ข้ามไปเนื้อหา

เสือโคร่งอินโดจีน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เสือโคร่งอินโดจีน
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Mammalia
อันดับ: Carnivora
วงศ์: Felidae
สกุล: Panthera
สปีชีส์: P.  tigris
สปีชีส์ย่อย: P.  t. corbetti
Trinomial name
Panthera tigris corbetti
Mazák, 1968
แผนที่แสดงการกระจายพันธุ์ของเสือโคร่งอินโดจีน

เสือโคร่งอินโดจีน (อังกฤษ: Indochinese tiger, Corbett's tiger) เสือโคร่งชนิดย่อยชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Panthera tigris corbetti อยู่ในวงศ์เสือและสิงโต (Felidae) รูปร่างเหมือนเสือโคร่งทั่วไป แต่มีลายเส้นที่เล็กกว่าเสือโคร่งเบงกอล (P. t. tigris) และขนาดลำตัวก็เล็กกว่า โดยตัวผู้มีความยาวจากหัวถึงหางประมาณ 2.7 เมตร หนักประมาณ 180 กิโลกรัม ตัวเมีย ยาวประมาณ 2.4 เมตร หนักประมาณ 115 กิโลกรัม มีการกระจายพันธุ์ในประเทศไทย, ลาว, กัมพูชา, เวียดนาม, พม่า และมาเลเซีย

โดยถูกอนุกรมวิธานแยกออกมาจากเสือโคร่งเบงกอลในปี พ.ศ. 2511 โดยเฉพาะที่พม่าจะมีเสือโคร่งทั้ง 2 สายพันธุ์นี้ โดยแบ่งตามภูมิศาสตร์โดยถือเอาแม่น้ำอิรวดีเป็นเกณฑ์ คือ เสือโคร่งสายพันธุ์เบงกอลจะอาศัยอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำอิรวดี ส่วนเสือโคร่งสายพันธุ์อินโดจีนจะอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำ[2][1]

นอกจากนี้ในอดีตเคยมีในจีนด้วย เสือโคร่งอินโดจีนในจีนตัวสุดท้ายตายลงเมื่อปลายปี พ.ศ. 2552 ที่เมืองลา มณฑลยูนนาน เนื่องจากชาวบ้านคนหนึ่งฆ่า[3]

เสือโคร่งอินโดจีนอาศัยและหากินอยูในป่าที่ราบต่ำใกล้แหล่งน้ำ มีอาหารอุดมสมบูรณ์ สามารถอยู่ได้ในหลากหลายสภาพป่า เช่น ป่าดิบชื้น, ป่าผลัดใบ ล่าสัตว์ที่มีขนาดใหญ่และกลาง เช่น วัว, ควายป่า, กวาง, กระทิง เป็นอาหาร โดยมักจะกินเนื้อบริเวณตะโพกก่อน เมื่อเหลือจะนำไปซ่อน แล้วจะกลับมากินใหม่จนหมด ในบางครั้งเมื่อมีลูกเสือที่อ่อนแอ แม่เสืออาจกินลูกด้วยถ้าหากปกป้องหรือเลี้ยงต่อไปไม่ได้ เสือโคร่งเป็นเสือที่ชอบเล่นน้ำและว่ายน้ำเก่ง เคยมีรายงานว่าสามารถว่ายน้ำข้ามไปมาระหว่างเกาะและชายฝั่งทะเลได้ เสือตัวผู้จะแสดงความเป็นเจ้าของพื้นที่ โดยการใช้เล็บตะกุยดินหรือปัสสาวะรดต้นไม้ ในฤดูผสมพันธุ์เสือตัวผู้จะรับรู้ถึงความต้องการของเสือตัวเมียจากเสียงร้องที่ดังขึ้นบ่อยขึ้น เมื่อได้ผสมพันธุ์แล้วเสือตัวผู้จะจากไป และอาจไปผสมพันธุ์กับเสือตัวเมียอื่น ๆ ได้อีก เสือโคร่งอินโดจีนมีระยะตั้งท้อง 3 เดือน และจะออกลูกในที่ปลอดภัย ออกลูกครั้งละ 1–7 ตัว ลูกเสือที่เกิดใหม่จะยังไม่ลืมตา ลูกเสือที่ไม่แข็งแรงจะตายไป ตัวที่เหลือจะได้รับการเลี้ยงดูและฝึกสอนให้หาอาหารจากแม่ต่อไป เมื่อลูกเสือโตพอที่จะล่าเหยื่อได้เอง ก็จะแยกตัวออกไปหากินตามลำพัง[4]

สถานะของเสือโคร่งอินโดจีนในธรรมชาติในประเทศไทย เหลือเพียง 2 ที่ คือ ป่าเขาใหญ่และป่าผืนภาคตะวันตกซึ่งติดกับชายแดนพม่าเท่านั้น จากการศึกษาพบว่า เสือโคร่งอินโดจีนที่พบในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้งมีพฤติกรรมล่าเหยื่อสัตว์จำพวกสัตว์กีบมากที่สุด โดยสัตว์ที่ถูกล่าเป็นเพื่อเป็นอาหารมากที่สุด คือ วัวแดง[5]

สำหรับประเทศพม่าผู้เชี่ยวชาญรายงานว่า ทางรัฐบาลทหารพม่านับจำนวนประชากรเสือในป่าได้ทั้งหมด 85 ตัว ในปี 2553 ตัวเลขนี้ไม่สามารถนับเป็นข้อมูลสถิติได้ เนื่องจากข้อมูลการนับดังกล่าวไม่ได้ระบุวันเวลาและข้อมูลอื่นๆไว้อย่างชัดเจน[6] อย่างไรก็ตาม เชื่อได้ว่ายังมีเสือโคร่งอินโดจีนจำนวนหนึ่งอาศัยอยู่ตามป่าแถบตะวันออกบริเวณรอยต่อชายแดนไทย

ในภูมิภาคอินโดจีน เสือโคร่งถูกล่าอย่างหนักจนสูญพันธุ์จากพื้นที่แถบนี้ทั้งหมด ที่ประเทศเวียดนาม ปี พ.ศ. 2554 ประเมินกันว่าเหลือจำนวนประชากรในธรรมชาติไม่ถึง 50 ตัว [7] และ ยังมีการลักลอบอยู่เรื่อย เสือโคร่งได้ลดจำนวนไปลงไปอีกเกือบครึ่งหนึ่งในปีถัดมา จนถึงปีพ.ศ. 2558 ได้สำรวจจำนวนเสือโคร่งว่าเหลืออยู่เพียง 5 ตัวเท่านั้น และในปี พ.ศ. 2559 มีการประกาศว่าอย่างเป็นทางการว่าเสือโคร่งสูญพันธุ์ไปแล้ว หลังจากที่สำรวจพื้นที่ป่าอนุรักษ์ทั้งหมดแล้วไม่พบร่องรอยอีก ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า หากเวียดนามยังมีเสือโคร่งเหลือรอดอยู่ก็ไม่กี่ตัวซึ่งน้อยเกินกว่าจะฟื้นฟูจำนวนได้อีกแล้ว เช่นเดียวกับในลาวที่ไม่พบมานานหลายปี[8] ส่วนในกัมพูชา ได้มีการยอมรับว่าเสือโคร่งอินโดจีนตัวสุดท้ายในจังหวัดมณฑลคีรีได้ถูกล่าไปแล้ว[9] ปัจจุบัน จึงเหลือเสือโคร่งอินโดจีนเพียงในพม่าและไทยเท่านั้น ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2566 ประเทศอินเดียลงนามในบันทึกความเข้าใจกับกัมพูชาเพื่อช่วยเหลือประเทศในการฟื้นฟูเสือโคร่ง โดยมีพื้นที่อย่างน้อย 90 เอเคอร์ (36 เฮกตาร์) ของทิวเขาบรรทัดในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าตาไตซึ่งสามารถใช้เป็นที่อยู่อาศัยของเสือโคร่งเบงกอลได้[10]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 Lynam, A. J. and Nowell, K. (2011). "Panthera tigris ssp. corbetti". IUCN Red List of Threatened Species. Version 2013.1.{{cite web}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  2. Luo, S.-J., Kim, J.-H., Johnson, W. E., van der Walt, J., Martenson, J., Yuhki, N., Miquelle, D. G., Uphyrkina, O., Goodrich, J. M., Quigley, H. B., Tilson, R., Brady, G., Martelli, P., Subramaniam, V., McDougal, C., Hean, S., Huang, S.-Q., Pan, W., Karanth, U. K., Sunquist, M., Smith, J. L. D., O'Brien, S. J. (2004). "Phylogeography and genetic ancestry of tigers (Panthera tigris)". PLoS Biology. 2 (12): e442. doi:10.1371/journal.pbio.0020442. PMC 534810. PMID 15583716.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  3. "22_chinas_last_wild_indochinese_tiger_killed_eaten_by_villager_report.html China's last wild Indochinese tiger killed". nydailynews. 22 December 2009. สืบค้นเมื่อ 5 January 2014.[ลิงก์เสีย]
  4. ชุติอร กาญวัฒนกิจ. สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในประเทศไทยและภูมิภาคอินโดจีน. กรุงเทพฯ : กองทุนสัตว์ป่าโลก, 2543. 256 หน้า. ISBN 974-87081-5-2
  5. รายการ คน รักษ์ โลก ทางช่อง 11 : 12 มกราคม พ.ศ. 2553
  6. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-08-16. สืบค้นเมื่อ 2017-07-17.
  7. "ล่าเกือบหมดป่า มีโคร่งอินโดจีนเหลืออยู่ราว 50 ตัว ในเวียดนาม". ผู้จัดการออนไลน์. 11 January 2012. สืบค้นเมื่อ 5 January 2014.[ลิงก์เสีย]
  8. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-08-16. สืบค้นเมื่อ 2017-07-15.
  9. https://www.theguardian.com/environment/2016/apr/06/tigers-declared-extinct-in-cambodia
  10. Patil, A. (2023). "India and Cambodia Sign Pact For Tiger Translocation As Project Tiger Completes 50 Years". India Times. สืบค้นเมื่อ 2023-05-09.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]