ข้ามไปเนื้อหา

วันออกพรรษา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เมื่อออกพรรษาแล้วพระสงฆ์ผู้อยู่จำครบพรรษาจะได้รับอานิสงส์พรรษาหลายอย่าง และพระสงฆ์บางส่วนจะถือโอกาสในช่วงออกพรรษา 9 เดือน ออกจาริกเพื่อปฏิบัติธรรม และโปรดพุทธศาสนิกชนตามสถานที่ต่าง ๆ ก่อนจะกลับเข้าจำพรรษาอีกครั้งในปีถัดไป

วันออกพรรษา หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า วันมหาปวารณา เป็นวันสำคัญทางศาสนาพุทธแบบไทย-ลาว โดยเป็นวันสิ้นสุดระยะเวลาจำพรรษา 3 เดือนของพระสงฆ์เถรวาท โดยเป็นวันที่พระสงฆ์จะทำสังฆกรรม คือ การปวารณาในวันนี้ วันออกพรรษา (ออกปุริมพรรษา1) จะตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 (ประมาณเดือนตุลาคม) หลังวันเข้าพรรษา 3 เดือน ตามปฏิทินจันทรคติไทย

การปวารณา[1] ถือเป็นข้อปฏิบัติตามพระวินัยสำหรับพระภิกษุโดยเฉพาะ เรียกว่า เป็นญัตติกรรมวาจา (สังฆกรรม) ประเภทหนึ่ง ให้โอกาสแก่พระสงฆ์ที่จำพรรษาอยู่ร่วมกันตลอดไตรมาส (3 เดือน) สามารถว่ากล่าวตักเตือนและชี้ข้อบกพร่องแก่กันและกันได้โดยเสมอภาค เป็นวันที่พระพรรษาน้อยกว่าสามารถตักเตือนพระที่มีพรรษามากกว่าได้ ด้วยจิตที่ปรารถนาดีซึ่งกันและกัน เพื่อให้พระสงฆ์ที่ถูกตักเตือนมีโอกาสรับรู้ข้อบกพร่องของตนและนำข้อบกพร่องมาแก้ไขปรุงตัวเองให้ดียิ่งขึ้น ในขณะเดียวกันถ้าเป็นเรื่องเข้าใจผิด ก็จะได้ชี้แจงแก้ไข หรือปรับความเข้าใจกัน เพราะสิ่งที่เห็น ที่ได้ยิน ที่สงสัย อาจมีเรื่องราวซ่อนอยู่ หรืออาจจะไม่ได้เป็นอย่างที่เข้าใจ รวมถึงเปิดโอกาสให้ขอโทษ ที่รู้ตัวว่าสร้างเดือดร้อนให้แก่หมู่คณะ และขออภัยที่เข้าใจผิด และเปิดโอกาสให้ซักถามข้อสงสัยซึ่งกันและกันได้ เพื่อปรับความเข้าใจกัน

เมื่อถึงวันออกพรรษา พุทธศาสนิกชนถือเป็นโอกาสอันดีที่จะเข้าวัดเพื่อบำเพ็ญกุศลแก่ตนเองที่ตั้งใจปฏิบัติตนเป็นอุบาสก-อุบาสิกา ส่วนพระสงฆ์จำพรรษาและตั้งใจศึกษาปฏิบัติธรรมมาตลอดจนครบไตรมาส (3 เดือน) หรือในวันถัดไปคือ วันออกพรรษา (จริง) (คือ วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11) พุทธศาสนิกชนในประเทศไทยนิยมไปทำบุญตักบาตร เรียกว่า บุญเทศกาลบาตรเทโว หรือ บาตรเทโวโรหณะ เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์สำคัญในพุทธประวัติที่กล่าวว่า พระพุทธเจ้าเสด็จกลับจากเทวโลก ลงมายังโลกมนุษย์หลังจากการโปรดเทพบุตร อดีตพระพุทธมารดา พระนางสิริมหามายา บนสวรรค์ดาวดึงส์ (ชั้นที่ 2) ในพรรษาที่ 7 เสด็จลงมายังเมืองสังกัสสะ[2] พร้อมกับทรงแสดงไตรโลกวิวรณปาฏิหาริย์ (ทรงปาฏิหาริย์เปิดโลกทั้ง 3 ได้แก่ สวรรค์, นรก, โลก) [3]

กฐินกาล คือ ช่วงเวลาที่ทรงอนุญาตให้ภิกษุผู้อยู่จำพรรษาครบ 3 เดือนแล้ว สามารถรับมานุ่งห่มได้ เริ่มตั้งแต่ วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 (วันลอยกระทง) เป็นช่วงเวลากฐินกาลตามพระวินัยปิฎกเถรวาท ในช่วงเวลาที่พุทธศาสนิกชนชาวไทยจะเข้าร่วมบำเพ็ญกุศลเนื่องในงานกฐินประจำปี เป็นการนำผ้าจีวร ถวายพระพุทธรูปและพระสงฆ์ในวัดต่าง ๆ โดยถือว่าเป็นงานบำเพ็ญกุศลที่ได้บุญกุศลมากงานหนึ่ง​

ความสำคัญ

[แก้]

วันออกพรรษา คือ วันที่สิ้นสุดระยะการจำพรรษาเป็นเวลา 3 เดือน (นับตั้งแต่วันเข้าพรรษา) เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "วันมหาปวารณา" คำว่า "ปวารณา" แปลว่า "อนุญาต" หรือ "ยอมให้" ในวันออกพรรษานี้พระสงฆ์จะประกอบพิธีทำสังฆกรรม เรียกว่า มหาปวารณา เป็นการเปิดโอกาสให้ภิกษุว่ากล่าวตักเตือนกันได้ เพราะในระหว่างเข้าพรรษา พระสงฆ์บางรูปอาจมีข้อบกพร่องที่ต้องแก้ไข การให้ผู้อื่นว่ากล่าวตักเตือนได้ ทำให้ได้รู้ข้อบกพร่องของตน และยังเปิดโอกาสให้ซักถามข้อสงสัยซึ่งกันและกันด้วย

วันออกพรรษา จัดได้ว่าเป็นวันเทโวโรหณะที่แท้จริง เนื่องจากพระพุทธเจ้าได้เสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึง หลังจากโปรดพุทธมารดา บนสวรรค์เป็นเวลาสามเดือน ทรงเสด็จลงในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 และทรงเสด็จถึงโลกมนุษย์ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 เช่นกัน และได้ทรงแสดงโลกวิวรณปาฏิหารย์ หรือการเปิดโลกทั้งสาม คือ สวรรค์ นรก มนุษย์ให้เห็นกันและกันได้ในวันนี้ คือ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ดังนั้น วันออกพรรษาจึงมีอีกชื่อว่า วันพระเจ้าเปิดโลก อีกด้วย ส่วนในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 เป็นเพียงวันที่ประชาชนรอเพื่อจะใส่บาตรพระพุทธเจ้าเป็นครั้งแรกในรอบสามเดือนหลังจากไม่ได้พบพระองค์มาเป็นเวลานาน จึงเป็นเพียงวันที่เป็นต้นกำเนิดของประเพณีตักบาตรเทโว เท่านั้น

การออกพรรษาของพระสงฆ์ตามพระวินัยปิฎก

[แก้]

ประเภทของการออกพรรษาของพระสงฆ์

[แก้]

อานิสงส์ของพระสงฆ์ที่จำครบพรรษา

[แก้]

เมื่อพระสงฆ์จำพรรษาครบไตรมาสได้ปวารณาออกพรรษาและได้กรานกฐินแล้ว ย่อมได้รับอานิสงส์ หรือข้อยกเว้นพระวินัย 5 ข้อ คือ

เที่ยวไปไหนไม่ต้องบอกลา (ออกจากวัดไปโดยไม่จำเป็นต้องแจ้งเจ้าอาวาสหรือพระสงฆ์รูปอื่นก่อนได้) เที่ยวไปไม่ต้องถือไตรจีวรครบสำรับ 3 ผืน ฉันคณะโภชน์ได้ (โภชนะที่คณะรับนิมนต์ไว้) เก็บอดิเรกจีวรไว้ได้ตามปรารถนา (ยกเว้นสิกขาบทข้อนิสสัคคิยปาจิตตีย์บางข้อ) จีวรลาภอันเกิดในที่นั้นเป็นของภิกษุ (เมื่อมีผู้มาถวายจีวรเกินกว่าไตรครองสามารถเก็บไว้ได้โดยไม่ต้องสละเข้ากองกลาง)

ประเพณีท้องถิ่น

[แก้]
เทโวโรหนสถูป เมืองสังกัสสะ แคว้นปัญจาละ สถานที่สร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงสถานที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ปัจจุบันมีเทวาลัยของฮินดูตั้งอยู่ด้านบนสถูป

เป็นวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงสู่โลกหลังจากเสด็จขึ้นไปจำพรรษาอยู่ในดาวดึงส์ถ้วนไตรมาส และแสดงอภิธรรมเทศนาโปรดพระมารดาในเทวโลกนั้นมาตลอดเวลา 3 เดือน เมื่อถึงวันมหาปวารณา คือวันสุดท้ายของการอยู่จำพรรษา จึงเสด็จมายังโลกมนุษย์โดยเสด็จมาทางบันไดสวรรค์ลงที่ประตูเมืองสังกัสสะ อันตั้งอยู่เหนือกรุงสาวัตถี วันที่เสด็จลงจากเทวโลกนั้นเรียกกันว่า “วันเทโวโรหณะ” ตรงกับวันมหาปวารณาเพ็ญเดือน 11 วันนั้นถือกันว่าเป็นวันบุญกุศล ที่สำคัญวันหนึ่งของพุทธบริษัท โบราณเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ”วันพระเจ้าเปิดโลก” วันรุ่งขึ้นจากวันนั้นเป็นวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 จึงมีการทำบุญตักบาตรเทโวโรหณะ กันเป็นการใหญ่ เพื่อเฉลิมฉลองการเสด็จลงจากเทวโลกของพระพุทธเจ้าโดยพุทธบริษัทได้พร้อมใจกันใส่บาตรแด่พระสงฆ์ที่อยู่ทั้งหมดในที่นั้นกับทั้งพระพุทธองค์ด้วยโดยไม่ได้นัดหมายกันมาก่อนภัตตาหารที่ถวายในวันนั้นส่วนใหญ่เป็นเสบียงกรัง ของตนตามมีตามได้ ปรากฏได้มีการใส่บาตรในวันนั้นแออัดมาก ผู้คนเข้าไม่ถึงพระสงฆ์จึงเอาข้าวสาลีของตนห่อบ้าง ทำเป็นปั้น ๆ บ้างแล้วโยนเข้าถวายพระ นี่เองจึงเป็นเหตุหนึ่งที่นิยมทำข้าวต้มลูกโยน เป็นส่วนสำคัญของการตักบาตรเทโวโรหณะ เป็นประเพณีว่าถึงวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 (บางแห่งก็ทำในขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11) ทุก ๆ ปี ควรทำบุญตักบาตรให้เหมือนครั้งดั้งเดิมเรียกว่า ตักบาตรเทโวโรหณะ จนทุกวันนี้

ในจังหวัดสมุทรปราการจะมีประเพณีรับบัวหรือโยนบัว ซึ่งจัดในวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 11

ทางภาคใต้จะมีประเพณีชักพระ หรือแห่พระ หรือลากพระ โดยจะมีการนำพระพุทธรูปขึ้นเรือแห่ไปตามลำน้ำให้ผู้คนทำบุญ โดยจะเรียกเรือที่ชักพระว่าเรือพนม บางท้องที่จะมีประเพณีโยนดอกบัวถวายเป็นพุทธบูชาด้วย โดยประเพณีชักพระในปัจจุบันมีทั้งบนบกและในน้ำ เรียกว่าเรือพนมทางบกและเรือพนมทางน้ำ (เนื่องจากในปัจจุบันผู้คนนิยมเดินทางทางบก แทนเดินทางทางน้ำอย่างในอดีตที่บ้านเรือนผู้คนอยู่จะตามริมน้ำ จึงเกิดการชักพระทางบกขึ้น) ซึ่งปกติจัดในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11

ประเพณีวันออกพรรษา

[แก้]

ในจังหวัดชัยภูมิและเพชรบูรณ์จะมีประเพณีแห่ต้นกระธูป, ในจังหวัดสกลนครจะมีประเพณีแห่ปราสาทผึ้ง, ในอำเภอเชียงคาน จังหวัดเลยจะมีประเพณีแห่ผาสาดลอยเคราะห์, ในจังหวัดพิษณุโลกจะมีประเพณีแห่ต้นผึ้ง, ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี จะมีประเพณีทอดพุ่มผ้าป่าหน้าบ้านและแห่รถพนมพระ, ที่อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี จะมีประเพณีตักบาตรเทโวทางเรือ

ประเพณีจุดประทีปคืนวันออกพรรษา

[แก้]

เป็นประเพณีที่จุดเทียนหรือไต้น้ำมัน โดยจะจุดในคืนวันออกพรรษา โดยชาวมอญจะจุดประทีปเป็นรูปต่าง ๆ ที่มองจากบนฟ้าจะเห็นเป็นรูปหรือข้อความต่าง ๆ ซึ่งจะเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา เช่น ธรรมจักร ดอกบัว ใบโพธิ์ เป็นต้น เชื่อกันว่าเป็นการจุดไฟถวายเพื่อให้พระพุทธเจ้าทรงทอดพระเนตรเห็นจากสวรรค์ โดยจำลองเหตุการณ์เหมือนเมื่อครั้งพระพุทธองค์ทรงเสด็จลงมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ หลังจากทรงโปรดพุทธมารดา โดยที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงมาในวันออกพรรษา,ชาวกระเหรี่ยงที่กาญจนบุรีจะมีประเพณีไหว้บูชาเจดีย์ไฟ, ชาวอีสานจะมีประเพณีการจุดประทีปเทียนถวายดอกไม้ ที่หน้าบ้าน โดยจะทำกาบมะพร้าวเป็นรูปเรือและจุดเทียนคู่ไว้บนกาบมะพร้าว โดยอาจนำต้นข้าวที่กำลังเริ่มตั้งท้องมาประดับร่วมด้วย เพื่อเป็นสิริมงคลให้ต้นข้าวในนางอกงามดี, ทางล้านนาจะมีประเพณีจุดผางผะติ๊บ, โดยประเพณีชาวไทใหญ่ที่แม่ฮ่องสอน จะมีการจัดขบวนแห่เทียนหลู่เตียนเหง (เทียนพันเล่ม) ประเพณีแห่จองพารา (ปราสาทพระพุทธเจ้า) เพื่อรับเสด็จพระพุทธเจ้า โดยชาวไทใหญ่จะเรียกประเพณีนี้ว่า ปอยออกหว่า หรือ ปอยเหลินสิบเอ็ด, วัดพระธาตุดอยเว้า อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย จะมีประเพณีปอยต้นแป๊ก (ต้นเกี้ยะ) ส่วนทางภาคอีสาน จะมีประเพณีจุดไต้น้ำมัน เป็นเวลา 3 วัน ในวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 11 เรียกว่าการไต้น้ำมันน้อย ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11, เรียกว่าการไต้น้ำมันใหญ่ ในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 เรียกว่าการไต้น้ำมันล้างหางประทีป, ประเพณีจุดไฟตูมกา ในจังหวัดยโสธร, ประเพณีโคมไฟโมงมาง ในยโสธร, ประเพณีจุดประทีปตีนกา จังหวัดกาญจนบุรี, และหลายพื้นที่ที่ติดแม่น้ำ เช่น จังหวัดหนองคายและนครพนม ก็จะมีประเพณีไหลเรือไฟ และลอยกระทงสาย หรือที่เรียกอีกอย่างว่าไข่พญานาคในคืนวันออกพรรษา

ประเพณีเทศน์มหาชาติเวสสันดรชาดก

[แก้]

การเทศน์มหาชาติ คือ เทศนาเวสสันดรชาดก เป็นบุญพิธีที่นิยมจัดให้มีกันมาแต่โบราณ ที่แสดงถึงชาติสุดท้ายของพระพุทธเจ้าที่สร้างทานบารมี มีทั้งเทศน์สามัญและเทศน์แหล่ เนื่องจาก พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้ภิกษุสามารถสวดได้ 2 ทำนอง คือสรภัญญะและโยนะกะ โดยทำนองสรภัญญะคือการสวดลากเสียง ที่นิยมสวดทั่วไป และสวดทำนองโยนะกะคือสวดคำโดด เช่น การสวดแบบล้านนา ที่สวดเป็นคำ ๆ เดียว โดด ๆ ต่อ ๆ กันไป ซึ่งการเทศน์แหล่ เป็นการเอื้อนซึ่งเป็นการลากเสียงแบบสวดสรภัญญะ จึงถือกันว่าภิกษุเทศน์โดยใช้ทำนองแบบสวดสรภัญญะคือลากเสียงสามารถทำได้ โดยการเทศน์มหาชาติถ้าเทศน์แบบสามัญจะมีธรรมมาสน์เดียวให้พระภิกษุผลัดกันขึ้นเทศน์รูปละ 1 กัณฑ์ ส่วนการเทศน์มหาชาติแบบแหล่ อาจมีนักเทศน์แหล่ถึง 3 ธรรมมาสน์ หรือ 3 รูป ผลัดกันเทศน์คล้ายตอบโต้กัน

การเทศมหาชาติ ปกตินิยมจัดช่วงอยู่ในพรรษา เช่น วันสารทไทย หรือจัดหลังฤดูทอดกฐิน ผ่านไปแล้วจนตลอดช่วงฤดูหนาว ในฮีต 12 คลอง 14 เรียกว่า งานบุญหลวง หรือ บุญผะเหวด แต่ละท้องถิ่นมีธรรมเนียมแตกต่างกัน บางที่จัดหนึ่งวัน บางที่จัดสองวัน บางที่จัดสามวัน คือ วันเทศน์เวสสันดรชาดกทั้ง 13 กัณฑ์หนึ่งวัน บางท้องถิ่นอาจมีการสวดคาถาพัน เพื่อทำน้ำมนต์อีกวันหนึ่งก่อนการเทศน์มหาชาติก็มี โดยจะจุดเทียนพันเล่มทำน้ำมนต์ ธูปพันก้าน ธงพันธง ซึ่งเป็นธง 5 สี คือ ครามน้ำเงิน ชาดแดง เหลือง ขาว และแสดส้ม สีละธง ตามสีของฉัพพรรณรังสี และอาจมีดอกไม้อีกพันดอกก็ได้ เป็นการบูชาคาถาพันด้วยเครื่องบูชาอย่างละพัน หรือบางท้องถิ่นอาจมีการแสดงเทศน์จตุราริยสัจจกถา ท้ายการเทศน์เวสสันดรชาดกอีกวันหนึ่ง หรือบางท้องถิ่นอาจแสดงเทศน์มหาชาติทุกวันพระในช่วงพรรษา 13 วัน วันละ 1 กัณฑ์ก็มี

ซึ่งถ้าจัดน้อยวัน มักนิยมจัดสถานที่ด้วยต้นกล้วย ต้นอ้อย หรือก้านมะพร้าว และกระดาษสีที่ฉลุเป็นรูปมหาเวสสันดรชาดก และอื่น ๆ ประดับประดาสถานที่ราวกับว่าอยู่ในป่าหิมพานต์

ประเพณีถวายผ้ากฐินทาน

[แก้]

เป็นประเพณีที่สำคัญของพุทธศาสนิกชนอย่างหนึ่ง นิยมทำกันตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำเดือน 11 ไปจนถึงกลางเดือน 12 (วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 - วันลอยกระทง) คำว่า กฐิน แปลว่า ไม้สะดึง คือกรอบไม้ชนิดหนึ่งสำหรับขึงผ้าให้ตึง สะดวกแก่การเย็บ ในสมัยโบราณเย็บผ้าต้องเอาไม้สะดึงมาขึงผ้าให้ตึงเสียก่อน แล้วจึงเย็บ เพราะช่างยังไม่มีความชำนาญเหมือนสมัยปัจจุบันนี้ และเครื่องมือในการเย็บก็ยังไม่เพียงพอ เหมือนจักรเย็บผ้าในปัจจุบัน การทำจีวรในสมัยโบราณจะเป็นผ้ากฐินหรือแม้แต่จีวรอันมิใช่ผ้ากฐิน ถ้าภิกษุทำเอง ก็จัดเป็นงานเอิกเกริกทีเดียว เช่น ตำนานกล่าวไว้ว่า การเย็บจีวรนั้น พระเถรานุเถระต่างมาช่วยกัน เป็นต้นว่า พระสารีบุตร พระมหาโมคคัลลานะ พระมหากัสสปะ แม้สมเด็จพระบรมศาสดาก็เสด็จลงมาช่วย ภิกษุสามเณรอื่น ๆ ก็ช่วยขวนขวายในการเย็บจีวร อุบาสกอุบาสิกาก็จัดหาน้ำดื่มเป็นต้น มาถวายพระภิกษุสงฆ์ มีองค์พระสัมมาสัมพุทธะเป็นประธาน โดยนัยนี้ การเย็บจีวรแม้โดยธรรมดา ก็เป็นการต้องช่วยกันทำหลายผู้หลายองค์ (ไม่เหมือนในปัจจุบัน ซึ่งมีจีวรสำเร็จรูปแล้ว)

วันออกพรรษาในปฏิทินจันทรคติไทย

[แก้]

อย่างไรก็ตาม บางประเทศที่นับถือพุทธศาสนาอาจกำหนดวันไม่ตรงกับของไทยในบางปี เนื่องจากประเทศไทยมีการคำนวณที่ต่างจากประเทศโดยทั่วไปและนิยมใช้ปฏิทิน 100 ปีไทยเป็นหลักซึ่งไม่เที่ยงตรงและไม่ได้รับการปรับตามจริง เนื่องจากรอบการโคจรของดวงจันทร์รอบโลก 1 รอบ ใช้เวลา 29 วันครึ่ง ทำให้วันเวลาคลาดเคลื่อนไปได้

ปี วันที่ วันที่ วันที่
ปีชวด 27 ตุลาคม พ.ศ. 2539 14 ตุลาคม พ.ศ. 2551 2 ตุลาคม พ.ศ. 2563
ปีฉลู 16 ตุลาคม พ.ศ. 2540 4 ตุลาคม พ.ศ. 2552 21 ตุลาคม พ.ศ. 2564
ปีขาล 5 ตุลาคม พ.ศ. 2541 23 ตุลาคม พ.ศ. 2553 10 ตุลาคม พ.ศ. 2565
ปีเถาะ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2542 12 ตุลาคม พ.ศ. 2554 29 ตุลาคม พ.ศ. 2566
ปีมะโรง 13 ตุลาคม พ.ศ. 2543 30 ตุลาคม พ.ศ. 2555 17 ตุลาคม พ.ศ. 2567
ปีมะเส็ง 2 ตุลาคม พ.ศ. 2544 19 ตุลาคม พ.ศ. 2556 7 ตุลาคม พ.ศ. 2568
ปีมะเมีย 21 ตุลาคม พ.ศ. 2545 8 ตุลาคม พ.ศ. 2557 26 ตุลาคม พ.ศ. 2569
ปีมะแม 10 ตุลาคม พ.ศ. 2546 27 ตุลาคม พ.ศ. 2558 15 ตุลาคม พ.ศ. 2570
ปีวอก 28 ตุลาคม พ.ศ. 2547 16 ตุลาคม พ.ศ. 2559 3 ตุลาคม พ.ศ. 2571
ปีระกา 18 ตุลาคม พ.ศ. 2548 5 ตุลาคม พ.ศ. 2560 22 ตุลาคม พ.ศ. 2572
ปีจอ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2549 24 ตุลาคม พ.ศ. 2561 11 ตุลาคม พ.ศ. 2573
ปีกุน 26 ตุลาคม พ.ศ. 2550 13 ตุลาคม พ.ศ. 2562 30 ตุลาคม พ.ศ. 2574

เชิงอรรถ

[แก้]

หมายเหตุ 1: ออกปุริมพรรษา คือการออกพรรษาต้น เป็นการเข้าและออกพรรษาตามปกติตามพระวินัยพุทธานุญาต พระสงฆ์ที่ออกพรรษาต้นจะได้รับกรานกฐินและได้รับอานิสงส์กฐิน แต่สำหรับพระสงฆ์ที่ออกพรรษาในกรณียกเว้นคือ ออกปัจฉิมพรรษา จะไม่มีโอกาสได้รับกฐินและอานิสงส์กฐิน เพราะจำพรรษาในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 9 จึงต้องจำครบ 3 เดือน และต้องออกพรรษาในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 เป็นเวลาหมดกฐินกาลพอดี (วันรับกฐินได้จะนับวันวันถัดจากวันออกพรรษาแล้ว 1 วัน)

อ้างอิง

[แก้]
  1. พระไตรปิฎก เล่มที่ ๔ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๔ มหาวรรค ภาค ๑ "วิธีปวารณา". พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ. [ออนไลน์]. เข้าถึงแหล่งข้อมูลได้จาก http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=4&A=6371&Z=6395&pagebreak=0. เข้าถึงเมื่อ 3-10-52
  2. พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๙ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒๑ ขุททกนิกาย มหานิทเทส "สาริปุตตสุตตนิทเทสที่ ๑๖". พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ. [ออนไลน์]. เข้าถึงแหล่งข้อมูลได้จาก http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=29&A=10137. เข้าถึงเมื่อ 3-10-52
  3. พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช) ป.ธ. ๙ ราชบัณฑิต. (2548). "พจนานุกรมเพื่อการศึกษาพุทธศาสน์ ชุด คำวัด". กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์เลี่ยงเชียงเพียรเพื่อพุทธศาสน์.
  • ปัณณวัฒน์. ปฏิทิน 100 ปี พ.ศ. 2468-2568 คัมภีร์พยากรณ์คู่บ้าน. กรุงเทพฯ : ไพลิน, 2550. ISBN 974-455-535-1

ดูเพิ่ม

[แก้]