ศรีสุดา รัชตะวรรณ
ศรีสุดา รัชตะวรรณ | |
---|---|
![]() ศรีสุดา รัชตวรรณ ในวัยสาว | |
สารนิเทศภูมิหลัง | |
เกิด | 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2473 ศรีสุดา รัชตะวรรณ จังหวัดยะลา ประเทศสยาม |
เสียชีวิต | 1 สิงหาคม พ.ศ. 2548 (74 ปี) กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย |
คู่สมรส | วินัย จุลละบุษปะ (พ.ศ. 2499 - 2542) (43 ปี) |
อาชีพ | นักร้อง นักแสดง |
ปีที่แสดง | พ.ศ. 2491 - 2543 (52 ปี) |
ศรีสุดา จุลละบุษปะ (นามสกุลเดิม: รัชตะวรรณ) (12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2473 - 1 สิงหาคม พ.ศ. 2548) เป็นอดีตหัวหน้างานบันเทิงวงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ และนักร้องวงดนตรีสุนทราภรณ์ เจ้าของฉายา มะดันดอง ดุเหว่าเสียงใส ราชินีรำวง ราชินีลีลาศ
ประวัติ[แก้]
วัยเยาว์[แก้]
ศรีสุดา รัชตะวรรณ เกิดที่จังหวัดยะลา เป็นบุตรของหลวงอรรถจารีวรานุวัตรบุญมาก รัชตะวรรณ(2444-2513) รับราชการตำแหน่งอัยการจังหวัด และนางบุญทวน รัชตะวรรณ(2447-2524) มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 6 คน ได้แก่
- นายบัณฑิต รัชตะวรรณ
- นายจิระ รัชตะวรรณ
- นายเสริม รัชตะวรรณ
- นางศรีสุดา รัชตะวรรณ (จุลละบุษปะ)
- นางสุมล รัขตะวรรณ (ฤชุพันธุ์)
- น.ท.รัชตะ รัชตะวรรณ
บิดามารดามีพื้นเพเป็นชาวมอญ อยู่ที่จังหวัดปทุมธานี คุณพ่ออาศัยอยู่บริเวณวัดสำแล ต้นคลองประปา คุณแม่อาศัยอยู่ใกล้วัดไก่เตี้ย แต่ศรีสุดาเกิดที่ยะลาเพราะบิดารับราชการเป็นอัยการ ย้ายไปอยู่ที่นั่น เริ่มศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่1-2ที่โรงเรียนดัดรุนี จังหวัดฉะเชิงเทรา ชั้นประถมศึกษาปีที่3-4ที่โรงเรียนอาจศึกษา และศึกษาระดับมัธยมศึกษาโรงเรียนจอมสุรางค์อุปถัมภ์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แล้วต่อที่โรงเรียนสตรีวัดระฆัง ถนนอรุณอมรินทร์ แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร
ชีวิตนักร้อง[แก้]
ศรีสุดาชอบร้องเพลงมาตั้งแต่เด็กแต่คุณพ่อของศรีสุดาไม่ชอบดนตรี และไม่สนับสนุนให้ลูกๆเอาดีทางด้านนี้เลย ต่างจากคุณปู่ หลวงชำนาญรักษาราษฎร์ ซึ่งรับราชการเป็นนายอำเภอที่รักชอบดนตรี จนถึงมีวงดนตรีไทยเป็นของตนเอง ในวัยเด็กศรีสุดาจะหาเพลงฟังได้ยากมากเนื่องจากอยู่นอกเมือง โดยส่วนมากจะฟังจากวิทยุกรมโฆษณาการเธอจะนั่งจดเนื้อเพลงจากวิทยุ บางครั้งกินข้าวอยู่ก็ทิ้งจานข้าวมาจดเพลง เมื่อคราวศึกษาอยู่ตนจะเป็นผู้นำเต้นและร้องเพลงยั่วสีอื่นเมื่อคราวแข่งกีฬาสีจนได้รับชัยชนะ
ในปีพ.ศ. 2489-2490 ศรีสุดาได้ย้ายมาอยู่สี่แยกพรานนก โดยตั้งใจมาเรียที่วัดระฆัง แต่ใจรักการร้องเพลงจึงได้ไปสมัครเป็นนักร้องวงดนตรีกรมโฆษณาการหรือวงดนตรีสุนทราภรณ์จากการชักชวนของครูแก้ว อัจฉริยะกุลเมื่อปีพ.ศ. 2491 แต่อัตรานักร้องหญิงเต็ม จึงไปสมัครงานเป็นเสมียนที่กรมไปรษณีย์กลาง และได้พบกับครูพจน์ จารุวณิช เจ้าของคณะละครวิทยุ และวงดนตรีจารุกนก และได้มีโอกาสเล่นละครและร้องเพลงร่วมกับวง ระหว่าง พ.ศ. 2491 - 2495 ผลงานในช่วงนี้ เช่น อาวรณ์รัก พบกันด้วยเพลง ความรักที่ไม่แน่นอน น้ำตาลน้ำตา ครวญถึงคู่ รักอะไรดี เป็นต้น
ในปี พ.ศ. 2495 ช่วงเปลี่ยนจากกรมโฆษณาการเป็นกรมประชาสัมพันธ์ ตำแหน่งนักร้องหญิงของวงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ว่างลง เนื่องจากมัณฑนา โมรากุล,เพ็ญศรี พุ่มชูศรี และจันทนา โอบายวาทย์ ลาออก ศรีสุดา รัชตะวรรณจึงไปสมัครเป็นนักร้องอีกครั้ง โดยใช้เพลงทดสอบคือ ดอกไม้ใกล้มือ คนึงครวญ และ คลื่นกระทบฝั่ง ในครั้งนั้น มีผู้สอบผ่านเข้าเป็นนักร้องในคราวเดียวกัน 3 คน โดยวรนุช อารีย์สอบได้ที่ 1 ศรีสุดาได้ที่2 และ พูลศรี เจริญพงษ์ได้ที่3 [1]
เมื่อมาอยู่วงดนตรีสุนทราภรณ์ได้บันทึกเสียงเพลงกามฤทธิ์เป็นเพลงแรก ตามด้วยเพลงอื่นๆอีกมากมาก ซึ่งลักษณะพิเศษของศรีสุดา รัชตะวรรณ คือ เป็นผู้มีพรสวรรค์ด้านน้ำเสียงที่เป็นอมตะเป็นสัญลักษณ์ของความสดชื่นในด้านเสียงเพลง เพราะเมื่อใดก็ตามถ้ามีงานหรือมีการแสดงหรือขับร้องเพลงในแนวของเพลงที่ให้ความสนุกสนานสดชื่นหรือเพลงปลุกใจชื่อของศรีสุดา รัชตะวรรณ จะโดดเด่นขึ้นมาทันทีอีกทั้งยังสะกดท่านผู้ฟังและผู้ชมให้สนุกสนานไปด้วยจากท่วงทำนองของเพลงในจังหวะร่าเริง ที่ใช้นำมาขับร้องประกอบการเต้นรำในจังหวะต่างๆ แม้กระทั่งในวันประเพณีสำคัญ เช่น ปีใหม่ สงกรานต์ ลอยกระทง เป็นต้น
ศรีสุดาโด่งดังเป็นอย่างมากเมื่อได้ขับร้องเพลงสนุกๆคู่กับคู่ขวัญ คือเลิศ ประสมทรัพย์ โดยทั้งคู่มีผลงานร้องร่วมกันทั้งเพลงคู่ เพลงรำวง เพลงตลุง จนมีคนคิดว่าทั้งสองเป็นคู่ชีวิตกัน ศรีสุดานับได้ว่าเป็นนักร้องแม่เหล็กของวงดนตรีสุนทราภรณ์อีกคนนึง ซึ่งหากจะบอกว่า"ใครฟังเพลงสุนทราภรณ์แต่ไม่รู้จักศรีสุดาเป็นไปไม่ได้"ก็เห็นจะจริง ศรีสุดาได้รับความไว้วางใจจากครูเอื้อ สุนทรสนานให้ปกครองน้องๆในวงดนตรีจนเป็นที่เคารพรักของน้องๆทุกคนในวงดนตรี
ชีวิตคู่[แก้]
ที่วงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ ได้พบรักกับ วินัย จุลละบุษปะนักร้องรุ่นพี่ และใช้ชีวิตคู่กันมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2499 โดยไม่มีบุตร (ทั้งคู่เพิ่งจดทะเบียนสมรสกันเมื่อ พ.ศ. 2533)
เกษียณอายุราชการ[แก้]
ศรีสุดา รัชตะวรรณ รับราชการที่กรมประชาสัมพันธ์เป็นเวลา 39 ปี จึงได้รับตำแหน่งเป็นหัวหน้างานบันเทิง คนที่ 5 ต่อจาก เอื้อ สุนทรสนาน, ระวี พงษ์ประภาส, วินัย จุลละบุษปะ และใหญ่ นภายน นับว่าเป็นหัวหน้างานบันเทิงหญิงคนแรก จนกระทั่งเกษียณอายุราชการเมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2534
หลังวินัย จุลละบุษปะ เกษียณอายุราชการ เมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2526 ทั้งคู่ร่วมกันตั้งวงดนตรีชื่อว่า วงดนตรีสังคีตสัมพันธ์ โดยมีเสถียร ปานคง อดีตข้าราชการกรมประชาสัมพันธ์ เป็นผู้ควบคุมวง [1] และได้ฝึกหัดลูกศิษย์มากมาย อาทิ โฉมฉาย อรุณฉาน สุภาภรณ์ ชำนิราชกิจ ชลาธิป ปิ่นสุวรรณ กฤติยาพร กลพิสุทธิ์ โสมรัศมิ์ เกาวนันท์ ภรพรรณ เอี่ยมวุฒิ กอบศักดิ์ ชมวัน เป็นต้น
ผลงานด้านการแสดง[แก้]
พากย์เสียงละครวิทยุของคณะจารุกนก และคณะอื่นๆ จากนั้นก็แสดงเป็นตัวประกอบละครเวทีตัวประกอบละครและตัวนำที่ช่อง 4 บางขุนพรหมหลายเรื่อง อาทิ ไซซี นุสรา เรือมนุษย์ ขุนศึก เป็นต้น และเคยแสดงนำในภาพยนตร์เรื่อง พล นิกร กิมหงวนปีพ.ศ. 2502 รับเชิญแสดงภาพยนตร์เรื่องอกธรณี พ.ศ. 2511 ผลงานการแสดงในช่วงหลังๆ เช่น ละครเรื่องมายา พ.ศ. 2524 ได้รับบทเป็น ศุภลักษณ์ น้องสาวของอินทนิน เรื่องพรหมไม่ได้ลิขิตพ.ศ. 2525 เรื่องอีสา พ.ศ. 2525 เป็นต้น
ที่มาฉายา[แก้]
ศรีสุดาได้รับฉายาจากเลิศ ประสมทรัพย์คู่ขวัญของตัวเองว่ามะดันดองซึ่งมาจากน้ำเสียงและลีลาการร้องที่เปรี้ยวๆ ฉายาที่สองคือดุเหว่าเสียงใสมาจากเสียงสดใสร่าเริง และฉายาราชินีรำวง มาจากการร้องเพลงรำวงไว้มาก นอกจากนี้ยังมีฉายาอื่นๆอีก เช่น ราชินีลีลาศ,ราชินีเพลงสนุก เป็นต้น
อาการเจ็บป่วย และบั้นปลายชีวิต[แก้]
วันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2543 ได้รับการผ่าตัดทำการฉีดสี เพื่อทำบอลลูนหัวใจ แต่เธอเองก็มีความกลัวเพราะเคยแพ้ยาสลบ ในขณะที่กำลังผ่าตัดได้เกิดไฟดับขึ้น ทำให้เธอมีอาการสมองขาดเลือด ไม่รู้สึกตัวอยู่ห้องICU 2 เดือน
ต่อมาพี่น้องของศรีสุดานำมารักษาที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มีอาการดีขึ้นทานอาหารได้พูดได้พยุงเดินได้ แต่ไม่สามารถลืมตาเองได้ สามารถมองเห็นได้ชัดเมื่อเปิดหนังตาข้างหนึ่งแล้วปิดข้างหนึ่งไว้
ต่อมาก็มาพักรักษาตัวที่บ้านพูดได้ไม่กี่คำ ลืมตาไม่ได้ ทำตามคำสั่งพอได้ นอนอยู่กับเตียงให้อาหารทางสายยาง อุจจาระปัสสาวะโดยใช้ผ้าอ้อม ไม่สามารถรักษาให้หายเป็นปกติเช่นคนธรรมดาได้ อีกทั้งไม่สามารถประกอบกิจการงานใด ๆ ด้วยตนเองได้ โดยได้เข้ารับการรักษาตัวครั้งสุดท้ายที่วชิรพยาบาล จนถึงแก่กรรม เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2548 สิริอายุ 75 ปี[2]
ขณะที่ศรีสุดา รัชตะวรรณ เจ็บป่วยอยู่นั้น นางสุมล ฤชุพันธุ์ นาวาโท รัชต รัชตะวรรณ ผู้ซึ่งเป็นน้องสาวและน้องชายร่วมบิดามารดาเดียวของศรีสุดา รัชตะวรรณ และนางประไพ รัชตะวรรณ ผู้เป็นพี่สะใภ้ ได้ยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ศาลมีคำสั่งให้ศรีสุดา รัชตะวรรณ เป็นคนเหมือนไร้ความสามารถ ศาลได้ไต่สวนพยานหลักฐานของบรรดาน้องชายน้องสาวและพี่สะใภ้แล้ว มีคำสั่งให้ศรีสุดา รัชตะวรรณ เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถและให้อยู่ในความพิทักษ์ของน้องสาวน้องชายและพี่สะใภ้ดังกล่าว เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2543[3]
บทเพลงที่ได้รับความนิยม[แก้]
บทเพลงขับร้องเดี่ยว[แก้]
พบกันด้วยเพลง ,กบใต้กอบัว ,แมวกะหนู ,กิเลสคน ,กีฬาหัวใจ ,ช้าช้า ,ทะเลรัก ,เงิน ,เพลงอภินันท์ ,เมื่อมาอย่ากลัว ,รักเอ๋ยรัก ,สวรรค์สวิง ,อารมณ์หวัง ,ยิ้ม ,ช่างร้ายนัก ,รักฉันสักคน ,รักจริงไหม ,สวรรค์อุรา ,งานเงิน ,เปล่า ,ช้ำช้ำช้ำ ,ชายไร้เชิง ,อย่ามัวมอง ,อาวรณ์รัก ,เริงเพลงสวิง ,บาปบุญมีจริง เป็นต้น
ขับร้องนำหมู่[แก้]
สุขกันเถอะเรา,ชื่นชีวิต (นำหมู่ร่วมกับวินัย จุลละบุษปะ) ,เพลงฟ้า ,โลกอลวน ,ชะชะช่าพาเพลิน ,ชะชะช่ากล่อมใจ,เพลงพาสุข,กามฤทธิ์,นี่แหละสวรรค์ ,จะเป็นอย่างไรถ้าหญิงชายไม่รักกัน(นำหมู่ร่วมกับวรนุช อารีย์) ,ศรรัก ,ป่วยการรัก ,เพลงเนรมิตร ,ภัยพ่ายน้ำใจไทย ,เพลงพาชื่น(นำหมู่คู่วรนุช อารีย์) ,คนอลเวง เป็นต้น
บทเพลงขับร้องคู่[แก้]
ไพรพิศดาร (คู่เลิศ ประสมทรัพย์) ,นกเขาไพร (คู่เลิศ ประสมทรัพย์ ), รักจำร้าง(คู่วินัย จุลละบุษปะ) ,ไม่รักใครเลย (ร่วมกับวินัย จุลบุษปะ, เลิศ ประสมทรัพย์,สมศักดิ์ เทพานนท์) ,จุดไต้ตำตอ (ร่วมกับเลิศ ประสมทรัพย์ ,สมศักดิ์ เทพานนท์) ,หนีไม่พ้น (ร่วมกับเลิศ ประสมทรัพย์,สมศักดิ์ เทพานนท์) , รื่นเริงใจ (ร่วมกับ วรนุช อารีย์ ,มาริษา อมาตยกุล) ,สามนัด (ร่วมกับเลิศ ประสมทรัพย์,วรนุช อารีย์ ,มาริษา อมาตยกุล ) ,ตามทุย( คู่ชวลี ช่วงวิทย์,เลิศ ประสมทรัพย์,สมศักดิ์ เทพานนท์ ,คู่รักคู่ขอ(คู่เลิศ ประสมทรัพย์) ,พนาโศก(คู่เลิศ ประสมทรัพย์) ,สัญญารัก(คู่เลิศ ประสมทรัพย์) ,หนุ่มง้อสาวงอน(คู่เลิศ ประสมทรัพย์) ,รักแท้(คู่สมศักดิ์ เทพานนท์) ,อย่าลืมฉัน(คู่สมศักดิ์ เทพานนท์) เป็นต้น
รำวง/ตลุง[แก้]
รำวงสาวบ้านแต้,รำวงหนุ่มบ้านแต้,รำวงปูจ๋า,รำวงลีลารัก,รำวงหมองู,เริงตลุง,ตลุงจำลา,ตลุงถ้ารักจริง,ตลุงแมลงแฝงดอกไม้,รำวงดาวพระศุกร์,ระบำบ้านนา,ยายกะตา,รับขวัญปีใหม่,ตลุงมอญซ่อนผ้า,เริงสงกรานต์,ตลุงดับเพลิงรัก,ตลุงขำจริง,รำวงสงกรานต์หวานใจ,ตลุงสุขสงกรานต์,รำวงฝนตกฟ้าร้อง,รำวงฝนมาทุยหาย,รำวงมาลัยรจนา,รำวงชมสวรรค์,เฮฮาวาตูซี่,สวรรค์สลูปี้,ขวัญข้าว เป็นต้น
ผลงานนำมาบันทึกเสียงใหม่[แก้]
บ้านเรือนเคียงกัน(ต้นฉบับสุปาณี พุกสมบุญ,มองอะไร(ต้นฉบับสุปาณี พุกสมบุญ,หนูเล็ก(ต้นฉบับจันทนา โอบายวาทย์,รื่นเริงใจ(ต้นฉบับมัณฑนา โมรากุล),ปากกับใจ(ต้นฉบับสุปาณี พุกสมบุญ เป็นต้น
เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]
- พ.ศ. 2533 –
เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นที่ 2 ทวีติยาภรณ์มงกุฎไทย (ท.ม.)[4]
อ้างอิง[แก้]
- ไพบูลย์ สำราญภูติ. เพลงลูกกรุง, TK Park Music Library ชุดดนตรีไทย. กรุงเทพ : สำนักงานอุทยานการเรียนรู้, พ.ศ. 2550. 168 หน้า. หน้า หน้าที่. ISBN 978-974-8218-82-3
- ↑ 1.0 1.1 "ประวัติ ศรีสุดา รัชตะวรรณ จาก เว็บสุนทราภรณ์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-10. สืบค้นเมื่อ 2008-03-14.
- ↑ 'ศรีสุดา' แห่งวงสุนทราภรณ์ลาโลก
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง เรื่อง ศาลมีคำสั่งให้ นางศรีสุดา รัชตะวรรณ หรือจุลละบุษปะ เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถและให้อยู่ความอนุบาลของนางสุมล ฤชุพันธุ์ ที่ 1, นางประไพ รัชตะวรรณ ที่ 2 นาวาโท รัชต รัชตะวรรณ ที่ 3, เล่ม 117, ตอนที่ 101 ง, 19 ธันวาคม 2543, หน้า 42.
- ↑ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เนื่องในวโรกาสพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ 5 ธันวาคม 2533 เล่ม 108 ตอนที่ 111 ราชกิจจานุเบกษา 24 มิถุนายน พ.ศ. 2534
![]() |
บทความเกี่ยวกับชีวประวัตินี้ยังเป็นโครง คุณสามารถช่วยวิกิพีเดียได้โดยการเพิ่มเติมข้อมูล |