อำเภอบางกล่ำ
อำเภอบางกล่ำ | |
---|---|
![]() | |
คำขวัญ: หลวงปู่เฟื่องเลื่องลือ ระบือเรือแข่ง แหล่งส้มโอหวาน ย่านสำเภานาวา สวาลือนาม เหนียวหลามรสดี | |
พิกัดภูมิศาสตร์: 7°5′18″N 100°24′42″E / 7.08833°N 100.41167°E | |
อักษรไทย | อำเภอบางกล่ำ |
อักษรโรมัน | Amphoe Bang Klam |
จังหวัด | สงขลา |
พื้นที่ | |
• ทั้งหมด | 147.8 ตร.กม. (57.1 ตร.ไมล์) |
ประชากร (2562) | |
• ทั้งหมด | 31,780 คน |
• ความหนาแน่น | 215.02 คน/ตร.กม. (556.9 คน/ตร.ไมล์) |
รหัสไปรษณีย์ | 90110 |
รหัสภูมิศาสตร์ | 9014 |
ที่ตั้ง ที่ว่าการ | ที่ว่าการอำเภอบางกล่ำ เลขที่ 116 หมู่ที่ 1 ตำบลบางกล่ำ อำเภอบางกล่ำ จังหวัดสงขลา 90110 |
![]() |
บางกล่ำ เป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดสงขลา
ประวัติบ้านบางกล่ำ[แก้]
บ้านบางกล่ำ (ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของทะเลสาบสงขลา) ต.บางกล่ำ อ.บางกล่ำ (เดิมเป็นอำเภอหาดใหญ่ ได้แยกออกมาเป็นอำเภอบางกล่ำเมื่อ 8 กันยายน พ.ศ. 2538) จ.สงขลา กินเนื้อที่โดยรวม 3 หมู่บ้านของอำเภอบางกล่ำ ประกอบด้วย หมู่ 1 บ้านบางกล่ำบน (เป็นสถานที่ตั้งของที่ว่าการอำเภอบางกล่ำ และองค์การบริหารส่วนตำบลบางกล่ำ), หมู่ 2 บ้านบางกล่ำกลาง และหมู่ 3 บ้านบางกล่ำใต้ บ้านบางกล่ำมีคลองบางกล่ำพาดผ่านและเชื่อมออกไปยังทะเลสาบสงขลาที่บ้านเกาะน้ำรอบ ต.บางเหรียง อ.ควนเนียง จ.สงขลา เดิมเป็นชื่อหมู่บ้านเรียกตามธรรมชาติของภูมิประเทศ คือเรียกตามชื่อคลองกับชื่อเกาะกลม เดิมชาวบ้านเรียกว่า บางเกาะกลม หรือเรียกสั้นๆว่า บางกลม
ช่วงสมัยรัชกาลที่ 2 จนถึงรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้มีกลุ่มชาวจีนอพยพมาจาก อำเภอไห่เติง/ไห่เฉิง 海登縣 / 海澄縣 (ไฮเท่ง) ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นอำเภอหลงไห่ 龍海縣 (เหล่งไฮ) จังหวัดจังโจว (เจียงจิว 漳州府) มณฑลฝูเจี้ยน (ฮกเกี้ยน 福建省) ประเทศจีน ได้อาศัยเดินเรือมาทางอ่าวไทยเข้าสู่ทะเลสาบสงขลา และเข้ามาตั้งบ้านเรือน อาศัยอยู่ริมคลองปะปนกับคนไทยมาเป็นเวลาหลายสิบปี เริ่มแรกได้ประกอบอาชีพทางการเกษตร ปลูกผัก ผลไม้ ประมง และค้าขายทางเรือ ได้ถ่ายทอดวัฒนธรรมต่อๆกันมาหลายอย่าง เช่น ภาษาพูด เป็นต้น จนกระทั่งคนจีนสามารถพูดภาษาท้องถิ่นได้ เป็นเหตุให้เรียกชื่อคลองและหมู่บ้านคลาดเคลื่อนไปจากบางกลม หรือ บางเกาะกลม เป็น บางกล่ำ แรกเริ่มเดิมทีคนที่นี่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ประมง และค้าขายทางเรือ
พอสมัยรัชกาลที่ 5 ก็มีชาวจีนบางส่วนมาเป็นคนงานสร้างทางรถไฟ และยึดอาชีพปลูกพลู และละมุด ส่งขายทางเรือ ซึ่งพันธุ์ละมุด (สวา) ได้เอามาจากเมืองไทรบุรี กลันตรัน ของไทยในสมัยนั้น การปลูกสร้างบ้านเรือนจะเป็นไม้ยกพื้นแบบปักษ์ใต้ เนื่องด้วยทำเลที่ตั้งเป็นที่ราบลุ่มมีน้ำหลากช่วงปลายปี การสัญจรแต่เดิมใช้ทางเรือเท่านั้นเพื่อไปยังเมืองสงขลาซึ่งเป็นชุมชนเมืองใหญ่ในสมัยนั้น และชุมชนรอบ ๆ ทะเลสาบสงขลา เช่น เมืองสงขลา เกาะยอ ระโนด การสัญจรทางรถไฟเริ่มในสมัยรัชกาลที่ 5 ส่วนการสัญจรทางรถยนต์จะมีถนนริมคลอง ปัจจุบันไม่มีได้สัญจรแล้วเพราะมีถนนตัดผ่านในหมู่บ้าน การสัญจรทางรถยนต์ก็เลยสะดวกสบายจนถึงปัจจุบัน ขนบธรรมเนียมประเพณี เนื่องด้วยเป็นหมู่บ้านคนไทยเชื้อสายจีนฮกเกี้ยน ขนบธรรมเนียมของจีนที่สำคัญยังคงยึดถือมาตั้งแต่อดีตจีนถึงปัจจุบัน คือ ตรุษจีน (ไหว้ชื่อบรรพชน) และเฉ่งเบ่ง (ไหว้หลุมศพ) และการทำบุญวันว่างเดือนห้า การทำบุญเดือนสิบ ประเพณีชักพระ ซึ่งเป็นประเพณีของไทยภาคใต้ สถานที่สำคัญ วัดบางทีง วัดริมคลองบางกล่ำที่เก่าแก่ที่สุด อายุ กว่า 200 ปี ตั้งอยู่ฝั่งตะวันตกของคลองบางกล่ำ บ้านบางทีง ตำบลบางเหรียง อำเภอควนเนียง จังหวัดสงขลา (พระชื่อดัง พ่อท่านซุ้น, พ่อท่านจูลิ่ม) วัดชลธาราวาส (วัดบางกล่ำ เดิมชื่อวัดโคกขี้เหล็ก) ตั้งอยู่หมู่ที่ 1 บ้านบางกล่ำบน พระเกจิที่โด่งดัง
คือ พ่อท่านขวัญ หลวงพ่อเอียด (พ่อท่านต้ม) ศาลาทวดบ้านบางกล่ำ เป็นศาลเจ้าโบราณอายุร้อยหกสิบกว่าปี ตั้งอยู่ริมคลองบางกล่ำ หมู่ที่ 3 บ้านบางกล่ำใต้ วัดบางหยี วัดริมคลองบางกล่ำ ตั้งอยู่ฝั่งตะวันออกของคลองบางกล่ำ บ้านบางหยี อำเภอบางกล่ำ จังหวัดสงขลา
ที่ตั้งและอาณาเขต[แก้]
อำเภอบางกล่ำมีอาณาเขตติดต่อกับเขตการปกครองข้างเคียงดังต่อไปนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอควนเนียง อำเภอสิงหนคร และอำเภอเมืองสงขลา
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอหาดใหญ่
- ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอหาดใหญ่
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอรัตภูมิและอำเภอควนเนียง
การแบ่งเขตการปกครอง[แก้]
การปกครองส่วนภูมิภาค[แก้]
อำเภอบางกล่ำแบ่งพื้นที่การปกครองออกเป็น 4 ตำบล 36 หมู่บ้าน
ลำดับ | ตำบล | เนื้อที่ | ประชากร | จำนวนหมู่บ้าน | |||||||
1. | บางกล่ำ | 25.19 | 3,718 | (Bang Klam) | 7 หมู่บ้าน | ||||||
2. | ท่าช้าง | 102 | 20,578 | (Tha Chang) | 18 หมู่บ้าน | ||||||
3. | แม่ทอม | 13.62 | 2,277 | (Mae Thom) | 6 หมู่บ้าน | ||||||
4. | บ้านหาร | 17.95 | 3,677 | (Ban Han) | 5 หมู่บ้าน |
การปกครองส่วนท้องถิ่น[แก้]
ท้องที่อำเภอบางกล่ำประกอบด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 4 แห่ง ได้แก่
- เทศบาลตำบลท่าช้าง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลท่าช้างทั้งตำบล
- เทศบาลตำบลบ้านหาร ครอบคลุมพื้นที่ตำบลบ้านหารทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลบางกล่ำ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลบางกล่ำทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลแม่ทอม ครอบคลุมพื้นที่ตำบลแม่ทอมทั้งตำบล
สถานที่สำคัญ[แก้]
- วัดคงคาเลียบ ตั้งอยู่ที่บ้านโคกเมา หมู่ที่ 14 ตำบลท่าช้าง เป็นที่ประดิษฐานรูปหล่อของหลวงพ่อเฟื่อง อินฺทสุวณฺโณ ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของทั้งชาวไทยและชาวมาเลเซีย