พระโพธิสัตว์
ส่วนหนึ่งของชุดบทความ |
ศาสนาพุทธ |
---|
พระโพธิสัตว์ (สันสกฤต: बोधिसत्त्व bodhisattva; บาลี: बोधिसत्त bodhisatta) หมายถึง ผู้ที่จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า[1] คำว่า "โพธิสัตว์" แปลว่า ผู้ข้องอยู่ในพระโพธิญาณ[2]
ทั้งฝ่ายเถรวาทและมหายานเชื่อว่ามีพระโพธิสัตว์เป็นจำนวนมาก แต่รายละเอียดความเชื่อแตกต่างกันไป
คำศัพท์
[แก้]พระโพธิสัตว์ มีภาษาต่าง ๆ มีดังนี้[3]
- สันสกฤต = โพธิสตฺตฺว (बोधिसत्त्व)
- บาลี = โพธิสตฺต
- ภาษาจีน = 菩萨 (ผูซ่า) ซึ่งย่อจากทับศัพท์ 菩提薩埵 (ผูถีซ่าตั่ว)
- ญี่ปุ่น = 菩薩 (bosatsu)
- เกาหลี = 보살 (bosal โพซัล/-โบซัล)
- ทิเบต = changchub sempa (byang-chub sems-dpa')
- เวียดนาม = Bồ Tát โบ่ต๊าด
- อักษรโรมัน โดยทั่วไป สะกด "Bodhisattva"
การสร้างบารมี
[แก้]ประเภทของพระโพธิสัตว์
[แก้]พระธัมมปาละ ระบุไว้ในอรรถกถาสโมทานกถา (ในปรมัตถทีปนี) ว่าพระโพธิสัตว์มี 3 ประเภท คือ[4]
- พระมหาโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์ผู้บำเพ็ญบารมีเพื่อให้ได้ตรัสรู้เป็นพระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้า
- พระปัจเจกโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์ผู้บำเพ็ญบารมีเพื่อให้ได้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า
- พระสาวกโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์ผู้บำเพ็ญบารมีเพื่อให้ได้เป็นพระอนุพุทธะ
นอกจากนี้ ในอรรถกถาเถรคาถา (ในปรมัตถทีปนี) พระธัมมปาละยังจำแนกพระมหาโพธิสัตว์ออกเป็นอีก 3 ประเภท[5] คือ
- ปัญญาธิกโพธิสัตว์ คือพระโพธิสัตว์ที่สร้างบารมีโดยใช้ปัญญาเป็นตัวนำ ระยะเวลาการสร้างบารมีทั้งหมด 20 อสงไขยกับเศษแสนมหากัป คือตั้งความปรารถนาอยู่ในใจเป็นเวลา 7 อสงไขย หลังจากนั้นจึงออกปากกล่าววาจาต่อหน้าพระพักตร์พระพุทธเจ้าเป็นเวลา 9 อสงไขย รวมเป็น 16 อสงไขย และได้รับพุทธพยากรณ์ครั้งแรกเป็น พระนิยตโพธิสัตว์ เมื่อเหลือเวลาอีก 4 อสงไขยกับเศษแสนมหากัป เป็นการสร้างบารมีอย่างยิ่งและเข้มงวดขึ้นเรื่อย และได้รับพยากรณ์ซ้ำมาตลอดเมื่อได้พบกับพระพุทธเจ้าจนถึงสมัยพุทธภูมิของท่าน
- สัทธาธิกโพธิสัตว์ คือพระโพธิสัตว์ที่สร้างบารมีโดยใช้ศรัทธาเป็นตัวนำ ระยะเวลาการสร้างบารมีทั้งหมด 40 อสงไขยกับเศษแสนมหากัป คือตั้งความปรารถนาอยู่ในใจเป็นเวลา 14 อสงไขย หลังจากนั้นจึงออกปากกล่าววาจาต่อหน้าพระพักตร์พระพุทธเจ้าเป็นเวลา 18 อสงไขย รวมเป็น 32 อสงไขย และได้รับพุทธพยากรณ์ครั้งแรกเป็น พระนิยตโพธิสัตว์ เมื่อเหลือเวลาอีก 8 อสงไขยกับเศษแสนมหากัป เป็นการสร้างบารมีอย่างยิ่งและเข้มงวดขึ้นเรื่อย และได้รับพยากรณ์ซ้ำมาตลอดเมื่อได้พบกับพระพุทธเจ้า จนถึงสมัยพุทธภูมิของท่าน
- วิริยาธิกโพธิสัตว์ คือพระโพธิสัตว์ที่สร้างบารมีโดยใช้วิริยะเป็นตัวนำ ระยะเวลาการสร้างบารมีทั้งหมด 80 อสงไขยกับเศษแสนมหากัป คือตั้งความปรารถนาอยู่ในใจเป็นเวลา 28 อสงไขย หลังจากนั้นจึงออกปากกล่าววาจาต่อหน้าพระพักตร์พระพุทธเจ้าเป็นเวลา 36 อสงไขย รวมเป็น 64 อสงไขย และได้รับพุทธพยากรณ์ครั้งแรกเป็น พระนิยตโพธิสัตว์ เมื่อเหลือเวลาอีก 16 อสงไขยกับเศษแสนมหากัป เป็นการสร้างบารมีอย่างยิ่งและเข้มงวดขึ้นเรื่อย และได้รับพยากรณ์ซ้ำมาตลอดเมื่อได้พบกับพระพุทธเจ้า จนถึงสมัยพุทธภูมิของท่าน
ตามหลักฐานที่ปรากฏในอรรถกถาพบว่า ยิ่งใช้เวลาในการบำเพ็ญบารมีนานเท่าใด พระโพธิสัตว์จะมีพระชนมายุยืนขึ้นในสมัยที่ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า รวมทั้งสัตว์ที่เกิดในยุคนั้นจะมีอายุยืน และบรรลุธรรมได้ง่ายและมีจำนวนมาก แต่ไม่ประกันว่าศาสนาของพระองค์จะยืนยาวหลายชั่วอายุขัย เช่น พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบันนี้ มีพระนามว่า พระโคตมพุทธเจ้า พระองค์ทรงสร้างบารมีมาทาง ปัญญาธิกโพธิสัตว์ มีพระชนมายุเพียง 80 พรรษา พระวรกายสูง 4 ศอก หรือ 2 เมตร บำเพ็ญทุกรกิริยา 6 ปี พุทธรังสีสร้านไปข้างละ 1 วาเป็นปกติ มนุษย์สมัยพระองค์มีอายุขัย 100 ปี แต่ในอนาคต เมื่อมนุษย์มีอายุขัย 80,000 ปี จะมีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามพระศรีอริยเมตไตรย[6] ทรงสร้างบารมีมาทาง"วิริยาธิกะพุทธเจ้า" มีพระวรกายสูงได้ 88 ศอก หรือ 44 เมตร บำเพ็ญทุกกิริยาชาติสุดท้าย 7 วัน พระพุทธรัศมีของพระองค์แผ่ซ่านตลอดไปเบื้องบนจนถึงพรหมโลก เบื้องต่ำตลอดลงไปจนถึงมหาอเวจีนรก
ส่วนเหตุที่ทำให้พระสัจธรรมตั้งอยู่ได้นานหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับความผ่อนคลายของพระพุทธเจ้าในการแสดง และพระวินัยที่ได้ทรงบัญญัติไว้[7]
ส่วนพระพุทธโฆสะแบ่งพระโพธิสัตว์ออกเป็น 2 ประเภทคือ[2]
- อนิยตโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์ที่ยังไม่ได้รับพยากรณ์จากพระพุทธเจ้าองค์ก่อนมาเลย เรียกว่า อนิยตโพธิสัตว์ ความหมายคือยังไม่แน่นอนว่าจะได้เป็นพระพุทธเจ้า เพราะอาจจะเลิกล้มความปรารถนาเมื่อไรก็ได้
- นิยตโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์ที่ได้รับพยากรณ์จากพระพุทธเจ้าองค์ก่อนมาแล้ว เรียกว่า นิยตโพธิสัตว์ ตามความหมายคือจะได้เป็นพระพุทธเจ้าอย่างแน่นนอน เพราะถ้าถึงนิพพานต้องดำรงฐานะเป็นพระพุทธเจ้าอย่างเดียว แต่ถ้าบารมีและเวลายังไม่สมบูรณ์ แม้ว่าจะพยายามปฏิบัติอย่างยิ่งยวดบังเกิดปัญญาอย่างเยี่ยมยอด ก็ไม่สามารถถึงนิพพานก่อนได้ แม้จะทุกข์ท้อแท้ จนคิดว่าเลิกที่จะเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว แต่แล้วในที่สุดมหากุศลที่เป็นอนุสัย ก็จะพุ่งกระจายขึ้นมาให้ตั้งมั่นและบำเพ็ญบารมีกันต่อ จนกว่าบารมีและเวลาสมบูรณ์
บารมี 30 ทัศ
[แก้]บารมี หมายถึง การกระทำที่ประเสริฐ การกระทำที่ประกอบด้วยกุศลเจตนาคุณงามความดีที่ควรกระทำ คุณงามความดีที่ได้บำเพ็ญมา คุณสมบัติที่ทำให้ยิ่งใหญ่ เป็นธรรมส่วนหนึ่งที่สำคัญ ซึ่งช่วย เหลือเกื้อกูลให้ผู้ปฏิบัติได้ถึงซึ่งโพธิญาณ
บารมีที่พระโพธิสัตว์บำเพ็ญ คือ[3]
- 1. ทานบารมี หมายถึง การสละออก การให้ต่างๆ โดยมีเจตนาช่วยเหลือผู้อื่นเป็นสำคัญ
- 2. ศีลบารมี หมายถึง การรักษาศีลให้เป็นปกติ หากเป็นฆราวาสหมายถึงการถือศีล 5 หากเป็นนักบวชคือการถือศีล 8 ขึ้นไป
- 3. เนกขัมมะบารมี หมายถึง การออกบวช หากฆราวาสถือศีล 8 ก็นับเป็นเนกขัมบารมีได้เช่นกัน เพราะเป็นการกระทำเพื่อเว้นจากกามสุข
- 4. ปัญญาบารมี หมายถึง การกระทำเพื่อเพิ่มพูนปัญญา ปัญญาแบ่งออกเป็นปัญญาทางโลกและทางธรรม เนื่องจากพระโพธิสัตว์จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตตกาล จึงต้องมีปัญญาความรู้มาก เพื่อจะได้สั่งสอนสัตว์ให้พ้นจากทุกข์ได้ การเรียนของพระโพธิสัตว์จึงต้องเรียนมากกว่าผู้อื่น
- 5. วิริยะบารมี หมายถึง การกระทำที่ใช้ความเพียรเป็นที่ตั้ง การมีวิริยะอาจไม่ได้หมายถึงการเพียรจนกระทั่งตัวตายในครั้งเดียว แต่หมายถึงมีความพยายามทำอยู่เรื่อยๆ ทำไปทีละน้อยตามกำลังจนกว่าจะสำเร็จ
สัมมัปปธานหรือความเพียรที่ถูกต้อง มี 4 อย่างคือ
- o สังวรปธาน เพียรระวังไม่ให้บาปเกิดขึ้น
- o ปหานปธาน เพียรละบาปที่เกิดขึ้นแล้ว
- o ภาวนาปธาน เพียรทำบุญให้เกิดขึ้น
- o อนุรักขนาปธาน เพียรรักษาการทำบุญไว้ต่อเนื่อง
- 6. ขันติบารมี หมายถึง การอดทนอดกลั้นต่อสิ่งต่างๆ
- 7. สัจจะบารมี หมายถึง การรักษาคำพูด ไม่กลับกลอก แม้ว่าจะต้องสละบางสิ่งเพื่อรักษาคำพูดไว้
- 8. อธิษฐานบารมี หมายถึง การตั้งมั่นในความปรารถนา ตั้งจิตมั่นต่อคำอธิษฐาน
- 9. เมตตาบารมี หมายถึง การมีความปรารถดี มีความรักต่อสัตว์ทั้งหลายในโลกอย่างเท่าเทียม ประดุจมารดารักบุตร เมตตาแตกต่างจากราคะตรงที่ ราคะอาจรักเฉพาะตัวหรือพวกพ้อง แต่เมตตาเป็นรักที่ไม่แบ่งแยก
- 10. อุเบกขาบารมี หมายถึง การวางเฉย มีใจเป็นกลาง การปล่อยวางในสิ่งที่ผิดพลาด ในสิ่งที่แก้ไขไม่ได้ วางเฉยในความทุกข์ของตน และสัตว์ที่ช่วยไม่ได้ เนื่องจากมีปัญญาเห็นว่าสัตว์ทั้งหลายย่อมเป็นไปตามกรรมของตน ไม่มีใครได้รับความยากลำบากโดยไม่มีเหตุปัจจัย ล้วนแล้วแต่เป็นกรรมที่เคยทำมาทั้งสิ้น
ซึ่งในแต่ละบารมีนั้นแบ่งย่อยเป็น 3 ขั้น ได้แก่
- บารมีขั้นต้น คือ เนื่องด้วยวัตถุ และทรัพย์นอกกาย เช่น การสละทรัพย์ช่วยผู้อื่น จัดเป็น ทานบารมี, รักษาศีลแม้ว่าจะต้องสูญเสียทรัพย์สินเงินทอง จัดเป็น ศีลบารมี, หรือ ยอมถือบวชโดยไม่อาลัยในทรัพย์สิน จัดเป็น เนกขัมบารมี เป็นต้น
- บารมีขั้นกลางหรืออุปบารมี คือ เนื่องด้วยเลือดเนื้อ อวัยวะ เช่น การสละเลือดเนื้ออวัยวะแก่ผู้อื่น จัดเป็น ทานอุปบารมี, การใช้ปัญญารักษาอวัยวะเลือดเนื้อของผู้อื่น จัดเป็น ปัญญาอุปบารมี ,การมีความเพียรจนไม่อาลัยในเลือดเนื้อหรืออวัยวะ จัดเป็น วิริยะอุปบารมี, มีเมตตาต่อผู้ที่จะมาทำร้ายเลือดเนื้ออวัยวะของตน จัดเป็น เมตตาอุปบารมี, หรือ มีความอดทนอดกลั้นต่อผู้ที่จะมาทำลายอวัยวะของตน จัดเป็น ขันติอุปบารมี เป็นต้น
- บารมีขั้นสูงสุดหรือปรมัตถบารมี คือ เนื้องด้วยชีวิต เช่น การสละชีวิตเป็นทานแก่ผู้อื่น จัดเป็น ทานปรมัตถบารมี , ยอมสละแม้ชีวิตเพื่อจะรักษาคำพูด จัดเป็น สัจจปรมัตถบารมี, ตั้งจิตไม่หวั่นไหวต่อคำอธิษฐานแม้จะต้องเสียชีวิต จัดเป็น อธิษฐานปรมัตถบารมี, หรือ วางเฉยต่อผู้ที่จะมาทำร้ายชีวิตของตน จัดเป็น อุเบกขาปรมัตถบารมี เป็นต้น
ดังนั้น จึงรวมเป็นบารมี 30 ทัศ
คุณสมบัติและอัธยาศัยของพระโพธิสัตว์
[แก้]อานิสงส์ของการเป็นพระนิยตโพธิสัตว์
[แก้]คัมภีร์วิสุทธชนวิลาสินี กล่าวว่าพระนิยตโพธิสัตว์ (ผู้ได้รับพุทธพยากรณ์แล้ว) จะได้อานิสงส์ 18 อย่างอยู่ตลอดจนได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ได้แก่[8]
- ไม่ตาบอด หูหนวก มาแต่กำเนิด
- ไม่เป็นคนบ้า
- ไม่เป็นคนใบ้
- ไม่เป็นคนง่อยเปลี้ย ไม่เกิดในมิลักขประเทศคือประเทศป่าเถื่อน
- ไม่เกิดในท้องนางทาส (ไม่เป็นทาสในเรือนเบี้ย)
- ไม่เป็นนิยตมิจฉาทิฐิ
- ไม่เปลี่ยนแปลงเพศ
- ไม่ทำอนันตริยกรรม
- ไม่เป็นโรคเรื้อน
- ไม่เป็นเดรัจฉานที่มีกายเล็กกว่านกกระจาบ และไม่โตกว่าช้าง
- ไม่เกิดเป็นขุปปิปาสิกเปรตและนิชฌานตัณหิกเปรต
- ไม่เกิดเป็นกาลกัญชิกาสูร
- ไม่เกิดในอเวจีนรก
- ไม่เกิดในโลกันตริกนรก
- ไม่เกิดเป็นมาร
- ไม่เกิดในอสัญญสัตตาภูมิ
- ไม่เกิดในสุทธาวาสภูมิ
- ไม่เกิดในอรูปภูมิและไม่เกิดในจักรวาลอื่น
อานิสงส์พิเศษอีกอย่างหนึ่งของนิยตโพธิสัตว์ คือ การทำอธิมุตตกาลกริยา คือเมื่อท่านเกิดเป็นเทวดาหรือพระพรหม เกิดความเบื่อหน่าย ในการเสวยสุขนั้น ปรารถนาที่จะสร้างบารมีในโลกมนุษย์ ท่านก็สามารถทำการอธิมุตต คืออธิษฐานให้จุติ (ตายจากการเป็นเทพ) มาเกิดเป็นมนุษย์ได้ทันที ได้โดยง่าย ซึ่งเหล่าเทพเทวดาอื่นๆ ไม่สามารถทำอย่างนี้ได้
ธรรมสโมธาน 8 ประการ
[แก้]สำหรับพระโพธิสัตว์ ที่เป็น อนิยตโพธิสัตว์ แต่สร้างบารมี 30 ทัศ และมีธรรมสโมธาน 8 ประการสมบูรณ์แล้ว ได้รับพุทธพยากรณ์เป็นครั้งแรกเฉพาะพระพักตร์พุทธเจ้า โดยจะได้รับพุทธพยากรณ์โดยนัยว่า จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น ทรงนามว่าอย่างนั้น ในกัปอันเป็นอนาคตที่เท่านั้น และก็จะกลายเป็น นิยตโพธิสัตว์ ทันที คือเป็นพระโพธิสัตว์ที่เที่ยงแท้ ที่จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าอย่างแน่นอน ธรรมสโมธาน 8 ประการคือ
- ได้เกิดเป็นมนุษย์
- เป็นบุรุษเพศ
- มีอุปนิสสัยปัจจัยแห่งพระอรหันต์รุ่งเรืองอยู่ในขันธสันดาน (ถ้าเกิดเปลี่ยนใจก็จะเป็นพระอรหันต์ทันที)
- ต้องพบพระพุทธเจ้าขณะมีพระชนม์ชีพอยู่ และได้สร้างกองบุญกุศลต่อหน้าพระพักตร์
- ต้องเป็นบรรพชิต หรือต้องเป็น โยคี ฤๅษี ดาบส หรือปริพาชกในศาสนาหรือลัทธิกรรมวาทีหรือกิริยาวาที ที่เชื่อว่า บุญมี บาปมี ทำบุญได้บุญ ทำบาปได้บาป ต้องไม่เป็นคฤหัสถ์ผู้ครองเรือน
- ต้องมีอภิญญาและฌานสมาบัติ อันเชี่ยวชาญ
- เคยให้ชีวิตของตนเป็นทาน เพื่อสัมโพธิญาณมาก่อนในอดีตชาติ
- ต้องมี ฉันทะ คือมีความรักความพอใจในพุทธภูมิเป็นกำลัง
กล่าวถึงพุทธภูมิธรรมของนิยตโพธิสัตว์ ในการเพิ่มพูนบารมีให้มากยิ่งขึ้น มีน้ำใจประกอบไปด้วย พุทธภูมิธรรม 4 ประการ คือ
- อุสสาโห คือประกอบไปด้วยพระอุตสาหะ มีความเพียรอันสลักติดแน่นในจิตใจอย่างมั่นคง
- อุมัตโต คือประกอบด้วยปัญญา มีปัญญาเชียวชาญเฉียบคม
- อวัตถานัง คือมีพระทัยอธิษฐานอันมั่นคง มิได้หวั่นไหวคลอนแคลน
- หิตจริยา คือประกอบไปด้วยพระเมตตา เจริญจิตอยู่ด้วยพรหมวิหารเป็นปกติ
อัธยาศัย ที่ทำให้พระโพธิญานของนิยตโพธิสัตว์แก่กล้ายิ่งขึ้น มี 6 ประการ
- เนกขัม พอใจในการรักษาศีล การบวช หรือบรรพชา
- วิเวก พอใจอยู่ในที่สงบ
- อโลภ พอใจในการบริจาคทาน
- อโทส พอใจในความไม่โกรธ เจริญเมตตา
- อโมห พอใจในการพิจารณาคุณและโทษ เจริญปัญญา
- นิพพาน พอใจที่ยกตนออกจากภพ ไม่ยินดีในการเวียนว่ายตายเกิด ประสงค์นิพพานเป็นอย่างยิ่ง
จริยธรรม 10 ประการ
[แก้]จริยธรรม 10 ประการของพระโพธิสัตว์ ประกอบด้วย[3]
- พระโพธิสัตว์ ไม่ปรารถนาเลยว่า ร่างกายจะไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ
- พระโพธิสัตว์ ครองชีพโดยไม่ปรารถนาว่าจะไม่มีภัยอันตราย
- พระโพธิสัตว์ ไม่ปรารถนาเลยว่า จะไม่มีอุปสรรคในการชำระจิตใจให้บริสุทธิ์
- พระโพธิสัตว์ ไม่ปรารถนาเลยว่า จะไม่มีมารขัดขวางการปฏิบัติภารกิจ
- พระโพธิสัตว์ ถือว่าทำงานให้นานที่สุด โดยไม่ปรารถนาจะให้สำเร็จผลเร็ว
- พระโพธิสัตว์ คบเพื่อน โดยไม่ปรารถนาจะได้รับผลประโยชน์จากเพื่อน
- พระโพธิสัตว์ ไม่ปรารถนาว่า จะให้คนอื่นต้องตามใจตนเองเสมอไปทุกอย่าง
- พระโพธิสัตว์ ทำความดีกับคนอื่น โดยไม่ปรารถนาสิ่งตอบแทน
- พระโพธิสัตว์ เห็นลาภแล้ว ไม่ปรารถนาว่าจะได้รับ
- พระโพธิสัตว์ เมื่อถูกใส่ร้ายป้ายสี ติเตียนนินทาแล้ว ไม่ปรารถนาที่จะตอบโต้
คุณสมบัติของพระโพธิสัตว์
[แก้]คุณสมบัติของพระโพธิสัตว์มีอยู่ 3 ข้อใหญ่[3]
- มหาปรัชญาหรือปัญญาอันยิ่งใหญ่ หมายความว่าจะต้องเป็นผู้มีปัญญาเห็นแจ้งในสัจธรรม ไม่ตกเป็นทาสของกิเลส
- มหากรุณา หมายความว่าจะต้องเป็นผู้มีจิตกรุณาต่อสัตว์ทั้งหลายอย่างปราศจากขอบเขต พร้อมที่จะสละตนเองเพื่อช่วยสัตว์ให้พ้นทุกข์
- มหาอุปาย หมายความว่าพระโพธิสัตว์จะต้องมีวิธีการชาญฉลาดในการแนะนำ อบรมสั่งสอนผู้อื่นให้เข้าถึงสัจธรรม
คุณสมบัติทั้งสามข้อนี้ เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน ข้อแรกเป็นการบำเพ็ญประโยชน์ตนให้ถึงพร้อม ส่วนข้อหลัง 2 ข้อเป็นการบำเพ็ญประโยชน์เพื่อผู้อื่น
มหาปณิธาน 4
[แก้]มหาปณิธาน 4 ประกอบด้วย [3]
- เราจะละกิเลสให้หมด
- เราจะศึกษาสัจธรรมให้จบ
- เราจะช่วยโปรดสัตว์ทั้งหลายให้สิ้น
- เราจะบรรลุพระพุทธภูมิอันประเสริฐสุด
รายนามพระโพธิสัตว์
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554. กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2556. 1,544 หน้า. หน้า 852. ISBN 978-616-7073-56-9
- ↑ 2.0 2.1 ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรมศัพท์ศาสนาสากล อังกฤษ-ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. พิมพ์ครั้งที่ 3, กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2552. 734 หน้า. หน้า 108-11. ISBN 978-616-7073-03-3
- ↑ 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 ผาสุข อินทราวุธ. พุทธปฏิมาฝ่ายมหายาน. กทม. โรงพิมพ์อักษรสมัย. 2543. หน้า 83-84
- ↑ ปกิณณกคาถา, อรรถกถา ขุททกนิกาย จริยาปิฎก สโมธานกถา
- ↑ นิทานกถาวรรณนา, อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา เอกกนิบาต ปฐมวรรค ว่าด้วยคาถาสุภาษิต ในเอกกนิบาต วรรคที่ ๑
- ↑ จักกวัตติสูตร} พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๑ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๓ ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค
- ↑ พระสารีบุตรทูลถามถึงเหตุที่ทำให้พรหมจรรย์ดำรงอยู่นานและไม่นาน, พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, เล่ม 1, หน้า 11-12
- ↑ พรรณนาปัจเจกพุทธาปทาน, อรรถกถา ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๑ เถราปทาน ๑. พุทธวรรค ๒. ปัจเจกพุทธาปทาน
ดูเพิ่ม
[แก้]แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- Who Are Bodhisattvas? เก็บถาวร 2011-08-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, an excerpt from Lankavatara Sutra
- The Thirty-Seven Practices of Bodhisattvas เก็บถาวร 2007-06-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, all-in-one page with memory aids & collection of different versions.
- What A Bodhisattva Does: Thirty-Seven Practices by Ngulchu Thogme เก็บถาวร 2006-07-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน with slide show format.
- Access to Insight Library: Bodhi's Wheel409
- The Genesis of the Bodhisattva Ideal เก็บถาวร 2011-09-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน by Bhikkhu Analayo (PDF Document; 5,8 MB)