วรนุช อารีย์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วรนุช อารีย์
วรนุช อารีย์ จากรายการเสียงสวรรค์เมื่อวันวาน
วรนุช อารีย์ จากรายการเสียงสวรรค์เมื่อวันวาน
สารนิเทศภูมิหลัง
เกิด23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2471
สว่าง อารีย์
จังหวัดธนบุรี
เสียชีวิต20 ธันวาคม พ.ศ. 2560 (89 ปี)
อาชีพนักร้อง, ข้าราชการ
ปีที่แสดงพ.ศ. 2491 - 2560 (69 ปี)
สังกัดวงสุนทราภรณ์

วรนุช อารีย์ (เดิมชื่อ นุชวรา อารีย์; 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2471 - 20 ธันวาคม พ.ศ. 2560) นักร้องหญิงวงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์และวงสุนทราภรณ์ เจ้าของฉายา เสียงน้ำมนต์ก้นบาตร และ นักร้องเสียงละเมอ

ประวัติ[แก้]

วรนุช อารีย์ (เดิมชื่อ สว่าง อารีย์ และเปลี่ยนมาเป็น นุชวรา อารีย์) นักร้องหญิงประจำวงวงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์หรือวงดนตรีสุนทราภรณ์ เกิดเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2471 ที่ธนบุรี เป็นบุตรของ นายนุช และ นางเจริญ อารีย์ มีน้องชาย 1 คน คือ นายนริศ อารีย์ คุณพ่อเสียชีวิตตั้งแต่วรนุชยังเด็ก เข้ารับการศึกษาเบื้องต้นที่ โรงเรียนวัดจักรวรรดิราชาวาสแต่ก็เรียนไม่จบเนื่องจากแม่ไม่มีเงินส่งเรียน

ชีวิตนักร้อง[แก้]

วรนุชสนใจการร้องเพลงมาตั้งแต่เด็กๆโดยอาศัยฟังวิทยุจากข้างๆบ้านเนื่องจากบ้านตัวเองยากจน ซึ่งขณะที่ศึกษาอยู่โรงเรียนวัดจักรวรรดิราชาวาสทุกๆเย็นวันศุกร์จะมีการร้องเพลงหน้าชั้นเรียนก่อนกลับบ้าน วรนุชก็จะออกไปร้องทุกครั้งและจะได้รางวัลเป็นสมุดกลับมา

ต่อมานางเจริญผู้เป็นมารดาได้สมรสใหม่จึงส่งวรนุชมาอยู่กับคุณน้า ทุกๆเย็นหลังช่วยคุณน้าทำงานบ้านเสร็จวรนุชก็มักจะครวญเพลงเป็นเพื่อนแก้เหงา จนกระทั่งคนข้างบ้านที่ทำงานอยู่กรมไปรษณีย์กลางได้ยินเข้าจึงพาไปฝากให้อยู่กับวงดนตรีจารุกนกของครูพจน์ จารุวนิชเมื่อปีพ.ศ.2491 โดยทำหน้าที่พากย์เสียงละครวิทยุและร้องเพลงสลับช่วง

ต่อมาครูเอื้อ สุนทรสนานเห็นถึงความสามารถจึงให้คุณประเสริฐมาชักชวนไปอยู่ที่วงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์หรือวงดนตรีสุนทราภรณ์ด้วยกัน พอดีกับตำแหน่งนักร้องหญิงของวงดนตรีสุนทราภรณ์ว่างลงวรนุชจึงไปสอบกับครูเอื้อ สุนทรสนานเมื่อปีพ.ศ.2495 โดยสอบเข้าได้ที่ 1 พร้อมกับศรีสุดา รัชตะวรรณ ซึ่งได้ที่ 2 และ พูลศรี เจริญพงษ์ ได้ที่ 3

ครูเอื้อ สุนทรสนาน มักจะแต่งเพลงในลีลาหวานเย็นเศร้าๆให้วรนุช อารีย์ขับร้อง โดยเพลงแรกที่เธอได้ร้องออกอากาศทางวิทยุ คือเพลง เมื่อเธอกลับมา ส่วนเพลงแรกที่เธอบันทึกเสียงคือเพลง พรางรัก

ที่มาของฉายา[แก้]

วรนุชได้รับฉายาว่า "เสียงน้ำมนต์ก้นบาตร" ซึ่งมาจากเสียงที่หวานเย็นไพเราะ นักร้องเสียงละเมอที่หมายถึงเสียงชวนฝันละเมอ และห้องสมุดของกรมฯเนื่องเป็นผู้จัดเก็บเพลงทั้งหมดของวงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ ทั้งนี้เทิ่ง สติเฟื่อง พิธีกรชื่อดังได้ตั้งฉายาให้วรนุชว่าเสียงน้ำมนต์กระฉอกอีกด้วย

ความภูมิใจ[แก้]

ในขณะรับราชการในตำแหน่งคีตศิลปิน วงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์นั้น วรนุช อารีย์ ได้มีโอกาสบันทึกเสียงเพลงพระราชนิพนธ์ลมหนาว ในพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และเพลงของสถาบันต่าง ๆ รวมทั้งเพลงปลุกใจไว้หลายเพลง นอกเหนือจากเพลงทั่วไป นอกจากนี้ ยังร่วมเดินทางไปร้องเพลงกล่อมขวัญทหารตามชายแดน ได้รับพระราชทานเข็มที่ระลึกจากพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี และจากพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ และท้ายที่สุด เธอได้รับประกาศเชิดชูเกียรติ " เพชรสยาม " จากสถาบันราชภัฏจันทรเกษม ในสาขาดนตรีนาฏศิลป์ ทางขับร้องเพลงไทยสากล เมื่อวันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2545

ชีวิตครอบครัว[แก้]

วรนุช อารีย์สมรสเมื่อปี 2514 มีบุตรสาว 1 คน และ มีบุตรบุญธรรม 1 คน

บั้นปลายชีวิต[แก้]

วรนุช อารีย์ เกษียณอายุราชการเมื่อปี พ.ศ. 2532 แต่ยังคงขับร้องเพลงให้วงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์เรื่อยมา และยังรับเชิญร้องเพลงตามงานต่าง ๆ หลายสิบปี จนกระทั่งเสียชีวิตเมื่อ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2560 สิริอายุ 89 ปี

ตัวอย่างผลงานเพลง[แก้]

ผลงานเพลงของวรนุช อารีย์ สามารถจำแนกออกมาได้เป็นหลายประเภทดังนี้

1. เพลงขับร้องเดี่ยว เช่น ปวดใจ เปลี่ยวใจ นางครวญ รำพันสวาท มนต์ดลใจ ผาเงอบ ฝนเอย รักต่างแดน เพลินพนา รักเธอคนเดียว ดึกดำ คืนนั้นวันนี้ วันและคืน หวัง โลกกับชีวิต คนใจร้าย อย่าเพียงแต่มอง ล้อโลก ไผ่ครวญ รักคิมหันต์ อนาถเมื่อขาดรัก กล้วยไม้ ฟ้ามัวใจหมอง ละเมอรักฝากลม บางแสนโสภา อย่าร้องไห้ ใครคู่ฉัน พรางรัก เสียงสะอื้นที่บางแสน อ๊ายอาย ลองคิดดู ลวงรัก ธรณิณที่รัก เป็นต้น

2. เพลงขับร้องนำหมู่ เช่น ไม่มีหวัง ยะลา ดอกไม้เมืองเหนือ ฉันล่ะเบื่อ ศักดิ์ไทย อนุสติไทย คำปฏิญาณ ไทยมุ่งหน้า เป็นต้น

3. เพลงขับร้องคู่ (ชาย-หญิง) เช่น ระฆังสั่งลา(คู่วินัย) ทำนายฝัน(คู่สมศักดิ์) คลื่นสวาท(คู่สมศักดิ์) ใคร(คู่สุนทราภรณ์) บ่อโศก(คู่สมศักดิ์) อ่างหิน(คู่วินัย) หยดน้ำเจ้าพระยา(คู่สุนทราภรณ์) ดาวในใจ(คู่สุนทราภรณ์) รักยามเย็น(คู่สุนทราภรณ์) หวานคำ(คู่วินัย) ตะลุงเริงใจ(คู่วินัย) สาวสุดสวย(คู่เลิศ) ไม่มีรัก(คู่สมศักดิ์) เป็นต้น

4. เพลงร้องคู่ (หญิง-หญิง) เช่น เพลงพาชื่น(คู่ศรีสุดา) สามนัด(คู่ศรีสุดา,มาริษา,เลิศ) รื่นเริงใจ(คู่ศรีสุดา,มาริษา) บ้านเกิดเมืองนอน(คู่ศรีสุดา,มาริษา,บุษยา) ลาปีเก่า(คู่ศรีสุดา,ชวลี) ลาชั่วคืน(คู่ศรีสุดา,มาริษา)

5. เพลงรำวง เช่น รำวงเทวีศรีนวล รำวงลีลารัก รำวงปูจ๋า รำวงหมองู เพลินนาวา เริงตลุง รำวงมาลัยรจนา รำวงมาลัยลอย เรือเพลง ขวัญข้าว เริงสงกรานต์ ยายกะตา รำวงบ้านนา รำวงบ้านใกล้ใจรัก รำวงบ้านนาสำราญ เป็นต้น

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

อ้างอิง[แก้]