ตำนานเมืองนครศรีธรรมราช

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระบรมธาตุเจดีย์วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร

ตำนานเมืองนครศรีธรรมราช เป็นตำนานที่แต่งเป็นร้อยแก้ว มีลักษณะเป็นการบอกเล่าของท้องถิ่น ตำนานเมืองและตำนานพระธาตุผสมเข้ากับเหตุการณ์ช่วงปลายกรุงศรีอยุธยาถึงต้นรัตนโกสินทร์ เดวิด เค. วัยอาจระบุว่าตำนานเมืองนครศรีธรรมราชเป็นสำนวนที่เขียนในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช[1] ตำนานเมืองนครศรีธรรมราชน่าจะเป็นต้นเค้าให้กับตำนานอีกสองฉบับคือ ตำนานพระบรมธาตุเมืองนครศรีธรรมราชและตำนานพระบรมธาตุเมืองนครศรีธรรมราชฉบับกลอนสวด (นิพพานโสตร)

ตำนานเมืองนครศรีธรรมราชตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2481 หลวงทำนุนิกรราษฎร์จัดพิมพ์หนังสือเป็นที่ระลึกในงานประชุมเพลิงศพนางสามพร้อม ณ นคร ธิดาพระยาบริรักษ์ภูเบศ (เอี่ยม ณ นคร) ต้นฉบับเป็นสมุดไทยเก่าแก่ของกรมศิลปากร เขียนด้วยหมึกดำอักษรไทยย่อ บางส่วนชำรุดและลบเลือนแล้ว อย่างไรก็ดีในการตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2517 ระบุว่าจากการตรวจสอบกลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึกสำนักหอสมุดแห่งชาติ ไม่พบต้นฉบับสมุดไทย จึงได้พิมพ์ตามอักขรวิธีฉบับตีพิมพ์ครั้งแรก[2]

เนื้อหา[แก้]

เรื่องราวกล่าวถึงนครบุรีของท้าวโคศรีหราชและเมืองขันบุรีของท้าวอังคุตราช ทำศึกแย่งชิงพระทันตธาตุ (ฟัน) ท้าวโคศรีหราชให้นางเหมมาลาและเจ้าธนกุมารนำพระทันตธาตุหลบหนีไปที่เมืองลังกา ระหว่างทางเกิดสำเภาล่ม สองพี่น้องจึงรอนแรมเข้าไปพบกับหาดทรายแก้วจึงได้ฝังพระทันตธาตุไว้ ต่อมามีมหาเถรพรหมเทพเหาะมานมัสการพระทันตธาตุ สองพี่น้องจึงห่อพระทันตธาตุห่อเกล้าชฎา โดยเดินทางไปขึ้นสำเภาที่ท่าตรัง แต่เกิดเหตุอัศจรรย์สำเภาหนักเดินทางไปไม่ได้ เจ้าสำเภาคิดว่าสองพี่น้องนี้เป็นปัญหาจึงวางแผนฆ่า สองพี่น้องได้ระลึกถึงมหาเถรพรหมเทพให้มาช่วยเหลือ มหาเถรพรหมเทพได้แปลงเป็นครุฑเข้ามาช่วยเหลือ

หลังจากนั้น ข้อความในต้นฉบับก็ขาดหายไป จนถึงตอนที่นาคราชขึ้นมาถวายบังคมพระทันตธาตุ พระมหาเถรพรหมเทพ จึงทำนายว่าพระยาศรีธรรมาโศกราช จะมาตั้งเมืองที่หาดทรายแก้วและจะก่อสร้างพระเจดีย์องค์ใหญ่สูง 37 วา

เรื่องกล่าวถึงเมืองหนึ่งที่ใหญ่มาก ราชามีราชบุตร 2 คน ต่อมาไข้ยมบนระบาด เจ้าเมืองจึงอพยพผู้คนลงเรือสำเภามายังหาดทรายแก้ว นายพราน 8 คนได้พบหาดกว้างใหญ่และพบแก้วเท่าลูกหมากสุกจึงนำไปถวายเจ้าเมือง จากนั้นเจ้าเมืองจึงให้พระเถระ 4 รูป พร้อมด้วยไพร่พล 100 คน ลงไปยังเมืองลังกา เจ้าเมืองลังกาก็ให้พระพุทธคำเพียร เดินทางกลับมาพร้อมเถระ 4 รูป และมาปรึกษาและการตั้งเมืองกับพระยาศรีธรรมาโศกราช โดยให้พระพุทธคำเพียรได้กล่าวแก่พระยาศรีธรรมาโศกราชว่าให้ตั้งเมืองด้วยการจัดเกณฑ์คนในช่องห้วยช่องเขา แต่เกิดไข้ยมบนระบาดอีกครั้ง พระยาศรีธรรมาโศกราชจึงทิ้งรี้พลอพยพอีกหน

ต่อมาศักราชใดไม่ปรากฏเอกสารลบเลือน พระยาศรีธรรมาโศกราชได้สร้างเมืองขึ้นสำเร็จโดยคำปรึกษาของพระพุทธคำเพียร ระหว่างนั้นรู้ข่าวว่าพระพุทธสิหิงค์เสด็จออกจากเมืองลังกาล่องน้ำมาถึงเกาะปีนังจนถึงหาดทรายแก้ว

ต่อมามีนักเทศน์ถือราชสารจากมัธยมประเทศ แจ้งให้พระยาศรีธรรมาโศกราชก่อสร้างพระมหาธาตุแต่ยังไม่มีพระสารีริกธาตุ พระยาศรีธรรมาโศกราชจึงให้เสนาอำมาตย์ป่าวประกาศว่ามีผู้ใดรู้ที่ซ่อนพระสารีริกธาตุจะให้ทองเท่าลูกฟัก มีผู้เฒ่าอายุ 120 ปี รู้ว่าพระธาตุซ่อนอยู่ที่ใด เมื่อพบแล้วเอาขึ้นมาไม่ได้เพราะมีมนต์สะกดอยู่จึงประกาศหาผู้แก้มนต์ มีชายยากจนผู้หนึ่งสามารถแก้มนต์ได้ เมื่อแก้ได้พระอินทร์ก็ให้พระวิษณุลงมาเอาพระบรมสารีริกธาตุให้แก่พระยาศรีธรรมาโศกราช

หลังจากสร้างพระมหาธาตุเจดีย์แล้ว พระยาศรีธรรมาโศกราชได้สร้างเมืองสิบสองนักษัตร หลังจากนั้นเกิดไข้ห่าระบาดผู้คนล้มตาย เมืองนครศรีธรรมราชก็ร้างไปนาน

เรื่องเล่าถึงศักราช 1196 กล่าวถึงพระยาศรีไสยณรงค์ เป็นผู้ครองเมือง ต้นฉบับรายการนี้ขาดหาย คำกล่าวถึงท้าวอู่ทองแบ่งอาณาเขตกับเจ้าเมืองนครและสัญญาว่าจะเป็นพระญาติกันสืบไป โดยเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชทูลแก่ท้าวอู่ทองว่าเมื่อสิ้นพระองค์แล้วขอฝากพระนางพระยาศรีธรรมราชและราชบุตร คือ พระยาจันทรภาณุและพระยาหงศ์สุราหะ ให้อยู่ในความปกครองของท้าวอู่ทองด้วย

ต่อมาพระยาศรีธรรมาโศกราชเสด็จสวรรคต พระยาจันทรภาณุจึงปกครองเมืองแทน จนในปีที่ 7 ของพระองค์ ไข้ยมบนระบาดหนัก พระยาจันทรภาณุจึงพาลูกเมียและคนนายคนสนิทลงเรือหนีแต่ลูกเมียตายในที่สุด เมืองนครศรีธรรมราชจึงไร้ผู้คนอีกครั้ง

เรื่องราวกล่าวถึงกษัตริย์ราชวงศ์เพชรบุรีซึ่งทำนาเกลือเจริญรุ่งเรือง มีหลานชายชื่อพระพนมทะเล หลานสะใภ้ชื่อนางสะเดียงทอง กษัตริย์เพชรบุรีได้ส่งให้พระพนมทะเลและนางสะเดียงทองไปสร้างเมืองนคร ต่อมาห่าระบาด คนที่เกณฑ์มาตั้งบ้านเรือนหนีไปเข้าป่าอีกครั้ง พระพนมทะเลและนางสะเดียงทองก็ส่งลูกหลานออกไปสร้างป่าให้เป็นนาอีกครั้ง ส่งไปเป็นเจ้าเมืองแขกบ้างและเมืองอื่น ๆ บ้าง

ต่อมาพระพนมทะเลและนางสะเดียงทองสวรรคต เจ้าศรีราชา ราชบุตรองค์โตขึ้นครองราชย์ ได้รับพระราชทานจากเจ้ากรุงเพชรบุรีเป็นพระยาศรีธรรมาโศกราช บ้านเมืองเจริญรุ่งเรือง จนสิ้นพระยาศรีธรรมาโศกราช (เจ้าศรีราชา) นายอูซึ่งเป็นหลานชาย ได้มาเป็นเจ้าเมืองสืบต่อ หลังจากนั้นนายราม บุตรชาย ขึ้นมาเป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช

ฉบับ[แก้]

  • พ.ศ. 2481 พิมพ์หนังสือเป็นที่ระลึกในงานประชุมเพลิงศพนางสามพร้อม ณ นคร
  • พ.ศ. 2491 พิมพ์ในงานฌาปนกิจศพนายอาจิณ ลิมปิชาติ
  • พ.ศ. 2500 พิมพ์เป็นบรรณาการในงานฌาปนกิจศพคุณเยี่ยม โกมารกุล ณ นคร
  • พ.ศ. 2505 พิมพ์รวมอยู่ในหนังสือ รวมเรื่องเมืองนครศรีธรรมราช พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพพลเอกเจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต (แย้ม ณ นคร)
  • พ.ศ. 2510 พิมพ์รวมอยู่ในหนังสือ เรื่องเมืองนครศรีธรรมราช พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพนางตลับ จันทราทิพย์
  • พ.ศ. 2517 พิมพ์รวมอยู่ในหนังสือ เรื่องเมืองนครศรีธรรมราช พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพนายดิเรก ณ นคร
  • พ.ศ. 2560 กรมศิลปากรพิมพ์เผยแพร่ในหนังสือ ตำนานพระธาตุและตำนานเมืองนครศรีธรรมราช

อ้างอิง[แก้]

  1. พิเชฐ แสงทอง. "ตำนานไทยพุทธและมลายูมุสลิม : อำนาจและการต่อต้านในภาคใต้ของไทย" (PDF). จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. คณะอักษรศาสตร์.
  2. "ตำนานพระธาตุและตำนานเมือง นครศรีธรรมราช" (PDF). กรมศิลปากร.