ศันสนีย์ เสถียรสุต

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ศันสนีย์ เสถียรสุต
เกิดศันสนีย์ ปัญญศิริ
31 ตุลาคม พ.ศ. 2496
อำเภอบางปะหัน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ประเทศไทย
เสียชีวิต7 ธันวาคม พ.ศ. 2564 (68 ปี)
เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
สาเหตุเสียชีวิตโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร
ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
อาชีพนักปฏิบัติธรรม แม่ชี, นักเขียน
ปีปฏิบัติงานพ.ศ. 2523 – 2564
องค์การเสถียรธรรมสถาน
คู่สมรสเสถียร เสถียรสุต (หย่าร้าง)
บุพการี
  • เฉลียว จรัสศรี (บิดา)
  • จำลอง พรหมินทะโรจน์ (มารดา)
เว็บไซต์เว็บไซต์ทางการ

แม่ชี ศันสนีย์ เสถียรสุต (นามเดิม :ศันสนีย์ ปัญญศิริ ชื่อเล่น ตุ๊กตา) (31 ตุลาคม พ.ศ. 2496 – 7 ธันวาคม พ.ศ. 2564) เป็นผู้ก่อตั้งเสถียรธรรมสถาน สาวิกาสิกขาลัย หุบเขาโพธิสัตว์ และธรรมาศรม และเป็นนักปฏิบัติธรรม และนักเขียน

ประวัติ[แก้]

แม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต หรือนามเดิม ศันสนีย์ ปัญญศิริ (ตุ๊กตา) เกิดวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2496 เป็นบุตรีของเฉลียว จรัสศรี นายอำเภอบางปะหัน[1] จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และจำลอง พรหมินทะโรจน์ ครูประจำโรงเรียนบางปะหัน (เชื่อมประชานุกูล) มีพี่สาว 1 คน คือสายสัมพันธ์ ปัญญศิริ (ตุ๋มติ๋ม)[1] เคยพบรักกับ เสถียร เสถียรสุต [2] ซึ่งต่อมาได้เป็นผู้ร่วมก่อตั้งเสถียรธรรมสถาน และมีพี่น้องต่างมารดา คือทัศนะ จรัสศรี และ ศ.ดร.นราพงษ์ จรัสศรี (ต้ำ) (ผู้บุกเบิกนาฏยศิลป์ร่วมสมัยในประเทศไทย)

การศึกษา[แก้]

  • ชั้นอนุบาล – โรงเรียนอนุบาลพระนครศรีอยุธยา[3]
  • ประถมศึกษาปีที่ 1–4 โรงเรียนบางปะหัน (เชื่อมประชานุกูล)[4]
  • ประถมศึกษาปีที่ 5–7 โรงเรียนประตูชัย[5]
  • มัธยมศึกษาปีที่ 1–3 โรงเรียนจอมสุรางค์อุปถัมภ์[6]
  • จากนั้นเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนฝึกหัดครู วิทยาลัยครูพระนครศรีอยุธยา (ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา)
  • พ.ศ. 2528 : ปริญญาตรีคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

ปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์[แก้]

การทำงาน[แก้]

  • พ.ศ. 2519−2523 เจ้าหน้าที่ PR สถานออกกำลังกายและเสริมความงามครบวงจร World Club

วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2523 สละทางโลกเข้าสู่บวรพุทธศาสนาด้วยการบวชชี ที่วัดศิริพงษ์ธรรมนิมิต โดยมีพระครูภาวนาภิธาน เป็นพระอุปัชฌาย์

  • พ.ศ. 2530 ก่อตั้ง ‘เสถียรธรรมสถาน’ ชุมชนแห่งการเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสันติ โดยมีพระธรรมนำทาง ทำงานสร้างชีวิตในทุกช่วงวัย ตั้งแต่เกิดจนตาย เพื่อสร้างสังคมให้อยู่เย็นเป็นสุข พ้นทุกข์ร่วมกัน กว่า 30 ปีที่ผ่านมา เสถียรธรรมสถานมีนวัตกรรมการฉุดช่วยเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งงานเชิงรุกและเชิงรับ อันได้แก่ จิตประภัสสรตั้งแต่นอนอยู่ในครรภ์, โรงเรียนพ่อแม่, อารยตาราภาวนาวิชชาลัย, สาวิกาสิกขาลัย, โครงการเยาวชน ‘บ่มเพาะ แตกหน่อ ต่อยอด เมล็ดพันธุ์แห่งปัญญา’ (Seeds Of Spirituality - SOS), International Tara Awards รางวัลสำหรับคนปลุกสังคมด้วย ‘หัวใจโพธิสัตว์’, ISV Club (International Spiritual Volunteer Club), CSV Club (Community Spiritual Volunteer Club), ธรรมชาติบำบัด และการเยียวยาผู้ป่วยระยะสุดท้าย
  • พ.ศ. 2551 ก่อตั้ง ‘สาวิกาสิกขาลัย’ มหาวิชชาลัยธรรมะเพื่อเยียวยาสังคม ที่มุ่งหวังส่งเสริมคนให้เป็น ‘อริยชน’ รู้จักการใช้ปัญญาในการดำเนินชีวิตเพื่อเปลี่ยนจาก ‘การเป็นทุกข์’ ไปสู่ ‘การเห็นทุกข์’ ดำเนินชีวิตอย่างรู้ ตื่น และเบิกบาน นำหลักพุทธธรรมไปช่วยเยียวยาผู้อื่นและสังคม โดยจัดกระบวนการศึกษาเรียนรู้เพื่อการบรรลุธรรมในระดับปริญญาตรีและปริญญาโท
  • พ.ศ. 2560 ก่อตั้ง ‘ธรรมาศรม’ (Mindfulness Hospital) ที่มีนวัตกรรมแห่งการฉุดช่วยให้คนทุกช่วงวัยอยู่อย่างมีความหมาย...ตายอย่างมีคุณค่า ป้องกันตั้งแต่เกิด แก่ เจ็บ ตาย และจากพรากอันเป็นสิ่งที่มนุษย์สุดจะเลี่ยง ‘เกิด’ อย่างไรอย่างมีสติปัญญา ‘แก่’ อย่างไรอย่างเห็นคุณค่าในตัวเอง ‘เจ็บ’ อย่างไรอย่างไม่หวั่นกลัวต่ออันตราย ‘ตาย’ อย่างไรอย่างกล้าคืนไม่ฝืนไว้ และ ยอมรับการ ‘จากพราก’ จากสิ่งที่รัก เพราะได้บริหารเวลาอย่างประเสริฐสุดแล้วในขณะที่มีกันและกัน

นอกจากนี้ยังได้จัดตั้ง ‘กองทุนเสถียรธรรม’ โดยมี เสถียร เสถียรสุต เป็นประธาน และ แม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต เป็นผู้อำนวยการ

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแผ่ธรรมะแก่เพื่อนมนุษย์ (เด็ก หนุ่มสาว ผู้ใหญ่) ให้ได้รับความสงบเย็น และผ่องใสเบิกบาน ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น
การจัดโครงการ ‘ศิลปะการพัฒนาชีวิตด้วยอานาปานสติภาวนา’ แก่ผู้สนใจทั่วไปทั้งที่เป็นผู้สูงวัย ครูบาอาจารย์ นักเรียน นิสิต นักศึกษา ตลอดจนนักบวชสตรี (แม่ชี)
การจัดค่าย ‘โลกสวยด้วยพระธรรม’ เพื่ออบรมเยาวชนให้รู้จักและเข้าใจการพัฒนาตนเองอย่างสร้างสรรค์
การจัดให้มี ‘บ้านสายสัมพันธ์’ เพื่อสรรค์สร้างสายใยแห่งความรัก ความอาทรอย่างอบอุ่นระหว่างแม่กับลูก
การดูแลสถานเลี้ยงเด็กเล็ก ชื่อ ‘ศูนย์เด็กก่อนเกณฑ์ วัดศิริพงษ์ธรรมนิมิต (บ้านเรียนแห่งรักและศานติ)’ ที่บ่มเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งปัญญาโดยใช้หลักพุทธธรรมฝึกสมาธิ ปัญญา ปลูกฝังคุณธรรม[8]
  • พ.ศ. 2562 ก่อตั้ง ‘หุบเขาโพธิสัตว์‘ ที่ จังหวัดเพชรบุรี เพื่อเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม ไว้อบรมเผยแพร่คุณธรรมปณิธานโพธิสัตว์ และสร้างวิหารไว้ประดิษฐาน พระอารยตารามหาโพธิสัตว์ หรือ พระแม่ตารา ไว้สักการะบูชาและสร้างคุณธรรมให้แก่สตรีเพศทั้งหลาย (ภายหลังการเสียชีวิต)[9][10]

หลักในการทำงาน[แก้]

  • "พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ว่า 'ธิดาของเราเป็นผู้มีปัญญามาก ฉลาดในทาง และมิใช่ทาง' การเดินทางอยู่บนหนทางที่ประกอบด้วยปัญญา ศีล สมาธิ หรืออริยมรรคมีองค์ ๘ ทำให้ข้าพเจ้าอาจหาญโดยธรรม และสามารถพิสูจน์ได้ว่า ธรรมะศักดิ์สิทธิ์จริงและเห็นผลจริงเมื่อเราใช้จริง ด้วยลมหายใจเข้าที่สงบเย็นและมีลมหายใจออกที่เป็นประโยชน์ รู้จักใช้ปัญญาในการดำเนินชีวิต เพื่อเปลี่ยนจาก ‘การเป็นทุกข์’ สู่ ‘การเห็นทุกข์’ ดำเนินชีวิตอย่างรู้ ตื่น และเบิกบาน ดังอริยสัจจากพระโอษฐ์ที่ว่า 'การเป็นพระอริยเจ้าไม่ใช่สิ่งสุดวิสัย' อันเป็นพุทธประสงค์ขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยศักยภาพของมนุษย์ที่จะต้องไปให้ถึง คือการใช้โอกาสในการเกิดนี้เป็นการเกิดที่ไม่เกิดอีกแห่งทุกข์"
  • “สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า...เป็นผู้ชี้ทาง
พระอรหันต์ทั้งหลาย...เป็นเพื่อนร่วมทาง
มรรค...คือหนทาง
อยู่แต่เรา...จะสลัดเหยื่อล่อและก้าวเดินหรือไม่
นี้เป็นหน้าที่ที่ธิดาของพระผู้มีพระภาคเจ้าต้องใคร่ครวญ
เพราะไม่ว่าเราจะมามืดหรือมาสว่าง
เราไปสว่างได้อย่างแน่นอน
ด้วยว่านี่เป็นทางสายเอกสายเดียวเท่านั้น
ที่เราจะไปถึงได้เมื่อเราปักธงไว้ว่า
เราจะอยู่บน ‘มรรคาสู่การหลุดพ้น’
สมดังที่สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้ารับสั่งว่า
“ธิดาของเราเป็นผู้มีปัญญามาก ฉลาดในทางและมิใช่ทาง’”
  • “ข้าพเจ้าเชื่อเหลือเกินว่า ถ้าเราเชื่อในกฎของกรรม เชื่อในกฎของธรรมชาติ ว่าทำอะไรได้อย่างนั้น รางวัลของการทำงานจริง ๆ ก็ย่อมจะเป็นความสุขที่ได้จากการทำงาน
ส่วนการได้รับรางวัลที่ผู้อื่นมอบให้ก็เป็นเหตุปัจจัยที่ควรอนุโมทนาในการทำงานอย่างมีความสุขของคนแต่ละคน
เพราะฉะนั้น การให้รางวัลชีวิต ก็คือการรักษาความสุข สนุกอยู่ในงานของเรา และนั่นก็เท่ากับว่า เราได้รางวัลทุกวันอยู่แล้ว”
  • “ความกตัญญูต่อพระธรรม...เป็น ‘หลักใจ’
การทำงานเพื่อช่วยเหลือมวลมนุษยชาติ...เป็น ‘หลักการ’
และ...ขอให้โลกนี้มีธรรมเป็นมารดา...เป็น ‘หลักชัย’”
  • “อยู่เย็นเป็นสุข พ้นทุกข์ร่วมกัน”
  • “คุณธรรม 8 ประการของพระอารยตารามหาโพธิสัตว์”
  1. ไม่มีความถือตัวอวดดี
  2. ไม่มีความโง่เขลา
  3. ไม่มีความอาฆาตพยาบาททั้งปวง
  4. ไม่มีความอิจฉาริษยา
  5. ไม่มีความคิดเห็นที่ผิด
  6. ไม่มีความโลภ
  7. ไม่มีความยึดมั่นถือมั่น
  8. ไม่มีความยึดติด ความเคลือบแคลงสงสัยทั้งปวง[8]

รายนามสิ่งเชิดชูเกียรติ[แก้]

  • พ.ศ. 2542 : รางวัลเชิดชูเกียรติ ‘เพชรกรุงเทพ’ สาขาบริการสังคม ครั้งที่ 3 ประจำปี 2542 จากกรุงเทพมหานคร
  • พ.ศ. 2548 : รางวัลเสียงแห่งความศักดิ์สิทธิ์ (Spiritual Leadership Award on Breaking the Circle of Violence) จาก Living Wellness Foundation สหรัฐอเมริกา
  • พ.ศ. 2549 : รางวัล ‘กิฟฟารีน เกรซ เลดี้ อวอร์ด 2006’ จากบริษัทกิฟฟารีน สกายไลน์ ยูนิตี้ จำกัด
  • พ.ศ. 2550 : รางวัลสตรีดีเด่นกรุงเทพมหานคร สาขาการศึกษาและคุณธรรมจริยธรรม เนื่องในวันสตรีสากล ปี 2550
  • พ.ศ. 2551 : รางวัลเชิดชูเกียรติ ‘เพชรสยาม’ ด้านส่งเสริมศาสนาเพื่อสันติภาพ ประจำปีพุทธศักราช 2551 จากมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม
May 1st, 2008 รางวัลผู้อุทิศตนเพื่อมนุษยชาติ (Humanitarian Award) จาก Humanity In Unity (HIU) ของ Her Holiness Sai Maa Lakshmi Devi ณ เมืองเวลล์ รัฐโคโรลาโด ประเทศสหรัฐอเมริกา
  • พ.ศ. 2552 : รางวัล ‘พุทธคุณูปการ’ ระดับรัชตเกียรติคุณ จากคณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม
  • พ.ศ. 2553 : รางวัล ‘จำนงค์ ทองประเสริฐ’ สาขาวิชาพระพุทธศาสนา ด้านการเผยแผ่ จากมูลนิธิจำนงค์ ทองประเสริฐ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
  • พ.ศ. 2555 : รางวัล ‘คนดีศรีพุทธศาสตร์’ จากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
โล่เกียรติยศ บุคคลคุณภาพแห่งปี 2012 จากมูลนิธิสภาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่ประเทศไทย (มสวท.)
รางวัล 10 ยอดสตรีไทย ห่วงใยสุขภาพ เนื่องในวันสตรีไทย จากสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์
  • พ.ศ. 2556 : รางวัลตาชั่งทอง ‘บุคคลสงเคราะห์ดีเด่นแห่งปี’ จากคณะกรรมการสงเคราะห์เด็กและเยาวชน สำหรับสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนกรุงเทพมหานคร กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กระทรวงยุติธรรม
โล่ประกาศเกียรติคุณ สาขาบุคคลตัวอย่างที่แก้ปัญหาด้วยสันติวิธี จากศูนย์สันติวิธีสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข
โล่เกียรติคุณพระราชทานจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ผู้ทำคุณประโยชน์ด้านนันทนาการ จากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
  • พ.ศ. 2557 : รางวัลผู้นำพุทธโลก [World Buddhist Outstanding Leader Award]
  • พ.ศ. 2558 : เสาอโศกผู้นำศีลธรรม รางวัลประทานจากพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ (สมาคมผู้ทำคุณประโยชน์เพื่อพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย)
  • พ.ศ. 2559 : โล่ประกาศเกียรติคุณ ประทานจาก พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เนื่องในวันงดดื่มสุราแห่งชาติ ประจำปี 2559 จากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
  • พ.ศ. 2560 : รางวัล ‘เพชรงามด้านการสาธารณสงเคราะห์’ รางวัลสำหรับผู้ทำคุณประโยชน์ด้านการสาธารณสงเคราะห์ ประจำปี 2560 ของมหาเถรสมาคม โดยสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงเมตตาประทานรางวัล
  • พ.ศ. 2561 : รางวัล ‘ทูตสันติภาพด้านศาสนสัมพันธ์และสังคมสงเคราะห์ ในการประชุมสันติภาพโลก 2561’ ณ ศาลาว่าการเมืองสต็อกโฮล์ม ประเทศสวีเดน จากองค์การยุวพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก[8]

บทบาทการทำงานระดับชาติ[แก้]

  • คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิปฏิรูประบบสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานปฏิรูประบบสุขภาพแห่งชาติ
  • ที่ปรึกษาคณะกรรมการกองทุน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
  • คณะที่ปรึกษาฝ่ายการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม
  • คณะกรรมการอำนวยการ คณะกรรมการบริหาร และศูนย์อำนวยการบริหาร ‘ยุทธศาสตร์เมืองไทยแข็งแรง’ ตามยุทธศาสตร์แห่งชาติ ‘รวมพลังสร้างสุขภาพ’ กระทรวงสาธารณสุข
  • ประธานคณะอนุกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์ ภายใต้คณะกรรมการอำนวยการจัดงาน 100 ปีพุทธทาสภิกขุ กระทรวงศึกษาธิการ
  • ที่ปรึกษากรรมการอำนวยการโครงการโรงเรียนวิถีพุทธ กระทรวงศึกษาธิการ
  • คณะกรรมการกำกับทิศทาง ‘แผนงานสร้างเสริมสุขภาวะทางเพศ’ มูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง ขับเคลื่อนด้วยองค์ความรู้เพื่อให้สุขภาพผู้หญิงได้รับความคุ้มครอง (สคส.)
  • คณะทำงาน คณะกรรมการการดำเนินงานโครงการวิสาขบูชา พุทธศักราช 2550 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
  • คณะอนุกรรมการอุปถัมภ์ คณะกรรมการการจัดงานวันวิสาขบูชา วันสำคัญของโลกมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย สำนักนายกรัฐมนตรี
  • รองประธานกรรมการคณะกรรมการอำนวยการสนับสนุนความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เพื่อสร้างสังคมคุณธรรม สำนักนายกรัฐมนตรี
  • อนุกรรมการการพัฒนาและบูรณาการโครงการและกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 ภายใต้คณะกรรมการฝ่ายโครงการและกิจกรรม ในคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติฯ
  • ประธานอนุกรรมการการพิจารณาคัคเลือก 100 ตัวแทนทำดีเพื่อพ่อ ในคณะกรรมการการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550
  • คณะกรรมการการจัดกิจกรรมสวดมนต์ข้ามปี กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ
  • กรรมการกิตติมศักดิ์ มูลนิธิ ซาย มูฟเม้นท์[11]
  • คณะอนุกรรมการด้านวิชาการงานสัปดาห์ส่งเสริมพระพุทธศาสนาเนื่องในเทศกาลวิสาขบูชาโลกประจำปี 2555
  • รองประธานอุปถัมภ์โครงการหุ้มทองคำยอดฉัตรพระมหาเจดีย์ พุทธคยา
  • คณะกรรมการอำนวยการความร่วมมือสร้างคนดีให้มีคุณธรรมโดยธรรมะ เพื่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ภาคีเครือข่ายความร่วมมือสร้างคนดีให้มีคุณธรรมฯ วัดเทพศิรินทราวาส (9 มิถุนายน 2559)[8]

บทบาทการทำงานระดับโลก[แก้]

  • ประธานร่วมขององค์กร THE GLOBAL PEACE INITIATIVE OF WOMEN (GPIW ), UNDP
  • The Living Wellness Foundation ได้มอบรางวัล Spiritual Leadership Award ในฐานะผู้นำทางจิตวิญญาณในการยุติความรุนแรงในเด็กและสตรี ร่วมกับผู้ที่ได้รับรางวัลท่านอื่น ๆ ได้แก่ องค์ทะไลลามะ, Ashley Judd, Kitaro
  • A walk of Wisdom ได้รับรางวัลหนึ่งในสิบสารคดียอดเยี่ยม ของ Santa Barbara International Film Festival
  • ประธานการจัดการประชุมนานาชาติศากยธิดาเพื่อพุทธสาวิกา ครั้งที่ 12 (12th International Sakyadhita Conference on Buddhist Women) ระหว่างวันที่ 12-18 มิถุนายน 2554[8]

สื่อธรรมะ[แก้]

หนังสือ

  • หนังสือ ‘เพื่อนทุกข์’ เล่ม 1 (ตอบคำถาม)
  • หนังสือ ‘เพื่อนทุกข์’ เล่ม 2 (ตอบคำถาม)
  • หนังสือ ‘ทำอย่างไรดี...กับแม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต’ เล่ม 1 (ตอบคำถาม)
  • หนังสือ ‘ทำอย่างไรดี...กับแม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต’ เล่ม 2 (ตอบคำถาม)
  • หนังสือ ‘ทำอย่างไรดี...กับแม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต’ เล่ม 3 (ตอบคำถาม)
  • หนังสือ ‘ทำอย่างไรดี.กับแม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต’ เล่ม 4 (ตอบคำถาม)
  • หนังสือ ‘ทำอย่างไรดี...กับแม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต’ เล่ม 5 (ตอบคำถาม)
  • หนังสือ ‘ยินดีที่ได้รู้จัก’ เล่ม 1 (รวมวาทธรรม)
  • หนังสือ ‘ยินดีที่ได้รู้จัก’ เล่ม 2 (รวมวาทธรรม)
  • หนังสือ ‘ยินดีที่ได้รู้จัก’ เล่ม 3 (รวมวาทธรรม)
  • หนังสือ ‘ยินดีที่ได้รู้จัก’ เล่ม 4 (รวมวาทธรรม)
  • หนังสือ ‘เพื่อนสุข’ (รวมข้อคิด)
  • รายการถ่ายทอดสดทาง Facebook Live ที่ www.facebook.com/sdsface[12] และ SDS Channel
  • รายการ ‘ธรรมสวัสดี Live’[13] สื่อเพื่อชีวิตที่งดงามและเป็นอิสระ
  • รายการ ‘ทุกข์กระจาย ใจกระจ่าง’[14]

การเสียชีวิต[แก้]

วันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2564 มูลนิธิเสถียรธรรมสถาน ออกแถลงการณ์ (ฉบับที่ 2) แจ้งข่าวการเสียชีวิตของท่านแม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต ผู้ก่อตั้งเสถียรธรรมสถาน ระบุว่า จากที่แม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต ป่วยเป็นโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร และเข้ารับการรักษาตั้งแต่ พ.ศ. 2560 โดยมีอาการดีขึ้นในช่วงปีแรกและตรวจพบก้อนมะเร็งอีกครั้งในกลาง พ.ศ. 2563 และเข้ารับการรักษาโดยคณะแพทย์อย่างเต็มความสามารถ

กระทั่งวันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2564 พบว่าอาการไม่ปกติ อ่อนเพลียมาก คณะผู้ดูแลจึงพาท่านเข้ารับการรักษาอีกครั้ง คณะแพทย์พบว่าก้อนมะเร็งได้ขยายขนาดและลุกลามอย่างมาก ผู้ดูแลจึงตัดสินใจพาท่านกลับมาพำนักที่เสถียรธรรมสถาน ตามปณิธานของท่านในวันที่ 6 ธันวาคม และเสียชีวิตในวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2564 เวลา 18.23 น. สิริอายุ 68 ปี 1 เดือน 7 วัน[15]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 เปิดประวัติ "แม่ชีศันสนีย์" ผู้ก่อตั้งเสถียรธรรมสถาน ก่อนคืนสู่ธรรมชาติอย่างสงบ sanook สืบค้นเมื่อ 7 ธันวาคม 2564
  2. รักไม่มีเงื่อนไข! 'แม่ชีศันสนีย์' เปิดใจความรักที่มีต่อ 'เสถียร เสถียรสุต' (คลิป)ไทยรัฐ สืบค้นเมื่อ 12 ธันวาคม 2560
  3. โรงเรียนอนุบาลพระนครศรีอยุธยา เก็บถาวร 2019-02-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  4. โรงเรียนบางปะหัน (เชื่อมประชานุกูล)
  5. โรงเรียนประตูชัย เก็บถาวร 2018-11-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  6. โรงเรียนจอมสุรางค์อุปถัมภ์
  7. มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
  8. 8.0 8.1 8.2 8.3 8.4 8.5 "เสถียรธรรมสถาน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-05-04. สืบค้นเมื่อ 2019-02-20.
  9. "หุบเขาโพธิสัตว์" : "ปลูกป่า ปลูกชีวิต ปลูกหัวใจ" เสถียรธรรมสถาน 2 แก่งกระจาน ไทยรัฐ สืบค้นเมื่อ 2 กรกฎาคม 2562
  10. เสถียรธรรมสถาน เปิดตัวโครงการการออกแบบ ‘ถ้ำ’ เพื่ออิสรภาพของอิสรชนคนไม่ถูกล่ามผู้จัดการออนไลน์ สืบค้นเมื่อ 11 ตุลาคม 2564
  11. มูลนิธิ ซาย มูฟเม้นท์
  12. www.facebook.com/sdsface
  13. ธรรมสวัสดี Live
  14. ทุกข์กระจาย ใจกระจ่าง
  15. อาลัย ‘แม่ชีศันสนีย์’ ผู้ก่อตั้งเสถียรธรรมสถาน จากไปด้วยโรคมะเร็ง workpointTODAY สืบค้นเมื่อ 7 ธันวาคม 2564

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]