สังฆทาน
ส่วนหนึ่งของชุดบทความ |
ศาสนาพุทธ |
---|
สังฆทาน (บาลี: สงฺฆทาน) เป็นศัพท์ในพระสูตร เป็นชื่อเรียกการถวายทานแก่พระสงฆ์อย่างหนึ่ง ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่ามีอานิสงส์มาก ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ใน ทักขิณาวิภังคสูตร[1] ว่าการถวายสังฆทานแก่คณะพระสงฆ์ มีอานิสงส์มากกว่าการถวายทานเฉพาะเจาะจงแก่พระพุทธเจ้า แม้ยังทรงพระชนม์อยู่
การถวายสังฆทานนั้น เข้าใจกันโดยทั่วไปว่าคือการนำถังใส่จตุปัจจัยสีเหลืองไปถวายแก่พระสงฆ์รูปใดรูปหนึ่งหรือหลายรูปเท่านั้น แต่ความจริงแล้วสังฆทานอาจหมายถึงการถวายปัจจัยวัตถุใด ๆ ก็ได้ ที่เป็นประโยชน์แก่คณะสงฆ์โดยส่วนรวม เช่นการถวายกุฏิวิหาร หนังสือ ปากกา จาน หรือ แม้กระทั่งไม้กวาด แม้จะกล่าวคำถวายหรือไม่กล่าว หรือกล่าวคำถวายเป็นอย่างอื่น แต่อาการแห่งการถวายเป็นการอุทิศให้แก่สงฆ์ เพื่อประโยชน์แก่สงฆ์ ก็จัดเป็นสังฆทานได้
ทานพิธีที่มีชื่อเรียกอย่างอื่น ที่เข้าลักษณะของสังฆทาน ก็จัดว่าเป็นสังฆทานได้ เช่น การตักบาตร การถวายผ้ากฐิน การถวายผ้าป่า เป็นต้น
ความหมายและลักษณะของสังฆทาน
[แก้]การถวายสังฆทาน หมายถึงการ ถวายสิ่งของจตุปัจจัยวัตถุแก่หมู่พระสงฆ์ โดยไม่เลือกระบุถวายเฉพาะเจาะจงแก่พระสงฆ์รูปใดรูปหนึ่ง กล่าวคือ ถวายเข้าเป็นสิทธิกองกลางแก่คณะสงฆ์ภายในวัด เพื่อคณะสงฆ์จะจัดแบ่งปันแก่พระสงฆ์รูปใดรูปหนึ่งที่ต้องการ
หรือเพียงแค่ถวายแก่พระสงฆ์รูปใดรูปหนึ่ง (โดย "ไม่เลือก" ว่าจำเพาะถวายรูปนั้นรูปนี้ เช่น เป็นพระผู้ทรงพรรษา พระรูปที่เรารู้จัก หรือพระรูปที่ตนศรัทธา) ที่เป็นตัวแทนแห่งสงฆ์ (ได้รับเผดียงสงฆ์) หรือถวายโดยมีเจตนาเพื่อบำรุงพระสงฆ์สามเณรโดยไม่เลือกผู้รับ ก็นับเป็นสังฆทานเช่นกัน (ตัวอย่าง: เช่นการใส่บาตรโดยไม่เลือกพระผู้รับ ไม่ว่าจะเป็นพระสงฆ์หรือสามเณรก็ตาม)
เมื่อพิจารณาจากมูลอันจะเป็นสังฆทานดังกล่าว การที่จะเป็นสังฆทานหรือไม่นั้น มีหลักสำคัญอยู่ที่การถวายสิ่งของเพื่อบำรุงสังฆบริษัท หรือตัวแทนแห่งสังฆบริษัท เพื่อประโยชน์ในด้านการไม่เลือกปฏิบัติและความเท่าเทียมด้านปัจจัยสี่ของพระสงฆ์นั่นเอง[1]
มีข้อควรพิจารณาประการหนึ่งว่า ในพระวินัยถือว่า ภิกษุสงฆ์ 4 รูปขึ้นไปนับเป็นองค์สงฆ์ แต่เมื่อพิจารณาจากเจตนาของพระพุทธเจ้าในทักขิณาวิภังคสูตรแล้ว หากแม้จะเป็นพระภิกษุถึง 4 รูป แต่เป็นพระที่ผู้ถวายเจาะจงระบุตัวมา ก็หานับว่าเป็นสังฆทานไม่ (คงนับเป็นปาฏิปุคคลิกทาน คือทานที่ระบุตัวพระภิกษุผู้รับถวายทาน)
มูลเหตุของสังฆทาน
[แก้]มูลเหตุที่ทำให้พุทธศาสนิกชนนิยมทำบุญด้วยการถวายสังฆทาน มาจาก ทักขิณาวิภังคสูตร[1] ในพระไตรปิฎก ซึ่งมีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับสังฆทานว่า (โดยย่อ)
"ในสมัยที่พระพุทธเจ้ายังทรงพระชมน์อยู่ ครั้งนั้นทรงประทับอยู่ ณ วัดนิโครธาราม กรุงกบิลพัสดุ์ พระนางมหาปชาบดีโคตมี พระมาตุจฉาของพระพุทธเจ้า ได้เกิดศรัทธาแรงกล้า ทรงทอจีวรด้วยพระองค์เองเพื่อนำมาถวายแก่พระพุทธเจ้า แต่พระพุทธองค์ทรงได้ปฏิเสธที่จะรับถวายผ้าจีวรดังกล่าว โดยได้ตรัสให้พระนางมหาปชาบดีโคตมีนำผ้าดังกล่าวไปถวายแก่กองกลางคณะสงฆ์ เพราะทรงเห็นว่าการถวายผ้าเป็นสังฆทานจักได้อานิสงส์มากกว่า แม้จะถวายแก่พระพุทธเจ้าผู้เป็นพระบรมศาสดาก็ตาม (การถวายหรือให้ทานแก่พระพุทธเจ้า พระภิกษุหรือบุคคลทั่วไป ทรงจัดเป็นปาฏิปุคลิกทาน) อีกทั้งการถวายเป็นสังฆทานนั้นย่อมถือว่าเป็นการบูชาพระพุทธองค์ผู้ทรงเป็นประมุขแห่งพระสงฆ์ทั้งปวงด้วย
จากนั้นพระพุทธองค์ได้ตรัสถึงปาฏิปุคลิกทาน 14 ประเภท (มีการถวายทักษิณาแก่พระพุทธเจ้าเป็นอาทิ) และตรัสถึงทักษิณาทานที่ถวายแก่สงฆ์ (สังฆทาน) ว่ามี 7 ประการ คือ
- ให้ทานในสงฆ์ 2 ฝ่าย (ทั้งฝ่ายภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์) มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข
- ให้ทานในสงฆ์ 2 ฝ่าย ในเมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว
- ให้ทานในภิกษุสงฆ์ ในเมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว
- ให้ทานในภิกษุณีสงฆ์ ในเมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว
- เผดียงสงฆ์ว่า ขอได้โปรดจัดภิกษุและภิกษุณีจำนวนเท่านี้ ขึ้นเป็นสงฆ์แก่ข้าพเจ้าแล้วให้ทาน (ให้ทานโดยให้คณะสงฆ์เป็นผู้เลือกพระภิกษุและพระภิกษุณีที่จะรับถวายทานเอง)
- เผดียงสงฆ์ว่า ขอได้โปรดจัดภิกษุจำนวนเท่านี้ขึ้นเป็นสงฆ์แก่ข้าพเจ้า แล้วให้ทาน
- เผดียงสงฆ์ว่า ขอได้โปรดจัดภิกษุณีจำนวนเท่านี้ขึ้นเป็นสงฆ์แก่ข้าพเจ้า แล้วให้ทาน
โดยได้ตรัสว่า แม้ในอนาคตกาล การถวายสังฆทานแม้แก่พระสงฆ์ผู้ทุศีล ก็ยังนับว่ามีผลนับประมาณมิได้ และปาฏิปุคลิกทานทั้งปวงในบุคคลใด ๆ มีพระพุทธเจ้าเป็นอาทิ ก็ไม่สามารถมีผลสู้สังฆทาน 1 ใน 7 ประการดังกล่าวได้เลย"
จากพระพุทธดำรัสดังกล่าว ทำให้พุทธศาสนิกชนผู้ศรัทธานิยมทำบุญด้วยการถวายสังฆทานเพราะมีอานิสงส์มาก อีกประการหนึ่งการที่สังฆทานมีอานิสงส์มากกว่าปาฏิปุคลิกทานธรรมดาเพราะการที่จัดถวายทานแก่ส่วนรวม (คณะสงฆ์) ย่อมมีประโยชน์แก่พระศาสนามากกว่า เพราะการถวายสังฆทานเป็นการกระจายปัจจัยวัตถุอันจะพึงได้แก่คณะสงฆ์ทั้งปวงโดยไม่จำกัดหรือเลือกปฏิบัติแก่รูปใดรูปหนึ่ง
ดังนั้นการที่พระพุทธองค์ตรัสยกย่องสังฆทานจึงนับได้ว่าเป็นการแสดงออกถึงการไม่เลือกปฏิบัติทางด้านบุคคล ที่พระพุทธองค์ตรัสไว้เพื่อเป็นประโยชน์ผาสุกโดยเท่าเทียมกันทางด้านปัจจัย 4 แก่พระสงฆ์ทั้งปวงผู้เป็นผู้สืบทอดพระพุทธศาสนามาจนถึงปัจจุบัน
คำกล่าวถวายสังฆทาน
[แก้]- ตั้งนะโมสามจบ
- (๓ จบ)
- อิมานิ มยํ ภนฺเต ภตฺตานิ สปริวารานิ ภิกขุสงฺฆสฺส โอโณชยาม
- สาธุ โน ภนฺเต ภิกฺขุ สังโฆ อิมานิ ภตฺตานิ สปริวารานิ ปฏิคฺคณฺหาตุ
- อมฺหากํ ทีฆรตฺตํ หิตาย สุขายฯ
- กล่าวคำแปล
- ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวาย ซึ่งภัตตาหาร กับของที่เป็นบริวารทั้งหลายเหล่านี้แด่พระสงฆ์
- ขอพระสงฆ์ จงรับ ซึ่งภัตตาหาร กับของที่เป็นบริวารทั้งหลายเหล่านี้
- เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย สิ้นกาลนานเทอญ[2]
ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับสังฆทาน
[แก้]ในปัจจุบัน มักเรียกกันอย่างเข้าใจผิดว่าการถวายสังฆทานคือการถวายสิ่งของโดยใส่ถังหรือบรรจุภัณฑ์สีเหลือง โดยส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าสิ่งของที่จะนำมาถวายสังฆทานนั้นต้องซื้อเป็นชุดไทยธรรมหรือถังสีเหลืองสำเร็จรูปที่บรรจุสิ่งของจากร้านสังฆภัณฑ์ หรือจะต้องนำสิ่งของที่ตนตั้งใจถวายใส่บรรจุภัณฑ์หรือภาชนะที่มีสีเหลือง แล้วนำสิ่งเหล่านั้นไปถวายพระสงฆ์แล้วจะเป็นสังฆทานที่ถูกต้อง แต่ความจริงแล้วสังฆทานนั้นคือการถวายเครื่องอุปโภคบริโภคแก่หมู่พระสงฆ์โดยสิ่งของนั้นจะเป็นสิ่งของชนิดใดก็ได้
ปรากฏการณ์ถังสีเหลือง
[แก้]ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการถวายสังฆทานในปัจจุบัน มีผู้กล่าวว่าเกิดจากปรากฏการณ์ "ถังสีเหลือง"[3] โดยกล่าวว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวมีที่มาจากการที่ร้านค้าสังฆภัณฑ์จัดสินค้าเป็นถังไทยธรรมที่บรรจุสิ่งของเครื่องใช้นำมาวางจำหน่ายโดยมีการใช้บรรจุภัณฑ์สีเหลืองเพื่อให้เป็นที่ติดตาของผู้ซื้อ และบางร้านมีการติดสัญลักษณ์ร้านค้าบนบรรจุภัณฑ์เพื่อสร้างความมั่นใจในคุณภาพของถังสีเหลืองให้แก่ผู้ซื้ออีกด้วย โดยเรียกถังสีเหลืองดังกล่าวว่าเป็น "ถังสังฆทาน" และปรากฏว่าพุทธศาสนิกชนนิยมซื้อสินค้าดังกล่าวนำไปถวายพระสงฆ์ เพราะมีความสะดวกที่ไม่ต้องไปจัดหาสิ่งของด้วยตนเอง และความสวยงามของการจัดรูปแบบสิ่งของในตัวบรรจุภัณฑ์
และเนื่องจากการที่ถังสีเหลืองดังกล่าวมีผู้นิยมซื้อเพื่อนำไปถวายพระสงฆ์ จึงทำให้สินค้าดังกล่าวเป็นสินค้าสำคัญของร้านค้าต่าง ๆ ห้างดิสเคาท์สโตร์ หรือแม้ในห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ จนในระยะหลังเริ่มมีร้านค้าบางร้านเอาเปรียบผู้ซื้อโดยจัดสิ่งของในถังสีเหลืองที่ไม่ได้คุณภาพหรือน้อยกว่าความเป็นจริง เช่น การทำให้สิ่งของดูมีจำนวนมากโดยใส่ขวดน้ำหรือกระดาษลังในก้นถังเพื่อถ่วงน้ำหนัก และปรากฏว่ามีการกระทำเช่นนี้มานานแล้วนับสิบปีโดยไม่มีผู้ออกมาร้องเรียน (เนื่องจากสินค้าถังสีเหลืองส่วนใหญ่จะนำไปถวายพระสงฆ์ โดยที่ผู้ซื้อไม่เคยแกะถังสีเหลืองเพื่อตรวจสอบ)
จนในช่วงปี 2548 เริ่มมีรายการโทรทัศน์ออกข่าวเปิดโปงการเอาเปรียบดังกล่าวและมีสื่อมวลชนและองค์กรต่าง ๆ เสนอข่าวเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าวมาเป็นระยะ จนในที่สุดสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) จึงได้ออกประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก ฉบับที่ 23 (พ.ศ. 2550) เรื่อง ให้ชุดสังฆทานและชุดไทยธรรมเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก[4] เพื่อควบคุมชุดสังฆทานและชุดไทยธรรมที่ขายตามรานค้าและร้านสังฆภัณฑ์ต่าง ๆ ให้มีคุณภาพต่อไป แต่ก็ยังคงมีผู้ค้าบางรายแอบนำสินค้าที่ไม่ได้คุณภาพมาใส่ในถังเหลืองเพื่อจำหน่ายอยู่บ้าง
ปรากฏการณ์ดังกล่าว ทำให้ "ถังสีเหลือง" เป็นสิ่งของแรก ๆ ที่พุทธศาสนิกชนชาวไทยส่วนใหญ่คิดถึง เมื่อจะไปทำบุญถวายจตุปัจจัยตามวัดต่าง ๆ หรืออาจกล่าวได้ว่า "การทำบุญด้วยถังสีเหลือง" เป็นสิ่งคู่กันอย่างแยกไม่ออก และมักเรียกรวมกันว่า การถวายถังสังฆทาน ซึ่งยังคงก่อปัญหาความลำบากใจให้แก่พระสงฆ์ตามวัดต่าง ๆ อยู่จนถึงปัจจุบัน[5] เพราะยังคงมีร้านค้าบางร้านใช้สินค้าราคาถูกหรือไม่ได้คุณภาพบรรจุลงในถังเหลืองออกจำหน่ายอยู่ ดังนั้นการทำบุญให้เป็นสังฆทานที่มีคุณภาพโดยแท้จริงควรซื้อหาสินค้าที่จะนำไปถวายโดยพิจารณาจากความต้องการและประโยชน์ของพระสงฆ์ มากกว่าประโยชน์คือความสะดวกของผู้ถวาย ดังที่มีผู้แนะนำการถวายสังฆทานว่าควรประกอบไปด้วย[6]
- ปุพพเจตนา หรือ มีความตั้งใจในการทำบุญโดยการเลือกซื้อสิ่งของที่เป็นประโยชน์แท้จริงแก่พระสงฆ์ เช่นของมีคุณภาพ หรือสิ่งของที่พระสงฆ์ต้องการ
- มุญฺจเจตนา คืออาการที่ถวายเป็นสังฆทานถูกต้อง เช่น ถวายเข้ากองกลางของวัด หรือถวายแก่ตัวแทนของพระสงฆ์เพื่อนำสิ่งของไปแจกจ่าย หรือเผดียงสงฆ์ไม่เลือกระบุตัวพระสงฆ์ผู้รับ โดยการถวายดังกล่าวควรทำเจตนาในการถวายให้มุ่งตรงต่อหมู่สงฆ์ ไม่ใช่ถวายแก่บุคคล
- อปราปรเจตนา[7] เมื่อถวายแล้วก็ทำจิตใจให้เป็นบุญ นึกถึงการถวายสังฆทานดังกล่าวเมื่อใดก็มีความยินดีไม่เกิดความเสียดาย
อื่น ๆ
[แก้]สังฆทานเวียน
[แก้]ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
ดูเพิ่ม
[แก้]- การถวายทานโดยระบุตัวพระสงฆ์ผู้รับทาน เป็น ปาฏิปุคคลิกทาน
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 1.2 พระไตรปิฎกเล่มที่ 14 พระสุตตันตปิฎก เล่ม 6 มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ วิภังควรรค ทักขิณาวิภังคสูตร[ลิงก์เสีย]
- ↑ สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี. ศาสนพิธีคู่มือทำบุญบำเพ็ญกุศลสำหรับพุทธศาสนิกชน. โรงพิมพ์ชุติมาการพิมพ์. ๒๕๒๖
- ↑ ""สังฆทาน" INTREND !!!!!! ลบภาพปรากฏการณ์ "ถังเหลือง" เต็มวัด. เว็บไซต์ผู้จัดการรายวัน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-05-06. สืบค้นเมื่อ 2009-01-06.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก ฉบับที่ ๒๓ (พ.ศ. ๒๕๕๐) เรื่อง ให้ชุดสังฆทานและชุดไทยธรรมเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก, เล่ม ๑๒๔, ตอนพิเศษ ๔ ง, ๑๒ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๐, หน้า ๑๒
- ↑ เทวประภาส มากคล้าย เปรียญ.. เอกสาร : เอกสารแนะนำวัดคุ้งตะเภา . อุตรดิตถ์ : วัดคุ้งตะเภา , 2549.
- ↑ ศาสนพิธี สำหรับ พุทธศาสนิกชน : การถวายสังฆทาน. เว็บไซต์ธรรมะไทย
- ↑ พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตโต). พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์. กรุงเทพฯ : มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2538