ข้ามไปเนื้อหา

ศิลปวัฒนธรรมเพชรบุรี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

เพชรบุรี มีขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม และการละเล่นพื้นเมืองที่สำคัญ ที่นิยมปฏิบัติสืบทอดกันมาแต่โบราณจนถึงปัจจุบัน

งานพระนครคีรีเมืองเพชร

[แก้]

จะจัดเริ่มในวันศุกร์สัปดาห์ที่สองของเดือนกุมภาพันธ์ โดยงานจะมีไปจนครบ ๙ วัน ๙ คืน เป็นงานประจำปี เพื่อรำลึกถึงความสำคัญของประวัติศาสตร์เมืองเพชร ย้อนรอยในพระมหากรุณาธิคุณในพระบรมมหากษัตริย์แห่งบรมราชจักรีวงศ์ที่มีต่อชาวเพชรบุรี ระลึกถึงเขาวัง-เขาหลวง ตลอดจนเพื่อเผยแพร่สิ่งที่ดีงามในทุกด้านให้เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย

ประเพณีวัวลาน

[แก้]

เป็นการละเล่นของสังคมชาวนาเมืองเพชรบุรีหลังฤดูเก็บเกี่ยว ขึ้นชื่อว่าลูกผู้ชายเมืองเพชรต้องเคยผ่านการร่วมแข่งขันวัวลานมาบ้างแล้ว เป็นการละเล่นที่มีวิวัฒนาการมาจากการนวดข้าว ซึ่งจะต้องต้อนวัวโดยการผูกติดกันเป็นพรวนให้ย่ำไปบนข้าว และบังคับให้เดินเป็นวงกลม ชาวเมืองเพชรจึงนำวิธีการดังกล่าวมาปรับเป็นการแข่งขัน โดยการปักหลักเกียรติ ซึ่งเป็นหลักไม้ไว้กลางลาน แล้วนำวัวตัวผู้มาผูกติดเป็นรัศมีออกไปยาวประมาณ 19 ตัว และจะแบ่งวัวออกเป็น 2 ฝ่าย คือ วัวรอง และวัวนอก (ตัวที่อยู่นอกสุด) ในการแข่งขันถือว่า วัวฝ่ายใดวิ่งแซงอีกฝ่ายหนึ่งได้ถือว่าฝ่ายนั้นชนะ ปัจจุบันประเพณีนี้จะจัดขึ้นเป็นกิจกรรมหนึ่งในงานพระนครคีรีเมืองเพชร

ละครชาตรี

[แก้]

ละครชาตรีเป็นละครรำที่เก่าแก่ที่สุด ได้รับวัฒนธรรมจากละครของอินเดีย เข้ามาสู่เมืองเพชรบุรีตั้งแต่เมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐาน มีเพียงประวัติว่า “หม่อมเมือง” ซึ่งเป็นหม่อมในรัชกาลที่ 5 เป็นคนเพชรบุรี ด้วยเป็นผู้มีความสามารถในการเล่นละครชาตรี จึงมักเล่นถวายหน้าพระที่นั่งทุกครั้งที่เสด็จมา จนได้รับพระราชทานบริเวณ “หน้าพระลาน” เพื่อเป็นที่แสดงละครเป็นประจำ ต่อมาสมัยรัชกาลที่ 6 มีผู้นำละครนอกมาประสมกับละครชาตรี เรียกว่า ละครเข้าเครื่องหรือละครชาตรีเครื่องใหญ่ เป็นละครที่รวมศิลปะการร้อง และการรำเข้าด้วยกัน และได้แพร่หลายมาจนถึงปัจจุบัน

ไทยทรงดำ

[แก้]

ไทยทรงดำ หรือไทยโซ่ง หรือลาวโซ่ง เป็นชื่อกลุ่มชนเผ่าไทยกลุ่มหนึ่งในท้องถิ่นจังหวัดเพชรบุรี ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในอำเภอเขาย้อย อาชีพหลักของชาวไทยทรงดำ คือทำนา ทำไร่ หาของป่า และจับสัตว์ป่า นอกจากนี้ยังมีความสามารถเป็นพิเศษในการจับปลาตามห้วย หนอง ลำคลอง ส่วนอาชีพรอง คือ อาชีพจักสานเป็นอาชีพที่แพร่หลายของชาวไทยทรงดำในเขตอำเภอเขาย้อย โดยเฉพาะการจักสานหลัวหรือเข่ง ภาษาของชาวไทยทรงดำ มีลักษณะคล้ายกับภาษาไทยอื่น ๆ ทั่วไป แต่มีลักษณะเฉพาะในการออกเสียงและศัพท์เฉพาะบางคำ และมีอักษรเขียนของตน ซึ่งปัจจุบันมีผู้อ่านได้น้อยลง ทรงผมเป็นเอกลักษณ์อีกอย่างหนึ่งที่น่าสนใจ โดยเฉพาะทรงผมของผู้หญิงมีถึง 8 แบบ แต่ละแบบจะบ่งบอกถึงสถานภาพของสตรีผู้นั้น

อ้างอิง

[แก้]