พระนางอินทรเทวี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อินทรเทวี
พระมเหสี
อินทรเทวีภายในปราสาทบายน[1]
พระราชสวามีพระเจ้าชัยวรมันที่ 7
ราชวงศ์มหิธรปุระ
ศาสนาพุทธนิกายมหายาน (เดิมฮินดู)

อินทรเทวี หรือ ศรีอินทรเทวี เป็นพระมเหสีสำดับที่สอง[2]ในพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 พระมหากษัตริย์แห่งอาณาจักรพระนคร[3] และเป็นพระเชษฐภคินีในชยราชเทวี ซึ่งเป็นพระอัครมเหสีร่วมพระราชสวามี[4][5] อินทรเทวีเป็นผู้รู้ด้านศาสนาพุทธนิกายมหายานอย่างเอกอุ จนได้รับการแต่งตั้งให้เป็นอาจารย์ใหญ่ประจำพุทธวิหารถึงสามแห่ง มีหน้าที่เผยแผ่ศาสนาแก่เหล่านักนางสนมทั้งหลาย[6] ทั้งยังมีความรู้ในภาษาสันสกฤตอย่างแตกฉาน[5] งานเขียนของพระองค์ได้รับการยกย่องว่า "หาที่ติมิได้"[4][7] หรือ "งดงามอย่างไร้ที่ติ"[8]

พระราชประวัติ[แก้]

อินทรเทวี มีพระนามเดิมอย่างไรไม่เป็นที่ปรากฏ[2] พระราชสมภพในครอบครัวพราหมณ์[9] ที่มีพื้นเพมาจากเมืองทันนิเกตนะปุระ (ที่อยู่ของช้าง) และเมืองสรัสวดีปุระ ถือว่าเป็นครอบครัวผู้สูงศักดิ์ เพราะในช่วงเวลานั้นพราหมณ์มีบทบาทสูงยิ่งในราชสำนัก[10] ใน จารึกพิมานอากาศ กล่าวถึงพระราชชนกไว้ว่าชื่อ ศรีช [...] (ข้อความขาดหาย) มีพระอัยกาฝ่ายพระชนกชื่อ รุทรวรมัน มีอัยยิกาฝ่ายพระชนกชื่อ ศรี [...] (ข้อความขาดหาย) ส่วนพระอัยกาฝ่ายพระชนนีเป็นพราหมณ์ และพระอัยยิกาฝ่ายพระชนนีชื่อ ราเชนทรลักษมี โดยได้ยกย่องราเชนทรลักษมีไว้ว่าเป็นนักปราชญ์ผู้รอบรู้[11] และมีพระขนิษฐภคินีพระองค์หนึ่ง คือ ชยราชเทวี ดังปรากฏใน จารึกพิมานอากาศ ความว่า "...ในครั้งนั้น [...] มารดาเป็นเหมือนแผ่นดิน บิดามีความมั่นคง [...] เขาพระสุเมรุ [...] อินทรเทวี เป็นผู้ที่ประสูติก่อน และคงคาผู้รู้ [...] สั่น [...]..."[12] แม้ครอบครัวจะเป็นพราหมณ์ แต่อินทรเทวีทรงศึกษาคำสอนและหลักปรัชญาในศาสนาพุทธนิกายมหายานอย่างแตกฉานลึกซึ้ง[13]

อินทรเทวีมีบทบาทสำคัญในการแนะนำให้ชยราชเทวี ซึ่งขณะนั้นเป็นพระอัครมเหสีในพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เข้าสู่ศาสนาพุทธนิกายมหายานที่ตนเองนับถือ เพราะในขณะนั้นชยราชเทวีทรงมีทุกข์ที่ต้องห่างจากพระราชสวามีอันเป็นที่รัก[4][14] ดังปรากฏในจารึกว่า "...ทรงได้รับคำสอนจากพระเชษฐภคินี คือ พระนางอินทรเทวี ให้เพ่งพิจารณาพระพุทธเจ้าเป็นที่ตั้งแห่งความเคารพบูชาของนาง ทรงเลือกหนทางอันร่มรื่นของพระอริยบุคคลผู้ดำเนินอยู่ท่ามกลางไฟของความทุกข์ทรมานและทะเลแห่งความวิปโยค..."[4][15] กระทั่งชยราชเทวีทรงหันไปนับถือศาสนาพุทธ ทรงปฏิบัติตนเป็นครู ทรงสั่งสอนด้วยพระองค์เอง ทรงรับอุปการะเด็กหญิงที่ถูกมารดาทอดทิ้ง และได้พระราชทานเสื้อผ้าและสิ่งของต่าง ๆ แก่เด็กเหล่านั้นมาบวชเรียนเป็นชีให้อยู่ในวิถีแห่งศาสนา[5][16] ทั้งยังมีบทบาทสำคัญในการโน้มน้าวให้พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เปลี่ยนไปนับถือศาสนาพุทธนิกายมหายานแทนศาสนาเดิม[14] ส่วนอินทรเทวีเองก็มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนให้พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 บำเพ็ญบารมีตามอย่างพระโพธิสัตว์[13] แม้อินทรเทวี และชัยวรมันที่ 7 จะทรงเปลี่ยนศาสนาแล้ว แต่ก็ยังให้การอุปถัมภ์ศาสนาฮินดูด้วยการบูรณะเทวรูปที่พังเสียหายจากสงครามในทุก ๆ เมือง เพราะเชื่อว่าจะส่งเสริมความศักดิ์สิทธิ์แก่สถาบันพระมหากษัตริย์ กอปรกับในขณะนั้นประชากรส่วนใหญ่ยังนับถือศาสนาฮินดูอยู่[9]

หลังชยราชเทวีเสด็จสวรรคตแล้ว เมื่อพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ทรงสถาปนาพระเชษฐภคินีของชยราชเทวีขึ้นเป็นพระมเหสีลำดับที่สอง พระราชทานพระนามว่า อินทรเทวี[2] ในตำแหน่งอัครเทพี[13] อินทรเทวีได้รับการยกย่องในจารึกว่า "...ทรงมีปัญญาในวิทยาเสียยิ่งกว่านักปรัชญา..."[4] ฉลาดรอบรู้ดุจพระสุรัสวดี[6] และเจริญในธรรมอย่างยิ่งยวด[1] พระองค์ทรงศึกษาภาษาสันสกฤตอย่างแตกฉาน พระราชนิพนธ์โศลกในจารึกพิมานอากาศ สรรเสริญชยราชเทวี พระขนิษฐาผู้ล่วงลับ เป็นภาษาสันสกฤตได้อย่างถูกต้องตามแบบแผนไวยากรณ์[5] และมีลีลาการแต่งแบบอลังการ จนได้รับการยกย่องว่า "หาที่ติมิได้"[4][7] หรือ "งดงามอย่างไร้ที่ติ"[8]

พระราชกรณียกิจ[แก้]

ปราสาทพิมานอากาศ

อินทรเทวีทรงแสดงตนเป็นพุทธมามกะ ทรงบริจาคทานและทรัพย์จำนวนมากแก่อาณาประชาราษฎร์ ปรากฏใน จารึกพิมานอากาศ ความว่า "...สตรีนางนั้น [...] พระมเหสีเจ้าแห่ง [...] ผู้มีบุญสัมภาระที่ได้กระทำแล้ว ด้วยทรัพย์สมบัติจำนวนมาก [...] แก่ประชาชนทั้งปวง ผู้ประทานผลทั้งหลาย ผู้กระตือรือร้นในสิ่งที่เป็นประโยชน์สำหรับชาวโลก..."[17] ทรงสานต่อพระปณิธานของชยราชเทวี ด้วยการอุปถัมภ์สถานศึกษาสามแห่งที่ชยราชเทวีทรงสร้างไว้สำหรับสตรีและเด็กหญิงชั้นสูง[5][18] ทรงสงเคราะห์เยาวชนหญิงอนาถาให้บวชเรียนเป็นนางชี[5] พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ทรงแต่งตั้งให้อินทรเทวีเป็นพระอาจารย์ใหญ่ประจำศาสนสถาน เพื่อทรงสั่งสอนหลักปรัชญาแก่สตรีทั้งหลาย[13] ดังปรากฏใน จารึก พิมานอากาศ ความว่า "...ในพุทธวิหารนาเคนทรตุงคะ ซึ่งเป็นพุทธวิหารอันดับ 1 ในเรื่องวิชาการทางพระพุทธศาสนา และเช่นเดียวกับในพุทธวิหารติลโกตตระ พระนางได้รับการแต่งตั้งให้เป็นอาจารย์ใหญ่โดยพระเจ้าแผ่นดิน [อินทรเทวี] จึงได้กระทำแล้วซึ่งการสอนหมู่บรรดาสนมเป็นประจำซึ่งถูกกำหนดไว้แล้ว..."[6] พระองค์ทรงสั่งสอนศาสนาพุทธในพุทธวิหารนเรนทราศรมอีกแห่ง[19] โดยพุทธวิหารทั้งสามแห่งนี้จะมีนักนางสนมมาเรียนพระพุทธศาสนาเป็นประจำทุกวัน[20]

อินทรเทวีทรงบำเพ็ญบุญกิริยา ด้วยการสร้างหมู่บ้านธรรมกีรติ (เกียรติยศแห่งธรรมะ) เป็นหมู่บ้านธรรมะเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาจำนวนสองแห่ง คือ หมู่บ้านเลขะ และหมู่บ้านทฤฒา[21] จากนั้นทรงรับเด็กผู้หญิงอนาถาที่ถูกทอดทิ้งหรือถูกทารุณกรรมราว 100 คน มาอุปถัมภ์ประหนึ่งพระธิดาเลี้ยง ให้อาศัยพักพิงอยู่ในหมู่บ้านดังกล่าว "...พระนางหลังจากได้ทรงรับบรรดาเด็กผู้หญิงทั้งหลายที่ถูกทอดทิ้ง และถูกทำร้ายตั้งแต่ยังเล็ก โดยทรงรับไว้จำนวน 100 คนเหมือนลูก ทำให้หมู่บ้านธรรมกีรติที่ได้ประกาศธรรมะให้เป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไป หมู่บ้านที่เต็มไปด้วยความสุขและทรัพย์สมบัติ..."[22]

แม้จะทรงเปลี่ยนไปนับถือศาสนาพุทธแล้ว แต่อินทรเทวียังทรงอุปถัมภ์ศาสนาฮินดู ด้วยพระองค์มีพื้นเพเป็นพราหมณ์ ทรงสร้างเทวรูปสำหรับประดิษฐานภายในเทวาลัยศรีชยเกษตรศิวะ[21] สร้างรูปเคารพสำหรับสถานที่ที่เรียกว่า "ศิวปุระ"[19] ถวายกลองแก่พระศิวะ สร้างรูปพระพิฆเนศวร และบูรณะปราสาทพิมานอากาศ[9]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 อภิญญา ตะวันออก (23 ธันวาคม 2563). "ตามส่อง "เทริด" กับหลังบ้านกษัตริย์วรรมัน". มติชนสุดสัปดาห์. สืบค้นเมื่อ 6 พฤษภาคม 2566. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  2. 2.0 2.1 2.2 นิพัทธ์ แย้มเดช และจิรพัฒน์ ประพันธ์วิทยา (กรกฎาคม–ธันวาคม 2561). "จารึกพิมานอากาศของพระนางศรีอินทรเทวี : สารัตถะและความสำคัญในการสดุดีพระเกียรติพระเจ้าชัยวรมันที่ 7". วารสารไทยคดีศึกษา 15:(2), หน้า 107
  3. "Jayavarman VII | king of Khmer empire". Encyclopedia Britannica (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2020-11-07.
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 4.4 4.5 กมลศักดิ์ สรลักษณ์ลิขิต (5 พฤษภาคม 2566). "ตามรอยรูปสลัก พระมเหสีของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ณ ปราสาทพระขรรค์". ศิลปวัฒนธรรม. สืบค้นเมื่อ 5 พฤษภาคม 2566. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  5. 5.0 5.1 5.2 5.3 5.4 5.5 ชะเอม แก้วคล้าย. "จารึกพระเจ้าชัยวรมันที่ 7" (PDF). กรมศิลปากร. สืบค้นเมื่อ 6 พฤษภาคม 2566. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  6. 6.0 6.1 6.2 นิพัทธ์ แย้มเดช และจิรพัฒน์ ประพันธ์วิทยา (กรกฎาคม–ธันวาคม 2561). "จารึกพิมานอากาศของพระนางศรีอินทรเทวี : สารัตถะและความสำคัญในการสดุดีพระเกียรติพระเจ้าชัยวรมันที่ 7". วารสารไทยคดีศึกษา 15:(2), หน้า 118
  7. 7.0 7.1 นิพัทธ์ แย้มเดช (2558). การศึกษาอลังการในจารึกปราสาทตาพรหมของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 (PDF). มหาวิทยาลัยศิลปากร. p. 10.
  8. 8.0 8.1 นิพัทธ์ แย้มเดช และจิรพัฒน์ ประพันธ์วิทยา (กรกฎาคม–ธันวาคม 2561). "จารึกพิมานอากาศของพระนางศรีอินทรเทวี : สารัตถะและความสำคัญในการสดุดีพระเกียรติพระเจ้าชัยวรมันที่ 7". วารสารไทยคดีศึกษา 15:(2), หน้า 94
  9. 9.0 9.1 9.2 นิพัทธ์ แย้มเดช และจิรพัฒน์ ประพันธ์วิทยา (กรกฎาคม–ธันวาคม 2561). "จารึกพิมานอากาศของพระนางศรีอินทรเทวี : สารัตถะและความสำคัญในการสดุดีพระเกียรติพระเจ้าชัยวรมันที่ 7". วารสารไทยคดีศึกษา 15:(2), หน้า 122
  10. วรรณวิภา สุเนตรต์ตา. "ราชวงศ์มหิธรปุระ มีศูนย์กลางอยู่ที่ "พิมาย-พนมรุ้ง" : ภูมิหลังของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗". Matichon Academy. สืบค้นเมื่อ 6 พฤษภาคม 2566. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  11. นิพัทธ์ แย้มเดช และจิรพัฒน์ ประพันธ์วิทยา (กรกฎาคม–ธันวาคม 2561). "จารึกพิมานอากาศของพระนางศรีอินทรเทวี : สารัตถะและความสำคัญในการสดุดีพระเกียรติพระเจ้าชัยวรมันที่ 7". วารสารไทยคดีศึกษา 15:(2), หน้า 113
  12. นิพัทธ์ แย้มเดช และจิรพัฒน์ ประพันธ์วิทยา (กรกฎาคม–ธันวาคม 2561). "จารึกพิมานอากาศของพระนางศรีอินทรเทวี : สารัตถะและความสำคัญในการสดุดีพระเกียรติพระเจ้าชัยวรมันที่ 7". วารสารไทยคดีศึกษา 15:(2), หน้า 112
  13. 13.0 13.1 13.2 13.3 นิพัทธ์ แย้มเดช (2558). การศึกษาอลังการในจารึกปราสาทตาพรหมของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 (PDF). มหาวิทยาลัยศิลปากร. p. 76.
  14. 14.0 14.1 ศรีศักร วัลลิโภดม (2 กุมภาพันธ์ 2559). "สนทนาทัศนะนอกรีต : "ศรีชัยราชเทวี"". มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์. สืบค้นเมื่อ 6 พฤษภาคม 2566. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  15. Jacobsen, Trudy, Lost goddesses: the denial of female power in Cambodian history, NIAS Press, Copenhagen, 2008
  16. Jacobsen, Trudy, Lost goddesses: the denial of female power in Cambodian history, NIAS Press, Copenhagen, 2008
  17. นิพัทธ์ แย้มเดช และจิรพัฒน์ ประพันธ์วิทยา (กรกฎาคม–ธันวาคม 2561). "จารึกพิมานอากาศของพระนางศรีอินทรเทวี : สารัตถะและความสำคัญในการสดุดีพระเกียรติพระเจ้าชัยวรมันที่ 7". วารสารไทยคดีศึกษา 15:(2), หน้า 123
  18. Jacobsen, Trudy, Lost goddesses: the denial of female power in Cambodian history, NIAS Press, Copenhagen, 2008
  19. 19.0 19.1 นิพัทธ์ แย้มเดช และจิรพัฒน์ ประพันธ์วิทยา (กรกฎาคม–ธันวาคม 2561). "จารึกพิมานอากาศของพระนางศรีอินทรเทวี : สารัตถะและความสำคัญในการสดุดีพระเกียรติพระเจ้าชัยวรมันที่ 7". วารสารไทยคดีศึกษา 15:(2), หน้า 121
  20. นิพัทธ์ แย้มเดช และจิรพัฒน์ ประพันธ์วิทยา (กรกฎาคม–ธันวาคม 2561). "จารึกพิมานอากาศของพระนางศรีอินทรเทวี : สารัตถะและความสำคัญในการสดุดีพระเกียรติพระเจ้าชัยวรมันที่ 7". วารสารไทยคดีศึกษา 15:(2), หน้า 124
  21. 21.0 21.1 นิพัทธ์ แย้มเดช และจิรพัฒน์ ประพันธ์วิทยา (กรกฎาคม–ธันวาคม 2561). "จารึกพิมานอากาศของพระนางศรีอินทรเทวี : สารัตถะและความสำคัญในการสดุดีพระเกียรติพระเจ้าชัยวรมันที่ 7". วารสารไทยคดีศึกษา 15:(2), หน้า 120
  22. นิพัทธ์ แย้มเดช และจิรพัฒน์ ประพันธ์วิทยา (กรกฎาคม–ธันวาคม 2561). "จารึกพิมานอากาศของพระนางศรีอินทรเทวี : สารัตถะและความสำคัญในการสดุดีพระเกียรติพระเจ้าชัยวรมันที่ 7". วารสารไทยคดีศึกษา 15:(2), หน้า 125