คาบสมุทรสทิงพระ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ภาพถ่ายจากอวกาศคาบสมุทรสทิงพระ

คาบสมุทรสทิงพระ เป็นคาบสมุทรในจังหวัดสงขลา ครอบคลุมพื้นที่อำเภอสิงหนคร อำเภอกระแสสินธุ์ อำเภอสทิงพระ และอำเภอระโนด มีพื้นที่ประมาณ 800 ตารางกิโลเมตร คาบสมุทรมีลักษณะแคบยาว มีความยาวประมาณ 70 กิโลเมตร มีความกว้างตั้งแต่ 5–12 กิโลเมตร สภาพทางภูมิศาสตร์เป็นที่ราบชายทะเลถูกขนาบด้วยทะเลสาบสงขลาทางทิศตะวันตกและอ่าวไทยทางทิศตะวันออก สภาพพื้นที่ทางทิศตะวันตกเป็นที่ราบ ส่วนพื้นที่ทางทิศตะวันออกมีสันทรายในแนวเหนือ-ใต้ตามแนวทางหลวงหมายเลข 408 ยกตัวสูงเป็นเนินคั่นระหว่างพื้นที่ราบริมทะเล[1]

แผ่นดินที่อยู่ขอบทะเลสาบสงขลาเกิดจากการทับถมของซากหอย ปะการังและทรายที่ถูกคลื่นลมพัดพาเข้ามาทำให้มีแนวยาวตั้งแต่เชิงหัวเขาแดง อำเภอสิงหนครขึ้นไปถึงอำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช มีลักษณะเป็นสันทรายทอดตามแนวทิศเหนือ-ใต้

ธรณีวิทยา[แก้]

ธรณีสัณฐานชายฝั่งคาบสมุทรสทิงพระพัฒนาการมาตั้งแต่สมัยไพลสโตซีน (Pleistocene) สมัยโฮโลซีน (Holocene) จนถึงปัจจุบัน พัฒนาการดังกล่าวเกิดจากการสะสมตัวของตะกอนที่ถูกพัดพามาจากแผ่นดินใหญ่ด้านตะวันตกในสมัยไพลสโตซีนตอนปลายเมื่อ 46,000–30,000 ปีที่ผ่านมา ปรากฏหลักฐานของเปลือกหอยทะเลและพืชโบราณบริเวณอําเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลาที่ระดับความลึก 31 เมตรและ 24.5 เมตร ต่อมาในสมัยโฮโลซีนน้ําทะเลเข้าท่วมพื้นที่ชายฝั่งและแผ่นดินใหญ่ทําให้เกิดการสะสมตะกอนทะเล

หลักฐานการบันทึก[แก้]

ในคริสต์ศวรรษที่ 2 ปโตเลมีบันทึกชื่อเมืองที่ชื่อ เปอริมูลา (Perimula) ซึ่งนักประวัติศาสตร์เชื่อว่าเป็นเมืองท่าแถบคาบสมุทรสทิงพระ

ในแผนที่การเดินเรือของเฟรเดอริก อาร์เทอร์ นีล (F.A. Neale) พ.ศ. 2395 ปรากฏชื่อคาบสมุทรสทิงพระว่า Island of Tantalem และจากแผนที่ของแวริงตัน สมิท (Waryngton Smith) เมื่อ พ.ศ. 2440 เข้าใจว่าคาบสมุทรสทิงพระคงเป็นเกาะขนาดใหญ่ อย่างไรก็ดีจากแผนที่แสดงเขตกัลปนาในสมัยอยุธยา เขียนขึ้นราว พ.ศ. 2223–2242 พื้นที่แถบคาบสมุทรสทิงพระเป็นแผ่นดินใหญ่ ไม่ได้เป็นเกาะเหมือนแผนที่ของชาวต่างประเทศ[2]

แหล่งโบราณคดี[แก้]

ปรากฏชุมชนเริ่มแรกในช่วงพุทธศตวรรษที่ 12–14 บริเวณเขาคูหา ตําบลชุมพล อําเภอสทิงพระ เป็นชุมชนในลัทธิศาสนาพราหมณ์ที่มีการขุดแหล่งน้ําขนาดใหญ่สําหรับชุมชนใช้ประโยชน์ เปลือกหอยจำนวนมากที่พบในสระดังกล่าว มีช่วงอายุเวลา 6,250 ± 550 ปี ถึง 4,981± 540 ปี ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงเวลาของสมัยโฮโลซีนตอนกลาง[3]

ชุมชนโบราณและแหล่งโบราณคดีแถบคาบสมุทรสทิงพระ ได้แก่

  • ชุมชนโบราณระโนด หรือชุมชนอู่ตะเภา ปรากฎร่องรอยการตั้งถิ่นฐานตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ยังมีการพบศิวลึงค์ในยุคแรก ๆ
  • ชุมชนโบราณพังยาง เมืองพังยางและบริเวณวัดขุข้าง พบเทวรูปพระวิษณุ ซึ่งมีอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 13
  • ชุมชนโบราณบริเวณ ตำบลบ่อตรุ ได้แก่วัดพระเจดีย์งามและวัดสีหยัง เป็นสิ่งก่อสร้างอายุราวพุทธศตวรรษที่ 15–16
  • แหล่งโบราณคดีวัดพะโคะ คูหา ชะแม ปรากฎถ้ำขุดในลัทธิไศวนิกาย ซึ่งอาจมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 12 ขึ้นไป
  • เมืองโบราณสทิงพระ พบหลักฐานทางโบราณคดีที่น่าจะมีอายุตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 11–12 เป็นต้นมาจนถึงพุทธศตวรรษที่ 19 หรือลงมาจนถึงสมัยอยุธยา[4]
  • ชุมชนโบราณปะโอ ปรากฎหลักฐานพุทธศาสนานิกายมหายาน วัชรยาน ราวพุทธศตวรรษที่ 15–18
  • มหาสถูปวัดเขาน้อย แบบช่างสมัยศรีวิชัย ราวพุทธศตวรรษที่ 13–18

อ้างอิง[แก้]

  1. "การแก้ไขปัญหาอุทกภัยคาบสมุทรสทิงพระ จังหวัดสงขลา" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2022-08-24. สืบค้นเมื่อ 2022-08-30.
  2. "การศึกษาการกระจายตัวของวัดบนคาบสมุทรสทิงพระที่ปรากฏในแผนที่แสดงเขตกัลปนาวัดในสมัยอยุธยาด้วยระบบภูมิสารสนเทศ". วารสารมนุษยศาสตร์สังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ.
  3. บรรจง ทองสร้าง. "หลักฐานการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำทะเลโบราณในสมัยโฮโลซีนตอนกลางบริเวณคาบสมุทรสทิงพระตอนล่าง ภาคใต้ ประเทศไทย". คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา.
  4. "ชุมชนโบราณสทิงพระ". ฐานข้อมูลแหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย.