แม่น้ำเพชรบุรี
แม่น้ำเพชรบุรี แม่น้ำเพชร | |
---|---|
แม่น้ำเพชรบุรีที่อ่างเก็บน้ำเขื่อนแก่งกระจาน | |
ที่ตั้ง | |
ประเทศ | ไทย |
จังหวัด | เพชรบุรี |
ลักษณะทางกายภาพ | |
ต้นน้ำ | เทือกเขาตะนาวศรี |
• ตำแหน่ง | ตำบลป่าเด็ง อำเภอแก่งกระจาน |
• พิกัด | 12°40′09.6″N 99°19′50.8″E / 12.669333°N 99.330778°E |
ปากน้ำ | อ่าวไทย |
• ตำแหน่ง | ตำบลบ้านแหลม อำเภอบ้านแหลม |
• พิกัด | 13°13′24.1″N 99°59′36.9″E / 13.223361°N 99.993583°E |
ความยาว | 233 กิโลเมตร (145 ไมล์) |
ลุ่มน้ำ | |
ระบบแม่น้ำ | ลุ่มน้ำเพชรบุรี–ประจวบคีรีขันธ์ |
ลำน้ำสาขา | |
• ซ้าย | ห้วยเยกเย, ห้วยตะเกลโพ, ห้วยตะเกลพาดู, ห้วยบางยายมู, ห้วยบางยายโป่ง, แม่น้ำบางกลอย, ห้วยแม่ประโดน, ห้วยลันชัน, ห้วยแม่ประจันต์, คลองสวนทุ่ง, คลองบางครก, คลองตาไช่, คลองท่าแห |
• ขวา | ห้วยทอทิพย์, ห้วยบาอีแอะ, ห้วยมะระแคเนาะ, ห้วยขุนกระเวน, ห้วยแม่เสลียง, ห้วยมะเร็ว, ห้วยวังหิน, ห้วยแก่งหักตก, ห้วยผาก, ห้วยหินเพลิง, คลองยอ, คลองวัดเกาะ, คลองท่าแร้ง, คลองน้ำเชี่ยว, คลองตลาด, คลองวัดอุตมิงค์ |
แม่น้ำเพชรบุรี เป็นแม่น้ำสายสำคัญของจังหวัดเพชรบุรี มีต้นกำเนิดจากเทือกเขาตะนาวศรีในเขตอำเภอแก่งกระจาน ไหลไปทางทิศเหนือ เมื่อถึงจุดที่แม่น้ำบางกลอยไหลมาบรรจบจึงวกไปทางทิศตะวันออกและไหลลงทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ เข้าเขตอำเภอท่ายาง เมื่อถึงจุดที่ห้วยหินเพลิงไหลมาบรรจบจึงเปลี่ยนไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ไหลผ่านเขตอำเภอบ้านลาด อำเภอเมืองเพชรบุรี และอำเภอบ้านแหลม ก่อนไหลลงสู่อ่าวไทย มีความยาว 233 กิโลเมตร[1]
แม่น้ำเพชรบุรีส่งตะกอนมาตกสะสมเกิดเป็นที่งอกและดินดอนชายฝั่ง มีปริมาณตะกอน 46 ตันต่อตารางกิโลเมตร[2] พื้นที่การเกษตรส่วนใหญ่ของจังหวัดเพชรบุรีตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบันจะอยู่ตามสองฟากฝั่งของแม่น้ำนี้
ลุ่มน้ำเพชรบุรี
[แก้]ลุ่มน้ำเพชรบุรีมีพื้นที่ลุ่มน้ำ 5,603 ตารางกิโลเมตร หรือ 3.9 ล้านไร่ ครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของจังหวัดเพชรบุรี มีปริมาณน้ำท่าเฉลี่ยรายปี 1,329 ล้านลูกบาศก์เมตร ลุ่มน้ำเพชรบุรีมีแม่น้ำเพชรบุรีเป็นแม่น้ำสายหลักและมีแม่น้ำสาขาสำคัญ ได้แก่ ห้วยแม่ประจันต์ ห้วยผาก ห้วยแม่ประโดน และแม่น้ำบางกลอย แม่น้ำเพชรบุรีมีต้นกำเนิดจากเทือกเขาสูงด้านตะวันตกอันเป็นเขตแดนระหว่างไทยกับพม่า ไหลผ่านแนวแกนกลางของลุ่มน้ำในแนวตะวันตก–ตะวันออกและไหลลงสู่อ่าวไทย ลุ่มน้ำเพชรบุรีแบ่งออกเป็น 4 ลุ่มน้ำย่อย ประกอบด้วยลุ่มน้ำเพชรบุรีตอนบน (2,210 ตารางกิโลเมตร) ลุ่มน้ำเพชรบุรีตอนกลาง (1,325 ตารางกิโลเมตร) ลุ่มน้ำเพชรบุรีตอนล่าง (1,325 ตารางกิโลเมตร) และลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลเพชรบุรี (1,040 ตารางกิโลเมตร) ปัจจุบันมีโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่และกลาง 17 โครงการ โครงการขนาดเล็ก 51 โครงการ มีพื้นที่ชลประทาน 562,688ไร่ มีความจุเก็บกักน้ำ 710 ล้านลูกบาศก์เมตร มีการพัฒนาแหล่งน้ำใต้ดินเพื่อการอุปโภคและบริโภคเป็นหลัก มีการขุดเจาะบ่อบาดาลรวม 760 บ่อ โดยกรมทรัพยากรธรณี กรมอนามัย กรมโยธาธิการ และสำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท
- แม่น้ำบางกลอย ต้นน้ำเกิดจากเขาวันมีในเขตอำเภอหนองหญ้าปล้อง ไหลมาบรรจบแม่น้ำเพชรบุรีในเขตอำเภอแก่งกระจาน มีความยาว 48 กิโลเมตร
- ห้วยแม่ประโดน ต้นน้ำเกิดจากเทือกเขาบริเวณเขตติดต่อระหว่างอำเภอหนองหญ้าปล้อง จังหวัดเพชรบุรี กับอำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี และมีสาขาสำคัญ ได้แก่ ห้วยมะเร็ว ห้วยเสือกัดช้าง ห้วยสมุลแว้ง และไหลมาบรรจบแม่น้ำเพชรบุรีในเขตอำเภอแก่งกระจาน มีความยาว 56 กิโลเมตร
- ห้วยผาก ต้นน้ำจากเขาอ่างแก้วและเขาน้ำหยดในบริเวณเขตอำเภอแก่งกระจาน ไหลมารวมกับแม่น้ำเพชรบุรีที่บริเวณใต้เขื่อนแก่งกระจานในเขตอำเภอแก่งกระจาน มีความยาว 30 กิโลเมตร
- ห้วยแม่ประจันต์ ต้นน้ำจากเทือกเขาในเขตจังหวัดราชบุรี ไหลผ่านอำเภอหนองหญ้าปล้อง และไหลมาบรรจบแม่น้ำเพชรบุรีบริเวณเหนือเขื่อนเพชรบุรีในเขตอำเภอท่ายาง
ปลาในแม่น้ำเพชรบุรี
[แก้]น้ำสำหรับพระราชพิธี
[แก้]ตามโบราณราชประเพณีจะใช้จากแม่น้ำทั้ง 5 ในประเทศสยามคือ แม่น้ำบางปะกง แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำแม่กลอง และแม่น้ำเพชรบุรี ในการพระราชพิธีต่าง ๆ เป็นต้นว่าพิธีการถือพระน้ำพิพัฒน์สัตยาก็ใช้น้ำจากที่นี่เช่นกัน
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์ใน พ.ศ. 2411 ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตามที่ปรากฏในตราสาร ว่าด้วยกำหนดพระฤกษ์การพระราชพิธีราชาภิเษกในวันพุธ เดือน 12 ขึ้น 6 ค่ำ ปีมะโรง สัมฤทธิศก ต้องการน้ำเข้าพระราชพิธี จึงให้พระยาเพชรบุรีตักน้ำจากบริเวณท่าไชยจำนวนหนึ่งหม้อ โดยเอาใบบอนปิดปากหม้อแล้วเอาผ้าขาวหุ้มปากหม้อ ด้ายผูกติดมันตราประจำครั่งแต่งให้กรมการผู้ใหญ่คุมลงไปส่งยังพระนคร (กรุงเทพมหานคร) ในการพระราชพิธีราชาภิเษกสมโภชพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการจัดพระราชพิธีตามมณฑลต่าง ๆ มณฑลราชบุรีได้จัดที่วัดมหาธาตุ จังหวัดเพชรบุรี โดยได้ใช้น้ำเพชรบุรีในพระราชพิธีนี้
ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชและพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสก็ได้ใช้น้ำจากแม่น้ำเพชรบุรี โดยประกอบพิธีน้ำอภิเษก ณ วัดมหาธาตุวรวิหาร ทำพิธีพลีกรรมตักน้ำที่เป็นสิริมงคล ณ สถานที่ศักดิ์สิทธิ์วัดท่าไชย ตำบลสมอพลือ อำเภอบ้านลาด[3]
น้ำเสวยสำหรับเครื่องต้น
[แก้]เรื่องน้ำเพชรเป็นน้ำเสวยนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ตรัสไว้ในพระราชหัตถเลขาที่มีถึงเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2465 ความตอนหนึ่งว่า "เรื่องแม่น้ำเพชรบุรีนี้ เคยทราบมาแต่ว่าถือกันเป็นน้ำดี เคยได้ยินพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 5 รับสั่งว่า นิยมกันว่ามันมีรสแปลกกว่าน้ำลำน้ำเจ้าพระยา และท่านรับสั่งว่าพระองค์เองเคยเสวยน้ำเพชรบุรีเสียจนเคยแล้ว เสวยน้ำอื่น ๆ ไม่อร่อย จึงต้องส่งน้ำเสวยจากเมืองเพชรบุรี และน้ำนั้นเป็นน้ำเสวยจริง ๆ ตลอดมากาลปัจจุบัน" จึงน่าจะเป็นความภาคภูมิใจของชาวเมืองเพชรบุรีที่เล่าขานเสมอมาว่าน้ำเพชรฯ นั้นดีจืดอร่อย แม้แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว[4] ก็ยังโปรดเสวยน้ำเพชรที่ท่าไชย[5]
ความสำคัญของน้ำเพชรสิ้นสุดลงใน พ.ศ. 2465 โดยได้เปลี่ยนเป็นน้ำประปาแทน ทั้งนี้เพราะทางราชการได้พิจารณาเห็นว่าแม่น้ำเพชรบุรีตลอดสองฝั่งมีบ้านเรือนของราษฎรตั้งอยู่อย่างหนาแน่น น้ำในลำน้ำมีสิ่งปฏิกูลสกปรกไม่เหมาะสมที่จะเป็นน้ำเสวยอีกต่อไป จึงได้กราบบังคมทูลในรายงานของพระยายมราช เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2465 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชกระแสให้งดการตักน้ำจากแม่น้ำเพชรบุรี
วันอนุรักษ์แม่น้ำเพชรบุรี
[แก้]สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จทรงหลั่งน้ำจากคนโท คืนชีวิตแก่แม่น้ำเพชรฯ ณ ท่าน้ำวังบ้านปืน (พระรามราชนิเวศน์) เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2541[6] โดยประชาชนชาวเมืองเพชรบุรีได้ร่วมกันถวายสัตย์ปฏิญาณต่อเบื้องพระพักตร์ว่า จะร่วมกันดูแลรักษาแม่น้ำเพชรบุรี ไม่สร้างความสกปรกให้กับแม่น้ำ และจะช่วยกันฟื้นฟูแม่น้ำเพชรบุรีให้คืนสู่ความใสสะอาดเหมือนในอดีต ซึ่งหลังจากนั้นมาผู้ว่าราชการจังหวัด ข้าราชการ และชาวเมืองเพชรบุรีก็จะไปทำพิธี ณ ท่าน้ำวังบ้านปืน (พระรามราชนิเวศน์) ทุกวันที่ 7 สิงหาคม ของทุกปี
บทกวีที่กล่าวขาน
[แก้]- แม่น้ำเพชรบุรีได้รับการกล่าวถึงใน นิราศเมืองเพชร ซึ่งสุนทรภู่ประพันธ์ขึ้น
โครงการชลประทาน
[แก้]พื้นที่จังหวัดเพชรบุรีมีโครงการชลประทานขนาดใหญ่ มี 2 โครงการ คือ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเพชรบุรี และ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาราชบุรีฝั่งขวา ซึ่งส่งน้ำมาหล่อเลี้ยงพื้นที่ลุ่มน้ำเพชรบุรี โดยมีรายละเอียดดังนี้
- โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเพชรบุรี มีอ่างเก็บน้ำเขื่อนแก่งกระจาน เป็นแหล่งกักเก็บน้ำ มีพื้นที่อ่างเก็บน้ำ 30,000 ไร่ สามารถเก็บน้ำได้ 710 ล้านลูกบาศก์เมตร
- โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาราชบุรีฝั่งขวา รับน้ำจากเขื่อนวชิราลงกรณ จังหวัดกาญจนบุรี
- โครงการชลประทานขนาดกลาง มี 12 โครงการ มีพื้นที่เก็บน้ำ 15,030 ไร่ สามารถเก็บกักน้ำได้ 30.30 ล้านลูกบาศก์เมตร
- โครงการชลประทานขนาดเล็ก มี 1,097 โครงการ มีพื้นที่เก็บน้ำ 11,695 ไร่ สามารถเก็บกักน้ำได้ 41.12 ล้านลูกบาศก์เมตร
ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ ราชบัณฑิตยสถาน. อักขรานุกรมภูมิศาสตร์ไทย เล่ม ๑ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2557, หน้า 133.
- ↑ ไม่มี ถนนตัดอ่าว เวทีสิ่งแวดล้อม ’47เก็บถาวร 2009-10-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ เอกสารประกอบการเรียน ส.072 ท้องถิ่นของเรา "จังหวัดเพชรบุรี" หมวดวิชาสังคม โรงเรียนพรหมานุสรณ์จังหวัดเพชรบุรี. จังหวัดเพชรบุรี. 2536.
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2005-01-11. สืบค้นเมื่อ 2010-08-02.
- ↑ "เสวยน้ำเพชรที่ท่าไชยนับเป็นเกียรติคุณ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-05-21. สืบค้นเมื่อ 2010-08-02.
- ↑ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จทรงหลั่งน้ำจากคนโท คืนชีวิตแก่แม่น้ำเพชรฯ ณ ท่าน้ำวังบ้านปืน