รวงทอง ทองลั่นธม
รวงทอง ทองลั่นธม | |
---|---|
รวงทอง ทองลั่นธม | |
สารนิเทศภูมิหลัง | |
เกิด | 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2480 ก้อนทอง ทองลั่นธม ตำบลบ้านโพ อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ประเทศสยาม |
คู่สมรส | วรพล สุคนธร |
อาชีพ | นักร้อง, นักแสดง |
ปีที่แสดง | พ.ศ. 2497 - ปัจจุบัน (70 ปี) |
ศิลปินแห่งชาติ | พ.ศ. 2539 - สาขาศิลปะการแสดง (เพลงไทยสากล-ขับร้อง) |
รวงทอง ทองลั่นธม (บางแห่งเขียน รวงทอง ทองลั่นทม เกิด 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2480) เป็นนักร้องหญิงชาวไทยประจำวงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ และ วงดนตรีสุนทราภรณ์ ของ เอื้อ สุนทรสนาน มีชื่อเสียงจากเพลง "จำได้ไหม" และ "ขวัญใจเจ้าทุย" รวงทอง ทองลั่นธม ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติจากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม ให้เป็น ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (เพลงไทยสากล-ขับร้อง) ประจำปี พ.ศ. 2539 เจ้าของฉายานักร้อง เสียงน้ำเซาะหิน
ประวัติ
[แก้]รวงทอง ทองลั่นธม เกิดวันเสาร์ที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2480 ที่ตำบลบ้านโพธิ์ อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นบุตรของนายทอง นางจำรัส ทองลั่นทม มีพี่น้อง 4 คน มีชื่อเดิมว่า ก้อนทอง ทองลั่นทม เมื่อเกิดได้ 2 ปีมารดาก็เสียชีวิต ก้อนทองจึงย้ายมาอยู่กับยายที่กรุงเทพจนเมื่อเกิดสงครามโลกจึงย้ายกลับพระนครศรีอยุธยา และกลับมาที่กรุงเทพอีกครั้งหลังสงครามสงบ เริ่มเข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนนันทศึกษาจนจบชั้นประถมปีที่ 4 จึงเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนขัตติยนารี เด็กหญิงก้อนทองทราบว่าทางบ้านยากจนจึงตั้งใจเรียนจนสอบได้ที่ 1 และเป็นหัวหน้าชั้น แต่ในขณะเรียนชั้นมัธยมปีที่ 6 คุณพ่อสุขภาพไม่ดีการเงินย่ำแย่ จึงตัดสินใจลาออกจากโรงเรียน
โลกเสียงเพลง
[แก้]รวงทองชอบการร้องเพลงมาตั้งแต่เด็ก โดยเฉพาะเพลงของวงดนตรีสุนทราภรณ์ซึ่งจะต้องข้ามท้องร่องไปฟังข้างบ้านเพราะบ้านตัวเองไม่มีวิทยุ จนกระทั่งวันหนึ่งครอบครัวของอภันตรี ประยุทธเสนีย์ย้ายเข้ามาอยู่ข้างบ้าน คุณสนั่น เสตะจันทร์คุณน้าของอภันตรีเห็นว่ารวงทองชอบร้องเพลง จึงพาไปฝากกับครูเอื้อ สุนทรสนาน โดยใช้เพลงทดสอบคือเพลง "ยาใจยาจก" ด้วยความอายุน้อยครูเอื้อจึงอยากให้รวงทองกลับไปศึกษามากกว่าแต่เห็นว่าทางบ้านของรวงทองฐานะยากจนจึงรับรวงทองเป็นนักร้องฝึกหัดที่กรมประชาสัมพันธ์ ฝึกหัดร้องเพลงกับพลโทหม่อมหลวงขาบ กุญชร, เอื้อ สุนทรสนาน, สริ ยงยุทธ และ ชอุ่ม ปัญจพรรค์ ซึ่งเป็นผู้ตั้งชื่อให้ว่า รวงทอง ทองลั่นทม โดยได้รับการช่วยเหลือจากรุ่นพี่เช่น ศรีสุดา, วรนุช, พูลศรี และ ชวลี ช่วยออกสตางค์ค่าเดินทางและค่าอาหารให้
รวงทองใช้เวลาฝึกร้องเพลงอยู่ถึง 3 ปี จึงได้เข้าเป็นข้าราชการและนักร้องประจำวงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ หรือ วงดนตรีสุนทราภรณ์ ได้บันทึกแผ่นเสียงเพลงแรกคือ "รักบังใบ" ของครูชอุ่ม ปัญจพรรค์ ซึ่งในการร้องหน้าเวทีครั้งแรกของรวงทองไม่ได้รับการต้อนรับที่ดีนักเพราะหน้าตาที่ไม่ค่อยสะสวยของเธอ แต่เพียงแค่เริ่มร้องท่อนแรกของเพลงรักบังใบ เสียงปรบมือก็ดังสนั่นกลบเสียงร้องเพลงด้วยความชื่มชมในน้ำเสียง
รวงทองเริ่มมีชื่อเสียงจากเพลง จำได้ไหม (คำร้องโดย ธาตรี ทำนองโดย เอื้อ สุนทรสนาน) และโด่งดังสุดขีดจากเพลง ขวัญใจเจ้าทุย (โดย สมศักดิ์ เทพานนท์) ในปีพ.ศ. 2500 ซึ่งเธอเคยตัดพ้อกับครูเอื้อว่าของสวยงามมีต้องเยอะแยะทำไมต้องให้ร้องเพลงรักกับควาย แต่พอเพลงขวัญใจเจ้าทุยทำการแสดงจบ รวงทองก็ได้รับเสียงชื่นชมจากผู้ฟังเป็นอย่างมาด จนทำให้เพลงนี้ขายดีที่สุดในแผ่นเสียงสุนทราภรณ์ แต่เนื่องจากการร้องเพลงที่มีกฎระเบียบของข้าราชการมากมาย เช่น ไม่สามารถออกมาร้องเพลงที่ไนท์คลับได้ ไม่สามารถรับร้องเพลงของครูเพลงท่านอื่นได้ เพราะการเป็นข้าราชการต้องเรียบร้อยไม่สามารถรับงานนอกเวลาได้ จึงได้ลาออกจางวงสุนทราภรณ์ไปเป็นนักร้องอิสระ ในปี พ.ศ. 2504 โดยผลงานที่มีชื่อเสียงในช่วงนี้ เช่น แรมพิศวาส, ลาก่อน ซาโยนาระ, เก็บรัก(ต้นฉบับ), แสนแสบที่แสบแสน, มหาชัยอาลัยท่าฉลอม, เวนิสพิศวาส, จดหมายรักสลักบนพื้นทราย, คีรีบูนยอดรัก, เคยเป็นของคุณ, ที่แล้วมาคิดว่าเป็นทาน, คิดถึงน้องบ้างนะ, ทุยจ๋าทุย, รักทุย, อรุโณทัยไม่กลับคืน, พับความทุกข์ซุกไว้ใต้หมอน เป็นต้น
ต่อมามีผู้ทักว่านามสกุล ทองลั่นทม น่าจะไม่เหมาะเพราะชื่อไปพ้องกับดอกลั่นทมซึ่งเป็นดอกไม้ที่มีความหมายเป็นความระทมตรมใจ รวงทองจึงเปลี่ยนนามสกุลเป็น ทองลั่นธม
การแสดง
[แก้]รวงทองแสดงละครประกอบบทเพลงมากมายในช่วงอยู่กับวงดนตรีสุนทราภรณ์ และแสดงละครให้กับคณะละครต่างๆ เช่น เคยเป็นนางเอกละครโทรทัศน์ทางไทยทีวีช่อง 4 บางขุนพรหม เรื่องจุฬาตรีคูณ คู่กับ อาคม มกรานนท์ แสดงละครเวทีกับ ฉลอง สิมะเสถียร เรื่อง "ลานปาริชาติ" แสดงภาพยนตร์เป็นนางเอกคู่กับ มิตร ชัยบัญชา เรื่อง "ในฝูงหงส์" แสดงภาพยนตร์ให้ ชรินทร์ นันทนาคร ในเรื่อง "สวรรค์วันเพ็ญ" และรับเชิญแสดงภาพยนตร์การกุศลเรื่อง "คนใจบอด" พ.ศ. 2514 และเรื่องอื่นๆ รวมทั้งมีงานเพลงประกอบภาพยนตร์มากมาย เช่น ปาหนัน, สร้อยไข่มุก, วนาลี, ดรรชนีนาง ,ยอดอนงค์ และอื่นๆ
และยังเคยเป็นผู้จัดและนำแสดงในละครโทรทัศน์ ททบ.7 (ขาวดำ) สนามเป้า (ททบ.5 ปัจจุบัน) เช่น จุฬาตรีคูณ คู่กับ ตรัยเทพ เทวะผลิน[1] และเคยจัดรายการโทรทัศน์ชื่อ "เสียงทิพย์จากรวงทอง" ร่วมกับ ม.ร.ว.ธวัชจันทร์ ประวิจร เผยแพร่ทางช่อง 5
สมรส
[แก้]ชีวิตส่วนตัวเธอเคยคบหากับ ชนะ ศรีอุบล พระเอกภาพยนตร์ไทยในอดีตแต่สุดท้ายก็เลิกรากัน ภายหลังรวงทองได้สมรสกับ พ.ต.ท.วรพล สุคนธร มีบุตรด้วยกัน 2 คน ชื่อเอกอดุลย์ และ ศยามล
ผลงานเด่น
[แก้]ผลงานขับร้องที่มีชื่อเสียงเช่น จำได้ไหม, ขวัญใจเจ้าทุย, เก็บรัก, ปาหนัน, รอคำรัก, ขยี้ใจ, มั่นใจไม่รัก, เพื่อคุณ, ไม่ใกล้ไม่ไกล, วิมานสีชมพู, รักบังใบ, เสียงกระซิบจากเกลียวคลื่น, ผู้หญิงก็มีหัวใจ, รักเธอเสมอ (คู่ สมศักดิ์ เทพานนท์), อย่าปันใจให้ฉัน, อย่าซื้อฉันด้วยเงิน, รักทุย, หวานรัก, ถึงเธอ, ตัดสวาท, หงส์กับกา (คู่ วินัย จุลละบุษปะ), คีรีบูนยอดรัก, ทุยจ๋าทุย (คู่ ชรินทร์ นันทนาคร), ปลอบใจเจ้าทุย, ทุยฝันร้าย (คู่ ชรินทร์ นันทนาคร, ฝันถึงกันบ้างนะ, แรมพิศวาส (ต้นฉบับ เอมอร วิเศษสุด), สนต้องลม (ต้นฉบับ มัณฑนา โมรากุล), ไฟรักในทรวง (คู่กับ ศรีสุดา รัชตะวรรณ, วรนุช อารีย์, ชวลี ช่วงวิทย์) ฯลฯ
รางวัลเกียรติยศ
[แก้]- รับพระราชทานเหรียญสังคีตมงคล จากพระหัตถ์ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พ.ศ. 2509
- รับพระราชทานรางวัลแผ่นเสียงทองคำ จากเพลง วนาสวาท, รักเธอเสมอ จากพระหัตถ์ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พ.ศ. 2508
- รางวัลใบโพธิ์ทองพระราชทาน จาก คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2514 (ในฐานะนักร้องผู้เผยแพร่ภาษาไทยได้ชัดเจนถูกต้อง)
- ได้รับคัดเลือกเป็นสตรีดีเด่นแห่งปี
- รางวัลเหรียญสนองเสรีชน จากกระทรวงมหาดไทย
- ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติจากคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติให้เป็น ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (เพลงไทยสากล-ขับร้อง) ประจำปี พ.ศ. 2539
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
[แก้]- พ.ศ. 2540 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ชั้นที่ 4 จตุตถดิเรกคุณาภรณ์ (จ.ภ.)
อ้างอิง
[แก้]- ↑ รายการเพื่อนฝัน,สวท เอเอ็ม 891,ก.ค.2556
- ไพบูลย์ สำราญภูติ. เพลงลูกกรุง, TK Park Music Library ชุดดนตรีไทย. กรุงเทพ : สำนักงานอุทยานการเรียนรู้, พ.ศ. 2550. 168 หน้า. หน้า หน้าที่. ISBN 978-974-8218-82-3