ข้ามไปเนื้อหา

ผลต่างระหว่างรุ่นของ "ธงไชย แมคอินไตย์"

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เนื้อหาที่ลบ เนื้อหาที่เพิ่ม
ยุทธนาสาระขันธ์ (คุย | ส่วนร่วม)
ไม่มีความย่อการแก้ไข
ป้ายระบุ: แก้ไขจากอุปกรณ์เคลื่อนที่ แก้ไขจากเว็บสำหรับอุปกรณ์เคลื่อนที่ แก้ไขขั้นสูงด้วยอุปกรณ์เคลื่อนที่
ไม่มีความย่อการแก้ไข
ป้ายระบุ: แก้ไขจากอุปกรณ์เคลื่อนที่ แก้ไขจากเว็บสำหรับอุปกรณ์เคลื่อนที่
บรรทัด 1: บรรทัด 1:

{{บทความคัดสรร}}
{{Infobox person
| name = ธงไชย แมคอินไตย์
| image = 2019-06-13-15-20-15-1-s.jpg
| image = 2019-06-13-15-20-15-1-s.jpg
| captio
| caption = ธงไชย แมคอินไตย์
| alt =
| alt =
| birth_name =
| birth_name =
บรรทัด 18: บรรทัด 16:
| years_active = พ.ศ. 2526 – ปัจจุบัน
| years_active = พ.ศ. 2526 – ปัจจุบัน
| notable_works = พิธีกร ''[[7 สีคอนเสิร์ต]]''<br>''[[บูมเมอแรง (อัลบั้ม)|บูมเมอแรง]]''<br>''[[คู่กรรม]]'' (2533)<br>''[[ชุดรับแขก (อัลบั้ม)|ชุดรับแขก]]''<br>[[คอนเสิร์ตแบบเบิร์ดเบิร์ดโชว์]]
| notable_works = พิธีกร ''[[7 สีคอนเสิร์ต]]''<br>''[[บูมเมอแรง (อัลบั้ม)|บูมเมอแรง]]''<br>''[[คู่กรรม]]'' (2533)<br>''[[ชุดรับแขก (อัลบั้ม)|ชุดรับแขก]]''<br>[[คอนเสิร์ตแบบเบิร์ดเบิร์ดโชว์]]
| awa
| awards =
| signature = ลายมือของเบิร์ด ธงไชย แมคอินไตย์.gif
| signature_alt =
| signature_size = 170px
| module = {{Infobox musical artist|embed=yes
| background =
| genre = <small>[[ป็อบ]]{{•}} [[อาร์แอนด์บีร่วมสมัย|อาร์แอนด์บี]]{{•}} [[แดนซ์ป็อป]]{{•}} [[ป็อปร็อก]]{{•}} [[อิเล็กโทรป็อป]]{{•}} [[อิเล็กทรอนิกา]]</small>
| instrument =
| label = [[จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่|จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่]]
| associated_acts =
}}
| website =
}}

'''ธงไชย แมคอินไตย์''' {{ชื่อเล่น|เบิร์ด}} (เกิด 8 ธันวาคม พ.ศ. 2501) เป็นนักร้อง นักแสดง[[ชาวไทย]] ได้รับขนานนามว่าเป็น "[[ซูเปอร์สตาร์]]เมืองไทย" โดยคนไทยรู้จักกันดี เรียกกันว่า : พี่เบิร์ด<ref>{{Cite web|url=https://www.thairath.co.th/content/1374609|title=60 ปี พี่เบิร์ด 'ธงไชย แมคอินไตย์' ข้อดีความจน ที่มาพี่เบิร์ดรักทุกคน:บทสัมภาษณ์สุดเอ็กซ์คลูซีฟ ซุปเปอร์สตาร์อันดับ 1 ตลอดกาล |publisher=[[ไทยรัฐ]]|date=17 กันยายน พ.ศ. 2561}}</ref><ref>{{Cite web|url=https://undubzapp.com/top-5-superstars-ranking/|title=5 อันดับ คนดัง ครองบัลลังก์ซุปตาร์:ธงไชยอันดับ 1|publisher=undubzapp|date=21 มกราคม พ.ศ. 2559}}</ref> แรกเข้าวงการบันเทิงเป็นนักแสดงสมทบ ต่อมาได้รับบทพระเอก โดยภาพยนตร์ที่สร้างชื่อเสียงให้กับเขาที่สุดเรื่อง ''[[ด้วยรักคือรัก]]''<ref>{{Cite web|url=http://music.sanook.com/2381745/|title=10 ศิลปินดัง! ที่ผันตัวจากนักแสดงสู่วงการเพลง|publisher=[[สนุก.คอม]]|date=4 ตุลาคม พ.ศ. 2559}}</ref> ส่วนละครที่สร้างชื่อเสียงที่สุดของเขาคือบท "โกโบริ" ในละคร''[[คู่กรรม]]''<ref>{{Cite web|url=http://www.komchadluek.net/news/ent/325045|title=ตำนานคู่ขวัญสะเทือนเรตติ้ง 'โกโบริเบิร์ด-อังศุมาลินกวาง'|publisher=[[คมชัดลึก]]|date=8 พฤษภาคม พ.ศ. 2561}}</ref> ด้านวงการเพลงซึ่งเป็นอาชีพหลักเขาเริ่มต้นจากการประกวดร้องเพลงของสยามกลการ ต่อมาเป็นนักร้องในสังกัดบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ซึ่งประสบความสำเร็จสูงสุดของประเทศไทย<ref>{{Cite web|url=http://music.sanook.com/63985/|title=นักร้องยอดนิยมแห่งปี 2010|publisher=[[สนุก.คอม]]|date=12 พฤศจิกายน 2553}}</ref> มียอดจำหน่ายอยู่ในระดับแนวหน้าของทวีปเอเชียยอดรวมกว่า 25 ล้านชุด<ref name=":6">{{cite web |url= http://music.sanook.com/news/news_19425.php|title=เบิร์ดนักร้องยอดนิยม เป็นระดับแนวหน้าของเอเชีย จากการจัดระดับโดยนิตยสารเอ็นเตอร์เทนเมนต์วีกลี่|last1= |first1= |last2= |first2= |date=12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553|work= |publisher=[[สนุก.คอม]]|accessdate=2 มิถุนายน พ.ศ. 2561}}</ref>

ธงไชยมีผลงานที่สร้างชื่อเสียงยาวนานไม่ต่ำกว่า 30 ปีในวงการบันเทิง<ref>{{Cite web|url=http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1352881328|title=30 ปี แห่งที่สุดของแกรมมี่ บนเส้นทางสายดนตรี|publisher=[[ประชาชาติธุรกิจ]]|date=14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555}}</ref> มีสตูดิโออัลบั้มเดี่ยวที่มียอดจำหน่ายเกินล้านตลับมากที่สุด 7 ชุด<ref>{{cite web |url=https://www.bugaboo.tv/watch/309922|title= แกรมมี่เผยรายชื่อ อัลบั้มยอดขายล้านตลับตลอด 33 ปี เบิร์ด ธงชัย จัดไป 9 อัลบั้ม|last1= |first1= |last2= |first2= |date=10 เมษายน พ.ศ. 2560 |work= |publisher=bugaboo.tv|accessdate=17 ตุลาคม พ.ศ. 2561}}</ref> โดยอัลบั้ม''[[ชุดรับแขก (อัลบั้ม)|ชุดรับแขก]]'' มียอดจำหน่ายมากกว่า 5 ล้านชุด สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ของประเทศไทย<ref name=":numberone"/><ref name=":fivemillion"/> และการแสดงคอนเสิร์ตของเขามียอดผู้ชมรวมจากการจำหน่ายบัตรของต้นสังกัดสูงที่สุด<ref>{{Cite web|url=https://scontent.fbkk7-3.fna.fbcdn.net/v/t1.0-9/25550648_1081390068667095_1251248354678377239_n.jpg?_nc_cat=0&oh=32517d113617adfd34985c6e15baea35&oe=5BEF8866|title=สถิติที่สุดในความทรวงจำของแกรมมี่|publisher=GMMSuperstar|date=24 ธันวาคม พ.ศ. 2560}}</ref> โดยเฉพาะ[[คอนเสิร์ตแบบเบิร์ดเบิร์ดโชว์]] มีผู้ชมสูงสุดของประเทศไทย<ref>{{Cite web|url=https://gossipstar.mthai.com/gossip-content/15588|title=แบบเบิร์ดเบิร์ดโชว์กลับมาอีกครั้ง:คอนเสิร์ตครั้งแรกของเมืองไทยที่มีคนดูมากที่สุด|publisher=[[เอ็มไทย]]|date=30 กันยายน พ.ศ. 2550}}</ref><ref name=":BBB">{{Cite web|url=https://www.youtube.com/watch?v=iaPrb7K_cuA|title=GMM News บันเทิง :"คอนเสิร์ตแบบเบิร์ดเบิร์ดผู้ชมสูงสุดในประเทศไทย"(นาทีที่ 1.5)|publisher=OfficeYoutubeGMM25Thailand|date=11 ตุลาคม พ.ศ. 2561|accessdate=15 ตุลาคม พ.ศ. 2561}}</ref> จากชื่อเสียงที่ยาวนานทำให้สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ และสมาคมนักข่าวบันเทิงแห่งประเทศไทยได้ให้ฉายาธงไชยว่า "ดาวค้างกรุ" (ปี พ.ศ. 2548)<ref name=":8">{{Cite web|url=http://movie.sanook.com/25686/|title=ตั้งฉายาดาราประจำปี เขย่าวงการบันเทิงปีแรก|publisher=[[สนุก.คอม]]|date=28 ธันวาคม 2548|accessdate=4 ธันวาคม 2560}}</ref> และ "ป๋าพันปี" (ปี พ.ศ. 2550)<ref name=":9">{{Cite web|url=http://movie.sanook.com/23855/|title=10 ฉายาดาราแห่งปี 2550|publisher=[[สนุก.คอม]]|date=25 ธันวาคม พ.ศ. 2550|accessdate=4 ธันวาคม พ.ศ. 2560}}</ref> และส่วนหนึ่งจากการสำรวจความนิยมของธงไชย โดย[[มหาวิทยาลัยรามคำแหง]] (ปี พ.ศ. 2545) ภาพลักษณ์ที่สำคัญของเขา คือ ความกตัญญู ความสามารถในการร้องเพลง การพัฒนาตนเอง ความสามารถในการให้ความบันเทิงแก่ผู้ชม และการเป็นแบบอย่างที่ดี เป็นต้น<ref name=":rampoll">{{Cite web|url=http://www.rd.ru.ac.th/doc2/2545.html|title=ผลสำรวจเรื่อง "เบิร์ด : ทำไมจึงยังครองความเป็นซุปเปอร์สตาร์"|publisher=[[มหาวิทยาลัยรามคำแหง]]|date=ปี พ.ศ. 2545|accessdate=21 มีนาคม พ.ศ. 2558}}</ref>


== ชีวิตช่วงแรก และการศึกษา ==
== ชีวิตช่วงแรก และการศึกษา ==

รุ่นแก้ไขเมื่อ 14:42, 16 ธันวาคม 2562

| image = 2019-06-13-15-20-15-1-s.jpg | captio | alt = | birth_name = | alias = | birth_date = 8 ธันวาคม พ.ศ. 2501 (65 ปี) | birth_place = กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย | home_town = | ส่วนสูง = 1.77 | partner = | children = | net_worth = | alma_mater = | occupation = นักร้อง • นักแสดง • นักพากย์ • พิธีกร | years_active = พ.ศ. 2526 – ปัจจุบัน | notable_works = พิธีกร 7 สีคอนเสิร์ต
บูมเมอแรง
คู่กรรม (2533)
ชุดรับแขก
คอนเสิร์ตแบบเบิร์ดเบิร์ดโชว์ | awa

ชีวิตช่วงแรก และการศึกษา

ธงไชย แมคอินไตย์ เกิดวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2501[1] ที่ย่านสลัมบางแค ฝั่งธนบุรี มีชื่อภาษาอังกฤษว่า "อัลเบิร์ต แมคอินไตย์" (Albert McIntyre) หรือเรียกชื่อเล่นว่า "เบิร์ด" เป็นบุตรคนที่ 9 ในจำนวนพี่น้อง 10 คน ของเจมส์ (จิมมี่) แมคอินไตย์ นายแพทย์ลูกครึ่งสกอต-มอญ และอุดม แมคอินไตย์ ครอบครัวของเขาค่อนข้างยากจน ในวัยเด็กธงไชยช่วยเหลือครอบครัวโดยการช่วยพับถุง ขายเรียงเบอร์ เก็บกระป๋องนมขาย และเย็บงอบ เป็นต้น นอกจากนั้นยังหารายได้จากการสอนภาษาอังกฤษให้เด็กที่สลัมบางแคซึ่งมีรายได้ 5 ถึง 10 บาท แล้วแต่จะบริจาค[2] โดยธงไชยเล่าถึงแง่คิดชีวิตวัยรุ่นตอนที่อาศัยอยู่สลัมบางแคว่า "สอนและให้เราสอบผ่านให้ได้ทุกวัน การเรียนรู้และการแบ่งแยกความคิดไปในทางที่ดี ไม่จำเป็นต้องมีทุกอย่างพร้อม คนเราจะดีหรือไม่ดีขึ้นอยู่กับตัวเราเท่านั้น"[3] เขาชอบร้องเพลงตั้งแต่เด็ก ได้เข้าร่วมประกวดในเวทีงานวัดต่าง ๆ และเคยได้รางวัล โดยฝึกร้องและสอนกันเองในครอบครัว[4] จากฝีมือการเล่นดนตรีของพี่น้อง 7 คน จึงรวมตัวเล่นดนตรีมีชื่อวงว่า "มองดูเลี่ยน"[2]

ธงไชยศึกษาระดับประถมศึกษาที่โรงเรียนวัดนิมมานรดี ระหว่างนั้นก็รับเป็นอาสาสมัครช่วยเหลือครูในกิจกรรมร้องรำทำเพลงต่าง ๆ เสมอ และเป็นคนร่าเริง กล้าแสดงออก ต่อมา ศึกษาระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนปัญญาวรคุณ เป็นเชียร์ลีดเดอร์รุ่นแรกของโรงเรียน[5] เขาสำเร็จการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) สาขาการจัดการ ที่วิทยาลัยพณิชยการธนบุรี[6] ทั้งนี้ภายหลังจากเขาเข้าวงการบันเทิง และประสบความสำเร็จในอาชีพ ในปี พ.ศ. 2545 ธงไชยได้รับพระราชทานปริญญากิตติมศักดิ์[7] คณะนาฏศิลป์และดุริยางค์ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี สำหรับผู้สร้างสรรค์ผลงานด้านดนตรีสากล และประสบความสำเร็จในอาชีพ

เข้าวงการบันเทิง

ระหว่างที่ธงไชยทำงานอยู่แผนกต่างประเทศของธนาคารกสิกรไทย สาขาท่าพระ ธงไชยยังทำงานอื่น ๆ เพื่อหารายได้พิเศษเพื่อช่วยเหลือครอบครัว อาทิ ถ่ายแบบ ถ่ายโฆษณา รวมถึงเป็นพนักงานเปิดประตูในดิสโก้เธคชื่อ ฟามิงโก ในโรงแรมแอมบาสเดอร์[2] ที่นั่นเองทำให้ธงไชยได้รู้จักกับผู้จัดละคร วรายุฑ มิลินทจินดา ซึ่งเป็นแขกของโรงแรม ธงไชยร่วมร้องเต้นสร้างความบันเทิงให้กับแขกจนวรายุฑชักชวนธงไชยให้มาเล่นละครเรื่อง น้ำตาลไหม้ (พ.ศ. 2526) โดยมีอดุลย์ ดุลยรัตน์เป็นผู้ช่วยสอน ละครเรื่องนี้เป็นละครเรื่องแรกของธงไชย ซึ่งเขาได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลผู้แสดงสมทบชายยอดเยี่ยมรางวัลเมขลา ส่งผลให้ธงไชยเป็นที่รู้จักและมีการกล่าวขานในฐานะนักแสดงหน้าใหม่ที่มีความสามารถ ต่อมาเขาได้ร่วมงานละครเวทีกับภัทราวดี มีชูธน หนึ่งในนั้นคือคอนเสิร์ตคืนหนึ่งกับภัทราวดี (พ.ศ. 2527) และในส่วนของงานในวงการแสดงภาพยนตร์เรื่องแรกของเขาคือ บ้านสีดอกรัก (พ.ศ. 2527)[2] ในระหว่างถ่ายทำเขาประสบอุบัติเหตุโดยได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ

คุณหญิงพรทิพย์ ณรงค์เดช(คนซ้าย) อดีตประธานสยามกลการ และธงไชย

ธงไชยมีความสามารถด้านการร้องเพลง เขาได้รับทาบทามให้ไปร้องเพลงในรายการสดของนันทวัน เมฆใหญ่ ขณะเดียวกันธงไชยลองสมัครประกวดร้องเพลงเวทีสยามกลการในปี พ.ศ. 2527 เป็นจุดเริ่มต้นด้านเพลงที่สำคัญ[8] การประกวดครั้งนั้นธงไชยได้รับรางวัลในการประกวด 3 รางวัล โดยเฉพาะรางวัลนักร้องดีเด่นประเภทเพลงไทยสากลจากเพลง "ชีวิตละคร" ระหว่างการประกวด ธงไชยได้พบกับเรวัต พุทธินันทน์ ซึ่งเห็นพรสวรรค์ในตัวของเขา จึงชักชวนธงไชย แต่ผลการประกวดธงไชยได้รางวัลทำให้ต้องเซ็นสัญญากับสยามกลการ เรวัต พุทธินันทน์จึงเข้าพบกับคุณหญิงพรทิพย์ ณรงค์เดชเพื่อเจรจาขอธงไชยมาเป็นศิลปินของแกรมมี่ คุณหญิงพรทิพย์ได้ตัดสินใจฉีกสัญญาและให้โอกาสธงไชยไปทำงานอย่างอิสระ ทำให้ธงไชยก้าวสู่การเป็นนักร้องอย่างเต็มตัวในสังกัดจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่[2]

ระหว่างที่รออัลบั้มเสร็จต้องใช้เวลา 2 ปี ธงไชยยังหารายได้พิเศษต่อเนื่องจากการแสดงละครและภาพยนตร์ ธงไชยรับบทพระเอกภาพยนตร์ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2528 เรื่อง ด้วยรักคือรัก คู่กับอัญชลี จงคดีกิจ และกำกับโดย หม่อมเจ้าทิพยฉัตร ฉัตรชัย ซึ่งเป็นอีกบุคคลสำคัญที่ทำให้เขาได้แจ้งเกิด[9][10] โดยภาพยนตร์ดังกล่าวได้รับการตอบรับอย่างสูง และสร้างปรากฏการณ์สำคัญในคริสต์ทศวรรษ 1980 กลายเป็นคู่ขวัญทางจอเงินระดับคลาสสิกอีกคู่หนึ่งของวงการหนังไทย[11][12][13] และในปีเดียวกัน ยังร่วมแสดงในละครเรื่อง บ้านสอยดาว และ พลับพลึงสีชมพู เป็นต้น

ในปี พ.ศ. 2529 ธงไชยได้รับเกียรติให้เป็นพิธีกรบนเวทีการประกวดนางสาวไทย รอบตัดสิน ปี 2529–2530 และเขายังเป็นพิธีกรคู่แรกในรายการถ่ายทอดสด 7 สีคอนเสิร์ต คู่กับมยุรา ธนะบุตร ซึ่งกลายเป็นพิธีกรคู่ขวัญจากความเป็นธรรมชาติ สนุกสนานของทั้งคู่[14] ทำให้เขาได้รับรางวัลผู้ดำเนินรายการดีเด่นชาย รางวัลเมขลา ประจำปี พ.ศ. 2529 "[15] และในปีเดียวกันธงไชยมีอัลบั้มแรก หาดทราย สายลม สองเรา โดยเพลง "ผ่านมา ผ่านไป" เป็นซิงเกิลแรกที่เขาเข้าบันทึกเสียง[2] สำหรับเพลงที่เป็นซิงเกิลแรกที่เผยแพร่ผ่านสื่อ และแจ้งเกิดเขาในวงการเพลงคือ เพลง "ด้วยรักและผูกพัน" "ฝากฟ้าทะเลฝัน"[16] "บันทึกหน้าสุดท้าย" เป็นต้น ซึ่งได้รับความนิยมอย่างสูง จากความสำเร็จของอัลบั้มดังกล่าวได้มีการนำเพลงดังในอัลบั้มไปใช้ประกอบในภาพยนตร์ ด้วยรักและผูกพัน ที่ถ่ายทำในต่างประเทศ ธงไชยจึงตัดสินใจลาออกจากงานประจำและก้าวสู่วงการบันเทิงอย่างเต็มตัว โดยมีพรพิชิต พัฒนถาบุตรเป็นผู้จัดการส่วนตัว[17] นอกจากนี้ ธงไชยมีคอนเสิร์ตเปิดอัลบั้มแรกชื่อว่า "คอนเสิร์ต สุดชีวิต ธงไชย" และในปีนั้นยังมีการจัดคอนเสิร์ตแบบเบิร์ดเบิร์ดโชว์ ครั้งที่ 1 ถือเป็นการบุกเบิกทำคอนเสิร์ตครั้งแรกในประเทศไทยของแกรมมี่[2]

ปี พ.ศ. 2530 - 2539

อัลบั้ม สบาย สบาย

ในปี พ.ศ. 2530 ธงไชยมีอัลบั้มดังชื่อ สบาย สบาย ซึ่งต้นสังกัดจัดให้เป็นอัลบั้มที่ดีที่สุดแห่งปี[18] โดยมีเพลงเด่น เช่น เพลง "สบาย สบาย" "เหมือนเป็นคนอื่น" และ "ฝากใจไว้" โดยเพลง "สบาย สบาย" ที่ทำให้เขาดังข้ามประเทศ[19] มีการนำลิขสิทธิ์เพลงไปแปลงหลายภาษาเช่น ภาษาจีน ภาษาฝรั่งเศส[20] เป็นต้น และในปีดังกล่าวเขาได้รับรางวัลศิลปินดีเด่น จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมและประสานงานเยาวชนแห่งชาติ (สยช.) จากความสำเร็จของเพลง "สบาย สบาย" ถูกนำไปใช้ในภาพยนตร์ หลังคาแดง ซึ่งธงไชยเป็นนักแสดงนำ โดยรับบทเป็นคนบ้า[21] คู่กับจินตรา สุขพัฒน์ โดยเพลง "สบาย สบาย" ได้รับรางวัลเพลงประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากงานประกาศรางวัลสุพรรณหงส์ทองคำ ครั้งที่ 7 จากความสำเร็จของอัลบั้มดังกล่าวและความสำเร็จของคอนเสิร์ตแบบเบิร์ดเบิร์ดครั้งแรก ทำให้ธงไชยมีคอนเสิร์ตแบบเบิร์ดเบิร์ดโชว์ ครั้งที่ 2 ในช่วงกลางปี พ.ศ. 2530 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่จัดที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย และปลายปี พ.ศ. 2530 ธงไชยออกอัลบั้ม รับขวัญวันใหม่ โดยมีเพลงเด่นคือ "หมั่นคอยดูแลและรักษาดวงใจ" และ "ขอบใจจริง ๆ" เป็นต้น

ธงไชยมีคอนเสิร์ตใหญ่สองครั้งในช่วงต้นปีถัดมา คือ คอนเสิร์ตเกาเหลาธงไชย (ไม่งอก) และคอนเสิร์ต เบิร์ด เปิ๊ด-สะ-ก๊าด และออกอัลบั้มพิเศษ พ.ศ. 2501 และอัลบั้ม ส.ค.ส. โดยมีเพลงเด่น เช่น เพลง "จับมือกันไว้" ซึ่งต่อมากลายเป็นเพลงหลักที่นำไปประกอบในการแสดงคอนเสิร์ตแบบเบิร์ดเบิร์ดโชว์อีกหลายครั้งจนปัจจุบัน เพลงเด่นอื่น ๆ เช่น "เสียงกระซิบ" "นางนวล" และ "ส.ค.ส." เป็นต้น และธงไชยมีคอนเสิร์ตแบบเบิร์ดเบิร์ดโชว์ ครั้งที่ 3 ในช่วงต้นปี พ.ศ. 2532

ละครคู่กรรม และอัลบั้มบูมเมอแรง

ธงไชย และกมลชนก โกมลฐิติ สองนักแสดงนำจากละครคู่กรรม

ในปี พ.ศ. 2533 ซึ่งเป็นยุคที่เกิดกระแสเบิร์ดฟีเวอร์[22][23] ธงไชยรับบทโกโบริในละคร คู่กรรม คู่กับกมลชนก โกมลฐิติ ซึ่งรับบทอังศุมาลิน ถือเป็นละครฉบับที่ประสบความสำเร็จสูงสุดอันดับ 1 ของไทยตลอดกาล ด้วยเรตติง 40[24][25] ละครเรื่องนี้ทำให้ธงไชยได้รับรางวัลใหญ่สองรางวัล คือ รางวัลนักแสดงนำชายดีเด่น จากงานประกาศผลรางวัลเมขลา ครั้งที่ 10 และรางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยม จากงานประกาศผลรางวัลโทรทัศน์ทองคำ ครั้งที่ 5

ในปีเดียวกันธงไชยได้ออกอัลบั้ม บูมเมอแรง ซึ่งต้นสังกัดจัดให้เป็นอัลบั้มที่ดีที่สุดแห่งปี[26] และเป็นลำดับ 3 ของอัลบั้มที่ดีที่สุดของทศวรรษ โดยเป็นศิลปินคนแรกของแกรมมี่ที่มียอดจำหน่ายมากกว่า 2 ล้านตลับ [27][28] และเขามีการจัดคอนเสิร์ตเปิดอัลบั้มมนุษย์บูมเมอแรง ต่อด้วยการทัวร์คอนเสิร์ตที่ใช้ชื่อว่ามนุษย์บูมเมอแรง และมีคอนเสิร์ตแบบเบิร์ดเบิร์ดโชว์ ครั้งที่ 4 ในปี พ.ศ. 2533 มีหัทยา เกษสังข์ ดีเจชื่อดัง มาแสดงเป็นนางเอกมิวสิกซีรีส์เพลงคู่กัดคู่กับธงไชย ความสำเร็จจากอัลบั้มดังกล่าว ทำให้ธงไชยได้รับประกาศเกียรติคุณจำนวนมาก เช่น ได้รับรางวัลพิเศษอัลบั้มที่ประสบความสำเร็จสูงสุด มอบโดยบริษัทไทยน้ำทิพย์ ผู้ผลิตเครื่องดื่มโค้ก ประเทศไทย[29] และหนังสือพิมพ์ เอกชน ยกให้เป็นศิลปินที่ได้รับประกาศเกียรติคุณมากที่สุด[4]

และถือเป็นเกียรติประวัติของธงไชย ในคอนเสิร์ตสายใจไทย ครั้งที่ 5 เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2533 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป่าทรัมเป็ตเพลง "คู่กัด" โดยมีธงไชย เป็นผู้ร่วมขับร้อง[30]

อัลบั้มพริกขี้หนู และละครวันนี้ที่รอคอย

ในปี พ.ศ. 2534 ธงไชยประสบความสำเร็จต่อเนื่องมาถึงอัลบั้มชุดที่ 6 อัลบั้มพริกขี้หนู มียอดจำหน่าย 3 ล้านตลับ[31] เป็นยอดจำหน่ายสูงสุดอีกอัลบั้มของธงไชย โดยสื่อบันเทิงได้ยกให้เป็นปรากฏการณ์ "เบิร์ดฟีเวอร์" อีกครั้งของเขา[2][23] และถูกจัดให้เป็นอัลบั้มที่ดีที่สุด "อัลบั้มแห่งทศวรรษ"[32][28] ซึ่งเป็นความสำเร็จ และความนิยมอย่างสูงในผลงานของเขา โดยมีเพลงเด่นคือ "พริกขี้หนู" "ขออุ้มหน่อย" "ไม่อาจหยั่งรู้" "ฝากไว้" เป็นต้น ในปีเดียวกันเขายังมีคอนเสิร์ตแบบเบิร์ดเบิร์ดโชว์ ครั้งที่ 5 โดยใช้ชื่อตอน ความสุข ความทรงจำ ไม่มีที่สิ้นสุด จำนวน 29 รอบ จำนวนผู้ชม 58,000 คน ซึ่งมีจำนวนรอบสูงสุดเป็นประวัติการณ์ของศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย[33] ซึ่งเป็นคอนเสิร์ตสุดท้ายก่อนขอพักงานอย่างไม่มีกำหนด โดยเรวัต พุทธินันทน์ แต่งเพลง "ความสุข ความทรงจำ ไม่มีที่สิ้นสุด" สำหรับคอนเสิร์ตครั้งนั้น[2]

ปลายปี พ.ศ. 2536 ธงไชยกลับมาแสดงละครวันนี้ที่รอคอย รับบท เจ้าซัน และเจ้าชายศิขรนโรดม คู่กับสิเรียม ภักดีดำรงฤทธิ์ ซึ่งเป็นละครที่ประสบความสำเร็จอีกเรื่องของเขา[34] ธงไชยได้รับรางวัลดารานำชายดีเด่น จากประกาศผลรางวัลโทรทัศน์ทองคำ ครั้งที่ 8

ต้นปี พ.ศ. 2537 ธงไชยออกอัลบั้ม ธ ธง โดยมีเพลงเด่นคือ "เธอผู้ไม่แพ้" "เหนื่อยไหม" เป็นต้น เพลง "เหนื่อยไหม" ได้รางวัลประพันธ์คำร้องยอดเยี่ยมจากงานประกาศผลรางวัลพระพิฆเนศทอง ธงไชยจัดคอนเสิร์ตเปิดอัลบั้ม "คอนเสิร์ต ธ.ธง กับ เธอ (นั่นแหละ)" และคอนเสิร์ตแบบเบิร์ดเบิร์ดโชว์ ครั้งที่ 6 โดยใช้ชื่อตอนว่าอยากเห็นท้องฟ้าเป็นอย่างในฝัน

ในปี พ.ศ. 2538 ธงไชยกลับมารับบทบาท โกโบริ อีกครั้งในภาพยนตร์คู่กรรม ภาพยนตร์นั้นสร้างสถิติภาพยนตร์ที่มีผู้เข้าชมสูงสุดใน 3 วันแรกของการเปิดตัวในยุคนั้น[35] โดยธงไชยได้รับรางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยม จากงานประกาศผลรางวัลพระราชทานพระสุรัสวดี ประจำปี พ.ศ. 2538 และในปีเดียวกันธงไชยได้รับเลือกให้ร้องเพลง "Golden Stars" ในพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 18 ปี พ.ศ. 2538 จัดที่สนามกีฬาสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี

ปี พ.ศ. 2540 - 2549

การบวช และการสูญเสียมารดา

ในปี พ.ศ. 2540 ธงไชยได้เป็นศิลปินคนแรกของทวีปเอเชียที่ได้รับรางวัลนักร้องยอดนิยมจากการประกาศรางวัล Billboard Viewer's Choice Awards 1997 แต่ธงไชยไม่ได้ไปรับรางวัลเนื่องจากมารดารับการรักษาอยู่ในหน่วยอภิบาล

พระธงไชยและอุดม แมคอินไตย์ มารดา ในพิธีอุปสมบท 8 ธันวาคม พ.ศ. 2540

ปลายปีหลังจากถ่ายทำละคร นิรมิต แล้วเสร็จ ธงไชยอุปสมบทในวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2540 เป็นการบวชทดแทนคุณ ณ วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร และได้รับพระกรุณาธิคุณจากพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ ประทานผ้าไตร และทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดีประทานเครื่องอัตถบริขาร โดยธงไชยได้รับฉายาว่า "อภิชโย" แปลว่า "ผู้มีชัยชนะอันยิ่งใหญ่"[36] และจำวัด ณ จังหวัดเชียงใหม่[37]

หลังจากนั้นในปี 2541–2544 ธงไชยมีผลงานเพลงต่อเนื่องอีก 4 อัลบั้มที่ทำยอดขายเกินล้านชุด[38] ได้แก่ ธงไชย เซอร์วิส (2541) มีเพลงเด่นคือ "ซ่อมได้" "บอกว่าอย่าน่ารัก" "ก็เลิกกันแล้ว" "ถ่านไฟเก่า" เป็นต้น พร้อมกับอัลบั้มพิเศษ ธงไชย เซอร์วิสพิเศษ และละคร ความทรงจำใหม่ หัวใจเดิม และมีคอนเสิร์ต อัลบั้มตู้เพลงสามัญประจำบ้าน (2542) มีเพลงเด่นคือ "ลองซิจ๊ะ" "กลับไม่ได้ไปไม่ถึง" "ผิดตรงไหน" "ทำไมต้องเธอ" เป็นต้น และปี พ.ศ. 2543 มีคอนเสิร์ตแบบเบิร์ดเบิร์ดโชว์ ครั้งที่ 7, อัลบั้มพิเศษ 100 เพลงรักไม่รู้จบ

ไฟล์:งานพระราชทานเพลิงศพแม่อุดม แมคอินไตย์.jpg
พิธีพระราชทานเพลิงศพมารดา

วันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2544 อุดม แมคอินไตย์ มารดา เสียชีวิตที่จังหวัดเชียงราย มีพิธีพระราชทานเพลิงศพวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2544 โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนิน พร้อมด้วยเจ้านาย 3 พระองค์ พระราชทานเพลิงศพเป็นกรณีพิเศษ[39]

ปลายปี พ.ศ. 2544 ธงไชยอัดอัลบั้มสไมล์คลับ ซึ่งต้นสังกัดจัดให้เป็นอัลบั้มที่ดีที่สุดแห่งปี[40] มีเพลงเด่นคือ "เล่าสู่กันฟัง" "คนไม่มีแฟน" และ "คู่แท้" เป็นต้น โดยเพลง "เล่าสู่กันฟัง" ได้รับรางวัลจากหลายสถาบัน เช่น รางวัลเพลงยอดเยี่ยม จากงานประกาศผลรางวัลสีสันอะวอร์ดส์ ครั้งที่ 14 รางวัลมิวสิกวิดีโอศิลปินชายยอดนิยม จากงานประกาศผลรางวัลแชนแนลวีไทยแลนด์มิวสิกวิดีโออวอร์ดส ครั้งที่ 1 เป็นต้น พร้อมกับการจัดคอนเสิร์ตเปิดอัลบั้มเบิร์ดสไมล์คลับ และจากผลสำรวจสุดยอดแห่งความประทับใจ ปี พ.ศ. 2544 ของเอแบคโพล[41] และผลสำรวจที่สุดแห่งปีของสวนดุสิตโพล พบว่าเขาอยู่ในลำดับแรกของนักร้องชายไทยที่ประทับใจที่สุด[42]

ปริญญากิตติมศักดิ์ และอัลบั้ม ชุดรับแขก

ธงไชย ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ปี พ.ศ. 2545

ในปี พ.ศ. 2545 ธงไชยได้รับพระราชทานปริญญากิตติมศักดิ์[7] คณะนาฏศิลป์และดุริยางค์ จาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในงานพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล สำหรับผู้สร้างสรรค์ผลงานด้านดนตรีสากล และประสบความสำเร็จในอาชีพ ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี

ช่วงปลายปี พ.ศ. 2545 ถึงปี พ.ศ. 2546 ธงไชยออกอัลบั้มชุดรับแขก ซึ่งสร้างสถิติยอดจำหน่ายเทปสูงสุดของไทยกว่า 5 ล้านตลับ เป็นนักร้องคนแรกและคนเดียวที่สร้างสถิตินี้[28][43] นอกจากนั้นวีซีดีมียอดจำหน่าย 3 ล้านชุด[29] อัลบั้มดังกล่าวสร้างประวัติการณ์ BREAK RECORD สู่ 3 ล้านชุด ในช่วงระยะเวลาไม่ถึง 2 เดือน นับจากวันวางจำหน่าย 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2545 โดยมีเพลงเด่นคือ "แฟนจ๋า" ซึ่งแต่งโดยโจอี้ บอย และ "มาทำไม" ร่วมร้องกับจินตหรา พูนลาภ เป็นต้น จากการสำรวจความนิยมของคนกรุงเทพมหานครในปี พ.ศ. 2545 ของกรุงเทพโพลล์ พบว่าเพลงยอดนิยม คือ เพลง "แฟนจ๋า" รองลงมาคือเพลง "มาทำไม"[44] จากความสำเร็จทำให้ธงไชยมีอัลบั้มพิเศษ แฟนจ๋า..สนิทกันแล้วจ้ะ และมีคอนเสิร์ตเปิดอัลบั้ม ฟ.แฟน และฟ.แฟน FUN FAIR ซึ่งเป็นคอนเสิร์ตที่ทำรายได้สูงสุดแห่งปี จากสรุปผลประกอบการแกรมมี่ ต่อด้วยทัวร์คอนเสิร์ต 3 ภาค และในปีดังกล่าวยังมีคอนเสิร์ตแบบเบิร์ดเบิร์ดโชว์ ครั้งที่ 8 โดยเขาได้รับหลายรางวัล เช่น รางวัลอัลบั้มเพลงป๊อบยอดเยี่ยม จากงานประกาศผลรางวัลแฮมเบอร์เกอร์อวอร์ดส์ ครั้งที่ 1 รางวัลนักร้องชายยอดเยี่ยม จากงานประกาศผลรางวัล ท็อปอวอร์ด ครั้งที่ 3 รางวัลมิวสิกวิดีโอศิลปินชายยอดนิยม และรางวัลมิวสิกวิดีโอลำดับภาพยอดเยี่ยม เพลง "แฟนจ๋า" จากงานประกาศผลรางวัลแชนแนลวีไทยแลนด์มิวสิกวิดีโออะวอดส์ ครั้งที่ 2 เป็นต้น และจากผลสำรวจประจำปี พ.ศ. 2546 ที่เกี่ยวข้องกับงาน เช่น นักร้องชายดีเด่น จากผลสำรวจ 5 บุคคลดีเด่นแห่งปี ของกรุงเทพโพลล์ นักร้องชายยอดนิยม จากผลสำรวจที่สุดของข่าว บุคคล และบันเทิง ของเอแบคโพล และนักร้องเพลงไทยสากลชาย ที่ประชาชนชอบมากที่สุด จากผลสำรวจที่สุดแห่งปีของสวนดุสิตโพลเป็นต้น ในปี พ.ศ. 2547 ซึ่งสืบเนื่องมาจากความสำเร็จของอัลบั้มชุดรับแขก ธงไชยได้รับคัดเลือกให้ไปโชว์เพลงแฟนจ๋าที่งานประกาศผลรางวัลที่ต่างประเทศ พร้อมได้รางวัลศิลปินยอดนิยมประเทศไทย (Favorite Artist Thailand) จากงาน เอ็มทีวี เอเชีย อวอร์ดส ครั้งที่ 3 ณ ประเทศสิงคโปร์[45]

คอนเสิร์ต เบิร์ดซน เบิร์ด-เสก ปี 2547

อัลบั้ม เบิร์ด-เสก และ วอลุม วัน

ในปี พ.ศ. 2547 ธงไชยออกอัลบั้มพิเศษ เบิร์ด-เสก เฉลิมฉลองวาระจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ครบรอบ 20 ปี โดยมียอดจำหน่ายสูงสุดแห่งปีมากกว่า 2 ล้านชุด ต้นสังกัดจัดให้เป็น “อัลบั้มพิเศษที่ดีที่สุดแห่งยุค”[46] โดยมีเพลงดัง คือ "อมพระมาพูด" ซึ่งร่วมร้องกับนักร้องแนวร็อก เสกสรรค์ ศุขพิมาย[47] จากผลสำรวจที่สุดของวงการบันเทิงและกีฬา ปี พ.ศ. 2547 ของเอแบคโพล และผลสำรวจที่สุดแห่งปีของสวนดุสิตโพลพบว่าเขาอยู่ในลำดับแรกของนักร้องชายที่ประชาชนชื่นชอบที่สุด และเป็นนักร้องนักแสดงที่ชื่นชอบและยึดเป็นแบบอย่างมากที่สุด จากผลสำรวจของกรุงเทพโพลล์[48]

ในปี พ.ศ. 2548 มีอัลบั้มวอลุม วัน ซึ่งมีเพลงดังคือเพลง "โอ้ละหนอ...My Love" และเพลง "ไม่แข่งยิ่งแพ้" เขาได้รับรางวัลนักร้องยอดเยี่ยม จากงานประกาศผลรางวัล ท็อปอวอร์ด ครั้งที่ 5 รางวัลนักร้องชายยอดนิยม จากงานประกาศผลรางวัล Oops! Awards รางวัลศิลปินไทยแห่งปี จากการประกาศผลรางวัลเฉลิมไทยอวอร์ด ครั้งที่ 3 นอกจากนั้นมิวสิกวิดีโอเพลง "โอ้ละหนอ...My Love" ได้รับรางวัลมิวสิกวีดีโอยอดเยี่ยมแห่งปีจากงานประกาศผลรางวัล FAT award 2006 และรางวัลมิวสิกวิดีโอยอดนิยม จากงานประกาศผลรางวัลแชนแนลวีไทยแลนด์มิวสิกวิดีโออวอร์ดส ครั้งที่ 5[49] และจากผลสำรวจเอแบคโพล เพลงโอ้ละหนอ...My Love เป็นเพลงยอดเยี่ยมแห่งปี[50] ธงไชยมีคอนเสิร์ตใหญ่ Volume 1 คอนเสิร์ต โอ้ละหนอ...My Love และธงไชยได้รับฉายาจากสมาคมผู้สื่อข่าวบันเทิงแห่งประเทศไทยว่า ดาวค้างกรุ หมายความว่า นักร้องเก่าที่ยังเชิดหน้าชูตาให้วงการบันเทิง[51] และจากผลสำรวจที่สุดของวงการบันเทิงและกีฬาปี พ.ศ. 2548 ของเอแบคโพล และผลสำรวจที่สุดแห่งปีของสวนดุสิตโพลพบว่าเขาอยู่ในลำดับแรกของนักร้องชายที่ประชาชนชื่นชอบที่สุด[50]

ในปี พ.ศ. 2549 ออกอัลบั้มธงไชย วิลเลจ ซึ่งมีเพลงเด่นคือ "เถียงกันทำไม" อัลบั้มพิเศษเบิร์ดเปิดฟลอร์ 3 อัลบั้ม ปีนั้น หนังสือพิมพ์เดอะ เนชั่น ยกให้ธงไชยเป็นหนึ่งในคนไทย 35 คนที่มีอิทธิพลมากที่สุดในรอบ 35 ปี[52] อีกทั้งหนังสือพิมพ์ สยามรัฐ ยกให้ธงไชยเป็นหนึ่งในผู้ทรงอิทธิพลของไทย ปี พ.ศ. 2549 โดยเป็นอันดับ 26 จากทุกสาขาอาชีพ และเป็นอันดับ 1 ประเภทนักร้องนักแสดง[53] ธงไชยได้รางวัลพิเศษศิลปินสร้างสรรค์ Inspiration Award จากงานประกาศผลรางวัลเอ็มทีวี เอเชีย อวอร์ดส ครั้งที่ 5 และรางวัลศิลปินที่ประสบความสำเร็จที่สุดแห่งปี จากงานประกาศผลรางวัล Virgin Hitz Awards 2006 และเกียรติบัตรศิลปินชายยอดนิยมแห่งปี จากการประกาศผล Thailand Top Chart 2006[54]

ปี พ.ศ. 2550 - 2559

ด้านคอนเสิร์ต และอัลบั้ม อาสาสนุก

ในปี พ.ศ. 2550 มีจัดคอนเสิร์ตเบิร์ดเปิดฟลอร์ และปลายปีมีอัลบั้ม ซิมพลีย์ เบิร์ด ซึ่งมีเพลงเด่นคือ "ช่วยรับที" "มีแต่คิดถึง" และเพลง "น้ำตา" เป็นต้น เพลง "น้ำตา" แต่งโดย อภิวัชร์ เอื้อถาวรสุข ได้รางวัลเพลงยอดเยี่ยม จากงานประกาศผลรางวัลสีสันอะวอร์ดส์ ครั้งที่ 20 ขณะที่เพลง "มีแต่คิดถึง" ซึ่งแต่งโดยนิติพงษ์ ห่อนาค ได้รางวัลชมเชยการขับร้องเพลงดีเด่นด้านภาษาไทย และในปีดังกล่าวธงไชยยังได้รับฉายาจากสมาคมผู้สื่อข่าวบันเทิงแห่งประเทศไทยว่า "ป๋าพันปี" หมายความว่า "ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปเท่าใด ก็ยังคงดังเช่นเดิม"[55]

งานแถลงข่าวคอนเสิร์ตแบบเบิร์ดเบิร์ดโชว์ ครั้งที่ 9

ในปี พ.ศ. 2551 ธงไชยแสดงคอนเสิร์ตแบบเบิร์ดเบิร์ดโชว์ ครั้งที่ 9 ตอน MAGIC MEMORIES อัศจรรย์แห่งความทรงจำ สิ่งเหล่านี้คือความเป็นเรา...ตลอดไป เมื่อรวมรอบอังกอร์พลัสแล้ว สร้างสถิติสูงสุดของอิมแพ็ค เมืองทองธานี ด้วยจำนวนผู้ชม 120,000 คน จาก 12 รอบการแสดง[33]

ในปี พ.ศ. 2552 ธงไชยได้รับเลือกเป็นพรีเซ็นเตอร์การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) "โครงการเที่ยวไทยครึกครื้นเศรษฐกิจไทยคึกคัก" โดยถ่ายทำสามพันโบก จังหวัดอุบลราชธานี และได้รับเลือกเป็นพรีเซ็นเตอร์ ททท. อีกครั้งในช่วงปลายปี "โครงการ 12 เดือน 7 ดาว 9 ตะวัน" ถ่ายทำที่มอหินขาว จังหวัดชัยภูมิ โดยเขาขับร้องเพลง "ไปเที่ยวกัน" ประกอบโฆษณาการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และมีซิงเกิลพิเศษ "จะได้ไม่ลืมกัน" ประกอบภาพยนตร์ ความจำสั้น แต่รักฉันยาว และในปีดังกล่าวเขามีคอนเสิร์ต ธงไชย แฟนซี แฟนซน...ร้อง เต้น เล่น แต่งตัว จำนวน 4 รอบการแสดง

ในปี พ.ศ. 2553 ธงไชยออกอัลบั้มอาสาสนุก ซึ่งเป็นอัลบั้มใหม่ในรอบ 3 ปี มียอดจำหน่ายและยอดดาวน์โหลดสูงที่สุด[56][57] โดยมีเพลงเด่นคือ "อยู่คนเดียว" "อย่าทำอย่างนี้ไม่ว่ากับใคร...เข้าใจไหม" "ทูมัชโซมัชเวรีมัช" และ "เรามาซิง" โดยสองเพลงหลังมีการซื้อลิขสิทธิเพลงดังกล่าวไปแปลงเป็นภาษาญี่ปุ่นขับร้องใหม่โดยนักร้องญี่ปุ่น[58] และต่อเนื่องในปี พ.ศ. 2554 ธงไชยยังมีคอนเสิร์ตใหญ่คอนเสิร์ตเบิร์ดอาสาสนุกที่จัดขึ้นที่อิมแพ็ค เมืองทองธานีเป็นหนึ่งในคอนเสิร์ตสุดร้อนแรงแห่งปี[59] และหนึ่งในคอนเสิร์ตที่ได้รับการตอบรับสูงสุดแห่งปี[60] นอกจากนั้นเพลง "ร้องไห้ทำไม" ซึ่งอยู่ในอัลบั้ม ยังได้รับคัดเลือกให้ทำคำร้องใหม่เป็นภาษาจีนแมนดารินขับร้องใหม่โดยธงไชย เพื่อนำไปประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวไทย โดยเผยแพร่ตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2554[61]

งานแถลงข่าวการ์ตูนเบิร์ดแลนด์ แดนมหัศจรรย์ ปี 2553

ปีนั้นธงไชยยังได้รับเลือกเป็นต้นแบบตัวละครการ์ตูนแอนิเมชัน เรื่อง เบิร์ดแลนด์ แดนมหัศจรรย์ และเขายังเป็นผู้พากย์เสียง "พี่เบิร์ด" และร้องเพลงประกอบเพลงเบิร์ดแลนด์แดนมหัศจรรย์ นอกจากนั้นบทเพลงของเขาถูกนำใส่ในการ์ตูน ได้แก่ เพลง "ทูมัชโซมัชเวรีมัช" "แก้วตา แก้วโตว" และ "ตามรอยพระราชา" ซึ่งบทเพลง "ตามรอยพระราชา" ถูกใช้ประกอบในตอนพิเศษ "ตามรอยพระราชา" เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554 โดยการนำเสนอพระราชกรณียกิจของพระองค์ เพื่อให้เด็กและเยาวชนได้เรียนรู้[62] และในปีเดียวกันเขาได้รับเลือกให้ร้องเพลงพิเศษ เพลง "Thai for Japan" ภาษาญี่ปุ่น ให้แก่ผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิในโทโฮะกุ พ.ศ. 2554[63]

ในปี พ.ศ. 2555 ธงไชยแสดงคอนเสิร์ตแบบเบิร์ดเบิร์ดโชว์ ครั้งที่ 10 ตอน วันของเรา Young อยู่ ฉลองครบรอบ 25 ปีเบิร์ดเบิร์ดโชว์ จำหน่ายบัตรต่อเนื่องในคราวเดียว กว่า 100,000 คน[64][65] ในปี พ.ศ. 2556 มีคอนเสิร์ตขนนกกับดอกไม้ ครั้งที่ 2 ตอน Secret Garden

สานสัมพันธ์ประเทศญี่ปุ่น และประเทศเพื่อนบ้าน

ในปี พ.ศ. 2556 ธงไชยได้รับเชิญเป็น "ทูตมิตรภาพ" (International Friendship Ambassador) จากประเทศไทยไปร่วมงานเทศกาล "Sapporo Snow Festival ครั้งที่ 64" ณ เมืองซับโปโร เกาะฮอกไกโด ประเทศญี่ปุ่น ภายในงานมีรูปปั้นหิมะขนาดเท่าตัวจริงของเขา เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของมิตรภาพที่ดีของทั้งสองประเทศ และจากการรวบรวมข้อมูลในญี่ปุ่น พบว่านอกเหนือจากสถานที่ท่องเที่ยวที่ชาวญี่ปุ่นชื่นชอบแล้ว ศิลปินซึ่งเป็นที่รู้จักของชาวญี่ปุ่นมากที่สุดคือเบิร์ด[66] และในปีเดียวกัน ธงไชยได้รับเชิญร่วมงานเทศกาลดนตรีอาเซียน-ญี่ปุ่น (ASEAN-Japan Music Fair) ในโอกาสครบรอบ 40 ปีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศญี่ปุ่นกับประเทศสมาชิกอาเซียน ณ กรุงโตเกียว จากการโหวตความนิยมศิลปินใน 10 ประเทศอาเซียน ธงไชยเป็นศิลปินไทยซึ่งชาวญี่ปุ่นชื่นชอบมากที่สุด[67][68] นอกจากนี้องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวญี่ปุ่น ได้เชิญธงไชยไปถ่ายแบบที่โอกินาวา โยโกฮามา และฟุคุโอกะ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวญี่ปุ่น[69][70] ในปี พ.ศ. 2557 ธงไชยได้รับรางวัล Special Award from JNTO จากงานมอบรางวัล Japan Tourism Award in Thailand 2013 สำหรับบุคคลที่มีบทบาทสำคัญต่อภาพลักษณ์ของการท่องเที่ยวญี่ปุ่น[71][72] และปีดังกล่าวเขาถ่ายทำละครกลกิโมโน[73][74]

ในปี พ.ศ. 2558 มีคอนเสิร์ตขนนกกับดอกไม้ ครั้งที่ 3 ตอน The Original Returns[75] ซึ่งจีเอ็มเอ็มแกรมมี่ ได้จัดกิจกรรม FUN&FRIENDSHIP EXPERIENCE[76] เป็นโครงการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและสานสัมพันธ์ไทยพม่า ซึ่งเขาได้รับการต้อนรับจากชาวพม่าจำนวนมาก[77] และในปี พ.ศ. 2559 ธงไชยมีคอนเสิร์ต รวมวง THONGCHAI concert และมีโครงการพิเศษภาพยนตร์สั้น รักคำเดียว ภารกิจคลุกฝุ่น ซึ่งถ่ายทำบนที่ราบสูงบ่อละเวน ประเทศลาว[78][79]

ปี พ.ศ. 2560 - ปัจจุบัน

ในปี พ.ศ. 2560 ธงไชยเว้นจากการมีผลงานเพลง และผลงานคอนเสิร์ตของเขา เพื่อแสดงความอาลัยถวายแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เขาร่วมเป็นดารารับเชิญในละครพิเศษ “เราเกิดในรัชกาลที่ 9 เดอะซีรีส์” โดยรับบทแพทย์อาสา[80] และเป็นนักร้องรับเชิญในงานแสดงดนตรี “แผ่นดินของเรา” เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ และเผยแพร่พระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และขับกล่อมให้แก่ประชาชนที่มาถวายสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว[81] และในที่ 26 ตุลาคม ปีนั้น ธงไชยก็ได้รับพระมหากรุณาธิคุณสูงสุด เมื่อได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ณ สถานที่จริง ที่พระเมรุมาศ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง โดยได้ขึ้นถวายพระเพลิงในฐานะพลเรือนผู้มีตำแหน่งเฝ้าฯ นับเป็นศิลปินเพียงไม่กี่คนที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณเช่นนี้[82]

โปรเจกต์พิเศษ และคอนเสิร์ต

ในปี พ.ศ. 2561 ต้นปีธงไชยมีโปรเจ็กต์พิเศษ ชื่อว่า เบิร์ดมินิมาราธอน[83] โดยทำงานร่วมกับ 8 ศิลปินรุ่นใหม่[84] และในปีดังกล่าวเขาได้รับรางวัลเกียรติยศแห่งปี สำหรับศิลปินที่เป็นที่สุดตลอดกาล รางวัล Joox Icon Award จากงาน JOOX Thailand Music Awards พ.ศ. 2561[85] และเพลง "ชีวิตเดี่ยว" ได้ถูกเสนอเข้าชิงสาขาเพลงยอดเยี่ยมของรางวัลสีสันอะวอร์ดส์ ครั้งที่ 30 ประจำปี พ.ศ. 2561[86] และในปี 2561 ต่อเนื่องถึงปี 2562 เขามีคอนเสิร์ตแบบเบิร์ดเบิร์ดโชว์ ครั้งที่ 11 ในตอน "DREAM JOURNEY" (ดรีม เจอร์นี่ย์) ณ อิมแพ็ค อารีน่า เมืองทองธานี[87][88]รวมแล้วจำนวน 7 รอบ[89] และในปีเดียวกันมีคอนเสิร์ต Singing Bird จำนวน 3 รอบ[90] ซึ่งจัดที่รอยัลพารากอน ฮอลล์

บทบาททางสังคม

การรณรงค์ และการส่งเสริม

ธงไชยใช้สิทธิเลือกตั้ง ปี 2554

ธงไชยเป็นตัวอย่างศิลปินในการใช้สิทธิเลือกตั้งต่าง ๆ และในปี พ.ศ. 2554 ได้รับเลือกจาก คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นตัวแทนประชาสัมพันธ์การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร[91][92] โดยเขาไปเลือกตั้งเกือบทุกครั้ง[93] และเขาช่วยเหลือในการรณรงค์ต่าง ๆ เช่น เป็นพรีเซ็นเตอร์โครงการ รณรงค์ลดการแพร่เชื้อทางเดินหายใจ ด้วยการใส่หน้ากากอนามัย (ปี พ.ศ. 2545) พรีเซนเตอร์ธรรมอาสาพาประชาชนไทยทุกหมู่เหล่าเข้าวัดปฏิบัติภาวนา (ปี พ.ศ. 2546)[94] พรีเซ็นเตอร์กิตติมศักดิ์ จากเครือข่ายคนรักน้องหมาในพระอุปถัมภ์ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา รณรงค์อุดหนุน "ดอกป๊อปปี้" ช่วยครอบครัวทหารผ่านศึก ของมูลนิธิสงเคราะห์ครอบครัวทหารผ่านศึกในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี[95] ศิลปินจิตอาสา ในภาพยนตร์โฆษณาของมูลนิธิรามาธิบดี ภายใต้แนวคิด “คำว่าให้…ไม่สิ้นสุด”[96] เป็นต้น

นอกจากนั้นธงไชยมีบทบาทในการส่งเสริมการท่องเที่ยวหลายครั้ง เช่น ในปี พ.ศ. 2548 ได้รับเลือกเป็นพรีเซ็นเตอร์การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) โครงการ "เที่ยวที่ไหนไม่สุขใจเท่าบ้านเรา" ซึ่งนำเสนอในช่วงหลังสินามิ การโฆษณาจึงสื่อออกมาให้เป็นเรื่องของทะเลมากที่สุด[97] ต่อมาในปี พ.ศ. 2552 ได้รับเลือกเป็นพรีเซ็นเตอร์การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) "โครงการเที่ยวไทยครึกครื้นเศรษฐกิจไทยคึกคัก"[98] โดยถ่ายทำสามพันโบก อำเภอโพธิ์ไทร จังหวัดอุบลราชธานี สร้างการรับรู้ให้กับคนไทยถึง 99% จากการเปิดเผยของ ททท.[99][100] เขาจึงได้รับเลือกเป็นพรีเซ็นเตอร์การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) อีกครั้งใน "โครงการ 12 เดือน 7 ดาว 9 ตะวัน" โดยถ่ายทำที่ "มอหินขาว" จังหวัดชัยภูมิ[101][102][103] นอกจากนั้นเขาเป็นผู้ขับร้องเพลงประกอบภาพยนตร์โฆษณา ไปเพลง “ไปเที่ยวกัน” เพื่อประกอบโฆษณาการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ปี พ.ศ. 2552 ซึ่งเพลงดังกล่าวได้รางวัลชมเชยจากผลการประกวดเพลง (เพชรในเพลง) เนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ. 2552 ต่อมาในปี พ.ศ. 2554 ทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยใช้กลยุทธ์ใหม่ Music Marketing เชื่อมหัวใจนักท่องเที่ยวทั่วโลก ตามแนวคิด “Amazing Thailand : Always Amazes You” บอกเล่าเรื่องราวแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวผ่านบทเพลงและมิวสิควีดีโอภาษาจีนแมนดารินเป็นครั้งแรก ในบทเพลง Why the tear โดยขับร้องโดยธงไชย เพื่อนำไปเผยแพร่ใน 5 ประเทศแถบเอเชีย ได้แก่ จีน ฮ่องกง มาเลเซีย ไต้หวัน และสิงคโปร์ เพื่อสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายชาวจีน ซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่และมีกำลังซื้อสูง และมิวสิควิดีโอดังกล่าวจะครอบคลุมประเทศในแถบเอเชียแล้ว ยังเผยแพร่ที่ไชน่าทาวน์ในทวีปยุโรปและออสเตรเลีย[104]

การอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม

ธงไชยมีบทบาทในการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมผ่านผลงานของเขา ซึ่งผลงานเพลงของเขาที่มีชื่อเสียงที่สุดคืออัลบั้ม ชุดรับแขก ได้นำความเป็นไทยและวัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาเผยแพร่ โดยใช้ดนตรี 4 ภาคของไทย ซึ่ง บุษบา ดาวเรือง ผู้บริหารของ บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ได้กล่าวว่า "ธงไชยทำได้ดีมากคือความเป็นไทย คนที่ไปดูแบบเบิร์ดเบิร์ดที่เขาเล่นลิเกแล้วบอกว่า เขาคือสะพานสายรุ้งที่พาศิลปวัฒนธรรมไทยไปสู่คนรุ่นใหม่"[105] สำหรับการแสดงคอนเสิร์ตที่เขาได้นำศิลปวัฒธรรมมาเผยแพร่ เช่น การแสดงเพลงเกี่ยวข้าว ในงานมหกรรมเพลงอาเซียนครั้งที่ 5 (พ.ศ. 2528) ที่จัดขึ้นที่ประเทศอินโดนีเซีย และการแสดงคอนเสิร์ตต่าง ๆ ของเขาโดยเฉพาะคอนเสิร์ตแบบเบิร์ดเบิร์ดโชว์ ซึ่งมี ศิลปินแห่งชาติ เป็นผู้ฝึกสอน ได้แก่ การแสดงรำกลองยาวร่วมกับคณะดุริยประณีต และแสดงลำตัด โดยผู้ฝึกสอนคือ ประยูร ยมเยี่ยม และการรำฝึกสอนโดยครูสุดจิตต์ อนันตกุล ในการแสดงในคอนเสิร์ตแบบเบิร์ดเบิร์ดโชว์ ครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2530) การโชว์การแสดงไทยชมรมอนุรักษ์วัฒนธรรม การแสดงระบำกะลา และการแสดงลำตัดร่วมกับคณะแม่ประยูร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงในคอนเสิร์ตแบบเบิร์ดเบิร์ดโชว์ ครั้งที่ 5 (พ.ศ. 2534) และในปีเดียวกัน การโชว์การแสดงเพลงอีแซว งานปีใหม่ไทย (พ.ศ. 2537) โดยได้รับการฝึกสอนจากขวัญจิต ศรีประจันต์ การโชว์การแสดงลิเก ร่วมแสดงกับอาจารย์ เสรี หวังในธรรม ในการแสดงโชว์ในคอนเสิร์ตแบบเบิร์ดเบิร์ดโชว์ ครั้งที่ 6 (พ.ศ. 2551) การโชว์การละเล่นไทยลาวกระทบไม้ประกอบบทเพลงแก้วตา - แก้วโตว ซึ่งการแสดงดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของคอนเสิร์ตแบบเบิร์ดเบิร์ดโชว์ ครั้งที่ 9 (พ.ศ. 2555) การโชว์การแสดงร่วมกับ นาฏยศาลา หุ่นละครเล็ก ของโจหลุยส์ ซึ่งเป็นคณะการแสดงละครเล็ก หรือหุ่นกระบอก ของอาจารย์สาคร ยังเขียวสด เป็นส่วนหนึ่งในคอนเสิร์ตแบบเบิร์ดเบิร์ดโชว์ ครั้งที่ 10 (พ.ศ. 2555) เป็นต้น นอกจากนั้น บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) เลือกเขาเป็นต้นแบบการ์ตูนแอนมิชั่นเรื่อง เบิร์ดแลนด์ แดนมหัศจรรย์ พร้อมทั้งใส่เสียงพากย์และบทเพลงของเขาลงในการ์ตูนดังกล่าว[106] และมีการจัดทำตอนพิเศษ "ส่งเสริมคุณค่าของวัฒนธรรมไทย" เพื่อปลูกฝังให้เยาวชนไทยได้ซึมซับศิลปวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณีไทยต่าง ๆ ในแต่ละภูมิภาค โดยได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม[107]

ภาพลักษณ์

ความกตัญญู และคุณธรรม

ในปี พ.ศ. 2534 หนังสือพิมพ์เอกชน ยกให้ธงไชยเป็นศิลปินที่ "แบบอย่างดีและกตัญญูที่สุด"[4] โดยธงไชยได้รับ "รางวัลลูกกตัญญู" จากสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์[108] ต่อมาในปี พ.ศ. 2545 มหาวิทยาลัยรามคำแหง สำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อธงไชย แมคอินไตย์ พบว่า ภาพลักษณ์ที่ทำให้เขายังครองความเป็นซูเปอร์สตาร์ในลำดับแรกคือ "ด้านความกตัญญู"[109] และในปี พ.ศ. 2550 เขาได้รับ "รางวัลยอดกตัญญู" จากกระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมกับ ชมรมลูกกตัญญู เป็นต้น โดยภายหลังจากที่อุดม แมคอินไตย์ มารดาของธงไชยเสียชีวิต หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี ซึ่งธงไชยเรียก "ท่านพ่อ" ได้ประทานพระเมตตาด้วยเห็นว่าธงไชยเป็นคนมีความกตัญญูอย่างแท้จริง เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจ ทรงกรุณารับธงไชย เป็นเสมือนบุตรบุญธรรม[110]

ในปี พ.ศ. 2554 ธงไชยได้รับรางวัลศิลปินคุณธรรมส่งเสริมพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย จากสภาศิลปินส่งเสริมพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย[111] ในปี พ.ศ. 2555 ได้รับประทานโล่ผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา ในวโรกาสที่ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงเจริญพระชนมายุ 99 พรรษา จัดโดยสำนักเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช และในปีเดียวกันได้รับรางวัลบุคคลที่มีหัวใจโพธิสัตว์ ซึ่งทำประโยชน์เพื่อสังคม โดยแม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต ผู้ก่อตั้งเสถียรธรรมสถาน[112] ในปี พ.ศ. 2556 ได้รับประทานโล่รางวัล คนดี คิดดี สังคมดี ตามรอยพระยุคลบาท งานประทานโล่รางวัลเกียรติยศ พระกินรี ครั้งที่ 3 โดยสมัชชานักจัดรายการข่าววิทยุโทรทัศน์หนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย (สว.นท.)[113] และในปีเดียวกันได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติบุคคลซึ่งเป็นเพชรน้ำงามที่สุด งานดาราเดลี่ เดอะ เกรท อวอร์ดส์ ครั้งที่ 2 สำหรับศิลปินที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงสุด เป็นแบบอย่างที่ดีของคนในวงการบันเทิงของประชาชน ในปี พ.ศ. 2557 ได้รับรางวัลเกียรติยศศิลปินผู้ทรงคุณค่าต่อวงการบันเทิงและทำคุณประโยชน์ต่อประเทศชาติ จากงานมอบรางวัลดาวเมขลา จัดโดยสมาคมผู้สื่อข่าวบันเทิงแห่งประเทศไทย (สบท.)[114] เป็นต้น

ความสามารถในการขับร้องเพลง

ธงไชย ร้องเพลงของขวัญจากก้อนดินในงานกาชาดคอนเสิร์ตเฉลิมพระเกียรติ ครั้งที่ 43

ธงไชยได้รับเลือกให้ขับร้องเพลงเนื่องในโอกาสพิเศษต่าง ๆ เสมอ โดยเฉพาะการขับร้องเพลงเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เช่น เพลง "ต้นไม้ของพ่อ" "ของขวัญจากก้อนดิน" "รูปที่มีทุกบ้าน" "พระราชาผู้ทรงธรรม" "ตามรอยพระราชา" "ในหลวงในดวงใจ" และ"เหตุผลของพ่อ" เป็นต้น[115] ซึ่งเพลงเหตุผลของพ่อเป็นบทเพลงสุดท้าย ก่อนการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559[116] และเขาได้รับเลือกขับร้องบทเพลงถวายพระบรมวงศานุวงศ์ เช่น เพลง "คือสายใย" บทเพลงที่แต่งขึ้นเนื่องในวโรกาสที่พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติทรงเจริญพระชันษา 1 ปี และเป็นเพลงประจำโครงการสายใยรักจากแม่สู่ลูก[117] เพลง "ส่งนางฟ้ากลับสวรรค์" บทเพลงเทิดพระเกียรติ เนื่องในงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ [118] เพลง "สายใยแผ่นดิน" บทเพลงเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และเพลง "รัตนราชกุมารี" บทเพลงพิเศษที่ประพันธ์ขึ้นใหม่ ในวโรกาสพิเศษ เฉลิมพระชนมายุ 5 รอบ ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ภายใต้ชื่องาน สังคีตสามัคคีเฉลิมบรมราชกุมารี 60 พรรษา[119] วันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 ธงไชยเป็นศิลปินรับเชิญขับร้องเพลงไทยเดิม "ลาวคำหอม" ในงานแสดงมหรสพสมโภชละคร "ในสวนฝัน ผสานใจภักดิ์จงรักนฤบดี" เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ ท้องสนามหลวง[120] เป็นต้น

และเขาได้รับเลือกให้ขับร้องเพลงเพื่อใช้ในโอกาสสำคัญ เช่น เพลงสำหรับผู้อยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ เพลง “ฝากส่งใจไป”[121] เพลงให้กำลังใจผู้ประสบภัยสึนามิ เพลง "อีกไม่นาน"[122] เป็นต้น และยังได้รับเกียรติให้ร้องเพลงประจำสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล เพลง "เจ้าฟ้ามหาจักรี" และเพลง "บัวสวรรค์"[123] และบทเพลงภาษาอื่น เช่น ภาษายาวี ในบทเพลง "Sampaikan Hati" หรือ "ซัมไปกันฮาตี" เพลงพิเศษเป็นกำลังใจให้ผู้อยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้[124] เพลงภาษาญี่ปุ่น บทเพลง "Thai for Japan" เพลงพิเศษเพื่อเป็นกำลังใจให้กับผู้ประสบภัยจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิครั้งใหญ่ในโทโฮะกุ ประเทศญี่ปุ่น[125] เพลงภาษาจีนแมนดาริน บทเพลง "Why the Tears" เพื่อประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวไทย[104] เป็นต้น

ธงไชยได้รับรางวัลชมเชยการขับร้องเพลงดีเด่นด้านภาษาไทย จากผลการประกวดเพลง (เพชรในเพลง) เนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ. 2552 ในบทเพลง "ไปเที่ยวกัน" ซึ่งเป็นบทเพลงประกอบโฆษณาการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย[126] และรางวัลการขับร้องเพลงดีเด่นด้านภาษาไทย ประเภทไทยสากลชาย ในบทเพลง "ตามรอยพระราชา" เนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ. 2555[127] นอกจากนั้นเขาได้รับรางวัลศิลปินผู้ส่งเสริมภาษาไทยดีเด่น จากงานประกาศผลรางวัลประกายเพชร จัดโดยมูลนิธิเพชรภาษา เป็นต้น นอกจากนั้นจากผลสำรวจโพลมหาชนในปี พ.ศ. 2559 พบว่าเขาเป็นดาราที่ใช้ภาษาไทยดีเยี่ยมในลำดับแรก[128] เป็นต้น

ธงไชย ในคอนเสิร์ตปี 2551

ความสามารถในการให้ความบันเทิง

ภาพลักษณ์ของธงไชย จากผลสำรวจของรามคำแหงโพล ปี พ.ศ. 2545 ที่สำคัญอีกด้านคือการให้ความบันเทิงแก่ผู้ชม [109] และในปี พ.ศ. 2556 จากสรุปผลงานคอนเสิร์ตของธงไชย เขาเป็นศิลปินนักร้องที่ครองใจคนไทยได้ยาวนาน นั่นคือการเป็น "เอนเตอร์เทนเนอร์" หรือผู้สร้างความบันเทิงถึงยุคปัจจุบัน[33] การเป็นเอ็นเตอร์เทนเนอร์ของเขา ทำให้จับกลุ่มคนฟังได้กว้างตั้งแต่เด็กจนถึงผู้ใหญ่[129] จากภาพลักษณ์ดังกล่าวส่งผลให้ในปี พ.ศ. 2557 เขามีรายชื่อเข้าชิงรางวัลระดับโลก World Music Awards 2014 สาขา World's Best Entertainer[130]

ถึงแม้เขาไม่มีผลงานเพลงออกมามาก แต่เขามีงานเปิดแสดงคอนเสิร์ตในแต่ละปี ซึ่งมีผู้ชมการแสดงเต็มทุกรอบ[131] ในช่วง 33 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2529 - พ.ศ. 2562)เขามีคอนเสิร์ตใหญ่ อาทิเช่น คอนเสิร์ตแบบเบิร์ดเบิร์ดโชว์ ทั้งหมด 11 ครั้ง 162 รอบการแสดง ผู้ชมประมาณ 6 แสนคน โดยเฉพาะคอนเสิร์ตแบบเบิร์ดเบิร์ดครั้งที่ 9 มีการเปลี่ยนแปลงสถานที่จัดคอนเสิร์ตจากศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เปลี่ยนเป็นอิมแพ็ค เมืองทองธานี ทำให้คอนเสิร์ตครั้งนั้นมียอดผู้ชมเกิน 1 แสนคน เป็นสถิติสูงสุดของนักร้องไทย[23] นอกจากนั้นเขามีคอนเสิร์ตเต็มรูปแบบอื่นๆ สลับกันไปในแต่ละปี

ชีวิตส่วนตัว

ธงไชย และบุษบา ดาวเรือง ผู้จัดการเรื่องงานของเขา

ธงไชยภายหลังจากเข้าวงการบันเทิงและประสบความสำเร็จอย่างสูงประกอบกับยังครองความโสด เขากลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์จากสื่อทั้งในแง่บวก และข่าวลือในแง่ลบ ซึ่งเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่เขาไม่พยายามออกไปไหน โดยไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ผู้บริหารบริษัทฯ ซึ่งเป็นต้นสังกัดของเขาได้กล่าวไว้ในหนังสือที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพมารดาของธงไชยส่วนหนึ่งว่า “เขากลายเป็นคนสาธารณะแล้ว เขาไม่มีชีวิตส่วนตัว การประพฤติปฏิบัติตัวของเขาจะถูกวิพากษ์วิจารณ์จากสื่อได้ทั้งในแง่บวกและลบเสมอ ซึ่งในแง่ลบตัวเองพอจะทนได้ แต่เป็นห่วงแม่ เพราะแม่จะกังวล สิ่งเดียวที่เขาทำได้คือเก็บตัวเงียบ เงียบเพื่อไม่ให้เป็นข่าวใดๆ เลย”[132] การใช้ชีวิตของธงไชยในช่วงที่อยู่ในวงการบันเทิง จึงมีผู้จัดการ พรพิชิต พัฒนถาบุตร เป็นผู้ดูแลเรื่องส่วนตัวทุกเรื่อง[17] และมีบุษบา ดาวเรือง เป็นผู้ดูแลในเรื่องงานของเขาตลอดตั้งแต่ในยุคแรก[133][134] สำหรับด้านการใช้จ่ายของธงไชย มีเจ้าหน้าที่ของบริษัทแกรมมี่ช่วยทำบัญชีรายรับ รายจ่าย โดยพรพิชิต ผู้จัดการส่วนตัวเล่าตอนหนึ่งเกี่ยวกับธงไชยว่า “ถ้าอยู่เมืองไทย เขาไม่ค่อยมีเวลาและโอกาสที่จะไปไหนตามลำพัง จนบางทีเขาก็ตามสิ่งใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นไม่ทัน เขาไม่เคยเดินซื้อสินค้าในห้างสรรพสินค้า นอกจากเวลาไปเมืองนอก"[135]

บุคลิกนิสัย

ธงไชย เป็นคนมองโลกในแง่ดี ตั้งใจทำงาน ตรงต่อเวลา และหมั่นพัฒนาตนเองอยู่เสมอ[136] เขาเป็นคนมีน้ำใจกับทุกคน ดูแลคนรอบข้างเป็นอย่างดี ไม่สุรุ่ยสุร่าย ชอบอยู่บ้าน ชอบธรรมชาติ สวดมนต์ ว่ายน้ำ และเล่นกับสัตว์เลี้ยง รักษาสุขภาพ คิดบวก[137][138] อย่างไรก็ตามการใช้ชีวิตส่วนมากของธงไชยทุ่มเทให้กับการทำงานเป็นหลัก โดยธงไชยกล่าวว่า “ความสุขของเขาอยู่ที่งาน ไม่ว่าจะเป็นการร้องเพลง หรือการโชว์คอนเสิร์ต”[139] เขาจึงมีห้องส่วนตัวสำหรับทำงาน และห้องซ้อมคอนเสิร์ตภายในอาคารของบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน)[140] โดยเขาจะใช้เวลาในการซ้อมเต้นไม่ต่ำกว่าวันละ 3 ชั่วโมง[141]

สำหรับสัญญา คุณากร พิธีกรซึ่งได้สัมภาษณ์ธงไชยบ่อยครั้ง ได้เผยถึงการวางตัวของธงไชยว่า “เป็นคนตรงต่อเวลามาก ให้เกียรติคนทำงานทุกคน เคารพตนเองพยายามเพิ่มทักษะในการทำงาน”[142]

ครอบครัว

ธงไชยและครอบครัวมีการรวมกันทำบุญตลอดทุกเทศกาล เช่น ทำบุญปีใหม่ ทำบุญสงกรานต์ รวมถึงการทำบุญให้มารดา ทำบุญวันเกิดมารดา ทำบุญครบรอบวันเสียชีวิตของมารดา เป็นต้น[143] และธงไชยเป็นผู้สนับสนุนเงินทุนการศึกษาให้หลาน[144] และเขาให้เงินเดือนกับพี่ของเขาทุกคน[145] เขาสร้างบ้านที่จังหวัดเชียงรายให้มารดาของเขา ซึ่งปลูกข้าวกินเองที่นั่น[146] โดยใช้ชื่อ "ไร่อุดมสุข" ตามชื่อของมารดา จากพื้นที่ 100 กว่าไร่ นอกจากมีผืนนา 17 ไร่แล้ว เขาปลูกพืชไว้หลากหลายชนิด เช่น พริก ลิ้นจี่ ลำไย และเห็ดหอม เป็นต้น เขาและเกรียงไกร แมคอินไตย์ พี่ชาย ทำการเกษตรเพื่อเป็นตัวอย่างแก่ชาวบ้าน เช่น มีการปลูกและแจกจ่ายพริกพันธุ์ดีให้กับชาวบ้าน เป็นตัวอย่างในการฟื้นฟูต้นลิ้นจี่ ลำไย การสนับสนุนให้มีการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า และสามารถยืดอายุการเก็บรักษาด้วยการสร้างโรงอบแห้งขึ้นมาบริการแก่ชาวบ้าน การแนะนำให้ชาวบ้านได้มีความรู้ในเรื่องดิน โดยการติดต่อนักวิชาการมาให้ความรู้ในเรื่องการตรวจสภาพดิน การให้ชาวบ้านรู้จักทำปุ๋ย คิดสูตรปุ๋ย ปลูกพืชตระกูลถั่วบำรุงดิน เพื่อช่วยแก้ปัญหาในเรื่องการผลิต ผลผลิตจากไร่อุดมสุขของเขาที่สำคัญ คือการทำเห็ดหอม นอกจากครอบครัวทางสายเลือดของธงไชย เขามีคุณพ่อบุญธรรม คือ หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี ซึ่งเขานับถืออย่างสูง และเรียกว่า "ท่านพ่อ" จึงเป็นที่มาของคำเรียกขานธงไชยว่า "ชายเบิร์ด"[147]

ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม กล่าวถึงธงไชยว่าเขาเป็นนักสร้างบ้านให้แม่ "เขานำเงินที่ได้ไปสร้างบ้านเป็นงานหลัก เขาซื้อบ้านใบไม้ซึ่งมีเรือนไม้เรือนไทยสำหรับแม่ เขามีบ้านศรีราชา มีบ้านที่เชียงราย มีบ้านที่สวิส เป็นต้น ว่างเมื่อไหร่เขาจะพาแม่ไปเที่ยวตามบ้านที่ตัวเองปลูก และยังเผื่อแผ่ให้พี่ๆ น้องๆ ด้วย"[132]

รางวัลเกียรติยศ

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ เหรียญ โล่ ปริญญาบัตร

ปี พ.ศ. 2534 ธงไชยได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นตริตาภรณ์ช้างเผือก (ต.ช.) สำหรับพระราชทานแก่ให้แก่ผู้ทำคุณประโยชน์ให้แก่ทางราชการ[148] ปี พ.ศ. 2545 รับพระราชทานปริญญากิตติมศักดิ์ (ดนตรีสากล) จาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี งานพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล สำหรับผู้สร้างสรรค์ผลงานด้านดนตรีสากล และประสบความสำเร็จในอาชีพ[7] ปี พ.ศ. 2548 รับพระราชทานเหรียญเงินดิเรกคุณาภรณ์ (ร.ง.ภ.) สำหรับพระราชทานแก่ให้แก่บุคคลที่ช่วยเหลือผู้ประสบธรณีพิบัติภัย “สึนามิ”[149] ปี พ.ศ. 2555 รับพระราชทานเหรียญกาชาดสมนาคุณชั้นที่ 1 จาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี[150] ปี พ.ศ. 2555 รับประทานโล่ผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา จาก สมเด็จพระวันรัต ผู้แทนพระองค์สมเด็จพระสังฆราช[151] ในมหามงคลวโรกาสที่สมเด็จพระสังฆราชทรงเจริญพระชนมายุ 99 พรรษา[152] และรับประทานโล่ คนดี คิดดี สังคมดี ตามรอยพระยุคลบาท จากฯพณฯ อำพล เสนาณรงค์ องคมนตรี ผู้แทนพระองค์สมเด็จพระสังฆราช ในงานประทานโล่รางวัลเกียรติยศ “พระกินรี” ครั้งที่ 3[153][154]

รางวัลในฐานะพิธีกร นักพากย์

ในช่วงแรกที่เข้าวงการบันเทิง ธงไชยรับเกียรติให้เป็นผู้ดำเนินรายการ 7 สีคอนเสิร์ต ซึ่งเป็นรายการคอนเสิร์ตถ่ายทอดสด เขาได้รางวัลผู้ดำเนินรายการดีเด่นชาย จากงานประกาศผลรางวัลเมขลา ปี พ.ศ. 2529[155] และในฐานะนักพากย์ เขาพากย์เสียง "พี่เบิร์ด" ซึ่งเป็นการ์ตูนแอนนิเมชั่นเรื่องแรกของจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ที่ได้ธงไชยเป็นต้นแบบ ในเรื่อง เบิร์ดแลนด์ แดนมหัศจรรย์ เขาได้รางวัลร่วมกับทีมงาน รางวัลทีมพากย์การ์ตูนดีเด่น จากงานประกาศผลรางวัลโทรทัศน์ทองคำ ปี พ.ศ. 2555 เป็นต้น[156]

รางวัลในฐานะนักแสดง

ธงไชยแสดงภาพยนตร์ไทยทั้งหมด 7 เรื่อง โดยบทบาทสำคัญในการก้าวสู่การเป็นพระเอกภาพยนตร์อย่างเต็มตัว ในปี พ.ศ. 2528 จากภาพยนตร์ เรื่อง ด้วยรักคือรัก ส่วนด้านละครเรื่องแรกเขาเริ่มจากบทบาทนักแสดงสมทบในละครน้ำตาลไหม้ ซึ่งได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลผู้แสดงสมทบยอดเยี่ยม สำหรับบทบาทพระเอกละครที่สร้างชื่อเสียงที่สุด ในปี พ.ศ. 2533 ละครคู่กรรม ออกอากาศทางช่อง 7 สร้างประวัติศาตร์ละครที่มีเรตติ้งสูงสุดของไทย เรตติง 40[24] จากการสวมบทบาทเป็น "โกโบริ" ทำให้เขาได้รับรางวัลใหญ่ในยุคนั้นทั้ง 2 รางวัล คือ รางวัลนักแสดงนำชายดีเด่น จากงานประกาศผลรางวัลเมขลา ครั้งที่ 10 และรางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยม จากงานประกาศผลรางวัลโทรทัศน์ทองคำ ครั้งที่ 5 และในปี พ.ศ. 2536 เขากลับมาเล่นละครอีกครั้งในละคร วันนี้ที่รอคอย ซึ่งเป็นละครสร้างชื่อเสียงอีกเรื่องหนึ่งของเขาในบทบาท เจ้าซัน เขาได้รับรางวัลดารานำชายดีเด่น จากประกาศผลรางวัลโทรทัศน์ทองคำ ครั้งที่ 8 และในปี พ.ศ. 2538 เขากลับมารับบทบาท โกโบริ อีกครั้งในภาพยนตร์คู่กรรม ซึ่งเป็นอีกปรากฏการณ์ที่นักแสดงกลับมารับบทบาทเดียวกันถึง 2 ครั้ง เขาได้รางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยม จากงานประกาศผลรางวัลพระราชทานพระสุรัสวดี ประจำปี พ.ศ. 2538[157] เป็นต้น

รางวัลในฐานะนักร้อง

ธงไชย ในงานรับรางวัลสีสันต์อวิร์ด ปี 2551

ก่อนเข้าวงการเพลง ธงไชยเคยได้รับรางวัล "นักร้องดีเด่น" และรางวัลพิเศษจากคณะกรรมการอีก 2 รางวัล จากการเข้าร่วมประกวดร้องเพลงชิงชนะเลิศแห่งประเทศไทย สยามกลการ จัดโดยสยามกลกาลมิวสิกฟาวเดชั่น และเมื่อเข้าวงการเพลงเขามีอัลบั้มเต็ม 16 อัลบั้ม และอัลบั้มพิเศษต่าง ๆ รวมแล้วมียอดจำหน่ายมากกว่า 25 ล้านชุด และมียอดจำหน่ายสูงสุดตลอดกาลติดระดับแนวหน้าของเอเชีย[158] โดยอัลบั้มที่สร้างชื่อเสียงที่สุด ในปี พ.ศ. 2533 อัลบั้มบูมเมอแรง สร้างประวัติศาสตร์ยอดจำหน่ายมากกว่า 2 ล้านตลับแรกของศิลปินชาย และต่อเนื่องด้วยการทำลายสถิติของเขาเองในปี พ.ศ. 2534 อัลบั้มพริกขี้หนู ยอดจำหน่าย 3 ล้านตลับ สูงที่สุดแห่งยุค ยกให้เป็นอัลบั้มแห่งทศวรรษที่มีรายได้สูงสุด[32] ในปี พ.ศ. 2545 อัลบั้ม ชุดรับแขก สร้างประวัติศาสตร์ยอดจำหน่ายซีดีเพลงสูงสุดของไทย รวมวีซีดีคอนเสิร์ตแล้วมียอดจำหน่ายมากกว่า 8 ล้านชุด[29]

รางวัลประเภทบุคคล นักร้องยอดนิยมจากการประกาศรางวัล Billboard Viewer's Choice Awards 1997 ณ สหรัฐ ซึ่งเป็นคนแรกของทวีปเอเชีย รางวัลนักร้องยอดนิยมจากสื่อบันเทิงต่าง ๆ เช่น จากสมาคมนักข่าวบันเทิง งานสตาร์เอนเตอร์เทนเมนต์อวอร์ดส ธงไชยได้รับ 2 ครั้งคน จากหนังสือพิมพ์สยามดารา งานสยามดารา สตาร์ส อวอร์ดส์ ธงไชยได้รับ 2 ครั้ง จากนิตยสาร Oops จากนิตยสารทีวีพูล งานท็อปอวอร์ด ธงไชยได้รับถึง 6 ครั้ง จากสมาคมนักข่าวบันเทิง เป็นต้น

รางวัลพิเศษต่าง ๆ รางวัล Favorite Artist Thailand ณ ประเทศสิงคโปร์ จากผลรางวัลเอ็มทีวี เอเชีย อวอร์ดส ครั้งที่ 3 รางวัลศิลปินไทยแห่งปี เว็บไซต์ พันทิป.คอม รางวัลพิเศษ Inspiration Award จาก เอ็มทีวี เอเชีย อวอร์ดส รางวัล GRAND INSPIRATION จาก Seed award[159] เป็นต้น และเกียรติบัตร Male Artist of The Year จากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับบริษัท ดิจิตอล แอสโซ-ซิเอทส์ จำกัด[160] รางวัล Hottest Male Artist และรางวัล SEED Hall of fame จากคลื่นวิทยุ Seed 97.5 รางวัลนักร้องชายแห่งปี จากรายการไนน์เอ็นเตอร์เทน[161] รางวัลเกียรติยศ Lifetime Achievement Award สำหรับุคคลที่มีผลงานโดดเด่น และเป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่สังคม จากงานประกวด เคพีเอ็น อวอร์ด[162] รางวัลเกียรติยศแห่งปี Joox Icon Award จากงาน JOOX Thailand Music Awards พ.ศ. 2561[163] เป็นต้น

ธงไชย รับรางวัลประเภทคอนเสิร์ต "คอนเสิร์ตแบบเบิร์ดเบิร์ดโชว์

รางวัลประเภทมิวสิกวิดีโอ อัลบั้ม คอนเสิร์ต โดยธงไชยได้รับรางวัลจาก แชนแนลวีไทยแลนด์ หลายรางวัล เช่น รางวัลมิวสิกวีดีโอศิลปินชายยอดนิยม ในเพลง "เล่าสู่กันฟัง" อัลบั้มสไมล์คลับ เพลง "แฟนจ๋า" อัลบั้มชุดรับแขก เพลง "โอ้หละหนอ My love" อัลบั้มวอลุม วัน เพลง "ทูมัชโซมัชเวรีมัช" อัลบั้ม อาสาสนุก เป็นต้น โดยเพลง "แฟนจ๋า" และเพลง "โอ้หละหนอ My love" นอกจากได้รับรางวัลมิวสิกวีดีโอยอดนิยมแล้วยังได้รับรางวัลมิวสิกวีดีโอยอดเยี่ยมด้วย จากแชนแนลวีไทยแลนด์และจากคลื่นวิทยุ FAT radio 104.5 และยังได้รับรางวัลพิเศษมิวสิควิดีโอดีเด่นเพลง "รูปที่มีทุกบ้าน" จากชมรมส่งเสริมโทรทัศน์ ผลรางวัลโทรทัศน์ทองคำ[164] เป็นต้น สำหรับ รางวัลประเภทอัลบั้ม เช่น รางวัลอัลบั้มเพลงป๊อบยอดเยี่ยม ชุดรับแขก จากนิตยสาร แฮมเบอร์เกอร์[165] สำหรับรางวัลประเภทคอนเสิร์ต รางวัลพิเศษไทยประดิษฐ์จากคอนเสิร์ตแบบเบิร์ดเบิร์ดโชว์ จากแชนแนลวีไทยแลนด์ เป็นต้น

รางวัลประเภทผลงานเพลง ซึ่งธงไชยได้รับจากซิงเกิลอัลบั้ม ภาพยนตร์ และละคร เช่น รางวัลเพลงประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ในเพลง "สบาย สบาย" จากภาพยนตร์ หลังคาแดง ในงานประกาศผลรางวัลสุพรรณหงส์ทองคำ และเพลง "เธอคนเดียว" จากภาพยนตร์คู่กรรม งานประกาศผลรางวัลพระราชทานพระสุรัสวดี เพลงสร้างสรรค์พิเศษเพลง "ต้นไม้ของพ่อ" จากผลรางวัลพระพิฆเนศทอง รางวัลเพลงนำละครดีเด่น เพลง "นิรมิต" จากละครนิรมิต งานประกาศผลรางวัลเมขลา รางวัลเพลงยอดเยี่ยม ซึ่งได้รับจากนิตยสารสีสันต์ ในบทเพลง "เล่าสู่กันฟัง"และเพลง "น้ำตา" สำหรับเพลง "จะได้ไม่ลืมกัน" ประกอบภาพยนตร์ ความจำสั้น แต่รักฉันยาว ได้รับรางวัลเพลงประกอบจากภาพยนตร์ไทยแห่งปี จากผลรางวัลเฉลิมไทยอวอร์ด และรางวัลเพลงประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยม จากรางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ สุพรรณหงส์ รางวัลเพลงเต้นตายเพลง "ทูมัชโซมัชเวรีมัช" จากรายการ Bang Channel[166] รางวัลเพลงยอดนิยมเพลง "อย่าทำอย่างนี้ไม่ว่ากับใครเข้าใจไหม" จาก Intensive Watch[167][168] รางวัลท็อปดาวโหลดเพลง "คนแพ้ที่ไม่มีน้ำตา"[169] ราชาล้านตลับ[170] เป็นต้น

รางวัลประเภทภาพลักษณ์

สมาคมผู้สื่อข่าวบันเทิงแห่งประเทศไทยได้ให้ฉายากับธงไชย คือ "ดาวค้างกรุ" ในปี พ.ศ. 2548 และ "ป๋าพันปี" ในปี พ.ศ. 2550 เนื่องจากไม่ว่าจะผ่านไปกี่ปียังคงดังทนดังนานเหมือนเดิม เป็นที่เชิดหน้าชูตาให้กับวงการบันเทิง[51][55] นอกจากนั้นสื่อมวลชนยังให้สมญาณามกับเขาอีกมากมาย เช่น ซุปเปอร์สตาร์ตลอดกาล[171] ดาวค้างฟ้าขวัญใจมวลชน[172] เป็นต้น

โดยธงไชยได้รับรางวัลที่สะท้อนทางด้านภาพลักษณ์หลายรางวัล เช่น จากนิตยสาร ทีวีพูล นอกจากเขาจะได้รับรางวัลในฐานะนักร้องจากรางวัลท็อปอวอร์ด ทั้ง 6 ครั้งที่ได้กล่าวข้างต้นแล้ว เขายังได้รับรางวัลประเภทภาพลักษณ์จากงาน ทีวีพูลสตาร์ปาร์ตี้อวอร์ดส์ อีกจำนวน 5 ครั้ง ได้แก่ รางวัลศิลปินในดวงใจ รางวัลขวัญใจประชาชน และเขาได้รับรางวัลสตาร์ไอดอล เป็นต้น และเขาได้รับรางวัลจากนิตยสาร In Magazine รางวัลดาวค้างฟ้าชายแห่งปี 3 ครั้ง และได้รับรางวัลพิเศษที่สุดในดวงใจศิลปิน จากผลรางวัลพิเศษ Gmember ซึ่งธงไชยได้รับ 2 ครั้ง[173] เป็นต้น

อนุสรณ์

ธงไชย ณ ลานดารา ปี 2553
รอยฝ่ามือของ ธงไชย

ปี พ.ศ. 2553 ธงไชยประทับฝ่ามือลานเกียรติยศดาราไทย ดวงที่ 100 เพื่อเป็นอนุสรณ์ถาวรและแหล่งเรียนรู้สาธารณะ จัดโดยหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) โดยร่วมประทับรอยพิมพ์มือ-พิมพ์เท้า ณ ลานดารา ซึ่งเป็นบริเวณสำหรับให้ดาราภาพยนตร์ไทยยอดนิยมทั้งในอดีตและปัจจุบัน ได้ประทับรอยพิมพ์มือ-พิมพ์เท้าไว้เป็นอนุสรณ์[174]

ส่วนโดม สุขวงศ์ ผู้อำนวยการหอภาพยนตร์ องค์การมหาชน เปิดเผยว่า “ถือว่าเป็นวันประวัติศาสตร์ คือธงไชยอยู่ในใจของคนไทยทุกคนทุกวัย สร้างความสุขให้กับทุกบ้าน การที่เขามาที่นี่ก็เป็นการนำเอาความสุขมาประทับรอยจารึกไว้ เราจะรักษาสืบไปอาจจะเป็น 100 ปีข้างหน้า จะเป็นตำนาน เป็นความทรงจำอย่างหนึ่ง เป็นประวัติศาสตร์ เป็นจดหมายเหตุอย่างหนึ่ง”[175]

อ้างอิง

  1. "เบิร์ด ธงไชย ย้อนชมภาพสมัยเข้าวงการ-ปัจจุบัน หล่อเป๊ะในวัย 58 ปี". กระปุก.คอม. 7 มิถุนายน พ.ศ. 2560. สืบค้นเมื่อ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 2.5 2.6 2.7 2.8 30 ความทรงจำเล่าสู่กันฟังโดยธงไชย. ปีที่ 15 ฉบับที่ 176: อะเดย์. เมษายน พ.ศ. 2558. pp. 104–164. ISBN 1513-6205. สืบค้นเมื่อ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2561. {{cite book}}: Cite ไม่รู้จักพารามิเตอร์ว่างเปล่า : |coauthors= (help); ตรวจสอบค่า |isbn=: length (help); ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |access-date= และ |date= (help)CS1 maint: date and year (ลิงก์) CS1 maint: location (ลิงก์)
  3. "รวมดาราไทย เคยลำบากมาก่อน ในวัยเด็ก กว่าจะมีวันนี้". สุดสัปดาห์. 3 สิงหาคม พ.ศ. 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  4. 4.0 4.1 4.2 "ธงไชย แมคอินไตย์ ศิลปินขวัญใจประชาชน". ปีที่ 1 ฉบับที่ 1: หนังสือพิมพ์เอกชน. 30 สิงหาคม - 28 กันยายน 2534. pp. 15–48. {{cite book}}: |access-date= ต้องการ |url= (help); Cite ไม่รู้จักพารามิเตอร์ว่างเปล่า : |coauthors= (help); ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)CS1 maint: date and year (ลิงก์) CS1 maint: location (ลิงก์)
  5. การศึกษาธงไชย แมคอินไตย์. ฉบับที่ 9: นิตยสาร แฮมเบอร์เกอร์. เมษายน พ.ศ. 2558. p. 24. {{cite book}}: |access-date= ต้องการ |url= (help); Cite ไม่รู้จักพารามิเตอร์ว่างเปล่า : |coauthors= (help); ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |year= (help)CS1 maint: location (ลิงก์)
  6. "ดาราคนไหนบ้าง เคยเรียนสายอาชีพ มาก่อน?". campus-star. 29 มกราคม พ.ศ. 2560. สืบค้นเมื่อ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  7. 7.0 7.1 7.2 "ธงไชย แมคอินไตย์รับพระราชทานปริญญาบัตรกิตติมศักดิ์". รายการเส้นทางบันเทิง. ช่อง 7. 30 กันยายน พ.ศ. 2545. สืบค้นเมื่อ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2561. {{cite news}}: Cite ไม่รู้จักพารามิเตอร์ว่างเปล่า : |coauthors= (help); ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  8. "ปิดตำนานเวทีสยามกลการ ปิดตำนานผู้สร้างนักร้องคุณภาพเมืองไทย". สนุก.คอม. 17 ตุลาคม พ.ศ. 2556. สืบค้นเมื่อ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  9. "อัญชลี จงคดีกิจ : หนึ่งเดียวคนนี้ ที่แฟนๆ ยังไม่เคยลืม". อสมท. สืบค้นเมื่อ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  10. "วงการบันเทิงโศกสิ้นม.จ.ทิพยฉัตร". tlcthai. สืบค้นเมื่อ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  11. "คิดถึงปุ๊อัญชลี". เครือเนชั่น. สืบค้นเมื่อ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  12. "วันวาน-วันนี้ของคู่จิ้นยุค 90". หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ. สืบค้นเมื่อ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  13. "เบิร์ด ควง ปุ๊ อัญชลี ขึ้นเวทีในรอบ 29 ปี คอนเสิร์ต ขนนกกับดอกไม้". เอ็มไทย. สืบค้นเมื่อ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  14. "ย้อนยุคดู"7สี คอนเสิร์ต"เทปแรก พ.ศ. 2529 รายการดังในตำนานก่อนลาจอ". เอ็มไทย. 20 มีนาคม พ.ศ. 2558. สืบค้นเมื่อ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  15. "27 ปี 7 สีคอนเสิร์ต เวทีเกียรติยศของศิลปิน". เดลินิวส์. สืบค้นเมื่อ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  16. "GMM Grammy Office:รู้หรือไม่...ว่าเพลงนี้เป็นเพลงแจ้งเกิดของพี่เบิร์ด". sumiza. สืบค้นเมื่อ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  17. 17.0 17.1 "ดารากับผู้จัดการคู่บุญรักไม่เคยเปลี่ยนแปลง". ไทยโพสต์. 12 สิงหาคม พ.ศ. 2555. สืบค้นเมื่อ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  18. "GMM Superstar : อัลบั้มที่ดีที่สุดของแกรมมี่ ปี 1987". pictame.com. 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559. สืบค้นเมื่อ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  19. ""เบิร์ดธงไชย"...ดังข้ามไปประเทศจีน". สืบค้นเมื่อ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  20. แสงสุวรรณ์, มิ่งขวัญ (22 มีนาคม พ.ศ. 2551). งานแสดงสินค้าอาหารนานาชาติ 2008. หนังสือพิมพ์เดลินิวส์. p. 1. {{cite book}}: |access-date= ต้องการ |url= (help); Cite ไม่รู้จักพารามิเตอร์ว่างเปล่า : |coauthors= (help); ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |access-date= และ |date= (help)
  21. "หลังคาแดงเรื่องดีดีของคนบ้าบ้า เรื่องบ้าบ้าของคนดีดี". เครือเนชั่น. 8 สิงหาคม พ.ศ. 2553. สืบค้นเมื่อ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  22. "การเดินทางของมนุษย์บูมเมอแรง "Bird Thongchai Fever". รายการเบิร์ดสเปเชียล. ช่อง 7. 24 มิถุนายน พ.ศ. 2533. {{cite news}}: |access-date= ต้องการ |url= (help); Cite ไม่รู้จักพารามิเตอร์ว่างเปล่า : |coauthors= (help); ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  23. 23.0 23.1 23.2 "33 ปี 162 รอบ แบบเบิร์ดเบิร์ดโชว์เกิดทันดูครั้งไหนกัน". LINE TODAY. 25 มีนาคม 2562. สืบค้นเมื่อ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2562. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  24. 24.0 24.1 "ช่วงภาพเก่าเล่าใหม่ "ตอนอวสานโกโบริ",สร้างประวัติศาสตร์เรตติ้งสูงสุดของละครไทย เรตติ้ง 40". ช่อง 7. 17 เมษายน พ.ศ. 2555. สืบค้นเมื่อ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  25. "ปิดตำนานอังศุมาลินละครที่เรตติ้งสูงสุดของประวัติศาสตร์ละครไทย". เช้านี้ที่หมอชิต. ช่อง 7. 20 สิงหาคม พ.ศ. 2555. สืบค้นเมื่อ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  26. "GMM Superstar : อัลบั้มที่ดีที่สุดของแกรมมี่ ปี 1990". pictame.com. 18 ธันวาคม พ.ศ. 2559. สืบค้นเมื่อ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  27. "GMM Superstar : อัลบั้มที่ดีที่สุดของทศวรรษ 1990 - 1999". pictame.com. 23 ธันวาคม พ.ศ. 2559. สืบค้นเมื่อ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  28. 28.0 28.1 28.2 "เพลงเขาดังจริง!!! 33 อัลบั้มขายดีที่สุด(ตลอดกาล)จากแกรมมี่". MGR Online. 10 เมษายน พ.ศ. 2560. สืบค้นเมื่อ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  29. 29.0 29.1 29.2 ธงไชย แมคอินไตย์ ผู้สร้างปรากฏการณ์ซุปเปอร์สตาร์หนึ่งเดียวตลอดกาล. ปีที่ 31 ฉบับที่ 734: นิตยสารแพรว. 25 มีนาคม พ.ศ. 2553. pp. 168–174. ISBN 0125-6858. {{cite book}}: |access-date= ต้องการ |url= (help); Cite ไม่รู้จักพารามิเตอร์ว่างเปล่า : |coauthors= (help); ตรวจสอบค่า |isbn=: length (help); ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |access-date= และ |date= (help)CS1 maint: date and year (ลิงก์) CS1 maint: location (ลิงก์)
  30. "รำลึกวันวาน"สมเด็จพระเทพฯ" ทรงเป่าทรัมเป็ตเพลงคู่กัดกับเบิร์ด ธงไชย". โพสต์ทูเดย์. 18 ตุลาคม พ.ศ. 2559. สืบค้นเมื่อ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  31. "เบิร์ดธงไชย,...อัลบั้มพริกขี้หนู 3 ล้านชุด". สืบค้นเมื่อ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  32. 32.0 32.1 "BEST OF THE DECADE '90s*อัลบั้มที่ดีที่สุดของทศวรรษ! สุดยอดอัลบั้มในรอบ 10 ปี จาก 1990-1999 : ยุคที่วงการเพลงรุ่งเรืองถึงขีดสุด". GMM Superstar. 31 มีนาคม พ.ศ. 2559. สืบค้นเมื่อ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  33. 33.0 33.1 33.2 "10 ตำนานคอนเสิร์ตแบบเบิร์ดเบิร์ด ที่ยังคงประทับใจ". สนุก.คอม. 29 สิงหาคม พ.ศ. 2556. สืบค้นเมื่อ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  34. "'เบิร์ด-ธงไชย เทรน 'อ๋อมย้อนรอย,วันนี้ที่รอคอย ในปีพ.ศ. 2536 โด่งดังเป็นพลุแตก". Siamsport. 14 มิถุนายน พ.ศ. 2556. สืบค้นเมื่อ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  35. "ภาพหลงยุคไทยรัฐทีวี :ย้อนความทรงจำกับ คู่กรรม เวอร์ชัน เบิร์ด ธงไชย - อุ๋ม อาภาศิริ". ช่อง 32. Thairath TV,. 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557. สืบค้นเมื่อ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)CS1 maint: extra punctuation (ลิงก์)
  36. "ส่องฉายาทางธรรมเมื่อเหล่าดาราชายบวช". ดาราเดลี่. 15 กันยายน พ.ศ. 2558. สืบค้นเมื่อ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  37. "เบิร์ด ธงไชย ยึดวิถีชีวิตเรียบง่าย บางมุมก็เหงา แต่มีความรักจากแฟน". ไทยรัฐ. 6 สิงหาคม พ.ศ. 2554. สืบค้นเมื่อ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  38. "33 อัลบั้มที่มียอดจำหน่ายสูงสุดของ 33 ปีแกรมมี่". GMM Superstar. 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2560. สืบค้นเมื่อ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  39. ประมวลภาพงานพระราชทานเพลิงศพคุณแม่อุดม แมคอินไตย์. ฉบับพิเศษ: หนังสือดาราภาพยนตร์. ปี พ.ศ. 2544. p. 20. {{cite book}}: |access-date= ต้องการ |url= (help); Cite ไม่รู้จักพารามิเตอร์ว่างเปล่า : |coauthors= (help); ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |access-date= และ |year= (help)
  40. "GMM Superstar : อัลบั้มที่ดีที่สุดของแกรมมี่ ปี 80s-00s (1983-2009)". pictame.com. 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559. สืบค้นเมื่อ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  41. "เอแบคโพลล์: สุดยอดแห่งความประทับใจของประชาชนต่อนักกีฬาและคนบันเทิงในรอบปี2544". อาร์วายทีไนท์. 28 ธันวาคม พ.ศ. 2544. สืบค้นเมื่อ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  42. "สวนดุสิตโพล: ที่สุดแห่งปี 2544". อาร์วายทีไนท์. 30 ธันวาคม พ.ศ. 2544. สืบค้นเมื่อ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  43. "อัลบั้มขายดีที่สุด(ตลอดกาล):อัลบั้มชุดรับแขกยอดขายสูงที่สุดของประเทศไทย". GMM Superstar. 9 มิถุนายน พ.ศ. 2560. สืบค้นเมื่อ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  44. "ความเห็นยอดนิยมของคนกรุงในรอบปี พ.ศ. 2545,หมวดเพลงไทยสากลยอดนิยม". กรุงเทพโพลล์. 20 ธันวาคม พ.ศ. 2545. สืบค้นเมื่อ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  45. "เบิร์ด ศิลปินไทยยอดนิยม เอ็มทีวี เอเชีย อวอร์ดส์ 2004". สยามโซน.คอม. 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2547. สืบค้นเมื่อ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  46. "ที่สุดในความทรงจำ ที่สุด..ของแกรมมี่...ที่สุดแห่งยุค". pictame.com. 2 เมษายน พ.ศ. 2561. สืบค้นเมื่อ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  47. "เส้นทางชีวิตสุดพีคของตำนาน "เสก โลโซ" - เสกสรรค์ ศุขพิมาย". mango zero. 5 มกราคม พ.ศ. 2561. สืบค้นเมื่อ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  48. "ตีท้ายครัวย้อนหลังป้างนครินทร์". guchill. 8 กันยายน พ.ศ. 2556. สืบค้นเมื่อ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  49. "ผลรางวัล แชนแนล วี ไทยแลนด์ มิวสิกวิดีโอ อะวอร์ดส์ #5". สยามโซน.คอม. 20 มิถุนายน 2549. สืบค้นเมื่อ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  50. 50.0 50.1 "เอแบคโพลล์: ที่สุดของกีฬาและบันเทิงแห่งปี 2548: กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทั่วไปใน 20 จังหวัดทั่วประเทศ". อาร์วายทีไนท์. 30 ธันวาคม พ.ศ. 2548. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  51. 51.0 51.1 อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ :8
  52. "หนังสือพิมพ์ The Nation 35 most Influential Thais". nationmultimedia. สืบค้นเมื่อ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  53. "ผู้ทรงอิทธิพลของวงการบันเทิงปี 49". เอ็มไทย. 4 มกราคม พ.ศ. 2550. สืบค้นเมื่อ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  54. "ใช้นวัตกรรมซอฟต์แวร์สร้าง-"thailand-top-chart-2006"-ครั้งแรกในไทย". positioning magazine. 19 มกราคม พ.ศ. 2550. สืบค้นเมื่อ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  55. 55.0 55.1 อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ :9
  56. "50 อัลบั้มที่ขายดีที่สุดในยุคดิจิตอล 2007 - 2017". GMM Superstar. 21 สิงหาคม พ.ศ. 2560. สืบค้นเมื่อ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  57. "เหลียวหลังมองธุรกิจเพลงปีกระต่าย". คมชัดลึก. 1 มกราคม พ.ศ. 2555. สืบค้นเมื่อ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  58. "พี่เบิร์ด ดังไกล เกิร์ลกรุ๊ปญี่ปุ่นซื้อเพลงไปคัฟเวอร์-วง Berryz Koubou". กระปุก.คอม. 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2555. สืบค้นเมื่อ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  59. ""สรุปคอนเสิร์ตสุดร้อนแรงแห่งปี พ.ศ. 2554"". สนุก.คอม. 8 ธันวาคม พ.ศ. 2554. สืบค้นเมื่อ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  60. "ที่สุดแห่งปี-2-ค่ายเพลงย". บ้านเมือง. สืบค้นเมื่อ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  61. "ข่าวเว็บไซต์การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย-ททท. ชูกลยุทธ์ Music Marketing ดึง เบิร์ด – ธงไชย ป้อง-ณวัฒน์ ประกบนางเอกจีนชื่อดัง ประชาสัมพันธ์เที่ยวไทย ผ่านมิวสิควิดีโอเพลงจีน". tatnewsthai. 20 กันยายน พ.ศ. 2554. สืบค้นเมื่อ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  62. "กระทรวงวัฒนธรรมฯ"จับมือ "จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ฯ" - "เชลล์ฮัทฯ" และ "ช่อง3" ร่วมส่งเสริมคุณค่าวัฒนธรรมไทย.....ส่งซีรีส์การ์ตูน "เบิร์ดแลนด์…แดนมหัศจรรย์" ซีซั่น 3 ตอนพิเศษเพื่อเยาวชน". gmmgrammy. 27 มีนาคม พ.ศ. 2556. สืบค้นเมื่อ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  63. "หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ- 'เบิร์ด' ปลื้ม 'อีกไม่นาน' ไทย-ญี่ปุ่นแรง". ไทยรัฐ. สืบค้นเมื่อ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  64. "ซี้ดเบิร์ดฟัน30ล้านค่าจ้างพรีเซนเตอร์ส่วนแบบเบิร์ดเบิร์ดเพิ่มอีก 1 รอบรวมแล้ว 10 รอบ". สยามดารา. สืบค้นเมื่อ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  65. "แบบ เบิร์ดเบิร์ดโชว์ ครั้งที่ 10 แรงเกินต้าน เพิ่มรอบด่วน เพื่อแฟน". thaiticketmajor. 19 กันยายน พ.ศ. 2555. สืบค้นเมื่อ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  66. /ชมภาพชุด-พี่เบิร์ด-ทูตมิตรภาพจากไทย-เข้าร่วมงานเทศกาลหิมะซับโปโร/News-3594 "ชมภาพชุด'พี่เบิร์ด' ทูตมิตรภาพจากไทย เข้าร่วมงานเทศกาลหิมะซับโปโร". จีเมมเบอร์.คอม. 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556. สืบค้นเมื่อ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่า |url= (help); ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  67. "ASEAN-Japan Music Fair คอนเสิร์ตแสดงดนตรีและวัฒนธรรม ครบรอบ 40 ปี ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศญี่ปุ่น กับ กลุ่มประเทศอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ". jimdo.com. สืบค้นเมื่อ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  68. "เบิร์ด-ธงไชยได้รับเลือกเป็นตัวแทนประเทศไทย ร่วมงาน ASEAN-Japan Music Fair ณ ประเทศญี่ปุ่น". สืบค้นเมื่อ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  69. "เบิร์ด ธงไชย คว้า Japan Tourism Award 2013 จากการท่องเที่ยวญี่ปุ่น". สนุก.คอม. 1 มีนาคม พ.ศ. 2557. สืบค้นเมื่อ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  70. "'เบิร์ด-ธงไชย ปลื้มได้รับรางวัล Japan Tourism Award in Thailand 2013". สยามดารา. สืบค้นเมื่อ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  71. "พิธีมอบรางวัล Japan Tourism Award in Thailand 2013 สาขา special award" (PDF). yokosojapan. สืบค้นเมื่อ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  72. "เบิร์ด ธงไชย คว้า Japan Tourism Award 2013 จากการท่องเที่ยวญี่ปุ่น". สนุก.คอม. 1 มีนาคม พ.ศ. 2557. สืบค้นเมื่อ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  73. "แจ้งเกิด 5 เล่มใหม่ เปิดตัวในงานสัปดาห์หนังสือครั้งที่ 42". เครือผู้จัดการ. สืบค้นเมื่อ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  74. "สื่อญี่ปุ่นยกเบิร์ดเป็นไมเคิล แจ็คสัน เมืองไทย". TLCnews. สืบค้นเมื่อ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  75. "คุ้มค่าที่รอคอย! "ขนนกกับดอกไม้ ดิออริจินัล" ฟินเวอร์". สนุก.คอม. 2 มีนาคม 2558. สืบค้นเมื่อ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  76. "เบิร์ด-ธงไชยดีใจ ชวนแฟนเพลงไทย-พม่าแลกเปลี่ยนมิตรภาพความสุขร่วมกันในคอนเสิร์ต". สยามดารา. สืบค้นเมื่อ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  77. ""เบิร์ด" สร้างปรากฏการณ์สนามบินพม่าแตก สุดปลื้มได้รางวัล "Lifetime Achievement Award"". ดาราเดลี่. 6 เมษายน พ.ศ. 2558. สืบค้นเมื่อ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  78. "แอบส่อง "เบิร์ด-ธงไชย" นอนกลางดิน กินกลางทราย!! ในทีวีมูฟวี่ "รักคำเดียว ภารกิจ คลุกฝุ่น"". gmmgrammy. สืบค้นเมื่อ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  79. ""เบิร์ด" ภูมิใจรับ "แบรนด์แอมบาสเดอร์" สื่อสาร แคมเปญ "จากดินสู่ดาว…ด้วยพลังแห่งความรัก"โดยมีผู้สนับสนุน ดาวเฮืองกรุ๊ป ผู้ผลิตดาวคอฟฟี่ จากประเทศลาว". starupdate. 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559. สืบค้นเมื่อ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  80. "สน-วิว-พี่เบิร์ด ถ่ายทอด "ให้" สุดซึ้ง"เราเกิดในรัชกาลที่ ๙ เดอะซีรีส์"". MGR Online. 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559. สืบค้นเมื่อ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  81. "ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ...ในหลวงร.10 เปิดพื้นที่เขตพระราชฐานพระราชวังดุสิต ให้ประชาชนชมการแสดงดนตรีชุด แผ่นดินของเรา". Tnews. 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2560. สืบค้นเมื่อ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  82. "เบิร์ด ธงไชย ซาบซึ้ง เข้าถวายพระเพลิงพระบรมศพ กราบลาครั้งสุดท้าย". ไทยรัฐ. 26 ตุลาคม พ.ศ. 2560. สืบค้นเมื่อ 30 พฤศจิกายน 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  83. "เบื้องหลัง Bird Marathon Project". นิตยสาร เดอะ คลาวด์. 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560. สืบค้นเมื่อ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  84. "ศิลปินรุ่นใหม่ โคตรคูล ได้ประกบทำเพลงกับ พี่เบิร์ด ธงไชย แมคอินไตย์". Musictrueid. 9 มกราคม 2561. สืบค้นเมื่อ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  85. "เผยแล้วรายชื่อผู้ชนะรางวัล Joox Thailand Music Award พ.ศ. 2561". สนุก.คอม. 22 มีนาคม พ.ศ. 2561. สืบค้นเมื่อ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  86. "เปิดโผรางวัล "สีสัน อวอร์ดส์" ครั้งที่ 30". คมชัดลึก. 6 เมษายน 2562. สืบค้นเมื่อ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2562. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  87. "เผยกลับมาให้หายคิดถึง แบบเบิร์ดเบิร์ดโชว์-DREAM JOURNEY เริ่มจองบัตร". กระปุก.คอม. 22 มีนาคม 2561. สืบค้นเมื่อ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  88. "ไม่พูดเยอะ เจ็บคอ! บัตรแบบเบิร์ดเบิร์ดโชว์ ครั้งที่ 11 SOLD OUT ทุกรอบ ทุกที่นั่ง". ไทยทิคเก็ตเมเจอร์. 25 ตุลาคม พ.ศ. 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  89. "คอนเสิร์ตพี่เบิร์ด จะกลับมาอีกครั้ง ตามคำเรียกร้อง". ดาราภาพยนตร์. 8 ธันวาคม พ.ศ. 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  90. "SINGING BIRD เพิ่มรอบ "เบิร์ด-ธงไชย" ขอบคุณแฟนๆ". ไทยรัฐ. 5 มิถุนายน พ.ศ. 2562. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  91. "กกต.เลือก"เบิร์ด-ธงไชย"เป็นพรีเซนเตอร์ชวนเลือกตั้ง3ก.ค.นี้". เอ็มคอต. สืบค้นเมื่อ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  92. "ศิลปินตัวอย่างพาเหรดเลือกตั้ง". คมชัดลึก. 7 มีนาคม พ.ศ. 2556. สืบค้นเมื่อ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  93. "นับถอยหลังเลือกตั้ง.... งัดกลยุทธ์สร้างสีสัน กระตุ้นคนไทยออกไปใช้สิทธิ์". คมชัดลึก. 30 มิถุนายน พ.ศ. 2554. สืบค้นเมื่อ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  94. "เข้าพรรษานี้...ขอให้มี ‘ดวงตาเห็นธรรม". คมชัดลึก. 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2554. สืบค้นเมื่อ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2561. {{cite web}}: C1 control character ใน |title= ที่ตำแหน่ง 24 (help); ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  95. ""เบิร์ด" นำทีมรณรงค์อุดหนุน "ดอกป๊อปปี้" ช่วยครอบครัวทหารผ่านศึก". สยามดารา. สืบค้นเมื่อ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  96. "พี่'เบิร์ด' ชวนร่วมทำบุญ บริจาคเงินซื้อเครื่องมือแพทย์ ให้กับสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์". ข่าวสด. 4 เมษายน พ.ศ. 2561. สืบค้นเมื่อ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  97. ""เที่ยวไทยครึกครื้น เศรษฐกิจไทยคึกคัก"". prakard.com. 24 มีนาคม พ.ศ. 2552. สืบค้นเมื่อ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  98. "ททท.ชู "พี่เบิร์ด" พรีเซ็นเตอร์เที่ยวไทยในค่าตัว 62 ล้านบาท". MGR Online. 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552. สืบค้นเมื่อ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  99. "เผยหลังดึงเบิร์ดเป็นพรีเซ็นเตอร์สร้างการรับรู้ของคนไทยถึง99%". Pattayadailynews. สืบค้นเมื่อ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  100. "นักท่องเที่ยวทะลักสามพันโบกหลังดึงเบิร์ดเป็นพรีเซ็นเตอร์". สืบค้นเมื่อ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  101. "ททท.เลือกเบิร์ดอีกครั้งกับโครงการ 12 เดือน 7 ดาว 9 ตะวัน". สนุก.คอม. สืบค้นเมื่อ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  102. "นักท่องเที่ยวแห่เที่ยวมอหินขาวกว่า 2 หมื่น นำรายได้ให้ชัยภูมินับล้าน". Chaiyaphumnews. 31 ธันวาคม พ.ศ. 2552. สืบค้นเมื่อ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  103. "31 ธ.ค. 52 นักท่องเที่ยวทั่วสารทิศแห่เที่ยวมอหินขาว จนได้รับการโหวตติด 1 ใน 5 สถานที่น่าท่องเที่ยวที่สุดของประเทศไทย". เครือเนชั่น. สืบค้นเมื่อ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  104. 104.0 104.1 ""ททท. ดึง เบิร์ด – ธงไชย ป้อง-ณวัฒน์ โปรโมทเที่ยวไทย ผ่าน MV เพลงจีน"". MGR Online. 21 กันยายน พ.ศ. 2554. สืบค้นเมื่อ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  105. "บุษบา ดาวเรือง เรื่อง 'เล็ก' น้อยนิด มหาศาล". THE STANDARD. 2 มีนาคม พ.ศ. 2561. สืบค้นเมื่อ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  106. "พี่เบิร์ดเอาใจแฟนเด็กเบิร์ดแลนด์แดนมหัศจรรย์". grammy. 13 ตุลาคม พ.ศ. 2553. สืบค้นเมื่อ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  107. ""กระทรวงวัฒนธรรมฯ"จับมือ "จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ฯ" - "เชลล์ฮัทฯ" และ "ช่อง3" ร่วมส่งเสริมคุณค่าวัฒนธรรมไทย.....ส่งซีรีส์การ์ตูน "เบิร์ดแลนด์…แดนมหัศจรรย์" ซีซั่น 3 ตอนพิเศษเพื่อเยาวชน". grammy. 27 มีนาคม พ.ศ. 2556. สืบค้นเมื่อ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  108. "ศิลปินแกรมมี่ที่ได้รับรางวัลลูกกตัญญู ของสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ นำโดยเบิร์ด ธงไชยถ่ายทอดบทเพลง "BIKE FOR MOM" (รักที่ยิ่งกว่ารัก)". สยามดารา. สืบค้นเมื่อ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  109. 109.0 109.1 อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ :rampoll
  110. "เบิร์ด ธงไชย กับความอบอุ่น เยี่ยมคุณพ่อบุญธรรม หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี". กระปุก.คอม. 2 สิงหาคม พ.ศ. 2560. สืบค้นเมื่อ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  111. "วธ.จัดคอนเสิร์ตธรรมะหาเงินบูรณะโบราณสถานพังเหตุแผ่นดินไหว". Thaimuslim. 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2554. สืบค้นเมื่อ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  112. """ป๋าเบิร์ด"ปลื้ม! รับโล่ "ผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา"". Thaimuslim. สืบค้นเมื่อ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  113. "'เบิร์ด ธงไชย' รับรางวัลเกียรติยศ 'พระกินรี 2556'". วอยซ์ทีวี. 29 มกราคม พ.ศ. 2556. สืบค้นเมื่อ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  114. ""เบิร์ด ธงไชย" คว้ารางวัล "ดาวเมขลา 2557"". MGR Online. 22 มิถุนายน พ.ศ. 2557. สืบค้นเมื่อ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  115. "รวมบทเพลงของ "พ่อ" ร้องโดยเบิร์ด" ธงไชย". คมชัดลึก. 20 ตุลาคม พ.ศ. 2559. สืบค้นเมื่อ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  116. "เปิดใจ "เบิร์ด ธงไชย" ศิลปินผู้ถ่ายทอด "เพลงเพื่อพ่อ"". เนชั่นทีวี. 20 ตุลาคม พ.ศ. 2559. สืบค้นเมื่อ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  117. "ทรงนิพนธ์"คือ...สายใย" พระองค์ทีฯครบ1ชันษา". palungjit.org. 26 เมษายน พ.ศ. 2549. สืบค้นเมื่อ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  118. "เบิร์ด-ดี้ สร้างเพลง'ส่งนางฟ้ากลับสวรรค์'เทิดพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ". MusicThaiza=1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561. 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  119. "เบิร์ด-ธงไชย นำทีม "แก้ม-กัน" ร่วมแสดงมหกรรมดนตรีไทยเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ". Gmmgrammy. สืบค้นเมื่อ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  120. ""เบิร์ด" ปลาบปลื้มร่วมแสดงละคร "ในสวนฝันฯ"". เดลินิวส์. สืบค้นเมื่อ 22 พฤษภาคม 2562. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  121. "ร้องเพลงยาวี "ซัมไปกัน ฮาตี" กับ เบิร์ด ธงไชย". ผู้จัดการออนไลน์. 11 มีนาคม 2548. สืบค้นเมื่อ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  122. "'เบิร์ด' ปลื้ม 'อีกไม่นาน' ไทย-ญี่ปุ่นแรง". ไทยรัฐออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  123. "เพลงประจำมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี". มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี. สืบค้นเมื่อ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  124. "ร้องเพลงยาวี "ซัมไปกัน ฮาตี" กับ "เบิร์ด ธงไชย"". MGR Online. สืบค้นเมื่อ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  125. ""เบิร์ด" ควัก 1.2 แสน ซื้อเสื้อช่วยสึนามิที่ญี่ปุ่น". MGR Online. 26 มีนาคม พ.ศ. 2554. สืบค้นเมื่อ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  126. "ป๋าเบิร์ด นำทีมศิลปินรับรางวัลเพชรในเพลง 2552". สยามดารา. สืบค้นเมื่อ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  127. "เบิร์ด, แอ๊ด นำทีมคว้ารางวัลเพชรในเพลงเนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ". สยามดารา. สืบค้นเมื่อ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  128. "โพลมหาชนดาราที่ใช้ภาษาไทยดีเยี่ยม". เอ็มคอต. สืบค้นเมื่อ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  129. "พลิกพาณิชย์ศิลป์แบบ "เต๋อ เรวัต" มันสมอง-ผู้ร่วมตั้ง "แกรมมี่" ปฏิวัติเพลงไทยยุคใหม่". SILPA-MAG.COM. 15 พฤษภาคม 2562. สืบค้นเมื่อ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2562. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  130. "เบิร์ด ธงไชย' ปลื้ม เข้าชิง World Music Awards 2014 (สาขา World's Best Male Artist และสาขาWorld's Best Entertainer)". วอยซ์ทีวี. 25 เมษายน 2557. สืบค้นเมื่อ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2562. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  131. "ปรากฏการณ์ 7 ผู้ทรงพลังในวงการบันเทิงไทยแห่งปี". วอยซ์ทีวี. 1 มกราคม พ.ศ. 2560. สืบค้นเมื่อ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2562. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  132. 132.0 132.1 ดำรงชัยธรรม, ไพบูลย์ (31 กรกฎาคม พ.ศ. 2544). ลูกที่มีดวงสมพงษ์กับแม่. หนังสือที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพนางอุดม แมคอินไตย์. pp. 99–100. {{cite book}}: |access-date= ต้องการ |url= (help); Cite ไม่รู้จักพารามิเตอร์ว่างเปล่า : |coauthors= (help); ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |year=, |accessdate= และ |date= (help)CS1 maint: date and year (ลิงก์)
  133. "ยุคทองของโชว์บิชแกรมมี่ภายใต้ปีกการดูแลของบุญบา ดาวเรือง". MGR Online. สืบค้นเมื่อ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  134. "บุษบา ดาวเรือง หงส์เหนือมังกร". Positioning. 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550. สืบค้นเมื่อ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  135. พัฒนถาบุตร, พรพิชิต (31 สิงหาคม พ.ศ. 2533). พรพิชิต พัตนถาบุตร คนใกล้ชิดของเบิร์ด. ปีที่ 14 ฉบับที่ 324: นิตยสารดิฉัน. {{cite book}}: |access-date= ต้องการ |url= (help); Cite ไม่รู้จักพารามิเตอร์ว่างเปล่า : |coauthors= (help); ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |year=, |accessdate= และ |date= (help)CS1 maint: date and year (ลิงก์) CS1 maint: location (ลิงก์)
  136. "เบิร์ด ธงไชย ดาวค้างฟ้า ขวัญใจมวลชน". Gossipstar. 12 สิงหาคม พ.ศ. 2555. สืบค้นเมื่อ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  137. "บทสัมภาษณ์ช่างแต่งหน้าพี่เบิร์ด-อัญชนา คุ้มวงษ์". bkgolf. มีนาคม พ.ศ. 2551. สืบค้นเมื่อ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  138. "'เบิร์ด'ปฏิบัติธรรมทำหน้าใส เปลือยใจ'รักไม่มุ่งยุ่งแต่งาน'". eduzones.com. สืบค้นเมื่อ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  139. "ใช้ชีวิตอย่างคนรู้จักสุข อย่าง เบิร์ด ธงไชย แมคอินไตย์". นิตยสาร Secret. สืบค้นเมื่อ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  140. "เบิร์ด ธงไชย ผู้กินอาหารแค่ 2 ร้าน ซื้อเสื้อผ้าเอง เคยเกือบตายบนเทพีเสรีภาพ". readthecloud. 9 สิงหาคม พ.ศ. 2561. สืบค้นเมื่อ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  141. "เบิร์ดธงไชยเร่งฟิตหุ่นลงคอนเสิร์ตใหญ่แย้มมีหนัง". Innnews. สืบค้นเมื่อ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  142. "ซุปเปอร์สตาร์ตัวจริง ดู๋ สัญญา เผยความลับของเบิร์ด ธงไชย". ที่นี่.คอม. 7 มีนาคม พ.ศ. 2559. สืบค้นเมื่อ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  143. เอนกายคุยกันแบบ สบาย สบาย กับพี่เบิร์ด ธงไชย แมคอินไตย์. นิตยสาร Secret. 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2557. สืบค้นเมื่อ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2561. {{cite book}}: Cite ไม่รู้จักพารามิเตอร์ว่างเปล่า : |coauthors= (help); ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)CS1 maint: date and year (ลิงก์)
  144. "ลูกหลานดารา หน้าใสๆ ใกล้จะดัง". โพสต์ทูเดย์. 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555. สืบค้นเมื่อ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  145. "เบิร์ด ธงไชย ผู้กินอาหารแค่ 2 ร้าน ซื้อเสื้อผ้าเอง เคยเกือบตายบนเทพีเสรีภาพ". The Cloud. 9 สิงหาคม พ.ศ. 2561. สืบค้นเมื่อ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  146. "'เบิร์ด ธงไชย' ยึดวิถีชีวิตเรียบง่าย บางมุมก็เหงา แต่มีความรักจากแฟน". ไทยรัฐ. 6 สิงหาคม พ.ศ. 2554. สืบค้นเมื่อ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  147. ""เบิร์ด ธงไชย กับความอบอุ่น เยี่ยมคุณพ่อบุญธรรม หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี". กระปุก.คอม. 2 สิงหาคม พ.ศ. 2560. สืบค้นเมื่อ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  148. รายชื่อผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก. เล่ม 109 ตอนที่ 76: ประกาศในราชกิจจานุเบกษา. 10 มิถุนายน พ.ศ. 2535. p. 30. {{cite book}}: |access-date= ต้องการ |url= (help); Cite ไม่รู้จักพารามิเตอร์ว่างเปล่า : |coauthors= (help); ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)CS1 maint: location (ลิงก์)
  149. รายชื่อผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์. เล่ม 122 ตอนที่ 23 ข: ประกาศในราชกิจจานุเบกษา. 3 ธันวาคม พ.ศ. 2548. p. 3. {{cite book}}: |access-date= ต้องการ |url= (help); Cite ไม่รู้จักพารามิเตอร์ว่างเปล่า : |coauthors= (help); ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)CS1 maint: location (ลิงก์)
  150. ""เบิร์ด-ธงไชย แมคอินไตย์ ข้ารับพระราชทานเหรียญกาชาดสมนาคุณชั้นที่ 1 จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี". Gmmgrammy. 3 กันยายน พ.ศ. 2555. สืบค้นเมื่อ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  151. "โมเดิร์นไนน์ทีวีรับโล่ประทาน "พระสังฆราช" ผู้บำเพ็ญประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา,19 ตุลาคม 2555". เอ็มคอต. สืบค้นเมื่อ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  152. "เบิร์ดปลื้มรับโล่ผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา". สยามดารา. สืบค้นเมื่อ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  153. "พี่เบิร์ดรับรางวัลกินรี พ.ศ. 2556 พร้อมบินร่วมงาน snow festival". เรื่องเล่าเช้านี้. สืบค้นเมื่อ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  154. "เบิร์ดนำทีมคนบันเทิงรับรางวัลกินรี". สยามดารา. สืบค้นเมื่อ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  155. "27 ปี 7 สีคอนเสิร์ต เวทีเกียรติยศของศิลปิน". เดลินิวส์. สืบค้นเมื่อ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  156. "ผลการประกาศรางวัล โทรทัศน์ทองคำ ประจำปี 2554". สยามโซน.คอม. 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555. สืบค้นเมื่อ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  157. "รางวัลพระสุรัสวดี (ตุ๊กตาทอง) ปี 2538". มูลนิธิหนังไทย. สืบค้นเมื่อ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  158. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ :6
  159. "พี่เบิร์ด-บอดี้สแลม-ซิงกูล่า แท็คทีมคว้ารางวัลใหญ่ Seed Awards". สนุก.คอม. 4 มีนาคม พ.ศ. 2554. สืบค้นเมื่อ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  160. "ใช้นวัตกรรมซอฟต์แวร์สร้าง "THAILAND TOP CHART 2006" ครั้งแรกในไทย". positioningmag.com. สืบค้นเมื่อ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  161. "ผลการประกาศรางวัล ไนน์ เอ็นเตอร์เทน อวอร์ด ปี 2008". สยามโซน. 2 มิถุนายน พ.ศ. 2551. สืบค้นเมื่อ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  162. ""เบิร์ด" สร้างปรากฏการณ์สนามบินพม่าแตก สุดปลื้มได้รางวัล". ดาราเดลี่. 6 เมษายน พ.ศ. 2558. สืบค้นเมื่อ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  163. "เผยแล้วรายชื่อผู้ชนะรางวัล Joox Thailand Music Award พ.ศ. 2561". สนุก.คอม. 22 มีนาคม พ.ศ. 2561. สืบค้นเมื่อ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  164. "โทรทัศน์ทองคำ สุดกร่อย! "แอฟ-ชาย" เจ๋งคว้าดารานำ ด้าน โอ๋-รุ่งระวี ขโมยซีนเต้าเทียมโผล่". เอ็มไทย. 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2551. สืบค้นเมื่อ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  165. HAMBURGER AWARDS#1. ปีที่1 ฉบับที่ 9: นิตยสารHAMBURGER. ธันวาคม พ.ศ. 2545. pp. 30–41. {{cite book}}: |access-date= ต้องการ |url= (help); Cite ไม่รู้จักพารามิเตอร์ว่างเปล่า : |coauthors= (help); ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |year=, |accessdate= และ |date= (help)CS1 maint: date and year (ลิงก์) CS1 maint: location (ลิงก์)
  166. "ซิงกูล่าร์ ทำ Hatrick คว้า 3 รางวัล Bang Awards 2011l". เอ็มไทย. 6 กันยายน พ.ศ. 2554. สืบค้นเมื่อ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  167. "อย่าทำอย่างนี้ไม่ว่ากับใคร...เข้าใจไหม ป๋าเบิร์ด แรง เปิดมากที่สุด". สนุก.คอม. 16 ธันวาคม พ.ศ. 2554. สืบค้นเมื่อ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  168. "Intensive Watch มอบรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติปลื้มมอบรางวัลให้เบิร์ด". สยามดารา. สืบค้นเมื่อ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  169. "เบิร์ด ธงไชย คว้าซุปตาร์ตลอดกาล สยามดารา สตาร์ อวอร์ดส์ 2013". bugaboo.tv. 27 มิถุนายน พ.ศ. 2556. สืบค้นเมื่อ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  170. "33rd Year GMM GRAMMY : MILLION ALBUMS". instazu.com. 6 เมษายน พ.ศ. 2560. สืบค้นเมื่อ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  171. "เบิร์ด ธงไชย คว้ารางวัลซุปตาร์ตลอดกาล สยามดารา สตาร์ อวอร์ดส์". bugaboo.tv. 27 มิถุนายน พ.ศ. 2556. สืบค้นเมื่อ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  172. "เบิร์ด ธงไชย ดาวค้างฟ้า ขวัญใจมวลชน". เอ็มไทย. 12 สิงหาคม พ.ศ. 2555. สืบค้นเมื่อ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  173. "พี่เบิร์ดสุดยอดศิลปินในดวงใจศิลปิน". จีเมมเบอร์.คอม. สืบค้นเมื่อ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  174. "พิมพ์รอยฝ่ามือฝ่าเท้า 'เบิร์ด-ธงไชย' ลานดาราหอภาพยนตร์". ไทยรัฐ. 4 เมษายน พ.ศ. 2553. สืบค้นเมื่อ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  175. ""เบิร์ด-ธงไชย" รายที่ 100 คนดังประทับฝ่ามือ-ฝ่าเท้าบนลานดารา". โพสต์ทูเดย์. 6 เมษายน พ.ศ. 2553. สืบค้นเมื่อ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)

แหล่งข้อมูลอื่น