พระมหา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ไฟล์:เปรียญธรรม ๖ ประโยค.jpg
พระมหากษัตริย์ไทยถวายพัดยศสมณศักดิ์สายเปรียญธรรม แก่พระสงฆ์ โดยยกย่องถวายคำว่า "มหา" เพื่อใช้นำหน้าพระภิกษุผู้สอบไล่ได้ และเพื่อเป็นการยกย่องพระสงฆ์ผู้อุตสาหะในการศึกษาภาษาบาลี ตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน

พระมหา เป็นคำสมณศักดิ์ใช้นำหน้าชื่อพระภิกษุที่สอบไล่ได้ตั้งแต่เปรียญธรรม 3 ประโยค ขึ้นไปจนถึงเปรียญธรรม 9 ประโยค [1] โดยคำ "มหา" มาจากศัพท์ในภาษาบาลี (มหนฺต ลดรูปเป็น มหา) ใช้นำหน้าพระเถระผู้มีร่างกายสูงใหญ่ในสมัยพุทธกาลเช่น พระมหากัสสปเถระ พระมหาโมคคัลลานะ และใช้เรียกนำหน้ายกย่องพระเถระผู้เป็นที่น่าเคารพนับถือว่า พระมหาเถระ แปลว่า พระเถระผู้ใหญ่

โดยคำว่า "พระมหา" สันนิษฐานว่ากร่อนมาจากคำว่า "พระมหาชาติ" ที่ชาวพุทธใช้เรียกพระผู้ทรงภูมิบาลีแตกฉาน จนสามารถเทศนาพระมหาชาติเวสสันดรชาดกได้ และต่อมาพระมหากษัตริย์จึงใช้คำนี้แต่งตั้งพระผู้ทรงภูมิบาลีให้ดำรงสมณศักดิ์ที่พระมหา หรือพระมหาชาติ เพื่อเป็นการส่งเสริมการศึกษาภาษาบาลีเพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนามาแต่โบราณ[2]

พระมหากษัตริย์ไทยแต่โบราณถวายพัดยศสมณศักดิ์สายเปรียญธรรม (พัดยศมหาเปรียญ) แก่พระสงฆ์โดยยกย่องถวายคำว่า "มหา" เพื่อใช้นำหน้าพระภิกษุผู้สอบไล่ได้ ประโยคบาลี เพื่อเป็นการถวายกำลังใจแก่พระสงฆ์ผู้สนใจเล่าเรียนศึกษาและมีความรู้สอบไล่ได้สายเปรียญธรรมบาลีตั้งแต่ชั้นเปรียญตรีขึ้นไปจนถึงปัจจุบันนี้[3] (โดยในอดีตนั้นพระมหากษัตริย์เคยมีการถวายนิตยภัตรแก่พระสงฆ์และสามเณรที่เป็นมหาเปรียญทุกชั้น แต่ปัจจุบันคงมีการถวายนิตยภัตรายเดือนเฉพาะผู้สอบได้ระดับเปรียญธรรม ๙ ประโยค เท่านั้น)

ในปัจจุบัน พัดยศมหาเปรียญ นั้นจะแบ่งเป็นสีและระบุเลขลำดับชั้นเปรียญ ซึ่งเปรียบได้กับครุยวิทยฐานะของบัณฑิตผู้จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัย โดยพัดยศเปรียญมีฐานะเสมือนหนึ่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่พระมหากษัตริย์พระราชทานแก่ผู้ทำความชอบในราชการ[4] พระสงฆ์สามเณรผู้ได้รับพระราชทานจะนำพัดยศมหาเปรียญออกใช้ประกอบสมณศักดิ์ได้แต่ในงานพระราชพิธีสำคัญเท่านั้น จะใช้ทั่วไปมิได้

ในอดีตก่อนมีการเลิกทาส หากพระภิกษุหรือสามเณรรูปใดที่สอบไล่ได้เปรียญธรรม มีบิดามารดาเป็นทาสเขาอยู่ ก็จะได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระมหากษัตริย์ไถ่ให้พ้นตัวจากความเป็นทาสมีอิสรภาพแก่ตนในทันทีที่บุตรชายของตนได้เป็นพระมหาเปรียญหรือสามเณรเปรียญ

ปัจจุบันเรียกพระภิกษุที่สอบได้พระปริยัติธรรมตั้งแต่ เปรียญธรรม ๓ ประโยคขึ้นไปว่า "พระมหาเปรียญ"

อ้างอิง[แก้]

  1. "พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-05-25. สืบค้นเมื่อ 2007-05-04.
  2. ทองย้อย แสงสินชัย. (๒๕๕๖). บาลีวันละคำ. (ม.ป.ท.).
  3. "การศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลี สมัยปัจจุบัน จากหอมรดกไทย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-04-15. สืบค้นเมื่อ 2007-05-04.
  4. วิเชียร อากาศฤกษ์,สุนทร สุภูตะโยธิน. ประวัติสมณศักดิ์และพัดยศ (๒๕๒๘). กรุงเทพฯ :โรงพิมพ์ศรีอนันต์. หน้า ๑๘๑ - ๑๙๘ .

ดูเพิ่ม[แก้]