ข้ามไปเนื้อหา

บูชา (ศาสนาฮินดู)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
การบูชาในเรือน ในภาพคือ "สรัสวดีบูชา" (การบูชาพระสรัสวดี)

บูชา หรือ ปูชา (สันสกฤต: pūjā; เทวนาครี: पूजा) คือพิธีกรรมสวดภาวนาของศาสนาฮินดู เพื่อถวายการบูชาแด่เทพฮินดู, รับขวัญและให้การต้อนรับแขกผู้มาเยือน หรือ เพื่อเฉลิมฉลองในเชิงศาสนาเกี่ยวกับเหตุการณ์ในชีวิต[1][2] บูชา เป็นภาษาสันสกฤต แปลว่า "ให้เกียรติ" หรือ "แสดงความเคารพ"[3] บูชาเป็นพิธีกรรมจำเป็นในฮินดู ประกอบด้วยการถวายบุปผชาติ (ดอกไม้) น้ำสะอาดและอาหาร ต่อผู้ที่จะรับการบูชา ทั้งองค์เทพ บุคคล หรือวิญญาณผู้ล่วงลับ การมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับองค์เทพ หรือกับคุรุ เรียกว่า ทรรศน แปลว่า การมองเห็น (seeing)[4].

บูชา สามารถพบได้ในพระพุทธศาสนา (ดูเพิ่มที่: บูชาในพระพุทธศาสนา) และในศาสนาเชน (ดูเพิ่มที่: ทราวยบูชา; Dravya Puja)

บูชาสามารถประกอบได้หลากหลายโอกาส และสถานที่ ตั้งแต่ที่เรือนของผู้ประกอบพิธีกรรมไปจนถึงในโบสถ์พราหมณ์ และในเทศกาลต่าง ๆ บูชายังใช้จัดเพื่อฉลองเหตุการณ์สำคัญของชีวิต เช่น การคลอดบุตร, พิธีมงคลสมรส และการขึ้นบ้านใหม่หรือเปลี่ยนอาชีพ[5] ส่วนบูชาที่จัดเพื่อบูชาเทพเช่น ทุรคาบูชา ลักษมีบูชา เป็นต้น[6] บูชาไม่ใช่พิธี "บังคับ" ในศาสนา สำหรับศาสนิกชนบางกลุ่มอาจเป็นพิธีประจำ, นาน ๆ ครั้ง, ประจำปี หรือไม่เคยประกอบเลยก็มี เช่นเดียวกับในโบสถ์พราหมณ์ที่บางแห่งมีการจัดเป็นประจำจนไปถึงแทบจะไม่เคยจัดเลย[7][8]

บูชาแบ่งออกเป็นสองประเภท คือ นิคมบูชา (Nigama Puja) เป็นบูชาที่ไม่ต้องใช้เทวรูปหรือรูปเคารพของเทพเจ้า เช่น ในการบูชาพระอัคนี เทพแห่งไฟ จะใช้การจุดไฟแทนการใช้ภาพขององค์เทพ ตรงข้ามกับใน อาคมบูชา (Āgama Puja) ซึ่งต้องมีรูปเคารพ การบูชานั้นสามารถประกอบด้วยตัวศาสนิกชนเองผ่านการสวดบทสวดและเพลงสวด อาจมีการจุดตะเกียง (diya) และธูป ประกอบไปด้วย ในขณะที่บางโอกาสอาจมีนักบวช (บูชารี) มาช่วยสวดในกรณีที่เป็นบทและพิธีกรรมที่ซับซ้อน เครื่องเสวยเช่นอาหาร ผลไม้ และขนมหวาน สำหรับพิธีที่ประกอบในโบสถ์พราหมณ์หรือมีบูชารีประกอบพิธีกรรม หลังเสร็จการบูชาแล้วจะกลายเป็น "ประสาท" (Prasada)[9]ซึ่งจะถูกนำมาแจกจ่ายระหว่างผู้ที่มาร่วมการบูชา[7][8]

ทั้งนิคมบูชาและอาคมบูชานั้นพบโดยทั่วไปในอินเดีย ในขณะที่ศาสนาฮินดูแบบบาหลี ที่อินโดนีเซีย พบแบบอาคมบูชาเป็นหลัก ทั้งในเรือนและในวัด (ปูรา) การบูชานี้จะเรียกว่า "ฮียัง" (Hyang) หรือ "เซ็มบาฮียัง" (Sembahyang)[10][11]

องค์ประกอบ

[แก้]

การประกอบพิธีบูชานั้นแตกต่าง กันไปตามท้องที่และลัทธิ นักภารตวิทยา Jan Gonda สรุปขั้นตอน 16 ขั้นสำหรับพิธีบูชาเต็มรูปแบบ ที่พบในบูชาต่าง ๆ เรียกว่า โศทษะอุปัชรา (shodasha upachara) ได้แก่[12]

  1. อวาหนะ (Avahana) - อัญเชิญองค์เทพมาจุติ
  2. อาสนะ (Asana) - อัญเชิญองค์เทพจุติบนที่นั่ง (อาสนะ) ที่จัดไว้
  3. ปาทยะ (Padya) - การชำระล้างพระบาท (เท้า) ขององค์เทพ ในกรณีที่มีเทวรูปจะใช้การรดน้ำสะอาดลงบนเท้าหรือฐานของเทวรูป
  4. ใช้น้ำชำระล้างองค์เทพ ในกรณีที่มีเทวรูป มีทั้งการใช้ผ้าชุบย้ำเช็ด รดน้ำ พรมน้ำ เป็นต้น
  5. อารคยะ (Arghya) - ถวายน้ำดื่มแด่องค์เทพ หรือบ้างว่าเป็นน้ำล้างพระโอษฐ์ (ปาก)
  6. สนานะ (Snana) หรือ อภิเษก (abhisekha) - ถวายน้ำเพื่อการสรงน้ำ
  7. วัสตระ (Vastra) - การถวายผ้า เครื่องแต่งกาย หรือเครื่องประดับ ในกรณีที่มีเทวรูปอาจนำผ้ามาพันหรือนำเครื่องประดับมาตกแต่งเทวรูป
  8. อุปวีตะ (Upaveeda) หรือ มงคลสูตร (Mangalsutra) - การพันสายสิญจน์
  9. อนุเลปนา (Anulepana) หรือ คันธา (gandha) - การประพรมหรือละเลงน้ำหอม เครื่องหอม หรือไม้หอม เช่น ผงSandalwoodบด หรือ kumkum
  10. ปุษปาญชลี (Pushpanjali) หรือ บุษบา (Pushpa) - การถวายดอกไม้ หรือพวงมาลัยคล้องพระศอ (คอ) ของเทวรูป
  11. ธูป (Dhupa) - การจุดธูป
  12. ทีป (Dipa) หรือ อารตี (Aarti) - การนำตะเกียงจุดเพลิงหรือประทีปมาปัดแกว่งโดยรอบองค์เทวรูป
  13. ไนเวทยะ (Naivedya) - การถวายภัตตาหาร ผลไม้ ของหวาน (เรียกรวมว่า "โภคะ" - Bhoga)
  14. นมัสการ (Namaskara) หรือ ปรนัม (pranama) - การกราบราบลงไปกับพื้นเพื่อถวายความเคารพ
  15. ปริกรรม (Parikrama) หรือ ปรทักษินา (Pradakshina) - การ Circumambulation รอบองค์เทพ
  16. หยิบใบไม้ขึ้นมา

ในบางครั้งมีการเพิ่มขั้นตอนอื่น ๆ ด้วย เช่น

  1. ธยานะ (Dhyana) - คือการนั่งสมาธิ เป็นการจุติองค์เทพในจิตใจของผู้ประกอบการบูชา
  2. Acamanıya - น้ำสำหรับซดเบา ๆ
  3. Aabaran - การประดับตกแต่งเทวรูป
  4. ฉัตร (Chatra) - การถวายร่ม (ฉัตร)
  5. ฉมารา (Chamara) - การถวายการพัดหรือ fly-whisk ที่เรียกว่า "ฉมารา"
  6. Visarjana หรือ Udvasana คือการเคลื่อนย้ายองค์เทพจากจุดหนึ่งไปอีกจุด

นอกเหนือจากพิธีกรรม 16 ขั้นนี้แล้ว ยังพบพิธีกรรมรูปแบบอื่น ๆ อีก เช่น

  • ปัญจอุปชรา (Pancha upachara) คือมีห้าขั้น
  • ฉตุศาสตีอุปชรา (Chatushasti upachara) คือมีหกสิบสี่ขั้น[13]

อย่างไรก็ตาม องค์ประกอบ ขั้นตอน โครงสร้างของการบูชา แตกต่างกันไปตามความเชื่อ ภูมิภาค วัดที่จัด หรือแม้แต่บุคคล[14]

อ้างอิง

[แก้]
  1. James Lochtefeld, The Illustrated Encyclopedia of Hinduism, Vol. 2, ISBN 0-8239-2287-1, pp. 529–530.
  2. Paul Courtright, in Gods of Flesh/Gods of Stone (Joanne Punzo Waghorne, Norman Cutler, and Vasudha Narayanan, eds), ISBN 978-0231107778, Columbia University Press, see Chapter 2.
  3. पूजा Sanskrit Dictionary, Germany (2009)
  4. Religions in the Modern World, 3rd Edition, David Smith, p. 45
  5. Lindsay Jones, บ.ก. (2005). Gale Encyclopedia of Religion. Vol. 11. Thompson UGale. pp. 7493–7495. ISBN 978-0-02-865980-0.
  6. Flood, Gavin D. (2002). The Blackwell Companion to Hinduism. Wiley-Blackwell. ISBN 978-0-631-21535-6.
  7. 7.0 7.1 Puja, Encyclopædia Britannica.
  8. 8.0 8.1 Hiro G. Badlani (2008), Hinduism: A path of ancient wisdom, ISBN 978-0595436361, pp. 315-318.
  9. "Prasada", Wikipedia (ภาษาอังกฤษ), 2023-01-28, สืบค้นเมื่อ 2023-02-04
  10. How Balinese Worship their God The Bali Times (January 4, 2008), Pedoman Sembahyang Bali Indonesia (2009).
  11. Yves Bonnefoy (ed.), Asian Mythologies, ISBN 978-0226064567, University of Chicago Press, pages 161–162
  12. Fuller, C. J. (2004), The Camphor Flame: Popular Hinduism and Society in India (PDF), Princeton, NJ: Princeton University Press, p. 67, ISBN 978-0-691-12048-5, คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2013-12-26
  13. "upacharas". salagram.net. 2004. สืบค้นเมื่อ 25 December 2012. Sixty four Upacharas
  14. Stella Kramrisch (1976), The Hindu Temple, Vols 1 and 2, Motilal Banarsidass; see also her publications on Shiva Temple pujas, Princeton University Press.