ข้ามไปเนื้อหา

พระพิรุณ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก พระวรุณ)
พระพิรุณ
เทวนาครี: वरुण
พระวรุณ ในคติอินเดีย ทรงบ่วงวรุณบาศ ทรงมกรเป็นพาหนะ มีเหล่าชลเทพเป็นบริวาร
ตำแหน่งเทพแห่งน้ำและฝน ผู้รักษาความยุติธรรมและกฎเกณฑ์ของสวรรค์และโลก
จำพวกโลกบาล เทพคณะปัญจภูตะ เทพคณะอาทิตย์ และเทพคณะวสุ
วิมานเมืองวสุธา บนยอดเขาปุษปคีรี ในวรุณโลก
อาวุธบ่วงวรุณบาศ,ร่มอาโภค,ศรวรุณาสตร์,พระขรรค์,ตรีศูล,คทา,สังข์,ดอกบัว,ขวาน,หม้อน้ำ,ไม้เท้า,หีบแก้วมณี,หอก ฯลฯ
สัตว์พาหนะมกร,จระเข้,เหรา,นาค,ปลา,ช้าง,ม้า,ราชรถสีทองเทียมหงส์ ๗ ตัว
บิดาพระกัศยปเทพบิดร
มารดาพระแม่อทิติ
คู่ครองพระนางวารุณี
บุตรเมขลา(ในศาสนาพุทธ), ฤๅษีอคัสตยะ, ฤๅษีวาลมีกิ, พระทักษะสวรรณีมนู, สุเษณ (วานรในรามายณะ),ไวยบุตร (วานรสิบแปดมงกุฎในรามเกียรติ์),ท้าวศรุตายุธ ฯลฯ
ดาวพระเคราะห์ดาวเนปจูน

ตามคติของศาสนาฮินดู พระพิรุณ หรือ พระวิรุณ หรือ พระวรุณ (สันสกฤต: वरुण) เป็นเทพแห่งน้ำและฝน[1] เป็นโลกบาลประจำทิศประจิม (ทิศตะวันตก) มีพระวรกายสีน้ำเงิน บ้างก็ว่าสีขาวผ่อง ถือบ่วงวรุณบาศและร่มอาโภค ทรงจระเข้เป็นพาหนะ (หรือนาค หรือมกร)

ตำนาน

[แก้]

สมัยฤคเวท พระวรุณเป็นเทพผู้เป็นใหญ่คู่กับพระอาทิตย์ หรือ พระมิตระ พระอาทิตย์มีหน้าที่ปกครองกลางวัน พระวรุณมีหน้าที่ปกครองกลางคืน เรียกว่า "เจ้าฟ้าอันอยู่ทั่วไป" มีความศักดิ์สิทธิ์และเป็นที่เคารพยำเกรง เป็นผู้บำรุงเทวโลกและมนุษยโลกด้วยน้ำ พระวรุณมีเทวทูตที่คอยจดบัญชีกรรมส่งให้พระยม พระองค์ทรงเป็นผู้รักความสัตย์และเกลียดความเท็จ มีตำนานเล่าว่า ครั้งหนึ่ง พระเจ้าหริศจันทร์ทำพิธีขอบุตรจากพระวรุณ และสัญญาว่าเมื่อบุตรโตขึ้น จะนำมาบูชายัญแด่พระวรุณ พระเจ้าหริศจันทร์ก็ทรงมีบุตรนามว่า พระโรหิตกุมาร กาลเวลาล่วงเลยไป พระเจ้าหริศจันทร์ก็มิได้ทำการบูชายัญแด่พระวรุณด้วยบุตร พระวรุณจึงบันดาลให้พระเจ้าหริศจันทร์ ประชวรเป็นโรคท้องมาน เป็นโรคที่มีน้ำในท้องมากเกินไป จึงเป็นต้นแบบประเพณีการถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาของไทย พระวรุณทรงเป็นเจ้าแห่งน้ำ ภายหลังได้ฉายาว่า "สินธุปติ" แปลว่า "เจ้าน้ำทั่วไป" ในรามเกียรติ์ พระวรุณ ทำหน้าที่เป็นกองเกียกกายในสงครามรบกับอินทรชิต ในรามายณะ พระวรุณทรงบอกวิธีข้ามไปกรุงลงกาแก่พระราม

ในพระไตรปิฎกภาษาบาลี ธชัคคสูตรระบุว่า พระวรุณเป็นเทวราชองค์หนึ่ง มีศักดิ์รองจากพระประชาบดี[2]

ลักษณะของพระวรุณ ในคติไทย เป็นเทพบุรุษมีกายสีน้ำเงิน มี ๒ กร ทรงพระขรรค์เป็นอาวุธ สวมมงกุฎยอดเดินหน สวมอาภรณ์สีทอง ทรงเครื่องประดับด้วยทองคำ ไข่มุกและแก้วเพทาย ทรงพญานาคเป็นพาหนะ ในคติฮินดู เป็นเทพบุรุษมีกายสีน้ำเงิน บ้างก็ว่าสีขาว รูปร่างเล็ก แต่กำยำล่ำสัน มี ๔ กร ทรงบ่วงวรุณบาศ ร่มอาโภค หม้อน้ำ ดอกบัว สังข์ ฯลฯ สวมมงกุฎทองคำ มีรัศมีทอง สวมอาภรณ์สีทอง ทรงเครื่องประดับด้วยทองคำ ไข่มุกและแก้วเพทาย ทรงจระเข้ หรือ มกร เป็นพาหนะ พระวรุณ ยังมีนามอื่นๆอีก อาทิ เช่น พระสินธุปติ,พระชลปติ,พระชลพิมพา,พระนีลปุรุษ,พระปาศปาณี,พระอัมพุราช,พระยาทปติ ฯลฯ

พระวรุณเมื่อเทียบกับความเชื่อทางตะวันตกแล้ว เทียบได้กับโพไซดอนตามเทพปกรณัมกรีก และเนปจูนตามเทพปกรณัมโรมัน

ในหนังสือพระนลคำหลวง พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวระบุว่า พิรุณเป็นนามของเทพคณะอาทิตย์ เป็นบุตรองค์โตของพระแม่อทิติ เป็นเทพแห่งความเป็นธรรม พระพิรุณย่อมรู้ว่าผู้ใดทำอะไร ย่อมรู้ว่าผู้ใดกะพริบตากี่ครั้ง ใครทำบาป เมื่อมีผู้ทำบาปพระพิรุณจักใช้บ่วงคล้องผู้นั้นไปหาพระยมเพื่อนำไปลงทัณฑ์ ในมหาภารตะ พระพิรุณเป็นบุตรพระฤๅษีกรรทมพรหมบุตร พระพิรุณในความเชื่อของคนไทยว่าเป็นผู้ให้ฝน ให้น้ำ ถือพระขรรค์ ทรงนาค หรือมกร เป็นพาหนะ จึงเป็นสัญลักษณ์ของหน่วยงานราชการที่เกี่ยวกับการเกษตร อาทิ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์[3] และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

อ้างอิง

[แก้]
  1. พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554, หน้า 838
  2. ธชัคคสูตร
  3. พีระ อารีสม, ตำนานพระพิรุณ. คณะเทคนิคการสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
  • ราชบัณฑิตยสถานพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554. พิมพ์ครั้งที่ ๒, กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2556. 1,544 หน้า. ISBN 978-616-7073-80-4