ปัจจัยการผลิต

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ปัจจัยการผลิต (อังกฤษ: Means of production) หรือสินค้าทุน (อังกฤษ: Capital goods)[1] มีความหมายเชิงเศรษฐศาสตร์และสังคมวิทยาว่า เป็นวัตถุทางกายภาพที่มิได้เป็นตัวเงิน ซึ่งใช้ในการผลิตสินค้าและบริการอันจะทำให้มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ ปัจจัยการผลิตอาจรวมถึงวัตถุดิบ สถานที่ เครื่องจักร และเครื่องมือที่ใช้ในการผลิตสินค้าและบริการ[2][3] บรรญัติศัพท์ในเชิงเศรษฐศาสตร์คลาสสิคนั้น ปัจจัยการผลิต หมายถึง “ตัวแปรการผลิต” ลบกับทุนทางการเงินและทุนมนุษย์

ปัจจัยการผลิตทางสังคม หมายถึงสินค้าทุนและสินทรัพย์ที่ต้องมีการลงแรงของแรงงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ มิใช่การลงแรงของผู้ใดผู้หนึ่งเท่านั้น[4] กรรมสิทธิ์ในปัจจัยการผลิตทางสังคม ถือเป็นหัวใจสำคัญที่ใช้เป็นเกณฑ์แบ่งหมวดหมู่ของระบบเศรษฐกิจรูปแบบต่าง ๆ

ปัจจัยการผลิตแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ เครื่องมือทางแรงงาน (เครื่องมือ โรงงาน โครงสร้างพื้นฐาน ฯลฯ) และวัตถุทางแรงงาน (ทรัพยากรธรรมชาติและวัตถุดิบ) กระบวนการผลิตจึงเป็นการแปรรูปวัตถุทางแรงงานโดยใช้เครื่องมือทางแรงงานในการดำเนินงาน กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ แรงงานมีกิจกรรมที่ต้องลงมือกระทำต่อปัจจัยการผลิตเพื่อผลิตสินค้า[5] ในยุคสังคมเกษตร ปัจจัยการผลิตที่เป็นหัวใจสำคัญคือพลั่วและดิน ในยุคสังคมอุตสาหการ ปัจจัยการผลิตกลายสภาพเป็นปัจจัยการผลิตทางสังคมที่รวมถึงเหมืองแร่และโรงงาน ในยุคเศรษฐกิจแห่งความรู้ คอมพิวเตอร์และโครงข่ายคอมพิวเตอร์นับเป็นปัจจัยการผลิต นอกจากนี้ความหมายโดยกว้างของ “ปัจจัยการผลิต” ยังรวมถึง “ปัจจัยการกระจายตัว” ด้วย เช่นร้านค้า อินเตอร์เน็ต และทางรถไฟ (ทุนโครงสร้างพื้นฐาน)[6]

ลัทธิมากซ์ และทฤษฎีชนชั้นแบบมากซ์[แก้]

การวิเคราะห์ปัจจัยการผลิตด้านความซับซ้อนของเทคโนโลยี และในแง่กรรมสิทธิ์ในปัจจัยการผลิตนั้น ถือเป็นหัวใจสำคัญของกรอบทฤษฎีลัทธิมากซ์เรื่องวัตถุนิยมประวัติศาสตร์ และเศรษฐศาสตร์สำนักมาคส์

งานเขียนของมากซ์ ตลอดจนพัฒนาการของทฤษฎีลัทธิมากซ์ในระยะหลัง อธิบายว่าวิวัฒนาการด้านเศรษฐกิจและสังคมนั้น เป็นไปตามความเจริญก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีในปัจจัยการผลิต เมื่อเทคโนโลยีก้าวหน้าขึ้น และทำให้สมรรถภาพทางการผลิตเพิ่มขึ้น จะทำให้รูปแบบความสัมพันธ์ทางสังคมที่ปรากฏ ณ เวลานั้นกลายเป็นสิ่งที่ฟุ่มเฟือยและไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป และก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างระดับของเทคโนโลยีในปัจจัยการผลิตในด้านหนึ่ง กับการระเบียบทางเศรษฐกิจและสังคมในอีกด้านหนึ่ง ความขัดแย้งนี้ปรากฏเป็นที่ประจักษ์ในรูปของความขัดแย้งทางชนชั้น ซึ่งก่อตัวขึ้นจนถึงจุดที่วิถีการผลิต ณ เวลานั้นไม่มีเสถียรภาพ อันจะทำให้ถึงจุดที่ล่มสลาย หรือถูกโค่นล้มด้วยการปฏิวัติทางสังคม อย่างใดอย่างหนึ่ง ความขัดแย้งเหล่านี้จะคลี่คลายโดยการกำเนิดของวิถีการผลิตแบบใหม่ ซึ่งมีรากฐานของความสัมพันธ์ทางสังคมที่แตกต่างจากเดิม โดยเฉพาะการมีรูปแบบกรรมสิทธิ์ในปัจจัยการผลิตที่ต่างจากเดิมอย่างมีนัยยะสำคัญ[7]

กรรมสิทธิ์ในปัจจัยการผลิตและอำนาจควบคุมเหนือผลิตผลส่วนเกิน ซึ่งได้จากการผลิตนั้น เป็นปัจจัยพื้นฐานในการกำหนดวิถีการผลิตในรูปแบบต่าง ๆ เช่นทุนนิยมมีนิยามว่ากรรมสิทธิ์และอำนาจควบคุมในปัจจัยการผลิตเป็นของเอกชน ซึ่งผลิตผลส่วนเกินเป็นที่มาของรายได้ค้างรับของผู้เป็นเจ้าของ ในขณะที่สังคมนิยมมีนิยามว่ากรรมสิทธิ์ในปัจจัยการผลิตเป็นของสังคม ดังนั้นผลิตผลส่วนเกินจะเกิดการทวีตัวและกลับคืนสู่สังคมส่วนใหญ่

เกณฑ์จำแนกชนชั้น[แก้]

ทฤษฎีชนชั้นของมาร์กซ์ ได้นิยามชนชั้นในเชิงความสัมพันธ์ต่อกรรมสิทธิ์และอำนาจควบคุมเหนือปัจจัยการผลิต เช่นในกรณีสังคมทุนนิยม ชนชั้นกระฎุมพี หรือชนชั้นนายทุน คือชนชั้นผู้เป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต และเก็บเกี่ยวรายได้ที่มิได้มาจากการออกแรงทำงานโดยตรงจากกิจกรรมการผลิตเหล่านั้น ในขณะที่ชนชั้นกรรมาชีพ หรือชนชั้นแรงงานผู้เป็นประชากรส่วนใหญ่ ไม่อาจเข้าถึงปัจจัยการผลิตดังกล่าว จึงถูกชักนำให้ต้องขายกำลังแรงงานของตนเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าแรง หรือเงินเดือน เพื่อให้ตนสามารถเข้าถึงสินค้าและบริการต่าง ๆ อันเป็นปัจจัยที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต[8]

จากคำถามที่ว่าเหตุใดสังคมมนุษย์จึงมีชนชั้นปรากฏขึ้นตั้งแต่แรกนั้น คาร์ล มากซ์ ให้ข้ออธิบายเชิงวิทยาศาสตร์และประวัติศาสตร์ว่า กำเนิดของชนชั้นมาจากกรรมสิทธิ์ในปัจจัยการผลิตที่ฝังตัวอยู่ในวิถีทางวัฒนธรรม อรรถาธิบายนี้แตกต่างกับข้ออธิบายอื่น ๆ เป็นอย่างยิ่งในข้อที่ว่า ชนชั้นเกิดจาก “ความสามารถที่ต่างกัน” ระหว่างกลุ่มชน หรือศาสนา หรือสังกัดทางการเมือง นอกจากนี้อรรถาธิบายของมาร์กซ์ข้อนี้ มีความสอดคล้องต้องกันในทฤษฎีส่วนใหญ่ของลัทธิมากซ์ ที่กล่าวว่าการเมืองและศาสนานั้น เป็นเพียงผลพลอยได้ (โครงสร้างส่วนบน) จากรากฐานความเป็นจริงทางเศรษฐกิจของมนุษย์[9]

บัญญัติศัพท์ที่เกี่ยวข้อง[แก้]

ตัวแปรการผลิต (อังกฤษ: Factors of production) ปรากฏอรรถาธิบายในหนังสือว่าด้วยทุน ของนักเศรษฐศาสตร์ชาวเยอรมัน คาร์ล มากซ์ ว่าประกอบไปด้วยแรงงาน วัตถุทางแรงงาน และเครื่องมือทางแรงงาน บัญญัติศัพท์นี้จึงตรงกับนัยของ ปัจจัยการผลิตบวกกับแรงงาน อนึ่ง คำว่าตัวแปรการผลิต มักเป็นที่กล่าวถึงในงานเขียนเชิงเศรษฐศาสตร์จากสำนักคลาสสิค ว่าประกอบไปด้วยที่ดิน แรงงาน และทุน บางกรณีมาร์กซ์มักใช้คำว่า “พลังการผลิต” สลับกับคำว่า “ตัวแปรการผลิต” เช่นในหนังสือว่าด้วยทุน มาร์กซ์ใช้คำว่า “ตัวแปรการผลิต” ในขณะที่คำนำของงานเขียนเรื่องทัศนะต่อข้อวิพากษ์เศรษฐศาสตร์การเมือง มาร์กซ์ใช้คำว่า “พลังการผลิต” (อาจขึ้นอยู่กับสำนวนการแปล)

ความสัมพันธ์ทางการผลิต (อังกฤษ: Relations of Production, เยอรมัน: Produktionsverhältnis) คือความสัมพันธ์ระหว่างกันของมนุษย์ในแง่การใช้ประโยชน์ซึ่งปัจจัยการผลิตในกิจกรรมการผลิต ตัวอย่างเช่นความสัมพันธ์ระหว่าง นายจ้าง/ลูกจ้าง ผู้ซื้อ/ผู้ขาย การแบ่งงานเชิงเทคนิคในโรงงาน ตลอดจนความสัมพันธ์ในทรัพย์สิน

วิถีการผลิต (อังกฤษ: Mode of production, เยอรมัน: Produktionsweise) หมายถึงระเบียบการผลิตซึ่งเป็นกระแสหลักในสังคม เช่น “ทุนนิยม” เป็นชื่อของวิถีการผลิตของนายทุน ผู้เป็นชนชั้นเอกชนกลุ่มน้อยในสังคม (กระฎุมพี) ซึ่งถือกรรมสิทธิ์ในปัจจัยการผลิตต่าง ๆ และได้ประโยชน์จากแรงงานของชนชั้นแรงงาน (ชนชั้นกรรมาชีพ) ในขณะที่ คอมมิวนิสม์ เป็นวิถีการผลิตซึ่งไม่มีใครเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต แต่ปัจจัยการผลิตดังกล่าวถูกแบ่งปันไปสู่ส่วนรวม และปราศจากการขูดรีดทางชนชั้น

ดูเพิ่ม[แก้]

เชิงอรรถ[แก้]

  1. Eatwell, John; Milgate, Murray; Newman, Peter (April 19, 1990). Marxian Economics: The New Palgrave. W. W. Norton & Company. p. 76. ISBN 978-0393958607. The conception of capital within orthodox economics. Within orthodox economics, “the term ‘capital’ generally refers to the means of production. .”
  2. James M. Henslin (2002). Essentials of Sociology. Taylor & Francis US. p. 159. ISBN 9780205337132.
  3. Oxford Dictionaries. "means of production เก็บถาวร 2017-12-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน". Oxford Dictionaries. Retrieved 7 December 2017. the facilities and resources for producing goods.
  4. Karl Kautsky (1983). Selected Political Writings. 978-0333283844. p. 9. Here we encounter a further characteristic of the modern wage proletarian. He works not with individual but with social means of production, means of production so extensive that they can be operated only by a society of workers, not by the individual worker.
  5. Michael Evans, Karl Marx, London, England, 1975. Part II, Chap. 2, sect. a; p. 63.
  6. Flower, B. O. The Arena, Volume 37. The Arena Pub. Co, originally from Princeton University. p. 9
  7. Mode of Production. Marxism.org
  8. Ishiyama, Breuning, John, Marijke (October 22, 2010). 21st Century Political Science: A Reference Handbook. SAGE Publications, Inc. For Marx, class was defined by an individual’s relationship to the means of production...Class is determined by the extent to which people own most, some, or little of the means of production, or by their relationship to the means of production. It is generally conflict over control or access to the means of production that drives history.
  9. Frederick Engels: Socialism: Utopian and Scientific Chapter III Historical Materialism. Marx2mao.com. p. 74

อ้างอิง[แก้]

  • Institute of Economics of the Academy of Sciences of the U.S.S.R. (1957). Political Economy: A Textbook. London: Lawrence and Wishart.