รางวัลรามอน แมกไซไซ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

รางวัลรามอน แมกไซไซ หรือ รางวัลแมกไซไซ (Ramon Magsaysay Award) เป็นรางวัลที่ก่อตั้งขึ้น เมื่อเดือนเมษายน ค.ศ. 1957 โดยคณะกรรมการของกองทุนร็อกกี้เฟลเลอร์ บราเธอร์ส (Rockefeller Brothers Fund) ซึ่งมีสำนักงานอยู่ในนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกาโดยการสนับสนุนของรัฐบาลฟิลิปปินส์ รางวัลแมกไซไซนั้น ถือเสมือนหนึ่งรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพของเอเชียเลยทีเดียว

ประวัติ[แก้]

รางวัลนี้ได้ก่อตั้งขึ้นเพื่อเชิดชูเกียรติแก่นายรามอน แมกไซไซ อดีตประธานาธิบดีของฟิลิปปินส์ และเพื่อเป็นแบบอย่างอันดีงามของการอุทิศตนทำงานบริการประชาชนในสังคมประชาธิปไตย โดยมีมูลนิธิรางวัลรามอน แมกไซไซ (Ramon Magsaysay Award Foundation) เป็นผู้มอบรางวัลแก่บุคคลและนิติบุคคลในเอเชีย ที่ประสบความสำเร็จอันดียิ่งในแต่ละสาขา โดยไม่คำนึงถึงเชื้อชาติ สัญชาติ ศาสนา และเพศ

ประเภท[แก้]

แบ่งเป็น 6 สาขาด้วยกัน ได้แก่

  1. บริการรัฐกิจ (Government Service) ประกอบด้วยด้านการบริหาร ด้านตุลาการ ด้านการออกกฎหมาย ด้านการทหาร
  2. บริการสาธารณะ (Public Service)
  3. ผู้นำชุมชน (Community Leadership)
  4. วารสารศาสตร์,วรรณกรรม และศิลปะการสื่อสารเชิงสร้างสรรค์ (Journalism, Literature and Creative Communication arts) เช่น การเขียน การตีพิมพ์ ภาพถ่าย หรือการถ่ายทอดทางวิทยุ โทรทัศน์ ภาพยนตร์ หรือการแสดงศิลปะ
  5. สันติภาพและความเข้าใจระหว่างประเทศ (Peace and International Understanding) การมีส่วนร่วมในการพัฒนาความสัมพันธ์ สันติภาพ ความสามัคคี ซึ่งเป็นรากฐานสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้งในและระหว่างประเทศ[1]
  6. ผู้นำในภาวะฉุกเฉิน (Emergent Leadership)

รายนามผู้ได้รับรางวัลแมกไซไซ[แก้]

รายนามชาวไทยที่ได้รับรางวัลรามอน แมกไซไซ
ปี ชื่อ สาขา
ค.ศ. 1961 นิลวรรณ ปิ่นทอง สาขาบริการสาธารณะ
ค.ศ. 1965 ศาสตราจารย์ พันตรี ดร.ป๋วย อึ้งภากรณ์ สาขาบริการสาธารณะ
ค.ศ. 1966 นายแพทย์ฝน แสงสิงแก้ว สาขาบริการรัฐกิจ
ค.ศ. 1967 หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร สาขาบริการสาธารณะ
ค.ศ. 1971 ประยูร จรรยาวงษ์ สาขาวารสารศาสตร์, วรรณกรรม และศิลปะการสื่อสารเชิงสร้างสรรค์
ค.ศ. 1973 นายแพทย์กระแสร์ ชนะวงศ์ สาขาผู้นำชุมชน
ค.ศ. 1975 พระจำรูญ ปานจันทร์ สาขาบริการสาธารณะ
ค.ศ. 1978 ประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ สาขาบริการสาธารณะ
ค.ศ. 1981 ศาสตราจารย์นายแพทย์ประเวศ วะสี สาขาบริการรัฐกิจ
ค.ศ. 1983 เฟื้อ หริพิทักษ์ สาขาบริการสาธารณะ
ค.ศ. 1984 ทองใบ ทองเปาด์ สาขาบริการสาธารณะ
ค.ศ. 1987 ศาสตราจารย์นายแพทย์อารี วัลยเสวี สาขาผู้นำชุมชน
ค.ศ. 1988 โครงการหลวง สาขาสันติภาพและความเข้าใจระหว่างประเทศ
ค.ศ. 1989 สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) สาขาสันติภาพและความเข้าใจระหว่างประเทศ
ค.ศ. 1991 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี สาขาบริการสาธารณะ
ค.ศ. 1992 พลตรีจำลอง ศรีเมือง สาขาบริการรัฐกิจ
ค.ศ. 1994 มีชัย วีระไวทยะ สาขาบริการสาธารณะ
ค.ศ. 1997 อานันท์ ปันยารชุน สาขาบริการรัฐกิจ
ค.ศ. 1998 โสภณ สุภาพงษ์ สาขาบริการสาธารณะ
ค.ศ. 2004 ประยงค์ รณรงค์ สาขาผู้นำชุมชน
ค.ศ. 2005 จอน อึ๊งภากรณ์ สาขาบริการรัฐกิจ
ค.ศ. 2008 รองศาสตราจารย์นายแพทย์เทอดชัย ชีวะเกตุ สาขาบริการสาธารณะ
ค.ศ. 2009 เภสัชกรหญิง ดร. กฤษณา ไกรสินธุ์ สาขาบริการสาธารณะ
ค.ศ. 2019 อังคณา นีละไพจิตร สาขาบริการสาธารณะ


อ้างอิง[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]