ข้ามไปเนื้อหา

พระสุนทรีวาณี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระสุนทรีวาณี
พระนางสุนทรีวาณี ประดิษฐาน ณ ด้านซ้ายมือของพระศรีศากยมุนี ภายในพระวิหารหลวงของวัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร
ชื่อในการทับศัพท์ภาษาสันสกฤตsundarīvāṇī
มนตร์พระคาถาพระสุนทรีวาณี

พระสุนทรีวาณี หรือที่รู้จักกันในอีกพระนามหนึ่งว่า นางสุนทรีวาณี เป็นเทพธิดาตามคติในศาสนาพุทธในประเทศไทย มีหน้าที่คุ้มครองดูแลรักษาพระธรรมและพระไตรปิฎก มีต้นกำเนิดจากวัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร ลักษณะเป็นเทพธิดามีพระวรกายสีขาวบริสุทธิ์ ฉลองพระองค์ดั่งนางกษัตรีย์ในศิลปะไทย อาภรณ์สีขาว มีสองกร หัตถ์ขวาแสดงอาการกวักเรียก (ต่อมาเปลี่ยนเป็นวิตรรกมุทรา) หัตถ์ซ้ายทรงดวงแก้วไว้ในหัตถ์วางบนเพลา (ตัก)[1] โดยลักษณะและคติความเชื่อของนางพระสุนทรีวาณีนี้ คล้ายคลึงกับคติการบูชาพระสรัสวดีในศาสนาฮินดู ศาสนาเชน ศาสนาพุทธแบบทิเบต ศาสนาพุทธแบบพม่า และเบ็นไซเต็งในพุทธศาสนาแบบญี่ปุ่น พุทธศาสนาแบบจีน และลัทธิชินโต [2]

ประวัติของพระสุนทรีวาณี

[แก้]

แต่เดิมนั้นเป็นภาพพระสุนทรีวาณี อันเป็นเทพธิดาสถิตอยู่บนดอกบัว สมเด็จพระวันรัต (แดง สีลวฑฺฒโน) วัดสุทัศนเทพวราราม ทรงคิดแบบขึ้นจากพระสูตรสัททาวิเสส แล้วทรงให้หมื่นศิริธัชสังกาศ (แดง) เจ้ากรมขอเฝ้าในพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าศรีสิทธิธงไชย กรมหมื่นศิริธัชสังกาศ (พระอิสริยยศสุดท้ายเป็นที่ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุน) จัดการเขียนขึ้นเอาไว้ในพระตำหนักของสมเด็จฯ ปรากฏว่าเป็นที่สนพระทัยและนับถือยิ่งของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อทรงโปรดให้สร้างโรงเรียนวัดเบญจมบพิตร จึงให้ออกแบบพระสุนทรีวาณีเพื่อเป็นสัญลักษณ์ประจำเป็นต้น[3][4]

พระสุนทรีวาณีในปัจจุบัน

[แก้]

เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 28 กรกฎาคม 2562 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดพิมพ์หนังสือ “พระสุนทรีวาณี” พระราชทานเป็นพระราชกุศลธรรมทาน ทรงพระอนุสรณ์ถึง “คาถาพระสุนทรีวาณี” ที่โบราณบัณฑิตสรรเสริญว่าหากบริกรรมสม่ำเสมอจะเกิดปัญญา โดยพระเถระผู้ใหญ่มักแนะนำให้นวกภิกษุผู้เริ่มศึกษาพระธรรม บริกรรมคาถานี้เป็นนิตย์ ก่อให้เกิดสมาธิจิตตั้งมั่น บันดาลให้เข้าถึงถ่องแท้ในพระพุทธศาสนาโดยง่าย และนำไปสู่ความกระจ่างลึกซึ้งถึงแก่นพระพุทธศาสนายิ่งขึ้นตามลำดับ พร้อมน้อมนำความใฝ่รู้ใฝ่เรียนมาเป็นทางประพฤติของตน ทั้งอำนวยผลเป็นสติปัญญาแก่ผู้หมั่นศึกษา และพากเพียรดำเนินตามรอยพระราชจริยาอันเป็นแบบอย่างที่พระราชทานไว้นับแต่อดีตสมัย และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานภาพวาดฝีพระหัตถ์มาจัดพิมพ์เป็นปก พร้อมบทพระราชปรารภพระราชทานไว้ในตอนต้นของเล่ม ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประมวลเนื้อหาประกอบด้วยพระราชหัตถเลขาในรัชกาลที่ 5 และลายพระหัตถ์ของพระบรมวงศ์ ลิขิตของพระเถระ จดหมายกราบทูลของข้าราชการ และเรื่องสืบเนื่องซึ่งเกี่ยวกับพระสุนทรีวาณี อีกทั้งรูปพระสุนทรีวาณีซึ่งถ่ายจากต้นฉบับของสมเด็จพระวันรัต (แดง สีละวัฑฒะโน) อดีตเจ้าอาวาสวัดสุทัศนเทพวราราม และพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ ๕[5][6][7]

พระนางสุนทรีวาณีในที่ต่าง ๆ

[แก้]
  • หน้าบันของศาลาประจำมุขด้านปีกซ้ายของอาคาร วัดราชบุรณราชวรวิหาร เขตพระนคร
  • หน้าบันของอุโบสถ ประจำวัดประดู่ อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา
  • วัดไชยภูมิ ตำบลชายนา อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
  • วัดไร่ขิง อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม
  • วัดในบุตกาญจนคีรี ตำบลลานสะกา อำเภอลานสะกา จังหวัดนครศรีธรรมราช
  • วัดพรหมสุวรรณ ตำบลตาพระยา อำเภอตาพระยา จังหวัดสระแก้ว
  • วัดประทุมคณาวาส อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม
  • มูลนิธิพุทธางกูร ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม
  • วัดโพธินิมิตรสถิตมหาสีมาราม เขตธนบุรี[8]
  • ภาพปูนปั้นบนเจดีย์ข้างวิหารพระพุทธไสยยาสณ์ วัดสรรพยาวัฒนาราม อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท
  • หน้าบันของหอไตรวัดบ้านแพน ตำบลสามกอ อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

อ้างอิง

[แก้]
เชิงอรรถ
  1. ประวัติ พระนางสุนทรีวาณี
  2. พระสุนทรีวาณี นางฟ้าแห่งปัญญา ผู้พิทักษ์พุทธศาสนา สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำวัดสุทัศน์
  3. เปิดประวัติ "พระสุนทรีวาณี" เทพนารีแห่งปัญญาผู้รักษาพระพุทธศาสนา นำพาการรู้แจ้ง.. ศักดิ์สิทธิ์มากเสด็จพ่อร.5ก็สวดบูชา
  4. "คาถาพระสุนทรีวาณี". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-09-04. สืบค้นเมื่อ 2020-02-13.
  5. ในหลวง โปรดเกล้าฯ ให้จัดพิมพ์หนังสือบทเจริญพระพุทธมนต์ และ หนังสือพระสุนทรีวาณี พระราชทานแก่ประชาชน ในพิธีมหามงคลเจริญพระพุทธมนต์
  6. ในหลวง โปรดเกล้าฯ จัดพิมพ์หนังสือ ‘บทเจริญพระพุทธมนต์’ และ ‘พระคาถาพระสุนทรีวาณี’
  7. เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๒ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดพิมพ์หนังสือ “พระสุนทรีวาณี” พระราชทานเป็นพระราชกุศลธรรมทาน
  8. ศรีคุรุเทพมนตรา

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]