaneity. The first course is exemplified most clearly in Gramsci and Lukacs. [...] The second course is illustrated in the tendency, developing from the Dutch and German far-lefts, which inclined towards the complete eradication of the party form."
  172. Carr, E. H. (1985). The Bolshevik Revolution 1917-1923. History of Soviet Russia. นครนิวยอร์ก: W.W. Norton. ISBN 9780393301991. OCLC 154578777.
  173. Avrich, Paul (กรกฎาคม 1968). "Russian Anarchists and the Civil War" (PDF). Russian Review. Blackwell Publishing. 27 (3): 296–306. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 25 มกราคม 2022.
  174. Ojeili 2001: "For many Marxian libertarian socialists, the political bankruptcy of socialist orthodoxy necessitated a theoretical break. This break took a number of forms. The Bordigists and the SPGB championed a super-Marxian intransigence in theoretical matters. Other socialists made a return 'behind Marx' to the anti-positivist programme of German idealism. Libertarian socialism has frequently linked its anti-authoritarian political aspirations with this theoretical differentiation from orthodoxy."
  175. Ojeili 2001: "Karl Korsch [...] remained a libertarian socialist for a large part of his life and because of the persistent urge towards theoretical openness in his work. Korsch rejected the eternal and static, and he was obsessed by the essential role of practice in a theory’s truth. For Korsch, no theory could escape history, not even Marxism. In this vein, Korsch even credited the stimulus for Marx’s Capital to the movement of the oppressed classes."
  176. Chomsky 1970a: "[...] that some form of council communism is the natural form of revolutionary socialism in an industrial society. It reflects the intuitive understanding that democracy is severely limited when the industrial system is controlled by any form of autocratic elite, whether of owners, managers and technocrats, a "vanguard" party, or a state bureaucracy."
  177. Castoriadis 1975, p. 133: "final disenchantment with Trotskyism"
  178. Castoriadis 1975, p. 134: "the main audience of the group and of the journal was formed by groups of the old, radical left: Bordigists, council communists, some anarchists and some offspring of the German 'left' of the 1920s"
  179. Brinton, Maurice (2004). Goodway, David (บ.ก.). For Workers' Power: the selected writings of Maurice Brinton. AK Press. ISBN 1904859070.
  180. ชาวนา (农民, หนงหมิน) เป็นคำทางการที่เรียกคนงานในคอมมูนประชาชน (people's commune) อิงตามฝ่ายซ้ายจัด ทั้งชาวนาและคนงานในเมืองร่วมกันประกอบเป็นชนชั้นกรรมาชีพที่ถูกแยกออกจากการควบคุมที่มีนัยสำคัญใด ๆ เหนือการผลิตหรือการกระจาย
  181. Yang, Xiguang (6 มกราคม 1968). "Whither China?". แปลโดย Office of the American Consulate General, Hong Kong. Sheng-wu-lien of Hunan. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 31 มีนาคม 2022.
  182. The 70s Collective, บ.ก. (1996). China: The Revolution is Dead, Long Live the Revolution. มอนทรีออล: Black Rose Books. ISBN 9780919618374.
  183. Guérin, Daniel (23 เมษายน 2011). "Libertarian Marxism?". RevoltLib.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-04-19. สืบค้นเมื่อ 11 ตุลาคม 2013. Libertarian marxism rejects determinism and fatalism, giving the greator place to individual will, intuition, imagination, reflex speeds, and to the deep instincts of the masses, which are more far-seeing in hours of crisis than the reasonings of the ‘elites’; libertarian marxism thinks of the effects of surprise, provocation and boldness, refuses to be cluttered and paralyzed by a heavy ‘scientific’ apparatus, doesn’t equivocate or bluff, and guards itself from adventurism as much as from fear of the unknown.
  184. "Root & Branch # 7". Libcom.org. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 21 เมษายน 2022. A Libertarian Marxist Journal
  185. "Socialist Party of Great Britain Archive Collection". Archives Hub. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 22 พฤศจิกายน 2021. papers relating to Libertarian Communism (a splinter group of the SPGB) including journals and miscellaneous correspondence, 1970-1980 (1 box);
  186. Boraman 2012, p. 263: "In New Zealand, no situationist group was formed, despite the attempts of Grant McDonagh. Instead, McDonagh operated as an individual on the periphery of the anarchist milieu, co-operating with anarchists to publish several magazines, such as Anarchy and KAT. The latter called itself ‘an anti-authoritarian spasmodical’ of the ‘libertarian ultra-left (situationists, anarchists and libertarian socialists)’."
  187. Cohn, Jesse (2009). "Anarchism". ใน Ness, Immanuel (บ.ก.). The International Encyclopedia of Revolution and Protest (ภาษาอังกฤษ). Oxford, UK: John Wiley & Sons, Ltd. p. 4. ISBN 9781405198073. from the 1890s on, the term 'libertarian socialism' has entered common use as a synonym for anarchism
  188. 188.0 188.1 188.2 Tandy, Francis D. (1896). Voluntary Socialism – โดยทาง The Anarchist Library.
    • —— (1896). "VI. Value and Surplus Value". Voluntary Socialism. ย่อหน้าที่ 9, 10. If an article suddenly acquires an increased utility, people will be willing to give articles which embody a great amount of labor in order to obtain the more useful article. So the producers of that article, will be able to reap a greater reward for their labor than the other members of the community. [...] If labor were the only factor in production, no one would be able to obtain anything which he did not produce, unless he exchanged it for some article which embodied an equal amount of labor, or received it as a free gift. [...]
    • —— (1896). "VI. Value and Surplus Value". Voluntary Socialism. ย่อหน้าที่ 15. the amount of labor necessary to produce an article of exactly similar and equal utility
    • —— (1896). "VI. Value and Surplus Value". Voluntary Socialism. ย่อหน้าที่ 19. [...]. It has been shown that rent, interest, taxes and profit are the elements which constitute the difference between the cost of acquisition and the labor value of commodities – the difference between the amount of labor embodied in a commodity, and the price demanded for it. They are spoken of collectively as usury, or surplus value. If this passed directly into the hands of the laborers, the evil would be immaterial. But it does not, and that is where the trouble lies, for it prevents the producers from buying back as much as they produce. It is difficult to understand the extent of this surplus value, until attention is drawn to the large fortunes of many millionaires. A very large proportion of the wealth of the country, is owned by a very small per cent. [...]
    • —— (1896). "VI. Value and Surplus Value". Voluntary Socialism. ย่อหน้าที่ 22. The abolition of surplus value simply means that the price of commodities must be limited by the labor-cost of production. In other words, that the product of an hour of A’s labor shall be able to purchase the product of an hour of B’s labor of equal intensity – no more and no less. [...]
  189. 189.0 189.1 Carson, Kevin (2007). "Chapter Two: A Subjective Recasting of the Labor Theory". Studies in Mutualist Political Economy. ISBN 1419658697 – โดยทาง The Anarchist Library.
  190. Beecher, Jonathan F. (2001). Victor Considerant and the Rise and Fall of French Romantic Socialism. University of California Press. p. 155. ISBN 9780520222977. emancipate labor from the constraints imposed by capital
  191. Swartz, Clarence Lee. "VI. Land and Rent". What is Mutualism?. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 ธันวาคม 2020.
  192. Woodcock 1962, p. 20
  193. 193.0 193.1 "Anarchism". สารานุกรมบริแทนนิกา. [d]uring the Spanish revolution of 1873, Pi y Margall attempted to establish a decentralized, or 'cantonalist,' political system on Proudhonian lines
  194. 194.0 194.1 194.2 Woodcock 1962, p. 357: "[t]hese translations were to have a profound and lasting effect on the development of Spanish anarchism after 1870, but before that time Proudhonian ideas, as interpreted by Pi, already provided much of the inspiration for the federalist movement which sprang up in the early 1860's"
  195. Bookchin, Murray. To Remember Spain: The Anarchist and Syndicalist Revolution of 1936 – โดยทาง The Anarchist Library. This process of education and class organization, more than any single factor in Spain, produced the collectives. And to the degree that the CNT-FAI (for the two organizations became fatally coupled after July 1936) exercised the major influence in an area, the collectives proved to be generally more durable, communist and resistant to Stalinist counterrevolution than other republican-held areas of Spain
  196. Ryner, Han. Mini-Manual of Individualism. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 17 ตุลาคม 2017. What do I mean by individualism? I mean by individualism the moral doctrine which, relying on no dogma, no tradition, no external determination, appeals only to the individual conscience.
  197. Tucker 1926, Anarchism and the State: "I do not admit anything except the existence of the individual, as a condition of his sovereignty. To say that the sovereignty of the individual is conditioned by Liberty is simply another way of saying that it is conditioned by itself."
  198. Galleani, Luigi (1925). The End of Anarchism?. สืบค้นเมื่อ 2 พฤษภาคม 2019 – โดยทาง The Anarchist Library.
  199. Malatesta, Errico (1924). "Note to the article "Individualism and Anarchism" by Adamas". Pensiero e Volontà (15). สืบค้นเมื่อ 2 พฤษภาคม 2019 – โดยทาง The Anarchist Library.
  200. McKay et al. 2009, p. 1377: "It was 'not Socialist Anarchism against Individualist Anarchism, but of Communist Socialism against Individualist Socialism.' [Tucker, Liberty, no. 129, p. 2]"
  201. Tucker, Benjamin (1893). Instead of a Book by a Man Too Busy to Write One. pp. 363–364. the fact that State Socialism has overshadowed other forms of Socialism gives it no right to a monopoly of the Socialistic idea.
  202. Palmer, Brian (29 ธันวาคม 2010). "What do anarchists want from us?". Slate.com.
  203. Bailie, William (1906). "Josiah Warren: The First American Anarchist – A Sociological Study" (PDF). Boston: Small, Maynard & Co. p. 20. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2012. สืบค้นเมื่อ 17 มิถุนายน 2013.
  204. Schuster, Eunice Minette. "Native American Anarchism: A Study of Left-Wing American Individualism". Againstallauthority.org. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2016. สืบค้นเมื่อ 11 ตุลาคม 2013. [i]t is apparent [...] that Proudhonian Anarchism was to be found in the United States at least as early as 1848 and that it was not conscious of its affinity to the Individualist Anarchism of Josiah Warren and Stephen Pearl Andrews [...]. William B. Greene presented this Proudhonian Mutualism in its purest and most systematic form.
  205. McKay et al. 2009, p. 2105: "[...] was against both the state and capitalism, against both oppression and exploitation. While not against the market and property he was firmly against capitalism as it was, in his eyes, a state-supported monopoly of social capital (tools, machinery, etc.) which allows owners to exploit their employees, i.e., to avoid paying workers the full value of their labour. He thought that the “labouring classes are deprived of their earnings by usury in its three forms, interest, rent and profit.” [quoted by James J. Martin, Men Against the State, p. 210f] Therefore “Liberty will abolish interest; it will abolish profit; it will abolish monopolistic rent; it will abolish taxation; it will abolish the exploitation of labour; it will abolish all means whereby any labourer can be deprived of any of his product.” [The Individualist Anarchists, p. 157]"
  206. Tucker 1926: "The economic principles of Modern Socialism are a logical deduction from the principle laid down by Adam Smith in the early chapters of his 'Wealth of Nations,' – namely, that labor is the true measure of price [...]. Half a century or more after Smith enunciated the principle above stated, Socialism picked it up where he had dropped it, and in following it to its logical conclusions, made it the basis of a new economic philosophy. This seems to have been done independently by three different men, of three different nationalities, in three different languages: Josiah Warren, an American; Pierre J. Proudhon, a Frenchman; Karl Marx, a German Jew. [...]. That the work of this interesting trio should have been done so nearly simultaneously would seem to indicate that Socialism was in the air, and that the time was ripe and the conditions favorable for the appearance of this new school of thought. So far as priority of time is concerned, the credit seems to belong to Warren, the American, – a fact which should be noted by the stump orators who are so fond of declaiming against Socialism as an imported article."
  207. Armand, Émile (March 1, 2002). "Anarchist Individualism as a Life and Activity". Spaz.org. สืบค้นเมื่อ October 11, 2013. inwardly he remains refractory – fatally refractory – morally, intellectually, economically (The capitalist economy and the directed economy, the speculators and the fabricators of single are equally repugnant to him.)
  208. Igualada 2012, p. 75: "[...] el capitalismo es sólo el efecto del gobierno; desaparecido el gobierno, el capitalismo cae de su pedestal vertiginosamente. [...]. Lo que llamamos capitalismo no es otra cosa que el producto del Estado, dentro del cual lo único que se cultiva es la ganancia, bien o mal habida. Luchar, pues, contra el capitalismo es tarea inútil, porque sea Capitalismo de Estado o Capitalismo de Empresa, mientras el Gobierno exista, existirá el capital que explota. La lucha, pero de conciencias, es contra el Estado."
  209. Igualada 2012, p. 65, 83: "El hincapié que sin cansancio debe hacer el anarquista es el de que nadie debe explotar a nadie, ningún hombre a ningún hombre, porque esa no-explotación llevaría consigo la limitación de la propiedad a las necesidades individuales. [...]. ¿La propiedad? ¡Bah! No es problema. Porque cuando nadie trabaje para nadie, el acaparador de la riqueza desaparece, como ha de desaparecer el gobierno cuando nadie haga caso a los que aprendieron cuatro cosas en las universidades y por ese sólo hecho pretenden gobernar a los hombres. Porque si en la tierra de los ciegos el tuerto es rey, en donde todos ven y juzgan y disciernen, el rey estorba. Y de lo que se trata es de que no haya reyes porque todos sean hombres. Las grandes empresas industriales las transformarán los hombres en grandes asociaciones donde todos trabajen y disfruten del producto de su trabajo. Y de esos tan sencillos como hermosos problemas trata el anarquismo y al que lo cumple y vive es al que se le llama anarquista."
  210. Woodcock 1962, p. 447: "The most ambitious contribution to literary anarchism during the 1890s was undoubtedly Oscar Wilde The Soul of Man Under Socialism. Wilde, as we have seen, declared himself an anarchist on at least one occasion during the 1890s, and he greatly admired Kropotkin, whom he had met. Later, in De Profundis, he described Kropotkin's life as one "of the most perfect lives I have come across in my own experience" and talked of him as "a man with a soul of that beautiful white Christ that seems coming out of Russia." But in The Soul of Man Under Socialism, which appeared in 1890, it is Godwin rather than Kropotkin whose influence seems dominant."
  211. Wilde 1891: "[a]rt is individualism, and individualism is a disturbing and disintegrating force. There lies its immense value. For what it seeks is to disturb monotony of type, slavery of custom, tyranny of habit, and the reduction of man to the level of a machine."
  212. Woodcock 1962, p. 447: "Wilde's aim in The Soul of Man Under Socialism is to seek the society most favorable to the artist [...] for Wilde art is the supreme end, containing within itself enlightenment and regeneration, to which all else in society must be subordinated. [...] Wilde represents the anarchist as aesthete"
  213. Wilde 1891: "Under Socialism all this will, of course, be altered. There will be no people living in fetid dens and fetid rags, and bringing up unhealthy, hungerpinched children in the midst of impossible and absolutely repulsive surroundings. [...]. Each member of the society will share in the general prosperity and happiness of the society [...]"
  214. Wilde 1891: "Upon the other hand, Socialism itself will be of value simply because it will lead to Individualism."
  215. Wilde 1891: "But it may be asked how Individualism [...] will benefit by the abolition of such private property. The answer is very simple. [...] Under the new conditions Individualism will be far freer, far finer, and far more intensified than it is now. [...]. For the recognition of private property has really harmed Individualism, and obscured it, by confusing a man with what he possesses. It has led Individualism entirely astray. [...] The true perfection of man lies not in what man has, but in what man is. Private property has crushed true Individualism, and set up an Individualism that is false."
  216. Wilde 1891: "Socialism [...] insure the material wellbeing of each member of the community. [...] But for the full development of Life to its highest mode of perfection, something more is needed. What is needed is Individualism. If the Socialism is Authoritarian; if there are Governments armed with economic power as they are now with political power; [...] then the last state of man will be worse than the first."
  217. Wilde 1891: "It is clear, then, that no Authoritarian Socialism will do. For while under the present system a very large number of people can lead lives of a certain amount of freedom and expression and happiness, under an industrial barrack system, or a system of economic tyranny, nobody would be able to have any such freedom at all. It is to be regretted that a portion of our community should be practically in slavery, but to propose to solve the problem by enslaving the entire community is childish."
  218. Wilde 1891: "Individualism generated under conditions of private property is not always [...] of a fine or wonderful type"
  219. Cleaver, Harry (8–14 ธันวาคม 1992). Kropotkin, Self-valorization And The Crisis Of Marxism. Conference on Pyotr Alexeevich Kropotkin on the 150th anniversary of his birth. มอสโก เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก และดิมิตรอฟ: Russian Academy of Science. Outside and against this process of turning of Marxism into an ideology of domination, however, were various revolutionary tendencies which still drew on Marx's work to inform their struggles and which rejected both social- democratic and Marxist-Leninist versions of his theory. The most interesting of these, those that are relevant to my current purpose, have been those which insisted on the primacy of the self-activity and creativity of people in struggle against capitalism. Within the space of these tendencies there has developed a coherent critique of "orthodox Marxism" that includes not only a rejection of the concept of "the transition" but a reconceptualization of the process of transcending capitalism that has remarkable similarities to Kropotkin's thinking on this subject. [...] Thus one of the earliest political tendencies within which this approach appeared after the Russian revolution of 1917 was that of "Council communism" which saw the "workers councils" in Germany (see Bavarian Soviet Republic), or the soviets in Russia, as new organizational forms constructed by the people. As with the anarchists, they too saw the Bolshevik take-over of the soviets (like that of the trade unions) as subverting the revolution and beginning the restoration of domination and exploitation. [...] Over the years this emphasis on working class autonomy has resulted in a reinterpretation of Marxist theory that has brought out the two-sided character of the class struggle and shifted the focus from capital (the preoccupation of orthodox Marxism) to the workers. [...] As a result, not only has there been a recognition that capitalism seeks to subordinate everyone's life (from the traditional factory proletariat to peasants, housewives and students) but that all those peoples' struggles involve both the resistance to this subordination and the effort to construct alternative ways of being.{{cite conference}}: CS1 maint: date format (ลิงก์)
  220. Price, Wayne (2004). "Libertarian Marxism's Relation to Anarchism" (PDF). The Utopian. 4: 73–80.
  221. Marot, John Eric. "Trotsky, the Left Opposition and the Rise of Stalinism: Theory and Practice".
  222. "The Retreat of Social Democracy ... Re-imposition of Work in Britain and the 'Social Europe'". Aufheben (8). 1999.
  223. "De Leonism". Marx 200 (ภาษาอังกฤษ). 22 กุมภาพันธ์ 2017. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 29 กันยายน 2021.
  224. "Daniel De Leon: American socialist newspaper editor". www.deleonism.org. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2020.
  225. "De Leonism". en.internationalism.org. International Communist Current. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2020.
  226. De Leon, Daniel (1909). "Syndicalism". Daily People.
  227. Pannekoek, Anton (มกราคม 1937). "State Capitalism and Dictatorship". International Council Correspondence. 3 (1).
  228. Ruhle, Otto (1920). The Revolution Is Not A Party Affair.
  229. Shipway, Mark (1987). "Council Communism" (PDF). ใน Rubel, Maximilien; Crump, John (บ.ก.). Non-Market Socialism in the Nineteenth and Twentieth Centuries. New York: St. Martin's Press. pp. 104–126.
  230. van der Linden, Marcel (2004). "On Council Communism". Historical Materialism. 12 (4): 27–50. doi:10.1163/1569206043505275.
  231. Bordiga, Amadeo. "Dialogue with Stalin". Marxists Internet Archive. สืบค้นเมื่อ 15 พฤษภาคม 2019.
  232. Loren Goldner (2004). "Introduction to the Johnson-Forest Tendency and the Background to 'Facing Reality'". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 1 ธันวาคม 2004. สืบค้นเมื่อ 12 มิถุนายน 2022.
  233. Loren Goldner (2002). "Facing Reality 45 Years Later: Critical Dialogue with James/Lee/Chaulieu". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 16 สิงหาคม 2002. สืบค้นเมื่อ 12 มิถุนายน 2022.
  234. Luxemburg, Rosa. "The Junius Pamphlet". Marxists.org. สืบค้นเมื่อ 12 กรกฎาคม 2013.
  235. Howard, Dick (1975). "Introduction to Castoriadis". Telos (23): 118.
  236. Ojeili 2001: "Because he explicitly both rejected Leninist vanguardism and criticised spontaneism, Cornelius Castoriadis is a particularly important figure within the broad field of emancipatory discourse. For Castoriadis, the emancipation of the mass of people was the task of those people; however, the socialist thinker could not simply fold his or her arms. Castoriadis argued that the special place accorded to the intellectual should belong to each autonomous citizen. However, he rejected attentisme, maintaining that, in the struggle for a new society, intellectuals needed to 'place themselves at a distance from the everyday and from the real'"
  237. Vaneigem, Raoul. The Revolution of Everyday Life – โดยทาง The Anarchist Library.
  238. Situationist International Anthology. แปลโดย Knabb, Ken (ตีพิมพ์ 1969). 2006. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 18 เมษายน 2022 – โดยทาง Bureau of Public secrets.
    • "The Beginning of an Era part 1". Situationist International Anthology. แปลโดย —— (ตีพิมพ์ 1969). 2006. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 25 พฤษภาคม 2022 – โดยทาง Bureau of Public secrets.
    • "The Beginning of an Era part 2". Situationist International Anthology. แปลโดย —— (ตีพิมพ์ 1969). 2006. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 9 มิถุนายน 2022 – โดยทาง Bureau of Public secrets.
  239. Elliot, Karen (1 มิถุนายน 2001). "Situationism in a nutshell". Barbelith Webzine. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 9 พฤษภาคม 2008. สืบค้นเมื่อ 23 มิถุนายน 2008.
  240. El Kholti, Hedi; Lotringer, Sylvère; Marazzi, Christian, บ.ก. (2007). Autonomia: post-political politics (PDF) (2nd ed.). ลอสแอนเจลิส: Semiotext(e). ISBN 9781584350538. OCLC 159669900.
  241. 241.0 241.1 "Autonomism: cutting the ground from under Marxism". libcom.org (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 6 July 2020.
  242. Cuninghame, Patrick (December 2010). "Autonomism as a global social movement". WorkingUSA: The Journal of Labor and Society. 13: 451–464. ISSN 1089-7011.
  243. Sica, Marianna (31 มีนาคม 2021). "La Johnson-Forest Tendency: genealogia dell'autonomia tra le due sponde dell'Atlantico". Svolta.online (ภาษาอิตาลี). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-06-19. สืบค้นเมื่อ 2022-06-16. Proprio grazie a Bottaioli conosce anche «Socialisme ou barbarie», con il quale entra per la prima volta in contatto nel 1953, durante un viaggio a Parigi. Montaldi, figura rilevante nella genealogia di quello che in seguito sarà l’operaismo, fu il primo a relazionarsi organicamente con questo gruppo e a lui si dovrà buona parte dell’influenza che esso eserciterà in seguito. Tramite «Socialisme ou barbarie», Montaldi conosce i lavori d’inchiesta della Johnson-Forest Tendency, scoprendo The American Worker grazie alla già citata traduzione. Nel 1954 Montaldi tradurrà in italiano l’inchiesta di Romano «usando la versione francese e confrontandola con l’originale inglese»[9]. L’operaio americano apparirà a puntate su «Battaglia comunista» a partire dal numero di febbraio-marzo di quello stesso anno.
  244. Alcoff, L. M.; Alcoff, J. (เมษายน 2015). "Autonomism in Theory and Practice". Science & Society. Guilford Press. 79 (2, Special Issue: RED ON BLACK: Marxist Encounters with Anarchism): 221–242. สืบค้นเมื่อ 15 มิถุนายน 2022.
  245. Woodcock 1962, p. 126: "This insight makes all the more puzzling Proudhon's own willingness to be elected to the Constituent Assembly. He had already put forward his candidature in April and failed to win election by a small margin; in June he was elected by 77,000 votes with the support, among others, of the poet Charles Baudelaire, who then edited a small newspaper called La Tribune Nationale."
  246. Rocker 2004: "The first movement of the Spanish workers was strongly influenced by the ideas of Pi y Margall, leader of the Spanish Federalists and disciple of Proudhon. Pi y Margall was one of the outstanding theorists of his time and had a powerful influence on the development of libertarian ideas in Spain. His political ideas had much in common with those of Richard Price, Joseph Priestly [sic], Thomas Paine, Jefferson, and other representatives of the Anglo-American liberalism of the first period. He wanted to limit the power of the state to a minimum and gradually replace it by a Socialist economic order."
  247. 247.0 247.1 Bookchin 1998, pp. 111–114
  248. "FERMÍN SALVOCHEA Y ÁLVAREZ". CGT. BIOGRAFÍAS (ภาษาสเปน). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2001.
  249. 249.0 249.1 Guérin, Cédric (2000). Pensée et action des anarchistes en France : 1950–1970 (PDF) (ภาษาฝรั่งเศส). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 30 กันยายน 2007.
  250. Guerin 2000, p. 22: "Si la critique de la déviation autoritaire de la FA est le principal fait de ralliement, on peut ressentir dès le premier numéro un état d'esprit qui va longtemps coller à la peau des anarchistes français. Cet état d'esprit se caractérise ainsi sous une double forme : d'une part un rejet inconditionnel de l'ennemi marxiste, d'autre part des questions sur le rôle des anciens et de l'évolution idéologique de l'anarchisme. C'est Fernand Robert qui attaque le premier : "Le LIB est devenu un journal marxiste. En continuant à le soutenir, tout en reconnaissant qu'il ne nous plaît pas, vous faîtes une mauvaise action contre votre idéal anarchiste. Vous donnez la main à vos ennemis dans la pensée. Même si la FA disparaît, même si le LIB disparaît, l'anarchie y gagnera. Le marxisme ne représente plus rien. Il faut le mettre bas; je pense la même chose des dirigeants actuels de la FA. L'ennemi se glisse partout."
  251. Quail, John (1978). The Slow-Burning Fuse. Paladin. ISBN 0586082255.
  252. Hain, Peter (2000). "Rediscovering our libertarian roots". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 10 ตุลาคม 2017. สืบค้นเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2022.
  253. Hain, Peter (1995). Ayes to the Left: A Future for Socialism. Lawrence and Wishart. ISBN 9780853158325.
  254. Smith, Chris (8 สิงหาคม 2005). "Chris Smith: The House of Commons was Robin Cook's true home – Commentators, Opinion – Independent.co.uk". ลอนดอน: Comment.independent.co.uk. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-09-30. สืบค้นเมื่อ 24 มิถุนายน 2009. In the last few years, Robin's legacy has become even broader. In his speeches and articles he was setting out a vision of libertarian, democratic socialism that was beginning to break the sometimes sterile boundaries of "old" and "New" Labour labels.
  255. Halsema, Femke (2004), "Vrijzinnig Links", De Helling (ภาษาดัตช์), 15 (2), คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2007, Inmiddels kan ik vaststellen dat de term ‘liberalisme’ voor verwarring zorgt. De jaren van Paars neoliberalisme hebben de publieke conceptie van liberalisme uitgehold. Liberalisme is synoniem geworden met marktdenken, vrijblijvendheid en afscheid van de publieke sector. Deze beperkte vorm van liberalisme wordt door mij juist niet nagestreefd. [...] Wèl gaat het mij om liberalisme in de vorm van vrijzinnigheid: grote nadruk op het vrije woord en de vrijheid ‘anders’ te zijn, ondogmatisch, met een gezonde achterdocht jegens culturele dwang en een tikje anarchistisch ten opzichte van de uitdijende overheidsbureaucratie. [...] illustreert de Britse filosoof Isaiah Berlin dit aan de hand van het negatieve en het positieve vrijheidsbeginsel (in vertaling: Twee opvattingen van vrijheid; Boom, 1996). In Berlins opvatting is negatieve vrijheid het recht van burgers om gevrijwaard te zijn van dwang en onderdrukking door de overheid. Dit vrijheidsbeginsel is diep geworteld in onze samenleving en verankerd in de klassieke grondrechten: de vrijheid van meningsuiting, van vergadering, van religie, het recht op de persoonlijke levenssfeer, de onaantastbaarheid van het lichaam enzovoort. Alleen als er dwingende redenen zijn van algemeen belang (de veiligheid van de staat) of als door bijvoorbeeld onderdrukking, discriminatie of geweld andermans vrijheid in het gedrang komt, mag er door de overheid (proportioneel) worden ingegrepen. Naast het negatieve vrijheidsbeginsel staat het positieve vrijheidsbeginsel. Dit houdt in dat de overheid vrijheid van zijn onderdanen ook mogelijk maakt. Aangezien in de moderne kapitalistische samenleving vrijheid door sociaal-economische positie, onderwijs en maatschappelijke kansen wordt bepaald, moet ‘bevrijding’ van individuen uit achterstand en achterstelling worden nagestreefd. Ook dit vrijheidsbeginsel is verankerd in onze grondwet, in de sociale grondrechten. Deze dwingen de overheid zich ‘in te spannen’ voor bijvoorbeeld de spreiding van welvaart, het creëren van werkgelegenheid en onderwijs en voor verbetering van welzijn en het leefmilieu.
  256. Yaikin, Boris (20 พฤศจิกายน 2013). "Boric descarta apoyo a Bachelet en segunda vuelta: "Nuestra posición es de autonomía, pero de diálogo"". El Dinamo (ภาษาสเปน). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2014. สืบค้นเมื่อ 20 พฤศจิกายน 2013.
  257. 257.0 257.1 Hosiasson, Francisca (24 ตุลาคม 2016). "¿Quién es Jorge Sharp?: El candidato apadrinado por Boric que "recupera" Valparaíso". Zero (ภาษาสเปน). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 25 ตุลาคม 2016. สืบค้นเมื่อ 24 ตุลาคม 2016.
  258. Franklin, Jonathan (21 ตุลาคม 2016). "Chile's young independents lead quiet revolution against politics-as-usual". เดอะการ์เดียน.
  259. "Leftist Gabriel Boric wins Chile presidential election". BBC News (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 20 ธันวาคม 2021. สืบค้นเมื่อ 20 ธันวาคม 2021.
  260. "Leftist lawmaker Boric wins polarized election in Chile, to become nation's youngest president". news.yahoo.com (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). สืบค้นเมื่อ 20 ธันวาคม 2021.
  261. Weaver, Adam (5 สิงหาคม 2017). "A Turning Point on the Left? Libertarian Caucus Debuts at Democratic Socialist Conference". Truthout. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-10-10. สืบค้นเมื่อ 8 สิงหาคม 2017. The LSC promotes a vision of 'libertarian socialism'—a traditional name for anarchism—that goes beyond the confines of traditional social democratic politics
  262. Vilallonga, Boaz (18 ตุลาคม 2015). "The Catalan Left: An interview with Boaz Vilallonga". Jacobin Magazine (Interview). สืบค้นเมื่อ 22 มิถุนายน 2022. A libertarian socialist and even anarcho-syndicalist character permeates CUP, in the anti-authoritarian tradition of the Catalan left — embodied by Civil War-era organizations like the Confederación Nacional del Trabajo (CNT), which was anarcho-syndicalist, or Trotskyists like Partido Obrero de Unificación Marxista (POUM). [...] cooperatives and popular cultural centers (casals and ateneus populars) flourished in the late 1990s and 2000s as safe havens for radical socialist communities, economic alternatives, and ideological formations. Many revolutionary youth organizations were born in these cultural centers. [...] In addition to the network of popular cultural centers, the emergence of squatted houses — also known as "self-managed social centers" — further extended this radical sensibility in Catalonia. While not all squatted houses are aligned with separatist socialism, some of the most emblematic houses are more identified with the separatist movement, like the squatted house of Can Vies in Barcelona. [...] Every local assembly represents the essential unit of this popular unity. It represents the neighborhood, the village, the town. [...] Assemblies are sovereign and potentially powerful. They are the cradle of participatory democracy. In some of the towns where CUP holds the power, these open assemblies have received extra responsibilities and "devolved" powers.
  263. Ruiz, Jesús (2003). Posibilismo libertario. Felix Morga, Alcalde de Najera (1891–1936). Nájera (La Rioja): Ayto. de Nájera / Universidad de La Rioja. ISBN 9788468829104.
  264. Lorenzo, César M. (1969). Les Anarchistes espagnols et le pouvoir. 1868–1969 (ภาษาฝรั่งเศส). Éditions du Seuil. p. 58.
  265. Renof, Israël (พฤษภาคม 1968). "Possibilisme libertaire" (PDF). Noir et Rouge (ภาษาฝรั่งเศส) (41): 16–23. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 11 มีนาคม 2016.
  266. Thomas, Hugh (2001). The Spanish Civil War. London: Penguin Books. p. 458. ISBN 9780141011615.
  267. Gallo, Bruno García (26 มกราคม 2016). "Madrid sustituirá las calles franquistas por víctimas del terrorismo". El País (ภาษาสเปน). Sí se ha aprobado por unanimidad, también a propuesta de Ciudadanos, dedicar una calle al anarquista Melchor Rodríguez García, el último alcalde de Madrid republicano, ante 'el gran consenso social y político' al respecto y por 'su gran relevancia para la reconciliación y la concordia tras la Guerra Civil'
  268. Wall, Derek (2005). Babylon and Beyond: The Economics of Anti-capitalist, Anti-globalist and Radical Green Movements. ลอนดอน: Pluto Press. ISBN 0745323901.
  269. 269.0 269.1 Kovel, J. (2002). The Enemy of Nature: The End of Capitalism Or the End of the World?. Fernwood. ISBN 9781552660690.
  270. Campbell, Heather M. (2009). The Britannica Guide to Political Science and Social Movements That Changed the Modern World. The Rosen Publishing Group. pp. 127–129. ISBN 9781615300624.
  271. Ward, Colin (2004). Anarchism: A Very Short Introduction. Oxford University Press, USA. ISBN 0192804774.
  272. Dominick 1997, pp. 4, 5
  273. Dominick 1997, pp. 9, 10
  274. Heavey, Jerome F. (กรกฎาคม 2003). "Comments on Warren Samuels' 'Why the Georgist movement has not succeeded'". American Journal of Economics and Sociology. 62 (3): 593–599. doi:10.1111/1536-7150.00230. JSTOR 3487813. human beings have an inalienable right to the product of their own labor
  275. McCluskey, William J.; Franzsen, Riël C. D. (2005). Land Value Taxation: An Applied Analysis, William J. McCluskey, Riël C. D. Franzsen. ISBN 9780754614906. สืบค้นเมื่อ 11 ตุลาคม 2013.
  276. "Fairhope Single Tax Corporation - About Us". สืบค้นเมื่อ 24 มิถุนายน 2022.
  277. Wenzer, Kenneth C. (1997). "Tolstoy's Georgist Spiritual Political Economy (1897–1910): Anarchism and Land Reform". The American Journal of Economics and Sociology. 56 (4, ตุลาคม): 639–667. doi:10.1111/j.1536-7150.1997.tb02664.x. JSTOR 3487337.
  278. 278.0 278.1 278.2 "Guild Socialism". สารานุกรมบริแทนนิกา. 31 พฤษภาคม 2012. สืบค้นเมื่อ 22 มิถุนายน 2022. [...] in an implied contractual relationship with the public. [...] stood for state ownership of industry, combined with 'workers' control' through delegation of authority to national guilds organized internally on democratic lines. About the state itself they differed, some believing it would remain more or less in its existing form and others that it would be transformed into a federal body representing the workers' guilds, consumers' organizations, local government bodies, and other social structures.
  279. Masquelier, Charles (2014). Critical theory and libertarian socialism: Realizing the political potential of critical social theory. นครนิวยอร์กและลอนดอน: Bloomsbury Publishing. p. 190. ISBN 9781501311017. [i]t is by meeting such a twofold requirement that the libertarian socialism of G.D.H. Cole could be said to offer timely and sustainable avenues for the institutionalization of the liberal value of autonomy [...] By setting out to 'destroy this predominance of economic factors' (Cole 1980, 180) through the re-organization of key spheres of life into forms of associative action and coordination capable of giving the 'fullest development of functional organisation' [...] Cole effectively sought to turn political representation into a system actually capable of giving direct recognition to the multiplicity of interests making up highly complex and differentiated societies.
  280. Wiarda, Howard J. (1996). Corporatism and comparative politics. M.E. Sharpe. pp. 65–66, 156. ISBN 9781563247163.
  281. Brown, Tom (1943). "Principles of Syndicalism". War Commentary for Anarchism. สืบค้นเมื่อ 6 กรกฎาคม 2010.
  282. "Federación Anarquista Ibérica Archives". International Institue of Social History. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 20 พฤศจิกายน 2005.
  283. Christoyannopoulos 2011, pp. 11–12: "In political theology [...]"
  284. 284.0 284.1 Christoyannopoulos 2010
  285. Christoyannopoulos 2011, pp. 69–71: "A manifesto for Christian anarchism [...]"
  286. Christoyannopoulos 2010, p. 4: "Not all Christian anarchists follow Tolstoy in elevating that single verse as high as he does, but all see in it and in the Sermon on the Mount a moving articulation of Jesus’ central teaching of love and forgiveness. [...] The most important passage to examine from the Sermon on the Mount is therefore the one where Jesus calls for his disciples not to resist evil. [...] But I say unto you, That ye resist not evil: but whosoever shall smite thee on thy right cheek, turn to him the other also."
  287. Christoyannopoulos 2010, p. 12: "The state is also more visibly violent and therefore unchristian in another way: it wages war. In doing so, it breaks not only Jesus’ instruction not to resist evil, but also one of the much older Ten Commandments, namely: 'Thou shalt not kill.'"
  288. Christoyannopoulos 2011, p. 22: "He wrote countless essays and books on the topic, but the most often cited one among anarchists is The Kingdom of God Is within You"
  289. Christoyannopoulos 2010, p. 2: "it also contains Jesus’ most poignant statement on violence – his call not to resist evil but to turn the other cheek – a statement which, they argue, cannot but ultimately imply a condemnation of the state for its theoretical and practical monopoly over the allegedly legitimate use of violence
  290. Christoyannopoulos 2011, pp. 109: "The second section begins with a few remarks on the historical emergence of the modern state, goes on to describe the Christian anarchist verdict on its violence, its deceitfulness, and its economic exploitation of the poor, and concludes by portraying the modern reverence for the state as a form of idolatry"
  291. Christoyannopoulos 2011, pp. 125–127: "The state as idolatry [...]"
  292. Kropotkin, Peter (1911). "Anarchism". สารานุกรมบริแทนนิกา (11th ed.) – โดยทาง อินเทอร์เน็ตอาร์ไคฟ์. Anarchism continued to develop, partly in the direction of Proudhonian "Mutuellisme," but chiefly as Communist-Anarchism, to which a third direction, Christian-Anarchism, was added by Leo Tolstoy, and a fourth, which might be ascribed as literary-Anarchism, began amongst some prominent modern writers.
  293. Woodcock, G.; Avakumović, I. (1949). The Anarchist Prince. pp. 351–352 – โดยทาง อินเทอร์เน็ตอาร์ไคฟ์. Soon after their meeting, Kropotkin asked Chertkov to transmit a message of friendly esteem to Tolstoy. He seems to have made some reference to their difference of opinions on the question of violence, for Tolstoy wrote to Chertkov shortly afterwards: 'Kropotkin’s letter has pleased me very much. His arguments in favour of violence do not seem to me to be the expression of his opinions, but only of his fidelity to the banner under which he has served so honestly all his life He cannot fail to see that the protest against violence, in order to be strong, must have a solid foundation But a protest for violence has no foundation and for this very reason IS destined to failure'
  294. Tolstoy, Leo (1900). "On Anarchy" – โดยทาง Marxists Internet Archive. The Anarchists are right in everything; in the negation of the existing order, and in the assertion that, without Authority, there could not be worse violence than that of Authority under existing conditions. They are mistaken only in thinking that Anarchy can be instituted by a revolution. But it will be instituted only by there being more and more people who do not require the protection of governmental power [...] There can be only one permanent revolution – a moral one: the regeneration of the inner man.
  295. Otterman, Sharon (26 พฤศจิกายน 2012). "In Hero of the Catholic Left, a Conservative Cardinal Sees a Saint". เดอะนิวยอร์กไทมส์. Day believed all states were inherently totalitarian
  296. Day, Dorothy (พฤษภาคม 1974). "On Pilgrimage – May 1974". The Catholic Worker. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 7 ตุลาคม 2012. There was no time to answer the one great disagreement which was in their minds--how can you reconcile your Faith in the monolithic, authoritarian Church which seems so far from Jesus who 'had no place to lay his head,' and who said 'sell what you have and give to the poor,'--with your anarchism? Because I have been behind bars in police stations, houses of detention, jails and prison farms, whatsoever they are called, eleven times, and have refused to pay Federal income taxes and have never voted, they accept me as an anarchist. And I in turn, can see Christ in them even though they deny Him, because they are giving themselves to working for a better social order for the wretched of the earth.
  297. McKay et al. 2009, p. 181: "Tolstoy’s ideas had a strong influence on Gandhi, who inspired his fellow country people to use non-violent resistance to kick Britain out of India. Moreover, Gandhi’s vision of a free India as a federation of peasant communes is similar to Tolstoy’s anarchist vision of a free society (although we must stress that Gandhi was not an anarchist). The Catholic Worker Group in the United States was also heavily influenced by Tolstoy (and Proudhon), as was Dorothy Day a staunch Christian pacifist and anarchist who founded it in 1933."
  298. Day, Dorothy (กุมภาพันธ์ 1974). "On Pilgrimage – February 1974". The Catholic Worker. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 6 ตุลาคม 2012. The blurb on the back of the book Small Is Beautiful lists fellow spokesmen for the ideas expressed, including 'Alex Comfort, Paul Goodman and Murray Bookchin. It is the tradition we might call anarchism.' We ourselves have never hesitated to use the word.
  299. Pattison, Mark (13 พฤศจิกายน 2012). "US bishops endorse sainthood cause of Catholic Worker's Dorothy Day". Catholic New Service. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 7 ธันวาคม 2012. สืบค้นเมื่อ 1 ธันวาคม 2012.
  300. Day, Dorothy (กุมภาพันธ์ 1970). "Ammon Hennacy: 'Non-Church' Christian". The Catholic Worker. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 6 เมษายน 2013.
  301. Kumarappa, Joseph Cornelius (1951). Gandhian economic thought. Library of Indian economics (1st ed.). มุมไบ ประเทศอินเดีย: Vora. OCLC 3529600.
  302. 302.0 302.1 Gandhi & Tolstoy 1987
  303. Chakrabarty, Bidyut (1992). "Jawaharlal Nehru and Planning, 1938–41: India at the Crossroads". Modern Asian Studies. 26 (2): 275–287. doi:10.1017/S0026749X00009781. JSTOR 312676. S2CID 143462773.
  304. Pandikattu, Kuruvila (2001). Gandhi: the meaning of Mahatma for the millennium. CRVP. p. 237. ISBN 9781565181564. it was Nehru's vision, not Gandhi's, that was eventually preferred by the Indian State
  305. Snow, Edgar (1948). "The Message of Gandhi" – โดยทาง Gandhi Sevagram Ashram website. Like Marx, Gandhi hated the state and wished to eliminate it, and he told me he considered himself 'a philosophical anarchist.'
  306. Jesudasan, Ignatius (1984). A Gandhian theology of liberation. Maryknoll, N.Y.: Orbis Books. p. 50. Gandhi was aware that his meaning of swaraj differed from theirs. For them, swaraj was 'to drive the English out of India,' but to retain the English system of administrative practice, military power, and national glory. Gandhi confessed to his difficulty in understanding such a swaraj: it was not true swaraj, the swaraj that he wanted.
  307. Chakrabarty, Bidyut (2006). Social and political thought of Mahatma Gandhi. Routledge. p. 138. ISBN 9780415360968. สืบค้นเมื่อ 25 January 2012. [...] the ideally non-violent State would be an ordered anarchy.
  308. Ostergaard 1982: "Gandhi’s ideas were popularised in the West in books such as Richard Gregg’s The Power of Nonviolence (1935), [34] and Bart de Ligt’s The Conquest of Violence (1937)."
  309. Woodcock 1962, p. 438: "was read widely by British and American pacifists during the 1930's and led many of them to adopt an anarchistic point of view."
  310. McKay et al. 2009, pp. 2610–2616: "J.3.3 What is the “Platform”? [...]"
  311. Dielo Trouda group (2006) [1926]. Organizational Platform of the General Union of Anarchists (Draft). อิตาลี: FdCA. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2022. สืบค้นเมื่อ 24 ตุลาคม 2006.
  312. Kellner, Douglas. "Herbert Marcuse". Illuminations. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2022. สืบค้นเมื่อ 28 มิถุนายน 2022 – โดยทาง Collaboratory for Digital Discourse and Culture @ Virginia Tech. During the 1960s, Marcuse achieved world renown as 'the guru of the New Left,' publishing many articles and giving lectures and advice to student radicals all over the world. He travelled widely and his work was often discussed in the mass media, becoming one of the few American intellectuals to gain such attention. Never surrendering his revolutionary vision and commitments, Marcuse continued to his death to defend the Marxian theory and libertarian socialism.
  313. Hahnel 2005
  314. Epstein 2001: "In the forties and fifties, anarchism, in fact if not in name, began to reappear, often in alliance with pacifism, as the basis for a critique of militarism on both sides of the Cold War. The anarchist/pacifist wing of the peace movement was small in comparison with the wing of the movement that emphasized electoral work, but made an important contribution to the movement as a whole. Where the more conventional wing of the peace movement rejected militarism and war under all but the most dire circumstances, the anarchist/pacifist wing rejected these on principle."
  315. Ostergaard 1982: "In the 1950s and 1960s anarcho-pacifism began to gel, tough-minded anarchists adding to the mixture their critique of the state, and tender-minded pacifists their critique of violence. Its first practical manifestation was at the level of method: nonviolent direct action, principled and pragmatic, was used widely in both the Civil Rights movement in the USA and the campaign against nuclear weapons in Britain and elsewhere."
  316. Baker, A. J. "Sydney Libertarians and the Push". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 3 มีนาคม 2016.
  317. McMillian, John Campbell; Buhle, Paul (2003). The new left revisited. Temple University Press. p. 112. ISBN 9781566399760. สืบค้นเมื่อ 28 ธันวาคม 2011.
  318. Lytle, Mark H. (2006). America's Uncivil Wars: The Sixties Era from Elvis to the Fall of Richard Nixon. Oxford University Press. pp. 213, 215. ISBN 0195174968.
  319. "Overview: who were (are) the Diggers?". The Digger Archives. สืบค้นเมื่อ 17 มิถุนายน 2007.
  320. Gail Dolgin; Vicente Franco (2007). Summer of Love. PBS. สืบค้นเมื่อ 23 เมษายน 2007.
  321. Holloway, David (2002). "Yippies". St. James Encyclopedia of Pop Culture. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 16 ตุลาคม 2008.
  322. Hoffman, Abbie (1980). Soon to be a Major Motion Picture. Perigee Books. p. 128. ISBN 9780399505034.
  323. Gitlin, Todd (1993). The Sixties: Years of Hope, Days of Rage. New York. p. 286. ISBN 9780553372120.
  324. "1969: Height of the Hippies". ABC news. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 12 ตุลาคม 2013. สืบค้นเมื่อ 3 กรกฎาคม 2022. The group was known for street theater pranks and was once referred to as the 'Groucho Marxists.'
  325. Bookchin, Murray (1994). The Philosophy of Social Ecology: Essays on Dialectical Naturalism. Black Rose Books. pp. 119–120. ISBN 9781551640181.
  326. Öcalan 2011, p. 21: "[...] is open towards other political groups and factions. It is flexible, multi-cultural, anti-monopolistic, and consensus-oriented."
  327. Watkins, Gareth (6 กุมภาพันธ์ 2015). "Anarchists vs. ISIS: The Revolution in Syria Nobody's Talking About". CVLT Nation. สืบค้นเมื่อ 29 พฤศจิกายน 2015.
  328. Öcalan 2011, pp. 26–27: "The stronger the participation the more powerful is this kind of democracy. While the nation-state is in contrast to democracy, and even denies it, democratic confederalism constitutes a continuous democratic process."
  329. Gare, Arran (พฤศจิกายน 2003). "Beyond Social Democracy? Takis Fotopoulos' Vision of an Inclusive Democracy as a New Liberatory Project" (PDF). Democracy & Nature. 9 (3): 345–358. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 5 มีนาคม 2020. [...] offers a powerful new interpretation of the history and destructive dynamics of the market and provides an inspiring new vision of the future in place of both neo-liberalism and existing forms of socialism.
  330. Freeman, David (พฤษภาคม 2002). "Inclusive democracy and its prospects". Thesis Eleven. Sage Publications (69): 103–106. Fotopoulos’ approach is not declaredly anarchist, [...] Anarchism seems nevertheless the most proximate formal category, given his radical decentralisation, direct democracy, municipalism and abolition of state, money and market economy.
  331. Fotopoulos, Takis (1997). Towards an Inclusive Democracy: the crisis of the growth economy and the need for a new liberatory project (PDF). นครนิวยอร์กและลอนดอน: Cassell. p. 255. [...] secures real freedom of choice, without incurring the adverse effects associated with real markets.
  332. "Say you want an insurrection". CrimethInc. 7 มกราคม 2010. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 13 ตุลาคม 2016.
  333. Pengam, Alain. "Anarchist-Communism". The Anarchist Library. สืบค้นเมื่อ 23 พฤษภาคม 2014. Between 1880 and 1890, the anarchist-communists, with their perspective of an immanent revolution, were opposed to the official workers’ movement, which was then in the process of formation (general Social Democratisation). They were opposed not only to political (statist) struggles but also to strikes which put forward wage or other claims, or which were organised by trade unions. While they were not opposed to strikes as such, they were opposed to trade unions and the struggle for the eight-hour day. This anti-reformist tendency was accompanied by an anti-organisational tendency, and its partisans declared themselves in favour of agitation amongst the unemployed for the expropriation of foodstuffs and other articles, for the expropriatory strike and, in some cases, for ‘individual recuperation’ or acts of terrorism.
  334. Black, Joe (19 กรกฎาคม 2006). "Anarchism, insurrections and insurrectionalism". Ainfos.ca. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 6 ธันวาคม 2010. สืบค้นเมื่อ 20 กันยายน 2010. As an ideology insurrectionalism originates in the peculiar conditions of post war Italy and Greece.
  335. Baspineiro, Alex Contreras (7 พฤษภาคม 2004). "The Mysterious Silence of the Mexican Zapatistas". Narco News. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 26 ธันวาคม 2008. สืบค้นเมื่อ 15 มีนาคม 2020.
  336. Gibson, Morgan Rodgers (ธันวาคม 2009). "The Role of Anarchism in Contemporary Anti-Systemic Social Movements". Abahlali baseMjondolo. สืบค้นเมื่อ 11 ตุลาคม 2013.
  337. Gibson, Morgan Rodgers (7 ธันวาคม 2010). "Anarchism, the State and the Praxis of Contemporary Antisystemic Social Movements". Abahlali baseMjondolo. สืบค้นเมื่อ 11 ตุลาคม 2013.
  338. Gelsomino, Mark (2010). "The Zapatista Effect: Information Communication Technology Activism and Marginalized Communities". Faculty of Information Quarterly. 2 (3). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 16 สิงหาคม 2011.
  339. McKinley Jr., James C. (6 มกราคม 2006). "The Zapatista's Return: A Masked Marxist on the Stump". เดอะนิวยอร์กไทมส์.
  340. 340.0 340.1 Chartier & Johnson 2011
  341. Carson, Kevin (19 มิถุนายน 2009). "Socialism: A Perfectly Good Word Rehabilitated". Center for a Stateless Society. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2021. But there has always been a market-oriented strand of libertarian socialism that emphasizes voluntary cooperation between producers. And markets, properly understood, have always been about cooperation. As a commenter at Reason magazine’s Hit&Run blog, remarking on Jesse Walker’s link to the Kelly article, put it: 'every trade is a cooperative act.' In fact, it’s a fairly common observation among market anarchists that genuinely free markets have the most legitimate claim to the label 'socialism.'
  342. Carson, Kevin A. (2008). Organization Theory: A Libertarian Perspective. ชาร์ลสตัน รัฐเซาท์แคโรไลนา: BookSurge. ISBN 1439221995 – โดยทาง Academia.edu.
  343. Carson, Kevin A. (2010). The Homebrew Industrial Revolution: A Low-Overhead Manifesto (PDF). ชาร์ลสตัน รัฐเซาท์แคโรไลนา: BookSurge. ISBN 9781439266991. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 3 มีนาคม 2021.
  344. Long, Roderick T (2000). Thomas, William (บ.ก.). Reason and Value: Aristotle versus Rand (PDF). วอชิงตัน ดี.ซี.: The Atlas Society. ISBN 1577240456. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 20 มกราคม 2021.
  345. Johnson, Charles W. (2008) [2006]. "Liberty, Equality, Solidarity: Toward a Dialectical Anarchism". ใน Long, Roderick T.; Machan, Tibor (บ.ก.). Anarchism/Minarchism: Is a Government Part of a Free Country?. Aldershot: Ashgate. pp. 155–188. ISBN 9780754660668. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 26 มิถุนายน 2022.
  346. Konkin III, Samuel Edward (1983). New Libertarian Manifesto (PDF). Koman Publishing. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 8 กันยายน 2021.
  347. 347.0 347.1 Sciabarra, Chris Matthew (2000). Total Freedom: Toward a Dialectical Libertarianism. University Park, PA: Pennsylvania State University Press. ISBN 9780271020488. OCLC 42912174.
  348. Chartier, Gary (2009). Economic Justice and Natural Law. เคมบริดจ์: Cambridge University Press. ISBN 9780521767200.
  349. Chartier & Johnson 2011, pp. 19–20, Gillis, William. The Freed Market.
  350. Chartier & Johnson 2011, pp. 1–16
  351. Richman, Sheldon (3 กุมภาพันธ์ 2011). "Libertarian Left: Free-market anti-capitalism, the unknown ideal". The American Conservative. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 10 มิถุนายน 2019. สืบค้นเมื่อ 5 มีนาคม 2012.
  352. Chartier, Gary (13 เมษายน 2010). Advocates of Freed Markets Should Oppose Capitalism. Association of Private Enterprise Education, Free-Market Anti-Capitalism? session. ลาสเวกัส รัฐเนวาดา. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 7 เมษายน 2022.
  353. Chartier, Gary. Socialist Ends, Market Means: Five Essays (PDF). เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 24 เมษายน 2022.
  354. Vallentyne, Peter; Steiner, Hillel (2000). The origins of Left Libertarianism. Palgrave Macmillan UK. ISBN 9780333794678.
  355. Long, Roderick T (2006). Rothbard's "Left and Right": Forty Years Later. Rothbard Memorial Lecture, Austrian Scholars Conference. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 7 มิถุนายน 2022.
  356. Vallentyne, Peter; Steiner, Hillel; Otsuka, Michael (2005). "Why Left-Libertarianism Is Not Incoherent, Indeterminate, or Irrelevant: A Reply to Fried" (PDF). Philosophy and Public Affairs. Blackwell Publishing, Inc. 33 (2): 201–215. doi:10.1111/j.1088-4963.2005.00030.x. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 3 พฤศจิกายน 2012. สืบค้นเมื่อ 23 กรกฎาคม 2013.
  357. 357.0 357.1 Narveson, Jan; Trenchard, David (2008). "Left Libertarianism". ใน Hamowy, Ronald (บ.ก.). The Encyclopedia of Libertarianism. Thousand Oaks, CA: SAGE; Cato Institute. pp. 288–289. doi:10.4135/9781412965811.n174. ISBN 9781412965804. LCCN 2008009151. OCLC 750831024.
  358. Noys, Benjamin, บ.ก. (14 พฤศจิกายน 2011). Communization and its Discontents: Contestation, Critique, and Contemporary Struggles (1st ed.). Minor Compositions. ISBN 9781570272318.
  359. Les Amis de 4 Millions de Jeunes Travailleurs (30 มกราคม 2013) [1975-1976]. "Insurrection and Communization". A world without money: communism. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 30 พฤษภาคม 2022. Insurrection and communization are intimately linked. There will not be, first the insurrection, and then—made possible by the insurrection—the transformation of social reality. The insurrectionary process draws its power from communization itself.
  360. Dauvé, Gilles (1983). "re-collecting our past" (PDF). La Banquise (2). เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 6 กรกฎาคม 2022.
  361. Anonymous. Call (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 21 กรกฎาคม 2011. As we apprehend it, the process of instituting communism can only take the form of a collection of acts of communisation, of making common suchand-such space, such-and-such machine, suchand-such knowledge. That is to say, the elaboration of the mode of sharing that attaches to them. Insurrection itself is just an accelerator, a decisive moment in this process.
  362. Dennis, Meeting Collective (2 พฤศจิกายน 2005). "Reflexions around Call" (PDF). Letters (3). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 24 มกราคม 2017.
  363. Dauvé, Gilles; Nesic, Karl (2004). "Communisation: un 'Appel' et une 'Invite'" (ภาษาฝรั่งเศส). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2022.
  364. "After the Fall: Communiqués from Occupied California" (PDF). 2009. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 8 เมษายน 2022.
  365. Thomas, Paul (1985). Karl Marx and the Anarchists. London: Routledge & Kegan Paul. p. 4. ISBN 9780710206855.
  366. Patten, John (28 ตุลาคม 1968). "Islands of Anarchy: Simian, Cienfuegos, Refract and their support network". Katesharpleylibrary.net. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 มิถุนายน 2011. สืบค้นเมื่อ 11 ตุลาคม 2013. These groups had their roots in the anarchist resurgence of the nineteen sixties. Young militants finding their way to anarchism, often from the anti-bomb and anti-Vietnam war movements, linked up with an earlier generation of activists, largely outside the ossified structures of ‘official’ anarchism. Anarchist tactics embraced demonstrations, direct action such as industrial militancy and squatting, protest bombings like those of the First of May Group and Angry Brigade – and a spree of publishing activity.
  367. Chorbajian, Levon (1998). "Book Review "The Spirit of the Sixties: The Making of Postwar Radicalism" by James J. Farrell". Social Anarchism (26). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 21 มกราคม 2022. Farrell provides a detailed history of the Catholic Workers and their founders Dorothy Day and Peter Maurin. He explains that their pacifism, anarchism, and commitment to the downtrodden were one of the important models and inspirations for the 60s. As Farrell puts it, 'Catholic Workers identified the issues of the sixties before the Sixties began, and they offered models of protest long before the protest decade.'
  368. Shively, Charley (1990). "Anarchism"" (PDF). ใน Dynes, Wayne R. (บ.ก.). Encyclopedia of Homosexuality. นครนิวยอร์ก: Garland. pp. 50–52. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 20 มกราคม 2022. While not always formally recognized, much of the protest of the sixties was anarchist. Within the nascent women's movement, anarchist principles became so widespread that a political science professor denounced what she saw as 'The Tyranny of Structurelessness.' Several groups have called themselves 'Amazon Anarchists.' After the Stonewall Rebellion, the New York Gay Liberation Front based their organization in part on a reading of Murray Bookchin's anarchist writings.
  369. Epstein 2001: "Within the movements of the sixties there was much more receptivity to anarchism-in-fact than had existed in the movements of the thirties. [...] But the movements of the sixties were driven by concerns that were more compatible with an expressive style of politics, with hostility to authority in general and state power in particular. [...] By the late sixties, political protest was intertwined with cultural radicalism based on a critique of all authority and all hierarchies of power. Anarchism circulated within the movement along with other radical ideologies. The influence of anarchism was strongest among radical feminists, in the commune movement, and probably in the Weather Underground and elsewhere in the violent fringe of the anti-war movement."
  370. "London Federation of Anarchists Archives". International Institue of Social History. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 กรกฎาคม 2007. สืบค้นเมื่อ 19 มกราคม 2010.
  371. "Short history of the International of Anarchist Federations (IAF-IFA)". A-infos news project. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 1998. สืบค้นเมื่อ 19 มกราคม 2010.
  372. "About". International of Anarchist Federations. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 กรกฎาคม 2007.
  373. "The International Conferences of the Communist Left (1976–80)". International Review. International Communist Current (122). 5 กรกฎาคม 2005. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2 มีนาคม 2022. สืบค้นเมื่อ 12 กรกฎาคม 2013.
  374. 374.0 374.1 374.2 Rupert, Mark; Solomon, M. Scott (2006). Globalization and International Political Economy. Lanham: Rowman & Littlefield Publishers. p. 66. ISBN 0742529436. OCLC 654611989.
  375. Critchley, Simon (2013). Infinitely Demanding. Verso Books. pp. 125–126. ISBN 9781781680179. [...] contemporary anarchism can be seen as a powerful critique of the pseudo-libertarianism of contemporary neo-liberalism [...] One might say that contemporary anarchism is about responsibility, whether sexual, ecological or socio-economic; it flows from an experience of conscience about the manifold ways in which the West ravages the rest; it is an ethical outrage at the yawning inequality, impoverishment and disenfranchisment that is so palpable locally and globally.
  376. El-Ojeili 2015, p. 7: "the collapse of 'really existing socialism' and the capitulation to neo-liberalism of Western social democracy"
  377. Carley, Mark (20 พฤษภาคม 2004). Trade union membership 1993-2003 (Report). Eurofound. hdl:20.500.12592/vbdn7m. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 7 เมษายน 2022.
  378. คงศิลป์, อภิคม (2 กรกฎาคม 2018). "Food Not Bombs พังก์ขับเคลื่อนสังคมด้วยการแจกอาหาร". ประชาไท (Interview). สัมภาษณ์โดย ณัฐพล เมฆโสภณ. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 22 มกราคม 2022. สืบค้นเมื่อ 9 กรกฎาคม 2022.
  379. สงวนศักดิ์, พงศกร; สมาชิก(s)กลุ่ม FNB CNX (7 มีนาคม 2022). "Food Not Bombs CNX: อนาร์คิสเชียงใหม่ หัวใจเพื่อคนเปราะบาง". Penguin Homeless. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 29 พฤษภาคม 2022. สืบค้นเมื่อ 9 กรกฎาคม 2022.
  380. Saval, Nikil (2013). "Cheerleaders for Anarchism". Dissent. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 16 เมษายน 2022. If any radical left tendency has been responsible for inspiring action, the palm should go to Marxism's historic antagonist on the Left–anarchism. [...] Wherever movements have been provoked against neoliberalism, black flags have tended to outnumber red. Autonomista and other kinds of left-libertarian thought were major currents running through movements in Greece and Spain. The cornerstone for the occupation of Zuccotti Park was laid by anarchists, who also developed the consensus procedures by which the movement participants made (or occasionally failed to make) decisions.
  381. "Anarcho-Syndicalist Review". Anarcho-Syndicalist Review. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-07-08. สืบค้นเมื่อ 9 กรกฎาคม 2022.
  382. "Red & Black Notes". สืบค้นเมื่อ 9 กรกฎาคม 2022.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  383. "About Red Pepper". สืบค้นเมื่อ 9 กรกฎาคม 2022.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  384. 384.0 384.1 "Liste des périodiques en anglais du CIRA". Anarca-bolo.ch. 2 กันยายน 2011. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 8 กันยายน 2007. สืบค้นเมื่อ 28 ธันวาคม 2011.
  385. Bookchn, Murray. "What is Social Ecology?". Communalism.org. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 1 มิถุนายน 2008. สืบค้นเมื่อ 26 กันยายน 2007.
  386. "PUBLICATIONS". The Commune. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 21 เมษายน 2022. สืบค้นเมื่อ 9 กรกฎาคม 2022.
  387. "Murray Bookchin". The Times Online. 10 สิงหาคม 2011. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 24 พฤษภาคม 2011. สืบค้นเมื่อ 28 ธันวาคม 2011.
  388. "IMPORTANT ANNOUNCEMENT". democracynature.org/. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 3 กรกฎาคม 2022.
  389. "Heatwave Magazine – UK, 1960s". Libcom.org. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 9 กรกฎาคม 2022. สืบค้นเมื่อ 28 ธันวาคม 2011.
  390. "The International Journal of Inclusive Democracy". Inclusivedemocracy.org. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 28 เมษายน 2022. สืบค้นเมื่อ 28 ธันวาคม 2011.
  391. "Leeds other paper : Leeds libertarian socialist newspaper". WorldCat.org. OCLC 52965802. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2021. สืบค้นเมื่อ 28 ธันวาคม 2011.
  392. "Index of /Politics/Organized.Thoughts". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 1 มกราคม 2009. สืบค้นเมื่อ 11 ตุลาคม 2013.
  393. "Lessons from the Summit Protests". Struggle.ws. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 21 เมษายน 2022. สืบค้นเมื่อ 28 ธันวาคม 2011.
  394. "Root & Branch: a libertarian socialist journal". Libcom.org. 11 มกราคม 2014. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 9 พฤษภาคม 2022.
  395. Barberis, Peter; McHugh, John; Tyldesley, Mike (2000). Encyclopedia of British and Irish Political Organizations. A & C Black. p. 167. ISBN 9780826458148.
  396. Gallin, Dan; Horn, Pat (2005). "Organizing Informal Women Workers". Global Labor Institute. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 24 กันยายน 2015. สืบค้นเมื่อ 23 พฤษภาคม 2014.
  397. "Obituary for the Dutch anarchist Karl Kreuger". 9 ธันวาคม 2008. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 9 ธันวาคม 2008. สืบค้นเมื่อ 11 ตุลาคม 2013.
  398. "Turnusol". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2017.
  399. Öğret, Özgür (27 ธันวาคม 2016). "Turkey Crackdown Chronicle: Week of December 25". Committee to Protect Journalists. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 8 เมษายน 2022.

บรรณานุกรม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]