จอน อึ๊งภากรณ์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
จอน อึ๊งภากรณ์
จอน ใน พ.ศ. 2562
สมาชิกวุฒิสภา
ดำรงตำแหน่ง
22 มีนาคม พ.ศ. 2543 – 21 มีนาคม พ.ศ. 2549
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด19 กันยายน พ.ศ. 2490 (76 ปี)
ลอนดอน, สหราชอาณาจักร
บุพการีป๋วย อึ๊งภากรณ์ (บิดา)
ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยซัสเซ็กส์
ลายมือชื่อ

จอน อึ๊งภากรณ์ (เกิด 19 กันยายน พ.ศ. 2490) ผู้อำนวยการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) อดีตกรรมการนโยบายองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย[1] ด้านประชาสังคม อดีตสมาชิกวุฒิสภากรุงเทพมหานครที่ทำงานอย่างต่อเนื่องด้านสังคมและการสนับสนุนองค์กรพัฒนาเอกชน เป็นผู้ก่อตั้ง มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ และหนังสือพิมพ์ออนไลน์ประชาไท

ประวัติ[แก้]

จอน เป็นบุตรชายคนโตของศาสตราจารย์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ และนางมากาเร็ต สมิธ เกิดเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2490 ที่กรุงลอนดอน อังกฤษ สหราชอาณาจักร จบการศึกษาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ จากมหาวิทยาลัยซัสเซ็กส์ (Sussex) ที่อังกฤษ แต่กลับมาใช้ชีวิตในเมืองไทย เข้าทำงานเป็นอาจารย์สอนนักศึกษาแพทย์ในมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นเวลา 5 ปี แต่จากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองในช่วง พ.ศ. 2516–19 ทำให้เขาหันมาสนใจประเด็นปัญหาทางสังคม

งานสังคม[แก้]

เมื่อ พ.ศ. 2523 ได้ก่อตั้งโครงการอาสาสมัครเพื่อสังคม (ภายหลังจัดตั้งเป็น มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม) เพื่อสร้างบัณฑิตอาสาสมัคร ให้ช่วยเหลือคนยากจนในชนบท และทำงานร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชน (เอ็นจีโอ) จอนยังมีส่วนช่วยองค์กรพัฒนาเอกชนที่ตั้งขึ้นใหม่ ให้มีการบริหารจัดการที่ดี และช่วยเหลือด้านเงินทุนสำหรับโครงการต่าง ๆ และมีส่วนในการประสานภาคประชาสังคมเข้าด้วยกัน

เมื่อ พ.ศ. 2534 จอนได้ก่อตั้ง มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ริเริ่มการให้คำปรึกษาแก่ผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ และครอบครัวของผู้ป่วยเหล่านั้น เพื่อต่อสู้เรื่องปัญหาการรังเกียจและเข้าใจผู้ป่วยเหล่านี้ผิด และพยายามให้ความรู้ในเรื่องสิทธิผู้ป่วยที่จะได้รับการรักษาอย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพ

เมื่อ พ.ศ. 2543 จอน อึ๊งภากรณ์ได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภากรุงเทพมหานคร แม้ว่าในขณะนั้นจอนยังเป็นที่รู้จักในหมู่ประชาชนทั่วไปไม่มากนักก็ตาม ทั้งนี้ก็เพื่อจะได้มีโอกาสในการสร้างความเข้าใจกับสังคมและมีโอกาสในการทำงานเพื่อสังคมให้มากขึ้น ทั้งนี้จอนได้เป็นเลขานุการคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ วุฒิสภา และเป็นประธานคณะอนุกรรมาธิการหลักประกันทางสังคม ของวุฒิสภาด้วย ครั้นเมื่อเมื่อปี พ.ศ. 2547 ก็ได้ร่วมกับกลุ่มเพื่อนก่อตั้งหนังสือพิมพ์ออนไลน์อิสระ ชื่อ ประชาไท[2]

รางวัล[แก้]

จอน อึ๊งภากรณ์ได้รับรางวัลแมกไซไซ สาขาบริการรัฐกิจ ประจำปี ค.ศ. 2005 (พ.ศ. 2548) จากการประกาศเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2548 และเข้ารับรางวัลที่กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ในวันที่ 31 สิงหาคม ปีเดียวกัน เป็นที่น่าสังเกตว่าจอนได้รับรางวัลแมกไซไซ สาขาเดียวกันกับศาสตราจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ผู้เป็นบิดา ซึ่งได้รับรางวัลนี้เมื่อ พ.ศ. 2508[3]

อ้างอิง[แก้]

  1. บอร์ดทีวีไทยจับสลากลากออก-หลังครบวาระ[ลิงก์เสีย]
  2. https://prachatai.com/journal/2005/08/5101 ประชาไท
  3. ""จอน อึ๊งภากรณ์" คว้าแมกไซไซ". mgronline.com. 2005-08-01.

ดูเพิ่ม[แก้]

  • ประชาไท หนังสือพิมพ์อิสระที่จอนร่วมก่อตั้ง

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]