คนธรรพ์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
รูปสลักไม้คนธรรพ์ ที่พิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณริมถนนสุขุมวิทจังหวัดสมุทรปราการ

คนธรรพ์ (สันสกฤต: गन्धर्व Gandharva) เป็นอมนุษย์จำพวกหนึ่ง ตามคติในศาสนาพุทธและศาสนาฮินดู

ศาสนาฮินดู[แก้]

ศาสนาฮินดูเชื่อว่า คนธรรพ์มีกำเนิดจากพระพรหม แต่บางทีก็ว่าเป็นโอรสพระกัศยปเทพบิดรกับนางอริษฏา ตามปกติพวกคนธรรพ์มีบ้านเมืองของตนเองอยู่ระหว่างสวรรค์และโลกมนุษย์ คือ คนธรรพโลก และกล่าวว่าเป็นพวกมีนิสัยเป็นเจ้าชู้ มีเสน่ห์ทำให้ผู้หญิงหลงรัก เป็นผู้มีวาทศิลป์ จึงเป็นผู้ส่งสารระหว่างเทพกับมนุษย์ คนธรรพ์มีหน้าที่ปรุงน้ำโสม (เหล้าเทวดา) สำหรับเทวดาเสวย และพวกที่อยู่บนสวรรค์ของพระอินทร์ มีหน้าที่ขับร้องและเล่นดนตรีบำเรอเทวดา ดังนั้นวิชาดนตรีจึงได้ชื่อว่าคนธรรพวิทยา และคนธรรพเวท

ในวรรณคดีสันสกฤตรุ่นหลังบางทีก็เอาพวกคนธรรพ์ไปปนกับพวกกินนร ในตำราดนตรีของอินเดียว่ากินนรมีหน้าที่ทำเพลงดนตรี คนธรรพ์เป็นผู้ร้องลำนำ และนางอัปสรเป็นผู้ทำระบำ รูปร่างคนธรรพ์ของชาวฮินดู มีรูปตามที่เขียนไว้ ตอนบนเป็นมนุษย์ตอนล่างเป็นนกคล้ายรูปนางกินนรของไทย ส่วนรูปกินนรของฮินดู มีหน้าเป็นม้าตัวเป็นคน

คนธรรพ์ในวรรณกรรมฮินดู ได้แก่

  • พระตุมพุรุ เป็นคนธรรพ์ผู้มีหน้าเป็นม้า เก่งในการเล่นพิณและฟ้อนรำ และยังถือเพศมุนี เป็นสาวกพระศิวะด้วย พระตุมพุรุเคยไปทำชู้กับนางอัปสรรัมภา ชายาของพระนลกูวร บุตรของท้าวกุเวร ทำให้ถูกท้าวกุเวรสาปให้กลายเป็นรากษส ชื่อ วิราธ อยู่ในป่าทัณฑกะ จะพ้นคำสาปก็ต่อเมื่อ ถูกพระรามสังหาร
  • พระวิศวาวสุ เป็นคนธรรพ์ผู้เป็นบริวารของพระอินทร์ เขาบำเพ็ญตบะถึงพระพรหม จนได้รับพรให้มีพลังอำนาจเหมือนเหล่าเทพ ทำให้พระวิศวาวสุเกิดความอหังการ ท้ารบกับพระอินทร์ ผู้เป็นนายตน พระอินทร์ใช้วัชระฟาดใส่พระวิศวาวสุ ทำให้แขนขาและศีรษะ ผลุบหายเข้าไปอยู่ในลำตัว เขายอมแพ้และขอร้องให้พระอินทร์ช่วย พระอินทร์ได้เนรมิตแขนอันยาวให้ ให้มีตาข้างเดียวอยู่กลางหน้าอก และมีปากอยู่ที่ท้อง และสาปให้กลายเป็นรากษส ชื่อ กพันธะ อยู่ในป่าทัณฑกะ ลักษณะเป็นรากษส มีแต่ตัวสูงใหญ่เท่าภูเขา เต็มไปด้วยขนแหลม มีแขนอันยาว ไม่มีขาและศีรษะ มีตาข้างเดียว สีเหลืองและมีประกายดุจไฟ มีปากใหญ่อยู่ที่ท้อง จะพ้นคำสาปก็ต่อเมื่อ ถูกพระรามสังหาร
  • พระจิตรางคทะ เป็นคนธรรพ์ผู้ทรงฤทธิ์ ในมหาภารตะ ท้าวจิตรางคทะ แห่งหัสตินาปุระ มีชื่อเดียวกับคนธรรพ์ตนนี้ พระจิตรางคทะ ผู้หยิ่งโอหัง ไม่ต้องการให้ใครมาใช้ชื่อเดียวกับตน จึงมาท้ารบกับท้าวจิตรางคทะ และสังหารท้าวจิตรางคทะได้สำเร็จ
  • ท้าวจิตรเสน เป็นราชาคนธรรพ์ และเป็นอาจารย์ผู้สอนวิชาการดนตรี และการร่ายรำให้กับอรชุน อรชุนเคยรบกับท้าวจิตรเสน เพื่อช่วยทุรโยธน์ ตามคำสั่งของยุธิษฐิระ
  • พระนารัทมุนี เป็นเทพฤๅษี ผู้เป็นสาวกของพระนารายณ์ สามารถท่องไปได้ทั้ง 3 โลก เป็นผู้แจ้งสารของเหล่าเทพ
  • พระธฤตราษฏร์ ราชาคนธรรพ์
  • ท้าวจิตรรถ ราชาคนธรรพ์
  • พระหงสราช อุปราชคนธรรพ์
  • พระปรรวัตมุนี เป็นเทพฤๅษี สาวกของพระพรหม
  • พระปุษปทัณฑ์ เป็นเทพฤๅษี สาวกของพระศิวะ

ศาสนาพุทธ[แก้]

ท้าวธตรฐ ผู้ปกครองคนธรรพ์ อยู่ทิศตะวันออก

ในทางศาสนาพุทธ ถือว่าคนธรรพ์เป็นเทพชั้นจาตุมหาราชิกาจำพวกหนึ่ง คนธรรพ์ชั้นสูงอาศัยบนสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา เช่น ปัญจสิขเทพบุตร เป็นบริวารของท้าวธตรฐ คนธรรพ์ชั้นกลางอาศัยอยู่บนอากาศและป่าหิมพานต์ คนธรรพ์ชั้นล่างอาศัยบนโลกมนุษย์ โดยสถิตอยู่ภายในส่วนต่าง ๆ ของต้นไม้ที่มีกลิ่นหอม แม้ต้นไม้นั้นจะถูกโค่นลงแล้ว คนธรรพ์ก็ยังสิงสถิตภายในไม้นั้นได้ เช่น นางไม้ นางตานี แม่ย่านาง เป็นต้น[1] บุคคลทั้งหลาย หากทำทาน รักษาศีล แต่มีจิตผูกพันในกามราคะ ทั้งยังเชี่ยวชาญในดนตรี ศิลปะ นาฏศิลป์ วรรณกรรมทั้งหลาย หรือมีใจชื่นชมยินดี ในเทวดาหมู่คนธรรพ์ ผู้นั้นเมื่อตายแล้วย่อมเป็นสหายของคนธรรพ์ คนธรรพ์ทั้งหมดเป็นบริวารของท้าวธตรฐผู้เป็นโลกบาลประจำทิศตะวันออก

วรรณคดีไทย[แก้]

ในวรรณคดีไทย คนธรรพ์เป็นชาวสวรรค์ที่ชำนาญในวิชาดนตรีและขับร้อง และคนธรรพ์ที่เป็นหัวหน้าของเหล่าคนธรรพ์ เรียกว่า ประคนธรรพ์ หรือ ประคนธรรพ หรือ ประโคนธรรพ์ หรือ ประโคนธรรพ[2]

อ้างอิง[แก้]

  1. พระสัทธัมมโชติกะ, ปรมัตถโชติกะ มหาอภิธัมมัตถสังคหฎีกา ปริจเฉทที่ 5 เล่ม 1 วีถิมุตตสังคหะ ภูมิจตุกกะและปฏิสนธิจตุกกะ, พิมพ์ครั้งที่ 6, กรุงเทพฯ : มูลนิธิสัทธัมมโชติกะ, 2546, หน้า 107
  2. [https://web.archive.org/web/20120812020043/http://rirs3.royin.go.th/new-search/word-25-search.asp เก็บถาวร 2012-08-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ประโคนธรรพ, ประโคนธรรพ์ ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542]