ข้ามไปเนื้อหา

คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

นี่คือบทความคุณภาพ คลิกเพื่อดูรายละเอียดเพิ่มเติม
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

คณะแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยนเรศวร
Faculty of Medicine,
Naresuan University
สถาปนา18 มกราคม พ.ศ. 2537; 30 ปีก่อน (2537-01-18)
คณบดีผู้ช่วยศาสตราจารย์ แพทย์หญิง พิริยา นฤขัตรพิชัย
ที่อยู่
วารสารณ ใต้ร่มเสลา
เพลงมาร์ชคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
สี  สีเขียวหัวเป็ด
มาสคอต
งูพันคบเพลิง
สถานปฏิบัติโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร
เว็บไซต์www.med.nu.ac.th

คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร (อังกฤษ : Faculty of Medicine, Naresuan University) ก่อตั้งเมื่อวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2537 เป็นคณะที่จัดตั้งขึ้นเป็นลำดับที่ 5 ของมหาวิทยาลัยนเรศวร[1] และเป็นคณะแพทยศาสตร์ที่จัดตั้งขึ้นเป็นลำดับที่ 12 ของประเทศไทย[2] โดยในช่วง 10 ปีแรกได้ร่วมมือกับทางโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขในการร่วมผลิตแพทย์ตามนโยบายการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแพทย์ในส่วนภูมิภาค และหลังจากนั้นคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวรจึงเริ่มพัฒนาโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร เพื่อเป็นโรงพยาบาลหลักในการทำการเรียนการสอนของนิสิตแพทย์[3][4] โดยมีความร่วมมือระหว่างเครือข่ายศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก ทั้ง 5 แห่งในการพัฒนาทางด้านวิชาการและบริการร่วมกัน

ประวัติ

[แก้]
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

การจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวรเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2525 ในสมัยที่มหาวิทยาลัยนเรศวรยังคงเป็นมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตพิษณุโลก โดยภายหลังจากกระทรวงมหาดไทยอนุญาตให้มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตพิษณุโลกใช้ประโยชน์ในที่ดินทุ่งหนองอ้อ-ปากคลองจิก ซึ่งเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยในปัจจุบัน เพื่อขยายโครงการของมหาวิทยาลัยแล้ว ทางวิทยาเขตได้จัดทำ "แผนพัฒนาวิทยาเขตพิษณุโลก" ขึ้น โดยมีโครงการจัดตั้งคณะขึ้นมาใหม่ 3 คณะ คือ คณะเกษตรศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งคณะแพทยศาสตร์และพยาบาลศาสตร์ด้วย[1]

ภายหลังจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตพิษณุโลกยกฐานะขึ้นเป็น "มหาวิทยาลัยนเรศวร" เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2533 แล้ว การจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์ได้ดำเนินการอีกครั้งในปี พ.ศ. 2536 ซึ่งรัฐบาลในขณะนั้นมีนโยบายแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแพทย์ในส่วนภูมิภาค โดยจัดให้มีการผลิตแพทย์เพิ่มและกระจายแพทย์ลงสู่ส่วนภูมิภาคให้มากขึ้น รัฐบาลจึงศึกษาความเป็นไปได้ถึงความเหมาะสมของการจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์ขึ้นใหม่ในมหาวิทยาลัยภูมิภาค[5]

จากแนวทางดังกล่าว มหาวิทยาลัยนเรศวรได้เสนอความเห็นเกี่ยวกับการจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์ต่อทบวงมหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2536 โดยมีแนวทางที่จะใช้ทรัพยากรของมหาวิทยาลัยร่วมกับโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขในจังหวัดพิษณุโลกและจังหวัดภาคเหนือตอนล่างให้เกิดประโยชน์สูงสุด จึงได้ลงนามความร่วมมือการผลิตแพทย์ระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและมหาวิทยาลัยนเรศวรในปี พ.ศ. 2537[6] หลังจากที่คณะรัฐมนตรีในขณะนั้นมีมติเห็นชอบให้กระทรวงสาธารณสุข ร่วมมือกับทบวงมหาวิทยาลัย จัดทำโครงการร่วมผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท (The Collaborative Project to Increase Production of Rural Doctor-CPIRD)

คณะรัฐมนตรีจึงมีมติให้จัดตั้งคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เมื่อวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2537[5] และในคราวเดียวกันนั้น คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติโครงการก่อสร้างอาคารศูนย์วิจัยทางวิทยาศาสตร์สุขภาพ โดยมุ่งหวังให้เป็นสถานที่สำหรับการเรียนการสอนนิสิตในกลุ่มวิทยาศาสตร์สุขภาพทั้งหมดของมหาวิทยาลัย และเพื่อเป็นโรงพยาบาลหลักของคณะสำหรับการเรียนการสอนของนิสิตแพทย์ต่อไปในอนาคต ซึ่งการก่อสร้างอาคารศูนย์วิจัยทางวิทยาศาสตร์สุขภาพแล้วเสร็จและเริ่มเปิดให้บริการแก่ประชาชนทั่วไปตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 ในช่วงแรกได้ใช้ชื่อว่า "สถาบันวิจัยทางวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยนเรศวร" โดยเป็นหน่วยงานที่ขึ้นตรงต่อมหาวิทยาลัยนเรศวร เพื่อความคล่องตัวในการบริหารงาน และต่อมาได้เข้ารวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของคณะแพทยศาสตร์ในปี พ.ศ. 2548 พร้อมทั้งใช้ชื่อเป็น "โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร"[3]

คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวรเริ่มรับนิสิตแพทย์รุ่นแรกตั้งแต่ปีการศึกษา 2538 โดยในช่วงแรกทำการเรียนการสอนชั้นปรีคลินิก (ชั้นปีที่ 1 - 3) ที่คณะแพทยศาสตร์และคณะอื่นๆ ในมหาวิทยาลัยนเรศวร จากนั้นจึงไปศึกษาต่อระดับชั้นคลินิก (ชั้นปีที่ 4 - 6) ที่โรงพยาบาลพุทธชินราช พิษณุโลก ซึ่งหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตของมหาวิทยาลัยนเรศวรได้รับการรับรองจากแพทยสภาเมื่อปี พ.ศ. 2539[5] จากนั้นในปี พ.ศ. 2542 คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวรได้ขยายการเรียนการสอนชั้นคลินิกเพิ่มโดยร่วมมือกับทางโรงพยาบาลอุตรดิตถ์ ซึ่งนิสิตแพทย์ทั้งหมดจะอยู่ในโครงการร่วมผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท โดยรับนิสิตจากโควตาในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง[7]

ปีการศึกษา 2546 คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เปิดรับนิสิตแพทย์แนวใหม่ (New Tract) โดยรับจากบุคลากรสังกัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้โอกาสผู้สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรี สาขาวิชาวิทยาศาสตร์หรือสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพที่มีประสบการณ์ในการทำงานเกี่ยวกับการสาธารณสุข เข้าศึกษาต่อในหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต ซึ่งเป็นหลักสูตรที่มีระยะเวลาเวลาศึกษา 5 ปี (เทียบโอนหน่วยกิตในชั้นปีที่ 1) และศึกษาตามหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต เหมือนกับนิสิตแพทย์ปกติทุกประการ ซึ่งจะอยู่ในโครงการร่วมผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบทเช่นเดียวกัน โดยจะทำการเรียนการสอนชั้นคลินิกที่โรงพยาบาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช โรงพยาบาลแพร่ และ โรงพยาบาลพิจิตร[5]

ต่อมาในปี พ.ศ. 2547 คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เปิดรับนิสิตแพทย์ระบบคัดเลือกจากส่วนกลางของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.)[5] ซึ่งไม่ได้อยู่ในโครงการร่วมผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบทของกระทรวงสาธารณสุข โดยนิสิตแพทย์กลุ่มนี้จะทำการเรียนการสอนชั้นคลินิกที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร และโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ (สำหรับโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ จะรับเฉพาะนิสิตแพทย์ที่เข้าทำการศึกษาในปีการศึกษา 2547 - 2548 เท่านั้น)[8] และตั้งแต่ปีการศึกษา 2550 เป็นต้นไปทางคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวรได้เปลี่ยนวิธีการรับนิสิตแพทย์ระบบคัดเลือกจากส่วนกลาง โดยรับร่วมกับกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท.)

โดย ณ ปัจจุบัน - พ.ศ. 2569 คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวรมีวิสัยทัศน์ คือ "โรงเรียนแพทย์ระดับโลกเพื่อสร้างสังคมที่มีสุขภาพที่ดี" และพันธกิจ ได้แก่ 1. การผลิตบัณฑิตแห่งอนาคตที่พร้อมต่อสังคมแห่งผู้ประกอบการ ด้วยการจัดการเรียนการสอนมาตรฐานระดับโลก 2. การสร้างผลงานวิจัยที่ได้รับการยอมรับระดับนานาชาติ 3. การบริการสุขภาพที่มีคุณภาพมาตรฐานสากลและการบริการวิชาการเพื่อส่งเสริมสังคมที่มีสุขภาวะดี 4.การทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมโดยส่งเสริมการนำภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ส่งเสริมสุขภาวะมาศึกษาต่อยอด

ภาควิชา

[แก้]

ปัจจุบัน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวรประกอบด้วยภาควิชาทั้งสิ้น 15 ภาควิชา[8][9][10]ดังต่อไปนี้

การศึกษา

[แก้]

หลักสูตรการศึกษา

[แก้]

ปัจจุบัน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เปิดทำการเรียนการสอนในหลักสูตรต่างๆ ดังต่อไปนี้

หลักสูตรที่เปิดสอนในคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
ปริญญาตรี ปริญญาโท วุฒิบัตร ปริญญาเอก

วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (วท.ม.)

  • สาขาวิชากุมารเวชศาสตร์
  • สาขาวิชาออร์โธปิดิกส์
  • สาขาวิชาอายุรศาสตร์

วุฒิบัตรแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม (ว.ว.)

  • สาขาอายุรศาสตร์ (โครงการร่วมระหว่างคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร - คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)
  • สาขากุมารเวชศาสตร์ [26]
  • สาขาศัลยศาสตร์ [27]
  • สาขาเวชศาสตร์ครอบครัว [28]
  • สาขาออร์โธปิดิกส์ [29]
  • สาขาวิสัญญีวิทยา [30]
  • โครงการสาขาจักษุวิทยา [31]
  • โครงการสาขารังสีวิทยา [32]

ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (ปร.ด.)

  • สาขาวิชาระบาดวิทยาคลินิกและวิจัย

การรับบุคคลเข้าศึกษาในหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต

[แก้]

คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร มีโครงการรับนิสิตแพทย์เข้าทำการศึกษาในหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตทั้งสิ้น 4 โครงการ โดยจัดให้นิสิตแพทย์ได้ฝึกปฏิบัติงานในชั้นคลินิกที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งเป็นโรงพยาบาลหลักของคณะในการจัดการเรียนการสอน และโรงพยาบาลสมทบอีก 5 แห่งตามโครงการต่างๆ ดังต่อไปนี้

  • โครงการรับตรงร่วมกับ กสพท. (Direct Admissions)

รับนักเรียนที่จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายทั่วประเทศร่วมกับกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท.) นิสิตแพทย์กลุ่มนี้จะทำการเรียนชั้นคลินิกที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร เมื่อจบการศึกษาแล้วจะต้องจับสลากเพื่อทำงานใช้ทุนเป็นเวลา 3 ปี โครงการนี้จะดำเนินการเปิดรับสมัครในช่วงเดือนสิงหาคมของทุกปี

  • โครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท (CPIRD)

รับนักเรียนที่จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายในเขตพื้นที่บริการการศึกษาของมหาวิทยาลัยนเรศวร ได้แก่ จังหวัดพิษณุโลก ตาก เพชรบูรณ์ สุโขทัย อุตรดิตถ์ พิจิตร กำแพงเพชร นครสวรรค์ และอุทัยธานี โดยนิสิตแพทย์กลุ่มนี้จะทำการเรียนชั้นคลินิกที่ศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลพุทธชินราช พิษณุโลก หรือศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลอุตรดิตถ์ เมื่อจบการศึกษาแล้วจะต้องทำงานใช้ทุนในจังหวัดภูมิลำเนาของตนเองเป็นเวลา 3 ปี โครงการนี้จะดำเนินการเปิดรับสมัครในช่วงเดือนกันยายนของทุกปี

  • โครงการแพทย์แนวใหม่ (New Tract)

โครงการนี้อยู่ในโครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท (CPIRD) เช่นเดียวกัน รับเฉพาะข้าราชการหรือพนักงานของรัฐในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขที่สำเร็จการศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์ หรือวิทยาศาสตร์สุขภาพ และมีประสบการณ์การทำงานทางด้านสาธารณสุขไม่น้อยกว่า 2 ปี และอายุนับถึงวันสมัครไม่เกิน 30 ปี[33] โดยนิสิตแพทย์กลุ่มนี้จะทำการเรียนชั้นคลินิกที่ศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลแพร่ หรือศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลพิจิตร เมื่อจบการศึกษาแล้วจะต้องทำงานใช้ทุนในจังหวัดภูมิลำเนาของตนเองเป็นเวลา 3 ปี โครงการนี้จะดำเนินการเปิดรับสมัครในช่วงเดือนกันยายนของทุกปี

  • โครงการกระจายแพทย์หนึ่งอำเภอหนึ่งทุน (ODOD)

รับนักเรียนที่จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายที่มีภูมิลำเนาในเขต 7 จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ได้แก่ จังหวัดพิษณุโลก ตาก สุโขทัย กำแพงเพชร พิจิตร อุตรดิตถ์ และเพชรบูรณ์ โดยการสอบคัดเลือกจะต้องผ่านการคัดเลือกในรอบแรกจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดก่อนแล้วจึงสามารถสอบข้อเขียนของทางมหาวิทยาลัยได้ นิสิตแพทย์กลุ่มนี้จะทำการเรียนชั้นคลินิกที่ศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลพุทธชินราช พิษณุโลก หรือศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลอุตรดิตถ์ โดยจะมีทุนการศึกษาและทุนค่าใช้จ่ายให้ตลอดระยะเวลาการเรียน 6 ปี เมื่อจบการศึกษาแล้วจะต้องทำงานใช้ทุนในจังหวัดภูมิลำเนาของตนเองเป็นเวลา 12 ปี โครงการนี้จะดำเนินการเปิดรับสมัครในช่วงเดือนสิงหาคมของทุกปี

การเรียนการสอนในหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต

[แก้]

การเรียนการสอนในหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร แบ่งออกเป็น 2 ช่วงคือ ระดับชั้นปรีคลินิก (ชั้นปีที่ 1 - 3) และระดับชั้นคลินิก (ชั้นปีที่ 4 - 6)[34] ดังรายละเอียดต่อไปนี้

ระดับชั้นปรีคลินิก

[แก้]

ในระดับชั้นนี้จะเป็นการเรียนทางด้านวิทยาศาสตร์และวิทยาศาสตร์การแพทย์พื้นฐานก่อนที่จะนำไปใช้กับผู้ป่วยในระดับชั้นคลินิกต่อไป โดยในชั้นปีที่ 1 นิสิตแพทย์จะเรียนในรายวิชาศึกษาทั่วไปร่วมกับนิสิตคณะอื่นๆ ของมหาวิทยาลัย ซึ่งส่วนใหญ่จะเรียนที่อาคารเรียนรวม 72 พรรษาบรมราชินีนาถ (ยกเว้นโครงการแพทย์แนวใหม่ (New tract) ที่ไม่ต้องเรียนในชั้นปีที่ 1[33]) ส่วนในชั้นปีที่ 2 - 3 จะเรียนในรายวิชาทางด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ตามระบบต่างๆ ของร่างกายโดยคณาจารย์จากคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ และบูรณาการร่วมกับความรู้ในชั้นคลินิกโดยคณาจารย์จากคณะแพทยศาสตร์ ซึ่งการเรียนในชั้นปีที่ 2 - 3 นี้จะเน้นการเรียนแบบการใช้ปัญหาเป็นพื้นฐาน (Problem-based learning) เป็นหลัก โดยส่วนใหญ่จะเรียนที่อาคารคณะแพทยศาสตร์และคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์

นอกจากนี้ยังมีการเรียนโดยเน้นการสอดแทรกคุณธรรม จริยธรรม รวมทั้งการเข้าหาผู้ป่วยเพื่อการปรับตัวสู่ความเป็นแพทย์ในรายวิชาการพัฒนาพื้นฐานวิชาชีพแพทย์ (Professional development) ซึ่งมีการเรียนตลอดทั้ง 3 ปี[34]

ระดับชั้นคลินิก

[แก้]

เป็นการเรียนต่อยอดจากระดับชั้นปรีคลินิกโดยเน้นการนำไปใช้กับผู้ป่วยจริง ในระดับชั้นนี้นิสิตแพทย์จะแยกกันเรียนในโรงพยาบาลต่างๆ ตามโครงการที่เข้ามาตั้งแต่แรกรับ โดยนิสิตแพทย์ในโครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบทและโครงการแพทย์แนวใหม่จะแยกไปเรียนในโรงพยาบาลร่วมผลิตแพทย์ ซึ่งหลักสูตรการเรียนการสอนจะอยู่ในกำกับของคณะแพทยศาสตร์ ในส่วนของคณะแพทยศาสตร์จะจัดการเรียนการสอนที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร โดยในชั้นปีที่ 4 - 5 จะเรียนโดยการตรวจรักษาผู้ป่วยในหอผู้ป่วยต่างๆ ร่วมกับการเรียนภาคบรรยาย และในชั้นปีที่ 6 (Extern) จะเน้นการเรียนเสมือนการทำงานจริงภายใต้การควบคุมของแพทย์ใช้ทุน (Intern) และอาจารย์แพทย์ โดยจะมีการออกฝึกในโรงพยาบาลอื่นๆ ได้แก่ โรงพยาบาลกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร โรงพยาบาลลำปาง จังหวัดลำปาง โรงพยาบาลพิจิตร จังหวัดพิจิตร และโรงพยาบาลเพชรบูรณ์ จังหวัดเพชรบูรณ์

ก่อนจบการศึกษา นิสิตแพทย์จะต้องผ่านการสอบวัดความรู้รวบยอดภาคทฤษฎี ในชั้นปีที่ 3 และชั้นปีที่ 5 และสอบวัดผลภาคปฏิบัติในชั้นปีที่ 6 โดยเป็นการสอบเพื่อปริญญาแพทยศาสตรบัณฑิต (Comprehensive examination) ซึ่งจัดสอบโดยคณะแพทยศาสตร์เอง รวมทั้งการสอบเพื่อใบประกอบวิชาชีพเวชกรรม (National license) ซึ่งเป็นการสอบส่วนกลาง จัดสอบโดยศูนย์ประเมินและรับรองความรู้ความสามารถในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม แพทยสภา (ศรว.) ทั้งนี้เพื่อควบคุมให้บัณฑิตแพทย์มีมาตรฐานเดียวกัน

เมื่อจบการศึกษา บัณฑิตแพทย์ทุกคนจากทุกโครงการจะได้รับปริญญาแพทยศาสตรบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยนเรศวรเหมือนกัน ซึ่งหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตของมหาวิทยาลัยนเรศวรได้ผ่านการรับรองมาตรฐานการศึกษาแพทยศาสตร์ตามมาตรฐานสากลจากสถาบันรับรองมาตรฐานการศึกษาแพทยศาสตร์ (สมพ.) เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2560[35]

การวิจัย

[แก้]

จากการที่มหาวิทยาลัยนเรศวรได้วางเป้าหมายให้เป็น "มหาวิทยาลัยวิจัย (Research University) "[36] ดังนั้น คณะแพทยศาสตร์จึงสนับสนุนและส่งเสริมให้อาจารย์แพทย์ นิสิตแพทย์ รวมถึงบุคลากรของคณะในการทำวิจัย โดยได้มีการจัดตั้ง "งานวิจัย" ในสังกัด "ฝ่ายประกันคุณภาพและวิจัย" ภายใต้การกำกับของรองคณบดีและผู้ช่วยคณบดีฝ่ายประกันคุณภาพและวิจัย[37] เพื่อเป็นหน่วยงานในการบริหาร ประสานงานและพัฒนางานวิจัยของคณะ[38]

ผลงานวิจัยของอาจารย์แพทย์และบุคลากรของคณะที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ ระดับชาติ รวมทั้งที่ได้รับการเผยแพร่ในที่ประชุม สัมมนา ระดับนานาชาติและระดับชาตินับตั้งแต่ พ.ศ. 2544 จนถึงปีงบประมาณปัจจุบัน (พ.ศ. 2560) มีมากกว่า 472 ผลงาน[39] โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 มีผลงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์และเผยแพร่รวมทั้งสิ้น 47 ผลงาน[40]

ในส่วนของนิสิตแพทย์นั้น ทางคณะได้กำหนดให้นิสิตแพทย์ได้เรียนรู้และทำการวิจัยระหว่างการเรียนในชั้นคลินิก โดยจัดให้มีการเรียนการสอนในรายวิชาวิจัยทางการแพทย์พื้นฐาน ซึ่งเป็นวิชาเอกบังคับในหลักสูตรแพทยศ่าสตรบัณฑิต นอกจากนี้ยังมีรายวิชาวิจัยครอบครัว และวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์พื้นฐานและระบบสาธารณสุข ซึ่งบรรจุให้เป็นวิชาเลือกเสรีอีกด้วย[8] ปัจจุบันมีผลงานวิจัยของนิสิตแพทย์ที่เผยแพร่ในฐานข้อมูลการวิจัยของคณะไม่ต่ำกว่า 340 เรื่อง[41]

ศูนย์

[แก้]

คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้มีการจัดตั้งศูนย์ต่าง ๆ เพื่อดำเนินการวิจัยและพัฒนาขีดความสามารถในการรักษาพยาบาลและบริการทางการแพทย์ ณ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งปัจจุบันมีศูนย์ต่าง ๆ ดังนี้[3][42]

ศูนย์โรคหัวใจ

[แก้]

ศูนย์โรคหัวใจภาคเหนือตอนล่างได้จัดตั้งขึ้นสืบเนื่องมาจากมหาวิทยาลัยนเรศวรได้มีการจัดการศึกษาสาขาวิชาแพทยศาสตร์และสาขาวิชาด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพอื่น ๆ โดยมีการจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์ คณะทันตแพทยศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ คณะสหเวชศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ และคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ จึงมีความพร้อมในด้านอาคารสถานที่และบุคลากรที่จะให้การสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์โรคหัวใจได้ ทางสภามหาวิทยาลัยนเรศวรจึงมีมติให้จัดตั้งศูนย์โรคหัวใจภาคเหนือตอนล่าง เมื่อ พ.ศ. 2543 ณ สถาบันวิจัยทางวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยนเรศวร (ในขณะนั้น) ซึ่งเป็นสถานที่หลักในการปฏิบัติงานในด้านการเรียนการสอน และการวิจัยทางด้านคลินิกของคณะต่างๆ ทางวิทยาศาสตร์สุขภาพ โดยแบ่งเนื้อที่บางส่วนของอาคารสถาบันวิจัยทางวิทยาศาสตร์สุขภาพให้เป็นสถานที่ตั้งของศูนย์โรคหัวใจ โดยให้เกิดการพัฒนาด้านความรู้ตลอดจนเทคโนโลยีทางการแพทย์ด้านการตรวจวินิจฉัย รักษา การเรียนการสอน และศึกษาวิจัยให้มีคุณภาพตามมาตรฐานสากลเป็นที่ยอมรับในระดับภูมิภาคและนานาชาติ ทั้งนี้ในเรื่องของบุคลากรทางการแพทย์จะดำเนินการโดยใช้บุคลากรที่เป็นอาจารย์จากคณะแพทยศาสตร์และคณะอื่นๆ เช่น อายุรแพทย์โรคหัวใจ กุมารแพทย์โรคหัวใจ ศัลยแพทย์หัวใจและทรวงอก จากคณะแพทยศาสตร์ นักเทคนิคการแพทย์ นักกายภาพบำบัด นักเทคโนโลยีหัวใจและทรวงอก และ นักรังสีเทคนิค จากทั้งคณะแพทยศาสตร์และคณะสหเวชศาสตร์ รวมทั้งเภสัชกร จากคณะเภสัชศาสตร์ด้วย

ต่อมาเมื่อสถาบันวิจัยทางวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้เปลี่ยนมาเป็นโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร สังกัดคณะแพทยศาสตร์ เมื่อ พ.ศ. 2548 ศูนย์โรคหัวใจภาคเหนือตอนล่างจีงเป็นหน่วยงานในคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร และมีการพัฒนาต่อมาอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันเป็นศูนย์รับส่งต่อผู้ป่วยทางโรคหัวใจในเขตภูมิภาคภาคเหนือตอนล่างทั้งหมด

ศูนย์วิจัยโลหิตวิทยา

[แก้]

ศูนย์วิจัยโลหิตวิทยา เริ่มเปิดดำเนินการเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2545 โดยเริ่มจากงานควบคุมและป้องกันโรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย ในช่วงแรกนั้น ศูนย์วิจัยโลหิตวิทยาอยู่ในกำกับของสถาบันวิจัยทางวิทยาศาสตร์สุขภาพ ซึ่งขึ้นตรงกับมหาวิทยาลัยนเรศวร ภายหลังจากสถาบันวิจัยทางวิทยาศาสตร์สุขภาพ ได้ควบรวมกับคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร และเปลี่ยนเป็นโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร เมื่อ พ.ศ. 2548 ศูนย์วิจัยโลหิตวิทยา จึงเป็นหน่วยงานหนึ่งของคณะแพทยศาสตร์ และทำหน้าที่เพิ่มเติมในการให้บริการทางด้านห้องปฏิบัติการเพื่อตรวจวินิจฉัยพาหะ และโรคธาลัสซีเมียให้กับโรงพยาบาล นอกจากนี้ยังเป็นหน่วยงานสนับสนุนด้านการเรียนการสอน ให้แก่นิสิตแพทย์ และนิสิตสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพอื่น ๆ

ปัจจุบัน ศูนย์วิจัยโลหิตวิทยา โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นศูนย์กลางในการศึกษาค้นคว้าวิจัยด้านโลหิตวิทยาในประชากรเขตภาคเหนือตอนล่าง และให้บริการสนับสนุนระบบการแพทย์ในการแก้ไขปัญหาด้านโลหิตวิทยาให้แก่ประชากร รวมทั้งเผยแพร่ความรู้ทางโลหิตวิทยาโดยเฉพาะที่เป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศแก่นิสิตและบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพและประชาชนทั่วไป

ศูนย์วิจัยและติดตามความเป็นธรรมทางสุขภาพ

[แก้]

ศูนย์วิจัยและติดตามความเป็นธรรมทางสุขภาพ เป็นหน่วยงานอิสระในคณะแพทยศาสตร์ ด้านดัชนีความเป็นธรรมทางการแพทย์และการสาธารณสุข สภามหาวิทยาลัยนเรศวรจึงได้มีมติอนุมัติให้จัดตั้งศูนย์วิจัย ใน พ.ศ. 2541 ต่อมานายทะเบียนมูลนิธิจังหวัดพิษณุโลก ได้อนุญาตให้จดทะเบียนจัดตั้งเป็นมูลนิธิศูนย์วิจัยและติดตามความเป็นธรรมทางสุขภาพเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

การจัดตั้งศูนย์มีวัตถุประสงค์เพื่อวิจัยค้นหาดัชนีความเป็นธรรมทางสุขภาพ และทดสอบความน่าเชื่อถือ ส่งเสริมการวิจัยและการใช้ประโยชน์จากดัชนีความเป็นธรรมทางสุขภาพ และวางแผนนโยบายสาธารณสุขและนโยบายสาธารณะ เป็นศูนย์ข้อมูลและเฝ้าติดตามการเปลี่ยนแปลงสถานภาพของความเป็นธรรมทางสุขภาพในประเทศไทย

และยังมีศูนย์อื่น ๆ ได้แก่

  • ศูนย์มะเร็ง
  • ศูนย์ปลูกถ่ายกระจกตาและผ่าตัดแก้ไขสายตา
  • ศูนย์โรคไต
  • ศูนย์รักษาผู้มีบุตรยาก
  • สถานรักษาแก้ไขภาวะปากแหว่งเพดานโหว่และความผิดปกติของศีรษะและใบหน้า[43]

ความร่วมมือระดับนานาชาติ

[แก้]

คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวรได้ร่วมมือกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรภูฏาน และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ในการรับนักเรียนทุนเพื่อมาศึกษาต่อในหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตของมหาวิทยาลัย[44][45] นอกจากนี้ในปี พ.ศ. 2551 คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวรได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยอีสต์ แองเกลีย สหราชอาณาจักร ในการรับนักศึกษาแพทย์มาทำการศึกษาวิชาเลือกเสรีในชั้นคลินิก ณ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร[44] และในปี พ.ศ. 2553 ทางคณะมีโครงการแลกเปลี่ยนนิสิตแพทย์ร่วมกับมหาวิทยาลัยนิวอิงแลนด์ ประเทศออสเตรเลีย[45] ในส่วนของสโมสรนิสิตคณะแพทยศาสตร์นั้นได้ทำความร่วมมือกับสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์นานาชาติ (IFMSA) ในการประชุมแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น และทำข้อตกลงในการแลกเปลี่ยนนิสิตแพทย์ร่วมกัน[45]

สถานที่ภายในคณะ

[แก้]

คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวรมีพื้นที่ในส่วนต่างๆ ดังนี้

อาคารคณะแพทยศาสตร์และคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์
อาคารคณะแพทยศาสตร์และคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นอาคารรูปตัวยู สูง 5 ชั้น อยู่ด้านข้างกลุ่มอาคารคณะเภสัชศาสตร์ และด้านหน้าอาคารเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินินาถ โดยอาคารนี้ได้รับงบประมาณผูกผันในการก่อสร้างในช่วงปีงบประมาณ พ.ศ. 2535 - พ.ศ. 2541[1] แต่เดิมอาคารทั้งหมดนั้นเป็นของคณะแพทยศาสตร์ แต่เมื่อทางมหาวิทยาลัยได้จัดตั้งคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ เมื่อเดือน กันยายน พ.ศ. 2544[46] จึงได้โอนพื้นที่ส่วนใหญ่ของอาคารให้คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ ปัจจุบันคณะแพทยศาสตร์จึงเหลือพื้นที่ในฝั่งใต้ของอาคาร โดยเป็นที่ตั้งของภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน ภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว ศูนย์วิจัยและติดตามความเป็นธรรมทางสุขภาพ (ศธส.) สำนักงานกิจการนิสิตและสร้างเสริมสุขภาพ ห้องออกกำลังกายคณะแพทยศาสตร์ และสโมสรนิสิตคณะแพทยศาสตร์
โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร
ประกอบด้วยอาคาร 3 หลัง[3] ดังนี้
  • อาคารสิรินธร เป็นอาคารโรงพยาบาล สูง 9 ชั้น โดยนอกจากเป็นอาคารบริการทางด้านการรักษาพยาบาลแล้ว ยังเป็นที่ตั้งของสำนักงานภาควิชาต่างๆ อีก 12 ภาควิชา ศูนย์ต่างๆ ของคณะแพทยศาสตร์ และศูนย์นิติวิทยาศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์[47]
  • อาคารบริการ เป็นอาคารสูง 3 ชั้น ตั้งอยู่ด้านหลังโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร โดยเป็นที่ตั้งของภาควิชานิติเวชศาสตร์ หน่วยโภชนาการ หน่วยซักล้าง และศูนย์อาหาร
  • อาคารรังสีรักษา ดำเนินการก่อสร้างระหว่างปี พ.ศ. 2555 - พ.ศ. 2556 เพื่อรองรับการบริการทางด้านรังสีรักษา และเวชศาสตร์นิวเคลียร์ รวมทั้งเป็นหอผู้ป่วยสงฆ์อาพาธด้วย โดยเป็นอาคารสูง 2 ชั้น ตั้งอยู่ระหว่างอาคารสิรินธร และอาคารเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา 2 (ที่ดินอาคารโภชนาการเดิม)
กลุ่มอาคารเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา
เป็นโครงการก่อสร้างอาคารใหม่เพื่อพัฒนาระบบบริการของโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร และเพิ่มศักยภาพการเรียนการสอนของนิสิตแพทย์ นอกจากนี้ยังเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554 อีกด้วย โดยได้รับอนุมัติวงเงินงบประมาณภายใต้โครงการปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ซึ่งการก่อสร้างเริ่มในช่วงปลายปี พ.ศ. 2552 และมีกำหนดการแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2555 แต่เดิมเรียกกลุ่มอาคารใหม่นี้ว่ากลุ่มอาคารเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานชื่ออาคารใหม่นี้ว่า "อาคารเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา 1" และ "อาคารเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา 2"[48]

กลุ่มอาคารเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ประกอบด้วยอาคาร 3 หลัง[49] ดังนี้

  • อาคารเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา 1 เป็นอาคารโรงพยาบาลสูง 9 ชั้น สร้างขึ้นเพื่อรองรับการขยายการบริการทางการแพทย์เพิ่มเติมจากอาคารสิรินธร
  • อาคารเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา 2 เป็นอาคารศูนย์ความเป็นเลิศของคณะแพทยศาสตร์ มีความสูง 8 ชั้น สร้างขึ้นเพื่อรองรับการเรียนการสอนนิสิตแพทย์และเป็นศูนย์กลางงานบริหารของคณะ โดยภายในจะประกอบด้วยด้วยห้องเรียนกลุ่มย่อย ห้องสโมสรนิสิต สมาคมศิษย์เก่า ห้องสมุดวิทยาศาสตร์สุขภาพ ห้องปฏิบัติการพยาธิวิทยา Clinical skill center โรงอาหารสำหรับผู้รับบริการของโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร รวมทั้งสำนักงานคณบดี สำนักงานแพทยศาสตรศึกษา และงานสนับสนุนต่างๆ อีกด้วย
  • อาคารที่จอดรถ สูง 7 ชั้น รองรับการจอดรถได้ 354 คัน
หอพักนิสิตแพทย์
เป็นอาคารหอพักสูง 4 ชั้น ตั้งอยู่ด้านหลังโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร บริเวณด้านข้างหอพักอาจารย์ มน.นิเวศ 6 โดยสร้างแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2550

โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยและสถาบันร่วมผลิตแพทย์

[แก้]

คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวรจัดการเรียนการสอนนิสิตแพทย์ในชั้นคลินิก (ชั้นปี 4 - 6) ณ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร และโรงพยาบาลสมทบที่ผลิตแพทย์ร่วมกับทางคณะอีก 5 โรงพยาบาล โดยได้มีการจัดตั้ง "ศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก" ในโรงพยาบาลต่างๆ ที่ร่วมผลิตแพทย์ เพื่อเป็นหน่วยงานในการจัดการเรียนการสอน และเป็นเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการและการบริการร่วมกับทางคณะ โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะเน้นมาตรฐานคุณภาพของบัณฑิตแพทย์จากทุกสถาบันชั้นคลินิกภายใต้การประสาทปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยนเรศวรให้มีคุณภาพเดียวกัน[4] โดยมีดังนี้

โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย จังหวัด สังกัด
โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
สถาบันร่วมผลิตแพทย์ จังหวัด สังกัด
ศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลพิจิตร จังหวัดพิจิตร กระทรวงสาธารณสุข
ศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลพุทธชินราช พิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก กระทรวงสาธารณสุข
ศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลแพร่ จังหวัดแพร่ กระทรวงสาธารณสุข
ศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จังหวัดตาก กระทรวงสาธารณสุข
ศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ กระทรวงสาธารณสุข

กิจกรรมและประเพณีของคณะ

[แก้]

สโมสรนิสิตคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร และสำนักงานกิจการนิสิตและสร้างเสริมสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์ เป็นหน่วยงานหลักในการจัดกิจกรรมต่างๆ ของคณะ โดยส่วนใหญ่แล้วมักเป็นกิจกรรมของมหาวิทยาลัยที่คณะแพทยศาสตร์เข้าร่วม นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมและประเพณีอื่นๆ ที่จัดขึ้นโดยคณะแพทยศาสตร์เอง หรือเป็นกิจกรรมที่เข้าร่วมกับสถาบันแพทยศาสตร์อื่นๆ ในประเทศไทย โดยมีรายละเอียดดังนี้

ค่าย และการรับน้องใหม่

[แก้]
งานแรกพบ สพท. (สมาพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์แห่งประเทศไทย) จัดในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม ภายหลังจากการประกาศผลการสอบเข้ามหาวิทยาลัยแล้ว โดยเป็นงานรวมตัวกันของนิสิตนักศึกษาแพทย์น้องใหม่จากทุกสถาบันของประเทศไทย เพื่อทำความรู้จักกันระหว่างสถาบันผลิตแพทย์ต่างๆ งานนี้จัดขึ้นที่คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รับน้องเฟรชชี่และบีกินนิ่งแคมป์ (Beginning Camp)
กิจกรรมรับน้องใหม่ก่อนเปิดเรียนภาคการศึกษาที่ 1 สำหรับนิสิตใหม่ชั้นปีที่ 1 โดยจะจัดขึ้นเป็นเวลา 3 วัน 2 คืน เพื่อให้นิสิตใหม่รู้จักมหาวิทยาลัยรวมถึงคณะให้มากขึ้น และเป็นการปรับตัวให้เข้ากับเพื่อนใหม่ๆ รวมทั้งสร้างความสัมพันธ์ระหว่างน้อง-พี่
กิจกรรมประชุมเชียร์
เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นในช่วง 3 สัปดาห์แรกของการเปิดเรียนภาคการศึกษาที่ 1 เพื่อเป็นการสร้างความสัมพันธ์และความสามัคคีของนิสิตแพทย์ชั้นปี 1 และเป็นการสอนร้องเพลงมหาวิทยาลัยและเพลงต่างๆ ของคณะให้แก่นิสิตแพทย์ชั้นปี 1 ซึ่งภายหลังกิจกรรมประชุมเชียร์แล้ว ทางสโมสรนิสิตคณะแพทยศาสตร์ก็จะให้มีการซ้อมการแสดงสแตนเชียร์ต่อเนื่องไปอีก 1 สัปดาห์ ก่อนการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัย โดยกิจกรรมประชุมเชียร์นี้จะจัดขึ้นในห้องเชียร์ ซึ่งในส่วนของคณะแพทยศาสตร์จัดให้ห้องเรียนรวมในอาคารคณะแพทยศาสตร์และคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์เป็นห้องเชียร์
ค่ายนิสิตสัมพันธ์อนุรักษ์ธรรมชาติ
เป็นกิจกรรมการเข้าค่ายนอกสถานที่ของนิสิตแพทย์ชั้นปี 1 ในช่วงเดือนมิถุนายน
ค่ายซีเพิร์ด (CPIRD)
เป็นกิจกรรมสานความสัมพันธ์ระหว่างนิสิตนักศึกษาแพทย์จากสถาบันต่างๆ ในประเทศไทยที่อยู่ในโครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท โดยจัดขึ้นในช่วงเดือนตุลาคม โดยคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวรเคยได้รับเป็นเจ้าภาพเมื่อปี พ.ศ. 2547
ค่ายเส้นทางฝัน เพื่อวันเป็นหมอ (Med Camp)
เป็นค่ายแนะนำคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร และแนะแนวการเรียนแพทย์ให้แก่นักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 และ 5 โดยรับสมัครจากนักเรียนทั่วประเทศในช่วงเดือนมกราคม และจัดค่ายในช่วงเดือนมีนาคม ของทุกปี

กิจกรรมกีฬา

[แก้]
หนองอ้อเกมส์
กีฬาภายในของมหาวิทยาลัยนเรศวรที่จัดขึ้นเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างนิสิตคณะต่างๆ ซึ่งนอกจากการแข่งขันกีฬาแล้ว ยังมีจุดที่น่าสนใจที่สุดของงานก็คือ การแสดงสแตนเชียร์ของคณะต่างๆ โดยจะจัดขึ้นในช่วงเดือนกรกฎาคม ของทุกปี
กีฬาเมดเกมส์ (Med Games)
งานกีฬาเชื่อมความสัมพันธ์ภายในคณะแพทยศาสตร์ โดยจัดขึ้นในช่วงต้นเดือนตุลาคม ของทุกปี
กีฬาเข็มสัมพันธ์ (Syringes Games)
หรือที่ในอดีตเรียกว่า "กีฬา 13 เข็มสัมพันธ์" เป็นกีฬาเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันผลิตแพทย์ต่างๆ ของประเทศไทย โดยจัดขึ้นทุกปีในช่วงปลายเดือนตุลาคม สถาบันที่เป็นเจ้าภาพนั้นจะจัดหมุนเวียนสลับกันไป โดยคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวรเคยได้รับเป็นเจ้าภาพในครั้งที่ 17 เมื่อปี พ.ศ. 2546 และได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพอีกครั้งในปี พ.ศ. 2554 แต่เนื่องจากประสบภาวะมหาอุทกภัย จึงเลื่อนการจัดงานไปในปีถัดไป ระหว่างวันที่ 20 - 22 ตุลาคม พ.ศ. 2555 (ซึ่งถือเป็นกีฬาเข็มสัมพันธ์ ครั้งที่ 25)[50]
กีฬาเฮลธ์ไซนซ์ (Health Sciences Games)
เป็นการแข่งขันกีฬาเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างคณะต่างๆ ในกลุ่มวิทยาศาสตร์สุขภาพ 7 คณะ ได้แก่ คณะแพทยศาสตร์ คณะทันตแพทยศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ คณะสหเวชศาสตร์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ และคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยจะจัดขึ้นในช่วงเดือนมกราคม ของทุกปี

กิจกรรมวิชาการ

[แก้]
สัปดาห์วิทยาศาสตร์
จัดขึ้นในช่วงปลายเดือนสิงหาคม ของทุกปี โดยในส่วนของคณะแพทยศาสตร์นั้นมีการจัดงานใน 2 ส่วน คือ อาคารคณะแพทยศาสตร์และคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ จะเป็นการให้ผู้ที่สนใจได้สัมผัสและเรียนรู้ทางด้านกายวิภาคศาสตร์ของมนุษย์จากร่างอาจารย์ใหญ่ ส่วนที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวรนั้นมีนิทรรศการและการให้ความรู้ทางด้านสุขภาพ

กิจกรรมส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม

[แก้]
พิธีไหว้ครูคณะแพทยศาสตร์
เป็นกิจกรรมที่ให้นิสิตแพทย์ทุกชั้นปีได้น้อมรำลึกถึงพระคุณของอาจารย์แพทย์ ซึ่งนอกจากพิธีไหว้ครูแล้ว ยังมีพิธีการมอบประกาศนียบัตรแก่นิสิตแพทย์ที่ได้คะแนนสูงสุดในแต่ละสาขาวิชาในแต่ละชั้นปี การมอบประกาศนียบัตรแก่นิสิตแพทย์ที่ดำรงตำแหน่งในสโมสรนิสิตแพทย์ในปีที่ผ่านมา รวมถึงการมอบประกาศนียบัตรแก่อาจารย์ในดวงใจที่นิสิตโหวตให้คะแนนสูงสุด และมอบโล่เกียรติคุณจากแพทยสภาให้แก่อาจารย์แพทย์ที่มีคุณธรรม จริยธรรม[51]
วันมหิดล
ตรงกับวันที่ 24 กันยายน ของทุกปี ซึ่งเป็นวันคล้ายวันทิวงคตของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ทางคณะแพทยศาสตร์ได้จัดให้มีพิธีวางพวงมาลาหน้าพระบรมราชานุสาวรีย์ บริเวณด้านหน้าโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร และมีกิจกรรมเพื่อสาธารณกุศล เช่น การตรวจสุขภาพโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย เป็นต้น และในส่วนของสโมสรนิสิตคณะแพทยศาสตร์ได้จัดให้นิสิตแพทย์ได้รับบริจาคเงินจากบุคคลทั่วไปโดยสมทบทุนมูลนิธิโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร
งานลอยกระทง เทิดไท้องค์ราชันย์ มิ่งขวัญนเรศวร
งานประเพณีลอยกระทงของมหาวิทยาลัยที่จัดขึ้นทุกปีในวันลอยกระทง โดยภายในงานจะมีขบวนแห่กระทงยักษ์ งานจัดร้านขายของและซุ้มเกมส์ของนิสิตคณะแพทยศาสตร์และคณะอื่นๆ รวมทั้งงานแสดงมหรสพอีกมากมาย
งานทำบุญและพระราชทานเพลิงศพอาจารย์ใหญ่
จัดขึ้นโดยภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งนิสิตแพทย์ชั้นปี 2 ที่เรียนในรายวิชาที่เกี่ยวข้องกับกายวิภาคศาสตร์เป็นเจ้าภาพงานร่วมด้วย งานทำบุญอาจารย์ใหญ่จะจัดขึ้นก่อนเปิดภาคเรียนในช่วงเดือนพฤษภาคม ส่วนงานพระราชทานเพลิงศพอาจารย์ใหญ่จัดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ ของปีถัดไปหลังจากที่การเรียนแล้วเสร็จ

กิจกรรมสานสัมพันธ์ภายในคณะ

[แก้]
งานเมดไนท์ (Med Night)
เป็นงานราตรีสังสรรค์ของคณะแพทยศาสตร์ ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในช่วงปลายเดือนมกราคม หรือต้นเดือนกุมภาพันธ์ เพื่อให้นิสิตแพทย์ทุกชั้นปี ทุกศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิกได้มาพบปะ พูดคุย สังสรรค์กัน นอกจากนี้ในงานยังมีพิธีรับขวัญโดยอาจารย์แพทย์ให้แก่นิสิตแพทย์ชั้นปี 3 ที่เตรียมตัวขึ้นเรียนในชั้นคลินิก รวมทั้งนิสิตแพทย์ชั้นปี 6 ที่กำลังจะจบการศึกษา
งานปัจฉิมนิเทศนิสิตแพทย์ชั้นปี 3
จัดขึ้นในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ภายหลังจบภาคเรียนที่ 2 ของนิสิตแพทย์ชั้นปี 3 โดยในงานนอกเหนือจากการปัจฉิมนิเทศโดยผู้บริหารคณะ รวมทั้งการแนะนำโรงพยาบาล และศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิกต่างๆ ให้แก่นิสิตแพทย์ชั้นปี 3 ที่กำลังจะขึ้นเรียนต่อในชั้นปี 4 แล้ว นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมที่จัดขึ้นโดยนิสิตแพทย์ชั้นปี 1 และ 2 เพิ่อขอบคุณและเลี้ยงส่งพี่ๆ นิสิตแพทย์ปี 3 ที่จะแยกย้ายไปเรียนในโรงพยาบาลต่างๆ อีกด้วย
งานปัจฉิมนิเทศนิสิตแพทย์ชั้นปี 6
จัดขึ้นในช่วงเดือนกุมภาพันธ์เช่นเดียวกัน โดยในงานจะเป็นการกล่าวให้โอวาทของผู้บริหารมหาวิทยาลัยและผู้บริหารคณะให้แก่นิสิตแพทย์ชั้นปี 6 ที่กำลังจะจบการศึกษา นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมเลี้ยงส่งซึ่งเป็นงานสังสรรค์ที่จัดขึ้นโดยคณะแพทยศาสตร์อีกด้วย

การพักอาศัยของนิสิตแพทย์

[แก้]
หอพักนิสิตแพทย์

สำหรับนิสิตแพทย์ชั้นปี 1 ทางมหาวิทยาลัยให้นิสิตชั้นปี 1 ทุกคณะ ทุกคน พักอาศัยอยู่ภายในหอพักนิสิตของมหาวิทยาลัยเพื่อให้มีโอกาสได้ทำความรู้จักกับเพื่อนนิสิตคณะอื่นๆ ซึ่งหอพักนิสิตมหาวิทยาลัยนเรศวรนั้นตั้งอยู่ด้านหลังมหาวิทยาลัยบริเวณข้างอ่างเก็บน้ำ เป็นอาคาร 4 ชั้น มีทั้งสิ้น 15 อาคาร โดยมี "อาคารขวัญเมือง" เป็นอาคารบริการและอาคารอเนกประสงค์ของหอพักนิสิต การพักอาศัยในหอพักของมหาวิทยาลัยนั้นจะมีการเก็บค่าใช้จ่ายรายเทอม[52]

ในส่วนของนิสิตแพทย์ชั้นปี 2 - 6 สามารถย้ายเข้ามาพักอาศัยในหอพักนิสิตแพทย์ซึ่งเป็นหอพักของคณะแพทยศาสตร์เอง โดยเป็นอาคารหอพักสูง 4 ชั้น ตั้งอยู่ด้านหลังโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร บริเวณด้านข้างหอพักอาจารย์ มน.นิเวศ 6 และมีการเก็บค่าใช้จ่ายเป็นรายปี[53] การพักอาศัยในหอพักนิสิตแพทย์นี้ไม่เป็นการบังคับ ซึ่งนิสิตแพทย์สามารถเช่าหอพักเอกชนที่มีอยู่โดยรอบมหาวิทยาลัยได้[54]

ในส่วนของนิสิตแพทย์ชั้นปี 4 - 6 ที่ศึกษา ณ ศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิกในแต่ละแห่งนั้น นิสิตแพทย์สามารถพักอาศัยในหอพักนิสิตแพทย์ในโรงพยาบาลแต่ละแห่ง โดยมีการเก็บค่าใช้จ่ายเป็นรายปีเช่นเดียวกัน

ทำเนียบคณบดี

[แก้]

รายนามคณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวรตั้งแต่ก่อตั้งจนถึงปัจจุบันมีดังนี้

คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
รายนามคณบดี วาระการดำรงตำแหน่ง
1. ศาสตราจารย์พิเศษ นายแพทย์สุจินต์ อึ้งถาวร 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2539 – 17 เมษายน พ.ศ. 2541 (รักษาการ)
18 เมษายน พ.ศ. 2541 – 17 เมษายน พ.ศ. 2545
2. รองศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ชุมนุม พรหมขัติแก้ว 18 เมษายน พ.ศ. 2545 – 24 มกราคม พ.ศ. 2546 (รักษาการ)
25 มกราคม พ.ศ. 2546 – 31 สิงหาคม พ.ศ. 2548
3. ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ศุภสิทธิ์ พรรณารุโณทัย 1 กันยายน พ.ศ. 2548 – 26 มกราคม พ.ศ. 2550 (รักษาการ)
27 มกราคม พ.ศ. 2550 – 31 สิงหาคม พ.ศ. 2557
4. ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ศิริเกษม ศิริลักษณ์ 1 กันยายน พ.ศ. 2557 - 31 สิงหาคม พ.ศ. 2565
5. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ แพทย์หญิงพิริยา นฤขัตรพิชัย 1 กันยายน พ.ศ. 2565 - ปัจจุบัน

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 รังสรรค์ วัฒนะ. อนุทินของการเป็นมหาวิทยาลัยนเรศวร. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์พัฒนาศึกษา,2547.
  2. "สถาบันแพทยศาสตร์ในประเทศไทย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-11-10. สืบค้นเมื่อ 2008-06-14.
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 ประวัติโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร[ลิงก์เสีย]
  4. 4.0 4.1 [http://www.med.nu.ac.th/anniversary/index-inout.html[ลิงก์เสีย] การผลิตบัณฑิตแพทย์ รูปแบบมหาวิทยาลัยนเรศวร
  5. 5.0 5.1 5.2 5.3 5.4 "ประวัติคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-06-10. สืบค้นเมื่อ 2008-06-04.
  6. "ประวัติ-ความเป็นมา ศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิกโรงพยาบาลพุทธชินราช พิษณุโลก". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-12-12. สืบค้นเมื่อ 2007-12-12.
  7. "ประวัติ-ความเป็นมา ศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิกโรงพยาบาลอุตรดิตถ์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-01-10. สืบค้นเมื่อ 2008-06-14.
  8. 8.0 8.1 8.2 คู่มือนิสิตระดับปริญญาตรี มหาวิทยาลัยนเรศวร ปีการศึกษา 2551
  9. "การจัดการศึกษาในหลักสูตรต่างๆ ของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-05-09. สืบค้นเมื่อ 2008-05-09.
  10. "การขออนุมัติเปลี่ยนแปลงชื่อภาควิชาและจัดตั้งภาควิชาเพิ่มเติมของคณะแพทยศาสตร์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-04-18. สืบค้นเมื่อ 2010-05-17.
  11. "ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-02-23. สืบค้นเมื่อ 2008-03-12.
  12. "ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-09-11. สืบค้นเมื่อ 2008-03-12.
  13. "ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-02-23. สืบค้นเมื่อ 2008-03-12.
  14. "ภาควิชานิติเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-09-30. สืบค้นเมื่อ 2011-08-23.
  15. "ภาควิชาพยาธิวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-02-23. สืบค้นเมื่อ 2008-03-12.
  16. "ภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-09-03. สืบค้นเมื่อ 2008-03-12.
  17. "ภาควิชาวิสัญญีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-02-23. สืบค้นเมื่อ 2008-03-12.
  18. "ภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-10-30. สืบค้นเมื่อ 2013-10-29.
  19. "ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-02-23. สืบค้นเมื่อ 2008-03-12.
  20. "ภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-07-23. สืบค้นเมื่อ 2010-07-05.
  21. "ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-09-05. สืบค้นเมื่อ 2008-03-12.
  22. "ภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-08-04. สืบค้นเมื่อ 2010-07-05.
  23. "ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-02-23. สืบค้นเมื่อ 2008-03-12.
  24. "ภาควิชาออร์โธปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-02-23. สืบค้นเมื่อ 2008-03-12.
  25. "ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-02-23. สืบค้นเมื่อ 2008-03-12.
  26. ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
  27. [1]
  28. ภาควิชารเวชศาสตร์ครอบครัว คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
  29. [2]
  30. [3]
  31. [4]
  32. [5]
  33. 33.0 33.1 "ประกาศมหาวิทยาลัยนเรศวร เรื่อง การรับสมัครสอบคัดเลือกบุคคลเพื่อเข้าศึกษาในหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต (แนวใหม่) โครงการการผลิตแพทย์เพิ่มแนวใหม่เพื่อชาวชนบท" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2015-09-19. สืบค้นเมื่อ 2012-07-22.
  34. 34.0 34.1 "หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2551". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-09-19. สืบค้นเมื่อ 2010-02-17.
  35. ณะแพทยศาสตร์ต่าง ๆ ในประเทศ ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานการศึกษาแพทยศาสตร์ตามมาตรฐานสากล WFME Global Standards, Basic Medical Education จากสถาบันรับรองมาตรฐานการศึกษาแพทยศาสตร์ (สมพ.)
  36. "เป้าหมายในการบริหารมหาวิทยาลัยนเรศวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2005-12-28. สืบค้นเมื่อ 2005-12-28.
  37. "โครงสร้างองค์กรงานวิจัย ฝ่ายประกันคุณภาพและวิจัย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-06-07. สืบค้นเมื่อ 2008-06-15.
  38. "นโยบาย ยุทธศาสตร์และภารกิจการวิจัยของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-09-20. สืบค้นเมื่อ 2008-06-15.
  39. "ผลงานวิจัย อาจารย์แพทย์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-06-06. สืบค้นเมื่อ 2018-02-24.
  40. "ผลงานวิจัย อาจารย์แพทย์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ปีงบประมาณ 2560". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-11-26. สืบค้นเมื่อ 2018-02-24.
  41. "ฐานข้อมูลผลงานวิจัยนิสิตแพทย์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-06-12. สืบค้นเมื่อ 2008-06-15.
  42. ศูนย์โรคเฉพาะทาง โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร
  43. "สถานรักษาแก้ไขภาวะปากแหว่งเพดานโหว่และความผิดปกติของศีรษะและใบหน้า มหาวิทยาลัยนเรศวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-03-11. สืบค้นเมื่อ 2018-02-24.
  44. 44.0 44.1 "วารสารใต้ร่มเสลา ปีที่ 1 ฉบับที่ 4 พฤษภาคม 2551" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2009-12-22. สืบค้นเมื่อ 2021-09-07.
  45. 45.0 45.1 45.2 NU Newsletter Volume 6 Number 24 October-December 2007
  46. "ประวัติคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยนเรศวร". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-05-12. สืบค้นเมื่อ 2007-05-12.
  47. "ศูนย์นิติวิทยาศาสตร์และหน่วยงานปฏิบัติการกลางและส่งเสริมงานวิจัย คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-08-23. สืบค้นเมื่อ 2007-08-23.
  48. "มติที่ประชุมโดยย่อ คณะกรรมการสภามหาวิทยาลัยครั้งที่ 171 (5/2555) วันที่ 27 พฤษภาคม 2555 เรื่องรับทราบการพระราชทานชื่ออาคารเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา 1" และ "อาคารเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา 2". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-09-19. สืบค้นเมื่อ 2012-06-21.
  49. "โครงการพัฒนาระบบบริการระดับตติยภูมิ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-09-19. สืบค้นเมื่อ 2009-11-26.
  50. "เวปไซต์กีฬาเข็มสัมพันธ์ครั้งที่ 25 คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-09-19. สืบค้นเมื่อ 2012-10-18.
  51. "พิธีไหว้ครู คณะแพทยศาสตร์ ประจำปีการศึกษา 2551". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-09-19. สืบค้นเมื่อ 2008-06-19.
  52. "หอพักนิสิตมหาวิทยาลัยนเรศวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-08-21. สืบค้นเมื่อ 2021-08-14.
  53. ประกาศคณะแพทยศาสตร์ เรื่องการเข้าพักในหอพักนิสิตแพทย์ ปีการศึกษา 2551
  54. "รายชื่อหอพักเอกชนรอบบริเวณมหาวิทยาลัยนเรศวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-06-15. สืบค้นเมื่อ 2008-06-21.

ดูเพิ่ม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]