ข้ามไปเนื้อหา

คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
Faculty of Social Sciences, Kasetsart University
สถาปนา7 มีนาคม พ.ศ. 2517; 50 ปีก่อน (2517-03-07)
สังกัดการศึกษามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
คณบดีน.ท.หญิง ผศ.ดร.งามลมัย ผิวเหลือง
ที่อยู่
50 ถนนงามวงศ์วาน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900
สี  สีแดงเลือดนก[1]
เว็บไซต์www.soc.ku.ac.th

คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นคณะหนึ่งในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน เปิดสอนในระดับปริญญาตรีถึงปริญญาเอกทางด้านสังคมศาสตร์ และเปิดสอนในรายวิชาทางด้านสังคมศาสตร์ให้กับนิสิตสาขาอื่น ๆ ในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์อีกด้วย

ประวัติ

[แก้]

คณะสังคมศาสตร์ มีพัฒนาการมาจากการศึกษาด้านสังคมศาสตร์ในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งมหาวิทยาลัยใน พ.ศ. 2486 โดยอยู่ในแผนกวิชาเศรษฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ และแผนกวิชานิติศาสตร์ ซึ่งทั้ง 2 แผนกอยู่ในสังกัดคณะสหกรณ์[2] โดยขณะนั้นเปิดสอนในรายวิชาด้านสังคมศาสตร์ให้กับนิสิตสาขาอื่นๆ ไม่ได้เปิดการเรียนการสอนด้านสังคมศาสตร์ในระดับปริญญา

ต่อมาใน พ.ศ. 2495 แผนกวิชาเศรษฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ได้ถูกแยกออกจากกัน ด้านสังคมศาสตร์ได้เปลี่ยนเป็นแผนกวิชาสังคมศาสตร์ สังกัดคณะสหกรณ์และเศรษฐศาสตร์ แต่ไม่นานก็ถูกยุบรวมกับแผนกวิชานิติศาสตร์ใน พ.ศ. 2499 และเปลี่ยนเป็นแผนกวิชานิติศาสตร์และสังคมศาสตร์ สังกัดคณะเศรษฐศาสตร์สหกรณ์

ใน พ.ศ. 2509 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้จัดตั้งคณะวิทยาศาสตร์และอักษรศาสตร์ และย้ายการศึกษาด้านสังคมศาสตร์นอกจากเศรษฐศาสตร์และนิติศาสตร์มาอยู่ในสังกัดคณะ เป็นแผนกวิชาสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์[3] และได้เปิดหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาพัฒนาชุมชน เป็นสาขาวิชาแบบสหวิทยาการสังกัดบัณฑิตวิทยาลัยเป็นสาขาวิชาแรกที่เปิดสอนในระดับปริญญา และในปีต่อมาจึงได้เปิดหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาสังคมศาสตร์ทั่วไป เป็นสาขาวิชาแรกในระดับปริญญาตรีโดยมีนิสิตคนแรกโอนมาจากคณะเกษตร และมีนิสิตเข้าศึกษารุ่นแรกโดยการสอบจำนวน 12 คน

ใน พ.ศ. 2512 ได้มีความพยายามที่จะจัดตั้งคณะสังคมศาสตร์โดย ศาสตราจารย์ ดร.นิพนธ์ คันธเสวี หัวหน้าภาควิชาสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์คนแรก แต่ได้รับการชะลอการก่อตั้งไว้จากทางมหาวิทยาลัย เป็นเวลาหลายปีจึงได้อนุมัติให้จัดตั้งคณะสังคมศาสตร์ขึ้นในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์อย่างเป็นทางการ [4] ในวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2517 โดยมีศาสตราจารย์ ดร.สุธรรม อารีกุล ดำรงตำแหน่งคณบดีของคณะเป็นคนแรก และมีการแบ่งภาควิชาโดยยกหมวดวิชาต่างในคณะสังคมศาสตร์เป็นภาควิชาต่าง ๆ ใน พ.ศ. 2518 ซึ่งคณะสังคมศาสตร์ในขณะนั้นมีทั้งหมด 5 ภาควิชา ได้แก่

  • ภาควิชาจิตวิทยา
  • ภาควิชาภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์
  • ภาควิชาปรัชญาและศาสนา
  • ภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์
  • ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา

ในระยะแรกคณะสังคมศาสตร์ได้ใช้อาคารชั่วคราวบริเวณหน้าคณะเศรษฐศาสตร์และบริหารธุรกิจซึ่งเป็นที่ตั้งของภาควิชาสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์เดิม จนถึงปี พ.ศ. 2521 จึงได้ย้ายเข้ามาอยู่ในอาคารถาวรแห่งแรกของคณะสังคมศาสตร์ในบริเวณที่ตั้งปัจจุบัน

ใน พ.ศ. 2520 ได้มีการก่อตั้งภาควิชานิติศาสตร์เพื่อเปิดสอนรายวิชาด้านกฎหมายในมหาวิทยาลัย และใน พ.ศ. 2523 ภาควิชาปรัชญาและศาสนาได้ย้ายไปสังกัดคณะมนุษยศาสตร์ ที่ได้รับการก่อตั้งเป็นคณะใหม่ และใน พ.ศ. 2528 ภาควิชาภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์ได้แยกสาขาออกจากกันเป็นภาควิชาภูมิศาสตร์และภาควิชาประวัติศาสตร์ทำให้คณะสังคมศาสตร์มีจำนวนภาควิชาอยู่ 6 ภาควิชาจนถึงปัจจุบัน

หน่วยงาน

[แก้]

คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประกอบด้วยหน่วยงานซึ่งรับผิดชอบในหลักสูตรต่าง ๆ ของคณะสังคมศาสตร์รวมถึงรายวิชาและการวิจัยทางด้านสังคมศาสตร์ และสำนักงานเลขานุการคณะซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบในการบริหารต่าง ๆ ของคณะ นอกจากนี้คณะสังคมศาสตร์ยังมีโครงการภาคพิเศษต่างๆสำหรับหลักสูตรที่ทำการเรียนการสอนนอกเวลาราชการเพื่อส่งเสริมการศึกษาในระดับปริญญา ประกอบด้วยหน่วยงานจำนวน 7 หน่วยงาน[5]

  • ภาควิชาจิตวิทยา

พ.ศ. 2509 ภาควิชาสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ได้รับการแต่งตั้งขึ้นในคณะวิทยาศาสตร์และอักษรศาสตร์ กลุ่มวิชาจิตวิทยาได้รับการบรรจุเข้าในหลักสูตรของ ภาควิชาสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ อันประกอบไปด้วยวิชา จิตวิทยาเบื้องต้น จิตวิทยาในชีวิตประจำวัน จิตวิทยาสังคม และจิตวิทยามนุษยสัมพันธ์

ต่อมาในปี พ.ศ. 2517 คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้รับการสถาปนาขึ้น กลุ่มวิชาจิตวิทยาจึงได้เริ่มจัดเข้าเป็นระบบโดยเรียกว่า สาขาจิตวิทยา และได้เปิดรับนิสิตเข้าศึกษาวิชาจิตวิทยาเป็นรุ่นแรก เมื่อ พ.ศ. 2518 นับตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

  • ภาควิชานิติศาสตร์

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้เปิดสอนวิชาด้านนิติศาสตร์มาตั้งแต่การก่อตั้งมหาวิทยาลัยในปี พ.ศ. 2486 โดยมีหน่วยงานคือแผนกวิชานิติศาสตร์ สังกัดคณะสหกรณ์ โดยเน้นการสอนเกี่ยวกับกฎหมายสหกรณ์ และมีการเปลี่ยนแปลงอยู่หลายครั้ง โดยในปี พ.ศ. 2499 ได้ถูกรวมกับแผนกวิชาสังคมศาสตร์และเปลี่ยนเป็น แผนกวิชานิติศาสตร์และสังคมศาสตร์ สังกัดคณะเศรษฐศาสตร์สหกรณ์ จนต่อมาได้มีการก่อตั้งคณะวิทยาศาสตร์และอักษรศาสตร์และได้การศึกษาด้านสังคมศาสตร์ไปจึงได้กลับมาใช้ชื่อแผนกวิชานิติศาสตร์อีกครั้ง แต่ต่อมาก็ถูกยุบลงไป

ในปี พ.ศ. 2523 คณะสังคมศาสตร์ได้จัดตั้งภาควิชานิติศาสตร์ขึ้นใหม่อีกครั้ง โดยให้ภาควิชานิติศาสตร์เป็นภาควิชาบริการสำหรับการเปิดสอนวิชาทางนิติศาสตร์ให้กับนิสิตในหลักสูตรของภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ และนิสิตทั่วไปที่ต้องการเรียนรายวิชาทางนิติศาสตร์ รวมถึงเปิดบริการปรึกษาด้านกฎหมายแก่บุคลากรทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย

ภาควิชานิติศาสตร์ยังมิได้ผลิตนิสิตในหลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิตจนกระทั่งปี พ.ศ. 2546 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จึงได้รับอนุมัติให้เปิดหลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิตและรับนิสิตระดับปริญญาตรีรุ่นแรกในปี พ.ศ. 2548 โดยเน้นทางด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญา การเกษตร และทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ในปี พุทธศักราช 2562 ภาควิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้รับการรับรองจากองค์กรนักศึกษากฎหมายแห่งเอเชีย (Asian Law Students' Association : ALSA) ให้เป็น Local Chapters ที่ 5 ของ ALSA ประเทศไทย ในนาม "ALSA Kasetsart" เพื่อส่งเสริมนิสิตภาควิชานิติศาสตร์ ให้มีความรู้ทางด้านกฎหมายในระดับสากลมากยิ่งขึ้น[6]

  • ภาควิชาประวัติศาสตร์
  • ภาควิชาภูมิศาสตร์
  • ภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์
  • ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา

ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาแต่เดิมเป็นกลุ่มวิชาหนึ่งที่เปิดสอนในภาควิชาสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อมีการก่อตั้งคณะสังคมศาสตร์ในปี พ.ศ. 2517 จึงได้ถูกจัดตั้งเป็นภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา และเปิดสอนในระดับปริญญาตรีหลักสูตรแรกคือหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ในปี พ.ศ. 2518 และต่อมาจึงได้เปิดสอนในระดับปริญญาโทคือหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสังคมวิทยาประยุกต์ในปี พ.ศ. 2536 นอกจากนี้ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยายังมีการจัดทำโครงการหลักสูตรสองปริญญาคู่ขนานกับหลักสูตรวิทยาศาสตร์บัณฑิต สาขาวิชาวนศาสตร์ชุมชน และหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ใช้เวลาการศึกษา 5 ปี ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างคณะสังคมศาสตร์และคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

หลักสูตร

[แก้]

คณะสังคมศาสตร์เปิดสอนในหลักสูตรปริญญาตรีจำนวน 7 สาขาวิชา ปริญญาโท 9 สาขาวิชา ปริญญาเอก 1 สาขาวิชา ทั้งในภาคปกติและภาคพิเศษ

หลักสูตรที่เปิดสอนในคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ระดับปริญญาบัณฑิต ระดับปริญญามหาบัณฑิต ระดับปริญญาดุษฎีบัณฑิต

หลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต (น.บ.)

  • สาขาวิชานิติศาสตร์ (ภาคปกติและภาคพิเศษ)

หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต (วท.บ.)

  • สาขาวิชาจิตวิทยา (ภาคปกติและภาคพิเศษ)
    • สาขาวิชาจิตวิทยาชุมชน
    • สาขาวิชาจิตวิทยาคลินิก
    • สาขาวิชาจิตวิทยาพัฒนาการ
    • สาขาวิชาจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การ
  • สาขาวิชาภูมิศาสตร์ (ภาคปกติและภาคพิเศษ)

หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต (ศศ.บ.)

  • สาขาวิชาประวัติศาสตร์
  • สาขาวิชารัฐศาสตร์ (ภาคปกติและภาคพิเศษ)
    • แขนงวิชาการปกครองและบริหารจัดการท้องถิ่น
    • แขนงวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
    • แขนงวิชาบริหารงานยุติธรรมและความปลอดภัย
  • สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ (ภาคปกติและภาคพิเศษ)
  • สาขาวิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา (ภาคปกติและโครงการหลักสูตรสองปริญญาคู่ขนาน
    กับหลักสูตรวิทยาศาสตร์บัณฑิต สาขาวิชาวนศาสตร์ชุมชน 5 ปี ของคณะวนศาสตร์)
  • สาขาวิชาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา (ภาคพิเศษ)

หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (วท.ม.)

  • สาขาวิชาจิตวิทยาชุมชน (ภาคปกติและภาคพิเศษ)
  • สาขาวิชาจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การ (ภาคปกติและภาคพิเศษ)
  • สาขาวิชาภูมิศาสตร์การวางแผนพัฒนา

หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (ศศ.ม.)

  • สาขาวิชาการจัดการความขัดแย้ง (ภาคพิเศษ)
  • สาขาวิชาการบริหารและพัฒนาสังคม (ภาคปกติและภาคพิเศษ)
  • สาขาวิชาประวัติศาสตร์
  • สาขาวิชาพัฒนสังคมศาสตร์ (ภาคปกติและภาคพิเศษ)
  • สาขาวิชารัฐศาสตร์ (ภาคปกติและภาคพิเศษ)
    • วิชาเอกการปกครอง
    • วิชาเอกความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
    • วิชาเอกรัฐประศาสนศาสตร์
  • สาขาวิชาสังคมวิทยาประยุกต์

หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (ปร.ด.)

  • สาขาวิชาสังคมศาสตร์

ทำเนียบคณบดี

[แก้]
รายนามคณบดีคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
รายนามคณบดี วาระการดำรงตำแหน่ง
1. ศาสตราจารย์ ดร.สุธรรม อารีกุล พ.ศ. 2517 - พ.ศ. 2518
2. ศาสตราจารย์ ดร.นิพนธ์ คันธเสวี พ.ศ. 2518 - พ.ศ. 2530
3. อาจารย์ ดร.ระดม เศรษฐีธร พ.ศ. 2522 - พ.ศ. 2526
4. รองศาสตราจารย์ อัณณพ ชูบำรุง พ.ศ. 2530 - พ.ศ. 2538
5. รองศาสตราจารย์ ดร.สมเกียรติ วันทะนะ พ.ศ. 2538 - พ.ศ. 2546
6. รองศาสตราจารย์ พวงเพชร สุรัตนกวีกุล พ.ศ. 2546 - พ.ศ. 2550
7. รองศาสตราจารย์ ดร.มนฤตย์พล อุรบุญนวลชาติ พ.ศ. 2550 - พ.ศ. 2558
8. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทิพย์วัลย์ สุรินยา พ.ศ. 2558 - พ.ศ. 2562
9. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นาวาอากาศโทหญิง ดร.งามลมัย ผิวเหลือง พ.ศ. 2562 - ปัจจุบัน

หมายเหตุ คำนำหน้านามของผู้ดำรงตำแหน่งคณบดี เป็นคำนำหน้านามตามตำแหน่งทางวิชาการในขณะนั้น

อันดับและมาตรฐาน

[แก้]
Times Higher Education World University Rankings by subjects
Global
THE Social Sciences 601+ (2021)

สถาบัน Times Higher Education (THE) ได้ทำการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกแยกตามสาขา หรือ Times Higher Education World University Rankings by subjects พบว่าคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้รับการจัดอันดับให้ติดอันดับโลกในสาขา Social Sciences อันดับที่ 601+ ในปี 2021[7]

บุคคลที่มีชื่อเสียง

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. ประกาศมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เรื่อง ชื่อปริญญาในสาขาวิชา อักษรย่อสำหรับสาขาวิชา ครุยวิทยฐานะ และเข็มวิทยฐานะของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๕๙ ประกาศเมื่อวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๖๖ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ๑๓ มิ.ย. ๒๕๕๙ เล่ม ๑๓๓ ตอนพิเศษ ๑๓๔ ง หน้า ๖ สืบค้นเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2566
  2. "พระราชกฤษฎีกาจัดแบ่งคณะในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พุทธศักราช 2486" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2020-10-21. สืบค้นเมื่อ 2009-04-21.
  3. "พระราชกฤษฎีกาจัดแบ่งคณะในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ. 2509" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2009-04-21.
  4. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การแบ่งส่วนราชการในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ. 2517
  5. ประกาศทบวงมหาวิทยาลัย เรื่อง การแบ่งส่วนราชการในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2528
  6. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-06-21. สืบค้นเมื่อ 2020-05-28.
  7. "THE World University Rankings 2021 by subject: social sciences - Kasetsart University". Times Higher Education. สืบค้นเมื่อ 21 January 2021.

บรรณานุกรม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]