ข้ามไปเนื้อหา

อำเภอหาดใหญ่

พิกัด: 6°57′55″N 100°25′44″E / 6.96533°N 100.42877°E / 6.96533; 100.42877
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก อ.หาดใหญ่)
อำเภอหาดใหญ่
การถอดเสียงอักษรโรมัน
 • อักษรโรมันAmphoe Hat Yai
เขตเทศบาลนครหาดใหญ่ ทัศนียภาพเมืองจากเขาคอหงส์
เขตเทศบาลนครหาดใหญ่ ทัศนียภาพเมืองจากเขาคอหงส์
คำขวัญ: 
ชุมทางปักษ์ใต้ หลากหลายเศรษฐกิจ ชีวิตอุดม รื่นรมย์ธรรมชาติ ชายหาดแหลมโพธิ์ ส้มโอสีชมพู คู่คลองอู่ตะเภา ขุนเขาโตนงาช้าง
แผนที่จังหวัดสงขลา เน้นอำเภอหาดใหญ่
แผนที่จังหวัดสงขลา เน้นอำเภอหาดใหญ่
พิกัด: 7°0′6″N 100°27′24″E / 7.00167°N 100.45667°E / 7.00167; 100.45667
ประเทศ ไทย
จังหวัดสงขลา
พื้นที่
 • ทั้งหมด852.796 ตร.กม. (329.266 ตร.ไมล์)
ประชากร
 (2567)
 • ทั้งหมด406,374 คน
 • ความหนาแน่น476.52 คน/ตร.กม. (1,234.2 คน/ตร.ไมล์)
รหัสไปรษณีย์ 90110
รหัสภูมิศาสตร์9011
ที่ตั้งที่ว่าการที่ว่าการอำเภอหาดใหญ่ ถนนเพชรเกษม ตำบลหาดใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา 90110
สารานุกรมประเทศไทย ส่วนหนึ่งของสารานุกรมประเทศไทย

หาดใหญ่ เป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดสงขลา เป็นที่ตั้งของเทศบาลนครหาดใหญ่ ซึ่งถือเป็นเมืองใหญ่ที่สุดในภาคใต้ และเป็นเมืองที่มีชื่อเสียงในการท่องเที่ยว เป็นศูนย์รวมของสินค้าและบริการหลักในภาคใต้

ประวัติ

[แก้]

"หาดใหญ่" เป็นชื่อรวมของหมู่บ้านโคกเสม็ดชุนและหมู่บ้านหาดใหญ่ เดิมดินแดนหาดใหญ่เป็นเนินสูง มีผู้คนอาศัยอยู่ไม่มากนัก การคมนาคมไม่สะดวก เป็นป่าต้นเสม็ดชุน โดยทั่วไปชาวบ้านจึงเรียกว่า "บ้านโคกเสม็ดชุน" เมื่อทางการได้ตัดทางรถไฟมาถึงท้องถิ่นนี้ จึงมีประชาชนอพยพมาตั้งหลักแหล่งทำมาหากินเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ

สมัยนั้นสถานีชุมทางรถไฟอยู่ที่สถานีรถไฟชุมทางอู่ตะเภา (ด้านเหนือของสถานีรถไฟชุมทางหาดใหญ่ แต่ปัจจุบันทั้งตัวอาคารสถานีและป้ายสถานีอู่ตะเภาได้ถูกรื้อถอนออกไปหมดแล้ว) เนื่องจากพื้นที่บริเวณสถานีอู่ตะเภาเป็นที่ลุ่ม น้ำท่วมเป็นประจำ ทางการรถไฟจึงได้ย้ายสถานีมาอยู่ที่สถานีชุมทางหาดใหญ่ปัจจุบัน ประชาชนได้ทยอยติดตามมาสร้างบ้านเรือนตามบริเวณสถานีนั่นเอง ฉะนั้นอาจกล่าวได้ว่ากิจการรถไฟมีบทบาทต่อการขยับขยายและความเจริญก้าวหน้าของนครหาดใหญ่ตลอดมา

ต่อมาได้มีผู้เห็นการณ์ไกลว่า บริเวณสถานีรถไฟหาดใหญ่นี้ต่อไปภายหน้าจะต้องเจริญก้าวหน้าอย่างแน่นอน จึงได้มีการจับจองและซื้อที่ดินแปลงใหญ่จากราษฏรพื้นบ้าน บุคคลที่ครอบครองแผ่นดินผืนใหญ่ ๆ อาทิ นายเจียกีซี (ต่อมาได้รับพระราชทานนามเป็นขุนนิพัทธ์จีนนคร) คุณพระเสน่หามนตรี นายซีกิมหยง และพระยาอรรถกระวีสุนทร ทั้ง 4 ท่านนี้นับว่าเป็นบุคคลที่มีส่วนในการสร้างสรรค์ความเจริญก้าวหน้าให้แก่นครหาดใหญ่อย่างยิ่ง ได้ตัดถนนสร้างอาคารบ้านเรือนให้ราษฏรเช่า ตัดที่ดินแบ่งขาย เงินที่ได้ก็นำไปตัดถนนสายใหม่ต่อไป ทำให้ท้องถิ่นรุดหน้าอย่างอัศจรรย์

ชุมชนหาดใหญ่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว จนทางราชการต้องยกฐานะให้บ้านหาดใหญ่เป็นอำเภอ มีชื่อว่า อำเภอเหนือ ต่อมาในปี พ.ศ. 2460 ได้เปลี่ยนชื่อจากอำเภอเหนือเป็น อำเภอหาดใหญ่

ต่อมาอำเภอหาดใหญ่มีอาณาเขตกว้างขวาง ทำให้ส่วนราชการไม่สามารถดูแลได้อย่างทั่วถึง จึงมีการจัดตั้งและยกฐานะอำเภอใหม่ขึ้น 3 อำเภอ ตามลำดับ ดังนี้

  1. อำเภอนาหม่อม จัดตั้งเป็นกิ่งอำเภอเมื่อวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2524 และยกฐานะขึ้นเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2537
  2. อำเภอบางกล่ำ จัดตั้งเป็นกิ่งอำเภอเมื่อวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2529 และยกฐานะขึ้นเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2538
  3. อำเภอคลองหอยโข่ง จัดตั้งเป็นกิ่งอำเภอเมื่อวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2535 และยกฐานะขึ้นเมื่อวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2540

ในปี 2543 เกิดอุทกภัยระหว่างวันที่ 21–23 พฤศจิกายน เกิดจากฝนตกในเขตทิวเขาสันกาลาคีรี และการระบายน้ำเกดิช้าเนื่องจากคูคลองตื้นเขินและมีแนวคันกีดขวางทางเดินของน้ำ[1] ทำให้น้ำท่วมสูงในตัวเมืองชั้นใน คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 10,000 ล้านบาท[2] ตัวเลขทางการระบุว่ามีผู้เสียชีวิต 35 คน แต่ข้อมูลอย่างไม่เป็นทางการระบุว่าอาจสูงกว่า 233 คน ซึ่งยังไม่นับรวมชาวต่างประเทศ[3] แต่จากเหตุการณ์ดังกล่าว ถึงแม้กรมชลประทานได้รับมอบหมายให้จัดทำโครงการบรรเทาอุทกภัยฯ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ[4] แต่สุดท้ายก็ยังเกิดอุทกภัยขึ้นอีกในปี 2548[5]

ที่ตั้งและอาณาเขต

[แก้]

อำเภอหาดใหญ่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองจังหวัด ระยะทางห่างจากตัวเมืองสงขลา 30 กิโลเมตร อยู่ห่างจากกรุงเทพมหานครตามเส้นทางรถไฟประมาณ 974 กิโลเมตร และทางรถยนต์ประมาณ 993 กิโลเมตร มีอาณาเขตติดต่อกับเขตการปกครองข้างเคียงดังต่อไปนี้

ลักษณะทางภูมิศาสตร์

[แก้]
มุมมองเทศบาลนครหาดใหญ่ จากเขาคอหงส์

ลักษณะภูมิประเทศของอำเภอหาดใหญ่โดยทั่วไปเป็นที่ราบลุ่มกว้างใหญ่ มีแนวภูเขาทางด้านทิศตะวันตก ทิศใต้ และทิศตะวันออก โดยพื้นที่ลาดจากทิศใต้และทิศตะวันตกไปสู่ทะเลสาบสงขลา มีพื้นที่ติดกับทิวเขาบรรทัดทางทิศเหนือ และติดกับทิวเขาสันกาลาคีรีทางทิศตะวันตกและทิศใต้ ภูเขาที่สำคัญได้แก่ เขาคอหงส์ เขาแก้ว เขาวังพา และเขาน้ำน้อย

สภาพภูมิอากาศมีความคล้ายคลึงกับสภาพอากาศโดยทั่วไปของภาคใต้ที่อยู่ในเขตภูมิอากาศแบบมรสุมเขตร้อน แบ่งออกเป็น 2 ฤดูกาล คือฤดูฝนและฤดูร้อน ฤดูฝนมี 2 ระยะ เริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-มิถุนายน และเดือนกันยายน-ธันวาคม

แหล่งน้ำ

[แก้]
  • คลองเตย เป็นคลองสายเก่าแก่ที่สุดของนครหาดใหญ่ อยู่ทางทิศตะวันออกของตัวเมือง ไหลเข้าสู่ทางด้านใต้ของสถานีรถไฟหาดใหญ่ ผ่านบริเวณทุ่งเสาไหลเรียบ ถนนสายต่าง ๆ
  • คลองอู่ตะเภา อยู่ทางด้านทิศตะวันตกของตัวเมืองหาดใหญ่ ยาวประมาณ 15 กิโลเมตร เคยเป็นเส้นทางสัญจรสำคัญระหว่างเมืองสงขลาและเมืองไทรบุรี (รัฐเกอดะฮ์ของประเทศมาเลเซียในปัจจุบัน) แต่ ณ ปัจจุบัน (พ.ศ. 2549) คุณภาพของน้ำในคลองอยู่ในสถานการณ์น่าเป็นห่วง

การแบ่งเขตการปกครอง

[แก้]

การปกครองส่วนภูมิภาค

[แก้]

อำเภอหาดใหญ่แบ่งพื้นที่การปกครองออกเป็น 13 ตำบล 93 หมู่บ้าน

การปกครองส่วนท้องถิ่น

[แก้]

ท้องที่อำเภอหาดใหญ่ประกอบด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 15 แห่ง ได้แก่

  • เทศบาลนครหาดใหญ่ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลหาดใหญ่ทั้งตำบล
  • เทศบาลเมืองบ้านพรุ ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของตำบลบ้านพรุ
  • เทศบาลเมืองคอหงส์ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลคอหงส์ทั้งตำบล
  • เทศบาลเมืองควนลัง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลควนลังทั้งตำบล
  • เทศบาลเมืองคลองแห ครอบคลุมพื้นที่ตำบลคลองแหทั้งตำบล
  • เทศบาลเมืองทุ่งตำเสา ครอบคลุมพื้นที่ตำบลทุ่งตำเสาทั้งตำบล
  • เทศบาลตำบลพะตง ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของตำบลพะตง
  • เทศบาลตำบลบ้านไร่ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลบ้านพรุ (เฉพาะนอกเขตเทศบาลเมืองบ้านพรุ)
  • เทศบาลตำบลน้ำน้อย ครอบคลุมพื้นที่ตำบลน้ำน้อยทั้งตำบล
  • เทศบาลตำบลคูเต่า ครอบคลุมพื้นที่ตำบลคูเต่าทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลฉลุง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลฉลุงทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลคลองอู่ตะเภา ครอบคลุมพื้นที่ตำบลคลองอู่ตะเภาทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งใหญ่ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลทุ่งใหญ่ทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลท่าข้าม ครอบคลุมพื้นที่ตำบลท่าข้ามทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลพะตง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลพะตง (เฉพาะนอกเขตเทศบาลตำบลพะตง)

การคมนาคมขนส่ง

[แก้]

อำเภอหาดใหญ่เป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งของภาคใต้ตอนล่าง มีวิธีการเดินทางทั้งทางรถยนต์ ทางรถไฟ และทางอากาศ

  • ทางรถยนต์ อำเภอหาดใหญ่มีทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4 (ถนนเพชรเกษม) และทางหลวงเอเชียสาย 2 (ซ้อนทับกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4) ตัดผ่าน โดยมีสามแยกคอหงส์ (จุดบรรจบกับถนนกาญจนวณิชย์) เป็นจุดปลายของถนนเพชรเกษม (จุดเริ่มต้นของถนนเพชรเกษมอยู่ที่สี่แยกท่าพระ กรุงเทพมหานคร) จากนั้นทางหลวงหมายเลข 4 จะซ้อนทับกับถนนกาญจนวณิชย์จากสามแยกคอหงส์ไปสิ้นสุดที่ชายแดนไทย-มาเลเซียที่ด่านสะเดา อำเภอสะเดา

นครหาดใหญ่เชื่อมกับนครสงขลา ศูนย์กลางของจังหวัด ด้วยทางหลวงหมายเลข 407 (ถนนกาญจนวณิชย์ช่วงสามแยกคอหงส์ หาดใหญ่ - สามแยกสำโรง สงขลา) และทางหลวงหมายเลข 414 (ถนนลพบุรีราเมศวร์) ซึ่งไปบรรจบกับถนนกาญจนวณิชย์ที่ห้าแยกน้ำกระจาย มีรถโดยสารประจำทางระหว่างเมืองของบริษัท ขนส่ง จำกัด ให้บริการไปยังจุดหมายต่าง ๆ ทั้งกรุงเทพและภาคใต้ โดยมีสถานีขนส่งหาดใหญ่เป็นสถานีรถโดยสารประจำเมือง

  • ทางรถไฟ สถานีรถไฟชุมทางหาดใหญ่ มีเส้นทางรถไฟ 4 สายมาบรรจบกัน นั่นคือทางรถไฟสายใต้หลักไปกรุงเทพฯ ทางรถไฟสายใต้หลักไปสุไหงโก-ลก ทางรถไฟสายแยกไปปาดังเบซาร์ (เชื่อมต่อกับทางรถไฟของมาเลเซีย) และทางรถไฟสายแยกไปสงขลา แต่ทางรถไฟสายสงขลาปัจจุบันไม่ได้ใช้งานแล้ว สถานีรถไฟชุมทางหาดใหญ่มีรถไฟโดยสารบริการ 28 ขบวน โดยที่ 26 ขบวนเป็นของการรถไฟแห่งประเทศไทย ทั้งยังมีขบวนรถใหม่ที่จากกรุงเทพมหานคร-ชุมทางหาดใหญ่คือ ขบวนรถด่วนพิเศษทักษิณารักษ์ อีก 2 ขบวนเป็นของบริษัทการรถไฟมลายา (KTMB) ของมาเลเซีย วิ่งระหว่างชุมทางหาดใหญ่-โจโฮร์บะฮ์รูเซ็นทรัล

สถานศึกษา

[แก้]

อำเภอหาดใหญ่มีสถาบันการศึกษาทุกระดับ ทั้งโรงเรียน วิทยาลัย และมหาวิทยาลัย สถาบันที่สำคัญประกอบด้วย

แหล่งท่องเที่ยว

[แก้]
หาดใหญ่

หาดใหญ่ เมืองศูนย์กลางด้านการค้าและธุรกิจของภาคใต้ ซึ่งมีความเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว และเป็นประตูผ่านไปยังประเทศเพื่อนบ้าน คือ มาเลเซีย และสิงคโปร์ มีสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก ส่วนมากมักจะมาจากประเทศมาเลเซีย เนื่องจากอยู่ห่างจากด่านสะเดาเพียง 60 กิโลเมตร ปัจจัยที่ทำให้มีความเจริญก้าวหน้าเป็นอย่างมากก็คือ การเป็นศูนย์กลางทางด้านต่าง ๆ ธุรกิจการค้า การขนส่ง การสื่อสาร การคมนาคม การศึกษา การท่องเที่ยว การรถไฟที่สามารถเชื่อมต่อผ่านตัวเมืองหาดใหญ่โดยผ่านสถานีรถไฟปาดังเบซาร์และเชื่อมต่อไปทางรถไฟสายกรุงเทพฯได้

ตัวเมืองหาดใหญ่เป็นเมืองที่ค่อนข้างจะทันสมัย ประกอบด้วยอาคารบ้านเรือน ร้านค้าพาณิชย์ต่าง ๆ มากมาย ท่านอาจจะเดินชมสินค้าต่าง ๆ อย่างเพลิดเพลินโดยตั้งต้นจากจุดหนึ่งในย่านกลางใจเมือง เช่น ถนนนิพัทธ์อุทิศ 1, 2 หรือ 3 แล้วท่านจะพบสินค้าแปลก ๆ ใหม่ที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง ศูนย์การค้ามีหลายแห่งคือ ศูนย์การค้าลิโด ศูนย์การค้าโอเดียน ถนนเสน่หานุสรณ์ ศูนย์การค้าหาดใหญ่พลาซ่า และตลาดซีกิมหยง ถนนเพชรเกษม ซึ่งย่านการค้าเหล่านี้อยู่ในบริเวณกลางใจเมืองที่ท่านสามารถเดินไปถึงได้อย่างสะดวก

วัดหาดใหญ่ใน

วัดหาดใหญ่ใน ถนนเพชรเกษมใกล้สะพานคลองอู่ตะเภา มีพระนอนขนาดใหญ่ประดิษฐานขนาดยาว 35 เมตร สูง 15 เมตร กว้าง 10 เมตร ชื่อพระพุทธหัตถมงคล

สวนสาธารณะเทศบาลนครหาดใหญ่

สวนสาธารณะเทศบาลนครหาดใหญ่ ริมถนนกาญจนวนิช เส้นทางหาดใหญ่-สงขลา ห่างจากตัวเมืองหาดใหญ่ 6 กิโลเมตร เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของชาวหาดใหญ่และบริเวณใกล้เคียง ตลอดจนนักท่องเที่ยวต่างชาติ บริเวณสวนตกแต่งด้วยไม้ดอกไม้ประดับอย่างงดงาม มีศาลากลางน้ำ สวนสัตว์และค่ายลูกเสือที่เป็นกิจกรรมทางโรงเรียนต่างๆ มีร้านอาหาร ที่จอดรถกว้างขวางไว้คอยบริการ ประชาชนนิยมไปพักผ่อนในยามว่าง และวันสุดสัปดาห์เป็นจำนวนมาก

น้ำตกโตนงาช้าง

ตั้งอยู่ที่ตำบลทุ่งตำเสาห่างจากตัวเมืองอำเภอหาดใหญ่ประมาณ 26 กิโลเมตร เป็นน้ำตกที่สวยงามแห่งหนึ่งในภาคใต้อยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโตนงาช้างเป็นน้ำตกที่สวยงามแห่งหนึ่งในภาคใต้ อยู่ห่างจากอำเภอ หาดใหญ่ประมาณ 26 กม. ไปตามเส้นทางหาดใหญ่-รัตภูมิ ประมาณ 13 กม. น้ำตกโตนงา ช้างมีด้วยกันทั้งหมด 7 ชั้น ชั้นที่สวยงามและเป็นชื่อของน้ำตกคือ ชั้นที่ 3 ซึ่งมีสายน้ำตกแยกออกมา ลักษณะคล้ายงาช้าง อันเป็นที่มาของคำว่า "โตน" ภาษาพื้นเมืองแปลว่า น้ำตกโตนงาช้าง หมายถึง น้ำตกรูปงาช้างภายในบริเวณน้ำตกโตนงาช้างยัง มีเส้นทางเดินป่าไว้ให้นักท่องเที่ยวที่รักการผจญภัย เข้าถึงธรรมชาติ

สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ

[แก้]
บรรยากาศในตลาดน้ำคลองแห
วัดหาดใหญ่ใน

อ้างอิง

[แก้]
  1. "น้ำท่วมหาดใหญ่:ต้องให้ชุมชนร่วมเตือนภัย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2005-12-21. สืบค้นเมื่อ 2021-06-04.
  2. การคำนวณน้ำหลากจากเหตุการณ์น้ำท่วมหาดใหญ่ 2543
  3. (cat_id=fc-sum,id=50) สรุปเสวนาประจำสัปดาห์ วิทยาลัยวันศุกร์ ครั้งที่ 56 วันที่ 29 ธันวาคม 2543[ลิงก์เสีย]
  4. โครงการบรรเทาอุทกภัย อำเภอหาดใหญ่อันเนื่องมาจากพระราชดำริ[ลิงก์เสีย]
  5. "น้ำท่วมหาดใหญ่ พ.ศ. 2548". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-06-04. สืบค้นเมื่อ 2021-06-04.

"บูรณะพระบรมราชินยานุสาวรีย์ โดยสำนักช่างสิบหมู่".

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

6°57′55″N 100°25′44″E / 6.96533°N 100.42877°E / 6.96533; 100.42877

"สำนักบริหารการทะเบียน".กรมการปกครอง