ข้ามไปเนื้อหา

พระเจ้าชัยวรมันที่ 6

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระเจ้าชัยวรมันที่ 6
พระมหากษัตริย์พระนคร
ครองราชย์ค.ศ. 1080 – 1107
พระองค์ก่อนพระเจ้าหรรษวรมันที่ 3
พระองค์ถัดไปพระเจ้าธรณินทรวรมันที่ 1
สวรรคตค.ศ. 1107
ราชวงศ์ราชวงศ์มหิธรปุระ

พระเจ้าชัยวรมันที่ 6 (เขมร: ជ័យវរ្ម័នទី៦; สวรรคต ค.ศ. 1107) เป็นพระมหากษัตริย์แห่งอาณาจักรพระนคร ครองราชย์ระหว่างปี ค.ศ. 1080–1107 และเป็นกษัตริย์พระองค์แรกของราชวงศ์มหิธรปุระ แห่งเมืองพิมาย พระองค์เสด็จลงไปปราบกบฎและปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์ปกครองเขมรในกรุงยโศธรปุระ ซึ่งต่อมาคือเมืองพระนครธม

พระราชประวัติ

[แก้]

พระเจ้าชัยวรมันที่ 6 เป็นกษัตริย์แห่งอาณาจักรพระนคร ต้นกำเนิดของพระองค์เป็นขุนนางชาวเมืองพิมายแห่งที่ราบสูงโคราช ปัจจุบันคือ อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา เมื่อพระเจ้าหรรษวรมันที่ 3 กษัตริย์กรุงยโศธรปุระจากราชวงศ์ก่อน เสด็จสวรรคตในปี ค.ศ.1080 ได้เกิดการแย่งอำนาจกันภายในราชสำนัก พระองค์ทรงลงไปจัดการและปราบปรามคู่แข่งทางการเมืองอยู่หลายปี เมื่อทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว พระองค์ได้ทำการปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์กัมพูชาโบราณแห่งกรุงยโสธรปุระ ซึ่งในขณะนั้นมีศูนย์กลางอยู่ที่ปราสาทบาปวน ในยุคของพระองค์จึงถูกนับเป็นศิลปะเขมรแบบบาปวนด้วย แต่นักโบราณคดีและประวัติศาสตร์บางส่วนได้แยกศิลปะในยุคของพระองค์ออกเป็นศิลปะเขมรแบบพิมาย ซึ่งมีความต่างจากศิลปะเขมรแบบบาปวนเล็กน้อย

พระองค์ทรงสถาปนาราชวงศ์ใหม่และจารึกนามว่า "มหิธรปุระ" ลูกหลานของพระองค์ได้ปกครองกรุงยโศธรปุระหรือเมืองพระนคร มาช่วงระยะเวลาหนึ่ง จึงได้สร้างปราสาทนครวัดและปราสาทบายนในรัชกาลถัดมา หลานของพระองค์คือ พระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ได้นำแบบจากปราสาทหินพิมาย อันเป็นเมืองของราชตระกูลลงไปเป็นต้นแบบการสร้างปราสาทนครวัดถวายพระวิษณุ และในช่วงหลังของราชวงศ์มหิธรปุระ พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ได้ย้ายศูนย์กลางเมืองจากปราสาทบาปวนลงไปสร้างปราสาทบายนทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ราว 300 เมตร และเรียกรวมเขตในกำแพงเมืองและคูน้ำว่า "นครธม" เอกสารในยุคหลังจึงกล่าวถึงพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 ว่าเป็นกษัตริย์แห่งเมืองนครธมด้วย แต่ถึงอย่างไรก็ตามในฝั่งประเทศไทย จารึกสุโขทัยยังเรียกเมืองนี้ว่า ศรียโศธรปุระ

พระเจ้าชัยวรรมันที่ 6 เสด็จสวรรคตเมื่อปี ค.ศ.1107 หลังจากครองสิริราชสมบัติได้ 27 ปี โดยมีพระเชษฐาของพระองค์ขึ้นสืบราชบัลลังก์เป็น พระเจ้าธรณินทรวรมันที่ 1 ราชวงศ์มหิธรปุระของพระองค์ได้ปกครองอาณาจักรเขมรพระนครราว 256 ปี (เรื่องพระเจ้าแตงหวานไม่เคยปรากฏในศิลาจารึกเขมรร่วมสมัยแต่ประการใด แต่มาปรากฏในพระราชพงศาวดารกัมพูชาในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์สมัยรัชกาลที่1โดยนักองค์เอง และเนื้อเรื่องคล้ายนิทานในพม่า ปัจจุบันนักวิชาการสากลไม่เชื่อถือ) ส่วนการหายไปของ”วรมัน” ที่เป็นคำสันสกฤต นักวิชาการเชื่อว่าเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางภาษาที่เกี่ยวเนื่องกับศาสนาเพราะหลังจากพุทธศตวรรษที่18 กัมพูชาเปลี่ยนมานับถือพระพุทธศาสนานิกายเถรวาท พระนามกษัตริย์จากสันสกฤตจึงกลายเป็นบาลี ส่วนการเสื่อมของกรุงศรียโศธรก็เกิดจากการย้ายศูนย์กลางอำนาจด้วยหลายสาเหตุหลังจากนั้นเมืองพระนครหลวงก็กลายตัวเองเป็นเมืองทางศาสนาในที่สุด บางส่วนก็ถูกป่ากลืนกิน

ข้อสันนิษฐานประติมากรรมสำริดโกลเด้นบอย

[แก้]
ประติมากรรมสำริดโกลเด้นบอย

ดร. ทนงศักดิ์ หาญวงษ์ นักวิชาการอิสระด้านโบราณคดี ได้เสนอข้อสันนิษฐานว่า พระเจ้าชัยวรมันที่ 6 อาจเป็นบุคคลในประติมากรรมสำริดโกลเด้นบอย (Golden Boy) ปฐมกษัตริย์ราชสกุลสายมหิธรปุระ ผู้ปกครองอาณาจักรเขมรโบราณ (อาณาจักรพระนคร) ช่วงพุทธศตวรรษที่ 17 โดยมีพื้นเพอยู่ที่แถบต้นแม่น้ำมูล มีรูปแบบศิลปะเขมรแบบพิมาย (พ.ศ. 1623-1650) พบที่ปราสาทบ้านยางหรือบ้านยางโปร่งสะเดา ตำบลตาจง อำเภอละหานทราย จังหวัดบุรีรัมย์ สอดคล้องกับการค้นพบรูปพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 พบที่บ้านยาง จึงมีความสำคัญสอดคล้องกับหลักฐานจารึก ที่พบบริเวณที่ราบเขาพนมรุ้ง ซึ่งกล่าวถึงต้นกำเนิด ราชสกุลสายมหิธรปุระ” ที่สถาปนาโดยพระองค์ [1]

จารึกปราสาทพระขรรค์ ได้กล่าวถึงพระองค์ที่ทรงเลือกถิ่นฐานเดิม เพื่อตั้งราชธานีปกครองอาณาจักรเขมร เชื่อว่าคือ “เมืองพิมาย” ก่อนที่เชื้อสายของสายมหิธรปุระจะย้ายเมืองหลวงกลับไปยังเมืองพระนคร สร้างสิ่งมหัศจรรย์ของโลกคือ ปราสาทนครวัด

ในขณะที่รศ. ดร. รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล ได้เสนอแนวคิดว่า ประติมากรรมสำริดโกลเด้นบอย อาจเป็นรูปสนองพระองค์ของพระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ 2 เนื่องจากการนุ่งผ้าของประติมากรรมโกลเด้นบอยไม่เหมือนกับภาพสลักที่ปราสาทพิมายและเหมือนกับประติมากรรมที่ปราสาทสระกำแพงใหญ่ ปราสาทที่เชื่อมโยงกับพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 พระราชบิดาของพระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ 2 ซึ่งเก่าแก่กว่ายุคของพระเจ้าชัยวรมันที่ 6

อีกทั้งประติมากรรมสำริดโกลเด้นบอยยังมีรูปแบบศิลปะเหมือนกับประติมากรรมนารายณ์บรรทมสินธุ์ ที่พบในปราสาทแม่บุญตะวันตก ประเทศกัมพูชา ซึ่งประติมากรรมชิ้นนี้มีข้อมูลระบุว่า หล่อขึ้นในสมัยพระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ 2[2]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "ใครคือ "Golden Boy" ? รู้จักพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 ต้นวงศ์มหิธรปุระแห่งพิมาย". ศิลปวัฒนธรรม. 2024-05-18.
  2. ""Golden Boy" ประติมากรรมสำริดกะไหล่ทอง รูปสนองพระองค์ "พระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ 2"". ศิลปวัฒนธรรม. 2024-05-26.