ความเห็นพ้อง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ฉันทามติ)

ความเห็นพ้อง, ฉันทานุมัติ หรือ ฉันทมติ (อังกฤษ: consensus) มาจากภาษาละตินว่า cōnsēnsus หรือ cōnsentiō หมายถึง ความรู้สึกร่วมกัน (feel together) โดยพจนานุกรมฉบับ Merriam-Webster’s ให้ความหมายของ consensus ไว้ว่าเป็นข้อตกลงร่วมกันที่มีลักษณะเป็นการยอมรับแบบเอกฉันท์ (unanimity) หัวใจของความเห็นพ้องมีสาระสำคัญอยู่ที่การประนีประนอมระหว่างกัน และจัดกระบวนการให้คนในสังคมหรือชุมชนมีสิทธิในการแสดงความคิดเห็น เป้าหมายของความเห็นพ้องมีเพื่อเป็นเครื่องรับประกันว่าสมาชิกทุกคนในชุมชนจะสามารถแสดงความคิดเห็นและหาข้อตกลงร่วมกันได้ [1]

ความเห็นพ้องมักเชื่อมโยงกับการตัดสินใจ (consensus decision making) ซึ่งหมายถึงกระบวนการตัดสินใจโดยกลุ่มคนที่เน้นความยินยอมและเห็นชอบร่วมกันจากผู้มีส่วนร่วมทุกคน ดังนั้น ความเห็นพ้องในกระบวนการตัดสินใจจึงหมายถึงทางออกแห่งปัญหาซึ่งเป็นที่ยอมรับร่วมกัน ได้รับการสนับสนุนจากทุกฝ่าย ถึงแม้อาจไม่ใช่ทางเลือกที่ดีที่สุดในใจของคนทุกคน[2]

อรรถาธิบาย[แก้]

ความเห็นพ้องเป็นรูปแบบการตัดสินใจที่ถูกออกแบบมาให้มีความแตกต่างจากการตัดสินใจโดยใช้เสียงข้างมาก (majority decision) ฉะนั้น ความเห็นพ้องจะไม่เน้นที่การลงคะแนนเสียง เพราะการลงคะแนนเสียงอาจทำให้เสียงข้างน้อย (minorities) ถูกละเลยไปได้ ดังนั้น ความเห็นพ้องจึงเน้นที่กระบวนการในการอภิปรายถกเถียง รับฟังความคิดเห็นเพื่อหาข้อตกลงร่วมกันระหว่างทุกฝ่ายมากกว่า หรืออาจจะกล่าวได้ว่าความเห็นพ้องเป็นรูปแบบการตัดสินใจที่จะป้องกันปรากฏการณ์ที่เรียกว่าเผด็จการเสียงข้างมาก (majority tyranny) การตัดสินใจแบบความเห็นพ้อง เป็นกระบวนการตัดสินใจที่กลุ่มคนจำนวนมากอาจเห็นไม่ตรงกัน แต่ต้องการให้เกิดการมีส่วนร่วมและความเห็นพ้องต้องกันมากที่สุด กระบวนการถกอภิปราย ประกอบด้วยขั้นตอนดังนี้

  • รวมคนทุกกลุ่ม (inclusive) : เปิดให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้าร่วมในกระบวนการถกอภิปรายให้มากที่สุด
  • เปิดช่องทางการมีส่วนร่วม (participatory) : ผู้เข้าร่วมต้องมีโอกาสแสดงความคิดเห็น
  • ร่วมด้วยช่วยกัน (collaborative) : ทุกกลุ่ม ทุกคน ร่วมมือกันเสนอทางเลือก คนที่มีความเห็นคล้ายกันพยายามปรับข้อเสนอให้เป็นตัวแทนความคิดของกลุ่มตน เพื่อให้กลุ่มอื่นพิจารณา
  • หาข้อตกลง (agreement seeking) : เป้าหมายคือ พยายามหาข้อตกลงร่วมกันให้มากที่สุด เป้าหมายสูงสุดคือความเห็นพ้องต้องกันอย่างสมบูรณ์
  • เกื้อกูลกัน (cooperative) : ผู้เข้าร่วมควรมีหัวใจอยู่ที่ผลประโยชน์ร่วมกันของทุกฝ่าย ควรปล่อยให้ทุกกลุ่มได้แสดงความต้องการที่แท้จริงของตนเอง เพื่อนำมาปรับเข้ากับทางเลือกที่ทุกฝ่ายจะยอมรับร่วมกันได้ ขณะเดียวกัน ก็ไม่ควรให้ความต้องการเฉพาะของกลุ่มตนบดบังหรือทำให้ผลประโยชน์ร่วมกันไม่สามารถบรรลุได้[3]

ขั้นตอนไปสู่การตัดสินใจแบบความเห็นพ้อง

  1. ถกอภิปราย
  2. แจกแจงข้อเสนอ/ทางเลือก
  3. ระบุตัวตนผู้มีส่วนร่วม/ส่วนได้ส่วนเสีย
  4. ร่วมกันปรับปรุง แก้ไขข้อเสนอ/ทางเลือก
  5. ประเมินเสียงสนับสนุน
  6. สรุปมติ หรือถ้าไม่สามารถหามติร่วมกันได้ ให้กลับไปทำข้อที่ 1-5 ใหม่

การสรุปผลการตัดสินใจหรือกติกาการตัดสินใจ ขึ้นอยู่กับข้อกำหนดที่ตกลงกันไว้ล่วงหน้า น้ำหนักและขอบเขตของการเห็นพ้องต้องกันมีหลายขนาดเช่น ทุกคนเห็นพ้องร่วมกัน ทุกคนเห็นร่วมกัน ยกเว้นหนึ่งเสียงหรือสองเสียง เสียงข้างมากเด็ดขาดอย่างมาก (super majority) ซึ่งมีตั้งแต่ 90% 75% เสียงสองในสาม หรืออื่น ๆ ที่มากกว่าเสียงข้างมากเพียงครึ่งหนึ่ง บางกรณีอาจใช้การตัดสินใจของคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นก็ได้ ในกรณีที่ต้องการเสียงเห็นพ้องต้องกันอย่างสมบูรณ์ (unanimity) ผู้ที่ไม่เห็นด้วยเพียงหนึ่งเสียงก็อาจมีอำนาจยับยั้ง (block) การตัดสินใจนั้นได้ ขึ้นอยู่กับว่ากติกาที่กำหนดไว้เป็นเช่นไร (Hartnett, 2011) [4]

ตัวอย่างการนำไปใช้ในประเทศไทย[แก้]

สำหรับประเทศไทย ศาสตราจารย์ ดร.กาญจนา นาคสกุล ได้ให้นิยาม “ฉันทามติ” ว่าเป็นคำที่ไม่ปรากฏในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 คำที่ใกล้เคียงกัน คือ คำว่า “ฉันทาคติ” แปลว่า ความลำเอียงเพราะรักใคร่ชอบใจ กับคำว่า “ฉันทานุมัติ” แปลว่า ความเห็นชอบตามโดยความพอใจ ให้กระทำการด้วยความเต็มใจ มักใช้ว่ามีฉันทานุมัติหรือลงฉันทานุมัติ หมายความว่าลงความเห็นด้วยความยินยอมพร้อมใจ เช่น ญาติ ๆ มีฉันทานุมัติให้เขาเป็นผู้จัดการมรดกของคุณปู่ “ฉันทานุมัติ” กับ “ฉันทามติ” จึงใช้ในความหมายเดียวกัน[5] คำที่เขียนถูกต้องควรจะเป็น “ฉันทมติ” ซึ่งเป็นคำสมาสของ ฉันท+มติ หากเขียนว่า “ฉันทามติ” จะหมายถึง ฉันท+อมติ ซึ่งมีความหมายตรงกันข้าม[6]

ในเชิงการนำไปใช้พบตัวอย่างเช่น ในเอกสารแผนพัฒนาการเมืองของสภาพัฒนาการเมืองเห็นว่า การสร้างกระบวนการแสวงหาฉันทามติในการหาข้อสรุปหรือมติที่ “ทุกคน” ที่เกี่ยวข้องยอมรับด้วยความเต็มใจโดยไม่มองข้ามความคิดเห็นหรือข้อคัดค้านของคนส่วนน้อย หลายครั้งจึงพบว่า “ญัตติสาธารณะ” และการริเริ่มหรือการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ๆ ทางการเมืองอาจถูกอ้างว่าได้รับฉันทานุมัติจากประชาชนนอกสภา เช่น การขับไล่เผด็จการทหาร หรือเผด็จการระบอบรัฐสภา การร่างรัฐธรรมนูญ รวมทั้งการปฏิรูปการเมือง เป็นต้น แต่ในความเป็นจริง สังคมไทยยังไม่เคยนำกระบวนการตัดสินใจแบบเห็นพ้องต้องกันอย่างฉันทามติมาใช้อย่างเป็นทางการเลย[7]

ด้วยเหตุนี้จึงเห็นได้ว่าการใช้คำว่าความเห็นพ้องในสังคมไทยยังมีปัญหาในการทำความเข้าใจใน 2 ระดับดังนี้

  1. ปัญหาระดับการนิยาม เป็นปัญหาในการให้ความหมายที่เน้นเรื่องของเสียงข้างน้อย ไม่ใช่เรื่องของ “กระบวนการ” เพราะความเห็นพ้องในความหมายสากลไม่ได้สนใจเสียงข้างน้อยแต่เพียงอย่างเดียว แต่จะสนใจทั้งกระบวนการไม่ว่าจะมีเสียงขนาดไหน ก็มีสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็นและอภิปรายถกเถียงเพื่อหาข้อตกลงร่วมกันได้
  2. ปัญหาระดับการปฏิบัติ ความเห็นพ้องมักถูกใช้เป็นข้ออ้างในการไม่ปฏิบัติตามเสียงข้างมาก และไม่สนใจกติกาของสังคม ซึ่งปัญหาดังกล่าวถือว่าเป็นปัญหาระดับสากลเช่นเดียวกัน เพราะคำว่า consensus ที่ต้องการให้ทุกเสียงมีความหมายอาจจะถูกนำไปบิดเบือนให้กลายเป็นเสียงข้างน้อยเท่านั้นที่มีความหมาย หรือกล่าวได้ว่าเกิดเผด็จการเสียงข้างน้อย (minority tyranny)

อ้างอิง[แก้]

  1. [1]
  2. Read, James H. (2011). “Consensus”. In George Thomas Kurian et al. The Encyclopedia of Political Science. Washington, D.C.: CQ Press.
  3. Lijphart, Arend (1984). Democracies: Patterns of Majoritarian and Consensus Government in Twenty-one Countries. New Haven: Yale University Press.
  4. Hartnett, Tim (2011). The Basics of Consensus Decision Making. New York: New Society Publisher. Accessed May 7, 2012 from [2].
  5. “ฉันทามติ” (2555). ราชบัณฑิตสถาน. เข้าถึงวันที่ 20 สิงหาคม 2555 ใน [3].
  6. “ฉันทามติ?” หมายความว่าอย่างไร
  7. “แผนพัฒนาการเมือง” (2555). สภาพัฒนาการเมือง. เข้าถึงวันที่ 20 สิงหาคม 2555 ใน [4][ลิงก์เสีย].