ข้ามไปเนื้อหา

ประวัติศาสตร์เพชรบุรี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

สมัยฟูนัน

[แก้]

นักโบราณคดีไทยได้แบ่งสมัยแห่งประวัติศาสตร์ในประเทศไทยไว้เป็น 3 ยุคคือ

สมัยหัวเลี้ยวประวัติศาสตร์ คือ ยุคสุวรรณภูมิซึ่งมีอาณาจักรฟูนาน เริ่มแต่พุทธศตวรรษที่ 6 - 12 นั้น หนังสือ “สมุดเพชรบุรี” กล่าวว่ามีความเชื่อตาม ดร.จัง บัวเซอร์ ลิเอร์ (Jean Boisselier) ว่าอาณาจักรนี้มีอาณาเขตตั้งแต่แถบลุ่มน้ำเจ้าพระยาตลอดไปถึงลุ่มแม่น้ำโขงตอนกลางและเวียดนามใต้ทั้งนี้ เพราะได้ขุดพบโบราณวัตถุหลายอย่างแสดงว่าเป็นแหล่งและสมัยเดียวกัน และยังเชื่อว่าอาณาจักรนี้จะต้องคลุมถึงราชบุรี เพชรบุรี ตลอดไปจนถึงชุมพรโดยได้สันนิษฐานว่าเมื่อปี พ.ศ. 2518 ชาวบ้านได้ขุดพบโบราณวัตถุต่าง ๆ เช่น ลูกปัด ศิวลึงค์ ฐานตั้งศิวลึงค์ ที่เขาสามแก้ว อำเภอเมืองชุมพร โดยเฉพาะลูกปัดเป็นชนิดเดียวกัน นอกจากนี้ได้พบลูกปัดสมัยทวารวดีอีกเป็นจำนวนมาก จึงได้สันนิษฐานว่าเมืองเพชรบุรีคงอยู่ในอาณาจักร ดังกล่าวว่าดังงงงงงง

สมัยทวารวดี

[แก้]

อาณาจักรทวารวดีอยู่ในสมัยพุทธศตวรรษที่ 11 - 16 อาณาจักรนี้มีกล่าวไว้ใน จดหมายเหตุจีนและจดหมายเหตุการเดินทางของหลวงจีน เรียกอาณาจักรนี้ว่า ตุยลอปาตี หรือ สุ้ยล้อปึ๊งตี๋ ซึ่งรวมเมืองราชบุรี เพชรบุรี คูบัว พงตึก นครปฐมกำแพงแสน ลพบุรี นครสวรรค์ ลำพูน ฯลฯ นักโบราณคดีเชื่อกันว่า ชนชาติที่อาศัยอยู่ในแถบนี้เป็นชนชาติมอญ ศิลปวัฒนธรรมที่ได้พบในภาคกลางโดยเฉพาะที่เพชรบุรี ราชบุรี นครปฐม ส่วนใหญ่เป็นศิลปะที่มีฝีมือดีกว่าแถบอื่น (ผู้เขียนเชื่อว่าอาณาจักรนี้เลยลงไปถึงเมืองปราณบุรี และชุมพรดังหลักฐานที่ได้กล่าวมาแล้ว) สำหรับเมืองหลวงของอาณาจักรนี้ บ้างก็ว่าเป็นนครปฐม บ้างก็ว่าเป็นเมืองอู่ทอง เพราะทั้งสองแห่งได้พบโบราณสถานขนาดใหญ่

  • จากตำนานเมืองนครศรีธรรมราชกล่าวไว้ว่า พระพนมทะเลศรีมเหสวัสดิทราธิราชพระบวรเชษฐพระราชกุมาร อันเป็นพระราชนัดดา ได้ลาพระเจ้าปู่พระเจ้าย่ามาตั้งบ้านเมืองอยู่ ณ เพชรบุรี โดยได้นำคนมาสามหมื่นสามพันคน ช้างพังทลายห้าร้อยเชือก ม้าเจ็ดร้อยตัว สร้างพระราชวังและบ้านเรือนอยู่หน้าพระลาน ให้คนเหล่านั้นทำนาเกลือ ครองราชย์อยู่กรุงเพชรบุรีไม่นานนัก มีสำเภาจีนลำหนึ่งถูกพายุมาเกยฝั่ง ชาวเพชรบุรีได้นำขุนล่ามจีนเข้าเฝ้า ขุนล่ามได้ถวายเครื่องราชบรรณาการแก่กษัตริย์เมืองเพชรบุรี ขุนล่ามจีนได้ขอฝาง ทางเมืองเพชรบุรีได้มอบฝางให้จนเต็มเรือ เมื่อเรือกลับถึงเมืองจีน พระเจ้ากรุงจีนทรงทราบจึงโปรดพระราชทานบุตรีชื่อ พระนางจันทรเทวีศรีบาทราชบุตรีทองสมุทร ซึ่งประสูติแต่นางจันทรเมาลีศรีบาทนาถสุรวงศ์พระธิดาเจ้าเมืองจำปาได้ถวายแก่พระเจ้ากรุงจีน พระพนมทะเลศรีมเหสวัสดิทราธิราชทรงมี พระราชบุตรหลายพระองค์ องค์หนึ่งพะนามว่าพระพนมวังมีมเหสีทรงพระนามว่าพระนาง สะเดียงทอง พระพนมทะเลโปรดให้ไปสร้างเมืองนครดอนพระ พร้อมด้วยพระเจ้าศรีราชา พระราชทานคนเจ็ดร้อยคน แขกห้าร้อยคน ช้างสามร้อยเชือก ม้าสองร้อยตัว เมื่อไปถึงเมืองและสร้างพระธาตุ จากตำนานเรื่องนี้แสดงว่า เมืองเพชรบุรีได้เจริญรุ่งเรืองและเป็นเมืองหลวง เป็นเมืองสำคัญเมืองหนึ่ง พระโอรสของกษัตริย์เมืองนี้ได้ไปสร้างเมืองศิริธรรมนครหรือนครศรีธรรมราชและสร้างพระบรมธาตุเมืองนครด้วย

จากคำให้การของชาวกรุงเก่าได้กล่าวถึงพระเจ้าอู่ทองสร้างเมืองเพชรบุรีไว้ว่า พระอินทราชาซึ่งเป็นเชื้อพระวงศ์ของพระเจ้าชาติราชาได้ครองเมืองสิงห์บุรี พระอินทราชาไม่มีโอรส จึงทรงมอบราชสมบัติให้พระราชอนุชาครองราชสมบัติแทน พระนามว่าพระเจ้าอู่ทอง ส่วน พระองค์ได้เสด็จไปซ่อมแปลงเมืองเพชรบุรีเป็นเมืองหลวง บ้างก็กล่าวว่าพระองค์ถูกพระอนุชาและพระมเหสีคบคิดกันจะลอบปลงพระชนม์ พระองค์จึงหนีไปสร้างเมืองเพชรบุรี ต่อมาทรงได้พระราชโอรสองค์หนึ่งทรงพระนามว่า พระอู่ทอง ตามชื่อพระเจ้าอา พระโอรสองค์นี้ประสูติแต่พระมเหสีชื่อ มณีมาลา เมื่อพระอู่ทองมีพระชนม์ได้ 16 พรรษา พระอินทราชาสวรรคต พระองค์จึงได้ขึ้นครองราชย์ ทรงพระนามว่า พระเจ้าอู่ทอง มเหสีทรงพระนามว่า พระนางภูมมาวดีเทวี

  • ในศักราช 1196 พระเจ้าอู่ทองได้ทรงแบ่งเขตแดนกับพระเจ้าศรีธรรมโศกราช เจ้าเมืองศิริธรรมนคร โดยใช้แท่นหินเป็นเครื่องหมาย ทางเหนือเป็นของพระเจ้าอู่ทอง ทางใต้เป็นของพระเจ้าศรีธรรมโศกราช และทั้งสองประเทศจะเป็นไมตรีเสมอญาติกัน หากพระเจ้าศรีธรรมโศกราชสิ้นพระชนม์เมื่อใด ก็ขอฝากนางพญาศรีธรรมโศกราช พญาจันทรภานุและพญา-พงศ์สุราหะพระอนุชาด้วยทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนสินค้ากัน โดยทางฝ่ายเพชรบุรีส่งเกลือไปให้ ทางเมืองนครศรีธรรมราชส่งหวาย แซ่ม้าเชือก เป็นต้น มาให้พระเจ้าศรีธรรมโศกราชฯ ให้ซ่อมแปลงพระธาตุและส่งเครื่องราชบรรณาการและพระราชสาส์นมายังพระเจ้าอู่ทอง พระองค์โปรดฯ ให้นำเครื่องไทยทานไปยังเมืองนครศรีธรรมราช
  • ต่อมาเมืองเพชรบุรีเกิดข้าวยากหมากแพง ราษฎรอดอยาก เกิดโรคภัยไข้เจ็บ พระเจ้าอู่ทองจึงทรงหาที่ตั้งเมืองใหม่ โดยทรงตกลงสร้างเมืองขึ้น ณ ตำบลหนองโสน ซึ่งตรงกับสมัยพระเจ้าปทุมสุริยวงศ์ทรงสร้างนครอินทปัตย์ เมื่อ พ.ศ. 1111 เมื่อสร้างเมืองเสร็จแล้วทรง ตั้งชื่อว่ากรุงเทพมหานครบวรทวารวดีศรีอยุธยา มหาดิลกบวรรัตนราชธานีบุรีรมย์ และทรงสถาปนาพระองค์ใหม่ว่าพระเจ้ารามาธิบดีสุริยประทุมสุริยวงศ์
  • จากบันทึกของลาลูแบร์ได้กล่าวถึงกษัตริย์เมืองเพชรบุรีไว้ว่า ปฐมกษัตริย์สยามทรงพระนามว่าพระปฐมสุริยเทพนรไทยสุวรรณบพิตร ครองนครไชยบุรี พ.ศ. 1300 สืบราชสันติวงศ์มาสิบชั่วกษัตริย์ องค์สุดท้ายทรงพระนามว่าพญาสุนทรเทพมหาเทพราช โปรดฯ ให้ย้ายเมืองหลวงตั้งชื่อใหม่ว่าธาตุนครหลวง (Tasoo Nocorn Louang) ในปี พ.ศ. 1731 กษัตริย์องค์ที่ 12 สืบต่อมาจากพญาสุนทรฯ ทรงพระนามว่าพระพนมไชยศิริ พระองค์โปรดฯ ให้ราษฎรไปอยู่ ณ เมืองนครไทยทางตอนเหนือของเมืองพิษณุโลก ส่วนพระองค์เองไปสร้างเมืองใหม่ชื่อพิบพลี (Pipeli) ตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำสายหนึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา มีพระมหากษัตริย์สืบต่อมา 4 ชั่วกษัตริย์จนถึงองค์สุดท้ายทรงพระนามว่า รามาธิบดี ได้สร้างเมืองสยามขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1894 จากบันทึกนี้กับตำนานเมืองนครศรีธรรมราชมีส่วนคล้ายคลึงกันมาก เพียงแต่เพี้ยนนามเท่านั้น คือ พระพนมทะเลศรีมเหสวัสดิทราธิราชกับพระพนมไชยศิริ ส่วนองค์ที่สร้างกรุงศรี-อยุธยานั้นพระนามตรงกัน
  • อย่างไรก็ตาม เรื่องพระพนมไชยศิรินี้ บางตำนานได้กล่าวไว้ว่า เป็นเจ้าเมืองเวียง-ไชยปราการได้หนีข้าศึกมาจากเมืองสุธรรมวดี (สะเทิม) เมื่อ พ.ศ. 1547 ในตอนแรกจะอพยพครอบครัวไปทางทิศตะวันตกของแม่น้ำกก แต่ในขณะนั้นในแม่น้ำมีมาก จึงล่องใต้มายังตำบลหนึ่งแล้ว จึงสร้างเมืองขึ้นให้ชื่อว่า กำแพงเพชร และที่เมืองสุโขทัยยังมีเมืองๆ หนึ่งชื่อ เมืองเพชรบุรี อยู่ที่อำเภอคีรีมาศริมฝั่งคลองสาระบบ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าศึกษาอย่างยิ่ง
  • เรื่องเมืองเพชรบุรี หรืออาณาจักรเพชรบุรี เคยมีกษัตริย์ – ปกครองนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงให้ข้อคิดเห็นว่า เดิมเมื่อประมาณพันปีเศษมาแล้ว เมืองเพชรบุรีมีกษัตริย์ปกครองเช่นเดียวกับเมืองนครศรีธรรมราช มาจนถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นใหญ่ อำนาจของเมืองทั้งสองจึงตกแก่กรุงศรีอยุธยา อย่างไรก็ตาม ถ้าหากจะรวบรวมพระนามกษัตริย์อาณาจักรเพชรบุรีที่ปรากฏมี 6 พระนามคือ
  1. พระพนมทะเลศรีมเหนทราชาธิราช
  2. พระพนมไชยศิริ
  3. พระกฤติสาร
  4. พระอินทราชา
  5. พระเจ้าอู่ทอง
  6. เจ้าสาม

สมัยกรุงสุโขทัย

[แก้]
  • เมืองเพชรบุรีในสมัยสุโขทัยนั้น เข้าใจว่าเป็นอาณาจักรเล็กๆ อาณาจักรหนึ่งขึ้นตรงต่ออาณาจักรสุโขทัย จากบันทึกของจีนสมัยพระเจ้าหงวนสีโจ๊วฮ่องเต้ พ.ศ. 1837 กล่าวว่า “กัมจูยือตัง (กันจูเออตัน กมรเตง) แห่งเมืองปิกชิกฮั้นปูลีเฮียะ (ปีฉีปุลีเยะเพชรบุรี) ส่งทูตมาถวายเครื่องบรรณาการ” แต่จดหมายเหตุบางฉบับเขียนเป็น ปิกชิกปูลี หรือ ปิชะปูลี ซึ่งกล่าวถึงเมืองเพชรบุรี นอกจากนี้ยังได้กล่าวอีกว่า “ พระโองการชี้ชวนให้กันจูยือตัง (กันจูเออตัน,กมรเตง) เจ้าประเทศสยามมาเฝ้า มีกิจก็ให้ลูกน้องชายกับอำมาตย์มาเป็นตัวจำนำ” และใน พ.ศ. 1934 สมัยรัชกาลพระเจ้าฮ่งบู้ ประเทศริวกิวสยาม เปียกสิกโปบลี้ (เปะชีปาหลี่) กัศมิระ เข้าถวายบรรณาการ ข้อความนี้นายเลียง เสถียรสุต ผู้แปลโดยอธิบายว่า เมืองเปียกกสิกโปบลี้หรือเปะซีปากลี่ นั้นหมายถึงแคว้นโคถานในมงโกล แต่ผู้เขียนคิดว่าน่าจะเป็นเมืองเพชรบุรีมากกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับคำอื่นที่จีนได้บันทึกไว้ดังคำแรก ๆ ที่กล่าวไว้ข้างบนใน พ.ศ.ดังกล่าวจะตรงกับรัชสมัยพระมหาธรรมราชาที่ 2 ซึ่งครองราชย์ถึง พ.ศ. 1942
  • ในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช พระองค์ได้จารึกเรื่องราวในสมัยนั้นไว้ตอนหนึ่งได้กล่าวถึงพระราชอาณาเขตไว้ว่า “เบื้องตะวันออกรอดสระหลวงสองแควลุมบาจายสคาเท้าฝั่งโขงถึงเวียงจันเวียงคำเป็นที่แล้ว เบื้องหัวนอนรอดคนทีพระบาง แพรก สุพรรณภูมิ ราชบุรี เพชรบุรี ศรีธรรมราชฝั่งทะเลสมุทรเป็นที่แล้ว

ดูเพิ่ม

[แก้]