ข้ามไปเนื้อหา

อำเภอเวียงแหง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อำเภอเวียงแหง
การถอดเสียงอักษรโรมัน
 • อักษรโรมันAmphoe Wiang Haeng
คำขวัญ: 
พระธาตุแสนไหเป็นศรี ประเพณีหลายเผ่า
ชมทิวเขาสุดสยาม งามล้ำค่าฟ้าเวียงอินทร์
แผนที่จังหวัดเชียงใหม่ เน้นอำเภอเวียงแหง
แผนที่จังหวัดเชียงใหม่ เน้นอำเภอเวียงแหง
พิกัด: 19°33′34″N 98°38′8″E / 19.55944°N 98.63556°E / 19.55944; 98.63556
ประเทศ ไทย
จังหวัดเชียงใหม่
พื้นที่
 • ทั้งหมด672.172 ตร.กม. (259.527 ตร.ไมล์)
ประชากร
 (2566)
 • ทั้งหมด54,361 คน
 • ความหนาแน่น80.87 คน/ตร.กม. (209.5 คน/ตร.ไมล์)
รหัสไปรษณีย์ 50350
รหัสภูมิศาสตร์5020
ที่ตั้งที่ว่าการที่ว่าการอำเภอเวียงแหง หมู่ที่ 3 ถนนร่วมใจ ตำบลเมืองแหง อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ 50350
สารานุกรมประเทศไทย ส่วนหนึ่งของสารานุกรมประเทศไทย

เวียงแหง (ไทยถิ่นเหนือ: ) เป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ จัดตั้งในปี พ.ศ. 2536[1]

ประวัติ

[แก้]

อำเภอเวียงแหงมีชื่อเดิมว่า "เมืองแหง" มีความสำคัญในฐานะเป็นเมืองหน้าด่าน เมืองยุทธศาสตร์ตามเส้นทางการเดินทัพและการค้าระหว่างเมืองเชียงใหม่ ราชธานีของอาณาจักรล้านนากับเมืองอังวะ (Ava) โดยเดินทางผ่าน เมืองนาย (ปัจจุบันอยู่ในรัฐฉาน ประเทศพม่าและตั้งอยู่ห่างจากชายแดนเวียงแหง ไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ประมาณ 200 กม.) เมืองแหงตั้งอยู่กึ่งกลางของเส้นทางระหว่างเมืองเชียงใหม่กับเมืองนายโดยเดินทางตามลำน้ำแม่แตง มีพื้นที่กว้างใหญ่ เหมาะแก่การสะสมเสบียงอาหารเลี้ยงกองทัพ มีเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้น ณ เมืองนี้มากมายตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ดังนี้[2][3]

  • เป็นเส้นทางเดินทัพของ 19 เจ้าฟ้าไทใหญ่ โดยประชุมทัพ ณ เมืองนาย ทหาร 60,000 คน ที่พระเจ้าบุเรงนองส่งมาช่วยเมืองพิษณุโลกตามคำขอของขุนพิเรนทรเทพ เนื่องจากทางล้านช้างยกทัพมาประชิดเมืองพิษณุโลกในปี พ.ศ. 2108 ครั้นเคลื่อนทัพมาถึง "เวียงแหง" ได้รับหมายแจ้งว่ากองทัพล้านช้างทราบว่าพระเจ้าบุเรงนองส่งกองทัพมาช่วย จึงยกทัพกลับล้านช้าง พระเจ้าบุเรงนองจึงมีท้องตราเรียกกองทัพ 19 เจ้าฟ้าไทใหญ่กลับคืนมาตุภูมิ
  • เป็นเส้นทางหลบหนีของแม่ทัพเนเมียวสีหบดี ขุนศึกพม่าผู้พิชิต 3 อาณาจักร คือ ล้านนา ล้านช้าง และอยุธยา หลังจากถูกกองทัพพระเจ้าตากสิน ขับไล่ออกจากเมืองเชียงใหม่ในปี พ.ศ. 2317 จนต้องหลบหนีไปตั้งหลักอยู่ที่เมืองนาย
  • เป็นเส้นทางเดินทัพที่พม่ากลัวกองทัพเชียงใหม่จะไปโจมตีพม่ามากที่สุดใน พ.ศ. 2388 เพราะระยะทางสั้น เดินง่าย และเป็นทางใหญ่ พม่าจึงตั้งด่านที่แม่น้ำสาละวิน ณ ท่าข้ามท่าผาแดง[4] โดยให้ทหารลาดตระเวณตลอดเวลา[5] ดังที่พระยาจุฬาราชมนตรี ในรัชกาลที่ 3 บันทึกปากคำท้าวสิทธิมงคล ซึ่งเป็นจารบุรุษของเมืองเชียงใหม่ไปสืบราชการลับในพม่า และถูกพม่าจับขังคุกที่ เมืองนาย เป็นเวลานาน 1 ปี 1 เดือน 3 วัน ครั้นพ้นโทษจึงกลับเมืองเชียงใหม่ และเดินทางไปกรุงเทพฯเพื่อให้ปากคำ เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2388 ความว่า...
     (คัดลอกตามต้นฉบับ) ...ระยะทางแตเมืองน้าย   จะมาเถึง แมนำคง มาได้ 5 ทาง ....ทางหนึ่งค่างต่วันออกเฉยิงไต เดืนแต เมืองนั่าย ทางคืนนึงเถึงเมืองปัน แตเมืองปันมาทางคืนนึงเถึง ถัผาแดง ตกแมนำคง ทางนีเดืนง้ายเปนทางไหญ ไก้ล เมืองเชยิงไห้มพ่มากลัวกองทัพเมอิงเชยิงไห้ม จะยกไปทางนีจึงมาตังด่านทีฝังแมนำคง ถ้าผาแดง แหงนึง ที เมืองปัน แหงนึง พ่มาพัลตเปลยีนกันมาลาตระเวนไมขาษ...
     เรียบเรียงใหม่ได้ดังนี้  " ระยะทางแต่เมืองนาย จะมาถึงแม่น้ำคง(สาละวิน) มาได้ 5 ทาง...  ทางหนึ่งข้างตะวันออกเฉียงใต้ เดินแต่ เมืองนาย ทางคืนหนึ่ง ถึง เมืองปั่น แต่เมืองปั่นมาทางคืนหนึ่ง  ถึง "ท่าผาแดง" ตะวันตกแม่น้ำคง ทางนี้เดินง่าย เป็นทางใหญ่ ใกล้เมืองเชียงใหม่ พม่ากลัวกองทัพเมืองเชียงใหม่จะยกไปทางนี้จึงมาตั้งด่านที่ฝั่งแม่น้ำคง ท่าผาแดง แห่งหนึ่ง ที่ เมืองปั่น แห่งหนึ่ง พม่าผลัดเปลี่ยนกันมาลาดตระเวณไม่ขาด.."
  • ชาวเมืองแหง หนีราชภัยของพระเจ้ากาวิโรรสสุริยวงศ์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ อพยพครอบครัวข้ามแม่น้ำคง ไปอยู่ เมืองปั่น เมืองหมอกใหม่ และเมืองหาง ในเขตรัฐฉานปัจจุบัน เป็นเหตุให้เมืองแหงกลายเป็นเมืองร้าง ประมาณ ปี พ.ศ. 2400[6]
  • เป็นเส้นทางรับเจ้าพม่าจากแม่น้ำสาละวิน ณ ท่าผาแดงมายังเมืองเชียงใหม่ในสมัยพระเจ้ากาวิโรรสสุริยวงศ์ ปี พ.ศ. 2408[7] โดยเจ้าอุปราช เจ้าราชวงษ์ เจ้าราชบุตร แห่งเมืองเชียงใหม่ มีหนังสือกล่าวโทษพระเจ้ากาวิโรรสสุริยวงศ์ มายังพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท เพื่อกราบบังคมทูลถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ความดังนี้(คัดลอกตามต้นฉบับ)
...." ทรงพระกรรุณาโปรดเกล้าฯ ชุบเลี้ยงข้าพระเจ้าเปน เจ้าอุปราช เจ้าราชวงษ  เจ้าราชบุตร สำรับรักษา เขตรแดนเมืองเชียงใหม่  ด้วยเจ้าเชียงใหม่ ใม่ตั้งอยู่ในทศมิตราชธรรมประเพนีและพระบรมราโชวาทพระราชบัญญัติแลคำอะธีถานถือน้ำพระพิพัตรสัจา ประการหนึ่งทุกวันนี้ เจ้าบุรียรัตน บุตรเขยเจ้าเชียงไหม่แลเจ้าราชภาคีนัย เปนที่ปฤกษา เกนให้นายบุญทากับไพร่มากน้อยเท่าใดไม่ทราบไปรักษา เมืองแหง ให้ถางตะลอดกระทั่งถึงริมน้ำ ท่าผาแดง ครั้นอยู่มาพม่านายไพร่เปลียนชื่อเปนขุนนางเงี้ยว(ไทใหญ่) ถือหนังสือฉบับหนึ่งเข้ามาทาง ท่าผาแดง มาถึงเมืองแหง ส่งพม่านายไพร่ เข้ามาถึงเมืองเชียงไหม่ เจ้าเชียงไหม่เกนให้ท้าวพระยารับตอ้นพม่าไปที่ภักข้าหลวงมายั้งอยู่แต่ก่อน เจ้าเชียงไหม่เลี้ยงดูเปนอันมาก กับให้พิทักษรักษายิ่งกว่าข้าหลวงมาแต่ก่อน ประการหนึ่งคบคิดเปนมิตรไมตรีกับพม่าข้าศึกแลให้ช้างสองช้าง ปืนคาบสิลา 8 บอก กับคนใช้ในเมืองเชิยงไหม่สองคนผัวเมียกับหนังสือฉบับหนึ่ง ข้อความในหนังสือประการใดข้าพเจ้าไม่ทราบ  แล้วเจ้าเชียงไหม่เกนให้แสน ท้าวกับไพ่ร ในเมืองเชียงไหม่ส่งแลพีทักษรักษาพม่ากลับคืนไปทาง เมืองแหง ถึง ท่าผาแดง  ประการหนึ่งเจ้าเชียงไหม่กดขี่คุมเหงข้าพเจ้า แสน ท้าว พระยา อนาประชาราษฎรได้ความเดือษรอ้นเปนอันมาก ครั้นเดือน 12 เกนไพร่ประมาณ 700-800  ว่าจะไปถางที่ส่งพม่ากลับคืนออกไป แลเจ้าเชียงไหม่ทำไมตรีกับพม่าข้าศึกแลเกนคนไปทำทาง ข้อราชการอันนี้เจ้าเชียงไหม่ก็หาได้ปฤกษาข้าพเจ้าไม่ ขอท่านได้นำเอาข้อความอันนี้ขึ้นกราบบังคมทูลพระกรรุนาแดพระบาทสมเดจ์พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเดจ์พระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้ทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทด้วย สิ่งประการใดข้าพเจ้าจะดีมีความชอบ ขอบุญปัญา ฯพัณฯ สมุหนายกเปนที่พึ่งแก่ข้าพเจ้าดว้ย
            บอกมา ณ วนั 3 ขึ้น 4 ค่ำ เดือน 12 ปีฉลูสัปตศก.."
  • เป็นเส้นทางการค้าระหว่างเชียงใหม่กับพม่า ในสมัยพระเจ้าอินทรวิชยานนท์ (ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5) ในวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2416 รัฐบาลสยาม กับรัฐบาลอังกฤษที่ปกครองพม่าในขณะนั้น ได้ลงนามในสัญญาไมตรีเพื่อส่งเสริมการพาณิชย์ ที่เมืองกัลกัตตา ประเทศอินเดีย ซึ่งเรียกกันโดยทั่วไปว่า "สนธิสัญญาเชียงใหม่"โดยมีสาระประการหนึ่งว่า
      ....สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยามจะให้เจ้าเชียงใหม่ตั้งด่านกองตระเวณ และให้มีเจ้าพนักงานกำกับริมฝั่งแม่น้ำสาละวิน ที่เป็นเขตแดนเมืองเชียงใหม่ซึ่งเป็นของฝ่ายสยามแล้วและให้มีโปลิศ(ตำรวจ)ตั้งอยู่พอสมควร จะได้ระงับห้ามโจรผู้ร้าย และการอื่นๆที่เป็นสำคัญ..ต่อมาพระเจ้าอินทรวิชยานนท์ พระเจ้าเชียงใหม่ มีศุภอักษรกราบบังคมทูลรายงานสมเด็จพระปิยมหาราช ดังนี้   ..ป่าไม้ขอนสักในแขวงเมืองเชียงใหม่ ริมแม่น้ำคง ซึ่งเรียกว่าแม่น้ำสาละวินต่อเขตแดนเมืองมรแมน เมืองยางแดง เมืองปั่น เมืองปุ เมืองสาด มี 8 ตำบลที่ลูกค้าเดินไปมาค้าขายเป็นเส้นทางใหญ่อยู่ 8 เส้นทาง ข้าพระพุทธเจ้าได้จัดบุตร หลาน ท้าว พระยา คุมไพร่ไปตรวจตราระวังโจรผู้ร้ายอยู่เนืองๆ...
     ทางเมืองแหง เป็นเมืองร้าง ทางลูกค้าเดินมาแต่ เมืองพม่า ให้คนเมืองกึดไปตั้งด่านตระเวณ 50 คน..(บ้านเมืองกื้ด ตั้งอยู่ตอนปลายแม่น้ำแตง ต.กื้ดช้าง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่)

* เป็นเมืองหน้าด่านปกป้องชายแดน โดยพระบาทสมเด็จพระปิยมหาราช ทรงโปรดเกล้าฯ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร มาจัดการเมืองเชียงใหม่ ในปี พ.ศ. 2427 และมีรับสั่งให้พระยามหามหิทธิวงษา เจ้าเมืองฝาง ไปจัดการตั้ง

  เมืองแหงเหนือ เมืองแหงใต้ เมืองนะ เมืองแกนน้อย เพื่อป้องกันชายแดน และแแต่งตั้งให้ "ฮ้อยสาม" เป็น "แสนธานีพิทักษ์" เจ้าเมืองแหง[8] ใน พ.ศ. 2428
  ..." ข้าพเจ้านายแถลงการวิตถกิจ ทำริโปด(Report)ระยะทางในราชการตรวจพระราชอาณาเขตร์หัวเมืองลาวฝ่ายเหนือ ในปีรัตนโกสินทร์ศก 108 ยื่นต่อพระวิภาคภูวดล เจ้ากรมฉบับหนึ่ง 
     ... วัน 3(วันอังคาร)ที่ 4 กุมภาพัน เวลาย่ำรุ่งแล้ว 45 มินิต(นาที) จึงได้ทำเซอร์เวต่อไป เวลาเช้า 4 โมง 30 มินิต ถึงที่เซอร์แดน เมืองทา เมืองแหง ต่อกัน แต่ที่เขตร์แดนต่อกันนั้น มีสำคัญเป็นยอดดอยกิ่วก่อ ต่อไปเวลา บ่าย 1 โมง 41 มินิต ถึง บ้านแหงเหนือ มีเรือนประมาณ 30 หลัง ทำนาแลไร่รับประทาน ต่อไปจนเวลาย่ำค่ำแล้ว 56 มินิต ถึง เมืองแหงใหม่ เรือนประมาณ 70 หลัง คนประมาณ 200 คน ทำนาแลไร่รับประทาน ยุด(หยุด) พักวัดดาว แล้วนอนคืนหนึ่ง...."
  • เป็นเมืองชายแดนที่พระบาทสมเด็จพระปิยมหาราช ทรงวินิจฉัยในเหตุการณ์ที่พระยาดำรงค์ราชสีมา เจ้าเมืองปาย (อ.ปาย แม่ฮ่องสอนในปัจจุบัน) ฟ้องกล่าวโทษเจ้าเมืองแหง (แสนธานีพิทักษ์) ว่าคบคิดกับ "เจ้าฟ้าเมืองนาย" "เมืองปั่น" "เมืองเชียงทอง" "เมืองปุ" จะนำกำลังมารบชิงเมืองปาย และเมืองงาย รวมทั้งจะก่อการขบถต่อราชอาณาจักรสยาม ใน พ.ศ. 2438[10] ทั้งนี้เรื่องราวได้รายงานตามลำดับชั้น จาก พระยาดำรงค์ราชสีมา เจ้าเมืองปาย, เจ้าน้อยบัววงษ์ พระยารองกรมมหาดไทยเมืองนครเชียงใหม่, เจ้าราชวงศ์ ผู้สำเร็จราชการกรมมหาดไทย กรมทหารเมืองนครเชียงใหม่, พระยาทรงสุรเดช ข้าหลวงใหญ่รักษาราชการมณฑลลาวเฉียง, สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย, พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสมมตอมรพันธุ์ เสนาบดีกระทรวงมุรธาธร ราชเลขานุการในรัชกาลที่ 5 , พระบาทสมเด็จพระปิยมหาราช.
        ความในหนังสือของเจ้าเมืองปาย ซึ่งสมัยนั้นเขียนตามภาษาพูด และเป็นภาษาถิ่น บางคำเป็นภาษาไทยใหญ่ ดังนี้(คัดลอกตามต้นฉบับ)
                          เขียน ณ วันที่ ๒๘ พฤษภาคม ร.ศ.๑๑๔
         ข้าพเจ้าพระยาดำรงค์ราชสีมา ผู้ว่าราชการเมืองปาย ปฏิบัตินมัศการกราบเรียนองค์เป็นเจ้าอยู่หัวเจ้าราชวงษ ซึ่งสำเร็จราชการกรมมหาดไทย ทหารเมืองนครเชียงใหม่ ณ วันที่ ๒๓ พฤษภาคม ร.ศ.๑๑๔ ข้าพเจ้าได้ "จับยับ"[11] เอาพวกคนใช้ "ปู่เมอุก"[12] พ่อเมืองแหง ปล่อยมาฟังร้ายดีใน เมืองปาย นี้ ๓ คนด้วยกัน ผู้ ๑ ชื่ออ้ายพุด ผู้๑ ชื่ออ้ายคำ ผู้หนึ่งชื่ออ้ายยี่ ...ด้วยตัวอ้ายสามคนที่พ่อเมืองแหงใช้มานั้น ข้าพเจ้าได้จับเอาตัวอ้ายสามคนนั้นใส่เหล็กไว้ในเมืองปาย นี้แล้ว ครั้นข้าพเจ้าจึงถามอ้ายสามคนด้วยรายเมืองแหงเป็นขโมยนั้นอ้ายพุด อ้ายคำ อ้ายยี่ จึงให้การว่า
       ณ วันที่ ๖ พฤษภาคม ร.ศ.๑๑๔  ปู่เมอุก ผู้เป็นพ่อเมืองแหง ได้บังคับ ปู่เถิกซะ "เป็นแก่"[13] ปู่แย แลราษฎรในเมืองแหง คนรวม ๓๐ คนซ้ำบังคับให้ปู่จองมองเป็นแก่ คุมพวกคนนักเลงนอกเขตรเมืองแหงนั้นรวมคน ๓๐ คน พวกนักเลงกับพวกคนเมืองแหงสมรวมสองรายเป็นคน ๖๐ คน นี้ยกออกไปตั้งกองทัพลวงเอาฆ่าคนที่ "เมืองแพนปู" พวกเมืองแหง ว่าอย่างนี้ ให้ปู่เถิกซะกับปู่จองมองผู้เป็นแก่สองแก่ยกเอาคน ๖๐ คน มายัง "เมืองแพลน" ครั้นเข้ามาอยู่เมืองแพลนแล้วนั้นพวกบ้านเมืองเป็นความเดือดร้อน "แพลนห้วยป่ามุง" "แม่ละนายางไม้แดง" ซ้ำพากันมารวมเป็นขะโมย รวมทั้งมวนประมาณจะมีสัก ๑๐๐ คนเสศอยู่ ครั้นมาตีเมืองปาย "บ่อแตกบ่อป่าย" บ่อหนีแล้วขะโมย เมืองแหงจึงแตกตื่น "ป่ายหนี"[14] กลับคืนมา"แผว"[15] เมืองแหงคืนที่เก่า ขะโมยพวกเมืองแหงแผวคืนเมือแล้วนั้นเขาพากันมาจับภ่อดูคนตายถูกปืน มีโป่คำลายหนึ่งกับโป่คำไสสองคนเท่านั้นแล้ว เห็นตายอยู่ริมหัวบ้านพระยาดำรงค์ เขาพูดกันว่าดังนี้ ตั้งแต่เขามาตีเมืองปายแล้วนี้ โป่สุก กับโป่จองมอง "ก็บ่อหันแล้ว"[16] เขาว่ามันไปเชียงใหม่ ได้ยินเขาพูดกันว่าอย่างนี้แล้ว พวกบ้านเมืองแพลน เมืองน้อย บ้านห้วยป่ามุงก็หนีคืนเมือหา ปู่เมอุก พ่อเมืองแหงๆ มีอาญาให้คนทั้งหลายคนเก่าคนแก่แม่หญิงลูกอ่อนไปอยู่ "บ้านสันป่าแปลกยาว"[17] นั้นเสีย คนหนุ่มทั้งหลายก็พากัน "เกิ๊ดที่ทางปล่อง"[18] "ทางปล่องห้วยหก" ปู่น้อยแสนเป็นแก่ไปเกิ๊ดเฝ้าอยู่คนสัก ๑๐ คนเสศ "ทางปล่องสันกำแพง" หื้อปู่กองยาติโกลวดไปอยู่เฝ้าคน ๑๐ เสศ ทาง"ปล่องน้ำบ่อหมาเลีย" นั้นหื้อโป่กำแลกเป็นแก่ไปเกิ๊ดเฝ้าอยู่ท่า(ถ้า)เห็นคนเมืองปายฟันตายนั้นเสี้ยง(ให้หมด) อย่าให้ลุกสักคน ในเวียงหื้อโป่แยคุมพวกคนนักเลง ๔๐ คน อยู่เฝ้าได้ยินเสียงปืนออกตำบลใด หื้อออกรับตำบลนั้น พ่อเมืองแหง เกณฑ์คนกันไว้อยู่อย่างนี้แล้วเดี๋ยวนี้แล้ว
       
        ข้อ ๒ ข้าพเจ้าอ้ายพุด อ้ายคำ อ้ายยี่  รู้จักนั้นมีคนของ "ปู่อำนาจจะเล"  "ส่างยี" "เมืองนาย"นั้น ๒๕ คน กับปู่เถิกซะเมืองแหง ๑ โป่จาง ๑ โป่มอง ๑ ปู่น้อยสวน ๑ ปู่เมยาแม่หองจู ๑ ปู่กันณะผีเถื่อน ๑ อ้ายคำคนในเรือนพ่อเมืองแหง ๑ อ้ายพุดคนในเรือนพ่อเมืองแหง ๑ อ้ายกันณะหลานพ่อเมืองแหง ๑ อ้ายจิณ ๑ อ้ายซางทุน ๑ อ้ายอ๋อ ๑ ตังแกลาย ๑ สลอบตัน ๑ จองเคื่อง ๑  บัวสุ ๑ บัวคำใส ๑ บ้านหนองน้อย ๑ คนที่ข้าพเจ้าสามคนรู้จักเท่านี้
        ข้อ ๓ ปู่เมอุกพ่อเมืองแหง มีอาญาบอกกล่าวให้ "พวกแย" พวกเมืองแหงแลพวกคนนักเลงทั้งหลายว่าเรารอฟัง "ขุนทอน"ลงไปเชียงใหม่กลับคืนมาก่อน ถ้าว่าเจ้านายเมืองเชียงใหม่ ยังจะมาตีรบทำลายหื้อเราอยู่เป็นแน่นั้นเราดีรีบเร็ว "ไปตีเมืองปาย เมืองคอง เมืองงาย"ก่อน เจ้านายบ่อมาแผวเตื้อนี้ก็จะตีหื้อทันก่อนกองทัพเชียงใหม่ ปู่เมอุกว่าอย่างนี้ อีกข้อหนึ่งถ้าเจ้านายเชียงใหม่ยกทัพขึ้นมาเมืองปายแล้ว แลเจ้านายยังบ่อยกทัพเลิกกลับคืนเมือแล้วนั้นเราค่อยยกทัพเราเมืองแหงไปตีเมืองปายหื้อจงได้ ครั้นบ่อได้บ่อยอมปู่เมอุกพ่อเมืองแหงว่าอย่างนี้  
        อีกข้อหนึ่งปู่เมอุก พ่อเมืองแหงว่าเรารอฟัง "พวกคนนักเลงเมืองตะวันตกจะอยู่แถม ๒๐๐ นั้นแผวมาเราก่อน" ครั้นคนพวกนั้นแผวเราแล้วจะตีจะรบเมืองใดก็เป็นที่ลองใจเรานั้น ปู่เมอุกพ่อเมืองแหงว่าอย่างนี้หื้อพวกคนทั้งหลายอยู่

        อีกข้อหนึ่งตุลาการเฒ่าแก่เมืองปายซ้ำถามอ้ายพุด อ้ายคำ อ้ายยี่นั้นว่า "เมืองคอง"[19] ก่อนนั้นดู ขะโมยที่ไหนไปตี อ้ายพุดจึงให้การว่าขะโมยเมืองแหงไปตีดังเก่า โดยเมืองคองนั้นปู่เมอุกพ่อเมืองแหง มาบังคับใช้หื้อปู่จองมองเป็นแก่คุมพวกนักเลง ๓๐ คนไปตี ครั้นปู่จองมองออกจากเมืองแหงไปตามพ่อเมืองแหงบังคับนั้นแล้ว พ่อเมืองแหงมีหนังสือหื้อปู่เติกกับอ้ายตาเอาหนังสือไปส่งหื้อเมืองคองว่าเราได้ยินข่าว "ขโมยคนแอ๋" ลงมาตามเมืองคองนี้ หื้อเมืองคองได้ตระเตรียมไว้กลัวเสียเปรียบแก่ ผู้ร้าย หนังสือตอบส่งข่าวว่าดังนี้ ครั้นหนังสือถึงตะวันแลงนี้ "ครั้นมืดสลุ้ม"[20] ขะโมยก็เข้าตีเมืองคองแล้วซ้ำเลยลงไปตี "บ้านป้อมแม่เดิมปูนตา"[21] ข้าพเจ้าอ้ายพุด  อ้ายคำ อ้ายยี่ รู้เห็นนั้นเสี้ยงคำให้การมีเท่านี้[22]
         ข้าพเจ้า อ้ายพุด อ้ายคำ อ้ายยี่ จึงลงลายมือให้ตุลาการเมืองปายไว้เป็นสำคัญต่อพ่อตังแกน้อยจองใจ ๑ จองลาย ๑ จองคำ ๑ พกากณกอ ๑ จุมมู น้อยลิน คงคำให้การไว้  (ลายนิ้วมือ)อ้ายคำ อ้ายยี่ อ้ายพุด
        ข้อ ๑ แถม เมื่อคนเมืองแหงมาตีเมืองปายนั้น "ปู่อำนาจจะเล" "เมืองนาย" ก็มีอยู่เมืองแหงนั้นนอนที่เรือนตังแกลาย คนปู่อำนาจมีปู่ตาเสือ ๑ น้อยคำ ๑ ยังลงมาตีเมืองปายอยู่ ครั้นหมู่เมืองแหงแตกป่ายแผวเมืองแหงแล้วสามวันปู่อำนาจจึงยกออกจากเมืองแหง "ปิ๊กเมือ"[23] ข้อ ๑ แถมศักราช ๑๒๕๖ ภอเดือนสี่เงี้ยว(ไทใหญ่)ปู่แสนคนเมืองนายเอาเงิน ๑๕๐๐ แถบมาหาปู่เมอุกหาซื้อช้าง ปู่เมอุกก็ได้ซื้อช้างทางเมืองเชียงใหม่สองตัว ผู้ ๑ แม่ ๑  ซ้ำ "ปี๊กคืน"[24] มาอยู่ที่ปู่เมอุกพ่อเมืองแหงดังเก่า แล้วปู่เมอุกซ้ำบังคับขุนปัน ๑ ปันนียะ ๑ กับคนหนูโมสองคน    บ่อรู้จักชื่อที่ส่งถึง "เจ้าฟ้าเมืองนาย" แล้ว "เจ้าฟ้าเมืองนาย"หื้อเงินเขา ๔ คน ๔๐๐ แถบแล้ว "เจ้าฟ้าเมืองนาย"ซ้ำหื้อเงินมาที่ปู่แสนแถมเป็นเงิน ๕๐๐ แถบ ปู่แสนซ้ำปิ้กเข้าที่ปู่เมอุกพ่อเมืองแหงแถม ปู่แสนก็เอาเงินมา "เล่นลวงเสียปักตก"[25] ปู่แสนนั้นก็มีอยู่ในเมืองแหงรวมคน ๓ คน ปู่แสน ๑ ปู่ยี่ ๑ ปู่แสง ๑ คนสามคนนี้เขาพูดว่า ครั้นบ่อได้คืนเงิน ๕๐๐ แถบ นี้ "บอเมือได้" เช่นได้คืนเงิน ๕๐๐ แถบนี้คืนจึงจะเมือได้เขาพูดว่าอย่างนี้ เวลามาตีเมืองปายนั้นเขาก็มาต่อยเพื่อนอยู่
                               อ้ายพุดแจ้งความให้การแถมเท่านี้.


                  หนังสือของ แสนธานีพิทักษ์ เจ้าเมืองแหง ถวายรายงานมายังพระเจ้าเชียงใหม่

(สำเนา) ที่ ๑๒๕๘๖ รับวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ร.ศ.๑๑๔

''ข้าพเจ้าแสนหลวง พ่อเมืองแหง รับประทานมีหมายมากราบเรียนนมัศการขอได้ทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท พระเจ้าหอคำองค์อยู่เกล้าฯเมืองนครเชียงใหม่ แลเจ้าสิงลาภราชบุตร เจ้าท้าวพระยาสิบสองเหนือสนามขอได้ทราบทุกตน

          ด้วยกิจการบ้านเมืองที่พระยาดำรงเมืองปายก็ได้ "ค้าขายส่อเบากล่าวโทษข้าพเจ้า" ถึงเจ้าเหนือหัว "อยู่บ่แล้วบ่หายสักเตื้อ"[26] แลถ้ามีผู้ร้ายคนโจรมาลักคุยที่ตำบลในๆ(ไหนๆ) ก็หาเป็นคนเมืองแหงว่าฉันนี้ ก็ถึงมาอยู่ได้สองปีสามปีมาแล้ว ติดด้วยตัวข้าพเจ้าฤๅก็เป็นข้าเก่าเนานาน แต่เมื่อเช่นพระเจ้ากาวิโลรศ ก็มีพระราชอาจญา ปง(มอบหมาย)ให้ข้าพเจ้า ได้มาตั้งแต่ริบรวมรักษาวรนารัตถประโยชน์ของแผ่นดิน พระเจ้าอยู่หัวแต่เมื่อศักราชได้ ๑๒๑๓ ตัว (พ.ศ. ๒๓๙๔)ก็อยู่มา ได้ ๑๕ ปี ก็ได้กินสัจเจ้าอยู่หัว ข้าพเจ้าก็บอได้คิดผิดแบบภายนอก ผิดศอกภายใน ก็บอคดเลี้ยวต่อเจ้าแผ่นดินสังสักวัน

          สืบมาถึงองค์อยู่เกล้าฯได้ขึ้นเป็นเจ้าครอบครองอำในกายขันธ์ทั้ง ๕ แห่งข้าพเจ้านั้นแล้ว เจ้าอยู่หัวก็ได้ชุบเลี้ยงโปรดให้ ข้าพเจ้าได้ขึ้นมารักษาราชการหื้อมันกว้างศอกออกวา ว่าฉันนี้ ข้าพเจ้าก็ได้อยู่มาได้ ๑๑ ปี แลสติสัจจาเจ้าอยู่หัวก็มีในห้องในบุญข้าพเจ้าแล้ว แต่ข้าพเจ้าจะมีใจคดเลี้ยวต่อพระเจ้าอยู่หัว แลจะไปเปนโจรขโมยกับบ้านกับเมืองก็หาบอมี
          การที่ว่าขโมยผู้ร้ายนั้นเปรียบว่า “ข้า”หากมีทุกบ้าน “ข้าหาร”(ทหาร) มีทุกเมือง แต่ไปที่ใดๆก็ดี "พาหน"เมืองปายก็ป่าวแยงหนังสือลงมาขายหน้าข้าพเจ้า ถึงเจ้าจอมทุกปีทุกเดือนแล้วคิดเปนทัพศึก แลว่าข้าพเจ้าเมืองแหงจะลงไปรบที่เจ้าเมืองปายที่แต้ก็หากเป็นข้าเจ้าเดียวเจ้าหนึ่งในเมืองเชียงใหม่ทั้งมวน(มวล)เหมือนกัน  ถ้าว่ามาตีมันป่าย(พ่าย)ทางเมืองปายแต้มันก็สังมีหนังสือ ๓/๗ ถ้าบ่อบอกหื้อข้าพเจ้าได้รู้ควรดีช่วยกันเสาะหา แต่จะเป็นผู้ร้ายในบ้านใดเมืองใด  มันไปทางใดก็ล้างภอมาบอกฮื้อข้าพเจ้าได้รู้ว่าเกิดมีในเมืองแหงก็ดี ก็ควรจะได้ปฤกษาช่วยกันตอบก็ดีได้พร้อมกันทั้งสองก่อน  ถ้าเพื่อนไปเยียะไปชิงคุยที่ไหน ก็ว่าเป็นโจรขโมยเมืองแหง
          ถ้าจะมาเขี้ยว(เคี่ยว)น้ำเอาตัวแต่ก็บอได้ปอยแปงหนังสือ มาไหว้ษา อยู่บอขาดวันหนึ่ง พระข้าเจ้าไปค้าในเมืองปายมันก็ "จับยับเอา" แล้วเฆี่ยนตีผูกมัด ว่าเพื่อนเปนขโมย ว่าฉันนี้ โดยพระยาดำรงมากล่าวโทษข้าพเจ้านั้นเจ้าอยู่เกล้าฯก็หาได้มีหนังสืออาจญามาเรียกเอาตัวข้าพเจ้ามาถามไม่แต่เจ้าอยู่เกล้าฯ ก็ฟังคำคืนคำขายพระยาดำรง มาฉ้อ ฉะนี้
          ข้าพเจ้าทั้งหลายเปนท้าวแก่ก็ที่หวั่นยั่นกลัวเสียแล้ว เหตุคำก็ดี ภอดีไหว้ษาอยู่ก็บ่อได้ไหว้ษาเสียแล้ว  แลถึงที่ภออยู่บก ได้กินบ่อได้ "กวาก็บ่อได้" ไปก็บ่อได้ เพราะความมีบ่อได้ไหว้ษา เหตุเจ้าจอมก็บ่อได้ถามเสียแล้ว จึงได้พาเอาลูกน้องพ้องปาย หนีเข้าไปซ่อนตัวอยู่ห้วย อยู่เหมือง อยู่แล้ว พึงดีอยู่พึงดีไปนั้น ก็ขอเจ้าอยู่หัวพอมีบุญได้โปรดข้าพเจ้า จะได้มานมัศการใต้ฝ่าพระบาท  ควรประการใดสุดแล้วแต่จะโปรด  '         
                                    ๑๒๕๗ ตัว
 หนังสือพระยาทรงสุรเดช ข้าหลวงใหญ่รักษาราชการมณฑลลาวเฉียง รายงานต่อสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย

(สำเนา) ที่ 10860 รับวันที่30 มิถุนายน ร.ศ.114 ที่ 129/1540 เรื่อง ส่งคำแจ้งความอ้ายซาว ปู่จ่าก่า ในเรื่องแสนธานินทรพิทักษ์


                                                               ที่ว่าการข้าหลวงใหญ่เมืองนครเชียงใหม่
                                                วันที่  7  มิถุนายน  รัตนโกสินทร์ศก  114

ข้าพระพุทธเจ้า พระยาทรงสุรเดช ข้าหลวงรักษาราชการมณฑลลาวเฉียง บอกมายังท่านนายเวรขอได้นำกราบทูลพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ทราบฝ่าพระบาท

ด้วยข้าพระพุทธเจ้าได้มีบอกกราบทูลมาฉบับหนึ่ง ที่ 69/1048 ลงวันที่ 16 พฤษภาคม ร.ศ.114 ว่า ด้วยเรื่องแสนธานินทรพิทักษ์ ณ เมืองปาย นั้น ถ้าการหนักหนามาจะได้จัดให้เจ้าอุตรการโกศล ยกหนุนไปช่วยอีกภายหลัง ความแจ้งอยู่ในบอกของข้าพระพุทธเจ้านั้นแล้ว

(1) การเรื่องนี้ข้าพระพุทธเจ้า ได้รับหนังสือนายน้อยบัวรงวษ์ พระยารองกรมมหาดไทย ซึ่งออกไประงับการเรื่องนี้ ทิ่ 1/3 ลงวันที่ 26 พฤษภาคม ร.ศ.114 (ส่งสำเนาคำแจ้งความอ้ายซาว 1 ปู่จ่าก่าเงี้ยว 1 รวม 2 ฉบับ ว่าวันที่ 25 พฤษภาคม ร.ศ.114 ยกจาก "วัดหนอง(ปลามัน)" ไปพัก"วัดสบเปิง" ครั้นเวลาค่ำพระยากาวิมณตรีคนในกองนายน้อยบัวรวงษ์ พาปู่จ่าก่าเป็นชาติเงี้ยว(ไทใหญ่) แจ้งความกับนายน้อยบัวรวงษ์ว่าจะเป็นวันที่เท่าใดจำไม่ได้ เดือนพฤษภาคม ร.ศ.114 นี้ ปู่จ่าก่าไปหาซื้อกระบือบ้านช้าง(ต,บ้านช้าง อ.แม่แตง) ไปพบชาวบ้านแลลูกค้าพูดกันว่าขุนธรณ์ บุตรเขยแสนธานินทรพิทักษ์ เมืองแหง กับพวกเพื่อน 5-6 คน มาแวะที่บ้านอ้ายซาวแล้วจะเลยมาหาพระเจ้านครเชียงใหม่ นายน้อยบัวรวงษ์ไม่ไว้ใจแก่ราชการ จึงได้มีหนังสือถึงแสนใจ แคว้นบ้านช้าง ให้แสนใจนำตัวอ้ายซาวมาหานายน้อยบัวรวงษ์ๆ ให้พระยากาวิมณตรี ถามอ้ายซาวๆ ให้ถ้อยคำต้องกันกับปู่จ่าก่า ความแจ้งอยู่ในหนังสือแลสำเนานั้นแล้ว

(2) ข้าพระพุทธเจ้าได้มีหนังสือไปถึง เจ้าราชวงษ์แลนายน้อยบัวรวงษ์ ว่า ถ้าแสนธานินทร์พิทักษ์จะเข้ามาหาพระเจ้านครเชียงใหม่ ก็เป็นการดีแล้วจะเกลี้ยกล่อมไว้โดยดีไม่ให้เอาโทษอย่างใดแล้วจึงจะจัดการต่อภายหลัง

(3) ครั้นต่อมาข้าพระพุทธเจ้าได้รับหนังสือเจ้าราชวงษ์ 2 ฉบับ ๆ ที่ 6/49 ลงวันที่ 29 พฤษภาคม ร.ศ.114 ส่งสำเนาหนังสือพระยาดำรงค์ 1 ฉบับ ว่าด้วยเรื่องแสนธานินทรพิทักษ์พ่อเมืองแหง เตรียมคนในเมืองต่างๆจะรบเมืองปายให้จงได้ ข้าพระพุทธเจ้าได้มีตอบไปยังเจ้าราชวงษ์ 2 ฉบับ ให้นำความเรื่องนี้ แจ้งต่อพระเจ้านครเชียงใหม่ให้ "รีบเกณฑ์คนตามหัวเมืองขึ้นไว้ให้พรักพร้อม" จะได้ให้เจ้าอุตรการโกศลคุมขึ้นไปช่วยนายน้อยบัวรวงษ์โดยทันที ความแจ้งอยู่ในหนังสือเจ้าราชวงษ์ แลข้าพระพุทธเจ้ามีไปยังเจ้าราชวงษ์นั้นแล้ว

(4) เห็นด้วยเกล้าฯว่า "แสนธานินทร์พิทักษ์"พ่อเมืองแหง เป็นชาติเงี้ยว วางใจไม่ได้เลย แลความอาฆาตในระหว่างพระยาดำรงค์(พกากะณะ) ก็เป็นเหตุใหญ่อยู่ ข้าพระพุทธเจ้าได้ชี้แจงการให้นายน้อยบัวรวงษ์ ผู้ออกไปจัดการเรื่องนี้เป็นการสำคัญ ก็ควรให้ได้ตัวแสนธานินทรพิทักษ์จงได้

(5) แต่ข้อที่พระยาดำรงค์พ่อเมืองปายชำระเงี้ยวพวกแสนธานินทรพิทักษ์ ได้ความเห็นด้วยเกล้าฯว่าเป็นชั้นเชิงอุบายที่จะให้เป็นเรื่องใหญ่ทางหนึ่ง เป็นทางที่จะให้เมืองนครเชียงใหม่สะดุ้งอยู่ด้วยแสนธานินทรพิทักษ์ เพื่อจะได้ลงโทษแสนธานินทรพิทักษ์ ก็เป็นได้ทางหนึ่ง ครั้นคิดไปตามนิสัยน้ำใจของชาติเงี้ยว มักจะคิดรบพุ่งโดยจู่โจมแลคอยลอบทำเผลอเลินเล่อ ดังเช่นเป็นกองโจรคนร้ายก็จะเป็นได้ จะฟังเอาแต่หนังสือพระยาดำรงค์แต่ฝ่ายเดียวก็ไม่แน่ใจได้ ด้วยเมืองปาย เมืองแหง กำลังของเมืองปายแข็งแรงกว่า ประการหนึ่งนายน้อยบัวรวงษ์ก็เป็นคนรอบคอบได้ราชการอยู่คงไม่เสียเปรียบแก่อุบายของคนชาติเงี้ยว

(6) ถึงอย่างไรก็ดีจำเป็นต้องให้เจ้าอุตรการโกศล หนุนออกไปจึงจะได้เพราะเงี้ยวกลัวคนมาก แต่ถึงจะกล้าหาญเพียงใดก็จริงอยู่แต่พอจะรับรองได้

(7) ข้าพระพุทเจ้าสังเกตดูเห็นด้วยเกล้าฯ ว่าในเวลานี้นายน้อยบัวรวงษ์จะถึงเมืองปายแล้ว ถ้าหนักแน่นอย่างใด คงจะมีหนังสือบอกข้อราชการเข้ามา ถ้าข้าพระพุทธเจ้าได้ทราบเกล้าฯในเรื่องนี้ต่อไปอย่างใด ข้าพระพุทธเจ้าจะได้มีบอกกราบทูลมาทรงทราบฝ่าพระบาทต่อครั้งหลัง ข้าพระพุทธเจ้าได้คัดสำเนาหนังสือต่างๆในเรื่องนี้ รวม 14 ฉบับทำเป็นบัญชีสอดซองมาทูลเกล้าฯถวายทรงทราบฝ่าพระบาทด้วยแล้ว ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้าฯ

                                                                  ลายเซ็น    ทรงสุรเดช


     หนังสือของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชนุภาพ ทูลเกล้าฯถวายรายงานพระบาทสมเด็จพระปิยมหาราช

     ที่ ๖๗/๑๒๗๓๒                                                             ศาลาว่าการมหาดไทย
                                                                    วันที่ ๑๓ เดือนกรกฎาคม ร.ศ.๑๑๔

ข้าพระพุทธเจ้า ขอพระราชทานกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท

ด้วยแต่ก่อนข้าพระพุทธเจ้าได้มีจดหมายกราบทูลกรมหมื่นสมมตอมรพันธุ์ที่ ๔๐๙/๘๗๒๖ ลงวันที่ ๑๒ มิถุนายน ร.ศ.๑๑๔ ว่าด้วยเรื่อง "แสนธานินทร์พิทักษ์เจ้าเมืองแหง" อริวิวาทกับเจ้าเมืองปาย ความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว

       บัดนี้ข้าพระพุทธเจ้าได้รับบอกพระยาทรงสุรเดชที่ ๑๖๙/๑๕๔๐  ลงวันที่ ๗ มิถุนายนร.ศ.๑๑๔ ว่าได้รับรายงานนายน้อยบัววงษ ซึ่งพระยาทรงสุรเดชแต่งให้ออกไประงับการเรื่องนี้ มีความว่าเมื่อนายน้อยบัววงษ ไปพักอยู่ที่วัดสบเปิงได้ทราบความจากปู่จ่าก่าคนเงี้ยว(ไทใหญ่)แลอ้ายซาว ว่าปู่จ่าก่าไปหาซื้อกระบือที่ "บ้านช้าง"ชาวบ้านแลลูกค้าพูดกันว่า "ขุนทอน"บุตรเขยแสนธานินทร์พิทักษเจ้าเมืองแหง มาแวะที่บ้านอ้ายซาวแล้วจะเลยเข้ามาหาพระเจ้านครเชียงใหม่ 
      เมื่อพระยาทรงสุรเดชได้ทราบความดังนี้จึงมีหนังสือไปถึงเจ้าราชวงษ์ แลนายน้อยบัววงษ์ว่า ถ้าแสนธานินทร์พิทักษ์ จะเข้ามาหาพระเจ้านครเชียงใหม่ควรเกลี้ยกล่อมเอาไว้โดยดี ไม่ให้มีโทษทัณฑ์อันใด ต่อมาพระยาทรงสุรเดชได้รับหนังสือเจ้าเมืองปายหนึ่งฉบับว่า ได้ความว่าแสนธานินทร์พิทักษ์เจ้าเมืองแหงเตรียมคนต่างๆจะมารบเมืองปาย 
      พระยาทรงสุรเดชได้มีคำสั่งให้เจ้านายเมืองเชียงใหม่กะเกณฑ์คนตามหัวเมืองไว้ให้พร้อม จะได้จัดให้เจ้าอุตรการโกศลคุมขึ้นไปช่วยนายน้อยบัววงษ์ แลมีความเห็นของพระยาทรงสุรเดชในเรื่องนี้หลายประการ ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานทูลเกล้า ถวายสำเนาบอกพระยาทรงสุรเดชที่ ๑๒๙/๑๕๔๐ หนึ่งฉบับ สำเนารายงานนายน้อยบัววงษ์หนึ่งฉบับ สำเนาหนังสือพระยาดำรงราชสีมาเจ้าเมืองปาย ๑ ฉบับ รวม ๓ ฉบับ ทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท

การเรื่องนี้ข้าพระพุทธเจ้าเห็นด้วยเกล้าฯว่า ที่พระยาทรงสุรเดชได้จัดไปนั้น ก็เป็นการทำตามแบบแผนในธรรมเนียมเมืองลาว แต่ข้าพระพุทธเจ้าไม่ใคร่พอใจในแบบแผนที่ยกทัพกันง่ายๆเช่นนี้ เพราะการก็เพียงเล็กน้อย เป็นแต่เจ้าเมืองปลายแดนวิวาทกับกรมการตามสาเหตุที่มีกันมาแต่ดึกดำบรรพ์ ยกทัพเกรียวกราวออกไปดูพาให้เป็นการใหญ่ไปเปล่าๆ แลผลของการยกทัพลาวเช่นนี้ ถ้าจะเอาประโยชน์ก็ไม่เห็นจะมีอันใด "นอกจากกะเกณฑ์กันเล่นเหนื่อย" ถ้าพวกเงี้ยวพอใจจะต่อสู้จริงทัพลาวก็ไม่แน่ได้จะสู้หรือหนีการยกทัพลาวเคยมีแบบมาในครั้ง"พระยาปราบ"ครั้ง ๑ ยกไปเป็นก่ายเป็นกองถูกเงี้ยวขู่พักเดียวก็เปิดหมด ได้ทหารไทย ๒๔ คน กลับตีทัพเงี้ยวแตกไปนับ ๑๐๐ การในเรื่องเมืองปายนี้ข้าพระพุทธเจ้าประมาณดูเห็นด้วยเกล้าว่า เป็นแต่การวิวาทกัน "ต้องการตุลาการตัดสินผิดแลชอบมากกว่าอย่างอื่น" น่าที่จะเป็นเพราะพวกเงี้ยวเหล่านี้ไม่ใคร่ไว้ใจในยุติธรรมของลาว จึงยังกระด้างกระเดื่อง เห็นด้วยเกล้าว่า ถ้าให้ข้าหลวงรองเมืองนครเชียงใหม่สักคนหนึ่ง กับทหารไทยสัก ๑๐ คน ออกไปไต่สวนตัดสินการเรื่องนี้น่าที่จะเรียบร้อยได้ดีกว่ายกทัพลาวออกไป

       ถ้าชอบด้วยกระแสพระราชดำริห์ ข้าพระพุทธเจ้าจะได้รับพระราชทานมีตราแนะนำออกไปยังพระยาทรงสุรเดชดังนี้ บางทีเห็นจะทันที่จะแก้ไขได้ แต่ถึงไม่ทันประมาณดูในเรื่องนี้ ก็เห็นด้วยเกล้า ว่า "จะไม่เป็นการใหญ่โตอันใด" ผิดนักก็จะเป็นอย่างขี่ช้างไปไล่ตักกระแตนเท่านั้น แต่ที่เมืองนครเชียงใหม่นี้ ข้าพระพุทธเจ้าเห็นด้วยเกล้าว่า น่าที่จะต้องมีทหารไทยไว้สัก ๕๐ คน เป็นอย่างต่ำ สำหรับการปลายแดนเล็กน้อยเช่นนี้ จะมีประโยชน์แก่ราชการเป็นอันมาก ข้าพระพุทธเจ้าได้แจ้งต่อกระทรวงพระกะลาโหม แลกรมยุทธนาธิการ ขอให้จัดขึ้นในศก ๑๑๔ นี้แล้ว

ควรมิควรแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ขอเดชะ

                                    ข้าพระพุทธเจ้า          ดำรงราชานุภาพ
                                                     เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย
           หนังสือจากเสนาบดีกระทรวงมุรธาธร แจ้งมายังเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย

ที่๙๖/๒๒๖ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท

                                      วันที่ ๓ กรกฎาคม รัตนโกสินทร์ศก  ๑๑๔

ทูลพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ

       ด้วยได้นำลายพระหัตถ์ท่าน ซึ่งตอบรับจดหมายข้าพเจ้าเรื่องแสนธานินทร์พิทักษ์มาปล้นเมืองปาย แลชี้แจงการเรื่องนี้ ว่าต้องรอฟังรายงานนายน้อยบัววงษ์ ดังแจ้งในลายพระหัตถ์ ที่ ๕๑๔/๑๐๘๑๘ ลงวันที่ ๓๐ เดือนก่อนนั้น  
       ได้นำขึ้นทูลเกล้าถวายทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว  โปรดเกล้าฯดำรัสว่า

ถ้าพระยาทรงสุรเดชเข้าใจว่าเราอาจถือว่าเปนผู้ร้ายข้ามแดนได้แล้ว เมื่อสืบสวนได้ชัดว่าอยู่ในแดนเขา ก็จะได้ว่าตามกันไม่เปนอันทำให้เสียเวลา”


เรื่อง "เมืองแหงวิวาท เมืองปาย" ท้ายที่สุดก็จบลงด้วยดี โดยเจ้าราชวงษ์ ผู้สำเร็จราชการกรมมหาดไทย กรมทหารเมืองนครเชียงใหม่,พระยาทรงสุรเดช ข้าหลวงใหญ่รักษาราชการมณฑลลาวเฉียง แต่งตั้งนายน้อยบัววงษ์ พระยารองกรมมหาดไทยเมืองนครเชียงใหม่ ยกกองทัพออกจากเชียงใหม่ โดยประชุมทัพ ณ บริเวณข่วงสิงห์ เดินทางผ่าน อำเภอแม่ริม แล้วเลี้ยวซ้ายเดินทวนสายน้ำแม่ริมมาพักแรม ณ วัดหนองปลามัน ต.ห้วยทราย อ.แม่ริม ผ่านหมู่บ้านรายทาง คือบ้านห้วยทราย บ้านนาหืก บ้านสะลวง บ้านกาดฮาว บ้านสันป่าตึง บ้านสันป่ายาง บ้านดอนเจียง บ้านท่าข้าม และพักแรมที่วัดสบเปิง ต.สบเปิง อ.แม่แตง จากนั้นเดินทางต่อไปยัง อ.ปาย ตัดเข้าเมืองน้อย เข้าสู่เมืองแหง เจรจากับแสนธานีพิทักษ์ และนำตัวเจ้าเมืองแหงเดินทางมาเชียงใหม่ เพื่อให้ปากคำแก่ตุลาการเชียงใหม่แล้ว ปรากฏว่าผลการสอบสวนไม่เป็นไปตามข้อกล่าวหา พระเจ้าเชียงใหม่ ให้แสนธานีพิทักษ์เข้าพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัจจา แล้วให้เป็นเจ้าเมืองแหงดังเดิม


* เป็นเมืองชายแดนที่มีความสำคัญโดยเฉพาะพื้นที่แอ่งเวียงแหงมีถึง 2 เมือง ในปี พ.ศ. 2440 ปิแอร์ โอร์ต ผู้ช่วยด้านกฎหมายของเจ้าพระยาอภัยราชา(โร จักแมงส์)ในสมเด็จพระปิยมหาราช มาตรวจราชการปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน ณ นครเชียงใหม่ บันทึกว่า

 นครเชียงใหม่ มี 10 หัวเมืองในสังกัด คือ 1 เมืองแหงเหนือ 2 เมืองแหงใต้ 3 เมืองแม่ฮ่องสอน 4 เมืองเชียงราย 5 เมืองปาย 6 เมืองยวม(แม่สะเรียง) 7 เมืองขุนยวม 8 เมืองเชียงแสน 9 เมืองฝาง 10 เมืองงาย(เชียงดาว)[27]
  • ลดฐานะจากเมืองแหง เป็น ตำบลเมืองแหง ขึ้นกับอำเภอเชียงดาว ประมาณ * พ.ศ. 2457
  • พ่อเฒ่าจ่าน หมู่บ้านซาววา(ยี่สิบวา) เมืองปั่น รัฐฉาน พม่า อพยพมาตั้งรกรากที่เมืองแหง ใน พ.ศ. 2477 ต่อมาทางการแต่งตั้งให้เป็นแค้วน ภาษาถิ่นออกเสียงเป็น แคว่น หรือกำนัน ตรงกับภาษาไทใหญ่ว่า "เหง"จึงเรียกว่า "ปู่เหงซาววา"หรือ กำนันซาววา และสิ้นอายุขัยในปี พ.ศ. 2493 อายุ 94 ปี[28]
  • เป็นเส้นทางเดินทัพญี่ปุ่นสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 [29]
  • เป็นเป้าหมายของฝ่ายสัมพันธมิตรโดยส่งฝูงบินทิ้งระเบิดเพื่อตัดเส้นทางยุทธศาสตร์สายเชียงใหม่-แม่แตง-เวียงแหง-พม่า สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2[30]
  • เป็นเส้นทางบินหนีกลับฐานบินสัมพันธมิตรในประเทศพม่า หลังจากเครื่องบินถูกยิงในสมรภูมิกลางเวหาลำปาง และเครื่องบินตกที่ อ.เวียงแหง ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2[31]
  • เป็นเส้นทางการค้าต้อนฝูงวัว ฝูงควาย ม้า ลา เดินเท้าจากเมืองปั่น(Pan)[32] พม่า เข้ามาขายประเทศไทย ณ ช่องทางด่านหลักแต่ง อ.เวียงแหง ประมาณ พ.ศ. 2510-2545 [33]
  • ยกฐานะเป็น กิ่งอำเภอเวียงแหง เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2524[34]
  • ป้องปรามบุคคลที่เป็นภัยต่อความมั่นคงตามแนวตะเข็บชายแดน [35]
  • สำรวจพบแร่ลิกไนต์ กว่า 139 ล้านตัน มูลค่ากว่า 50,000 ล้านบาท เมื่อ พ.ศ. 2530[36]
  • พบพระพุทธรูปสัมฤทธิ์ปางมารวิชัย(สิงห์ 1 ) ณ ลำห้วยหก ปี พ.ศ. 2534 [37]
  • เป็นเส้นทางนำเข้าไม้ซุงสักพม่า จากแม่น้ำสาละวิน(สบแม่น้ำจ้อด-Kyawt) ทวนสายน้ำจ้อด ผ่านเมืองทา-Hta เข้าสู่ประเทศไทย ณ ช่องทางด่านหลักแต่ง(BP 3 ) อฺ.เวียงแหง ถึงเชียงใหม่ โดยบริษัทไทยเทควูด จำกัด ประมาณ พ.ศ. 2535-2537[38]
  • ยกฐานะเป็น อำเภอเวียงแหง เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2536 [39]
  • จังหวัดเชียงใหม่ ประกาศเปิดจุดผ่อนปรนบ้านหลักแต่ง อ.เวียงแหง เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2541[40]
  • สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วย สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรบ้านแปกแซม หมู่ที่ 1 ต.เปียงหลวง อ.เวียงแหง เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2543[41]
  • เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ประเทศเพื่อนบ้าน(BP 3)ด้านตรงข้าม อ.เวียงแหง ปี พ.ศ. 2545[42]
  • จังหวัดเชียงใหม่ ประกาศปิดจุดผ่อนปรนบ้านหลักแต่ง อ.เวียงแหง เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2545
  • งานวิจัย กระบวนการสร้างอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ของชาวไทยใหญ่ชายแดนไทย-พม่า กรณีศึกษาเรื่อง หมู่บ้านเปียงหลวง อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ พบว่ามีการสร้างอัตลักษณ์ 3 บุคคล 1 เหตุการณ์ [43] พ.ศ. 2545
  • หม่อมเจ้า.ชาตรีเฉลิม ยุคล สำรวจเมืองโบราณ "เมืองแหง อ.เวียงแหง" ปี พ.ศ. 2547[44]
  • อัญเชิญพระรูปหล่อสมเด็จพระนเรศวรมหาราชมาประทับข่วงอนุสรณ์สถานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2547[45]
  • สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ : รายงานการวิจัย เรื่อง การศึกษาเส้นทางเดินทัพและค้าขายสมัยโบราณ : เชียงใหม่ เมืองกื้ด เมืองคอง เมืองแหง เมืองนาย(พม่า) พ.ศ. 2549 [46]
  • กรมศิลปากร ขุดพบพระพุทธรูปสำริดปางมารวิชัย สมัยอยุธยา ขนาดหน้าตัก 22 เซนติเมตร สูง 39 เซนติเมตร น้ำหนัก 2542 กรัม ศิลปะอู่ทอง รุ่น 2 พระพักตร์เหลี่ยมแป้น พระนลาฏแคบ พระนาสิกโด่งเป็นสัน พระศกเล็ก มีไรพระศกเป็นแถบเล็ก มีพระรัศมีเป็นเปลวสูงแหลม ชายสังฆาฏิเป็นรูปเขี้ยวตะขาบเรียบ นั่งขัดสมาธิราบ ทำปางมารวิชัย ศิลปะในช่วงพุทธศตวรรษ 20-21 ณ วัดพระธาตุแสนไห พ.ศ. 2555 [47][48]
  • กรมศิลปากร จัดกิจกรรมเสวนา เส้นทางเดินทัพและสถานที่สวรรคต สมเด็จพระนเรศวรมหาราช วันที่ 29-31 สิงหาคม 2557 ณ โรงแรมกรีนเลคเชียงใหม่และเส้นทางโบราณเมืองกื้ด เมืองคอง เวียงแหง(อ.แม่แตง อ.เชียงดาว อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ [49]
  • ผ้าป่า 2 แผ่นดิน ทอดถวาย ณ วัดฟ้าเวียงอินทร์ อ.เวียงแหง โดย พลตรีสุทัศน์ จารุมณี ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 7 เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 [50][51][52](ยศและตำแหน่งในขณะนั้น)
  • ผู้บัญชาการทหารบก และคณะ(พลเอกอุดมเดช สีตบุตร)[53] ถวายผ้าไตรบังสุกุล แด่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ณ วัดพระธาตุแสนไห อ.เวียงแหง เมื่อวันที่ 20[54] มีนาคม 2558
  • เวียงแหง กับ "ด่านหลักแต่ง" พ.ศ. 2558[55]
  • มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รายงานผลการศึกษาการเพิ่มประสิทธิภาพศักยภาพ เชื่อมโยงด่านการค้าชายแดนและเตรียมความพร้อมจุดผ่อนปรนที่มีศักยภาพพัฒนาเป็นด่านถาวร ภายใต้โครงการเปิดตลาดสู่ภูมิภาคอาเซียน งบประมาณกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 ประจำปีงบปะมาณ พ.ศ. 2558[56]
  • กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 (เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำพูน ลำปาง) จัดกิจกรรมสำรวจเส้นทางการค้า การท่องเที่ยว ตามเส้นทางการเดินทัพของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เชื่อมไปยังจุดผ่อนปรนบ้านหลักแต่ง อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ ภายใต้โครงการพัฒนาส่งเสริมการค้าชายแดนกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 ประจำปีงบประมาณ 2559 เมื่อวันที่ 10-12 พฤศจิกายน 2559 ณ โรงแรมโลตัสปางสวนแก้ว อ.เมือง เชียงใหม่,พื้นที่เส้นทางโบราณสายน้ำแม่แตง อ.แม่แตง อ.เชียงดาว และ อ.เวียงแหง [57]

การสัมมนาเชิงปฏิบัติการรับฟังความคิดเห็นการพัฒนาเมืองเชียงใหม่ เพื่อนำไปสู่การจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาเมืองเชียงใหม่ ระยะ 10 ปี ด้านโครงข่ายการคมนาคมขนส่งทางบก -การก่อสร้างเส้นทางประวัติศาสตร์แม่แตง-เวียงแหงตามรอยเส้นทางพระนเรศวร ด้านการค้า การลงทุนและการค้าชายแดน -การเปิดจุดผ่อนปรนและยกระดับเป็นด่านการค้าชายแดนถาวรช่องหลักแต่ง อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ 20,27 กันยายน 2561 ณ สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

  • อำเภอเวียงแหง จะเป็นประตูเส้นทางการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว เชียงใหม่ -พม่า-จีน[58] ในทศวรรษหน้า[59][60][61][62][63][64][65][66]

ที่ตั้งและอาณาเขต

[แก้]

อำเภอเวียงแหงตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของจังหวัดเชียงใหม่ โดยเดินทางตามทางหลวงหมายเลข 107 ถึงช่วงหลักกิโลเมตรที่ 78 แยกปากทางบ้านเมืองงาย เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ทางหลวงชนบทหมายเลข 1178 ถึงช่วงหลัก กม.ที่ 10 สามแยกบ้านแม่จา เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ทางหลวงชนบทหมายเลข 1322 ถึงหลัก กม.ที่ 53 เป็นที่ตั้งศูนย์ราชการอำเภอ ถึงหลัก กม.ที่ 74 สิ้นสุดชายแดนที่ช่องทางหลักแต่ง ระยะทางถึงอำเภอประมาณ 133 กม. และถึงชายแดน ประมาณ 153 กม.อาณาเขตส่วนหนึ่งเป็นพรมแดนระหว่างประเทศไทยและพม่า อำเภอเวียงแหงมีเขตติดต่อดังนี้

การแบ่งเขตการปกครอง

[แก้]

การปกครองส่วนภูมิภาค

[แก้]

อำเภอเวียงแหงแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 3 ตำบล 23 หมู่บ้าน ได้แก่

ลำดับที่ อักษรไทย อักษรโรมัน จำนวนหมู่บ้าน ประชากรทั้งหมด
(พ.ศ. 2566)[67]
ประชากรแยกตามส่วนท้องถิ่น
(พ.ศ. 2566)[67]
1. เมืองแหง Mueang Haeng 12 16,550 16,550 (อบต. เมืองแหง)
2. เปียงหลวง Piang Luang 6 26,193 26,193 (อบต. เปียงหลวง)
3. แสนไห Saen Hai 5 11,618 11,618 (ทต. แสนไห)
รวม 23 54,361 11,618 (เทศบาล)
42,743 (อบต.)

การปกครองส่วนท้องถิ่น

[แก้]

ท้องที่อำเภอเวียงแหงประกอบด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 3 แห่ง ได้แก่

  • เทศบาลตำบลแสนไห ครอบคลุมพื้นที่ตำบลแสนไหทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลเมืองแหง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลเมืองแหงทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลเปียงหลวง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลเปียงหลวงทั้งตำบล

สถานที่สำคัญ

[แก้]
  • บ่อน้ำช้างศึกสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
  • สถานที่สวรรคตสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
  • เมืองโบราณเมืองแหง มีคูน้ำกำแพงดินรอบเมือง
  • หอเจ้าเมืองแหง
  • วัดเวียงแหง
  • วัดห้วยหก
  • น้ำตกแม่หาด
  • ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
  • วัดพระธาตุแสนไหที่บรรจุพระเขี้ยวแก้ว ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า,กรมศิลปากรขุดพบพระพุทธรูปสำริดปางมารวิชัยสมัยอยุธยา ศิลปะอู่ทองรุ่น 2 หน้าตักกว้าง 22 เซนติเมตร สูง 39 เซนติเมตร[68]
  • วัดเปียงหลวง
  • วัดฟ้าเวียงอินทร์ (วัดสองแผ่นดิน)
  • ตลาดการค้าชายแดนไทย-พม่า บ้านหลักแต่ง
  • วัดพระธาตุเวียงแหง (สถานที่เก็บรักษาพระมาลาสมเด็จพระนเรศวรมหาราช)
  • สถานีสาธิตและถ่ายทอดการเกษตร ป่าไม้ สิ่งแวดล้อม ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิต์ พระบรมราชินีนาถ บ้านแปกแซม
  • โครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิต์ พระบรมราชินีนาถ บ้านดอยดำ
  • ดอยสามหมื่น
  • ถ้ำแม่แตะ มนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์
  • บ้านเปียงหลวง[69]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "พระราชกฤษฎีกาตั้งอำเภอลำทับ อำเภอร่องคำ อำเภอเวียงแหง อำเภอนาโยง อำเภอแก้งสนามนาง อำเภอโนนแดง อำเภอบ้านหลวง อำเภอกะพ้อ อำเภอศรีบรรพต อำเภอแก่งกระจาน อำเภอหนองสูง อำเภอสบเมย อำเภอเมยวดี อำเภอโคกเจริญ อำเภอทุ่งหัวช้าง อำเภอผาขาว อำเภอวังหิน อำเภอดอนพุด อำเภอบึงโขงหลง และอำเภอห้วยคต พ.ศ. ๒๕๓๖" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2012-02-24. สืบค้นเมื่อ 2018-03-12.
  2. ราชวงศาพื้นเมืองเชียงใหม่ ภาคปริวรรต ลำดับที่ ๔ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ๒๕๑๘
  3. มหาราชวงษ์พงศาวดารพม่า, สำนักพิมพ์มติชน ๒๕๔๕
  4. G+ :chaiyong chaisri. " ท่าผาแดง" ในประวัติศาสตร์ล้านนา, มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่ ,หนังสือ "ข่วงผญา" ฉบับที่ 7/2555 รวมบทความล้านนาศึกษา ฉบับฉลองพุทธยันตี 2600 ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า หน้า 54-67, https://plus.google.com/+BetaChaiyo
  5. คณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทย (2542) จดหมายเหตุนครเชียงใหม่ โรงพิมพ์ดอกเบี้ย กทม. หน้า 150-163 เรื่อง "คำให้การท้าวสิทธิมงคล" จารบุรุษเมืองเชียงใหม่ ไปสืบราชการลับในพม่าและถูกจับติดคุกที่ "เมืองนาย" นาน 1 ปี 1 เดือน 3 วัน เมื่อพ้นโทษจึงเดินทางกลับมาเชียงใหม่ และลงไปกรุงเทพฯให้ปากคำกับพระยาจุฬาราชมนตรี ในรัชกาลที่ 3
  6. นคร พันธุ์ณรงค์ (2516) การเจรจาและข้อตกลงระหว่างรัฐบาลสยามกับรัฐบาลอังกฤษเกี่ยวกับหัวเมืองชายแดนลานนาไทยและพม่า สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ระยะ พ.ศ. 2428-2438 วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  7. หอสมุดแห่งชาติ, หนังสือและคัดบอกเมืองเชียงใหม่ หนังสือสมุดไทยดำ อักษรไทย ภาษาไทย เส้นรงค์(ดินสอ หรดาล) จ.ศ.๑๒๒๗ เลขที่ ๒๗๒ หมวดจดหมายเหตุ ก.ท. ร.๔
  8. วารสาร "รวมบทความประวัติศาสตร์"(2539) ฉบับที่ 18 เรื่อง รายงานระยะทางในราชการตรวจพระราชอาณาเขตหัวเมืองลาวฝ่ายเหนือ ร.ศ. 108
  9. รวมบทความประวัติศาสตร์(2539) ฉบับที่ 18 เรื่อง รายงานระยะทางในราชการตรวจพระราชอาณาเขตหัวเมืองลาวฝ่ายเหนือ ร.ศ. 108
  10. กองจดหมายเหตุแห่งชาติ รหัส ร.5 ม.58/163 เรื่อง เมืองแหงวิวาทกับเมืองปาย ร.ศ.114 ขอขอบคุณ ดร.อนุชาติ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ที่เอื้อเฟื้อประสานสำเนาไมโครฟลิ์ม เรื่อง เมืองแหงวิวาทเมืองปาย จำนวน 83 หน้ากระดาษ A 4 จากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ มาให้ข้าพเจ้านายชัยยง ไชยศรี ได้เรียบเรียง
  11. ใช้คำซ้ำ "จับ" เป็นภาษาไทย "ยับ" เป็นภาษาล้านนา มีความหมายเหมือนกัน
  12. "ปู่เมอุก" เป็นอีกชื่อหนึ่งของแสนธานีพิทักษ์ ซึ่งเป็นภาษาไทยใหญ่
  13. "แก่"เป็นภาษาล้านนา ในที่นี้ หมายถึงผู้นำชุมชน หรือผู้ใหญ่บ้าน
  14. "ป่ายหนี" มีความหมายว่า แพ้แล้วหนี
  15. "แผว" มีความหมายว่า "ถึง"
  16. "ก็บ่อหันแล้ว" หมายถึง ไม่เห็นแล้ว
  17. "บ้านสันป่าแปลกยาว" เป็นชื่อเฉพาะและเป็นภาษาไทใหญ่หมายถึงหมู่บ้านต้นไม้สน ปัจจุบันอยู่ในตำบลเปียงหลวง
  18. "เกิ๊ดที่ทางปล่อง" หมายถึง ตั้งด่านตรวจประจำช่องทาง
  19. "เมืองคอง" เป็นชื่อเฉพาะ ปัจจุบันคือ ตำบลเมืองคอง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่
  20. "ครั้นมืดสลุ้ม" หมายถึง เวลาพลบค่ำ
  21. "บ้านป้อมแม่เดิมปูนตา" ปัจจุบันไม่มีชื่อหมู่บ้านนี้ สันนิษฐานว่าเป็นหมู่บ้านปกากญอป่าข้าวหลาม ซึ่งตั้งอยู่บริเวณห้วยแม่กอกไหลมาบรรจบแม่น้ำแตงใต้เมืองคอง ราว 10 กิโลเมตร
  22. "เสี้ยงคำให้การ"หมายถึง หมดคำให้การ
  23. "ปิ๊กเมือ"หมายถึง กลับคืน
  24. ปิ๊กคืน หมายถึง กลับคืน
  25. "เล่นลวงเสียปักตก"หมายถึง เล่นการพนันเสียจนหมดตัว
  26. "บ่แล้วบ่หายสักเตื้อ" มีความหมายว่า ไม่รู้จักจบสิ้น
  27. พิษณุ จันทร์วิทัน (2546) ล้านนาไทยในแผ่นดินพระพุทธเจ้าหลวง โรงพิมพ์เดือนตุลา หน้า 92-93
  28. เอกสารประกอบการสัมมนา"ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเมืองแหง และข้อมูลใหม่เกี่ยวกับสถานที่สวรรคตของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช" 29 กรกฎาคม 2546 ณ โรงเรียนเวียงแหงวิทยาคม โดยเหรียญชัย อ้วนคำ เรื่อง "ประวัติความเป็นมาของปู่เหงซาววา"
  29. กองทัพญี่ปุ่นมาตั้งค่ายและขุดสนามเพลาะล้อมรอบค่าย ทางด้านทิศตะวันออกของหมู่บ้านเวียงแหง และมาซื้อเสบียงอาหารในตัวเวียงแหง โดยนายเสาร์ แสนเมืองมูล ขณะยังเป็นเด็กได้ห้อยแขนทหารญี่ปุ่นที่ชอบเล่นกับเด็กๆเป็นที่สนุกสนาน : สัมภาษณ์นายเสาร์ แสนเมืองมูล หมู่ที่ 4 ต.เมืองแหง อ.เวียงแหง(อายุ 72 ปี เมื่อ พ.ศ. 2549),รายงานการวิจัย เรื่อง การศึกษาเส้นทางเดินทัพและค้าขายสมัยโบราณ : เชียงใหม่ เมืองกื้ด เมืองคอง เมืองแหง เมืองนาย(พม่า) 2549 สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ
  30. ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 หน่วยทหารช่างของไทยทำการก่อสร้างเส้นทางยุทธศาสตร์สาย เชียงใหม่ เวียงแหง พม่า จาก อ.แม่แตง ทวนสายน้ำแม่แตงจนการก่อสร้างคืบหน้ามาถึงหมู่บ้านสบก๋าย ต.กื้ดช้าง อ.แม่แตง โดยได้ตั้งแค้มป์ที่พักบริเวณเนินเขา(ปัจจุบันเป็นที่ตั้งที่ทำการหน่วยป่าไม้) ขณะนั้นมีเครื่องบินฝ่ายสัมพันธมิตรจำนวน 2 ลำ บินต่ำลัดเลาะทวนแม่น้ำแตง เสียงดังกึกก้องหุบเขา นักบินพบที่ตั้งของทหารช่าง จึงบินผ่านเลยไป แล้วย้อนกลับมาทิ้งระเบิดเพื่อทำลายแคมป์ที่พัก แต่พลาดเป้าไปประมาณ 80 เมตร ปัจจุบันยังคงปรากฏหลุมระเบิดรัศมีกว้างราว 10 เมตร ลึกประมาณ 2 เมตร : สัมภาษณ์นายดวง กาวิชัย (อายุ 88 ปี เมื่อ พ.ศ. 2549) หมู่ 1 ต.กื้ดช้าง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ , รายงานการวิจัย เรื่อง การศึกษาเส้นทางเดินทัพและค้าขายสมัยโบราณเชียงใหม่ เมืองกื้ด เมืองคอง เมืองแหง เมืองนาย(พม่า) 2549 สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ
  31. เป็นเครื่องบินขับไล่สังกัดกองทัพอากาศประเทศสหรัฐอเมริกา ประจำฐานทัพในพม่า รุ่น P 38 Lightning ชนิด 2 ใบพัด 2 เครื่องยนต์ มีภารกิจทำลายตัดเส้นทางยุทธศาสตร์ไม่ให้กองทัพญี่ปุ่นส่งกำลังไปโจมตีฝ่ายสัมพันธมิตรในพม่า และเครื่องบินนี้ได้ทำการต่อสู้กลางเวหาท้องฟ้า จ.ลำปาง โดยเครื่องถูกยิง นักบินจึงหันหัวบินหนีผ่านเชียงใหม่ มาถึงบ้านห้วยไคร้ อ.เวียงแหง เครื่องบินพุ่งชนต้นไม้ ไฟลุกท่วม ทหารญี่ปุ่นซึ่งตั้งค่ายอยู่ใกล้ๆ พากันไปยังจุดที่เครื่องบินตกพบว่านักบินเสียชีวิตแล้ว จึงนำศพไปฝังใกล้ต้นไม้ใหญ่ใกล้กับจุดที่เครื่องบินตก : สัมภาษณ์นายหน่อ คำอ้าย (อายุ 72 ปี เมื่อ พ.ศ. 2549) หมู่บ้านห้วยไคร้ อ.เวียงแหง,สัมภาษณ์ ดร.อนุชาติ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ผู้ประสานกองทัพอากาศดำเนินการสืบค้นที่มาของเครื่องบินขับไล่นี้โดยกองทัพอากาศประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ส่งคณะผู้เชี่ยวชาญมาร่วมดำเนินการสืบทราบชนิดของเครื่องบิน สังกัด และชื่อนักบิน ,ชมรมนักเขียนการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ,2548 พบกันที่เวียงแหง โรงพิมพ์กองผลิตสื่อประชาสัมพันธ์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย,
  32. เมืองปั่น(Pan-หรือเมืองพาน ) ตั้งอยู่ฝั่งตรงข้าม อ.เวียงแหง เป็นระยะทางประมาณ 100 กม. เคยเป็นอำเภอหนึ่งของประเทศไทย ในระหว่าง วันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2486 ถึงวันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2488 เป็นเวลา 2 ปีเศษ ตามราชกิจจานุเบกษา ประกาศว่า "...ฉะนั้น ..."เมืองพาน" จึงเปนอันรวมเข้าในราชอาณาจักรไทย ตั้งแต่วันที่ 18 สิงหาคม พุทธสักราช ๒๔๘๖ เปนต้นไป.."
  33. รายงานการวิจัย เรื่อง การศึกษาเส้นทางเดินทัพและค้าขายสมัยโบราณเชียงใหม่ เมืองกื้ด เมืองคอง เมืองแหง เมืองนาย(พม่า) 2549 สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ,สัมภาษณ์นายเต็งหยุ้น ผายนาง กำนันตำบลเปียงหลวง เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2549
  34. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 58 ตอนที่ 68 ลงวันที่ 5 พฤษภาคม 2524
  35. ระหว่าง พ.ศ. 2526-2528 สมัยพลเอกอาทิตย์ กำลังเอก ผบ.ทบ.
  36. http://www.prachatai.com/journal/2004/11/1026
  37. ฤดูฝน ปี 2534 น้ำป่าไหลหลากเซาะตลิ่งห้วยหกพังทะลาย พบ พระพุทธรูป "สิงห์ 1" จารึกรอบฐาน ว่า " มหารเถรจันทรังสี วัดหมื่นคต ให้หล่อไว้เป็นที่เคารพบูชา พ.ศ. 1994 หรือ 2054 หรือ 2114 : นายอุต ท้าวคำมา ผู้ใหญ่บ้านห้วยหก อ.เวียงแหง ,รายงานการวิจัย เรื่อง การศึกษาเส้นทางเดินทัพและค้าขายสมัยโบราณ : เชียงใหม่ เมืองกื้ด เมืองคอง เมืองแหง เมืองนาย (พม่า) 2549 สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ'dnh,nv8vg,n
  38. ศึกษาธิการอำเภอเวียงแหง ปี พ.ศ. 2535
  39. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 110 ตอน 179 ลงวันที่ 3 พฤศจิกายน 2536
  40. http://www.chiangmaiimm.com
  41. ส่วนประสานงานโครงการพระราชดำริ, http://www.dnp.go.th
  42. นิตยสาร พลเมืองเหนือ ฉบับที่ 31 วันที่ 27 พ.ค.-2 มิ.ย. 2545
  43. วารสารคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ฉบับที่ 1/2545 หน้า 219-245 โดยวันดี สันติวุฒิเมธี
  44. วันที่ 19 มกราคม 2547 สัมภาษณ์ ว่าที่ ร.ต.อดิศวร นันทชัยพันธ์ นายอำเภอเวียงแหง คนที่ 5
  45. พิธีอัญเชิญพระรูปหล่อสมเด็จพระนเรศวรมหาราช จากวัดใหญ่ชัยมงคล พระนครศรีอยุธยา, มายังกองทัพภาคที่ 3 พิษณุโลก , กองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 7 ค่ายพิชิตปรีชากร เชียงใหม่ และ อ.เวียงแหง : สัมภาษณ์ ว่าที่ ร.ต.อดิศวร นันทชัยพันธ์ นายอำเภอเวียงแหง คนที่ 5
  46. สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ,2549 : รายงานการวิจัย เรื่อง การศึกษาเส้นทางเดินทัพและค้าขายสมัยโบราณ : เชียงใหม่ เมืองกื้ด เมืองคอง เมืองแหง เมืองนาย(พม่า)อำนวยการโดยมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ , ผู้วิจัย ชัยยง ไชยศรี
  47. บริษัทงานโบราณจำกัด ,2555 โครงการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองประวัติศาสตร์เชียงใหม่ : รายงานการขุดค้น-ขุดแต่งทางโบราณคดี วัดพระธาตุแสนไห ต.แสนไห อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่
  48. https://drive.google.com/file/d/0B1UTCljC-mnxN3FBYU9hQlRBT2M/view?usp=sharing
  49. สำนักศิลปากรที่ 8 เชียงใหม่ กรมศิลปากร,2557 รายงานสรุปผลการจัดกิจกรรมเสวนาเส้นทางเดินทัพและสถานที่สวรรคตสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
  50. https://drive.google.com/file/d/0B1UTCljC-mnxUjRueU5nYzZMa28/view?usp=sharing
  51. https://drive.google.com/file/d/0B1UTCljC-mnxRXRpUzU5d3pETjA/view?usp=sharing
  52. https://drive.google.com/file/d/0B1UTCljC-mnxQ0k1Z1RHQjMtZ1E/view?usp=sharing
  53. https://drive.google.com/file/d/0B1UTCljC-mnxQ3dCdmk2R0NSeUE/view?usp=sharing
  54. นายอนุสรณ์ คำอ้าย นายก อบต.เปียงหลวง,นายธนกร วงศ์ษาวิชัย ผู้ใหญ่บ้านมหาธาตุ,นายชัยยง ไชยศรี อดีตศึกษาธิการอำเภอเวียงแหง
  55. http://www.hedlomnews.com/?p=9616[ลิงก์เสีย]
  56. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่,2558 รายงานผลการศึกษาการเพิ่มประสิทธิภาพศักยภาพ เชื่อมโยงด่านการค้าชายแดนและเตรียมความพร้อมจุดผ่อนปรนที่มีศักยภาพพัฒนาเป็นด่านถาวร ภายใต้โครงการเปิดตลาดสู่ภูมิภาคอาเซียน งบประมาณกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 ประจำปีงบปะมาณ พ.ศ. 2558
  57. เอกสารประกอบการบรรยาย สำรวจเส้นทางการค้า การท่องเที่ยว ตามเส้นทางการเดินทัพของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เชื่อมไปยังจุดผ่อนปรนบ้านหลักแต่ง อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ ภายใต้โครงการพัฒนาส่งเสริมการค้าชายแดนกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 ประจำปีงบประมาณ 2559 เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2559 ณ โรงแรมโลตัสปางสวนแก้ว อ.เมือง เชียงใหม่
  58. เอกสารประกอบการบรรยาย สำรวจเส้นทางการค้า การท่องเที่ยว ตามเส้นทางการเดินทัพของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เชื่อมไปยังจุดผ่อนปรนบ้านหลักแต่ง อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ ภายใต้โครงการพัฒนาส่งเสริมการค้าชายแดนกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 ประจำปีงบประมาณ 2559 เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2559 ณ โรงแรมโลตัสปางสวนแก้ว อ.เมือง เชียงใหม่ เรื่อง เส้นทางการค้า การลงทุนและการท่องเที่ยว เชียงใหม่-เมียนมา-รุ่ยลี่(จีนตอนใต้)
  59. https://drive.google.com/file/d/0B1UTCljC-mnxOS1NS3Q3cjgwTkk/view?usp=sharing
  60. https://drive.google.com/file/d/0B1UTCljC-mnxbjN0THUtTU9WeG8/view?usp=sharing
  61. https://drive.google.com/file/d/1zKK0s63VZdMFMFz189x4NGvN-vl_sLfKmQ/view?usp=sharing
  62. https://drive.google.com/file/d/0B1UTCljC-mnxU1E3X0xQVE9oTGM/view?usp=sharing
  63. https://www.youtube.com/watch?v=ZRp6SFRps9M&t=155s
  64. https://www.youtube.com/watch?v=unNjvXDaeLI&t=57s
  65. https://www.youtube.com/watch?v=asYyp15LSnM
  66. https://www.youtube.com/watch?v=cR8UOYbXOA8
  67. 67.0 67.1 กรมการปกครอง. กระทรวงมหาดไทย. "สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) พื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เดือนธันวาคม 2566." [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: [1]. สืบค้น 13 มีนาคม 2567.
  68. เก็บรักษาไว้ที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงใหม่
  69. lovethailand.org