ข้ามไปเนื้อหา

การเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่หนึ่ง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
การเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่หนึ่ง
ส่วนหนึ่งของ สงครามพม่า–สยาม

ช้างศึกในช่วงสงครามพม่า–สยามตอนปลาย
วันที่พ.ศ. 2111–2112
สถานที่
ผล

อาณาจักรตองอูชนะ

  • กรุงศรีอยุธยาตกเป็นเมืองขึ้นของอาณาจักรตองอู
  • พระบรมวงศานุวงศ์ส่วนหนึ่งถูกนำไปยังพม่า
คู่สงคราม
อาณาจักรอยุธยา
อาณาจักรล้านช้าง

อาณาจักรตองอู พื้นที่ควบคุม:

ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ
หน่วยที่เกี่ยวข้อง
กำลัง
ไม่ทราบ

ข้อมูลฝั่งพม่า: กองทัพพม่า
54,600 นาย, ทหารม้า 5,300 นาย และทหารช้าง 530 นาย [2]


ร่วมกับกองทัพพิษณุโลก:
มากกว่า 70,000 นาย[3]
ความสูญเสีย
สยาม
ไม่ทราบ
ล้านช้าง
ทหาร 30,000 นาย และช้าง 100 เชือก
ไม่ทราบ

การเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่หนึ่ง เป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งระหว่างอาณาจักรตองอูและอาณาจักรอยุธยา อันเป็นผลมาจากความต้องการของพระเจ้าบุเรงนองซึ่งต้องการได้กรุงศรีอยุธยาเป็นประเทศราช[4] และอาจถือได้ว่าเป็นผลสืบเนื่องมาจากสงครามช้างเผือก ใน พ.ศ. 2106 ที่ทรงตีกรุงศรีอยุธยาไม่สำเร็จ[5]

ความขัดแย้งภายในกรุงศรีอยุธยาระหว่างสมเด็จพระมหาจักรพรรดิกับเจ้าเมืองพิษณุโลก สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช ซึ่งมีพระทัยฝักใฝ่พม่า ได้นำไปสู่ความพินาศของกรุงศรีอยุธยาในที่สุด[4] จนกระทั่ง สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงประกาศอิสรภาพให้กับอาณาจักรอยุธยาในอีก 15 ปีต่อมา

เบื้องหลัง

[แก้]

พระเทียรราชาขึ้นครองราชย์

[แก้]

หลังจากพระเทียรราชาขึ้นครองราชย์ ทรงพระนามว่า สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ พระองค์ได้ทรงสถาปนาขุนพิเรนทรเทพ ซึ่งเป็นราชนิกูลข้างพระราชมารดาแต่เดิมขึ้นเป็นเจ้า ทรงนามว่า สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช กรุงหงสาวดีเห็นว่าเป็นช่วงผลัดแผ่นดินจึงบุกโจมตีกรุงศรีอยุธยา เรียกว่าสงครามพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ เมื่อพระมหาจักรพรรดิทรงทราบจึงทรงนำทัพออกต้านศึก และในขณะที่พระมหาจักรพรรดิทรงกระทำยุทธหัตถีกับพระเจ้าแปรอยู่ ช้างพระที่นั่งของพระมหาจักรพรรดิก็เสียที ทำให้พระเจ้าแปรไล่ชน แต่พระสุริโยทัยได้นำช้างมาขวาง ทำให้พระศรีสุริโยทัยเสด็จสวรรคต หลังจากนั้นกรุงศรีอยุธยาก็ส่งเรือรบไปยิงค่ายพม่า ทำให้พม่าต้องถอยทัพกลับหงสาวดี เมื่อกลับถึงเมืองพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้กลับยึดติดกับการตีกรุงศรีอยุธยาไม่ได้จึงทรงติดสุราอย่างหนักจนออกว่าราชการไม่ได้ ต้องให้บุเรงนองผู้เป็นพระญาติเป็นผู้สำเร็จราชการแทน

หลังพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ถูกลอบปลงพระชนม์ พระเจ้าบุเรงนองได้ครองหงสาวดี และก็นำกองทัพเข้ากรุงศรีอยุธยาหมายจะตีอยุธยา เรียกว่าสงครามช้างเผือก ตอนแรกทรงส่งสาส์นมาขอช้างเผือก สมเด็จพระมหาจักรพรรดิได้ส่งพระราชสาส์นตอบกลับไปว่า "ถ้าประสงค์จะได้ช้างเผือกก็ให้เสด็จมาเอาโดยพระองค์เองเถิด" ทำให้พระเจ้าบุเรงนองถือเอาสาส์นนี้เป็นเหตุยกทัพเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยา

สงครามช้างเผือก

[แก้]

ในปี พ.ศ. 2106 พระเจ้าบุเรงนองทรงยกทัพเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยา โดยเข้ามาทางด่านแม่ละเมา กำลังประมาณ 500,000 คนพร้อมด้วยช้าง ม้า และอาวุธยุทโธปกรณ์จำนวนมาก โดยยกเข้ามาทางเมืองตาก ด้วยกำลังมากกว่าสามารถยึดหัวเมืองเหนือได้เกือบทั้งหมดโดยสะดวกจนมาถึงเมืองพิษณุโลก พระมหาธรรมราชาได้ทรงสู้เป็นสามารถและทำการป้องกันเมืองอย่างดี พระเจ้าบุเรงนองจึงขอเจรจา พระมหาธรรมราชาจึงส่งพระสงฆ์จำนวน 4 รูป เพื่อทำการเจรจาแต่ไม่เป็นผลสำเร็จ อีกทั้งในเมืองยังขาดเสบียง และเกิดไข้ทรพิษระบาดขึ้นในเมือง ด้วยสมเด็จพระมหาธรรมราชาเกรงว่าหากขืนสู้รบต่อไปด้วยกำลังคนที่น้อยกว่าอาจทำให้เมืองเมืองพิษณุโลกถูกทำลายลงเหมือนกับหัวเมืองเหนืออื่น ๆ ก็เป็นได้ พระมหาธรรมราชาจึงยอมอ่อนน้อมต่อพระเจ้าบุเรงนอง

พระเจ้าบุเรงนองทรงบังคับให้พระมหาธรรมราชาและเจ้าเมืองอื่น ๆ ถือน้ำกระทำสัตย์ให้อยู่ใต้บังคับของพม่าทำให้พิษณุโลกต้องแปรสภาพเป็นเมืองประเทศราชของหงสาวดีและไม่ขึ้นต่อกรุงศรีอยุธยา แล้วให้พระธรรมราชาครองเมืองพิษณุโลกดังเดิม แต่อยู่ในฐานะเป็นหัวเมืองประเทศราชของหงสาวดี พระเจ้าบุเรงนองทรงขอพระนเรศวรไปเป็นองค์ประกันที่หงสาวดีในปี พ.ศ. 2107 พร้อมทั้งสั่งให้ยกทัพตามลงมาเพื่อตีกรุงศรีฯด้วย

พระองค์รบชนะทัพอยุธยาที่ชัยนาท และลงมาตั้งค่ายล้อมพระนครทั้ง 4 ทิศ กองทัพพม่ายกมาประชิดเขตเมืองใกล้ทุ่งลุมพลี พระมหาจักรพรรดิทรงให้กองทัพบก และกองทัพเรือระดมยิงใส่พม่าเป็นสามารถ แต่สู้ไม่ได้จึงถอย ทางพม่าจึงยึดได้ป้อมพระยาจักรี (ทุ่งลุมพลี) ป้อมจำปา ป้อมพระยามหาเสนา (ทุ่งหันตรา) แล้วล้อมกรุงศรีฯอยู่นาน พระมหาจักรพรรดิทรงเห็นว่าพม่ามีกำลังมาก การที่จะออกไปรบเพื่อเอาชัยคงจะยากนัก จึงทรงสั่งให้เรือรบนำปืนใหญ่ล่องไปยิงทหารพม่าเป็นการถ่วงเวลาให้ เสบียงอาหารหมดหรือเข้าฤดูน้ำหลากพม่าคงจะถอยไปเอง แต่พม่าได้เตรียมเรือรบ และปืนใหญ่มาจำนวนมากยิงใส่เรือรบไทยพังเสียหายหมด แล้วตั้งปืนใหญ่ยิงเข้ามาในพระนครทุกวัน ถูกชาวบ้านล้มตาย บ้านเรือน วัด เสียหายเป็นอย่างมาก แต่ถึงแม้ว่าพม่าจะยิงปืนใหญ่เข้าสู่พระนครเป็นระยะ ๆ แต่ก็ไม่สามารถเข้าสู่ตัวเมืองได้

พระเจ้าบุเรงนองจึงมีพระราชสาส์นให้สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงเลือกจะรบให้รู้แพ้รู้ชนะหรือเลือกยอมสงบศึก โดยที่สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงเลือกสงบศึก[6] อยุธยาจึงต้องยอมปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของพม่า โดยมอบช้างเผือก 4 ช้างให้แก่พม่า มอบตัวบุคคลที่คัดค้านไม่ให้ส่งช้างเผือกแก่พม่าเมื่อครั้งก่อนสงครามช้างเผือก ได้แก่ พระราเมศวร เจ้าพระยาจักรีมหาเสนา และพระสมุทรสงคราม ไปเป็นตัวประกัน[7] ส่งช้างให้แก่พม่าปีละ 30 เชือก ส่งเงินให้แก่พม่าปีละ 300 ชั่ง และให้พม่ามีสิทธิเก็บภาษีอากรในเมืองมะริด[7] โดยมีการเจรจาขึ้นบริเวณสถานที่ประทับชั่วคราวระหว่างวัดพระเมรุสาธิการรามกับวัดหัศดาวาส[4] โดยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงต่อรองขอดินแดนของอยุธยาทั้งหมดที่พระเจ้าบุเรงนองยึดไว้คืน พระเจ้าบุเรงนองก็ถวายคืนแต่โดยดี จากนั้นพม่าก็ถอยกลับไปหงสาวดี

ถึงแม้ว่าพม่าจะได้รับประโยชน์จากข้อตกลงดังนี้ แต่พระเจ้าบุเรงนองยังไม่ทรงประสบความสำเร็จในการได้กรุงศรีอยุธยาเป็นเมืองประเทศราช[4] ดังนั้น พระเจ้าบุเรงนองจึงทรงพยายามดำริหาวิธีในการเอาชนะกรุงศรีอยุธยา ก่อนที่จะมารบอีกครั้งหนึ่ง

พระมหาธรรมราชาเอาพระทัยออกห่าง

[แก้]

พระมหาธรรมราชาทรงแสดงท่าทีฝักใฝ่พม่าตั้งแต่ระยะหลังสงครามช้างเผือกแล้ว โดยทรงยินยอมส่งกำลังทหารไปช่วยพระเจ้าบุเรงนองล้อมเมืองเชียงใหม่ตามที่ติดต่อมา[5] ราวปี พ.ศ. 2108 พระมหาธรรมราชาทรงส่งข่าวเรื่องการพระราชทานพระเทพกษัตรีแก่พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชที่ 1 แห่งอาณาจักรล้านช้าง แต่ถูกกองทัพพม่าดักชิงตัวไปกลางทาง ทำให้การกระชับความสัมพันธ์ระหว่างอยุธยากับล้านช้างล้มเหลวลง[5]

สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงทราบก็ทรงเสียพระทัย จึงเสด็จไปประทับที่วังหลัง ให้พระมหินทร์พระโอรสว่าราชการแทน เมื่อพระชนมายุประมาณ 59 พรรษา ต่อมาได้เสด็จออกผนวชใน พ.ศ. 2109 โดยมีข้าราชการออกบวชด้วยจำนวนมาก โดยพระมหินทร์ พระราชโอรสทรงได้ว่าราชการแทน ต่อมาทรงมีเรื่องกินแหนงแคลงใจกับพระมหาธรรมราชาจนเกิดความร้าวฉานระหว่างพิษณุโลกกับกรุงศรีอยุธยา เนื่องจากพระองค์สมคบพระไชยเชษฐากษัตริย์แห่งอาณาจักรล้านช้างยกทัพไปตีเมืองพิษณุโลกเพื่อกำจัดพระมหาธรรมราชา จนพระองค์มิอาจรั้งราชการแผ่นดิน จึงทูลเชิญให้สมเด็จพระมหาจักรพรรดิลาผนวชหลังจากที่ผนวชได้ไม่นาน แล้วกลับมาว่าราชการตามเดิม

ก่อนเสียกรุง

[แก้]

ต่อมาพระมหาธรรมราชาเสด็จไปเฝ้าพระเจ้าบุเรงนองในปี พ.ศ. 2108 โดยทรงกล่าวโทษว่าอยุธยาวางแผนกำจัดพระองค์ พระเจ้าบุเรงนองจึงให้พระมหาธรรมราชาเป็นเจ้าเมืองประเทศราช ทรงพระนามว่า พระศรีสรรเพชญ์ เจ้าฟ้าพิษณุโลก หรือ เจ้าฟ้าสองแคว อันอยู่ในฐานะกบฏต่ออาณาจักรอยุธยา[8]

พระมหาจักรพรรดิกับพระมหินทร์เสด็จขึ้นไปเมืองพิษณุโลก ในขณะที่พระมหาธรรมราชาเสด็จไปหงสาวดีแล้วนำพระวิสุทธิกษัตรี พร้อมด้วยพระเอกาทศรถมาอยู่ที่กรุงศรีอยุธยา เมื่อพระมหาธรรมราชาทราบเรื่องจึงให้ไปเข้ากับหงสาวดีอย่างเปิดเผย ถึงแม้ว่าสมเด็จพระมหาจักรพรรดิจะทรงนำพระชายา พระโอรสและพระธิดาของพระมหาธรรมราชาลงมายังอยุธยา โดยหวังว่าพระมหาธรรมราชาจะไม่ทรงกล้าดำเนินการใด ๆ ต่อกรุงศรีอยุธยา แต่ก็การณ์มิได้เป็นเช่นนั้น[9] เมื่อพระมหาธรรมราชาเมื่อทราบว่าพระอัครชายาและโอรสธิดาถูกจับเป็นองค์ประกันก็ทรงวิตกยิ่งนัก แล้วรีบส่งสาสน์ไปยังพระเจ้าบุเรงนองให้ยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยา

ก่อนการเสียกรุง พ.ศ. 2112 พระมหาธรรมราชาได้ทรงส่งกองทัพมาร่วมล้อมกรุงศรีอยุธยาร่วมกับทัพใหญ่ของพระเจ้าบุเรงนองด้วย และได้ปฏิบัติหน้าที่สำคัญในกองทัพพม่าด้วย และในปี พ.ศ. 2112 พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชที่ 1 แห่งล้านช้างทรงส่งกองทัพเข้าช่วยเหลือกรุงศรีอยุธยา พระมหาธรรมราชาก็ทรงปลอมเอกสารลวงให้กองทัพล้านช้างนำทัพผ่านบริเวณที่ทหารพม่าคอยดักอยู่ กองทัพล้านช้างจึงแตกพ่ายกลับไป[10]

การเตรียมการของฝ่ายอยุธยา

[แก้]

สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงให้เตรียมการป้องกันบ้านเมืองเพิ่มเติม ดังนี้[9]

  1. สร้างป้อมและหอรบเพิ่มเติม โดยหอรบอยู่ห่างกันหอละ 40 เมตร รวมทั้งเสริมกำแพงให้แข็งแกร่งขึ้น
  2. จัดปืนใหญ่ไว้ตามกำแพงเมืองเป็นจำนวนมาก โดยห่างกันเพียงกระบอกละ 10 เมตร
  3. โปรดให้สร้างแนวกำแพงขึ้นใหม่โดยให้ชิดกับคูเมืองทุกด้าน
  4. ให้สร้างหอรบไว้กลางลำน้ำที่เป็นคูเมืองแล้วเอาปืนใหญ่ติดตั้งไว้บนนั้น

ลำดับเหตุการณ์เสียกรุงศรีอยุธยา

[แก้]

พระเจ้าบุเรงนองทรงนำทัพเข้ารุกรานกรุงศรีอยุธยาในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2111 ยกเข้ามาทางด่านแม่ละเมา เมืองตาก รวมทั้งหมด 7 ทัพ ประกอบด้วย พระมหาอุปราชา เจ้าเมืองแปร เจ้าเมืองตองอู เจ้าเมืองอังวะ เจ้าเมืองเชียงใหม่ และเชียงตุง เข้ามาทางเมืองกำแพงเพชร โดยได้เกณฑ์หัวเมืองทางเหนือรวมทั้งเมืองพิษณุโลกมาร่วมสงครามด้วย รวมจำนวนได้กว่า 500,000 นาย[9] ยกทัพลงมาถึงพระนครในเดือนธันวาคมปีเดียวกัน โดยให้พระมหาธรรมราชาเป็นกองหลังดูแลคลังเสบียง ทัพพระเจ้าบุเรงนองก็ตั้งค่ายรายล้อมพระนครอยู่ไม่ห่าง[9] การตั้งรับภายในพระนครส่งผลให้มีการระดมยิงปืนใหญ่ของข้าศึกทำลายอาคารบ้านเรือนอยู่ตลอด ทำให้ได้รับความเสียหายอย่างมาก

ฝ่ายกรุงศรีอยุธยาเมื่อทราบว่าหัวเมืองทางเหนือเป็นของพม่าแล้ว จึงเตรียมรบอยู่ที่พระนคร นำปืนนารายณ์สังหารยิงไปยังกองทัพพระเจ้าหงสาวดีที่ตั้งอยู่บริเวณทุ่งลุมพลี ถูกทหาร ช้าง ม้าล้มตายจำนวนมาก พม่าจึงถอยทัพมาตั้งที่บ้านพราหมณ์ให้พ้นทางปืน แล้วพระเจ้าหงสาวดีจึงเรียกประชุมการศึก พระมหาอุปราชเห็นสมควรให้ยกทัพเข้าตีไทยทุกด้านเพราะมีกำลังมากกว่า แต่พระเจ้าหงสาวดีไม่เห็นด้วยเพราะกรุงศรีอยุธยามีทำเลดีมีน้ำล้อมรอบ จึงสั่งให้ตีเฉพาะด้านตะวันออกเพราะคูเมืองแคบที่สุด พม่าพยายามจะทำสะพานข้ามคูเมืองโดยนำดินมาถมเป็นสะพาน พระมหาเทพนายกองรักษาด่านอย่างเต็มสามารถ โดยให้ทหารไทยใช้ปืนยิงทหารพม่าที่ขนดินถมเป็นสะพานเข้ามา ทำให้พม่าล้มตายจำนวนมากจึงถอยข้ามคูกลับไป

พระเจ้าบุเรงนองทรงพยายามโจมตีอยู่นานจนถึงเดือนเมษายน พ.ศ. 2112 ก็ยังไม่ได้กรุงศรีอยุธยา อีกทั้งยังสูญเสียกำลังพลเป็นจำนวนมาก[11] พระองค์ทรงพยายามเปลี่ยนที่ตั้งค่ายอยู่หลายระยะ โดยในภายหลังทรงย้ายค่ายเข้าไปใกล้กำแพงเมืองจนทำให้สูญเสียพลอย่างมาก ระหว่างการสงครามสมเด็จพระมหาจักรพรรดิประชวรและสวรรคตในเวลาต่อมา สมเด็จพระมหินทร์ขึ้นครองราชและทรงบัญชาการรบแทน

พระเจ้าบุเรงนองจึงถามพระมหาธรรมราชาว่าจะ ทำอย่างไรให้ชนะศึกโดยเร็ว พระมหาธรรมราชาทรงแนะว่าพระยารามเป็นแม่ทัพสำคัญหากได้ตัวมาการยึดพระนครจักสำเร็จ จึงมีสาสน์มาถึงพระอัครชายาว่า "...การศึกเกิดจากพระยารามที่ยุยงให้พี่น้องต้องทะเลาะกัน ถ้าส่งตัวพระยารามมา ให้พระเจ้าหงสาวดีจะยอมเป็นไมตรี..." สมเด็จพระมหินทร์ฯทรงอ่านสาสน์แล้ว ปรึกษากับข้าราชการต่าง ๆ จึงเห็นสมควรสงบศึกเพราะผู้คนล้มตายกันมากแล้ว สมเด็จพระมหินทร์ฯมีรับสั่งให้ส่งพระสังฆราชออกไปเจรจาและส่งตัวพระยารามให้พระเจ้าบุเรงนองเพื่อเป็นไมตรี แต่พระเจ้าบุเรงนองตระบัดสัตย์ไม่ยอมเป็นไมตรี ทำให้สมเด็จพระมหินทร์ฯทรงพิโรธโกรธแค้นในการกลับกลอกของพระเจ้าบุเรงนองอย่างมาก มีรับสั่งให้ขุนศึกทหารทั้งปวงรักษาพระนครอย่างเข้มแข็ง พระเจ้าบุเรงนองเห็นว่ายังไม่สามารถตีกรุงศรีอยุธยาไม่ได้ จึงส่งพระมหาธรรมราชามาเกลี้ยกล่อมให้ยอมแพ้ แต่ถูกทหารไทยเอาปืนไล่ยิงจนต้องหนีกลับไป

พระเจ้าหงสาวดีจึงคิดอุบายจะใช้พระยาจักรีที่จับตัวได้เป็นประกันเมื่อครั้งสงครามช้างเผือกเป็นไส้ศึก จึงให้พระมหาธรรมราชาทรงเกลี้ยกล่อมพระยาจักรีให้เป็นไส้ศึกในกรุงศรีอยุธยา แล้วแกล้งปล่อยตัวออกมา รุ่งเช้าพม่าทำทีเป็นตามหาแต่ไม่พบเลยจับตัวผู้คุมมาตัดหัวเสียบไว้ริมแม่น้ำเพื่อให้ไทยหลงกล

สมเด็จพระมหินทร์ฯทรงดีพระทัยที่พระยาจักรีหนีมาได้จึงทรงแต่งตั้งให้เป็นผู้บังคับบัญชาการรบแทนที่พระยาราม ครั้นพระยาจักรีได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรักษาพระนครแล้วจึงดำเนินการสับเปลี่ยนหน้าที่ของฝ่ายต่าง ๆ จนกระทั่งการป้องกันพระนครอ่อนแอลง พระยาจักรีได้ใส่ร้ายให้พระศรีสาวราชว่าเป็นกบฏจึงถูกสำเร็จโทษ เมื่อเห็นว่าได้เวลาอันควรพระยาจักรีจึงให้สัญญาณแก่พม่าเข้าตีกรุงศรีอยุธยาทุกด้าน และทำให้กองทัพพม่าเข้าสู่พระนครสำเร็จโดยใช้เวลาเพียง 1 เดือน[10]

ในวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2112 (เดือน 9 ไทย) พระยาจักรีจึงให้สัญญาณแก่พม่าเข้าตีกรุงศรีอยุธยาและเปิดประตูเมือง ทำให้ทัพพม่าเข้ายึดพระนครสำเร็จ กรุงศรีอยุธยาจึงตกเป็นเมืองขึ้นของอาณาจักรตองอู

หลังสงคราม

[แก้]

พระเจ้าบุเรงนองประทับอยู่ที่กรุงศรีอยุธยาจนกระทั่ง วันศุกร์ขึ้นหกค่ำ เดือนสิบสอง ปีมะเส็ง พ.ศ. 2112 ได้อภิเษกให้สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช ขึ้นเป็นกษัตริย์ครองกรุงศรีอยุธยา ในฐานะประเทศราช ทรงพระนามว่า สมเด็จพระสรรเพชญที่ 1 บางแห่งเรียก พระสุธรรมราชา

สมเด็จพระมหินทราธิราช พระบรมวงศานุวงศ์ และขุนนางน้อยใหญ่ ได้ถูกนำไปกรุงหงสาวดีด้วยแต่สมเด็จพระมหินทร์ประชวรและสวรรคตระหว่างทางไปกรุงหงสาวดี

พม่าเข้ายึดทรัพย์สินและกวาดต้อนผู้คนกลับไปพม่าเป็นจำนวนมาก โดยเหลือให้รักษาเมืองเพียง 1,000 คน คนที่เหลือก็หนีไปหลบอาศัยอยู่ที่อื่น บ้านเรือนและสิ่งปลูกสร้างทั้งหลายได้รับความเสียหายเป็นอันมาก[12] อาณาจักรอยุธยาจึงตกเป็นเมืองขึ้นของอาณาจักรตองอูเป็นเวลานาน 15 ปี

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Pires, Tomé (1944). Armando Cortesao (translator) (ed.). A suma oriental de Tomé Pires e o livro de Francisco Rodriguez: Leitura e notas de Armando Cortesão [1512 - 1515] (in Portuguese). Cambridge: Hakluyt Society.
  2. Hmannan 2003, pp. 402–403.
  3. Harvey 1925, p. 334.
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 ดนัย ไชยโยธา. หน้า 219.
  5. 5.0 5.1 5.2 ดนัย ไชยโยธา. หน้า 220.
  6. ดนัย ไชยโยธา. หน้า 217-218.
  7. 7.0 7.1 ดนัย ไชยโยธา. หน้า 218.
  8. ดนัย ไชยโยธา. หน้า 220-221.
  9. 9.0 9.1 9.2 9.3 ดนัย ไชยโยธา. หน้า 222.
  10. 10.0 10.1 ดนัย ไชยโยธา. หน้า 221.
  11. ดนัย ไชยโยธา. หน้า 224.
  12. ดนัย ไชยโยธา. หน้า 225.

บรรณานุกรม

[แก้]
  • ดนัย ไชยโยธา. (2543). พัฒนาการของมนุษย์กับอารยธรรมในราชอาณาจักรไทย เล่ม ๑. โอ.เอส. พริ้นติ้ง เฮ้าส์.
  • Harvey, G. E. (1925). History of Burma: From the Earliest Times to 10 March 1824. London: Frank Cass & Co. Ltd.
  • Royal Historical Commission of Burma (1832). Hmannan Yazawin (ภาษาพม่า). Vol. 2 (2003 ed.). Yangon: Ministry of Information, Myanmar.
  • Jumsai, Manich (1976). "King Tilokarat (1441–1485)". Popular History of Thailand. Bangkok,Thailand: Claremint. ASIN B002DXA1MO.
  • Rajanubhab, Damrong (2001). Our Wars With the Burmese. Bangkok,Thailand: White Lotus. ISBN 9747534584.
  • Wood, William A. R. (1924). History of Siam. Thailand: Chalermit Press. ISBN 1-931541-10-8.
  • Sein Lwin Lay, Kahtika U (2006) [1968]. Mintaya Shwe Hti and Bayinnaung: Ketumadi Taungoo Yazawin (ภาษาพม่า) (2nd printing ed.). Yangon: Yan Aung Sarpay.
  • Simms, Peter and Sanda (1999). The Kingdoms of Laos: Six Hundred Years of History. Curzon Press. ISBN 0-7007-1531-2.